ข้ามไปเนื้อหา

ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 8/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ

มหาเสวกโท พระยาศรีภูริปรีชา รามาธิปติราชภักดี ศรีสาลักษณวิสัย อภัยพิริยพาหะ (กมล สาลักษณ) ผู้ช่วยราชเลขานุการ จะปลงศพคุณหญิงศรีภูริปรีชา ต.จ. ภรรยา มีความศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือในหอพระสมุดวชิรญาณเปนของแจกในงานศพ ขอให้ข้าพเจ้าช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้พิมพ์ตามประสงค์ ที่จริงพระยาศรีภูริปรีชาเองเปนกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร อยู่ในฐานะแลมีความสามารถที่จะเลือกเรื่องหนังสือในหอพระสมุดฯ ได้เหมือนกับตัวข้าพเจ้า ที่มามอบธุระให้ก็เปนด้วยความไว้วางใจ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า เปนผู้ทำการแทนตัว จึงตั้งใจเลือกเรื่องหนังสือซึ่งคเนว่า จะชอบใจของพระยาศรีภูริปรีชาเปนสำคัญทุก ๆ เรื่อง ได้หนังสือล้วนเปนเรื่องโบราณคดีหลายเรื่องพอรวมกันควรจะพิมพ์เปนสมุดได้เล่ม ๑ ได้แจ้งความให้ท่านทราบ ก็ยินดีอนุโมทนา จึงได้รวบรวมเรื่องเหล่านั้นพิมพ์เปนประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๘ เล่มนี้.

เรื่องที่เลือกมาพิมพ์เปนหนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๘ มี ๕ เรื่องด้วยกัน คือ จดหมายเหตุโหร เรื่อง ๑ จดหมายเหตุของจมื่นก่งศิลป์ เรื่อง ๑ พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด) เรื่อง ๑ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔ เรื่อง ปฐมวงษ์ เรื่อง ๑ ตำนานพระโกษฐ เรื่อง ๑ หนังสือ ๕ เรื่องนี้มีลักษณต่างกันอย่างไร จะอธิบายต่อไปโดยลำดับ.

หนังสือจดหมายเหตุโหรนั้น จะอธิบายถึงลักษณที่โหรจดหมายเหตุให้ผู้ซึ่งยังไม่เคยทราบได้ทราบก่อน คือ วิธีจดหมายเหตุของโหร เขาทำประดิทินบอกวันแลฤกษ์ยามเปนรายวันล่วงน่าไว้ตลอดปี แลมีที่ว่างไว้สำหรับจดเหตุการณ์ในประดิทินนั้น โหรฤๅใครที่เอาใจใส่ในฤกษ์ยามแลการจดหมายเหตุก็มีสมุดประดิทินเช่นนี้ไว้ในทำนองเดียวกันกับที่ฝรั่งเรียกว่า สมุดไดเอรี เมื่อมีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นในวันใดซึ่งผู้เจ้าของประดิทินเห็นควรจะจดจำ ก็จดลงไว้ในประดิทินตรงช่องวันนั้น วันที่ไม่มีเหตุการณ์จะจดก็ปล่อยว่างไว้ ทำกันเช่นนี้มาแต่โบราณ แต่ผู้ที่มีประดิทินไว้จดหมายเหตุมีมากด้วยกัน ความรู้เห็น ความนิยม ต่างกัน จดหมายเหตุที่ลงประดิทินจึงต้องกันบ้างต่างกันบ้าง เมื่อนานเข้ามีผู้ดิทินปีล่วง ๆ มาแล้วมาจดวันฤกษ์ยามแลเหตุการณ์ลงเปนสังเขปอิกชั้น ๑ เรียกว่า ปูม หนังสือปูมนี้ฉบับที่มีในหอพระสมุดฯ ๒๐๘ ปี ตั้งแต่ประจำปีฉลู จุลศักราช ๑๐๗๑ พ.ศ. ๒๒๕๒ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระครั้งกรุงเก่าเปนต้นมา นอกจากนี้ ยังมีจดหมายเหตุก่อนเก่าขึ้นไปกว่าปูมที่มีโหรจดลงไว้เปนจดหมายเหตุเบ็ดเตล็ดอิกหลายฉบับ กรรมการรวมหนังสือเหล่านี้มอบให้พระเทวโลก (แหยม วัชรโชติ) คัดแต่เฉภาะจดหมายเหตุการณ์ซึ่งปรากฎในจดหมายเหตุโหรแลปูมบรรดามีในหอพระสมุดฯ เรียบเรียงโดยลำดับเวลาก่อนแลหลังให้รู้เฉภาะวันเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งโหรได้จดไว้แต่โบราณมา เมื่อเรียบเรียงแล้วเอามาดู เห็นเปนหนังสือน่ารู้แลน่าอ่านมาก เชื่อว่า ยังไม่เคยรวบรวมได้อย่างนี้มาแต่ก่อน จึงเอามาพิมพ์ไว้ในประชุมพงษาวดารเล่มนี้เรื่อง ๑.

จดหมายเหตุของจมื่นก่งศิลป์นั้น พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) พึ่งได้ต้นฉบับมาให้หอพระสมุดฯ เมื่อจะพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เมื่อตรวจดูเห็นน่าอ่านแลอยู่ในพวกเดียวกับจดหมายเหตุโหรที่พิมพ์ไว้ข้างน่า จึงได้คัดส่งลงพิมพ์ต่อกันมาอิกเรื่อง ๑.

จมื่นก่งศิลป์คนนี้ ชื่อตัวชื่อ หรุ่น เปนบุตรพระอัคเนศรม่วง บ้านอยู่ที่น่าวัดราชบุรณ เปนผู้หนึ่งซึ่งชอบศึกษาวิชาโหร จึงมีประดิทินแลเอาใจใส่จดหมายเหตุโดยวิธีที่อธิบายมาก่อนแล้ว จดมาตั้งแต่ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๑๘ พ.ศ. ๒๓๙๙ ในรัชกาลที่ ๔ จนปีฉลู จุลศักราช ๑๒๕๑ พ.ศ. ๒๔๓๒ ในรัชกาลที่ ๕ รวมเบ็ดเสร็จ ๓๓ ปี นับว่า เปนปูมชั้นใหม่ กระบวนจดอยู่ข้างเลอียดลออ มีทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองแลเหตุการณ์ในตัว แม้ที่สุดฟันของตัวหักวันใดเวลาใดก็จดลงไว้ในประดิทิน ข้าพเจ้าได้ให้คัดจดหมายเหตุส่วนตัวจมื่นก่งศิลป์ออกเสีย เอาไว้แต่ที่เปนสาธารณะพิมพ์ไว้ในประชุมพงษาวดารเล่มนี้

จดหมายเหตุในปูมของโหรก็ดี ของจมื่นก่งศิลป์ก็ดี ท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นว่า พอใจจดเหตุการณ์ซึ่งเกิดในอากาศ ที่เขาจดเช่นนั้นด้วยเขาเชื่อว่า เหตุการณ์ในอากาศจะเปนนิมิตรให้เกิดเหตุร้ายดีแก่หมู่มนุษย์ เพราะฉนั้น เมื่อเห็นเหตุการณ์แปลกปลาดอันใดมีขึ้นในอากาศ จึงจดไว้คอยดูว่า จะมีเหตุอย่างไรแก่มนุษย์บ้าง เมื่อไม่มีก็แล้วไป ส่วนจดเหตุการณ์ที่บังเกิดมีในหมู่มนุษย์นั้น เขารู้มาอย่างไรแลเขาเข้าใจความอย่างไร ก็จดลงตามรู้ตามคิดเห็น ด้วยเหตุนี้ ความที่จดไว้ในหมายเหตุจะถูกต้องเท็จจริงอย่างไร ก็เปนตามความรู้เห็นของผู้ที่จดนั้น จดหมายเหตุที่คัดมาพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้คัดมาตามที่เขาจดไว้ แม้จนถ้อยคำก็มิได้แก้ไข เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า พวกที่เขาจดหมายเหตุกันแต่ก่อนเขาจดกันอย่างไร กรรมการหอพระสมุดฯ ไม่รับผิดชอบฤๅยืนยันว่า จดหมายเหตุเหล่านี้ถูกต้องทั้งหมด

พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด) ต้นหนังสือเปนคัมภีร์ลานรวม ๑๗ ผูก นายจิตร บุตรพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด) นำมาให้แก่หอพระสมุดวชิรญาณเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๕๑ อุทิศให้ในนามของพระจักรพรรดิพงษ์ผู้บิดา เมื่อแรกได้มา ตรวจสอบดูข้างตอนต้น เห็นตรงกับพระราชพงษาวดาร ฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงชำระ เข้าใจไปเสียว่า เปนหนังสือฉบับเดียวกัน ครั้นนานมา ข้าพเจ้าเอามาตรวจอ่านอิกครั้ง ๑ ถึงตอนปลาย เห็นเรื่องตั้งแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชมีแปลกกับฉบับอื่น ๆ ไม่ใช่แปลกโดยมีผู้แซกแซงเพิ่มเติมฤๅแก้ไขของเดิม แปลกในตัวเนื้อเรื่องแต่แต่งมาทีเดียว อ่านตรวจดูเห็นได้ว่า ผิดก็มีหลายแห่ง ที่จะถูกต้องแต่ความแปลกออกไปกว่าฉบับอื่นก็มีหลายแห่ง เห็นว่า ควรจะพิมพ์ออกให้ปรากฎแก่ผู้ศึกษาโบราณคดี จึงได้เอามาพิมพ์ไว้ในประชุมพงษาวดารเล่มนี้ แต่ตอนต้นที่ความต้องกับฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสไม่จำต้องพิมพ์ใหม่ จึงได้ตัดออกเสีย คงพิมพ์แต่ตอนที่ความแปลกกัน นึกเสียดายอยู่น่อยที่หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ ได้มาไม่ตบ อยู่ข้างจะขาดเปนกระท่อนกระแท่น แต่ถึงกระนั้น ก็น่าอ่าน ข้าพเจ้าเชื่อว่า ผู้ศึกษาโบราณคดีคงจะชอบ

เรื่องปฐมวงษ์ หนังสือเรื่องนี้มีแพร่หลายมาก ที่พิมพ์แล้วก็มี หอพระสมุดฯ รวบรวมฉบับเขียนมาได้ก็มาก ทุก ๆ ฉบับอ้างว่า เปนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ ข้าพเจ้าได้อ่านตรวจดู พบหลายฉบับที่เชื่อแน่ว่า มีผู้อื่นแต่งแซกแซงเพิ่มเติมพระราชนิพนธ์เสียมาก แลมีหลายฉบับที่สงไสยว่า มีผู้อื่นแซกแซงเพิ่มเติม พึ่งมาพบฉบับเดียวซึ่งเห็นว่า เปนหลักฐานยิ่งกว่าฉบับอื่น ๆ ที่ได้พบมา หนังสือปฐมวงษ์ฉบับนี้เปนลายมืออาลักษณ์เขียนในสมุดดำ ๒ เล่ม เดิมเปนของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ รับสั่งว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อาลักษณคัดพระราชทานไป สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอฯ ประทานหนังสือฉบับนี้แก่หม่อมเจ้าประภากรในกรมนั้นแต่ยังทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศ หอพระสมุดฯ ได้มาจากหม่อมเจ้าประภากร อ่านตรวจดูสำนวน เห็นเปนใกล้ต่อพระราชนิพนธ์ยิ่งกว่าฉบับอื่น ๆ จะมีขาดเกินบ้างก็เปนแต่ถ้อยคำที่ผู้เขียนพลั้งพลาด ไม่มีสำนวนแซกแซง จึงเห็นควรจะพิมพ์รักษาไว้ แลเปนฉบับสำหรับสอบกับฉบับอื่น ๆ ที่อ้างว่า เปนหนังสือเรื่องปฐมวงษ์ด้วยกัน

ตำนานพระราชนิพนธ์เรื่องปฐมวงษ์นี้ ข้าพเจ้ายังไม่ทราบความแน่ชัดว่า ทรงพระราชปรารภเหตุอันใด จึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ แลทรงพระราชนิพนธ์เมื่อใด มีหนังสือปฐมวงษ์ที่พิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณเมื่อปีรกา จ.ศ. ๑๒๔๗ ฉบับ ๑ อ้างว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) จดหมายเหตุต้นพระบรมราชวงษ์ไว้สำหรับแผ่นดินเมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีวอก จ.ศ. ๑๒๒๒ ในหนังสือปฐมวงษ์นั้น ทางสำนวนก็เปนพระราชนิพนธ์ มิใช่แต่งเปนสำนวนผู้รับ ๆ สั่ง ความข้างตอนต้นกล่าวเริ่มด้วยพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เดินทำนองความคล้ายเรื่องปฐมวงษ์ลงมาจบตอน ๑ แล้วขึ้นตอนใหม่คล้ายกับความในเรื่องปฐมวงษ์ฉบับที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เห็นได้ว่า เปนหนังสือ ๒ เรื่อง ด้วยมีความซ้ำกันหลายแห่ง แลตรงหัวต่อบอกจบเรื่องเก่าแลขึ้นเรื่องใหม่แลเห็นได้ชัดเจน เหตุใดเรียกว่า เรื่องปฐมวงษ์ จึงเปนหนังสือ ๒ เรื่องเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็ยังคิดไม่เห็นแลไม่พร้อมที่จะวินิจฉัยในเวลานี้ จะพิมพ์ไว้ในเล่มนี้แต่ฉบับซึ่งเห็นว่า ดีที่สุด เพื่อให้ปรากฎแก่ท่านทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันพิเคราะห์ต่อไป.

เรื่องตำนานพระโกษฐนั้น เดิมพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ แต่ยังดำรงตำแหน่งเปนสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร ทรงค้นพบบาญชีพระนามที่ได้ทรงพระโกษฐทองใหญ่มีจดไว้ในห้องอาลักษณ มีรายพระนามตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ลงมาจนต้นรัชกาลที่ ๔ กรมพระสมมตฯ ทรงเรียบเรียงเพิ่มเติมต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ประทานไว้ในหอพระสมุดฯ ข้าพเจ้าเห็นสมควรจะพิมพ์บาญชีนี้ให้ปรากฎ ด้วยเปนของโจทย์กันอยู่เนือง ๆ ว่า พระศพเจ้านายพระองค์ไหนได้ทรงพระโกษฐทองบ้าง ครั้นเมื่อเอาบาญชีของกรมพระสมมตฯ มาตรวจดู เกิดความคิดขึ้นว่า ควรจะเรียงตำนานพระโกษฐอื่น ๆ ขึ้นด้วย พิมพ์รักษาไว้อย่าให้ความรู้ในเรื่องพระโกษฐสูญเสีย ข้าพเจ้าจึงขยายเรื่องเรียบเรียงเปนตำนานพระโกษฐ เมื่อแต่งแล้วส่งไปถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงษ์ ขอให้ทรงช่วยตรวจแก้ให้เรียบร้อย ได้ทรงพระอุสาหะเสด็จไปตรวจดูโดยทางฝีมือช่าง แล้วทรงแก้ไขเรื่องตำนานพระโกษฐที่ข้าพเจ้าเรียงไป สำเร็จรูปเปนอย่างที่พิมพ์ไว้ในประชุมพงษาวดารเล่มนี้ เรื่องตำนานพระโกษฐจึงเปนเรื่องที่ได้แต่งด้วยกัน ๓ คนดังจ่าน่าบอกไว้ในตอนตำนานด้วยประการฉนี้

เมื่อพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้ถามพระยาศรีภูริปรีชาว่า จะให้แต่งประวัติของคุณหญิงพึ่งลงในท้ายคำนำด้วยฤๅไม่ ถ้าจะให้แต่ง ข้าพเจ้าก็เต็มใจจะทำ ด้วยคุณหญิงศรีภูริปรีชาได้คุ้นเคยชอบพอกับสกุลของข้าพเจ้ามาช้านาน พระยาศรีภูริปรีชาว่า ประวัติผู้หญิงไม่มีข้อความสำคัญอันใด ไม่ต้องเรียงก็ได้ แต่เมื่อข้าพเจ้ามาคิดใคร่ครวญดู เห็นว่า ข้อสำคัญมีอยู่ในประวัติของคุณหญิงศรีภูริปรีชาหลายประการ คือ ประการที่ ๑ ได้ร่วมทุกข์ศุขอยู่เปนคู่สามีภริยากับพระยาศรีภูริปรีชาเสมอว่า เปนเพื่อนก่อร่างสร้างตัวมาด้วยกันตั้งแต่ยังหนุ่มสาว ได้ร่วมรับผลแห่งวัตรปฏิบัติซึ่งบังเกิดความเจริญรุ่งเรืองโดยลำดับมา จนได้เปนปู่ย่าตายายปกครองสกุลวงษ์อันสูงศักดิ์อันหนึ่ง นี้ก็นับว่า เปนข้อสำคัญอันมิได้มีเปนสามัญทั่วไปในบุคคลทั้งปวง อิกประการ ๑ คุณหญิงพึ่งมีบุตรธิดาถึง ๑๑ คน แต่ที่มีตัวอยู่ ๘ คน บรรดาบุตรที่มีอายุสมควรรับราชการได้ได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณปรากฎคุณวุฒิถึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรมียศแลบันดาศักดิทุก ๆ คน ส่วนธิดาที่มีเรือนก็ได้ไปมีความศุขสำราญอยู่ในสกุลอันสูงศักดิ ความข้อนี้ควรนับว่า เพราะคุณหญิงพึ่งมีความสามารถในน่าที่ของปฐมาจารีสั่งสอบอบรมบุตรแลธิดาของตนมาจนได้แลเห็นผลอันเปนที่ชื่นชมยินดีของบิดามารดา สมควรจะสรรเสริญ อิกประการ ๑ ความที่จะกล่าวต่อไปนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เปนความเห็นร่วมกันในบรรดาผู้ที่ได้รู้จักคุ้นเคยกับคุณหญิงพึ่งทั่วไปไม่เลือกน่า คือว่า คุณหญิงพึ่งเปนผู้มีน้ำใจโอบอ้อมอารีมีอัธยาไศรยอันเปนที่ถูกใจของบรรดาผู้ที่ได้สมาคมคุ้นเคยทุกชั้นบันดาศักดิ เห็นจะอาจกล่าวได้ว่า เปนผู้หนึ่งซึ่งไม่มีผู้ใดชิงชัง มีแต่ชอบพอทั่วไปในบรรดาผู้ที่ได้คุ้นเคย ด้วยเหตุนี้ เมื่อคุณหญิงพึ่งถึงแก่กรรม จึงมีผู้ที่อาไลยเสียดายแลที่พากันสงสารพระยาศรีภูริปรีชาเปนอันมาก ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรแสดงประวัติของคุณหญิงพึ่งไว้ในท้ายคำนำหนังสือที่พิมพ์เล่มนี้ แม้พอเตือนใจให้บรรดาผู้ที่ได้คุ้นเคยชอบพอคิดถึงไมตรีจิตรในเวลาอันเปนที่สุดซึ่งได้พร้อมกันมาขมาศพด้วยความเคารพต่อคุณหญิงผู้มรณภาพล่วงไปนั้น.

ประวัติคุณหญิงศรีภูริปรีชา

คุณหญิงพึ่ง ศรีภูริปรีชา เกิดในสกุล คชนันทน์ เปนธิดาของพระคชภักดี (ท้วม คชนันทน์) เกิดที่บ้านริมถนนเฟื่องนคร ตรงวัดราชบพิธข้าม เมื่อณวันที่ ๒๓ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๐๗ ในรัชกาลที่ ๔ ตรงกับปีชวด จุลศักราช ๑๒๒๖

เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๔๒๓ อายุได้ ๑๗ ปี ได้มีการวิวาหมงคลกับพระยาศรีภูริปรีชา แต่ยังเปนนายกมล มหาดเล็ก รับราชการอยู่ในกรมราชเลขานุการ เมื่อแต่งงานแล้ว คุณหญิงอิ่ม ศรีสุนทรโวหาร มารดาพระยาศรีภูริปรีชา นำถวายตัวเปนข้าหลวงเรือนนอกอยู่ในสมเด็จพระบรมราชินีนารถ ได้เปนสมาชิกาในสภากาชาดแต่แรกตั้งขึ้นเมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๔๓๖ ต่อมา เมื่อสามีได้เลื่อนบันดาศักดิขึ้นโดยลำดับจนเปนที่พระยาศรีสุนทรโวหาร คุณหญิงพึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้าฝ่ายในเมื่อปีรกา พ.ศ. ๒๔๔๐ ครั้นเมื่อสามีได้รับพระราชทานพานทอง ก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์เลื่อนขั้นขึ้นเปนชั้นตติยจุลจอมเกล้าเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ นอกจากนั้น ได้รับพระราชทานเหรียญพระราชพิธีต่าง ๆ ตามบันดาศักดิภรรยาข้าราชการชั้นสูง.

พระยาศรีภูริปรีชามีบุตรธิดากับคุณหญิงพึ่ง ๑๑ คน คือ—

นายผัน สาลักษณ รับราชการเปนที่พระยาศรีสุนทรโวหาร

นางสาวถวิล สาลักษณ แต่งงานกับพระยาธรรมศักดิมนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณกรุงเทพ)

นางสาวปรุง สาลักษณ

ธิดา ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเล็ก

นางสาวฉวี สาลักษณ แต่งงานกับหลวงบวรวาที (ม.ร.ว.โต๊ะ นภวงษ์ ณกรุงเทพ)

ธิดา ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเล็ก

นายเล็ก สาลักษณ เปนหลวงวิจิตรราชมนตรี

นายสุนทร สาลักษณ เปนนายแก้ววังสรรค์

นางสาวศรี สาลักษณ

๑๐ธิดา ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเล็ก

๑๑นายอุดม สาลักษณ

คุณหญิงศรีภูริปรีชามีอัธยาไศรยศรัทธามั่นคงในพระสาสนามาตั้งแต่ยังสาว ครั้นเมื่ออายุล่วงเข้ามัชฌิมวัย มีบุตรธิดาเติบใหญ่พอจะดูแลการงานบ้านเรือนต่างตัวได้ ก็ค่อย ๆ ละคฤหกิจไปรักษาศีลแลฟังธรรมเทศนาที่วัดต่าง ๆ มีวัดเทพศิรินทราวาศ วัดโสมนัศวิหาร แลวัดสุทัศน์ เปนต้น แลได้ศึกษาธรรมปฏิบัติต่อพระปัญญาพิศาลเถรวัดประทุมวนารามแลพระพรหมมุนีวัดสุทัศน์เทพวราราม ประพฤติความเพียรในทางธรรมานุธรรมปฏิบัติโดยลำดับมา ภายหลัง มาเกิดโรคาพาธด้วยโรคโลหิตน้อยแลหัวใจอ่อน อาการค่อยทรุดลงโดยลำดับ แต่เมื่อมีกำลัง ก็ยังอุส่าห์ไปฟังธรรมเทศนาที่วัดมิได้ขาด จนอาการป่วยถึงล้มเจ็บเมื่อเดือนสิงหาคม ปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ แต่นั้น อาการก็ทรุดลงจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๕๘ คำนวณอายุได้ ๕๑ ปี ได้พระราชทานเครื่องประกอบศพตามเกียรติยศ สามีแลบุตรธิดาพร้อมกันให้ปลูกโรงเรียนเปนที่รฦกถวายไว้ที่วัดโสมนัศวิหาร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนี้ว่า "สาลักษณาลัย" ได้ทำฌาปนกิจปลงศพณที่นั้นเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ปีมเสง พ.ศ. ๒๔๖๐

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐