ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 64/คำนำ
ในงานปลงศพคุณหญิงปฏิภานพิเศษ (ลมุน อมาตยกุล) เจ้าภาพมีความประสงค์จะพิมพ์หนังสือที่เกื้อกูลการศึกษาประวัติศาสตร์สักเรื่องหนึ่งเป็นของสำหรับแจกในงาน ขอให้กรมศิลปากรเป็นธุระหาต้นฉบับ
กรมศิลปากรเลือกได้พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเป็นหนังสือที่พึงปรารถนาอย่างยิ่งของผู้ใฝ่ใจในทางประวัติศาสตร์ เมื่อเจ้าภาพได้รับเรื่องไปพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว ก็แสดงความพอใจ และตกลงรับพิมพ์ ดังปรากฏอยู่ในเล่มนี้
บรรดาพระราชพงศาวดารสยามความเก่า จับเรื่องตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา ที่กรมศิลปากรมีต้นฉบับอยู่เวลานี้ ทั้งที่พิมพ์แล้วและยังมิได้พิมพ์ คือ
(๑)พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ มีบานแผนกบอกไว้ดังนี้
"ศุภมัสดุ ๑๐๔๒ ศก วอกนักษัตร ณวันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ทรงพระกรุณาโปรดเหนือเกล้าเหนือกระหม่อนสั่งว่า ให้เอากฎหมายเหตุของพระโหราเขียนไว้แต่ก่อน และกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ แลเหตุซึ่งมีในพระราชพงศาวดารนั้น ให้คัดเข้าด้วยกันเป็นแห่งเดียว ให้ระดับศักราชกันมาคุงเท่าบัดนี้"
ได้ความว่า เป็นพระราชพงศาวดารที่สมเด็จพระนารายน์มีพระราชโองการให้เรีบเรียงเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ ความขึ้นต้นแต่แรกสถาปนาพระพุทธรูปพระเจ้าพะแนงเชิงเมื่อปีชวด จุลศักราช ๖๘๖ (พ.ศ. ๑๘๖๗) และแรกสร้างกรุงเทพทราวดีศรีอยุธยาเมื่อปีขาลจุลศักราช ๗๑๒ (พ.ศ. ๑๘๙๗) สืบมาจนถึงปีมะโรง จ.ศ. ๙๖๖ (พ.ศ. ๒๑๔๗) ตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พิมพ์อยู่ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑
(๒)พระราชพงศาวดาร ฉบับจำลอง จ.ศ. ๑๑๓๖ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๑๗ เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ได้ปลีกมาเล่มเดียว เป็นฉบับหลวง เขียนครั้งกรุงธนบุรี ว่าด้วยเรื่องราวตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช พิมพ์อยู่ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ สำนวนรัดกุมและเก่าไล่เลี่ยกับฉะบับหลวงประเสริฐ
(๓)พระราชพงศาวดาร ฉบับจำลอง จ.ศ. ๑๑๔๕ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๒๖ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑) มี ๒ เล่ม เป็นฉบับปลีก ว่าด้วยเรื่องราวในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเล่มหนึ่ง ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเล่มหนึ่ง เข้าใจว่ายังไม่มีการชำระแก้ไขต่อเติมในคราวนั้น เพราะบางแห่งบอกไว้ชัดว่า ต้นฉบับขาดที่ตรงนั้นเท่านั้น แล้วปล่อยให้ขาดอยู่ตามฉบับเดิม เมื่อนำสอบกับฉะบับพันจันทนุมาศปรากฏว่า ฉะบับพันจันทนุมาศแต่งเติมที่ขาดนั้นแล้ว ฉบับจำลอง จ.ศ. ๑๑๔๕ นี้ ถึงจะมีไม่ครบบริบูรณ์ ก็เป็นหนังสือที่ดีในทางรักษารูปสำนวนเก่า แต่ยังไม่มีโอกาสพิมพ์ออกให้แพร่หลาย
(๔)พระราชพงศาวดาร ฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฉบับหมอบรัดเล เริ่มความตั้งแต่แรกสร้างกรุงเทพทราวดีศรีอยุธยา ต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร สุดความลงเพียง จ.ศ ๑๑๕๕ (พ.ศ. ๒๓๓๕) อันเป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลที่ ๑ ไม่มีบานแผนกบอกว่า ำระหรือเรียบเรียงเมื่อไร เป็นแต่บอกไว้ที่ปกในเล่มต้นว่า "พระศรีสุนทรโวหารได้ช่วยชำระดูสอบบ้าง เห็นว่าถูกต้องอยู่แล้ว" จึงเป็นอันรู้ได้ว่า พงศาวดารฉะบับนี้ได้มีการชำระกันมาแล้วอย่างน้อยก็ครั้งเมื่อรัชกาลที่ ๔ ก่อนที่หมอบรัดเลจะได้นำมาลงพิมพ์
(๕)พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เริ่มความตั้งแต่แรกสถาปนากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร สุดความลง จ.ศ. ๑๑๕๒ (พ.ศ. ๒๓๓๓) ได้ความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งมีพระราชทานไปให้เซอร์ยอนเบาริงที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชำระพระราชพงศาวดารร่วมกับกรมหลวงวงศาราชสนิทตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๘ เป็นต้นมา (ดูพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๔ รวมครั้งที่ ๔ หน้า ๑๖ หรือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๒ หน้า ๒๓๗) เข้าใจว่า การชำระครั้งนั้นคงจะได้ทรงกระทำมาถึงปีสุดรัชกาลรัชกาลของพระองค์ ซึ่งสำเร็จเป็นฉบับพระราชหัตถเลขา พิมพ์เมื่อ พ. ศ. ๒๔๔๕ นั้นแล้ว ที่จะเข้าใจดังนี้ก็เพราะมีคำว่า ภูษามาลา เป็นที่สังเกตอยู่แห่งหนึ่ง แต่ก่อนมาเรียกคำนั้นว่า มาลาภูษา ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ปีสุดท้ายของรัชกาลที่ ๔ ปรากฏในหมายรับสั่งต้นปีว่า มีพระบรมราชโองการห้ามมิให้เรียก มาลาภูษา ให้เปลี่ยนเรียกเป็น ภูษามาลา พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ก็ใช้คำว่า ภูษามาลา จึงสันนิษฐานว่า คงจะทรงชำระมาถึงปีสุดรัชกาลของพระองค์ แต่เสียดายที่ไม่มีบานแผนกบอกไว้ ชะรอยว่าการทรงชำระจะยังไม่สมบูรณ์ตามพระราชประสงค์ก็อาจเป็นได้
(๖)พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ข้อความโดยมากยุติกับกับฉบับหมอบรัดเลพิมพ์ เว้นแต่เรื่องในรัชกาลสมเด็จพระนารายน์ตอนปลายติดต่อมามีแปลกออกไปหลายแห่ง พิมพ์อยู่ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘
(๗)พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีจำนวนสมุดไทยตามลำดับเป็น ๒๒ เล่ม ขาดในระหว่างบ้างบางเล่ม เริ่มต้นแต่แรกสถาปนากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ต่อมาจนสุดรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พอเริ่มความตอนต้นกรุงรัตนโกสินทรก็หมดฉบับ แต่สังเกตได้ว่ายังไม่สุดเรื่อง ที่พิมพ์ในเล่มนี้เพียงตอนกรุงศรีอยุธยา ส่วนตอนกรุงธนบุรีหวังว่าจะได้พิมพ์ในโอกาสต่อไป
พระราชพงศาวดารฉบับนี้มีบานแผนกบอกไว้ว่า "ศุภมัสดุ ศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะ สัปตศก สมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัวผ่านถวัลราชณกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา เถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระพระราชพงศาวดาร" ดังนี้ จุลศักราช ๑๑๕๗ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๓๘ อันเป็นปีที่รัชกาลที่ ๑ โปรดให้ชำระพระราชพงศาวดารนับเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร
ยังมีข้อความตอนท้ายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ (หน้า ๓๗๘) กล่าวเป็นบานแผนกเพิ่มเติมไว้อีกว่า "เพียงนี้เรื่องพระเพทราชากับพระเจ้าเสือทำไว้แต่ก่อน บัดนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้าพระยาพิพิธพิชัยกระทำเรื่องพระนารายน์เป็นเจ้า กับพระเพทราชา พระเจ้าเสือ พระบรมโกศ พระเจ้าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ทำศักราชถัดกันไป"
ข้อความตรงนี้น่าจะหมายความว่า เรื่องที่ชำระเรียบเรียงไว้แต่ก่อนฉะเพาะตอนกรุงศรีอยุธยาสุดลงเพียงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ แล้วมีพระบรมราชโองการให้ท่านเจ้าพระยาพิพิธพิชัยร้อยกรองเพิ่มเติมขึ้นอีก แต่มิได้เอาข้อความปรับปรุงเข้ากับที่แต่งไว้ก่อนนั้น คงให้แยกอยู่ต่างหาก การทำเช่นนี้ให้ความรู้ในทางตำนานการชำระเรียบเรียงพระราชพงศาวดารเป็นอย่างดี จะได้ทราบถ่องแท้ว่า เรื่องแต่ก่อนมีอยู่เพียงไหน แต่งเติมต่อมาอีกเท่าไร มิฉะนั้น จะหาทางสันนิษฐานให้ทราบใกล้ความจริงได้ยาก
หนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ มีข้อความแตกต่างจากฉบับหมอบรัดเลและฉบับพระราชหัตถเลขาหลายแห่ง แม้เพียงเท่าที่พิมพ์ตอนกรุงศรีอยุธยาออกมาให้แพร่หลายก็เป็นประโยชน์มากในทางสอบสวนค้นคว้าประวัติศาสตร์สยาม ซึ่งผู้ได้รับคงยินดีอนุโมทนาทั่วกัน
ในการพิมพ์ครั้งนี้มีเวลาจำกัด เพราะกระชั้นงานมาก เพียงแต่คัดถ่ายจากต้นฉบับสมุดไทย บางฉบับต้องเสียเวลาอ่านทบทวน ด้วยเหตุว่าตัวหนังสือลบเลื่อนอยู่มากแห่ง ฉบับหลวงที่อาศัยสอบทานก็มีไม่บริบูรณ์ จึงน่าจะมีการขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง แต่กระนั้น ก็ได้พยายามที่จะให้เรียบร้อยเป็นอย่างดีที่สุด ได้สอบเรื่องที่ตรงกับฉบับหลวงประเสริฐ แล้วจดศักราชเทียบไว้เห็นที่ต่างกันเป็นด้วย
กรมศิลปากรขออนุโมทนากุศลธรรมิกพลีอันอุดมที่เจ้าภาพสร้างสมบำเพ็ญเพื่ออุทิศมนุญญานิสงส์อันพึ่งสำเร็จโดยฐานะสมควรแก่คุณหญิงปฏิภาณพิเศษ (ลมุน อมาตยกุล) เพิ่มพูนความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นในสัปรายภพเบื้องหน้าต่อไป.
วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ. ศ. ๒๔๗๙