ข้ามไปเนื้อหา

ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 3

จาก วิกิซอร์ซ
ตราของโบราณคดีสโมสร
ตราของโบราณคดีสโมสร
โบราณคดีสโมสร
โบราณคดีสโมสร
ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๓
เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ
พิมพ์แจกในงานศพหม่อมเจ้าอรชร
พ.ศ. ๒๔๕๗
พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณสพานยศเส
กรุงเทพฯ

คำนำ

ด้วยพระเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ (ม. ว. ลพ สุทัศน์) จะทำการปลงศพหม่อมเจ้าหญิงอรชรในพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นไกรสรวิชิต ปราถนาจะพิมพ์หนังสือเปนของแจกในงานศพ จึงมาขอให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณช่วยเลือกเรื่องหนังสือแลจัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์ซึ่งจะบำเพ็ญการกุศลอุทิศผลทักษิณานุปทานแก่เจ้าครอกอาของท่าน เมื่อกรรมการได้รับฉันทอันนี้แล้ว มาพิจารณาดูเห็นว่า หนังสือประชุมพงษาวดารได้พิมพ์เปนของแจกในการบำเพ็ญการกุศลอย่างเดียวกันมาแล้ว ๒ ภาค คือ ภาคที่ ๑ สมเด็จพระนางเจ้าพระมาตุจฉาได้โปรดให้พิมพ์เปนของแจกในงานศพหม่อมเจ้าดนัยวรนุชในสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ เมื่อปีขาล ฉศก พ.ศ. ๒๔๕๗ ภาคที่ ๒ สมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานศพฟักทองราชินีกูลในปี เดียวกัน เมื่อพิมพ์หนังสือ ๒ ภาคนั้นแล้ว มาตรวจดูยังมีหนังสือพงษาวดารเกร็ดอยู่ในหอพระสมุดซึ่งยังไม่ได้พิมพ์อิก ๓ เรื่อง คือ พงษาวดารเมืองปัตตานีเรื่อง ๑ พงษาวดารเมืองสงขลาเรื่อง ๑ ทั้ง ๒ เรื่องนี้ พระยาวิเชียรคิรี (ชม ณะสงขลา) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ได้เรียบเรียงไว้แต่เมื่อยังเปนพระยาสุนทรานุรักษ์ กับเรื่องพงษาวดารเชียงใหม่ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) แต่เมื่อยังเปนพระยาศรีสิงหเทพ ได้เรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ๑ หนังสือทั้ง ๓ เรื่องที่กล่าวมานี้กอปรด้วยประโยชน์ สมควรจะรวมพิมพ์เปนหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๓ ได้อิกภาค ๑ กรรมการจึงได้เลือกหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๓ ให้พิมพ์ตามเจตนาของท่านเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ

หนังสือพงษาวดารทั้ง ๓ เรื่องที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้อ่านตรวจตลอด แต่ไม่ได้สอบแก้ของเดิม ด้วยการตรวจสอบจะกินเวลามากนัก ข้าพเจ้าจะอธิบายแต่ความรู้เห็นของข้าพเจ้าไว้ในคำนำนี้โดยใจความ

หนังสือพงษาวดารเมืองปัตตานี ซึ่งถ้าจะเรียกให้ตรงตามกาลเวลานี้ควรเข้าใจว่าพงษาวดารมณฑลปัตตานี ที่พระยาวิเชียรคิรีเรียงนั้น เรียบเรียงตามความรู้เห็นที่มีอยู่ในเมืองสงขลา แลบางทีจะได้สอบกับหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับที่หมอบรัดเลพิมพ์ด้วย ในตอนเบื้องต้นเข้าใจผิดหรือยังไม่ทราบความจริงอยู่บ้าง ที่จริงเมืองปัตตานีเปนเมืองขึ้นของสยามประเทศมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงครองนครศุโขไทยเปนราชธานี ชาวเมืองปัตตานีเดิมถือพระพุทธสาสนา ภายหลังจึงเข้ารีตถือสาสนาอิสลาม ข้อที่ว่าเจ้าเมืองปัตตานีเปนผู้หญิงนั้น ไม่ใช่เพราะลูกยังเปนเด็กอย่างพระยาวิเชียรคิรีกล่าวไว้ในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าได้เห็นจดหมายเหตุเก่าหลายเรื่อง แม้ที่พวกพ่อค้าฝรั่งซึ่งไปมาค้าขายครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ตลอดจนแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชได้จดไว้ กล่าวต้องกันว่า ประเพณีการปกครองเมืองปัตตานีเลือกผู้หญิงในวงษ์ตระกูลเจ้าเมืองซึ่งมีอายุมากจนพ้นเขตรที่จะมีบุตรได้เปนนางพระยาว่าราชการเมืองสืบ ๆ กันมา ประเพณีอย่างนี้ใช้ในบางเมืองในเกาะสุมาตราก่อน แล้วพวกเมืองตานีจึงเอาอย่างมาใช้ พึ่งเลิกประเพณีนี้ในชั้นกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานี ในตอนหลัง ๆ อิกข้อ ๑ ซึ่งกล่าวด้วยการตั้งข้าราชการไทยไปเปนพระยาปัตตานีเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ตลอดมาจนเรื่องแยกเมืองปัตตานีออกเปน ๗ หัวเมืองนั้น ความคลาศกับหนังสือพระราชพงษาวดารอยู่ เรื่องเมืองปัตตานีว่าโดยใจความเปนดังนี้ เมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึก บรรดาหัวเมืองแขกมลายูที่เคยขึ้นกรุงศรีอยุทธยาพากันตั้งเปนอิศร ครั้งกรุงธนบุรียังไม่ได้ปราบปรามลงได้ดังแต่ก่อน มาจนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เมื่อปีมเสง สัปตศก พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่ายกกองทัพใหญ่เข้ามาตีสยามประเทศทุกทิศทุกทาง เมื่อไทยรบชนะพม่าที่เข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี แลที่ลงมาทางเหนือ ตีแตกกลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพหลวงลงไปปราบปรามพม่าทางหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อตีกองทัพพม่าแตกกลับไปหมดแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปประทับอยู่ที่เมืองสงขลา มีรับสั่งออกไปถึงบรรดาหัวเมืองแขกมลายูซึ่งเคยขึ้นกรุงศรีอยุทธยาให้มาอ่อนน้อมดังแต่ก่อน พระยาไทรบุรี พระยาตรังกานู ยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่พระยาปัตตานีขัดแขงไม่มาอ่อนน้อม กรมพระราชวังบวรฯ จึงมีรับสั่งให้กองทัพยกลงไปตีได้เมืองปัตตานี เมื่อตีได้แล้ว ไม่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าได้ทรงตั้งให้ผู้ใดว่าราชการเมืองปัตตานีก็จริง แต่เหตุการที่เกิดภายหลังทำให้เข้าใจว่า ได้ทรงตั้งให้แขกซึ่งเปนเชื้อวงษ์พระยาปัตตานีเดิมเปนผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี พระยาปัตตานีคนนี้ไม่ซื่อตรงต่อกรุงเทพฯ เมื่อปีรกา เอกศก พ.ศ. ๒๓๓๒ มีหนังสือไปชวนองเชียงสือเจ้าอนัมก๊กให้เปนใจเข้ากันมาตีหัวเมืองในพระราชอาณาจักร องเชียงสือบอกความเข้ามากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้องยกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานีอิกครั้ง ๑ ที่ตั้งไทยเปนผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีตามที่กล่าวในหนังสือของพระยาวิเชียรคิรี เห็นจะตั้งเมื่อตีเมืองปัตตานีได้ครั้งที่ ๒ นี้ ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ พม่าคิดจะยกกองทัพเข้ามาตีกรุงสยามอิก พม่าเกลี้ยกล่อมพระยาไทรบุรี ๆ เอาใจไปเผื่อแก่พม่าข้าศึก เลยยุยงพวกมลายูเมืองปัตตานีให้เปนขบถขึ้นด้วย สาเหตุเนื่องกันดังกล่าวมานี้ จึงได้โปรดให้แยกเมืองปัตตานีเดิมออกเปนแต่เมืองเล็ก ๆ ๗ หัวเมือง แต่วงษ์วานชื่อเสียงผู้ว่าราชการเมืองทั้ง ๗ ตามที่พระยาวิเชียรคิรีจดไว้ในพงษาวดารนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าถูกต้อง ด้วยเมืองสงขลาได้กำกับว่ากล่าวมณฑลปัตตานีตลอดมาจนจัดตั้งมณฑลปัตตานีเปนมณฑลเทศาภิบาล ๑ ต่างหากในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี มเมียอัฐศก พ.ศ. ๒๔๔๙

เรื่องพงษาวดารเมืองสงขลานั้น ที่จริงพระยาวิเชียรคิรี (ชม) ตั้งใจจะกล่าวถึงพงษาวดารตระกูลณะสงขลา ยิ่งกว่าจะแต่งเปนพงษาวดารเมือง พระยาวิเชียรคิรี (ชม) เคยให้ข้าพเจ้าดูหนังสือเรื่องนี้ แลได้เคยพูดกันถึงเรื่องหนังสือนี้มาตั้งแต่แรกแต่ง เนื้อความตามเรื่องราวที่เปนพงษาวดารเมืองสงขลาเองไม่ตรงตามที่พระยาวิเชียรคิรีกล่าวอยู่หลายแห่ง ข้อนี้จะแลเห็นได้ในหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรรัชกาลที่ ๑ แลหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ว่าโดยย่อ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกที่นับว่าเปนเมืองสำคัญแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามาจนรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทรนี้ ๓ เมืองด้วยกัน ข้างเหนือคือเมืองชุมพร เขตรจรดทั้งทเลนอกทเลใน ต่อลงไปถึงเมืองถลางตั้งอยู่ที่เกาะภูเก็จทุกวันนี้ (ซึ่งที่จริงควรจะเรียกว่าเกาะถลาง) รักษาชายพระราชอาณาจักรข้างทเลตวันตก ต่อลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชใหญ่กว่าทุกเมือง มีเมืองไชยาอยู่ข้างเหนือ เมืองพัทลุงอยู่ข้างใต้ ทั้ง ๒ เมืองนี้แม้ในทำเนียบว่าขึ้นกรุงเทพฯ ตามการที่เปนจริงอยู่ในอำนาจเจ้าพระยานครมิมากก็น้อย เมืองสงขลาบางทีจะเคยเปนเมืองมาแต่โบราณกาล แต่ไม่มีอไรเปนสำคัญนอกจากชื่อ กับที่ฝังศพพระยาแขกแห่ง ๑ ซึ่งเรียกว่า “มรหุ่ม” แต่ทำเลท้องที่ดีในการค้าขายด้วยตั้งอยู่ปากน้ำเมืองพัทลุง สินค้าเข้าออกทางทเลสาบไปมากับเมืองพัทลุงต้องอาไศรยเมืองสงขลาเปนที่ถ่ายลำ พวกจีนจึงมาตั้งค้าขายที่เมืองสงขลา จีนฮกเกี้ยนคน ๑ ในพวกที่มาตั้งค้าขายอยู่เมืองสงขลานั้น ที่เปนต้นตระกูลวงษ์ของพวกณะสงขลา โดยสามิภักดิเข้ารับราชการเปนนายกองส่วยก่อน แล้วมีบำเหน็จความชอบ จึงได้เปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลาซึ่งกลับตั้งขึ้นใหม่

ที่เมืองสงขลาเปนเมืองขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ที่จริงเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ เปนแต่ที่ประชุมการค้าขาย แรกตั้งขึ้นเปนเมืองอย่างเล็ก ๆ

ประการที่ ๒ ไม่เปนที่มั่นคง ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรรัชกาลที่ ๑ ว่า แม้แต่แขกสลัดก็เคยมาตีเมืองสงขลาได้ ที่มาตั้งเปนเมืองใหญ่ขึ้นกรุงเทพฯ เปนชั้นหลังมาในปลายรัชกาลที่ ๑ หรือต้นรัชกาลที่ ๒ ภายหลังมาเมื่อเมืองสงขลาเจริญขึ้น ประจวบเวลามีราชการเกี่ยวข้องต้องปราบปรามเมืองไทรบุรีแลเมืองปัตตานี ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ข้างในกรุงเทพฯ จะไม่อยากให้เจ้าพระยานครมีอำนาจมากเกินไป หรือจะเปนด้วยเห็นการลำบากเกินกว่าที่เจ้าพระยานครจะบังคับบัญชาได้เรียบร้อยทั่วไป จึงตั้งเมืองสงขลาให้เปนเมืองใหญ่อิกเมือง ๑ สำหรับตรวจตราดูแลเมืองมลายูข้างฝ่ายตวันออก เมืองนครศรีธรรมราชให้ตรวจตราว่ากล่าวข้างฝ่ายตวันตกอันติดเนื่องกับเขตรแดนอังกฤษ ลักษณการอันเปนพงษาวดารเมืองใจความเปนดังกล่าวมานี้

เรื่องพงษาวดารเชียงใหม่ ซึ่งพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) แต่งนั้น เปนเรื่องพงษาวดารในตอนกรุงรัตนโกสินทรนี้เอง แต่จะเปนประโยชน์แก่ผู้อ่านให้รู้เรื่องวงษ์ตระกูลของเจ้านายในมณฑลพายัพซึ่งรับราชการอยู่ในเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูนทุกวันนี้ ว่าเกี่ยวดองแลสืบวงษ์ตระกูลมาอย่างใด

หนังสือพงษาวดารทั้ง ๓ เรื่องเปนหนังสือควรอ่าน ด้วยอาจจะให้ความรู้พิเศษบางอย่างอันมิได้ปรากฎในหนังสืออื่น ควรสรรเสริญพระยาวิเชียรคิรี (ชม) พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ที่ได้อุสาหะเรียบเรียงขึ้นไว้ แลควรจะอนุโมทนาการกุศลซึ่งท่านเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ ได้ให้พิมพ์หนังสือ ๓ เรื่องนี้ขึ้น ให้เจริญความรู้แพร่หลาย อันนับว่าได้กระทำสารประโยชน์ให้แก่บรรดาผู้จะได้พบอ่านหนังสือเรื่องนี้ทั่วไป

ลายมือชื่อของกรมพระดำรงราชานุภาพ
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑๗ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗

สารบาน
น่า
น่า ๓๐
น่า ๗๔

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก