ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 53 (2473)/เรื่องที่ 4
๏ได้เรียนถามคุณ (จอม) มารดากลิ่น แลคุณฉิม[1] แล้วเรียงเรื่องไว้เมื่อณเดือน ๑๐ ปีจอ โทศก (จุลศักราช ๑๒๑๒) ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้า ด้วยสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยไล่ถามเอาพงษาวดารเมืองพัทลุง ด้วยจะตั้งพระยาพัทลุง (ทับ) ข้าพระพุทธเจ้า หมื่นสนิทภิรมย์ ปลัดกรมในกรมหมื่นไกรสรวิชิต ขอรับพระราชทานเรียบเรียงไว้เปนรายเรื่องนี้
เดิมเมื่อครั้งกรุงเก่ายังดำรงอยู่ โปรดเกล้าฯ ให้มรหุม แขก เปนพระยาแก้วโกรพ ว่าราชการเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่เขาพิไชยบุรี ๑๕ ปี ครั้นมรหุมถึงอนิจกรรมแล้ว บุตรมรหุมชื่อ ตะตา ได้ รับพระราชทานเปนพระยาราชบังสัน ว่าราชการเมืองพัทลุงได้ ๑๔ ปี พระยาราชบังสันถึงอนิจกรรม พระภักดีเสนา บุตร พี่ชายพระยาราชบังสัน ได้ว่าราชการเมืองพัทลุงอยู่ ๕ ปี ถึงอนิจกรรม ครั้นเมืองนครศรีธรรมราชตั้งเปนเจ้าขึ้น ให้หลานชายพระยานครเปนพระยาพัทลุง ตั้งเมืองที่ตำบลท่าเสม็ด จึงเรียกว่า พระยาท่าเสม็ด ต่อมา ว่าราชการเมือง ๒ ปี ถึงอนิจกรรม แล้วพระยาพิมล หลานท้าวเทพกระสัตรีเมืองถลาง มาเปนพระยาพัทลุง ตั้งเมืองที่ตำบลควนมะพร้าว ว่าราชการอยู่ ๓ ปี ออกนอกราชการ ครั้นแผ่นดินเจ้าตาก[2] โปรดให้นายจัน มหาดเล็ก เปนพระยาพัทลุง ตั้งเมืองที่ตำบลบ้านม่วง ได้ว่าราชการเมืองอยู่ ๒ ปี ออกนอกราชการ แล้วโปรด ให้นายขุน บุตรพระยาราชบังสัน เปนพระยาพัทลุง ที่ชาวบ้านเรียกว่า พระยาคางเหล็ก ๆ มีบุตรชายชื่อ นายทองขาว ๑ นายกล่อม ๑ หญิงชื่อ กลน ๑ ฉิม ๑ รวม ๔ คน ได้ถวายตัวทำราชการอยู่กรุงเทพฯ[3] นายทองขาวได้เปนที่หลวงศักดิ นายเวรมหาดเล็ก นายกล่อมเปนมหาดเล็ก นายเผือก น้องชายพระยาคางเหล็ก เปนนายพลพ่าย มหาดเล็กหุ้มแพร กลิ่นเปนเจ้าจอมมารดากรมหมื่นไกรสรวิชิต ฉิมเปนหม่อมพนักงานอยู่ในพระราชวัง พระยาพัทลุงคางเหล็กตั้งเมืองอยู่ตำบลลำปำ ได้รับพระราชทานพานทองเปนเครื่องยศ นายบุญคง น้องเจ้าจอมมารดาแก้ว เปนพระทิพคำแหงสงคราม ปลัด พระยาพัทลุงคางเหล็กว่าราชการเมืองอยู่ ๑๓ ปี ถึงอนิจกรรมในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ โปรดเกล้าฯ ให้พระศรีไกรลาศ คนกรุง เปนพระยาพัทลุง ตั้งเมืองที่ ตำบลลำปำฝั่งทักษิณ
ลุศักราช ๑๑๕๓ ปีกุญ ตรีศก เดือน ๖ แขกเมืองเชียะยกกองทัพมาตีเมืองสงขลาแตก เจ้าเมืองสงขลาพาครอบครัวหนีไปเมืองพัทลุง พระศรีไกรลาศก็ตกใจหนีเข้าป่าไปด้วย เจ้าพระยานครยกกองทัพไปช่วยเมืองสงขลา ตีทัพแขกเชียะแตกไปแล้วบอกข้อราชการเข้าไปกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็ทรงพระพิโรธพระศรีไกรลาศว่า ศึกไม่ทันถึงเมือง ตื่นแตกหนีทิ้งบ้านเมืองไป ให้ลงพระราชอาญาจำคุมตัวเข้าไปกรุงเทพฯ แล้วให้ถอดออกจากตำแหน่ง พระศรีไกรลาศว่าราชการเมืองอยู่ ๔ ปี ออกนอกราชการ แล้วสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้นายทองขาว ซึ่งเปนที่หลวงนายศักดิ บุตรพระยาพัทลุงคางเหล็ก ออกไปว่าราชการทัพอญินเมืองตานี เมื่อขณะนั้น หลวงนายศักดิอายุได้ ๓๓ ปี ครั้นเสร็จราชการทัพแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้อยู่ว่าราชการเมืองพัทลุงในปีกุญ ตรีศก รั้งเมืองอยู่ได้ ๖ ปี ถึงปีมเสง นพศก โปรดเกล้าฯ ตั้งให้เปนพระยาพัทลุง พระราชทานพานทองเปนเครื่องยศ อยู่ ๑๒ ปี ครั้นปีมเสง เอกศก สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าสวรรคต สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีมเสง เอกศกนั้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นายกล่อม มหาดเล็ก น้องพระยาพัทลุง (ทองขาว) เปนพระทิพคำแหงสงคราม ปลัด นายจุ้ย บุตรพระยาพิไชยราชา เปนหลวงเทพภักดี ยกรบัตร ครั้นสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสวยราชย์ได้ ๘ ปี พระยาพัทลุง (ทองขาว) ถึงแก่อนิจกรรมในปีฉลู นพศก อายุได้ ๕๙ ปี พระยาพัทลุง (ทองขาว) มีบุตรผู้ชายชื่อ ฉิม ๑ หนู ๑ นก ๑ ทับ ๑ หุ่น ๑ ขำ ๑ เอี่ยม ๑ หงษ์ ๑ คง ๑ นิ่ม ๑ ปลอด ๑ สุก ๑ เนียม ๑ รัก ๑ รุ่ง ๑ อิน ๑ รวมชาย ๑๖ คน หญิงชื่อ จัน ๑ พู่ ๑ ผึ่ง ๑ ทรัพย์ ๑ น้อย จีบ ๑ ฟัก ๑ กลัด ๑ รวมหญิง ๘ คน รวมทั้งชายหญิง ๒๔ คน นายนกเปนที่หลวงสัจจาภักดี นายปลอดเปนหลวงศักดิ์สุรการ ผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง ๒ นาย นายทับ, นายนิ่ม, นายสุก, นายผึ่ง, นายน้อย, ได้ถวายตัวทำราชการอยู่ในกรง ผึ่งได้เปนที่ท้าวสมศักดิ น้อยเปนหม่อมพนักงานในราชวังหลวง นายทับ, นายนิ่ม, นายสุก, เปนมหาดเล็ก ครั้นพระยาพัทลุง (ทองขาว) ถึงอนิจกรรม โปรดเกล้าฯ ให้นายเผือกพลพ่าย น้องพระยาพัทลุง (ขุน) ที่เรียกว่า พระยาพัทลุงคางเหล็ก เปนพระยาพัทลุง พระราชทานพานทองเปนเครื่องยศ หลวงสุรเสนี กรมการ เปนหลวงเทพภักดี ยกรบัตร ตั้งเมืองที่ตำบลลำปำ พระยา พัทลุง (เผือก) มีบุตรชาย ฉิม ๑ ฟัก ๑ บัว ๑ ครุธ ๑ พลับ ๑ อ้น ๑ หญิง, เกด ๑ สินลา ๑ จุ้ย ๑ จับ ๑ ลูกอิน ๑ กลัด ๑ รวมชาย ๖ หญิง ๖ เปน ๑๒ คน นายบัวเปนที่พระพลสงคราม นายครุธเปนที่หลวงพิทักษ์ราชา กรมเกณฑ์บุญ นายอ้นเปนหลวงวิชิตสงคราม ได้รับราชการ ๔ คน พระยาพัทลุง (เผือก) ได้ว่าราชการเมืองพัทลุงในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้า ๗ ปี ในแผ่นดินพระนั่งเกล้า ๒ ปี รวม ๙ ปี พระยาพัทลุง (เผือก) ออกนอก ราชการ แล้วสมเด็จพระนั่งเกล้าโปรดเกล้าฯ ให้พระเสน่หามนตรี (ใหญ่) บุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เปนพระยาพัทลุง พระราชทานพานทองเปนเครื่องยศ พระปลัดหลวงยกรบัตรคงที่อยู่ ตั้งเมืองทำตำบลลำปำ พระยาพัทลุง (ใหญ่) มีบุตรชาย นายใหญ่ เปนมหาดเล็ก ๑ นายกลาง เปนพระยาบำเรอบริรักษ์ ๑ นายหนู เปนพระสุนทรานุกิจปรีชา ๑ รวมบุตรรับราชการ ๔ คน พระยาพัทลุง (ใหญ่) ว่าราชการเมือง ๑๔ ปี มีความผิด โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุง (ใหญ่) ออกจากที่กลับเข้าไปทำราชการณกรุงเทพฯ ได้เปนที่พระยาอุไทยธรรมราชา ในกรมพระกลาโหม[4] แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระปลัด (จุ้ย) เปนพระยาพัทลุง ตั้งเมืองที่ตำบลลำปำ พระราชทานพานทองเปนเครื่องยศ นายบุญคง มหาดเล็ก เปนพระทิพคำแหงสงคราม ปลัด แลนายบุญคงนั้นเปนบุตรหลวงฤทธิเสนี นายกองสร่วยดิน หลวงฤทธิเสนีเปนบุตรอาพระยาพัทลุง (ทองขาว) นายทับ มหาดเล็ก บุตรพระยาพัทลุง ทองขาว เปนหลวงเทพภักดี ยกรบัตร พระยาพัทลุง (จุ้ย) หามีบุตรไม่ รับนายน้อย บุตรของ หลาน มาไว้เมืองพัทลุงเลี้ยงเปนบุตร พระยาพัทลุง (จุ้ย) ว่าราชการเมืองในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้า ๑๐ ปีถึงแก่อนิจกรรม แล้วสมเด็จพระนั่งเกล้ารับสั่งให้หลวงเทพภักดี ยกรบัตร (ทับ) เปนพระยาพัทลุง แล้วสวรรคต ครั้นแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงเทพภักดียกรบัตร (ทับ) ได้รับสัญญาบัตรเปนพระยาพัทลุง พระราชทานพานทองเปนเครื่องยศ นายนิ่ม บุตรพระยาพัทลุง (ทองขาว) ซึ่งเปนที่หมื่นสนิทภิรมย์ ปลัดกรมในกรมหมื่นไกรสรวิชิต เปนที่หลวงเทพภักดี ยกรบัตร นายน้อย บุตรเขยพระยาพัทลุง (ทับ) เปนพระวรนาฎสัมพันธ์ ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียน พระปลัดคงที่อยู่ นายสุก บุตรพระยาพัทลุง (ทองขาว) เปนที่หลวงราชมนตรี ผู้ช่วยราชการ พระยาพัทลุง (ทับ) ตั้งเมืองที่ตำบลบ้านลำปำ พระยาพัทลุง ทับ มีบุตรชายชื่อ คล้าย ๑ ทองขาว ๑ หนู ๑ หญิงชื่อ ขาว ๑ ชื่อ ดำ ๑ รวมชาย ๓ หญิง ๒ เปน ๕ คน กับบุตรภรรยาน้อย ชายชื่อ คง ๑ กล่อม ๑ ตุด ๑ นบ ๑ หนู ๑ หญิงชื่อ ทิม ๑ เอี่ยม ๑ เอม ๑ เภา ๑ เป้า ๑ หลวง ๑ รวมลูกเมียน้อยชาย ๕ หญิง ๕ เปน ๑๐ คน นายคล้าย นายทองขาว ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็ก ครั้นพระปลัดหลวงยกรบัตรถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯ ให้หลวงรองราชมนตรี (สุก) เปนพระทิพคำแหงสงคราม ปลัด นายคล้าย มหาดเล็ก บุตรพระยาพัทลุง (ทับ) เปนหลวงเทพภักดี ยกรบัตร นายหนู มหาดเล็ก บุตรพระยาพัทลุง (ทับ) เปนหลวงรองราชมนตรี ผู้ช่วยราชการ พระยาพัทลุง (ทับ) ว่าราชการเมือง ๑๘ ปี ถึงอนิจกรรมในแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้า แล้วโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้พระวรนาฏสัมพันธ์ ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียน เปนพระยาพัทลุง พระราชทานพานทองเปนเครื่องยศ ตั้งเมืองที่ตำบลลำปำ พระปลัดหลวงยกรบัตรคงที่อยู่ นายทองขาว เปนมหาดเล็ก บุตรพระยาพัทลุง (ทับ) เปนพระบริยันตเกษตรานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียน ครั้นพระทิพคำแหงสงคราม ปลัด (สุก) หลวงเทพภักดี ยกรบัตร (คล้าย) ถึงแก่กรรม หลวงภักดีโยธา (รุ่ง) บุตรพระยาพัทลุง (ทองขาว) เปนพระทิพคำแหงสงคราม ปลัด ขุนบุรีรักษ์ (นัน) บุตรหลวงสุนันทากร ปลัดเมืองปเหลียน เปนหลวงเทพภักดี ยกรบัตร ๚
- ↑ เจ้าจอมมารดากลิ่นเปนเจ้าจอมมารดากรมหมื่นไกรสรวิชิต คุณฉิมเปนน้องสาวเจ้าจอมมารดากลิ่น ทั้ง ๒ คนเปนธิดาพระยาพัทลุง (ขุน) ครั้งกรุงธนบุรี
- ↑ หมายความว่า เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองนครศรีธรรมราชได้แล้ว
- ↑ เข้าใจว่า ถวายตัวทำราชการในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร
- ↑ ตรงนี้ที่ถูก ดูอธิบายไว้ในตอนพงษาวดารเมืองนครฯ