ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 3/เรื่องที่ 3

จาก วิกิซอร์ซ
พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่
เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย
พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น) เมื่อยังเปนพระยาศรีสิงหเทพ
เรียบเรียง

จุลศักราช ๑๒๓๗ ปีกุญ สัปตศก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้พระยาศรีสิงหเทพเรียงพงษาวดารโดยลำดับวงศ์ลาวพุงดำประเทศขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จักดำเนินเรื่องราชพงษาวดารเมื่อลุศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญ นพศก พระเจ้าอังวะยกพยุหโยธาทัพลงมาตีกรุงศรีอยุธยามหานครบุราณถึงแก่พินาศปราชัยแล้ว พระเจ้าอังวะตั้งให้ โปสุพลา โปมะยุงวน คุมกองทัพลงมารวบรวมไพร่พลลาวเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ไปตั้งอยู่ที่เมืองกุมกาม โปสุพลา โปมะยุงวน ตั้งพระยาจ่าบ้านเปนพระยาสุรสงครามเจ้าเมือง ตั้งฟ้าชายแก้วผู้หลานเปนพระยาอุปราช อยู่มาพระยาอุปราชถึงแก่กรรม พระยาอุปราชมีบุตรชาย ๗ คน คือ นายกาวิละ ๑ นายคำโสม ๑ นายน้อยธรรม ๑ นายดวงทิพ ๑ นายหมูล่า ๑ นายคำฟั่น ๑ นายบุญมา ๑ บุตรหญิง ๓ คน นางสิริรจา ๑ นางสิริวรรณา ๑ นางสิริบุญธรรม ๑ รวม ๑๐ คน โปสุพลาจึงตั้งนายกาวิละบุตรนายฟ้าชายแก้วที่ ๑ เปนพระยาอุปราช

ลุศักราช ๑๑๓๖ ปีมะเมีย ฉศก พระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพขึ้นไปตีเมืองกุมกาม ครั้นขึ้นไปถึงเมืองลำพูนไชย ก็หยุดประทับตั้งค่ายหลวงอยู่ที่นั้น โปสุพลา โปมะยุงวน รู้ว่า กองทัพกรุงเทพฯ ยกขึ้นไป ก็ให้พระยาจ่าบ้าน พระยากาวิละ เกณฑ์คนออกตั้งรับทัพไทยอยู่นอกเมือง ฝ่ายพระยาจ่าบ้าน พระยากาวิละ ก็เข้าหาท่านเจ้าพระยาแม่ทัพขอเปนข้าขอบขัณฑสิมากรุงเทพฯ ท่านเจ้าพระยาแม่ทัพก็ให้พระยาจ่าบ้าน พระยากาวิละ นำทัพยกเข้าปีนปล้นเอาเมือง ฝ่ายโปสุพลา โปมะยุงวน ทราบว่า พระยาจ่าบ้าน พระยากาวิละ เข้าหาแม่ทัพไทยแล้ว ก็ไม่อาจที่จะคิดสู้รบต่อไป ครั้นถึงณวัน ๗ เดือน ๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลายามเศษ โปสุพลา โปมะยุงวน ก็กวาดต้อนครอบครัวพม่าลาวหนีออกจากเมือง ครั้นณวัน ๕ เดือน ๒ แรม ๓ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนเสด็จยกเข้าอยู่ในเมือง โปรดตั้งพระยาจ่าบ้านเปนพระยาวิเชียรปราการถืออาญาสิทธิ์ ให้พระยาวังพร้าวผู้หลานเปนพระยาอุปราช น้อยโพธิเปนพระยาราชวงษ์ ยกขึ้นไปตั้งที่เมืองป่าทรางทางไกลเมืองกุมกามวัน ๑ ตั้งพระยาลำพูนเปนพระยาไวยวงษาถืออาญาสิทธิ์ครองเมืองลำพูนไชยตามเดิม ตั้งนายน้อยต่อมต้อเปนพระยาอุปราช ให้พระยากาวิละถืออาญาสิทธิ์ครองเมืองนครลำปาง ตั้งคำโสมผู้น้องที่ ๑ เปนพระยาอุปราช ตั้งน้อยธรรมผู้น้องที่ ๒ เปนพระยาราชวงษ์ ดวงทิพ หมูล่า คำฟั่น บุญมา น้อง ๔ คนนี้ ให้เปนผู้ช่วยราชการ จึงพระราชทานเครื่องยศโดยถานาศักดิทุกคน แล้วเสด็จยกทัพกลับยังกรุงธนบุรี เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ก็เปนเมืองขึ้นกรุงธนบุรีแต่นั้นมา

ครั้นศักราช ๑๑๓๗ ปีมะแม สัปตศก พระเจ้าอังวะให้อะแซวุ่นกี้เปนแม่ทัพมาตีเมืองพิษณุโลกแลเมืองฝ่ายเหนือ ให้อำมะหลอกวุ่นกับตวนวุ่นเปนแม่ทัพคุมพลมาตีเมืองป่าทราง พระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ พระยาไวยวงษาเจ้าเมืองลำพูน สู้รบเหลือกำลัง ก็อพยพครอบครัวทิ้งเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนไชย ลงมาอยู่เมืองนครลำปางบ้าง อยู่ตามหัวเมืองฝ่ายเหนือต่าง ๆ บ้าง แต่ที่เมืองนครลำปางนั้นพระยากาวิละรักษาเมืองไว้ได้ พระยาวิเชียรปราการ พระยาไวยวงษา อุปราชน้อยต่อม ก็ลงมาถึงแก่กรรมอยู่ณเมืองสวรรคโลก เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนไชย ก็ร้างว่างอยู่

ครั้นศักราช ๑๑๔๔ ปีขาล จัตวาศก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเศกแล้ว พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางแต่งให้นายคำฟั่นผู้น้องลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท

ครั้นศักราช ๑๑๔๗ ปีมะเสง สัปตศก ครั้งทัพลาดหญ้าพม่ายกมาล้อมเมืองนครลำปางแลตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลังกับเจ้าพระยามหาเสนายกไปตีทัพพม่าณหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทัพหลวงก็เสด็จหนุนขึ้นไปตั้งอยู่ณเมืองนครสวรรค์ ครั้นพม่าถอยไปสิ้นแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงจักรเจษฎา แบ่งคนในกองทัพหลวงยกไปบรรจบทัพเจ้าพระยามหาเสนาไปรบพม่าตามลำน้ำพิงซึ่งตั้งอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชร เมืองตาก แล้วไปช่วยเมืองนครลำปาง ฝ่ายพม่าที่ล้อมเมืองนครลำปางได้ทราบว่า กองทัพไทยขึ้นไปช่วย ก็เลิกทัพกลับไป

ครั้นศักราช ๑๑๔๘ ปีมะเมีย อัฐศก พม่าซึ่งตั้งอยู่เมืองเชียงแสนจะยกมาตีเมืองฝางลาว พระยาแพร่ที่อะแซวุ่นกี้เอาตัวไปเมืองพม่าแต่ครั้งทัพเมืองพระพิศณุโลกนั้น พระยาแพร่มาอยู่ที่เมืองเชียงแสนคิดกับพระยายอง จับอาปะกามะนีนายทัพพม่าซึ่งมาตั้งอยู่ณเมืองเชียงรายจำโตงกพาครอบครัวเข้ามาสามิภักดิ์สู่พระบรมโพธิสมภาร พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางบอกส่งลงมา โปรดให้พระยายองกลับขึ้นไปอยู่กับพระยากาวิละที่เมืองนครลำปาง แต่พระยาแพร่นั้นให้ทำราชการอยู่ณกรุงเทพฯ

แล้วได้ข่าวว่า พม่าจะยกมาตีเมืองฝางลาว เมืองนครลำปางอิก จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จขึ้นไปจัดการณเมืองเชียงใหม่ ครั้นเสด็จขึ้นไปถึงเมืองนครลำปาง จึงมีพระราชบัณฑูรตั้งให้พระยากาวิละเปนพระยาเชียงใหม่ ให้น้อยธรรมผู้น้องที่ ๒ เปนพระยาอุปราช ให้พุทสารผู้เปนญาติข้างมารดาพระยากาวิละเปนพระยาราชวงศ์ พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ พระยาเชียงใหม่ พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ ก็กราบถวายบังคมลายกครัวเชียงใหม่เดิม แล้วขอรับพระราชทานครัวเชียงใหม่ซึ่งตกค้างอยู่ณเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงนั้น ขึ้นไปตั้งอยู่ณเมืองเชียงใหม่แต่ปีมะเมีย อัฐศก ศักราช ๑๑๔๘ ปีมาจนทุกวันนี้

แลที่เมืองนครลำปางนั้น มีพระราชบัณฑูรตั้งคำโสมผู้น้องรองพระยากาวิละเปนพระยานครลำปาง ให้ดวงทิพผู้น้องที่ ๓ เปนพระยาอุปราช ให้หมูล่าผู้น้องที่ ๔ เปนพระยาราชวงศ์ อยู่รักษาเมืองนครลำปางสืบไป พระราชทานเครื่องยศเหมือนตั้งเมืองเชียงใหม่ แต่ที่เมืองลำพูนไชยนั้นยังหาได้ตั้งไม่

ลุศักราช ๑๑๕๖ ปีขาล ฉศก พระยานครลำปางป่วยถึงแก่กรรม พระยานครคำโสมเปนพระยานครได้ ๙ ปี แต่จะโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดขึ้นไปปลงศพนั้นหาได้ปรากฎในหมายเหตุไม่ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีตราหาตัวพระยาอุปราชดวงทิพ พระยาราชวงศ์หมูล่า นายหนานไชยวงศ์ ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาอุปราชดวงทิพเปนพระยานครลำปาง ตั้งพระยาราชวงศ์หมูล่าเปนพระยาอุปราช ตั้งนายหนานไชยวงศ์บุตรพระยานครคำโสมเปนพระยาราชวงศ์ พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ แล้วพระยานครลำปาง พระยาอุปราช พระยาราชวงษ์ ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปเมืองนครลำปาง

ลุศักราช ๑๑๖๓ ปีรกา ตรีศก พระยาเชียงใหม่กาวิละ พระยานครลำปางดวงทิพ กับญาติพี่น้อง ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองสาด จับได้ราชาจอมหงษ์เจ้าเมืองกับครอบครัว ส่งลงมาถวายณกรุงเทพฯ

ลุศักราช ๑๑๖๔ ปีจอ จัตวาศก เจ้าเวียงจันท์กับเจ้าอินท์รับอาสานำกองทัพพระยายมราชยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ครั้นพระยายมราชกับนายทัพนายกองยกขึ้นไปถึงเมืองเชียงแสนแล้ว ตีเมืองเชียงแสนหาแตกไม่ พระยายมราชนายทัพนายกองไทยลาวก็ล่าทัพกลับลงมายังกรุงเทพฯ

ลุศักราช ๑๑๖๕ ปีกุญ เบญจศก พระยาเชียงใหม่กาวิละ พระยานครลำปางดวงทิพ เจ้านายญาติพี่น้อง กับเจ้าฟ้าเมืองน่าน เกณฑ์กองทัพยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน เมืองยอง แตกกระจัดกระจาย จุดเผาบ้านเรือน กวาดต้อนเอาครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อย ช้างม้าโคกระบือ เครื่องสรรพศัสตราวุธ ทรัพย์สิ่งของ เครื่องวัตถุอัญมณี ลงมาไว้ณเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เปนอันมาก เมืองน่านก็ยกเอาเมืองเชียงของไปเปนเมืองขึ้นเมืองน่าน แล้วบอกข้อราชการที่ได้ไชยชำนะแก่เมืองเชียงแสน เมืองยอง ลงมาณกรุงเทพฯ

ครั้นศักราช ๑๑๖๗ ปีฉลู สัปตศก พระยาเชียงตุงเจ้าเมืองพี่ชายมหาขนานเปนกบฏต่อเมืองอังวะ อพยพครอบครัวหนีเข้ามาอยู่ยังเมืองเชียงใหม่ขอเปนข้าขอบขัณฑสิมา เอาพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ เปนที่พึ่งสืบไป

ครั้นลุศักราช ๑๑๖๘ ปีขาล อัฐศก พระยาราชวงษ์คำฟั่นเมืองเชียงใหม่ พระยาอุปราชหมูล่าเมืองนครลำปาง เกณฑ์กองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงรุ้ง ได้รบพุ่งกับพม่าลาวลื้อพลเมืองเปนหลายครั้ง เจ้าเมืองเชียงรุ้งกับท้าวพระยาสิบสองพันนาก็อ่อนน้อมยอมเปนข้าขอบขัณฑสิมากรุงเทพฯ

อยู่มาลุศักราช ๑๑๗๐ ปีมโรง สัมฤทธิศก พระยาเชียงใหม่ พระยานครลำปาง ยกขึ้นไปเกลี้ยกล่อมมหาขนานณเมืองเชียงตุง ๆ ก็ยอมพาครอบครัวอพยพมาพักอยู่ณเมืองเชียงแสนได้ประมาณเดือนเศษ แล้วมหาขนานกลับใจพาครอบครัวหนีกลับไปเมืองเชียงตุง พระยานครลำปาง พระยาเชียงใหม่ ก็หาได้ยกกองทัพติดตามไปไม่

ครั้นลุศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสง เอกศก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสู่สวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้เถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเศกแล้ว ครั้นณปีมเมีย โทศก พระยาเชียงใหม่ พระยานครลำปาง แต่งให้เจ้านายบุตรหลานคุมเครื่องราชบรรณาการลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย

ครั้นลุศักราช ๑๑๗๖ ปีจอ ฉศก จึงทรงพระราชดำริห์ปฤกษาด้วยท่านอรรคมหาเสนาบดีว่า เมืองลำพูนไชยยังร้างว่างอยู่ หามีผู้คนรักษาบ้านเมืองไม่ จะทรงพระมหากรุณาตั้งเจ้าเมือง อุปราช ราชวงษ์ ขึ้นรักษาเมืองลำพูนไชยให้เปนเมืองสืบต่อไป ท่านอัครมหาเสนาบดีก็เห็นชอบด้วยดังกระแสพระราชดำริห์ โปรดเกล้าฯ ให้มีตราขึ้นไปหาพระยาเชียงใหม่กาวิละ พระยาราชวงษ์คำฟั่น นายบุญมา ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท

ครั้นณวัน ๕ เดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยาเชียงใหม่กาวิละขึ้นเปนพระเจ้าเชียงใหม่ ตั้งพระยาราชวงษ์คำฟั่นเปนพระยาลำพูนไชย ตั้งนายบุญมาเปนพระยาอุปราชเมืองลำพูนไชย พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน จึงโปรดเกล้าฯ ยกเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ขึ้นเปนเมืองประเทศราชแต่นั้นมา แล้วพระเจ้าเชียงใหม่ พระยาลำพูนไชย พระยาอุปราช ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่กาวิละจึงแบ่งเอาคนเมืองเชียงใหม่เปนคนสกรรจ์ ๑๐๐๐ คน เมืองนครลำปาง ๕๐๐ คน ให้พระยาลำพูนไชย ๆ ก็ยกครอบครัวไพร่พลทั้ง ๒ เมืองมาตั้งเมืองลำพูนไชยแต่ในศักราช ๑๑๗๖ ปีจอ ฉศก มาจนทุกวันนี้ พระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ ครั้นจัดการเมืองลำพูนไชยเสร็จแล้ว ก็ป่วยลง พระเจ้าเชียงใหม่กาวิละเปนพระยาเชียงใหม่ได้ ๒๘ ปี เปนพระเจ้าเชียงใหม่ได้ปี ๑ รวมแต่ได้ครองเมืองเชียงใหม่มาได้ ๒๙ ปี ก็ถึงแก่พิราไลยในปีจอ ฉศกนั้น แต่จะโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดขึ้นไปปลงศพ ก็หาได้ปรากฎในหมายเหตุไม่

ครั้นลุศักราช ๑๑๗๗ ปีกุญ สัปตศก พระยาอุปราชน้อยธรรม พระยาราชวงษ์หมูล่า เมืองเชียงใหม่ พระยาลำพูนไชย พระยาอุปราช เมืองลำพูนไชย นำช้างพลายเผือกเอกลงมาถวาย ครั้นแพช้างลงมาถึงกรุงเก่า พระยาราชวงษ์หมูล่าป่วยลงก็ถึงแก่กรรม พระยาอุปราช พระยาลำพูน ก็เอาศพพระยาราชวงษ์หมูล่าฝังไว้ที่กรุงเก่า แล้วก็ล่องแพช้างเผือกเอกลงมาถึงกรุงเทพฯ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แห่ช้างขึ้นสู่โรงสมโภช ขึ้นระวาง พระราชทานนามว่า พระยาเศวตรไอยรา บวรพาหนะนาถ อิศราราชบรมจักร สีสังข์ศักดิอุโบสถ คชคเชนทรชาติอากาศจารี เผือกผ่องศรีบริสุทธิ์ เฉลิมอยุธยายิ่ง วิมลมิ่งมงคล จบสกลเลิศฟ้า แล้วทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยาอุปราชน้อยธรรมขึ้นเปนพระยาเชียงใหม่ ตั้งพระยาลำพูนคำฟั่นเปนพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่ ตั้งพระยาอุปราชบุญมาเมืองลำพูนเปนพระยาลำพูน แต่ที่อุปราชเมืองลำพูนนั้นยังหาได้โปรดตั้งผู้ใดไม่ แล้วพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน พระยาเชียงใหม่ พระยาอุปราช พระยาลำพูน ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปบ้านเมือง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานคุมหีบศิลาหน้าเพลิงขึ้นไปปลงศพพระยาราชวงษ์หมูล่าที่กรุงเก่าด้วย

ลุศักราช ๑๑๘๓ ปีมะเสง ตรีศก พระยาเชียงใหม่น้อยธรรมรักษาเมืองมาได้ ๗ ปีก็ถึงแก่อสัญญกรรม แต่จะโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดขึ้นไปปลงศพพระยาเชียงใหม่น้อยธรรมนั้นหาปรากฎในหมายเหตุไม่

ลุศักราช ๑๑๘๕ ปีะมแม เบญจศก มีตราโปรดขึ้นไปหาตัวพระยาอุปราชคำฟั่นเมืองเชียงใหม่ พระยานครลำปางดวงทิพ นายพุทธวงษ์ นายคำมูล นายน้อยกาวิละ ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยานครลำปางดวงทิพ เปนพระเจ้านครลำปาง ตั้งพระยาราชวงษ์หนานไชยวงษ์ บุตรพระยานครคำโสมขึ้นเปนพระยาอุปราชเมืองนครลำปาง ตั้งพระยาอุปราชคำฟั่นขึ้นเปนพระยาเชียงใหม่ ตั้งนายพุทธวงษ์บุตรนายพ่อเรือน หลานฟ้าชายแก้วเปนพระยาอุปราช ตั้งนายคำมูลบุตรนายพ่อเรือน เปนพระยาราชวงษ์ ตั้งนายน้อยกาวิละบุตรนายพ่อเรือน เปนพระยาเมืองแก้ว โปรดพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน แล้วพระเจ้านครลำปาง พระยาอุปราชเมืองนครลำปาง พระยาเชียงใหม่ พระยาอุปราช พระยาราชวงษ์ พระยาเมืองแก้ว ก็กราบถวายบังคมลา กลับขึ้นไปรักษาบ้านเมือง € ลุศักราช ๑๑๘๖ ปีวอกฉศก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย เสด็จสู่สวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกแล้ว พระยาเชียงใหม่คำฟั่นว่าราชการเมืองมาได้ ๓ ปี ก็ถึงแก่อสัญญกรรมณวันเดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ ศักราช ๑๑๘๗ ปีรกาสัปตศก พระเจ้านครลำปางดวงทิพ เปนพระยานครลำปางได้ ๙ ปี เปนพระเจ้านครลำปางได้ ๓ ปี รวมได้ครองเมืองนครลำปางมาได้ ๑๒ ปี ก็ถึงแก่พิราไลยในเดือน ๙ ปีรกาสัปตศกนั้น จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุริยพาหขึ้นไปปลงศพพระยาเชียงใหม่คำฟั่นให้จมื่นสมุหพิมานขึ้นไปปลงศพพระเจ้านครลำปางดวงทิพ € ลุศักราช ๑๑๘๘ ปีจออัฐศก เจ้าเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ก็ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระยาอุปราชพุทธวงษ์ เปนพระยาเชียงใหม่ ตั้งนายหนานมหาวงษ์บุตรพระยาเชียงใหม่น้อยธรรม เปนพระยาอุปราช ตั้งนายน้อยมหาพรหมบุตรพระยาเชียงใหม่คำฟั่น เปนพระยาราชวงษ์ เมืองนครลำปางนั้นทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระยาราชวงษ์ หนานไชยวงษ์บุตรพระยานครคำโสม เปนพระยานครลำปาง ตั้งนายน้อยขัติย บุตรพระยานครคำโสม เปนพระยาอุปราช ตั้งนายคำแสนบุตรพระยานครคำโสม เปนพระยาราชวงษ์ ตั้งนายน้อยคำภูบุตรพระยาอุปราชหมูล่า เปนพระยาเมืองแก้ว ตั้งนายหนานมหาพรหม เปนพระยาราชบุตร ที่เมืองลำพูนไชยนั้น ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยาลำพูนบุญมาขึ้นเปนพระเจ้าลำพูนไชย เจ้านครลำพูน ตั้งนายน้อยอินท์บุตรพระยานครคำโสม เปนพระยาอุปราช ตั้งนายหนานมหายศบุตรนางสิงบุญธรรม์ น้องพระเจ้าลำพูนบุญมาเปนราชวงษ์ ตั้งนายน้อยธรรมลังกาบุตรพระเจ้าลำพูนบุญมา เปนพระยาเมืองแก้ว ตั้งนายน้อยคำตันบุตรพระเจ้าลำพูนบุญมา เปนพระยาราชบุตร แต่นายพิมพิสาร นายธรรมกิติ วิวาทกับราชวงษ์คำมูล เอาตัวไว้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ที่กรุงเทพ ฯ พระเจ้าลำพูนบุญมา พระยาเชียงใหม่ พระยานครลำปาง ก็กราบถวายบังคมลา กลับขึ้นไปพอถึงเมืองตาก อนุเวียงจันท์คิดการเปนขบถ ยกกองทัพลงมาตีเมืองนครราชสิมา พระเจ้าลำพูนบุญมา พระยาเชียงใหม่ พระยานครลำปาง เกณฑ์ให้เจ้านายบุตรหลาน ยกขึ้นไปช่วยราชการทางเมืองเวียงจันท์ พระเจ้าลำพูนบุญมาเปนพระยาลำพูนได้ ๙ ปี เปนพระเจ้าลำพูนได้ ๔ ปี รวมแต่ได้ครองเมืองลำพูนได้ ๑๓ ปี ก็ถึงแก่พิราไลย พระยาเมืองแก้วน้อยกาวิละก็ถึงแก่กรรมด้วย € ในศักราช ๑๑๘๙ ปีกุญนพศกนั้น จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุริยพาห ขึ้นไปปลงศพพระเจ้าลำพูนบุญมา แล้วพระยาอุปราชน้อยอินท์บุตรพระยานครคำโสม พระยาราชบุตรคำตัน เมืองแก้วน้อยลังกา บุตรพระเจ้าลำพูนบุญมา พระยาไชยสงครามหน่อเมือง บุตรพระเจ้านครดวงทิพ ก็พากันลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระยาอุปราชน้อยอินท์ เลื่อนขึ้นเปนพระยาลำพูนเจ้าเมืองลำพูนไชย ตั้งพระยาราชบุตรคำตันเลื่อนขึ้นเปนพระยาอุปราช ตั้งพระยาไชยสงครามเลื่อนขึ้นเปนพระยาราชวงษ์ ตั้งนายน้อยธรรมลังกาเปนพระยาเมืองแก้ว โปรดพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน พระยาลำพูน พระยาอุปราช พระยาราชวงษ์ พระยาเมืองแก้ว ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาเมือง € ลุศักราช ๑๑๙๙ ปีรกานพศก พระยานครลำปางไชยวงษ์ รักษาเมืองมาได้ ๑๒ ปี ครั้นณวันเดือน ๗ ขึ้นค่ำ ๑ ก็ถึงแก่อสัญญกรรม ในปีรกานพศกนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพิพิธไอสูรย์ ขึ้นไปปลงศพพระยานครลำปาง € ลุศักราช ๑๒๐๐ ปีจอสัมฤทธิศก อุปราชน้อยขันธิย บุตรพระยานคร คำโสมลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งอุปราชน้อยขันธิย เลื่อนขึ้นเปนพระยานครลำปาง โปรดพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ พระยานครลำปาง ก็ถวายบังคมลากลับขึ้นไปถึงเมืองได้ ๖ เดือนก็ถึงอสัญญกรรม โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสุเรนทรราชเสนา นายโนรีมหาดเล็ก ขึ้นไปปลงศพพระยานครลำปางขันธิย แล้วพระยาลำพูนน้อยอินท์ บุตรพระยานครคำโสม อุปราชคำตัน บุตรพระเจ้าลำพูนบุญมา ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยาลำพูนน้อยอินท์ บุตรพระยานครคำโสม เปนพระยาลำปาง ตั้งพระยาอุปราชคำตัน บุตรพระเจ้าลำพูนบุญมา เปนพระยาลำพูน โปรดพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ แล้วพระยานครลำปาง พระยาลำพูน ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาเมือง € ลุศักราช ๑๒๐๑ ปีกุญเอกศก ณวันเดือน ๕ แรม ๘ ค่ำ พระยาเชียงใหม่ พระยาลำพูน มีใบบอกลงมาให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระยาเชียงใหม่แต่งให้พระยาอุปราชมหาวงษ์เปนแม่ทัพ นายพิมพิสารเปนปลัดทัพ คุมกำลังนายไพร่ ๓๓๐๐ คน พระยาลำพูนแต่งให้พระยาอุปราชเปนแม่ทัพ นายน้อยคำวงษาเปนปลัดทัพคุมกำลังนายไพร่ ๙๐๐ คน รวมสองเมืองนายไพร่ ๔๒๐๐ คน ยกไปตีเมืองปุ เมืองสาด เมืองต่วน แตกกระจัดกระจาย จุดเผาบ้านเรือน กวาดต้อนครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อยได้ ๑๘๖๘ คน กับเครื่องสรรพสาตราวุธช้างม้าโคกระบือลงมาถึงเมืองเชียงใหม่ ณวันเดือน ๗ ขึ้น ๘ ค่ำปีกุญเอกศก แล้วพระยาเชียงใหม่ พระยาลำพูน มีใบบอกลงมาให้กราบทูลพระกรุณาว่า ครัวที่กวาดต้อนได้มานั้น ขอพระราชทานแบ่งปันแจกจ่ายให้แก่นายทัพนายกองเปนคนชายหญิงใหญ่น้อย ๑๐๐๐ คน ส่งลงมาถวาย เปนครัวเมืองต่วน พระยาต่วนเจ้าเมือง ๑ ครัว ชายหญิงใหญ่น้อย ๕๐๗ คน รวม ๕๐๘ คน เมืองสาดพระยาแก่นเจ้าเมือง ๑ ครัว ชายหญิงใหญ่น้อย ๑๘๓ คน รวม ๑๘๔ คน เมืองปุ ท้าวแก้วเจ้าเมือง ๑ ครัว ชายหญิงใหญ่น้อย ๑๗๕ คน รวม ๑๗๖ คน รวมหญิงชายใหญ่น้อย ๘๖๘ คน กับปืนหลักปืนคาบศิลาคาบชุด ๔๗ บอก ม้า ๑๕ ม้า โค ๒๔๖ โค € ครั้นนำใบบอกขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทจึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราตอบขึ้นไปว่า ครอบครัวที่พระยาเชียงใหม่ พระยาลำพูน จะส่งลงมาถวายนั้น ให้เอาไว้เปนไพร่พลเมือง ปืน ม้า โค ซึ่งเปนเมืองขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่ จะได้สำหรับรักษาบ้านเมืองต่อไป พระยาเชียงใหม่ก็แบ่งปันครอบครัวทั้งปวงนั้น ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เปนภูมิลำเนา ตามท้องตราซึ่งโปรดเกล้า ฯ ขึ้นไปทุกประการ € ครั้นลุศักราช ๑๒๐๓ ปีฉลูตรีศก พระยาลำพูนคำตันว่าราชการเมืองมาได้ ๓ ปี ก็ถึงแก่อสัญญกรรม โปรดเกล้า ฯ ให้พระเทพาธิบดีขึ้นไปปลงศพพระยาลำพูนคำตัน แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราขึ้นไปหาตัวพระยาเมืองแก้วน้อยลังกา บุตรพระยาลำพูนบุญมาลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระยาเมืองแก้ว เลื่อนขึ้นเปนพระยาลำพูน โปรดพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ พระยาลำพูนก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาเมืองได้ ๒ ปี

ลุศักราช ๑๒๐๕ ปีเถาะเบญจศก พระยาลำพูนน้อยลังกาถึงแก่อสัญญกรรม โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราขึ้นไปถึงพระยากำแพงเพ็ชร แต่งกรมการไปปลงศพพระยาลำพูน พระยากำแพงเพ็ชรก็แต่งให้พระปลัดขึ้นไปปลงศพพระยาลำพูน ในปีเถาะเบญจศกนั้น ณวันเดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ พระยานครลำปางน้อยอินท์ พระยาอุปราชมหาวงษ์เมืองเชียงใหม่ ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอตั้งเมืองเชียงรายเปนเมืองขึ้นเมืองเชียงใหม่ ตั้งเมืองงาว เมืองพเยา เปนเมืองขึ้นเมืองนครลำปาง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งนายธรรมลังกาน้องนายพิมพิสาร เปนพระยารัตนอาณาเขตร เจ้าเมืองเชียงราย ตั้งนายอุ่นเรือนบุตรพระยาแสนหลวง เปนพระยาอุปราช ตั้งนายคำแสน น้องนายอุ่นเรือนเปนพระยาราชวงษ์ ตั้งนายพุทธวงษ์ น้องพระยานครน้อยอินท์ เปนพระยาประเทศอุตรทิศ เจ้าเมืองพเยา ตั้งนายน้อยมหายศ น้องพระยานครน้อยอินท์ที่ ๒ เปนพระยาอุปราช ตั้งนายแก้วมนุษย์ น้องพระยานครน้อยอินท์ที่ ๓ เปนพระยาราชวงษ์ ตั้งนายขัติย บุตรพระยาประเทศอุต?รทิศ เปนพระยาเมืองแก้ว ตั้งนายน้อยขัติย บุตรพระยาอุปราชหมูล่า เปนพระยาราชบุตร ตั้งพระยาไชยสงคราม เปนพระยาฤทธิภิญโญยศ เจ้าเมืองงาว ตั้งนายขนานยศ น้องพระยานครน้อยอินท์ เปนพระยาอุปราช ตั้งนายหนานปัญญา บุตรพระยานครน้อยอินท์ เนพระยาราชวงษ์ ตั้งนายหนานยศ บุตรพระยานครไชยวงษ์ เปนพระยาเมืองแก้ว ได้รับพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน แล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้แบ่งเอาคนเมืองเชียงใหม่ไปไว้เมืองเชียงราย แบ่งเอาคนเมืองนครลำปางไปไว้เมืองพเยา เมืองงาว จะได้สำหรับรักษาบ้านเมืองต่อไป พระยานครลำปาง พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่อุปราช ราชวงษ์ เมืองเชียงราย เมืองพเยา เมืองงาว ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปจัดการตั้งบ้านเมือง ตามกระแสพระบรมราชโองการทุกประการ พระยาเชียงใหม่พุทธวงษ์ว่าราชการเมืองมาได้ ๒๒ ปี € ลุศักราช ๑๒๐๘ ปีมเมียอัฐศก ณเดือน ๗ พระยาเชียงใหม่พุทธวงษ์ก็ถึงแก่อสัญญกรรม โปรดเกล้า ฯ ให้พระยารักษมณเฑียรที่เปนพระยาอิศรานุภาพ กับหลวงพิทักษ์สุเทพ ขึ้นไปปลงศพพระยาเชียงใหม่ € ลุศักราช ๑๒๐๙ ปีมแมนพศก พระยาอุปราชมหาวงษ์ นายพิมพิสาร นำช้างพลายสีปลาดลงมาถวายช้างหนึ่ง โปรดเกล้า ฯ ตั้งพระยาอุปราชมหาวงษ์ เปนพระยาเชียงใหม่ ตั้งนายพิมพิสาร เปนพระยาอุปราช ได้รับพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ พระยาเชียงใหม่ พระยาอุปราช ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาบ้านเมือง แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราขึ้นไปหาตัวนายหนานไชยลังกาบุตรพระยาเชียงใหม่คำฟั่นลงมาณกรุงเทพ ฯ € ครั้นลุศักราช ๑๒๑๐ ปีวอกสัมฤทธิศก นายหนานไชยลังกา ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งนายหนานไชยลังกาเปนพระยาลำพูน ได้รับพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ พระยาลำพูนก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาเมือง แล้วพระยาเชียงใหม่ พระยาลำพูน เข้าชื่อกันบอกกล่าวโทษพระยานครน้อยอินท์ลงมา ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราขึ้นไปหาตัวพระยานครน้อยอินท์ลงมาณกรุงเทพ ฯ ก็ป่วย พระยานครลำปางน้อยอินท์ว่าราชการเมืองมาได้ ๑๑ ปี ก็ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพ ฯ เมื่อณเดือน ๒ ศักราช ๑๒๑๐ ปีวอกสัมฤทธิศก จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอุปราชญาณรังษี บุตรพระยานครคำโสม ว่าราชการเมืองนครลำปาง € ครั้นลุศักราช ๑๒๑๒ ปีกุญยังเปนโทศก ณวันเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่สวรรคต ลุศักราช ๑๒๑๓ ปีกุญตรีศกณเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศก ครั้นลุศักราช ๑๒๑๔ ปีชวดจัตวาศก พระยาเชียงใหม่ พระยาลำพูน พระยาอุปราชผู้ว่าราชการเมืองนครลำปาง แต่งให้เจ้านายญาติพี่น้องลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท เมืองเชียงใหม่แต่งให้นายน้อยธรรมกิติ เมืองนครลำปางแต่งให้พระยาราชวงษ์หนานปัญญา พระยาเมืองแก้วไชยลังกา เมืองลำพูนไชยแต่งให้พระยาราชบุตรหนานศรีวิไชย คุมสิ่งของเครื่องราชบรรณาการลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย นายธรรมกิติ พระยาราชวงษ์หนานปัญญา เมืองแก้วไชยลังกา พระยาราชบุตรหนานศรีวิไชยลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ป่วยเปนไข้อหิวาตกโรคก็ถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า เมืองเชียงใหม่เขตรแดนติดต่อกันกับพม่าเขิน เมืองเชียงตุง แต่ก่อนเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย พร้อมกันยกกองทัพไปทำศึกรบกับเมืองเชียงตุง การก็ไม่สำเร็จ พม่าเขินเมืองเชียงตุงยกกองทัพโจรมาตีต้อนจับผู้คนพลเมือง ๆ เชียงใหม่ไปเนือง ๆ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทเปนแม่ทัพ กับเจ้าพระยายมราชเปนแม่ทัพอิกทัพหนึ่ง ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงในปีชวดจัตวาศกนั้น นายทัพนายกองที่ยกขึ้นไปรบเมืองเชียงตุงการก็ไม่สำเร็จ แต่พระยาเชียงใหม่มหาวงษ์ป่วยอยู่ก็ไม่นิ่งนอนใจ พระยาเชียงใหม่แต่งให้พระยาเมืองแก้ว นายน้อยมหาพรหม นายสุริยวงษ์ผู้บุตร กับญาติพี่น้องแสนท้าวพระยาลาวคุมไพร่ยกขึ้นไปช่วยรบพม่าเขินเมืองเชียงตุง แลพระยาเชียงใหม่ก็ได้ลำเลียงเสบียงอาหารส่งกองทัพ มิให้ขัดสน จึงทรงพระราชดำริห์ว่า พระยาเชียงใหม่ก็มีความชอบอยู่ € ครั้นลุศักราช ๑๒๑๕ ปีฉลูเบญจศก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสีหราชฤทธิไกร เชิญแผ่นพระสุพรรณบัตรกับเครื่องสูง ขึ้นไปพระราชทานพระยาเชียงใหม่มหาวงษ์ เลื่อนขึ้นเปนพระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี นพิสีมหานครราธิฐาน ภูบาลบพิตร สถิตย์ในอุตมชิยางคราชวงษ์ เจ้านครเชียงใหม่ พระเจ้ามโหตรประเทศเปนพระเจ้าเชียงใหม่ได้ ๕ เดือนกับ ๒๘ วัน คิดรวมกันตั้งแต่เปนพระยาเชียงใหม่มาได้ ๗ ปีเศษ ลุศักราช ๑๒๑๖ ปีขาลฉศก ณวันแรม ๙ ค่ำเดือน ๒ พระเจ้ามโหตรประเทศถึงแก่พิราไลย จึงมีตราโปรดเกล้า ฯ ขึ้นไปให้พระยาอุปราชพิมพิสาร บุตรพระยาเชียงใหม่คำฟัน ว่าราชการเมือง ก็ถือเปรียบแก่งแย่งกันกับนายน้อยมหาพรหมกิติศัพท์ทราบลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงทรงพระราชดำริห์ว่า ที่เมืองเชียงใหม่เจ้านายมิได้ประนีประนอมเปนสามัคคีคารวะต่อกัน แลราชการทางเมืองเชียงตุงก็ยังติดพันกันอยู่ซึ่งจะไว้ใจแก่ราชการนั้นมิได้ € ครั้นลุศักราช ๑๒๑๗ ปีเถาะสัปตศก จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยามุขมนตรี (เกด) หลวงวิสูตรสมบัติ (พร้อม) ขึ้นไประงับการที่เมืองเชียงใหม่ แล้วให้ปลงศพพระเจ้ามโหตรประเทศราชาด้วย เจ้าพระยามุขมนตรี หลวงวิสูตรสมบัติ ก็กราบถวายบังคมลาขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ณวัน ๑ เดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ เจ้า พระยามุขมนตรี หลวงวิสูตรสมบัติ ขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ ก็จัดการบ้านเมืองเรียบร้อยเปนปรกติ เจ้าพระยามุขมนตรี หลวงวิสูตรสมบัติ กับเจ้านายญาติพี่น้อง ช่วยกันปลงศพพระเจ้ามโหตรประเทศราชาเสร็จแล้ว ก็พาตัวพระยาเมืองแก้วหนานสุริยวงษ์ บุตรพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ กับนายน้อยมหาพรหม นายหนานสุริยวงษ์บุตรพระเจ้ามโหตรประเทศราชา พระยาลำพูน พระยาอุปราช เมืองนครลำปาง แลเจ้านายญาติพี่น้องลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ณวันเดือน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำศักราช ๑๒๑๘ ปีมโรงอัฐศก แต่พระยาอุปราชพิมพิสารป่วยลงมาหาได้ไม่ เจ้าพระยามุขมนตรีก็นำเจ้านายเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึงมีพระบรมราชโองการปฤกษาด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ แลท่านอรรคมหาเสนาธิบดี ว่าเมืองลาวพุงขาว เมืองแขก เมืองเขมร ซึ่งเปนเมืองประเทศราชเชื้อวงษ์เปนเจ้า ก็ได้ทรงพระมหากรุณาตั้งขึ้นเปนเจ้าทุก ๆ เมือง แต่ลาวพุงดำเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน ตั้งแต่พระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ พระเจ้านครลำปางดวงทิพ พระเจ้าลำพูนไชยบุญมา ถึงแก่พิราไลยแล้ว ตั้งเจ้าเมือง อุปราช ราชวงษ์ เมืองแก้ว ครั้งใด ก็ตั้งเปนพระยาทุก ๆ ครั้ง ครั้งนี้จะทรงพระมหากรุณาตั้งเจ้าเมือง อุปราช ราชวงษ์ ราชบุตร เมืองแก้ว ขึ้นเปนเจ้าทั้ง ๓ เมือง ให้สมควรที่ได้ยกขึ้นเปนเมืองประเทศราชอันใหญ่ แต่เจ้าเมือง อุปราช ราชวงษ์ ราชบุตร เมืองแก้ว เมืองขึ้นนั้น ให้คงเปนพระยาอยู่ตามเดิม พระบรมวงษานุวงษ์แลท่านอรรคมหาเสนาธิบดี ก็เห็นชอบด้วยดังกระ แสพระราชดำริห์ทุกประการ จึงโปรดเกล้า ฯ ปฤกษาด้วยท่านเสนาธิบดีทั้งปวงว่าจะตั้งพระยาอุปราชพิมพิสารขึ้นเปนเจ้านครจางวาง ให้ว่ากล่าวการสิทธิ์ขาดในเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย จะตั้งพระยาเมืองแก้วสุริยวงษ์ เปนเจ้านครเชียงใหม่ จะตั้งนายน้อยมหาพรหมเปนเจ้าอุปราช ให้ท่านเสนาบดีปฤกษาพร้อมด้วยพระยาลำพูนไชย พระยาอุปราชเมืองนครลำปาง จะเห็นชอบด้วยประการใด ปฤกษากันยังหาตกลงไม่ พอพระยารัตนอาณาเขตร เจ้าเมืองเชียงราย มีใบบอกลงมาว่า พระยาอุปราชพิมพิสารถึงแก่กรรมแต่ณวันเดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ ศักราช ๑๒๑๘ ปีมโรงอัฐศก ฝ่ายพระยาลำพูนไชย พระยาอุปราชเมืองนครลำปาง ก็แจ้งความแก่ท่านเสนาบดี ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า นายน้อยมหาพรหมนั้นเปนคนกระด้างกระเดื่อง มิได้อยู่ในถ้อยคำผู้ใหญ่ จะโปรดเกล้า ฯ ตั้งนายน้อยมหาพรหมเปนที่อุปราชเมืองเชียงใหม่ นายน้อยมหาพรหมก็จะประพฤติการที่ผิด ๆ ทำให้เสียราชการ ขอให้เอาตัวนายน้อยมหาพรหมไว้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ก่อน ถ้าจะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาเมืองแก้วสุริยวงษ์เปนเจ้านครเชียงใหม่ จะขอรับพระราชทานนายธรรมปัญโญ บุตรพระยาอุปราชคำฟั่น เปนที่อุปราช นายหนานสุริยวงษ์ บุตรพระเจ้ามโหตรประเทศราชา เปนราชบุตร จะได้ควบคุมญาติพี่น้องบ่าวไพร่ของพระเจ้ามโหตรประเทศราชา ท่านเสนาบดีก็นำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ว่าเมืองเชียงใหม่เปนเมืองประเทศราชใหญ่ เขตรแดนติดต่อกับอังกฤษพม่า จะตั้งอุปราชราชวงษ์ก็ต้องเอาใจผู้เปนเจ้าเมืองแลญาติพี่น้องที่เมืองใกล้เคียงเห็นพร้อมกัน จึงจะไม่แตกร้าวในราชการประการใดได้ ครั้งนี้ก็จะทรงพระมหากรุณาตั้งแต่งตามญาติพี่น้องปฤกษาตกลงกันนั้น แต่ที่เมืองแก้วจะทรงเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ ให้เรียกว่าบุรีรัตนทั้งเมืองใหญ่แลเมืองขึ้น

ครั้นณวัน ๕ แรม ๒ ค่ำเดือน ๑๐ ปีมโรงอัฐศกศักราช ๑๒๑๘ ปีจึงโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยาเมืองแก้วหนานสุริยวงษ์ บุตรพระเจ้ากาวิละ เปนพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ดำรงนพิสีนคร สุนทรทศลักษณเกษตร วรฤทธิเดชศรีโยนางคดไนยราชวงษาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่ ตั้งนายหนานธรรมปัญโญเปนเจ้าอุปราช ตั้งนายอินทนนท์เปนเจ้าบุรีรัตน ตั้งนายหนานสุริยวงษ์เปนเจ้าราชบุตร แล้วทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยาอุปราชเมืองนครลำปาง ขึ้นเปนเจ้าวรญาณรังษี ภักดีราชธรรม์ สุพรรณโสมดไนย โยนกวิไสยประชาธิกร อมรมหาเดชเชษฐกเสนางค์ ลำปางคมหานคราธิปตัยเจ้านครลำปาง ตั้งราชวงษ์มหาพรหมบุตรเจ้านครดวงทิพ เปนเจ้าอุปราช เลื่อนพระยาลำพูนไชย เปนเจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ หริภุญไชยรัษฎาธิวาศ ประเทศราชธุระธาดา มลาวัยวงษ์มัตยานุกูล ลำพูนนครวิชิตไชย เจ้านครลำพูนไชย ได้พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน แล้วพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าอุปราช เจ้าบุรีรัตน เจ้าราชบุตร เมืองเชียงใหม่ เจ้า วรญาณรังษี เจ้าอุปราช มืองนครลำปาง เจ้าไชยลังกาพิศาล เมืองลำพูนไชย ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาบ้านเมือง แต่นายน้อยมหาพรหม บุตรพระเจ้ามโหตรประเทศนั้นโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เปนพระยาอุตรการโกศล ได้พระราชทานพานทอง ให้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ที่กรุงเทพ ฯ

ครั้นณวันเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมแมเอกศก พระเจ้าเชียงใหม่บอกให้นายน้อยหน่อคำ นายน้อยแผ่นฟ้า คุมต้นไม้ทองต้นไม้เงินลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ว่า ที่ราชวงษ์เมืองเชียงใหม่ยังว่างอยู่ นายน้อยหน่อคำก็เปนบุตรพระยาเชียงใหม่ช้างเผือก ควรจะเปนที่ราชวงษ์ได้ แต่นายน้อยแผ่นฟ้าหลานพระเจ้ากาวิละ ๆ ก็มีความชอบได้เกลี้ยกล่อมรวบรวมผู้คนทำศึกกับพม่าปัจจามิตร ก็ควรจะให้นายน้อยแผ่นฟ้าเปนที่หนึ่งที่ใดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ แต่ที่ทางก็ได้ทรงพระมหากรุณาตั้งแต่งเต็มตำแหน่งหมดแล้ว จะต้องคิดชื่อตั้งขึ้นให้สมควรแก่ที่เกี่ยวข้องเปนบุตรหลานโดยลำดับ ท่านเสนาบดีก็เห็นพร้อมด้วยโดยดังกระแสพระบรมราชโองการ จึงโปรดเกล้า ฯ ตั้งนายน้อยหน่อคำเปนที่เจ้าราชวงษ์ ตั้งนายน้อยแผ่นฟ้าเปนเจ้าราชภาคิไนย ได้พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ แล้วเจ้าราชวงษ์ เจ้าราชภาคิไนย ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายพระยาอุตรการโกศลทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ก็ถึงแก่กรรมในปีวอกโทศกศักราช ๑๒๒๒ ปี € ครั้นศักราช ๑๒๒๕ ปีกุญเบญจศก เจ้าอุปราชมหาพรหมเมืองนครลำปาง ป่วยถึงแก่อสัญญกรรม ครั้นณเดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ ศักราช ๑๒๒๗ ปีฉลูสัปตศก เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร เมืองเชียงใหม่ บอกกล่าวโทษพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ลงมาเดือนละฉบับ ข้อความต้องกันว่าพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์เกณฑ์คนทำทางออกจากเมืองเชียงใหม่ไปจนถึงท่าผาแดง แล้วจัดเอาช้างพลาย ๒ ช้างกับปืน แต่งคนคุมขึ้นไปถวายพระเจ้าอังวะ ๆ ก็ให้พม่าคุมเอาสิ่งของมาให้แก่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ๆ พาพม่ากับล่ามเข้าไปพูดในที่ลับ ครั้นพม่ากลับไปจากเมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ก็เอาล่ามพม่าไปฆ่าเสีย แล้วนายน้อยเทพวงษ์ บุตรพระยาอุตรการโกศล ก็ร้องถวายฎีกากล่าวโทษพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์หลายข้อ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหามนตรีเจ้ากรมพระตำรวจในขวา ขึ้นไปหาตัวพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ลงมาณกรุงเทพ ฯ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร กับเจ้านายญาติพี่น้อง ก็ลงมาพร้อมด้วยพระยามหามนตรี ถึงกรุงเทพ ฯ ณวัน ๔ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีขาลอัฐศก พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ กับเจ้านายญาติพี่น้องเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายต้นไม้ทองเงิน กับพาบุตรฟ้าโกลานเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทด้วย แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ฟ้าโกลานจะเทครัวพลเมืองเข้ามาขอเปนข้าขอบขัณฑสิมา ส่งขุนหลวงผู้บุตรเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทก่อน แล้วพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เอาแหวนทับทิมเท่าผลเม็ดบัวแก่ ๒ วง สังวาลทองคำมีสายสร้อย ๑๕ สายมีประจำยามใหญ่ ๑ ประจำยามเล็ก ๒ ตาบ ๑ ประดับพลอยทับทิมใหญ่ ๔ ทับทิมเล็ก ๙๖ รวม ๑๐๐ เม็ด ผ้าเกี้ยวพม่า ๓ ผืน ผ้าตาลวด ๘ ผืน รวม ๑๑ ผืน ของเจ้าอังวะให้แก่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ๆ นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย จึงมีพระบรมราชโองการว่าของทั้งนิ้เจ้าอังวะให้แก่เจ้าเชียงใหม่ ก็ให้เจ้าเชียงใหม่เอาไว้เถิด จะทรงรับเอาไว้แต่แหวนทับทิมวงเดียว พอไม่ให้พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์เสียใจ แล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ท่านเสนาบดีชำระพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ที่รายเจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร บอกกล่าวโทษลงมานั้น พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ก็ให้การหลีกเลี่ยงท่านเสนาบดีจึงนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงมีพระบรมราชโองการปฤกษาด้วยพระบรมวงษานุวงษ์แลท่านเสนาบดี มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ที่สมุหพระกลาโหมเปนประธาน จึงทำคำปฤกษาขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ก็เปนเมืองประเทศราช พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ก็ยังหามีความผิดเปนข้อใหญ่สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ขอรับพระราชทานให้ได้กลับขึ้นไปรักษาอาณาเขตร ปกป้องเจ้านายญาติพี่น้องบุตรหลาน ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป แต่เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร นายน้อยมหาวงษ์ นายหนานมหาเทพ นายน้อยเทพวงษ์ นายหนานธรรมลังกานั้น ขอพระราชทานให้เอาตัวไว้ณกรุงเทพ ฯ ก่อน ถ้าพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ กลับขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว ให้ปฤกษาด้วยเจ้าวรญาณรังษีเจ้านครลำปาง เจ้าไชยลังกาพิศาลเจ้านครลำพูนไชย ด้วยเปนเครือวงษ์วานญาติพี่น้อง ถ้าเจ้าเมืองนครลำปาง เจ้าเมืองลำพูนไชย มีศุภอักษรลงมาประการใด จึงค่อยผ่อนปรนไปตามทางสามัคคีคารวะอย่าให้แตกร้าวกันได้ ครั้นทรงทราบในคำปฤกษาแล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์กลับขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว เอาคำ ปฤกษาของพระบรมวงษานุวงษ์แลท่านเสนาบดี ไปแจ้งต่อเจ้าวรญาณรังษี เจ้านครลำปาง เจ้าไชยลังกาพิศาล เจ้าลำพูนไชย ทราบทุกประการแล้ว เจ้าวรญาณรังษี เจ้านครลำปาง เจ้าไชยลังกาพิศาล เจ้านครลำพูนไชย มีศุภอักษรลงมาว่า ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์เปนเจ้าประเทศราชใหญ่ เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร นายน้อยมหาวงษ์ นายหนานมหาเทพ นายน้อยเทพวงษ์ นายหนานธรรมลังกา ก็มิได้อยู่ในถ้อยคำถือเปรียบแก่งแย่งผู้ใหญ่ ทำให้ขุ่นเคืองใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ขอรับพระราชทานให้เอาตัว เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร นายน้อยเทพวงษ์ นายหนานมหาเทพ นายหนานธรรมลังกา นายน้อยมหาวงษ์ ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ณกรุงเทพ ฯ ก่อน ครั้นทรงทราบในศุภอักษรแล้วก็โปรดเกล้า ฯ ให้เอาตัวเจ้านายเมืองเชียงใหม่ไว้ตามคำปฤกษา € ครั้นณปีเถาะนพศกศักราช ๑๒๒๙ ปี เจ้าอุปราชธรรมปัญโญป่วยถึงแก่กรรม ครั้นณวัน ๕ เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ กับเจ้านายญาติพี่น้องบุตรหลาน ช่วยกันปลงศพเจ้าอุปราชธรรมปัญโญเสร็จแล้ว จึงมีศุภอักษรบอกลงมาณกรุงเทพ ฯ ณเดือน ๕ ปีมโรงสัมฤทธิศก ว่าเจ้าอุปราชธรรมปัญโญถึงแก่กรรม จะขอรับพระราชทานนายน้อยมหาวงษ์ บุตรเจ้าอุปราชธรรมปัญโญขึ้นไปควบคุมญาติพี่น้องบ่าวไพร่ ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ครั้นทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้นายน้อยมหาวงษ์ กลับขึ้นไปอยู่ณเมืองเชียงใหม่ แลเจ้าราชบุตรหนานสุริยวงษ์ บุตรพระเจ้ามโหตรประเทศที่เอาตัวไว้ณกรุงเทพ ฯ ก็ถึงแก่กรรม € ครั้นลุศักราช ๑๒๓๐ ปีมโรงสัมฤทธิศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศก € ลุศักราช ๑๒๓๑ ปีมเสงเอกศก พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ มีศุภอักษรลงมาว่า ฟ้าโกลานเจ้าเมืองมอกใหม่ขัดแขง ไม่พาครอบครัวเข้ามาเหมือนสัญญาไว้แต่ก่อน พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์แต่งให้เจ้าบุรีรัตน เจ้านายบุตรหลาน ยกไปตีต้อนกวาดครอบครัวฟ้าโกลานมาณเมืองเชียงใหม่ กับช้างที่เมืองพร้าวตกลูกเปนช้างด่างช้างหนึ่ง แต่งให้หนานไชยวงษ์ พระยาไชยเลิก คุมลงมาถวายถึงกรุงเทพฯ ณวันเดือน ๑ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมเสงเอกศกศักราช ๑๒๓๑ ปีทรงพระมหากรุณาให้แห่ช้างขึ้นไปสู่โรงสมโภช ขึ้นรวางพระราชทานนามว่า พระเสวตรวรวรรณ

ครั้นลุศักราช ๑๒๓๑ ปีมเสงเอกศก พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์พาบุตรหลานลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายเครื่องราชบรรณาการให้เจ้าราชภาคิไนย นายบุญทวงษ์ นายน้อยมหาอินท์ อยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ เจ้าวรญาณรังษี เจ้านครลำปาง ก็แต่งให้เจ้าราชวงษ์ บุตรพระเจ้านครดวงทิพ เจ้าราชบุตรใจแก้ว บุตรเจ้าวรญาณรังษี ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายเครื่องราชบรรณาการด้วย € ครั้นณเดือน ๒ ปีมเสงเอกศก กองทัพเงี้ยวกองทัพลื้อยกลงมาตีเมืองปายเมืองขึ้นเมืองเชียงใหม่ เจ้าราชภาคิไนย นายบุญทวงษ์ นายน้อยมหาอินท์ มีหนังสือแจ้งข้อราชการลงมาเมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย แล้วนายบุญทวงษ์ นายน้อยมหาอินท์ คุมกำลังนายไพร่เมืองเชียงใหม่ ๑๐๐๐ คน เจ้าวรญาณรังษี เจ้านครลำปาง แต่งให้นายน้อยพิมพิสาร นายหนานไชยวงษ์ คุมกำลังนายไพร่เมืองนครลำปาง ๑๐๐๐ คน เจ้าไชยลังกาพิศาล เจ้าลำพูนไชย แต่งให้นายอินทวิไชย นายน้อยมหายศ คุมกำลังนายไพร่เมืองลำพูน ๕๐๐ คน ยกขึ้นไปช่วยเมืองปายก็หาทันไม่ กองทัพเงี้ยวทัพลื้อ เมืองมอกใหม่ ตีเมืองปายแตก จุดเผาบ้านเรือนกวาดต้อนครอบครัวไปเมืองมอกใหม่ กองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ยกติดตามไปจนถึงฝั่งน้ำสละวิน ก็หาทันกองทัพเงี้ยวทัพลื้อไม่ แลพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ กับเจ้านายเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง ก็ลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ณเดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมเสงเอกศก พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ กับเจ้านายเมืองเชียงใหม่ เมืองนคลำปาง ก็เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายเครื่องราชบรรณาการ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ก็น้อมเกล้าถวายคำนับบังคมทูลพระกรุณา ขอรับพระราชทานเจ้าราชวงษ์หน่อคำ นายหนานมหาเทพ กับญาติพี่น้อง ซึ่งเอาตัวไว้ณกรุงเทพ ฯ แต่ก่อน ขึ้นไปทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ณเมืองเชียงใหม่ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้กลับขึ้นไป € ครั้นเดือน ๔ ปีมเสงเอกศก ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าบุรีรัตนอินทนนท์ บุตรพระยาราชวงษ์มหาพรหม เปนเจ้าอุปราช ตั้งนายพุทธวงษ์ บุตรเลี้ยงพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เปนเจ้าราชบุตรเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปางนั้นโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าราชวงษ์เปนเจ้าอุปราช ตั้งเจ้าราชบุตรใจแก้วเปนเจ้าราชวงษ์ พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์อยู่ที่กรุงเทพ ฯ ก็ป่วยลง ครั้นทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทก็พระราชทานหมอยาหมอนวด ให้ไปพยาบาลอาการก็หาคลายไม่ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์จึงแจ้งความต่อท่านเสนาบดีว่า จะขอถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาตัวณเมืองเชียงใหม่ ท่านเสนาบดีก็นำเจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร นายหนานมหาเทพ เจ้านายบุตรหลาน เมืองเชียงใหม่ เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เมืองนครลำปาง เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง จึงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานหมอยา หมอนวดให้ ขึ้นไปด้วยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ € ครั้นณวัน ๑ เดือน ๖ แรม ๔ ค่ำ ปีมเมียโทศก พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ กับเจ้านายทั้งสองเมืองก็ออกเรือจากกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปถึงบ้านท่าพเนศเขตรเมืองเชียงใหม่ ยังทางอิกวันหนึ่งจะถึงเมืองพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ก็ป่วยหนักลง ครั้นถึงณเดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ ปีมเมียโทศก เวลาสองโมงเช้า พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ก็ถึงแก่พิราไลย เปนพระเจ้าเชียงใหม่ได้ ๑๖ ปี เจ้าอุปราช แลเจ้านายบุตรหลานก็พาเอาศพพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ไปณเมืองเชียงใหม่

€ ครั้นณวัน ๕ เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ปีมเมียโทศก เจ้าราชภาคิไนยเมืองเชียงใหม่ก็ถึงแก่กรรม เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้านายบุตรหลาน มีศุภอักษรให้นายบุญทวงษ์ถือลงมาว่า พม่าเขินเมืองเชียงตุงยกครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อย ๓๗๐ คน มาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน มีเรือน ๓๓๓ หลังเรือน กับครัวเงี้ยวฟ้าโกลานที่ตีกวาดมาไว้แต่ก่อน เปนคนชายหญิงใหญ่น้อย ๑๐๐ คน ส่งลงมาถวาย ได้ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้วจึงมีศุภอักษรโปรดเกล้าฯ ขึ้นไปให้เจ้าอุปราชว่าราชการเมือง ให้นายบุญทวงษ์ว่าที่อุปราช แล้วให้แต่งคนขึ้นไปว่ากล่าวแก่พวกพม่าเขินว่า ถ้าจะมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนก็ให้ยอมขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่เมืองเชียงราย นายบุญทวงษ์ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ เจ้าอุปราชก็แต่งให้แสนท้าวพระยาลาว ไปว่ากล่าวแก่พวกพม่าเขินเมืองเชียงแสน พม่าเขินก็ยังหายอมขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่เมืองเชียงรายไม่ € ครั้นมาณเดือน ๓ ปีมเมียโทศก โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาราชวรานุกูล ขึ้นไปปลงศพพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ พระยาราชวรานุกูลขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้านายญาติพี่น้องช่วยกันปลงศพ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ในเดือนสี่ปีมเมียโทศก € แลในเดือนสี่นั้น พวกเงี้ยวพวกลื้อยกกองทัพเข้ามาตีต้อนกวาดครอบครัวเผาบ้านเรือนในแขวงเมืองเชียงใหม่ เข้ามาจนถึงบ้านฉลองหนองคายบ้านป่าแง ยังทางอิกวันหนึ่งจะถึงเมืองเชียงใหม่ เจ้าอุปราชผู้ว่าราชการเมืองเกณฑ์ให้นายหนานธรรมลังกา ผู้เปนที่เจ้าราชสัมพันธวงษ์ นายอินทรศผู้เปนที่เจ้าราชภาคิไนย กับนายหนานมหาเทพ นายน้อยปัญญา คุมกำลังนายไพร่ ๕๐๐๐ คน เจ้า วรญาณรังษี เจ้านครลำปาง เกณฑ์ให้นายน้อยธนัญไชยผู้เปนที่เจ้าราชสัมพันธวงษ์ กับพระยาวังซ้าย คุมกำลังนายไพร่ ๒๐๐๐ คน เจ้าไชยลังกาพิศาล เจ้าลำพูนไชย เกณฑ์ให้นายอินทวิไชย นายน้อยมหายศ คุมกำลังนายไพร่ ๑๐๐๐ คน รวมเปนคนนายไพร่ ๘๐๐๘ คน ยกขึ้นไปตีพวกเงี้ยวพวกลื้อแตกเลิกถอยไป นายทัพนายกองยกติดตามตีไปจนถึงท่าผาแดง กองทัพเงี้ยวกองทัพลื้อก็แตกไปพ้นเขตรแดนเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายนายทัพนายกองทั้ง ๓ เมืองก็พากันกลับมา แต่นายหนานมหาเทพนั้นมาถึงกลางทางยังหาถึงเมืองเชียงใหม่ไม่ ก็ป่วยถึงแก่กรรม

ครั้นณปีมแมตรีศก เจ้าวรญาณรังษีป่วย เจ้าวรญาณรังษีว่าราชการเมืองนครลำปางมาได้ ๑๖ ปี ถึงณวันเดือน ๗ แรม ๕ ค่ำ ปีมแมตรีศกศักราช ๑๒๓๓ ปี เจ้าวรญาณรังษีก็ถึงแก่พิราไลย เจ้าไชยลังกาพิศาลเปนพระยาลำพูนได้ ๘ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนขึ้นเปนเจ้าลำพูนได้ ๑๗ ปี รวมแต่ได้ครองเมืองลำพูนไชยมาได้ ๑๕ ปี ก็ถึงแก่พิราไลยในปีมแมตรีศกนั้น โปรดเกล้า ฯ ให้พระศรีเสนาขึ้นไปปลงศพเจ้าวรญาณรังษี เจ้านครลำปาง ฝ่ายกงสุลเยเนราลอังกฤษ มีหนังสือแจ้งความมายังท่านเสนาบดีผู้ว่าราชการต่างประเทศ ว่าเมื่อพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ยังไม่ถึงแก่พิราไลย ให้เจ้านายบุตรหลานแสนท้าวพระยาลาวเมืองเชียงใหม่ ไปเก็บริบเอาไม้ขอนสักแลทรัพย์สิ่งของช้างม้าโคกระบือ ฆ่าฟันพวกพม่าต้องซู่ ซึ่งอยู่ในบังคับอังกฤษเปนหลายเรื่องหลายราย ท่านเสนาบดีได้นำความขึ้นน้อมเกล้าถวายคำนับกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาล เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายพลัมภัง กับพระสุริยภักดี เจ้ากรมพระตำรวจสนมทหารซ้าย ขึ้นไปชำระความพม่าต้องซู่ซึ่งฟ้องหาเจ้านายแสนท้าวพระยาลาวเมืองเชียงใหม่ พระยาจ่าแสนบดี พระสุริยภักดี ขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ ได้ชำระความพม่าต้องซู่ เจ้านายแสนท้าวพระยาลาวแล้วไปบ้าง แต่ที่ตัดสินฝ่ายโจทย์ฝ่ายจำเลยไม่ยอมกันมีอยู่หลายเรื่อง พระยาจ่าแสนบดี พระสุริยภักดี กำหนดให้โจทย์จำเลยลงมาชำระว่ากล่าวกันณกรุงเทพ ฯ แล้วพระยาจ่าแสนบดี พระสุริยภักดี ก็พาตัวเจ้าอุปราช เจ้าราชบุตรเมืองเชียงใหม่ เจ้าอุปราชเมืองนครลำปาง เจ้านายบุตรหลานทั้งสองเมืองลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แต่เจ้าราชบุตรเมืองเชียงใหม่ลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ก็ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาจ่าแสนบดี ไปทำการปลงศพเจ้าราชบุตรณวัดบวรมงคล ฝ่ายพม่าต้องซู่ซึ่งเปนโจทย์ฟ้องหากล่าวโทษเจ้านายแสนท้าว พระยาลาวเมืองเชียงใหม่ ก็ตามลงมายื่นเรื่องราวต่อกงสุลเยเนราลอังกฤษณกรุงเทพ ฯ กงสุลเยเนราอังกฤษ แจ้งความมายังท่านเสนาบดีผู้ว่าราชการต่างประเทศ ๆ ก็นำความขึ้นน้อมเกล้าถวายคำนับกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาราชวรานุกูล พระยาจ่าแสนบดี พระยามหามนตรี ลงไปชำระความพม่าต้องซู่โจทย์ เจ้านายแสนท้าวพระยาลาวเมืองเชียงใหม่จำเลย ที่บ้านกงสุลเยเนราลอังกฤษ ได้ตัดสินความโจทย์จำเลยยกเลิกไป ๒๑ เรื่อง จำเลยแพ้ ๑๑ เรื่อง

€ ครั้นณเดือน ๖ ปีรกาเบญจศก โปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าอุปราชอินทนนท์บุตรพระยาราชวงษ์มหาพรหม ขึ้นเปนที่เจ้าอินทวิไชยานนท์ พหลเทพภักดี ศรีโยนางคนไนยราชวงษา มหาประเทศราชประชาธิบดี นพิสีนคราภิพงษ์ ดำรงพิพัฒนชิยางคราชวงษ์ เจ้านครเชียงใหม่ตั้งนายน้อยขัติยวงษ์ บุตรเจ้าเชียงใหม่อินทนนท์ เปนเจ้าราชบุตร ตั้งนายอินทรศ บุตรเขยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เปนเจ้าราชภาคิไนย ตั้งนายธรรมลังกา หลานพระเจ้ามโหตรประเทศ บุตรนางบัวทิพ เปนเจ้าราชสัมพันธวงษ์ ตั้งนายน้อยเทพวงษ์ บุตรพระยาอุตรการโกศลมหาพรหม เปนพระยาอุตรการโกศล แล้วทรงพระราชดำริห์ว่า ที่เมืองปายตั้งแต่เงี้ยวลื้อยกกองทัพมาตีจุดเผาบ้านเรือนกวาดต้อนครอบครัวไป ก็ยังร้างว่างอยู่ หามีผู้จะรักษาเมืองไม่ กองทัพเงี้ยวลื้อจึงมีใจกำเริบองอาจประมาทเข้ามาตีกวาดต้อนเอาครอบครัวไปเนือง ๆ จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งนายหนานธนัญไชย ซึ่งเปนพระยาไชยสงคราม บุตรราชวงษ์มหายศ เปนพระยาเกษตรรัตนอาณาจักร เจ้าเมืองปาย ให้ยกเอาคนเมืองเชียงใหม่ ไปตั้งเมืองปายให้เปนภูมิลำเนาบ้านเรือนเหมือนแต่ก่อนจะได้ป้องกันรักษาด่านทางเมืองเชียงใหม่ต่อไป แล้วโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าอุปราชบุตรพระเจ้านครดวงทิพ เปนเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดา สามันตวิชิตประเทศราช บริสัษยนารถทิพจักราธิวงษ์ ดำรงโยนวิไสย อภัยรัษฎารักษ์ อุดมศักดิสุรนางค์ ลำปางคมหานคราธิปตัย เจ้านครลำปาง ตั้งนายแก้วเมืองมา บุตรเจ้าอุปราชมหาพรหมเปนเจ้าราชวงษ์ ตั้งนายน้อยธรรมเสนา บุตรเจ้าวรญาณรังษีเปนเจ้าบุรีรัตน ตั้งนายน้อยคำป้อ บุตรเจ้าวรญาณรังษี เปนเจ้าสุริยจางวาง ตั้งนายโละ บุตรเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดา เปนเจ้าราชบุตร ตั้งนายน้อยหวัน บุตรเจ้าราชบุตรมหาเทพ เปนพระยาไชยสงคราม ตั้งนายน้อยไชยสาร บุตรพระยาวังซ้ายคนเก่า เปนพระยาวังซ้าย ได้พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน แล้วเจ้านครเชียงใหม่ เจ้านครลำปาง เจ้านายบุตรหลาน ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปรักษาเมือง € ครั้นณเดือน ๑๒ ศักราช ๑๒๓๕ ปีรกาเบญจศก เจ้านครเชียงใหม่ แต่งให้นายบุญทวงษ์ผู้ว่าที่อุปราช คุมเครื่องราชบรรณาการลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งนายบุญทวงษ์ เปนที่เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่ ได้พระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิ เจ้าอุปราชก็กราบถวายบังคมลา กลับขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงคเชนทรามาตย์ขึ้นไปปลงศพเจ้าไชยลังกาพิศาลเจ้าลำพูนไชยด้วย € ครั้นณเดือน ๒ ปีรกาเบญจศก เจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ แต่งให้นายน้อยปัญญา นายน้อยคำปัน นายน้อยคำสวน คุมเอาสิ่งของขึ้นไปถวายพระตะแคงเมืองอังวะ € ครั้นณเดือน ๔ ปีรกาเบญจศกนั้น ทูตที่โปรดเกล้า ฯ ให้ออกไปทำหนังสือสัญญาว่าด้วยการเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย กลับเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พระพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย เชิญศุภอักษรแลหนังสือสัญญาขึ้นไปแจ้งราชการต่อเจ้านครเชียงใหม่ เจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดา เจ้านครลำปาง เจ้าราชวงษ์ ผู้ว่าราชการเมืองลำพูนไชย ให้จัดตั้งด่านระวังโจรผู้ร้ายตามข้อสัญญา เจ้าอินทวิไชยานนท์เจ้านครเชียงใหม่ เจ้าพรหมภิพงษ์ธาดา เจ้านครลำปาง เจ้าราชวงษ์ ผู้ว่าราชการเมืองลำพูนไชย ได้ทราบในศุภอักษร แล้วก็จัดคนออกไปตั้งด่าน ในแขวงเมืองเชียงใหม่ ๗ ตำบล เมืองนครลำปาง ๔ ตำบล เมืองลำพูนไชย ๒ ตำบล รวม ๑๓ ตำบล เปนคนนาย ๑๗ ไพร่ ๕๘๐ รวม ๕๙๗ คน € ครั้นณเดือน ๑๐ ศักราช ๑๒๓๖ ปีจอฉศก เจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ ให้นายน้อยเทพวงษ์ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทจึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีศุภอักษรให้นายน้อยเทพวงษ์ถือขึ้นไปถึงเจ้านครเชียงใหม่ ให้เกณฑ์กองทัพจัดให้เจ้านายบุตรหลานคุมขึ้นไปขับไล่พวกพม่าเขิน ซึ่งมาตั้งอยู่ณเมืองเชียงแสน € แลในปีจอฉศกศักราช ๑๒๓๖ ปีนั้น โปรดเกล้า ฯ ให้พระนรินทรราชเสนี ปลัดบาญชีกรมพระกระลาโหม เปนข้าหลวงที่หนึ่ง หลวงเสนีพิทักษ์ กรมมหาดไทย เปนข้าหลวงที่สอง ขึ้นไปอยู่ณเมืองเชียงใหม่ แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้ทหาร นาย ๑๐ คน ทหารเลว ๖๐ คน รวม ๗๐ คน ขึ้นไปประจำอยู่กับข้าหลวงที่เมืองเชียงใหม่ด้วย ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินเดือนให้ข้าหลวงที่ ๑ ที่ ๒ ล่ามขุนหมื่นเสมียนนายไพร่ รวมปีหนึ่งเปนเงิน ๑๖๒ ชั่ง ๑๒ ตำลึง พระนรินทรราชเสนี หลวงเสนีพิทักษ์ ขุนหมื่นเสมียนทหารนายไพร่ ราบถวายบังคมลาขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ ณวัน ๑๒ ค่ำ ปีจอฉศก ขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ณเดือน ๒ ปีจอฉศก นายน้อยปัญญา นายน้อยคำปัน นายน้อยคำสวน กลับมาแต่เมืองอังวะ ถึงเมืองเชียงใหม่ในเดือน ๒ ปีจอฉศกนั้น แจ้งความต่อเจ้าอินทวิไชยานนท์เจ้านครเชียงใหม่ว่า ขึ้นไปถึงเมืองอังวะได้เข้าเฝ้าเจ้าอังวะ ๆ ให้เงินทองผ้าผ่อนพอสมควรทั้งนายทั้งไพร่ กับได้ทำแผนที่เมืองอังวะลงมาด้วย เจ้าอินทวิไชยานนท์เจ้านครเชียงใหม่จึงแต่งให้นายหนานสองเมือง คุมตัวนายน้อยปัญญา นายน้อยคำปัน นายน้อยคำสวน กับนำแผนที่เมืองอังวะลงมาทูลเกล้า ฯ ถวายณกรุงเทพ ฯ € ครั้นณเดือน ๔ ปีจอฉศกศักราช ๑๒๓๖ ปี เจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ ปฤกษาพร้อมด้วยพระนรินทรราชเสนี จะเกณฑ์คนยกขึ้นไปขับไล่พวกพม่าเขิน ซึ่งตั้งอยู่ณเมืองเชียงแสน พระ นรินทรราชเสนีจึงมีหนังสือลงมายังเมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ให้เกณฑ์คนยกขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ เจ้านครเชียงใหม่จึงแต่งให้นายน้อยเทพวงษ์ พระยาอุตรการโกศล นายน้อยหน่อเมือง คุมไพร่เมืองเชียงใหม่ ๑๐๐๐ คน เจ้านครลำปางแต่งให้เจ้าราชบุตร นายสุริย คุมไพร่เมืองนครลำปาง ๑๐๐๐ คน เมืองลำพูนไชยแต่งให้นายน้อยมหายศ คุมไพร่เมืองลำพูนไชย ๕๐๐ คน รวม ๒๕๐๐ คน ยกออกจากเมืองเชียงใหม่แต่ณวัน ฯ๓๔ ค่ำ € แลในเดือนสี่ปีจอฉศกนั้น เจ้าราชวงษ์ดาวเรือง บุตรเจ้าลำพูนไชยลังกา เจ้าราชบุตรน้อยสุริย บุตรเจ้าลำพูนลังกา นายอินทวิไชยบุตรพระเจ้าลำพูนบุญมา เจ้าราชวงษ์ใจแก้ว นายน้อยธนัญไชย บุตร เจ้าวรญาณรังษี นายอาริยะ บุตรเจ้าอุปราชหมูล่า เมืองนครลำปาง ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายเครื่องราชบรรณาการ ครั้นณวัน ๖ ค่ำ ศักราช ๑๒๓๗ ปีกุญสัปตศก ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าราชวงษ์ดาวเรือง ขึ้นเปนที่เจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจ วรโฆษกิติโสภณ วิมลคุณ หริภุญไชยมหาเจดีย์บูชากร ราษฎรธุระธาดาประดิษฐาธิบดี เจ้านครลำพูนไชย ตั้งนายน้อยสุริย เปนเจ้าอุปราชตั้งนายพิมพิสาร เปนเจ้าราชบุตรเมืองลำพูนไชย ตั้งราชวงษ์ใจแก้วเปนเจ้าอุปราช ตั้งนายน้อยธนัญไชย เปนเจ้าราชสัมพันธวงษ์เมืองนครลำปาง ตั้งนายอาริยะ เปนพระยาประเทศอุตรทิศ เจ้าเมือง พเยา ได้รับพระราชทานเครื่องยศโดยสมควรแก่ถานาศักดิทุกคน แต่เจ้าราชสัมพันธวงษ์นั้น พระราชทานเครื่องยศเหมือนเจ้าราชวงษ์ แลเจ้านครลำพูนไชย เจ้าอุปราช เจ้าราชบุตร เมืองลำพูนไชย เจ้าอุปราช เจ้าราชสัมพันธวงษ์ เมืองนครลำปาง พระยาประเทศอุตรทิศเจ้าเมืองพเยา ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปเมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย

€ ครั้นณเดือน ๑๐ ปีชวดอัฐศก ศักราช ๑๒๓๘ ปี เจ้านครเชียงใหม่ มีศุภอักษรให้เจ้าอุปราช คุมช้างพลายเล็บครบลงมาถวายช้าง ๑ กับเจ้านครลำพูน แต่งให้เจ้าบุรีรัตน นายพรหม นายน้อยอินทยศ คุมช้างพลายสูง ๕ ศอก ๑๐ นิ้วช้าง ๑ สูง ๕ ศอก ๘ นิ้วช้าง ๑ ลงมาถวาย กับขอพระราชทานเจ้าบุรีรัตนเปนที่เจ้าราชวงษ์ นายน้อยพรหมเปนที่เจ้าบุรีรัตน นายน้อยอินทยศเปนพระยาไชยสงคราม กับเจ้านครลำปาง มีศุภอักษรลงมาขอเจ้าราชบุตรเปนที่เจ้าบุรีรัตน ขอพระยาวังซ้ายเปนที่เจ้าราชบุตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าบุรีรัตน เมืองนครลำพูน เปนที่เจ้าราชวงษ์ ตั้งนายพรหม เปนที่เจ้าบุรีรัตนเมืองนครลำพูน ตั้งนายน้อยอินทยศเปนพระยาไชยสงคราม ตั้งเจ้าราชบุตรเมืองนครลำปางเปนที่เจ้าบุรีรัตน แต่พระยาวังซ้ายนั้น โปรดเกล้าฯ สั่งว่า เปนแต่เทือกเถาท้าวพระยา หาควรจะตั้งขึ้นเปนเจ้าไม่ แต่เปนคนมีความชอบได้ราชการ โปรดให้มีเครื่องยศเหมือนกับเจ้าราชบุตร ได้พระราชทานสัญญาบัตรแลเครื่องยศเสร็จแล้ว เจ้าราชวงษ์ เจ้าบุรีรัตน พระยาไชยสงคราม เมืองนครลำพูน เจ้าบุรีรัตน พระยาวังซ้าย เมืองนครลำปาง พากันกราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปณเมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย ๚