ข้ามไปเนื้อหา

ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 5/เรื่องที่ 5

จาก วิกิซอร์ซ
พงษาวดารเมืองหลวงพระบาง
ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน

ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานเรียงพงษาวดารเมืองหลวงพระบาง แต่ครั้งศักราช ๒๓๖ พระวัสสา มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า พระจุลนาคเถร อยู่ในเมืองลังกาทวีป ประกอบด้วยพระไตรปิฎก คิดจะให้พระสาสนารุ่งเรืองไปตราบเท่าถ้วนถึง ๕๐๐๐ พระวัสสา พระองค์จึงพิเคราะห์ด้วยเหตุจะสร้างรูปพระปฏิมากร จึงให้คนไปป่าวร้องชาวเมืองลังกาทวีปให้มาพร้อมกัน แล้วให้ช่างปั้นรูปพระพุทธเจ้ายกพระหัดถ์ทั้งสองขึ้นห้ามเมื่อพระยากบิลพัสดุ์ พระยาโกลีย ยกไพร่พลมารบกันริมน้ำโรหินี ครั้นปั้นเสร็จแล้ว คนทั้งหลายก็เอาเงิน แลทองคำ, ทองแดง, ทองเหลือง มาให้พระจุลนาคเถรหล่อรูปพระปฏิมากร แล้วชาวเมืองลังกาก็พากันทำสักการบูชาต่าง ๆ พระจุลนาคเถร พระยาลังกา พร้อมกันยกเอารูปพระปฏิมากรขึ้นตั้งไว้ในปราสาท ขนานนามตั้งว่า พระบาง แล้วพระจุลนาคเถรจึงเชิญพระบรมธาตุ ๕ พระองค์ใส่ผอบแก้วขึ้นตั้งไว้บนอาศนทองตรงพระภักตร์พระบาง อธิฐานว่า พระบางองค์นี้จะได้เปนที่ไหว้ที่บูชาแก่เทพยดามนุษย์ทั้งหลายถาวรสืบไปถึง ๕๐๐๐ พระวัสสา ก็ขอให้พระบรมธาตุ ๕ พระองค์เสด็จเข้าสถิตย์อยู่ในรูปพระบางนั้น แล้วพระบรมธาตุเสด็จเข้าอยู่ที่พระนลาตองค์ ๑ อยู่ที่พระหณุองค์ ๑ อยู่ที่พระอุระองค์ ๑ อยู่พระหัดถ์เบื้องขวาองค์ ๑ อยู่พระหัดถ์เบื้องซ้ายองค์ ๑ แล้วพระบางก็ทำปาฏิหารมหัศจรรย์ต่าง ๆ ได้มีการสมโภช ๗ วัน ๗ คืน

ครั้นพระสาสนาล่วงมาถึง ๔๑๘ พระวัสสา พระยาสุบินราชได้เปนพระเจ้าแผ่นดินเมืองลังกาทวีป พระยาศรีจุลราชได้เปนเจ้าแผ่นดินเมืองอินทปัตนคร มีความเสนหารักใคร่แก่กัน พระยาศรีจุลราชจึงแต่งราชทูตถือพระราชสาสนลงสำเภาไปยังเมืองลังกาทวีปขอเชิญพระบางมาทำสักการบูชา พระยาสุบินราชจึงเชิญพระบางมอบให้ราชทูตไปยังเมืองอินทปัตนคร แล้วเจ้าเมืองอินทปัตนครแห่พระบางขึ้นไว้ในพระวิหารกลางเมือง มีการสมโภช ๗ วัน ๗ คืนพระบางนั้นสูงแต่ฝ่าพระบาทถึงยอดพระเมาฬีสองศอกเจ็ดนิ้ว ทองหนัก ๔๒ ชั่ง ๑ ตำลึง

เดิมเมืองหลวงพระบางเรียกว่า เมืองศรีสัตนคนหุตล้านช้างร่มขาว เปนเมืองขึ้นกรุงปักกิ่ง มีเจ้าเมืองครอบครองบ้านเมืองต่อ ๆ กันมาครบ ๕ ปีต้องจัดเครื่องราชบรรณาการไปถวายครั้งหนึ่งครั้นศักราช ๖๗๘ ปีเถาะ อัฐศก พระยาสุวรรณคำผงได้เปนเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ ขุนยักษ์ฟ้า ๆ ทำชู้ด้วยภรรยาพระยาสุวรรณคำผง ๆ ขับไล่ขุนยักษ์ฟ้าไปเสียจากบ้านเมือง ขุนยักษ์ฟ้าพาภรรยากับบุตรคนหนึ่งชื่อ ท้าวฟ้างุ้ม ไปอยู่เมืองอินทปัตนคร ท้าวฟ้างุ้มได้นางคำยักษ์ บุตรพระยาศรีจุลราช เจ้าเมืองอินทปัตนคร เปนภรรยา อยู่มา เจ้าเมืองอินทปัตนครเกณฑ์กองทัพให้ท้าวฟ้างุ้ม ยกขึ้นไปถึงเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ครั้งนั้น ท้าวคำย่อ บุตรเจ้าเมืองพวน ทำชู้ด้วยภรรยาของบิดา กลัวบิดาจะฆ่าเสีย หนีลงมาพึ่งท้าวฟ้างุ้มขอกองทัพยกขึ้นไปตีเมืองพวนได้แล้วจะยอมเปนเมืองขึ้น ท้าวฟ้างุ้มจึงยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองพวน ยิงปืนใหญ่น้อยสู้รบโต้ตอบกันเปนสามารถ พวกเมืองพวนทนฝีมือไม่ได้ก็แตกกระจัดกระจายไป กองทัพท้าวฟ้างุ้มเข้าหักเอาเมืองได้ จึ่งตั้งท้าวคำย่อเปนเจ้าเมืองพวน เรียกว่า พระยาคำย่อ ท้าวฟ้างุ้มกับพระยาคำย่อยกองทัพกลับลงมาเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว จึงแต่งคนถือหนังสือไปถึงพระยาสุวรรณคำผง ผู้เปนปู่ ว่า จะขอเอาราชสมบัติในเมืองศรีสัตนาคนหุต พระยาสุวรรณคำผงจึงเกณฑ์กองทัพออกรบต้านทานสู้กองทัพท้าวฟ้างุ้มไม่ได้ พระยาสุวรรณคำผงผูกฅอตายเสีย ท้าวฟ้างุ้มได้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว เรียกว่า พระยาฟ้างุ้ม หัวเมืองใดตั้งขัดแขง ก็ยกกองทัพไปตี ได้มาเปนเมืองขึ้นหลายเมือง แต่เมืองไผ่หนามปลูกก่อไผ่เปนระเนียด จะยิงปืนเท่าใดก็ไม่อาจทำลายได้ พระยาฟ้างุ้มจึงให้ทำกระสุนปืนด้วยทองคำยิงเข้าไปในเมืองแล้วเลิกทัพกลับไป ราษฎรในเมืองไผ่หนามก็พากันถางกอไผ่เอากระสุนปืนทองคำ แล้วพระยาฟ้างุ้มกลับยกกองทัพมาตี ก็หาแพ้ชะนะกันไม่ เจ้าเมืองไผ่หนามกับพระยาฟ้างุ้มยอมเปนทางไตรีแก่กัน จึ่งเปลี่ยนชื่อพระยาเภา เจ้าเมืองไผ่หนาม เปนพระยาเวียงคำ ตามเหตุที่ได้เอากระสุนปืนทองคำยิง อยู่มา เจ้าเมืองอินทปัตนครให้หาพระยาฟ้างุ้ม บุตรเขย ลงไปเมืองอินทปัตนคร ให้โอวาทสั่งสอนไม่ให้ยกกองทัพไปเที่ยวตีนานาประเทศ ให้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม รับศีลห้าในพระวิหารพระบาง แล้วยกเขตรแขวงเมืองอินทปัตนครตั้งแต่ลี่ผีขึ้นไปให้ขึ้นเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แล้วพระยาฟ้างุ้มขอเชิญพระบางขึ้นไปเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวด้วย ครั้นขึ้นไปถึงเมืองเวียงคำ พระยาเวียงคำขอเชิญพระบางไว้ทำสักการบูชา พระยาฟ้างุ้มจึงพาไพร่พลขึ้นไปเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระยาฟ้างุ้มมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ ท้าวอุ่นเรือน อยู่มา พระยาฟ้างุ้มไม่ตั้งอยู่ในสัตย์ธรรม ข่มเหงเอาภรรยาท้าวพระยามาเปนภรรยาของตัว ท้าวพระยาจึงพร้อมกันขับไล่ พระยาฟ้างุ้มหนีไปพึ่งพระยาคำตันเมืองน่าน พระยาฟ้างุ้มครองเมืองได้ ๔๑ ปี รวมอายุได้ ๗๐ ปี ถึงแก่กรรมที่เมืองน่าน

ศักราช ๗๓๕ ปีชวด เบญจศก ท้าวพระยาพร้อมกันยกท้าวอุ่นเรือน บุตรพระยาฟ้างุ้ม ขึ้นครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว เรียกว่า พระยาสามแสนไทยไตรภูวนารถธิบดีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ท้าวอุ่นเรือนมีบุตรชาย ท้าวล้านคำแดง ๑ ท้าวคำปาก ๑ ท้าวฦาไชย ๑ ท้าวไชยสาร ๑ ท้าวฟ้ากริ่ม ๑ ท้าวหมื่นไชย ๑ ท้าวราชแสนไท ๑ เจ็ดคน ครั้งนั้น บ้านเมืองไม่มีทัพศึก พระยาสามแสนไทครองเมืองได้ ๔๓ ปี รวมอายุ ๖๐ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๗๗๘ ปีมแม อัฐศก ท้าวล้านคำแดง บุตรพระยาสามแสนไทที่ ๑ ได้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ครั้งนั้น บ้านเมืองก็ไม่มีเหตุการสิ่งใด ท้าวล้านคำแดงมีบุตรชาย ท้าวยุขอน ๑ ท้าวพรหมทัต ๑ ท้าวล้านคำแดงครองเมืองได้ ๑๑ ปี รวมอายุได้ ๕๐ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๗๘๙ ปีมะเมีย นพศก ท้าวพระยาพร้อมกันตั้งท้าวฦาไชย บุตรพระยาสามแสนไทที่ ๓ เปนพระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว เจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวต่อมา ท้าวฦาไชยมีบุตรชาย ท้าวแท่งคำ ๑ ท้าวภูเพ ๑ สองคน แล้วพระไชยจักพรรดิแผ่นแผ้วให้ท้าวพระยาลงไปเชิญพระบางณเมืองเวียงคำใส่เรือขึ้นมาถึงแก่งจันใต้เมืองเชียงคาน เรือล่ม พระบางจมน้ำหายไป อยู่มา พระบางก็กลับไปประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเมืองเวียงคำดังเก่า แล้วญวนชื่อ องบัวขว้างซุนเนิก ยกกองทัพมาตีเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วจัดกองทัพออกรบรับไม่ชนะ ต้องพาครอบครัวหนีลงมาเมืองเชียงคาน แล้วแต่งท้าวแท่งคำ บุตร คุมกองทัพไปตี ทัพองบัวขว้างซุนเนิกทนฝีมือไม่ได้ แตกกระจัดกระจายไป พระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วครองเมืองได้ ๔๒ ปี รวมอายุ ๖๕ ปี ถึงแก่กรรมที่เมืองเชียงคาน

ครั้นศักราช ๘๓๑ ปีฉลู เอกศก ท้าวแท่งคำ บุตรพระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วที่ ๑ ได้เปนเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว เรียกว่า พระยาสุวรรณปาหลัง ครองเมืองได้ ๗ ปี ไม่มีบุตร อายุได้ ๔๑ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๘๓๘ ปีวอก อัฐศก ท้าวพระยาพร้อมกันยกท้าวราชแสนไท บุตรพระยาสามแสนไทที่ ๗ เปนพระยาล่าน้ำแสนไทไตรภูวนารถ เจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แล้วให้ท้าวพระยาไปเชิญพระบางที่เมืองเวียงคำมาไว้วัดเชียงกลาง เมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระยาล่าน้ำแสนไทจึงสร้างพระวิหารหลังหนึ่งชื่อ วัดมโนรมย์ เชิญพระบางมาประดิษฐานไว้ในวิหาร พระยาล่าน้ำมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ ท้าวชมภู พระยาล่าน้ำครองเมืองได้ ๑๕ ปี รวมอายุ ๓๓ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๘๕๓ ปีกุน ตรีศก ท้าวชมภู บุตรพระยาล่าน้ำ ได้เปนเจ้าเมือง ๕ ปี ไม่มีบุตร อายุได้ ๑๕ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๘๕๘ ปีมโรง อัฐศก ท้าวพระยาพร้อมกันยกท้าวภูเพ บุตรพระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วที่ ๒ เปนเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว เรียกว่า พระยาวิชุลราชธิบดี ๆ สร้างพระอุโบสถหลังหนึ่ง เชิญพระบางประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดวิชุลราช พระยาวิชุลราชมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ ท้าวโพธิสาระ พระยาวิชุลราชครองเมืองได้ ๒๐ ปี รวมอายุ ๕๓ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๘๗๘ ปีชวด อัฐศก ท้าวโพธิสาระ บุตรพระยาวิชุลราช ได้เปนเจ้าเมือง เรียกว่า พระยาโพธิสาระล้านช้างร่มขาว อยู่มา พระแซกคำ เดิมอยู่ในพระวิหารวัดเมืองเชียงใหม่ เสด็จมาประดิษฐานอยู่ร่วมแท่นใหญ่กับพระบางที่วัดวิชุลราชธาราม เมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระยาพรหมราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ รู้ว่า พระแซกคำหายไป จึงแต่งให้แสนท้าวคุมไพร่ ๒๐ คนไปเที่ยวหาตามหัวเมืองนานาประเทศ มาพบพระแซกคำอยู่ในพระอุโบสถวัดวิชุลราชธาราม ครั้นดึกประมาณ ๒ ยามเสศ คนเมืองเชียงใหม่พากันตัดน่าต่างเข้าไปยกเอาพระแซกคำ พวกซึ่งรักษาอุโบสถตื่นขึ้น จับพวกเมืองเชียงใหม่ได้ทั้ง ๒๐ คน พระยาโพธิสาระให้ยกโทษเสีย ปล่อยตัวกลับไปเมืองเชียงใหม่ พระยาพรหมราช เจ้าเชียงใหม่ ทราบว่า เจ้าเมืองหลวงพระบางตั้งอยู่ในยุติธรรม เห็นแก่พระยาพรหมราช จึงปล่อยตัวพวกซึ่งทำความผิดมาดังนี้ ก็มีบุญคุณมาก จึงแต่งให้ท้าวพระยาพานางยอดคำ บุตร ไปยกให้เปนภรรยาพระยาโพธิสาระ ๆ มีบุตรชาย เจ้าเชษฐวงษา ๑ เจ้าทาเรือ ๑ เจ้าวรวังโส ๑ สามคน บุตรหญิง นางแก้วกุมรี ๑ นางคำเหลา ๑ นางคำไป ๑ สามคน รวม ๖ คน อยู่มา พระยาพรหมราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ ถึงแก่กรรม ท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่นำความมาแจ้งแก่พระยาโพธิสาระ เจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แลขอเจ้าเชษฐวงษา บุตรพระยาโพธิสาระที่ ๑ ขึ้นไปเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า พระยาไชยเชษฐาธิราช พระยาโพธิสาระครองเมืองได้ ๒๘ ปี รวมอายุ ๔๒ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๐๖ ปีมะโรง ฉศก พระไชยเชษฐาธิราชจึงมอบเมืองเชียงใหม่ให้ท้าวพระยาอยู่รักษา พระไชยเชษฐาธิราชลงมาครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แล้วเชิญพระแก้วมรกฎเมืองเชียงใหม่ลงมาไว้เมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระไชยเชษฐาธิราชครองเมืองได้ ๖ ปี ครั้นศักราช ๙๑๒ ปีจอ โทศก พระไชยเชษฐาธิราชจึงแต่งท้าวพระยาถือพระราชสาสนคุมเครื่องราชบรรณาการลงมากรุงศรีอยุทธยาขอพระราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือก ทรงนามว่า พระเทพกระษัตรี ขึ้นไปเปนปิ่นสุรางค์กัลยาในเมืองศรีสัตนาคนหุต สมเด็จพระเจ้าช้างเผือกจึงมีพระราชสาสนตอบขึ้นไปว่า ซึ่งเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตมีพระไทยจะร่วมพระราชโลหิตเปนสัมพันธมิตรไมตรีนั้น ก็อนุญาตให้ ให้แต่งผู้คนสิ่งของลงมารับเถิด พระไชยเชษฐาธิราชจึ่งแต่งทูตานุทูต กับไพร่ ๕๐๐ ท้าวพระยานางเถ้าแก่ ลงมารับ สมเด็จพระเจ้าช้างเผือกจึงส่งพระราชธิดาชื่อ พระแก้วฟ้า ให้แก่ท้าวพระยาขึ้นไปเมืองศรีสัตนาคนหุต พระไชยเชษฐาธิราชรู้ว่า ไม่ใช่องค์พระเทพกระษัตรี ก็เสียใจ จึงมีราชสาสนคุมเครื่องราชบรรณาการให้ราชทูตท้าวพระยานำแก้วฟ้าลงมาส่งยังกรุงศรีอยุทธยา ในพระราชสาสนนั้นว่า เดิมพระองค์ประสาทพระเทพกระษัตรีให้ กิติศัพท์เล่าฦาทั้งประเทศเมืองศรีสัตนาคนหุต แล้วพระองค์ส่งพระแก้วฟ้า ราชบุตรี ขึ้นมานั้น ครั้นจะรับไว้ ก็เปนที่อัปรยศแก่ท้าวพระยาแลราษฎรเมืองศรีสัตนาคนหุต ขอส่งพระแก้วฟ้าคืน จงพระราชทานพระเทพกระษัตรีตามอนุญาตแต่ก่อน

ในศักราช ๙๑๒ ปีจอ โทศกนั้น พระไชยเชษฐาธิราชได้ขึ้นไปครองเมืองเชียงแสน ครั้นศักราช ๙๑๓ ปีกุน ตรีศก สมเด็จพระเจ้าช้างเผือกจึงส่งพระเทพกระษัตรีให้ราชทูตท้าวพระยานำขึ้นไปถึงนอกด่านเมืองเพชรบูรณ์ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีจึงแต่งให้นายทัพนายกองมาตีชิงเอาพระเทพกระษัตรีไปได้ พระไชยเชษฐาธิราชรู้ความแล้วก็โกรธว่า ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีแต่งรี้พลมาแย่งชิงเอาพระเทพกระษัตรีไปทั้งนี้ ก็เพราะเมืองพระพิศณุโลกเปนต้นคิด จำจะแก้แค้นให้จงได้ จึงเกณฑ์ช้างม้ารี้พลจะยกไปเอาเมืองพระพิศณุโลก สมเด็จพระเจ้าช้างเผือกทราบความก็ตรัสห้าม จึงมิได้ยกไปจุลศักราช ๙๑๔ ปีชวด จัตวาศก พระมหินทราธิราช พระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าช้างเผือก ได้ราชสมบัติในกรุงศรีอยุทธยา ส่งข่าวลับขึ้นไปถึงเมืองศรีสัตนาหุตว่า ให้ยกกองทัพลงมาช่วยกองทัพกรุงศรีอยุทธยาตีกระหนาบเอาเมืองพระพิศณุโลก พระไชยเชษฐาธิราชจึงเกณฑ์ช้างม้ารี้พลลงมาทางเมืองนครไทยถึงเมืองพระพิศณุโลก ให้พระยาสุรินทร์คว่างฟ้า พระยามือไฟ พระยามือเหล็ก ออกตั้งค่ายใกล้เมืองประมาณ ๔๐ เส้น ๕๐ เส้น ฝ่ายพระมหินทราธิราชกรุงศรีอยุทธยาก็ยกทัพเรือขึ้นไปตั้งอยู่ปากน้ำพิงค์ พระไชยเชษฐาธิราชจึงให้ไพร่พลทหารเข้าปีนเมือง เหลือกำลังไพร่พล หักเอาเมืองไม่ได้ จึงให้ข้ามคูเข้าไปขุดกำแพงเมืองพระพิศณุโลก ฝ่ายพระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพระพิศณุโลก ให้ทหารออกทลวงฟัน พลเมืองศรีสัตนาคนหุตต่อกำลังมิได้ ก็ถอยออกไปตั้งมั่นอยู่ในค่าย แล้วพระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพระพิศณุโลก จึงเกณฑ์ให้เอาไม้ไผ่ทำแพเอาไฟจุดลอยลงไปถึงกองทัพเรือพระมหินทราธิราชมิทันรู้ตัว ไพร่พลแตกตื่นพากันลงเรือทันบ้างมิทันบ้าง เสียเรือแลไพร่พลเปนอันมาก ฝ่ายเจ้าเมืองหงษาวดีรู้ข่าวว่า เมืองพระพิศณุโลกเกิดศึก จึงเกณฑ์กองทัพให้ลงมาช่วยตีหักเอาค่ายพระยามือเหล็กได้ ก็เข้าไปในเมืองพระพิศณุโลก แล้วกองทัพเรือสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาก็เลิกทัพกลับลงไป พระไชยเชษฐาธิราชรู้ว่า กองทัพกรุงศรีอยุทธยาเลิกไปแล้ว ก็ล่าทัพขึ้นไปทางด่านชมภู ให้พระยาแสนสุรินทร์คว่างฟ้า พระยามือเหล็ก พระยามือไฟ อยู่รั้งหลัง ไปถึงวารีทางช่องแคบ จึงแต่งทหารซุ่มไว้สองข้างทาง แล้วยกพลทหารเข้าไปตั้งข้างในไกลกันประมาณ ๓๐ เส้น ๔๐ เส้น คอยตีทัพซึ่งจะติดตามไป ฝ่ายทัพเมืองหงษาวดีที่มาช่วยเมืองพระพิศณุโลกยกติดตามไปถึงวารีทางแคบก็ล่วงเข้าไปถึงทัพใหญ่ ฝ่ายทหารกองซุ่มได้ทีก็ตีกระหนาบสู้รบกันถึงอาวุธสั้น กองทัพเมืองหงษาวดีแตกฉานหนีไป ผู้คนล้มตาย เก็บได้ช้างม้าเครื่องสาตราวุธเปนอันมาก

ครั้นถึงศักราช ๙๑๗ ปีเถาะ สัปตศก พระเจ้าหงษาวดียกกองทัพลงมาล้อมกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระมหินทราธราชจึงมีศุภอักษรขึ้นไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุตขอกองทัพลงมาช่วย พระไชยเชษฐาธิราชทราบแล้วจึงให้เกณฑ์กองทัพประมาณห้าหมื่นพร้อมด้วยช้างม้าเครื่องสาตราวุธยกลงมาถึงเมืองเพ็ชรบูรณ์ พระเจ้าหงษาวดีคิดอุบายมีศุภอักษรประทับตราพระราชสีห์ให้คนถือขึ้นไปถึงพระไชยเชษฐาธิราชว่า ให้รีบยกลงมาช่วย ด้วยกองทัพเมืองหงษาวดีกำลังอดเสบียงอาหาร พระไชยเชษฐาธิราชไม่รู้ในอุบายพระเจ้าหงษาวดี เข้าใจว่า เปนศุภอักษรกรุงศรีอยุทธยาจริง ก็รีบยกลองลงมาถึงเมืองสระบุรี พบกองทัพเมืองหงษาวดีตั้งสกัดอยู่โจมเข้าตี กองทัพพระไชยเชษฐาธิราชมิทันรู้ตัวก็แตกกระจัดกระจายไป ผู้คนล้มตาย เสียช้างม้าเครื่องสาตราวุธเปนอันมาก พระไชยเชษฐาธิราชก็ขึ้นช้างพาไพร่พลที่เหลืออยู่กลับไปเมืองศรีสัตนาคนหุต ครั้งนั้น กรุงศรีอยุทธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงษาวดี ๆ ให้พระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพระพิศณุโลก มาครองกรุงศรีอยุทธยา

จุลศักราช ๙๒๑ ปีมแม เอกศก พระเจ้าหงษาวดียกกองทัพขึ้นไปตีเมืองศรีสัตนาคนหุต ได้สู้รบกันเปนสามารถ กองทัพพระเจ้าหงษาวดีเหลือกำลัง หักเอาเมืองมิได้ ก็เลิกทัพกลับไป พระไชยเชษฐาธิราชครองเมืองเชียงแสนได้ ๙ ปี ในศักราช ๙๒๑ ปีมแม เอกศก ให้ท้าวพระยาอยู่รักษาเมืองศรีสัตนาคนหุต, เมืองเชียงแสน พระไชยเชษฐาธิราชลงมาตั้งเมืองเวียงจันท์ มีนามว่า เมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แต่พระบาง พระแก้วมรกฎ พระแซกคำ อยู่วัดวิชุลราชธราราม เมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวจึงเปลี่ยนนามว่า เมืองหลวงพระบางราชธานีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระไชยเชษฐาธิราชครองเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุต ได้สร้างพระเจดีย์ก่อครอมบรมธาตุพระยาศรีธรรมโสกราชองค์หนึ่ง อยู่มา เจ้าเมืองหงษาวดีให้อิมมะเร บุตร พระยาอังวะ น้อง คุมกองทัพพม่ามาตีเมืองเชียงใหม่ พระยาสามล้าน, พระยาม้า ผู้รักษาเมือง สู้ไม่ได้ กวาดครอบครัวลงมาพึ่งพระไชยเชษฐาธิราชเมืองเวียงจันทบุรี แล้วอิมมะเร พระยาอังวะ ยกกองทัพติดตามลงมาตีบ้านเล็กเมืองน้อยจนถึงเมืองจันทบุรี กองทัพอิมมะเร พระยาอังวะ จับได้เจ้าอุปราชเมืองเวียงจันท์ ๑ น้องหญิงพระไชยเชษฐาธิราช ๒ นางแทนคำ ๑ มารดานางแทนคำ ๑ ห้าคน ส่งไปเมืองหงษาวดี แล้วเลิกทัพกลับไป อยู่มา เจ้าเมืองหงษาวดีแต่งกองทัพลงมาตีเมืองเวียงจันท์อิก พระไชยเชษฐาธิราชพาครอบครัวลงมาตั้งค่ายอยู่ปากน้ำงึม ได้ต่อรบต้านทานกันเปนสามารถ กองทัพเมืองหงษาวดีเหลือกำลังที่จะรบ ชิงเอาค่ายไม่ได้ ก็เลิกทัพกลับไป พระไชยเชษฐาธิราชครองเมืองเชียงใหม่, เชียงแสน, หลวงพระบาง, เวียงจันท์ รวม ๒๔ ปี มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ พระหน่อแก้ว แต่ยังเล็ก พระไชยเชษฐาธิราชอายุได้ ๓๙ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๒๙ ปีเถาะ นพศก พระยาแสนสุรินทร์คว่างฟ้า พระยาจันทสิงหราช เมืองเวียงจันท์ เกิดวิวาทรบกันจะแย่งเอาพระหน่อแก้ว บุตรพระไชยเชษฐาธิราช ไปเลี้ยง พระยาสุรินทร์คว่างฟ้าจับพระยาจันทสิงหราชได้ ให้ฆ่าเสีย พระยาสุรินทร์คว่างฟ้าได้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ เรียกว่า พระยาสุมังคลโพธิสัตวอวยการาชาประเทศ มีบุตรชายคนหนึ่งเปนพระยานครน้อย พระยาสุมังคลโพธิสัตว์ครองเมืองได้ ๔ ปี

ศักราช ๙๓๓ ปีมแม ตรีศก เจ้าเมืองหงษาวดีจัดกองทัพลงมาตีเมืองเวียงจันท์ จับได้พระยาสุมังคลโพธิสัตว พระหน่อแก้ว ส่งขึ้นไปเมืองหงษาวดี แล้วตั้งอุปราชซึ่งจับไปครั้งก่อนเปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ ครั้งนั้น เมืองเวียงจันท์ เมืองหลวงพระบาง ต้องอ่อนน้อมขึ้นพม่าหงษาวดีต่อมา แล้วต้องไปบรรณาการกรุงปักกิ่งตามแบบอย่างแต่ก่อนด้วย แลเมืองเชียงแสน ตั้งแต่กองทัพพระเจ้าหงษาวดีจับพระยาสุมังคลโพธิสัตวส่งไปเมืองหงษาวดีแล้ว ก็หาได้อ่อนน้อมต่อเมืองหลวงพระบางไม่ ไปพึ่งแก่เมืองเชียงใหม่ อยู่มา มีผู้อวดอ้างตั้งตัวเปนพระไชยเชษฐาธิราชเกลี้ยกล่อมได้ผู้คนปลายเขตรปลายแดนยกกองทัพมาตีเมืองเวียงจันท์ เจ้าเมืองเวียงจันท์พาครอบครัวลงเรือหนีขึ้นไปถึงแก่งเรือล่ม เจ้าเมืองเวียงจันท์ถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๓๕ ปีรกา เบญจศก เจ้าเมืองหงษาวดีแต่งกองทัพลงมาปราบปรามพวกขบถเรียบร้อย แล้วตั้งพระยาสุมังคลโพธิสัตวให้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ได้ปีหนึ่งถึงแก่กรรม ท้าวพระยาเมืองเวียงจันท์ยกพระยานครน้อย บุตรพระยาสุมังคลโพธิสัตว เปนเจ้าเมืองจันทบุรีได้ปี ๑ พระยานครน้อยไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรม ท้าวพระยาพร้อมกันขึ้นไปฟ้องต่อเจ้าเมืองหงษาวดี ๆ ให้เอาตัวพระยานครน้อยไว้ แล้วให้ท้าวพระยากลับลงมารักษาบ้านเมือง ครั้นศักราช ๙๔๒ ปีมโรง โทศก ท้าวพระยาผู้ว่าราชการเมืองเวียงจันท์แต่งให้พระยาเมืองหลวงเมืองแสนเปนแม่ทัพยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ได้รบพุ่งกันเปนหลายครั้ง กองทัพเมืองเวียงจันท์จะหักเอาเมืองไม่ได้ก็ตั้งค่ายมั่นอยู่ ฝ่ายเจ้าเมืองเชียงแสนมีหนังสือลงมาขอกองทัพเมืองเชียงใหม่แลกองทัพกรุงศรีอยุทธยาขึ้นไปช่วย พระยาเมืองหลวงเมืองแสนทราบว่า สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากรุงศรีอยุทธยาให้กองทัพยกขึ้นไป ก็เกรงพระบารมี ได้ปฤกษาการบ้านเมืองกันแล้ว ก็เลิกทัพกลับไปเมืองเวียงจันท์ ๆ ไม่มีเจ้าเมือง ว่างเปล่าอยู่ ๙ ปี

ศักราช ๙๔๕ ปีมแม เบญจศก ท้าวพระยาแลพระสงฆ์พร้อมกันขึ้นไปเมืองหงษาวดีขอพระหน่อแก้ว บุตรพระไชยเชษฐาธิราช ลงมาครองเมืองเวียงจันท์ได้ ๒ ปี รวมอายุ ๒๖ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๔๗ ปีรกา สัปตศก ท้าวพระยาจึงยกพระธรรมิกราช บุตรน้าพระหน่อแก้ว ขึ้นเปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ มีบุตรชาย อุปยุวราช พระมอมแก้ว ๒ คน พระธรรมิกราชครองเมืองได้ ๗ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๕๔ ปีมโรง จัตวาศก ท้าวพระยาเอาผู้มีตระกูลในวงษ์พระไชยเชษฐาธิราชครองเมืองต่อมาได้ ๔ ปี แลในศักราช ๙๕๕ ปีมเสง เบญจศกนั้น เจ้าเมืองเวียงจันท์แลท้าวพระยาพร้อมกันเห็นว่า ในกรุงศรีอยุทธยาเปนแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ามีบุญญาธิการแผ่อาณาเขตรกว้างขวางออกไปมาก จึงแต่งราชทูตถือพระราชสาสนคุมเครื่องราชบรรณาการลงมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารณกรุงศรีอยุทธยาครั้งหนึ่ง

ศักราช ๙๕๘ ปีวอก อัฐศก อุปยุวราช บุตรพระธรรมิกราชที่ ๑ ได้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ มีบุตรชาย เจ้าตวนคำ เจ้าวิไชย อุปยุวราชครองเมืองได้ ๑๒ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๗๐ ปีวอก สัมฤทธิศก เจ้าตวนคำ บุตรอุปยุวราชที่ ๑ ได้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ มีบุตรชาย เจ้าชมภู ๑ เจ้าบุญชู ๑ เจ้าสุริยวงษ์ ๑ สามคน เจ้าวิไชย น้องเจ้าตวนคำ มีบุตรชาย เจ้าปุ ๑ เจ้าสอย ๑ เจ้าตวนคำครองเมืองได้ ๑๖ ปี ก็ถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๘๕ ปีกุน เบญจศก ท้าวพระยายกเจ้าสุริยวงษ์ บุตรเจ้าตวนคำที่ ๓ เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ เรียกว่า พระยาสุริยวงษาธรรมิกราชบรมบพิตร แล้วกลัวเจ้าชมภู เจ้าบุญชู เจ้าปุ ผู้พี่ จะชิงเอาราชสมบัติ จึงให้ขับไล่เจ้าชมภู เจ้าบุญชู เจ้าปุ ไปจากบ้านเมือง เจ้าชมภูพาภรรยากับแสนทิพนาบัวหนีไปเมืองญวน มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ พระไชยองแว้, เจ้าชมภูถึงแก่กรรมที่เมืองญวน แสนทิพนาบัวได้มารดาพระไชยองแว้เปนภรรยา มีบุตรชายชื่อ ท้าวน้อง ๑ ท้าวราชวงษา ๑ สองคน เจ้าบุญชูหนีไปบวชอยู่วัดภูหอภูโรง เจ้าปุพาภรรยาไปอยู่เมืองนครพนม มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ เจ้านันทราช เจ้าปุถึงแก่กรรมที่เมืองนครพนม พระยาสุริยวงษาครองเมืองเวียงจันท์ ได้ว่ากล่าวเขตรแขวงข้างใต้ตั้งแต่ลี่ผีขึ้นไป, ข้างเหนือแต่ผากะไดลงมาข้างซ้ายต่อแดนกรุงศรีอยุทธยา กำหนดไม้ประดู่ ๓ ต้น อ้น ๒ ขุย ข้างขวาต่อแขวงเมืองญวน กำหนดต้นซาน ๓ กิ่ง มีลำน้ำสามคลองเปนอาณาเขตร พระยาสุริยวงษามีบุตรชาย เจ้าราชบุตร ๑ บุตรหญิง นางกุมารี ๑ นางสุมัง ๑ สามคน อยู่มา ฮ่อยกกองทัพมาตีเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เจ้าอินทกุมารเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าจึงพานางจันทกุมารี ผู้น้อง ลงมาพึ่งพระยาสุริยวงษา เจ้าเมืองเวียงจันท์ เจ้าราชบุตรได้นางจันทกุมารีเปนภรรยา มีบุตรชาย เจ้ากิงกิสะ เจ้าอินทโสม อยู่มา เจ้าราชบุตรทำชู้ด้วยภรรยาท้าวโก ขุนนาง พระสุริยวงษาให้ฆ่าเจ้าราชบุตรเสีย เจ้าอินทกุมารเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าได้ลาวเมืองเวียงจันท์เปนภรรยา มีบุตรชาย เจ้าองค์นก พระยาสุริยวงษาครองเมืองได้ ๕๘ ปี รวมอายุ ๘๓ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๑๐๔๓ ปีรกา ตรีศก พระยาเมืองจันได้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ เจ้านันทราช บุตรเจ้าปุที่หนีไปอยู่เมืองนครพนม ได้เปนเจ้าเมืองนครพนม เกณฑ์กองทัพยกมาตีเมืองเวียงจันท์ จับพระยาเมืองจันฆ่าเสีย เจ้านันทราชได้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ แล้วพระไชยองแว้ บุตรเจ้าชมภูที่หนีขึ้นไปอยู่เมืองเวียดนาม ขอกองทัพญวนยกมาตีเมืองเวียงจันท์ จับเจ้านันทราชได้ ฆ่าเสีย พระไชยองแว้ บุตรเจ้าชมภู ได้เปนเจ้าเมืองเวียงจันท์ แล้วให้ท้าวนอง ผู้น้องต่างบิดากัน ขึ้นไปรักษาเมืองหลวงพระบาง เจ้ากิงกิสะ เจ้าอินทโสม บุตรเจ้าราชบุตร เจ้าองค์นก บุตรเจ้าอินทโสมเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า กลัวพระไชยองแว้จะมีความพยาบาทแต่ครั้งปู่ขับไล่บิดาพระไชยองแว้ไปเมืองญวน ก็พากันหนีไป เจ้ากิงกิสะ เจ้าองค์นก ไปอยู่เมืองล่า เมืองพง เจ้าอินทโสมอยู่เมืองแพร่ ครั้งนั้น เมืองเวียดนามกับเมืองเวียงจันท์ เมืองหลวงพระบาง เปนบ้านพี่เมืองน้อง ไปมาหากัน แต่ไม่มีเครื่องบรรณาการส่วยอากรสิ่งใด อยู่มา เจ้ากิงกิสะ เจ้าองค์นก เกลี้ยกล่อมคนเมืองล่า เมืองพง ได้ ยกเปนกองทัพลงมาตั้งอยู่กลางทาง ท้าวนองซึ่งรักษาเมืองหลวงพระบางรู้ว่า กองทัพเจ้ากิงกิสะยกลงมา ก็เชิญเอาพระบาง พระแก้วมรกฎ พระแซกคำ หนีลงมาเมืองเมืองเวียงจันทบุรีศรีสัตนาคนหุต เจ้ากิงกิสะก็ยกกองทัพเข้าเมืองหลวงพระบาง เจ้ากิงกิสะ บุตรเจ้าราชบุตร ได้เปนเจ้าเมืองหลวงพระบาง มีนามว่า พระยากิงกิสะ เจ้าองค์นก บุตรเจ้าอินทกุมาร เปนอุปราช จุลศักราช ๑๐๕๗ ปีกุน สัปตศก พระยากิงกิสะ เจ้าเมืองหลวงพระบางราชธานีศรีสัตนาคนหุต เกณฑ์กองทัพยกไปตีเมืองเวียงจันทบุรีศรีสัตนาคนหุต เจ้าเมืองเวียงจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตมีศุภอักษรลงมายังกรุงศรีอยุทธยาขอกองทัพขึ้นไปช่วย สมเด็จพระเพทราชาธิราช พระเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุทธยา จึงให้นายทัพนายกองคุมไพร่ช้างม้ารี้พลยกขึ้นไปช่วยเมืองเวียงจันทบุรีศรีสัตนาคนหุต ครั้นนายทัพนายกองกรุงศรีอยุทธยายกขึ้นไปถึงเมืองจันทบุรี จึงมีหนังสือไปถึงนายทัพนายกองเมืองหลวงพระบางว่า ให้เปนทางไมตรีประนีประนอมกับเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตดังแต่ก่อนมา ครั้นนายทัพนายกองเมืองหลวงพระบางแจ้งในหนังสือนายทัพนายกองกรุงศรีอยุทธยาแล้ว ก็มีความครั่นคร้ามเกรงพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุทธยา จึงยอมเปนทางไมตรีกับเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตสืบไป ไม่มีความอาฆาฎซึ่งกันแลกัน ฝ่ายกองทัพกรุงศรีอยุทธยาแลกองทัพเมืองหลวงพระบางต่างคนต่างเลิกทัพกลับไปบ้านเมือง พระยากิงกิสะ เจ้าเมืองหลวงพระบาง พระไชยองแว้ เจ้าเมืองจันทบุรี พร้อมกันแบ่งปันเขตรแดนบ้านเมือง (ตรงนี้ต้นฉบับขาดหายไป อ่านไม่ได้ความ) พ้นจากปากน้ำเหือง เหนือเมืองเชียงคาน ฝ่ายตวันออก ปากน้ำมิ ใต้เมืองเชียงคาน ไปถึงลี่ผี เปนเขตรแขวงเมืองเวียงจันท์ ตั้งแต่น้ำของฝ่ายตวันออก ปากน้ำมิ ฝ่ายตวันตก ปากน้ำเหือง ขึ้นไปถึงผากะได ข้างซ้ายต่อแดนกรุงศรีอยุทธยา กำหนดไม้ประดู่สามต้น ข้างขวาต่อแดนเมืองญวน กำหนดต้นซานสามกิ่ง หัวพันทั้ง ๖ สิบสองน่าด่าน เปนแขวงเมืองหลวงพระบาง พระยากิงกิสะ เจ้าเมืองหลวงพระบาง มีบุตรชื่อ เจ้าแทนสาว เจ้าแทนคำ อักไซรคำ ๓ คน พระยากิงกิสะครองเมืองได้ ๒๒ ปี ก็ถึงแก่กรรม

ศักราช ๑๐๗๕ ปีมเสง เบญจศก ท้าวพระยายกเจ้าองค์นก อุปราช ขึ้นเปนเจ้าเมือง มีนามว่า สมเด็จบรมเชษฐขัติยสุริยวงษา เจ้าเมืองหลวงพระบาง ครองเมืองได้ ๑๐ ปี เจ้าอินทโสม บุตรเจ้าราชบุตรที่ ๒ น้องพระยากิงกิสะ เกลี้ยกล่อมได้ไพร่พลเมือง ๆ ล่า เมืองพง ยกกองทัพลงมาตั้งอยู่เมืองงอยในลำอู เจ้าองค์นกจึงปฤกษาท้าวพระยาว่า จะยกกองทัพขึ้นไปสู้รบป้องกันรักษาเขตรแดนก็ได้ แต่เห็นว่า ไพร่พลจะยับย่อยทั้งสองฝ่าย แล้วก็จะขาดพระญาติแลพระราชไมตรีกัน จึงให้นิมนต์พระสงฆ์แลข้าราชการมาประชุมพร้อม แล้วเจ้าองค์นกตั้งความสาบาลว่า จะไม่คิดประทุษฐร้ายแก่กัน แล้วจึงเชิญเจ้าอินทโสมลงมา ให้ว่าราชการเมืองด้วย ภายหลัง เจ้าองค์นกกับมหาดเล็กไปต่อนกเขา พระยาเมืองซ้ายกับเจ้าอินทโสมร่วมคิดกันปิดประตูเมืองเสีย ยกเจ้าอินทโสมขึ้นครองเมืองหลวงพระบางในศักราช ๑๐๘๕ ปีเถาะ เบญจศก เจ้าองค์นกกลับมาเห็นประตูเมืองปิด มีผู้คนรักษาน่าที่ จะเข้าเมืองไม่ได้ ก็พาบุตร ๗ คนกับมหาดเล็กไปถึงเมืองเลิก จึงตั้งความอธิฐานว่า ถ้าจะได้ครองบ้านเมืองต่อไป จะข้ามสพานไป ขอให้สพานหัก ครั้นอธิฐานแล้ว ก็ข้ามสพานไป สพานก็หัก เจ้าองค์นกจึงบวชเปนพระภิกขุที่วัดเลือก แล้วไปอยู่วัดช้างเผือก เมืองเชียงใหม่ อยู่มา เจ้าเมืองเชียงใหม่ถึงแก่กรรม มีบุตรอยู่ ๒ องค์ เจ้าอังวะแต่งกองทัพประมาณ ๑๗๐๐๐๐ ยกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ ท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่คุมกองทัพออกรบพม่าหลายครั้งก็สู้ไม่ได้ จึงปฤกษาพร้อมกันว่า เจ้าองค์นกเมืองหลวงพระบางหนีมาบวชอยู่วัดช้างเผือก จึงเอาขันทองคำ ๓ ขันจารึกนามบุตรเจ้าเมืองเชียงใหม่ ๒ องค์ ๆ ละขัน จารึกนามเจ้าองค์นกขัน ๑ แล้วลงไปพร้อมกันที่แม่น้ำปิง อธิฐานว่า ถ้าเจ้าองค์ใดจะมีบุญครอบครองเมืองเชียงใหม่แลปราบข้าศึกพม่าได้ ขอให้ขันพระนามองค์นั้นลอยทวนขึ้นเหนือน้ำ ขันทองมีนามบุตรเจ้าเชียงใหม่ทั้ง ๒ องค์นั้นลอยตามน้ำไป แต่ขันทองมีนามเจ้าองค์นกลอยทวนขึ้นเหนือน้ำ ท้าวพระยามีความยินดี พร้อมกันเชิญเจ้าองค์นกลาผนวชขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ได้ ๗ วัน จึงเกณฑ์กองทัพออกไปรบพม่า ๆ แตกหนีไป เจ้าองค์นกครองเมืองเชียงใหม่ มีบุตรชายกับนางยองคนเมืองเชียงใหม่ ชื่อ เจ้าต้น เจ้าวงษ์ เจ้าติศะ บุตรเจ้าองค์นกตามไปแต่เมืองหลวงพระบาง ๗ คน รวม ๑๐ คน ก็ได้ครองเมืองเชียงใหม่สืบ ๆ กันมา เจ้าอินทโสมครองเมืองหลวงพระบางได้ ๑๓ ปี เจ้าโนชา เจ้าไชยสาร บุตรองค์นกซึ่งอยู่เมืองหลวงพระบาง กับพระยาเชียงใต้ ท้าวอินน้ำงา ทิดสุวรรณ เกลี้ยกล่อมผู้คนได้๘๐๐ เสศ จะเข้าตีเอาเมืองหลวงพระบาง เจ้าอินทโสม เจ้าเมืองหลวงพระบาง ให้เกณฑ์คนจับเจ้าโน เจ้าไชยสาร พระยาเชียงใต้ ได้ ฆ่าเสีย เจ้าอินทโสมมีบุตรชาย เจ้าโชติกะ ๑ เจ้าอนุรุธ ๑ เจ้านาค ๑ เจ้านารทะ ๑ เจ้าเชษฐวังโส ๑ เจ้าองค์เอก ๑ เจ้าสุริยวงษ์ ๑ เจ้าสุรวงษา ๑ เจ้าอินทพรหม ๑ เก้าคน มีบุตรหญิง นางแก้วรัตนพิมพา ๑ นางศรีคำกอง ๑ นางสุชาดา ๑ นางสุธรรมา ๑ นางมาศ ๑ นางแว่นแก้ว ๑ หกคน รวม ๑๕ คน เจ้าอินทโสมครองเมืองได้ ๒๖ ปี ก็ถึงแก่กรรมในศักราช ๑๑๑๑ ปีมเสง เอกศก เมื่อเจ้าอินทโสมครองเมืองหลวงพระบาง หาได้อ่อนน้อมต่อเมืองญวนไม่ เจ้าเวียดนามจึงแต่งให้องเจียงเทียมตาเทียมเจ๊กคุมกองทัพยกมาตีเมืองหลวงพระบาง ท้าวพระยาพร้อมกันให้เจ้าอินทพรหม บุตรเจ้าอินทโสมที่ ๙ เปนแม่ทัพคุมกองทัพออกไปรบ ญวนทนฝีมือไม่ได้ แตกหนีไป ท้าวพระยาจึงยกเจ้าอินทพรหมเปนเจ้าเมืองหลวงพระบางได้ ๘ เดือน จุลศักราช ๑๑๑๒ ปีมะเมีย โทศก เจ้าอินพรหมจึงมอบให้เจ้าโชติกะ บุตรเจ้าอินทโสมที่ ๑ ผู้พี่ เปนเจ้าเมืองหลวงพระบาง แล้วเมืองเวียงจันท์มีหนังสือยุยงขึ้นไปเมืองอังวะขอกองทัพลงมาตีเมืองหลวงพระบาง เจ้าอังวะแต่งให้โปนานวคุมกองทัพลงมาตีเมืองหลวงพระบาง จับได้เจ้าสุริยวงษ์ บุตรเจ้าอินทโสมที่ ๗ กับไพร่ ๖๐๐ คน แล้วเลิกทัพกลับไปเมืองอังวะ เจ้าโชติกะครองเมืองหลวงพระบางได้ ๑๔ ปี เจ้าอังวะแตงให้เจ้าสุริยวงษ์เปนแม่ทัพคุมกองทัพพม่ากับไพร่ลาวเมืองหลวงพระบาง ๖๐๐ คนไปตีเมืองล่า เมืองแมน เจ้าสุริยวงษ์กับไพร่ลาว ๖๐๐ คนพากันหนีลงมาเมืองแถง ศักราช ๑๑๒๖ ปีวอก ฉศก จึงให้หนังสือลงมาถึงเมืองหลวงพระบางว่า จะขอเข้ามาช่วยทำนุบำรุงบ้านเมือง เจ้าโชติกะ เจ้าเมืองหลวงพระบาง ไม่ให้เข้ามา เจ้าสุริยวงษ์จึงเกณฑ์กองทัพตามหัวเมืองยกมาประมาณ ๓ ยามเสศ เข้าตีปล้นเอาเมืองหลวงพระบางได้ เจ้าโชติกะ เจ้าเมืองหลวงพระบาง ท้าวพระยา แลญาติพี่น้อง พากันหนีลงมาอยู่บ้านน้ำรุง นางศรีคำกอง พี่เจ้าสุริยวงษ์ ถามว่า ยกกองทัพมาทั้งนี้หมายจะฆ่าญาติพี่น้องหรือ เจ้าสุริยวงษ์ว่า คิดถึงญาติพี่น้อง หนีพม่าลงมา ก็ไม่ให้เข้าบ้านเมือง จึงได้เกณฑ์กองทัพตีเข้ามา จะได้เห็นหน้าญาติพี่น้อง นางศรีคำกองจึงให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะมาพร้อมกัน ให้เจ้าสุริยวงษ์สาบาลตัวว่า ไม่คิดทำร้ายแก่พี่น้อง แล้วจึงให้พระราชาคณะลงไปเชิญเจ้าเมืองหลวงพระบางกับญาติพี่น้องขึ้นมา เจ้าเมืองหลวงพระบางก็มอบบ้านเมืองให้เจ้าสุริยวงษ์ ผู้น้อง ครองเมืองหลวงพระบาง ศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะ ตรีศก ครั้งนั้น เมืองญวนกับเมืองหลวงพระบางต่างคนต่างมีบรรณาการไปมาหากันสืบมา เจ้าสุริยวงษ์ เจ้าเมืองหลวงพระบาง จึงเกณฑ์กองทัพไปแก้แค้นทดแทนตีเมืองเวียงจันท์ ได้รบพุ่งกันอยู่ ๒ เดือน เจ้าบุญสาระ เจ้าเมืองเวียงจันท์ มีหนังสือขึ้นไปขอกองทัพพม่าลงมาช่วย เจ้าเมืองอังวะแต่งให้ชิกชิงโป, โปสุพลา คุมกองทัพประมาณ ๕๐๐๐ ยกลงมาตีเมืองหลวงพระบาง เจ้าสุริยวงษ์ เจ้าเมืองหลวงพระบาง ยกกองทัพขึ้นไปต่อรบพม่าประมาณ ๑๕ วัน กองทัพพม่าตีได้เมืองหลวงพระบาง เจ้าสุริยวงษ์ก็ยอมเปนเมืองขึ้นแก่กรุงอังวะตามเดิม

ศักราช ๑๑๓๖ ปีมเมีย ฉศก กรุงเทพฯ ครั้งนั้น เปนแผ่นดินพระเจ้าตาก มีพระราชสาสนกับเครื่องบรรณาการไปเมืองหลวงพระบางขอเปนทางไมตรีไปมาหากัน เจ้าเมืองหลวงพระบางมีความโสมนัศยินดี ครั้นณปีวอก อัฐศก เจ้าเมืองหลวงพระบางมีศุภอักษรกับเครื่องราชบรรณาการแต่งท้าวพระยาคุมลงมากรุงเทพฯ แล้วโปรดพระราชทานทรัพย์สิ่งของให้แก่ท้าวพระยาคุมขึ้นไปให้เจ้าเมืองหลวงพระบางตามสมควร

ศักราช ๑๑๔๐ ปีจอ สัมฤทธิศก เจ้าบุญสาร เจ้าเมืองเวียงจันท์ แต่งให้พระยาสุโภคุมกองทัพลงไปตีเมืองดอนมดแดงซึ่งเปนข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพฯ แล้วจับพระวอ เจ้าเมือง ฆ่าเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ทรงพระพิโรธ โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ คุมไพร่พลในกรุงนอกกรุงขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์ สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกมีหนังสือไปถึงเมืองหลวงพระบางขอกองทัพไปตีเมืองเวียงจันท์ เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งท้าวพระยาคุมไพร่สามพันยกลงไปช่วยตีเมืองเวียงจันท์เหนือเมืองข้างทิศอิสาณ ครั้นตีเมืองเวียงจันท์สิ้นศึกแล้ว เมืองหลวงพระบางก็ยอมเปนเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสิมากรุงเทพฯ

ครั้งนั้น เมืองอังวะกับเมืองหลวงพระบางก็ขาดทางไมตรีหาได้ไปมาไม่ เมืองหลวงพระบางยังต้องไปบรรณาการแก่กรุงปักกิ่ง ๕ ปีไปครั้งหนึ่ง กับที่กรุงเทพฯ ถึงปีก็มีดอกไม้เงินทองลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย แต่เมืองเวียดนามกับเมืองหลวงพระบางก็ยังไปมาหากันอยู่ เจ้าสุริยวงษ์ เจ้าเมืองหลวงพระบาง เห็นว่า ทางเมืองหลวงพระบางจะไปบรรณาการเมืองปักกิ่งไกล ทางไปทางมาถึง ๓ ปี จึงแต่งให้พระยาเมืองแสนคุมเครื่องราชบรรณาการไปเมืองปักกิ่ง แล้วขอ ๑๐ ปีไปครั้งหนึ่ง เพิ่มเครื่องราชบรรณาการขึ้นอิกสิ่งละส่วน แต่นั้นมา เมืองหลวงพระบางไปบรรณาการเมืองปักกิ่ง ๑๐ ปีครั้งหนึ่งต่อ ๆ มา

ครั้นศักราช ๑๑๔๔ ปีขาล จัตวาศก ที่กรุงเทพฯ นั้น พระยาสรรค์จับพระเจ้าตากสำเร็จโทษเสีย สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกถวัลยราชสมบัติกรุงเทพฯ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เมืองหลวงพระบางก็คงเปนข้าขอบขัณฑสิมากรุงเทพฯ ตามเดิม เจ้าสุริยวงษ์ เจ้าเมืองหลวงพระบาง ครองเมืองได้ ๒๖ ปี ก็ถึงแก่กรรม

ศักราช ๑๑๕๓ ปีกุญ ตรีศก ในกรุงเทพฯ เปนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ท้าวพระยาพร้อมกันขอเจ้าอนุรุธ บุตรเจ้าอินทโสมที่ ๒ ผู้พี่เจ้าสุริยวงษ์ ขึ้นเปนเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้านากบุตร บุตรเจ้าอินทโสมที่ ๓ เปนอุปราช เจ้ามังธาตุ ราชบุตรเจ้าอนุรุธที่ ๑ เปนราชวงษ์ ครองเมืองได้ปีหนึ่ง ศักราช ๑๑๕๔ ปีชวด จัตวาศก เจ้านันทเสน เจ้าเมืองเวียงจันท์ มีความพยาบาทกับเมืองหลวงพระบาง จึงเกณฑ์กองทัพยกขึ้นไปตีเมืองหลวงพระบาง ได้สู้รบกันประมาณสิบสี่สิบห้าวัน เจ้าอุปราชเมืองเวียงจันท์ถูกปืนพวกเมืองหลวงพระบางตายในที่รบ เจ้าเมืองเวียงจันท์เห็นเหลือกำลัง จึงคิดอุบายมีหนังสือลับเข้าไปถึงนางแทนคำ ภรรยาเจ้าสุริยวงษ์เจ้าเมืองหลวงพระบางที่ถึงแก่กรรม ว่า ให้นางแทนคำช่วยคิดอ่านเอาเปนธุระในการสงครามครั้งนี้ ถ้าสำเร็จความปราดถนาแล้ว จะยกนางแทนคำขึ้นเปนมเหษี แล้วจะมอบราชสมบัติให้ นางแทนคำหลงด้วยกลมารยาข้าศึก จึงให้หัวพันเมืองวาคนสนิทเกณฑ์พรรคพวกไปรักษาน่าที่แลประตูด้านทิศอาคเณย์ ถ้ากองทัพพวกเมืองเวียงจันท์ยกมา ก็อย่าให้ป้องกัน ให้เปิดประตูเมืองปล่อยเข้ามาโดยสดวก แล้วนางแทนคำมีหนังสือนัดหมายไปถึงเจ้าเมืองเวียงจันท์ ๆ ทราบแล้วถึงวันนัด ก็คุมพลทหารยกเข้าไปในเมืองหลวงพระบาง ฆ่าฟันราษฎรล้มตายเปนอันมาก จับได้เจ้าอนุรุธ เจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ ญาติพี่น้อง แลกวาดครอบครัวเมืองหลวงพระบางลงมาเมืองเวียงจันท์ แล้วตั้งพระยาหลวงแสนอยู่รักษาเมืองหลวงพระบาง แล้วเจ้าเมืองเวียงจันท์แต่งให้ท้าวพระยาคุมเอาตัวเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ กับญาติพี่น้อง ลงมาส่งณกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์โปรดให้เอาตัวเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ กับญาติพี่น้อง จำไว้ณกรุงเทพฯ ในศักราช ๑๑๕๔ ปีชวด จัตวาศกนั้น อยู่มา เมืองแถง เมืองพวน ตั้งขัดแขงต่อเมืองเวียงจันท์ เจ้าเมืองเวียงจันท์จึงแต่งกองทัพขึ้นไปตีเมืองแถง เมืองพวน ได้พวกลาวทรงดำ ลาวพวน ส่งลงมาณกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์โปรดให้ส่งลาวทรงดำออกไปตั้งอยู่เมืองเพชรบุรี ลาวพวนให้ตั้งอยู่กรุงเทพฯ พระยาหลวงแสนรักษาเมืองหลวงพระบางได้ ๔ ปี

ศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะ สัปตศก อุปราชาเจ้าเมืองไซซึ่งขึ้นแก่เมืองหลวงพระบางนำเครื่องบรรณาการขึ้นไปเมืองปักกิ่ง แล้วทูลเจ้าปักกิ่งให้ช่วยขอเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ กับญาติพี่น้อง ต่อกรุงเทพฯ กลับขึ้นไปรักษาบ้านเมืองตามเดิม เจ้าปักกิ่งจึงให้เพี้ยศรีปองอ้องกับพระยาสินพรหมเมืองเชียงรุ้งถือศุภอักษรกับเครื่องราชบรรณาการมาทางเมืองพิไชยลงมาณกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์จึงโปรดเกล้าฯ ยกโทษเจ้าอนุรุธ เจ้าเมืองหลวงพระบาง, เจ้านาก อุปราช, เจ้ามังธาตุราช ราชวงษ์, กับญาติพี่น้อง ให้กลับขึ้นไปเมืองหลวงพระบางว่าราชการบ้านเมืองตามเจ้าปักกิ่งขอต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าอภัย บุตรเจ้าอุปราชนากที่ ๑ เปนเจ้าหอน่าขึ้นไปช่วยว่าราชการบ้านเมือง แล้วโปรดให้มีศุภอักษรขึ้นไปเมืองเวียงจันท์ให้ส่งครอบครัวเมืองหลวงพระบางไปอยู่ตามภูมลำเนาเดิม เจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าหอน่า แลญาติพี่น้อง กราบถวายบังคมลาขึ้นไปรักษาบ้านเมืองสืบไป

เจ้าเมืองหลวงพระบางอนุรุธมีบุตรชาย เจ้ามังธาตุราช ราชวงษ์ ๑ เจ้าสุทธราช ๑ เจ้าไชยราช ๑ เจ้าราชไภย ๑ เจ้าอุ่นแก้ว ๑ เจ้าช้าง ๑ หกคน บุตรหญิง นางทุมา ๑ เจ้าหลา ๑ เจ้าวัยกา ๑ สามคน รวม ๙ คน

เจ้าอุปราชนากมีบุตรชาย เจ้าอภัยเปนที่หอน่า ๑ เจ้าสุทธ ๑ เจ้าอินท ๑ เจ้าพรหม ๑ เจ้าม้ง ๑ เจ้าลาน ๑ เจ้าสญไชย ๑ เจ็ดคน

เจ้าอภัยหอน่ามีบุตรชาย เจ้างอนคำ ๑ เจ้าแก่นคำ ๑ เจ้าฮอดคำ ๑ สามคน

เจ้าสุทธบุตร เจ้าอุปราชที่ ๒ มีบุตรชาย เจ้าคำบัว ๑ บุตรหญิง เจ้าคำตัน ๑ สองคน

เจ้าอินทร์ บุตรเจ้าอุปราชที่ ๓ มีบุตรชาย เจ้าคำโป ๑ บุตรหญิง เจ้าคำตือ ๑ เจ้าคำอ้น ๑ สามคน

เจ้าม้ง บุตรเจ้าอุปราชที่ ๕ มีบุตรชาย เจ้าคำปาน ๑ บุตรหญิง เจ้าคำปอง ๑ เจ้าคำกอง ๑ สามคนเจ้าสญไชย บุตรเจ้าอุปราชที่ ๗ มีบุตรชาย เจ้าคำเง่า ๑ เจ้าคำแสน ๑ เจ้าคำเมิด ๑ เจ้าคำปะ ๑ เจ้าคำยิ่ง ๑ เจ้าคำอ่อน ๑ บุตรหญิง เจ้าคำตัน ๑ เจ้าคำสุทธิ ๑ เจ้าคำทิพ ๑ เจ้าคำแจง ๑ สิบคน

เจ้าเมืองหลวงพระบางอนุรุธครองเมืองได้ ๒๕ ปี รวมอายุ ๘๒ ปี ถึงแก่กรรม เจ้าอุปราชนากก็ถึงแก่กรรมต่อ ๆ กันมา

ศักราช ๑๑๗๘ ปีชวด อัฐศก ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้ามังธาตุราช ราชวงษ์ บุตรเจ้าเมืองหลวงพระบางอนุรุธที่ ๑ เปนเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าสุทธราช บุตรเจ้าเมืองหลวงพระบางอนุรุธที่ ๔ เปนราชวงษ์ ขึ้นไปปกครองบ้านเมือง

เจ้าเมืองหลวงพระบางมังธาตุราชมีบุตรชาย เจ้าศุขเสิม ๑ เจ้าจันทราช ๑ เจ้าโพเนื้อทอง ๑ เจ้าอุ่นคำ ๑ เจ้าคำบัว ๑ เจ้าบวรพันธุ์ ๑ เจ้าสุทธิสาร ๑ เจ้าโพธิสาร ๑ เจ้าสุพรรณ ๑ บุตรหญิง เจ้ายอดคำ ๑ เจ้าฉิมมา ๑ เจ้าทองทิพ ๑ เจ้าเบงคำ ๑ เจ้าฉิมพลี ๑ เจ้าทองสุก ๑ สิบห้าคน

เจ้าสุทธราช อุปราช มีบุตรชาย เจ้าราชไภย ๑ เจ้าบุตรไตร ๑ เจ้าคำเม้า ๑ เจ้าศรีวิไชย ๑ เจ้าคำแก่น ๑ เจ้าคำสิง ๑ เจ้าคำบัว ๑ เจ็ดคน

เจ้าอภัย ราชวงษ์ มีบุตรชาย เจ้าสุริวงษ์ ๑ เจ้าคำปาน ๑ เจ้าคำสุก ๑ เจ้าไชย ๑ บุตรหญิง เจ้าคำปอง ๑ เจ้าคำแว่น ๑ เจ้าคำผิว ๑ เจ้าบัวแก้ว ๑ แปดคน

เจ้าไชย ราชบุตรเจ้าเมืองหลวงพระบางอนุรุธ ที่ ๓ มีบุตรชาย เจ้าคำองค์ คน ๑

เจ้าช้าง บุตรเจ้าเมืองหลวงพระบางอนุรุธ ที่ ๖ มีบุตรชาย เจ้าคำฟั่น ๑ เจ้าคำตัน ๑ สองคน

ศักราช ๑๑๘๒ ปีมโรง โทศก เจ้ามหาน้อยกับเจ้ามหาวังเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าเกิดวิวาทกัน เจ้ามหาน้อยหนีมาพึ่งเมืองหลวงพระบาง เจ้าเมืองหลวงพระบางมังธาตุราชแต่งให้เจ้าอุปราช เจ้าอุ่นแก้ว คุมกองทัพยกขึ้นไปตั้งอยู่เมืองบูรณ์เหนือ แล้วเจ้าอุปราชแต่งให้พระยาเชียงใต้ พระยาเชียงเงิน คุมกองทัพยกขึ้นไปตีเมืองล่า เมืองพง เมืองบาน เมืองของ เมืองนุ่น เมืองเชียงฟ้า ได้หลายหัวเมือง มหาวังเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าเกณฑ์คนยกลงมาต่อรบ จับพระยาเชียงใต้ พระยาเชียงเงิน ขึ้นไปเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า พวกกองทัพเมืองหลวงพระบางก็แตกหนีมาตั้งอยู่เมืองบูรณ์เหนือ แล้วเจ้าสุทธราช อุปราช ส่งตัวมหาน้อยไปยังเมืองปักกิ่ง แล้วเลิกทัพกลับมาเมืองหลวงพระบาง เจ้าเมืองหลวงพระบางมังธาตุราชทำราชการอยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยอิก ๘ ปี

ศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก ฉศก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล่าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เจ้ามังธาตุราช เจ้าเมืองหลวงพระบาง จึงมอบบ้านเมืองให้ท้าวพระยาอยู่รักษา แล้วเจ้าเมืองหลวงพระบางมังธาตุราชคุมเอาดอกไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการกับสิ่งของลงมาทำบุญในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาไลย กราบบังคมทูลพระกรุณาแดพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า คิดถึงพระบารมีพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ได้ทรงชุบเลี้ยงต่อ ๆ มา จะขอบวชเปนพระภิกษุสงฆ์ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานเผดียงพระสงฆ์ราชาคณะ, อันดับ มาณวัดพระศรีรัตนศาสดารามบวชเจ้ามังธาตุราช เจ้าเมืองหลวงพระบาง เปนพระภิกขุ แล้วโปรดให้ไปจำพรรษาอยู่วัดมหาธาตุ ภายหลัง เมืองหลวงพระบางเกิดความไข้ป่วงใหญ่ ผู้คนล้มตายเปนอันมาก ในปีวอก ฉศกนั้น ครั้นถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเสร็จแล้ว เจ้ามังธาตุราชผนวชได้พรรษาหนึ่ง ก็ลาผนวชไปอยู่บ้านหลวงบางขุนพรหมทำราชการในกรุงเทพฯ

ครั้นศักราช ๑๑๘๘ ปีจอ อัฐศก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ว่า เจ้ามังธาตุราชเปนคนกตัญญูคิดถึงพระเดชพระคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงชุบเลี้ยงมา จึงสละทิ้งบ้านเมืองลงมาบวชถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แล้วอุสาหะทำราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ช้านาน เปนคนสัตย์ซื่อมั่นคง จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศกกุธภัณฑ์ ๕ ประการให้เจ้ามังธาตุราชเพิ่มเติมอิก แล้วโปรดให้เจ้ามังธาตุราช เจ้าเมืองหลวงพระบาง กลับขึ้นไปว่าราชการบ้านเมือง เจ้ามังธาตุจึงเอาเจ้าโพเนื้อทอง บุตรที่ ๓ เจ้าอุ่นคำเปนอุปราชเดี๋ยวนี้ ถวายเปนมหาดเล็กให้ทำราชการอยู่กรุงเทพฯ แล้วกราบถวายบังคมลาขึ้นไปเมืองหลวงพระบางในปีจอ อัฐศกนั้น

ศักราช ๑๑๘๙ ปีกุน นพศก เจ้าอนุเวียงจันท์คิดขบถต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ เจ้าอนุแต่งให้นักภูมินทร์ ไพร่ ๕๐ ถือหนังสือขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบางว่า ขอกองทัพมาช่วยตีกรุงเทพฯ เจ้าเมืองหลวงพระบางมังธาตุราชไม่เข้าด้วย จึงปฤกษาเจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ ท้าวพระยา เห็นพร้อมกันว่า ถ้าจะไม่คิดอุบายแต่งให้ท้าวพระยาลงไปพูดจาล่อลวงไว้ เจ้าอนุเวียงจันท์ก็จะยกกองทัพขึ้นมาตีบ้านเมืองหลวงพระบาง จึงแต่งให้พระยาเมืองแพนกับไพร่ ๒๐ เศษลงไปพร้อมกับนักภูมินทร์ พูดจาล่อลวงเจ้าอนุเวียงจันท์ให้ช้าไว้ แล้วเจ้าเมืองหลวงพระบางมังธาตุราชเร่งมีศุภอักษรบอกข้อราชการให้เจ้าศุขเสิม บุตรที่ ๑ ถือลงมาณกรุงเทพฯ แล้วเกณฑ์กองทัพให้เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าอุ่นแก้ว เจ้าแก่นคำ เจ้ามาก พระยาเชียงเหนือ พระยานาเหนือ พระยาตีนแทน คุมไพร่ ๕๐๐๐ เศษเตรียมไว้คอยฟังราชการทางกรุงเทพฯ

ฝ่ายเจ้าโพเนื้อทอง บุตรเจ้ามังธาตุราชที่ ๓ ซึ่งถวายเปนมหาดเล็กทำราชการอยู่กรุงเทพฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้บวชเปนภิกขุ แล้วขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท กองทัพเมืองเวียงจันท์จับเจ้าโพเนื้อทองขึ้นไปพบกับพระยาเมืองแพนณเมืองเวียงจันท์ พระยาเมืองแพนพูดจาล่อลวงเจ้าอนุเวียงจันท์ขอเจ้าโพเนื้อทองพากันกลับไปเมืองหลวงพระบาง เจ้าเมืองหลวงพระบางจึงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระยาราชสุภาวดีเปนแม่ทัพยกพลทหารขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์ แล้วให้เจ้าอุปราช นายทัพนายกอง รีบคุมไพร่พลยกลงมาช่วยกองทัพกรุงเทพฯ ตีกระหนาบเมืองเวียงจันท์ ภายหลัง แต่งให้เจ้าสุทธ เจ้าจันทราช เจ้าคำเม้า เจ้าคำปาน คุมเสบียงอาหารลงไปกราบเรียนพระยาราชสุภาวดีจ่ายไพร่พลกองทัพ แลเมื่อเจ้าศุขเสิมถือศุภอักษรลงมาแจ้งราชการณกรุงเทพฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระโสมนัศยินดีดำรัสสรรเสริญเจ้ามังธาตุราชว่า เปนคนซื่อสัตย์ต่อกรุงเทพฯ จึงให้เจ้าศุขเสิม บุตร ถือศุภอักษรเล็ดลอดข้าศึกลงมาได้ จึงโปรดตั้งเจ้าศุขเสิม บุตรเจ้ามังธาตุราชที่ ๑ เปนราชบุตร แล้วให้รีบกลับขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง

ถึงศักราช ๑๑๙๐ ปีชวด สัมฤทธิศก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการโปรดให้พระยาพิไชยขึ้นไปเอาตัวเจ้าสุทธ อุปราช ลงมาณกรุงเทพฯ ว่า เจ้าอุปราชปิดบังครอบครัวเมืองเวียงจันท์ไว้ เจ้าราชไภย ราชวงษ์ เจ้าศุขเสิม ราชบุตร เจ้าจันทราช น้องเจ้าศุขเสิม ก็ลงมาด้วย เจ้าอุปราชถึงแก่กรรมในกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าราชไภย ราชวงษ์ เปนอุปราช เจ้าศุขเสิม ราชบุตร เปนราชวงษ์ เจ้าจันทราช บุตรเจ้ามังธาตุราชที่ ๒ เปนราชบุตร กลับขึ้นไปรักษาราชการบ้านเมือง

ศักราช ๑๑๙๑ ปีฉลู เอกศก มหาวังเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามีความพยาบาท เกณฑ์กองทัพลงมาตีเมืองหลวงพระบาง เจ้ามังธาตุราช เจ้าเมืองหลวงพระบาง แต่งให้เจ้าราชไภย อุปราช เจ้าอุ่นแก้ว น้องเจ้าราชไภย คุมกองทัพขึ้นไปสู้รบ กองทัพมหาวังสู้ไม่ได้ แตกหนีไป

ศักราช ๑๑๙๕ ปีมเสง เบญจศก เจ้าพระยาบดินทรเดชาเปนแม่ทัพคุมพลทหารกรุงเทพฯ ออกไปรบญวนที่เมืองพนมเปน แต่นั้นมา เมืองญวนกับเมืองหลวงพระบางก็ขาดทางไมตรี ไม่ได้ไปมาหากัน

ครั้นศักราช ๑๑๙๗ ปีมแม สัปตศก เจ้าพระยาธรรมาเปนแม่ทัพคุมพลทหารยกขึ้นไปตั้งอยู่เมืองหลวงพระบาง แล้วแต่งให้เจ้าราชไภย อุปราช ท้าวพระยา คุมกองทัพขึ้นไปตีเมืองพวน แต่งให้เจ้าอุ่นแก้ว น้องเจ้าอุปราช เจ้าสญไชย บุตรเจ้าอุปราชนากที่ ๗ เจ้าแก่นคำ บุตรเจ้าหอน่าอภัยที่ ๒ เจ้าคำปาน บุตรเจ้าม้งที่ ๑ ท้าวพระยา คุมกองทัพยกขึ้นไปตีเมืองแถง จับได้ลาวพวน ลาวทรงดำ ส่งลงมาณกรุงเทพฯ เสร็จราชการแล้ว เจ้าพระยาธรรมา แม่ทัพ เลิกทัพกลับลงมากรุงเทพฯ เจ้ามังธาตุราช เจ้าเมืองหลวงพระบาง ครองเมืองได้ ๒๐ ปี รวมอายุ ๖๔ ปี ก็ถึงแก่กรรม

ศักราช ๑๑๙๘ ปีวอก อัฐศก เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ มีศุภอักษรแต่งให้เจ้าอุ่นแก้วคุมดอกไม้เงินทองลงมาณกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า เจ้าอุปราชหรือเจ้าราชวงษ์คงจะตั้งเปนเจ้าเมืองหลวงพระบางคนหนึ่ง จึ่งโปรดตั้งเจ้าอุ่นแก้ว บุตรเจ้าเมืองหลวงพระบางอนุรุธ ที่ ๕ เปนน้องเจ้าอุปราช ราชไภย เปนที่ราชวงษ์ ขึ้นไปรักษาบ้านเมือง ครั้งเจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ ปลงศพเจ้าเมืองหลวงพระบางเสร็จแล้ว พวกเมืองหึม เมืองคอย เมืองควร ตั้งขัดแขงต่อเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ แต่งให้ท้าวพระยาคุมกองทัพขึ้นไปตี จับได้ลาวทรงดำ แต่งให้พระยาศรีมหานามคุมลงมาณกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง

ศักราช ๑๒๐๐ ปีจอ สัมฤทธิศก เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ มีความวิวาทกัน ลงมาณกรุงเทพฯ เจ้าราชวงษ์ก็คุมลาวทรงดำลงมาณกรุงเทพฯ อิกครั้งหนึ่ง เจ้าราชวงษ์ฟ้องเจ้าอุปราชว่า แต่งท้าวคำฟั่นไปพูดจากับญวน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าราชวงษ์ศุขเสิม บุตรเจ้ามังธาตุราชที่ ๑ เปนเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราชราชไภย บุตรเจ้าอนุรุธที่ ๔ เปนที่เจ้าอภัยสุริยวงษา ผู้ช่วยว่าราชการ เจ้าอุ่นแก้ว ราชวงษ์ บุตรเจ้าอนุรุธ ที่ ๕ เปนอุปราช เจ้าจันทราช ราชบุตร ๆ เจ้ามังธาตุราชที่ ๒ เปนราชวงษ์ เจ้าแก่นคำ บุตรเจ้าอภัยหอน่าที่ ๒ เปนราชบุตร ครั้นเจ้าอภัยสุริยวงษา ผู้ช่วยราชการ ขึ้นไปถึงท่าปากลาย ก็หนีไปเมืองเชียงคาน เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งให้ท้าวพระยาตามจับ ได้ตัวเจ้าอภัยสุริยวงษาส่งลงมาณกรุงเทพฯ เจ้าอภัยสุริยวงษาถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ

เจ้าเมืองหลวงพระบางศุขเสิมมีบุตรชาย เจ้าคำเง่า ๑ เจ้าบุญเพ็ชร ๑ เจ้าพรหมจักร ๑ เจ้าคำแสง ๑ เจ้าพรหมา ๑ เจ้าอินทจักร ๑ บุตรหญิง เจ้ากัญญา ๑ เจ้าคำอ้น ๑ เจ้าบุดดี ๑ เจ้าบับภา ๑ เจ้าคำสอน ๑ เจ้าอุ่นคำ ๑ เจ้าคำปล้อง ๑ รวม ๑๓ คน

เจ้าอุปราชอุ่นแก้วมีบุตรชาย เจ้าศิริษา ๑ เจ้าสุวรรณพรหมา ๑ เจ้าทองคำ ๑ เจ้าคำมา ๑ บุตรหญิง เจ้าสุพรรณ ๑ เจ้าคำปิ่น ๑ เจ้าคำซาว ๑ รวม ๗ คน

เจ้าราชบุตรแก่นคำมีบุตรชาย เจ้าคำเพ็ง ๑ เจ้าคำเล็ก ๑ เจ้าพรหมา ๑ เจ้าคำโสม ๑ เจ้าคำย่น ๑ เจ้าดอกแก้ว ๑ บุตรหญิง เจ้าทองดี ๑ เจ้าคำกอง ๑ เจ้าคำล่า ๑ เจ้าคำตือ ๑ เจ้าคำซาว ๑ เจ้าหุ่นจีน ๑ รวม ๑๒ คน

เจ้าเมืองหลวงพระบางศุขเสิมครองเมืองได้ ๑๐ ปี ถึงศักราช ๑๒๑๐ ปีวอก สัมฤทธิศก เจ้าหน่อคำ บุตรหม่อมมหาวัง เจ้ามหาไชยงาคำ บุตรมหาน้อยเมืองฮำ ยกกองทัพมาตีเจ้าอุปราชาเมืองเชียงรุ้งกับมหาไชยเมืองพง ได้ต่อรบกันเปนสามารถ ขณะนั้น เจ้าเมืองหลวงพระบางลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ กราบถวายบังคมลาขึ้นไปถึงท่าปากลาย จึงแต่งให้พระยาเมืองขวาถือหนังสือขึ้นไปเมืองหลวงพระบางว่า ให้เจ้าอุปราชเปนแม่ทัพคุมไพร่ ๕๐๐๐ คนรีบยกขึ้นไปคิดราชการ แล้วให้แต่งท้าวพระยาขึ้นไปเกลี้ยกล่อมมหาไชย ท้าวพระยา เมืองล่า เมืองพง

ณวันเดือนยี่ แรมแปดค่ำ ปีวอก สัมฤทธิศก เจ้าอุปราชคุมไพร่ ๕๐๐๐ คนยกจากเมืองหลวงพระบางขึ้นไปตั้งอยู่เมืองไซทางไกลเมืองหลวงพระบาง ๗ คืน เจ้าอุปราชแต่งให้เจ้าอุ่นคำคุมไพร่ ๑๐๐๐ คนขึ้นไปตั้งอยู่บางแพงโพทอง ๑ ให้เจ้าษาคุมไพร่ ๑๐๐๐ คนขึ้นไปตั้งอยู่เมืองเงิน ๑ ให้พระยาศรีนครโลก พระยานาเหนือ คุมไพร่ ๘๐๐ คน ให้ตั้งอยู่เมืองบูรณ์ใต้ ๑ ให้เจ้าพรหมา เจ้าสุก พระยาจ่าบ้าน คุมไพร่ ๘๐๐ คน ให้ตั้งอยู่เมืองวาอาฮิน ๑ คอยเกลี้ยกล่อมได้ครอบครัวพวกอุปราชา มหาไชย เจ้าเมืองหลวงพระบางจึงแต่งให้เจ้าสญไชย เจ้าคำปาน ขึ้นไปตั้งอยู่เมืองซื่อ เมืองงอย รับส่งครอบครัวลงมาเมืองหลวงพระบาง ครั้นณเดือนสี่ ข้างแรม เจ้าอุปราชาเมืองเชียงรุ้งพาครอบครัวหนีเข้ามาเมืองบูรณ์เหนือ พระยาศรีนครโลกให้พระยานาเหนือพาเจ้าอุปราชาแลครอบครัวลงมาเมืองไซ ครั้นณเดือนห้า ข้างขึ้น เจ้าอุปราชแต่งให้นายทัพนายกองอยู่รักษาเขตรแดน แล้วพาเจ้าอุปราช ครอบครัว ลงมาเมืองหลวงพระบาง ครั้นณเดือนหก ข้างขึ้น ปีรกา เอกศก มารดา, น้องหญิง, ภรรยาเจ้าอุปราชาหนีเข้ามาอยู่เก่วกาย แขวงเมืองหลวงพระบาง เจ้าพรหมมา เจ้าสุก แต่ง ให้ท้าวพระยาไปเกลี้ยกล่อมพาเข้ามาเมืองวาอาฮินณเดือนหก แรมเก้าค่ำ เจ้าพรหมา เจ้าสุก พามารดา, น้องหญิง, ภรรยาเจ้าอุปราชาลงมาถึงเมืองหลวงพระบางณวันเดือนเจ็ด ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีรกา เอกศก ครั้นณเดือนเก้า ขึ้นเจ็ดค่ำ เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งให้เจ้าอุปราช เจ้าอุ่นคำ เจ้าษา เจ้าพรหมา เจ้าสุก เจ้าสิง พระยาเชียงใต้ ถือศุภอักษร ดอกไม้เงินทอง เครื่องราชบรรณาการ พาตัวเจ้าอุปราชาลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ เจ้าเมืองหลวงพระบางศุขเสิมครองเมืองได้ ๑๒ ปี รวมอายุ ๕๓ ปี ถึงแก่กรรมในเดือนสิบ แรมสิบค่ำ ศักราช ๑๒๑๒ ปีจอ โทศก ที่เมืองหลวงพระบางก็เกิดความไข้ป่วงใหญ่ ผู้คนตายมาก ฝ่ายเจ้าอุปราชอุ่นแก้วลงมาอยู่ณกรุงเทพฯ ก็ถึงแก่กรรมในเดือนอ้าย แรมสามค่ำ ปีจอ โทศก ครั้นณเดือนห้าห้า ขึ้นค่ำหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ศักราช ๑๒๑๓ ปีกุญ ตรีศก ครั้นณเดือนห้า แรมสามค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานชักศพเจ้าอุปราชอุ่นแก้วไปเข้าสู่เมรุวัดทอง แล้วพระราชทานฝ้าไตร ๑๕ ไตร เงินสองชั่ง ให้ทำบุญให้ทานในการศพ แล้วได้พระราชทานเงินตราถวายพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมคืนละสองตำลึง ๔ เดือนเปนเงิน ๑๒ ชั่ง ครั้นณเดือนสิบ ปีกุญ ตรีศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าอุ่นค่ำ เจ้าษา เจ้าพรหมา เจ้าสิง เจ้าสุก ท้าวพระยา แลเจ้าอุปราช ขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง โปรดพระราชทานสิ่งของขึ้นไปทำบุญให้ทานในการศพเจ้าเมืองหลวงพระบางศุขเสิม แล้วโปรดให้หลวงเทเพนทร์ ขุนวิเสศ เปนข้าหลวงคุมหีบศิลาน่าเพลิงขึ้นไปเผาศพเจ้าเมืองหลวงพระบางศุขเสิม เสร็จแล้ว เจ้าราชวงษ์จันทราชแลเจ้านายบุตรหลานท้าวพระยาจึงพาเจ้าอุปราชาเมืองเชียงรุ้งกับคุมดอกไม้ทองเงินลงมาณกรุงเทพฯ

ศักราช ๑๒๑๔ ปีชวด จัตวาศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าราชวงษ์จันทราช บุตรเจ้ามังธาตุราชที่ ๒ เปนเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุ่นคำ บุตรเจ้ามังธาตุราชที่ ๔ เปนอุปราช เจ้าคำบัว บุตรเจ้ามังธาตุราชที่ ๕ เปนราชวงษ์ พาอุปราชากลับขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง ในเดือนอ้าย ปีชวด จัตวาศก เจ้าเมืองหลวงพระบางได้แต่งให้ท้าวพระยาคุมเครื่องราชบรรณาการจำนวนปีชวด จัตวาศก ไปเมืองปักกิ่งครั้งหนึ่ง ไปถึงเมืองแสหลวง บ้านเมืองเมืองปักกิ่งเกิดทัพศึกวิวาทรบพุ่งกัน เจ้าเมืองแสหลวงให้ท้าวพระยาเมืองหลวงพระบางส่งเครื่องบรรณาการไว้ แล้วให้กลับลงมาเมืองหลวงพระบาง

ศักราช ๑๒๑๕ ปีฉลู เบญจศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เปนแม่ทัพคุมไพร่พลทหารยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งให้เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าคำเม้า เจ้ากำ เจ้าษา คุมไพร่ ๓๐๐๐ คนยกขึ้นไปช่วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ระดมตีเมืองเชียงตุง เจ้าษาถึงแก่กรรมในที่รบ แต่เจ้าคำเม้าหายไป ครั้นเลิกทัพกลับมา เจ้าอุปราชาเมืองเชียงรุ้งก็ตามเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ลงมาณกรุงเทพฯ

ครั้นศักราช ๑๒๑๖ ปีขาล ฉศก นายเชียงจำปา คนเมืองหลวงพระบาง ท้าวอิน ท้าวบุญคง คนเมืองน่าน ซึ่งพวกเมืองเชียงตุงจับไว้ หนีลงมาถึงกรุงเทพฯ ว่า พม่าเกณฑ์คนสามแสน จะยกลงมาตีเมืองเชียงใหม่สองแสน เมืองหลวงพระบางแสนหนึ่ง ท่านเสนาบดีทั้งปวงจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสีหราชเดโชไชย พระยาราชวรานุกูล คุมพลทหารพาอุปราชาขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบางในเดือนสาม ข้างขึ้น ปีขาล ฉศก จัดการรักษาบ้านเมืองแลค่ายกำแพงหอรบเสร็จแล้ว ตั้งฟังราชการอยู่ ก็ไม่มีเหตุการแลทัพศึกสิ่งใด พระยาสีหราชเดโชไชย พระยาราชวรานุกูล คุมไพร่พลแลพาอุปราชากลับลงมาณกรุงเทพฯ

ครั้นศักราช ๑๒๑๗ ในเดือนห้า ปีมโรง ยังเปนสัปตศก พระยาราชพินิจจัยเชิญศุภอักษรแลพามหาอุปราชาขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง ให้เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งท้าวพระยาพาเจ้ามหาอุปราชาขึ้นไปส่งบ้านเมือง ครั้นณเดือนหก แรมแปดค่ำ ปีมโรง อัฐศก เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งให้พระยาศรีมหานาม พระยากวานเล็กน้อย พาเจ้ามหาอุปราชา แลมารดา น้องหญิง ภรรยา ครอบครัว ขึ้นไปถึงเมืองบูรณ์เหนือ แขวงเมืองหลวงพระบาง พรมแดนต่อแขวงเมืองเชียงรุ้ง เจ้ามหาอุปราชาให้พระยาศรีมหานาม พระยากวานเล็กน้อย พักครอบครัวรออยู่ที่เมืองบูรณ์เหนือก่อน ด้วยเมืองเชียงรุ้งยังไม่เปนปรกติ เจ้ามหาอุปราชาจะขึ้นไปฟังเหตุการร้ายดีประการใดจึงจะแต่งคนถือหนังสือลงมารับครอบครัวครั้งหลัง เจ้ามหาอุปราชาขึ้นไปถึงเมืองพง คิดอุบายให้มหาไชยเมืองพงขึ้นไปส่ง ครั้นไปถึงเมืองฮำ เจ้ามหาอุปราชาพักอยู่เมืองฮำ มหาไชยตั้งอยู่ท่าตัว เหนือเมืองฮำทางใกล้กันวันหนึ่ง แล้วเจ้ามหาอุปราชาจึงแต่งหนังสือขึ้นไปถึงเจ้าราชบุตรเมืองเชียงรุ้ง ๆ แต่งให้อาญาน้อยเมืองฮำคุมไพร่พลยกไปตีพวกมหาไชยแตกหนีลงมาเมืองพง ครั้นเดือนแปด ปีมโรง อัฐศก มหาไชยเมืองพงจึงเกณฑ์กองทัพยกขึ้นไปตีเมืองรา เมืองลองแตก มหาไชยจับได้เจ้ามหาอุปราชาที่วัดใหม่เมืองลองเมื่อเดือนสิบสอง ขึ้นหกค่ำ ปีมเสง นพศก พามาถึงเมืองฮำ ก็ฆ่ามหาอุปราชาเสียในวันเดือนสิบสอง ขึ้นแปดค่ำ แล้วมหาไชยยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองแจ เจ้าราชบุตรเมืองเชียงรุ้ง อาญาน้อยเมืองฮำ แลพวกเมืองโรง เมืองแจงหกพันนาฝ่ายตวันตก พร้อมกันยกเข้าตีกองทัพมหาไชย เจ้าเมืองล่า เจ้าเมืองพง ได้สู้รบกันเปนสามรถ ผู้คนล้มตายเปนอันมาก เจ้าเมืองล่าตายในที่รบ มหาไชย เจ้าเมืองพง ทนฝีมือไม่ได้ พาครอบครัวหนีลงมาพักอยู่ลองเฮียด แขวงเมืองหลวงพระบาง

ศักราช ๑๒๑๙ ปีมเสง นพศก ในเดือนสี่ ข้างขึ้น มหาไชยกลับยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองโรง ได้สู้รบกันเปนสามารถ มหาชัยถูกปืนตายในที่รบ แล้วนายยง บุตรมหาไชย กับนายทัพนายกอง พากันแตกหนีลงมาตั้งอยู่ลองเฮียด แล้วส่งครอบครัวเข้ามาพักอยู่นาหินเมืองไซ เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งให้พระยาเมืองซ้ายคุมไพร่ขึ้นไปตั้งอยู่เมืองไซ พระยาเชียงใต้คุมไพร่ไปตั้งอยู่บ้านแพงโพทอง พระยาหมื่นน่าคุมไพร่ไปตั้งอยู่เมืองอวย พระยาศรีนครโลก เพี้ยจ่าหมื่น คุมไพรไปตั้งอยู่เมืองบูรณ์ใต้ คอยฟังราชการแลรักษาป้องกันเขตรแดน

ครั้นศักราช ๑๒๒๒ ปีวอก โทศก ในเดือนหก ขึ้นสิบห้าค่ำ นายยง บุตรมหาไชย ท้าวพระยาเมืองพง ยกกองทัพเข้ามาตีทัพพระยาเมืองซ้าย พระยาเมืองซ้าย นายทัพนายกองทั้ง ๔ ทัพ ช่วยกันรบพุ่งพวกลื้อพวกลาวตายบ้าง กองทัพพระยาเมืองซ้ายแลนายทัพนายกองทั้งปวงเสียท่วงทีแตกหนีลงมาน้ำปาด น้ำอู เจ้าเมืองหลวงพระบางจึงแต่งให้เจ้าราชวงษ์เปนแม่ทัพ เจ้าคำปาน เจ้าสาร เจ้าก่ำ เจ้ายอด ท้าวพระยา คุมไพร่พลยกขึ้นไปตั้งอยู่น้ำปาด เมืองงอย น้ำอู ทัพหนึ่ง เจ้าราชบุตรเปนแม่ทัพ เจ้าก่ำ เจ้าฮวด เจ้าเขียว เจ้าคำเพ็ง ท้าวพระยา คุมไพร่พลขึ้นไปอยู่บ้านเทียวใต้เมืองไซทัพหนึ่ง แล้วเจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร แต่งให้นายทัพนายกองยกขึ้นไปตามนายยงถึงเมืองไซ หาทันนายยงไม่ จับได้แต่ช้างพัง ๑ โคต่าง ๓๘ หลัง แล้วนายยงพาครอบครัวหนีไปพักอยู่เมืองแวน ครั้นณเดือนแปด ปีวอก โทศก เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร ให้นายทัพนายกองอยู่ประจำรักษา แล้วเลิกทัพกลับลงมาเมืองหลวงพระบาง

ศักราช ๑๒๒๓ ปี ในเดือนยี่ ขึ้นสิบเอ็จค่ำ ปีรกา ตรีศก นายยง ท้าวพระยาเมืองล่า เมืองพง ยกกองทัพมาตีเมืองบูรณ์เหนือ เมืองยั้ว เมืองบูรณ์ใต้ เมืองเงิน เมืองรวงใน เมืองอาย บ้านแพงโพทอง เมืองล่า เมืองไซ ซึ่งขึ้นแก่เมืองหลวงพระบาง บรรดาเจ้าเมืองท้าวพระยานายทัพนายกองซึ่งอยู่ประจำรักษาได้ออกสู้รบป้องกัน เหลือกำลัง ทนฝีมือกองทัพนายยงไม่ได้ แตกหนีมาทางน้ำอูบ้าง น้ำของบ้าง นายยงคุมกองทัพยกเข้ามาตั้งอยู่นาหินเมืองไซทัพ ๑ นาแลทัพ ๑ นาสาวทัพ ๑ เมืองแปงบ้าน พระยาพิศวงลือเมืองล่า ทัพ ๑ สี่ทัพ ครั้งนั้น เจ้าเมืองหลวงพระบางลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ เจ้าอุปราชแต่งให้เจ้าราชวงษ์เปนแม่ทัพ เจ้าคำปาน เจ้าพรหมา พระยาเมืองขวา พระยาหมื่นน่า พระยาเมืองแพน คุมไพร่พลยกขึ้นไปทางลาดหารเมืองงานาโคกทัพ ๑ เจ้าราชบุตรเปนแม่ทัพ พระยาคำมหาโนก พระยาเชียงเหนือ คุมไพร่ยกไปทางน้ำปาดทัพ ๑ แล้วนัดให้ยกไปบรรจบกันที่เมืองไซ ครั้นณเดือนยี่ แรมหกค่ำ พระยาเมืองขวา พระยาหมื่นน่า พระยาเมืองแพน ยกขึ้นไปตั้งอยู่นาโกก แรมสิบเอ็จสิบสองค่ำ เจ้าคำปาน เจ้าพรหมา ยกไปตั้งอยู่เมืองงา แรมสิบสี่ค่ำ เจ้าราชวงษ์เปนแม่ทัพยกไปตั้งอยู่ลาดหาร เจ้าราชบุตรยกขึ้นไปตั้งอยู่ปากน้ำเมืองงอย ครั้นณเดือนสาม ขึ้นสิบสองค่ำ เจ้าคำปาน เจ้าพรหมา ยกไปตั้งอยู่นาโกก ให้พระยาเมืองขวา พระยาหมื่นน่า พระยาเมืองแพน เลื่อนทัพขึ้นไปตั้งอยู่เมืองแปงปากทาง แล้วนัดทัพพร้อมกันเข้าระดมตีทัพนายยง ยังหาถึงวันนัดไม่ พวกกองทัพพระยาเมืองขวา พระยาหมื่นน่า พระยาเมืองแพน ยกเข้าตีชิงได้ค่ายนายยงลูกหนึ่ง สู้รบกันอยู่วันหนึ่ง กองทัพพระยาเมืองขวาสิ้นลูกกระสุนดินดำ ก็ถอยทัพลงมาทางโมกกกลากลิ่งเชียงคานน้ำงา ครั้นณเดือนสาม แรมสิบเอ็จค่ำ เจ้าราชบุตรให้พระยาศรีมหาโน เพี้ยจ่าหมื่น ยกเข้าตีทัพนายยง ๆ แต่งทัพออกสกัดหลัง พระยาศรีมหาโน เพี้ยจ่าหมื่น เสียท่วงทีแตกหนีไป เจ้าคำปาน เจ้าพรหมา แต่งให้พระยาคำชมภู พระยาวรวงษา คุมไพร่ ๘๐๐ คนยกขึ้นไป เจ้าคำปาน เจ้าพรหมา ก็ยกหนุนตามขึ้นไปทางเมืองไซ นายยงรู้ว่า กองทัพยกขึ้นไปมาก ก็เลิกทัพหนีไป เจ้าคำปาน เจ้าพรหมา ให้พระยาคำชมภู พระยาวรวงษา ยกติดตามขึ้นไปถึงเมืองบูรณ์เหนือ หาทันทัพนายยงไม่ แล้วน้อยเขยเจ้าเมืองอูเหนือ เจ้าเมืองสม เจ้าเมืองงาย พระยาสิงคำลื้อ ยกกองทัพเข้าล้อมตีกองทัพพระยาคำชมภู พระยาวรวงษา ในเวลากลางคืน ได้สู้รบก้นเปนสามารถ พระยาวรวงษาถึงแก่กรรมในที่รบ พระยาคำชมภูจึงถอยทัพเข้าภูน้อยงวงกลาง เจ้าราชบุตรรู้ว่า ทัพพระยาคำชมภูเสียที จึงให้พระยาเชียงเหนือคุมไพร่ ๑๓๐๐ คนยกไปสกัดหลังทัพลื้อ ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ เจ้าเมืองสม เจ้าเมืองงาย กับน้องเขยเจ้าเมืองอูเหนือ ถูกปืนพวกเมืองหลวงพระบางตายในที่รบ ไพร่พลกองทัพแตกกระจัดกระจายหนีไป เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร นายทัพนายกอง เห็นราชการสงบอยู่ จึงแต่งให้นายทัพนายกองอยูประจำรักษาเขตรแดน แล้วเลิกทัพกลับมาเมืองหลวงพระบาง

ศักราช ๑๒๒๔ เดือนอ้าย ปีจอ จัตวาศก ฮ่อซางเตอะยกกองทัพมาตีพระยาหลวงข้าต่อเปนหัวอยู่แขวงเมืองหลวงพระบาง ได้สู้รบกันประมาณสี่ห้าวัน พระยาหลวงข้าต่อทนฝีมือฮ่อซางเตอะไม่ได้ แตกหนีลงมาเมืองวา เมืองงาย เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งให้พระยาเชียงเหนือ ท้าวคำฟั่น คุมไพร่ ๑๐๐๐ เสศยกขึ้นไปตีฮ่อซางเตอะทนฝีมือไม่ได้แตกหนีไป

ตั้งแต่ศักราช ๑๒๑๔ ปีชวด จัตวาศก เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งบรรณาการไปเมืองปักกิ่งครั้งหนึ่ง มาถึงศักราช ๑๒๒๖ ปีชวด ฉศก นับได้ ๑๓ ปี ยังหาได้ไปบรรณาการไม่

ในศักราช ๑๒๒๖ ปีชวด ฉศก ท้าวพระยาเมืองเชียงรุ้งบอกมาถึงเมืองหลวงพระบางว่า วันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นหกค่ำ ปีชวด ฉศก เจ้าราชบุตร เจ้าเมืองเชียงรุ้ง ถึงแก่กรรม เจ้าอังวะแต่งให้อมุขิมังษา ๑ ไพร่ ๒๐๐ คน ลงมาเมืองเชียงรุ้ง ฝ่ายเจ้าปักกิ่งก็แต่งให้ฮ่อตัวนาย ๑ ไพร่ ๒๐๐ คน ลงมาพร้อมกันณเมืองเชียงรุ้ง ครั้นวันศุกร เดือนแปด ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีชวด ฉศก พม่า ฮ่อ พร้อมกันตั้งบุตรเจ้ามหาอุปราชาเปนเจ้าเมืองเชียงรุ้ง บุตรเจ้ามหาอุปราชาคนนี้เกิดเมื่อศักราช ๑๒๑๐ ปีวอก สัมฤทธิศก อายุได้ ๑๗ ปี ได้เปนเจ้าเมืองเชียงรุ้ง

ครั้นศักราช ๑๒๒๘ เดือนเก้า ปีขาล อัฐศก เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เมืองหลวงพระบาง ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบางขึ้นไปเมืองหลวงพระบางตามเดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานพระบางให้เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ นำขึ้นไปไว้เมืองหลวงพระบาง เมื่อโปรดพระราชทานพระบางให้เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์นั้น ก็เปนมหัศจรรย์ เห็นพระฉายรูปพระปฏิมากรขึ้นไปติดอยู่ที่ซุ้มพระปรางวัดจักรวรรดิราชาวาศริมกับหอที่พระบางอยู่ ขุนนางแลราษฎรแตกตื่นกันไปทำสักการบูชา มีพิณพาทย์กลองแขกแตรสังข์เวียนเทียนสมโภชรอบพระปรางเปนอันมาก แต่สมโภชอยู่นั้นประมาณสี่ห้าเดือน แต่ขุนนางราษฎรทั้งปวงที่มาดูเห็นพระฉายไม่ต้องกัน บางคนเห็นเปนสีทองบ้าง สีนวนบ้าง สีแดงบ้าง ดูใกล้ริมฐานพระปรางไม่เห็นเปนรูปพระฉาย ดูไกลจึงเห็น ครั้นณวันอาทิตย์ เดือนห้า แรมสองค่ำ ศักราช ๑๒๒๙ ปีเถาะ นพศก ได้เชิญพระบางลงเรือตั้งกระบวนแห่ไปจากกรุงเทพฯ เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ นำพระบางขึ้นไปถึงเมืองพิไชยณวันเดือนแปด ขึ้นค่ำหนึ่ง ไปจากเมืองพิไชยวันเสาร์ เดือนแปด ขึ้นห้าค่ำ ถึงเมืองหลวงพระบางวันพุฒ เดือนสิบ ขึ้นหกค่ำ ปีเถาะ นพศก ครั้นณวันเสาร์ เดือนสาม ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีเถาะ นพศก กรมการเมืองพิไชยบอกส่งใบบอกเจ้าเมืองหลวงพระบางลงมา มีความในใบบอกว่า เจ้าเมืองหลวงพระบางให้เสนาบดีมีหนังสือมาถึงหลวงพิไชยชุมพล มหาดไทยเมืองพิไชย ว่า เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เชิญพระบางไปถึงบ้านตาแสง แขวงเมืองหลวงพระบาง ณวันอังคาร เดือนเก้า แรมห้าค่ำ พระครู พระสงฆ์ เจ้าเมืองหลวงพระบาง เสนาบดี ไพร่บ้านพลเมือง พร้อมกันมารับพระบางไปพักอยู่ที่ท่าเชียงแมน มีการสมโภช ๑๕ วัน ณวันพุฒ เดือนสิบ ขึ้นหกค่ำ เจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เสนาบดี พระสงฆ์สามเณร แลไพร่พลเมืองทั้งปวง เชิญพระบางลงเรือตั้งกระบวนแห่มีพิณพาทย์แตรสังข์มโหรทึกข้ามน้ำไปขึ้นท่าวัดช้าง สรงน้ำพระบางเสร็จแล้ว ตั้งกระบวนแห่ช้างม้ามีพิณพาทย์เครื่องเล่นต่าง ๆ แห่พระบางไปไว้ในหอนั่งเจ้าเมืองหลวงพระบาง แล้วนิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ เลี้ยงพระ มีเทศนา มีลคร สมโภช ๕ วัน ๕ คืน แล้วเกณฑ์คนผลัดเปลี่ยนกันรักษาพระบางอยู่ทุกวัน เจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร เสนาบดีทั้งปวง ให้ช่างสร้างวิหารไว้พระบางในวังเจ้าเมืองหลวงพระบาง ก่อแต่ดินขึ้นไปถึงพื้นสูง ๔ ศอกคืบ แต่พื้นไปถึงหัวเทียนสูง ๙ ศอกคืบ ขื่อกว้าง ๓ วา ยาว ๖ ห้อง มีเฉลียงรอบ ให้ช่างทำเปนมณฑป ๓ ชั้น ช่างยังทำอยู่ทุกวัน ทำเสร็จแล้วจะได้เชิญพระบางขึ้นสถิตย์อยู่ให้สมควร อนึ่ง ราชการทางเมืองไซก็ได้แต่งให้พระยาเมืองขวา เพี้ยล่าม ขึ้นไปตั้งเมืองล่า เมืองไว เมืองอาย เมืองเงิน เมืองยอ เมืองบูรณ์เหนือ เมืองบูรณ์ใต้ พระยาเมืองขวา เพี้ยล่ามมาแจ้งว่า ราชการทางเมืองขวา เมืองอาฮิน เมืองไล สงบอยู่ ฝ่ายเมืองแถงแลหัวพันทั้งหกก็มาคำนับทุกปีมิได้ขาด ถ้ามีราชการประการใด จะบอกลงมาให้ทราบ ครั้งหลัง บอกมาณวันเสาร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีเถาะ นพศก ๚