ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 8/เรื่องที่ 3





ตอนต้นความตรงกับฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ความมาต่างไปตั้งแต่ผูก ๑๗ ตอนแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช ตรงเล่ม ๒ ฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม น่า ๓๒๓ ความต่างไปดังนี้





๏ จึงตรัสให้พญากระลาโหมเปนนายกอง หลวงธรรมไตรโลกเปนยุกรบัตร พญาเสนาภิมุขเปนเกียกกาย สมิงพระเปนกองน่า พระมฤตเปนกองหลัง เมืองนนท์ราชธานีเปนปีกขวา พระวิจารณ์มนตรีเปนปีกซ้าย แลกองแล่นพลห้าพันเศษ ปืนใหญ่ ปืนนกสับ ช้างเครื่อง แลม้า สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธ เปนทัพหนึ่ง แลให้พญานครราชสีมาเปนนายกอง เมืองอินทบุรีเปนยุกรบัตร พระสุพรรณบุรีเปนเกียกกาย พระกุยบุรีเปนกองน่า พระกลางบรรพตเปนกองหลัง พระพลเปนปีกขวา พระมหาดไทยเปนปีกซ้าย พลสองพัน ปืนใหญ่ ปืนนกสับ ช้างเครื่อง ๖ ช้าง ม้า ๘ ม้า เปนทัพหนึ่ง ให้พญายมราชเปนนายกอง หลวงรามสรเดชเปนยุกรบัตรพระไชยนาทเปนเกียกกาย พระอนันตกะยอสูเปนกองน่า พระศรีมหาราชาเปนปีกขวา ขุนโจมจัตุรงค์เปนปีกซ้าย พลพันหนึ่ง ปืนใหญ่ ปืนนกสับ ช้างเครื่อง ๖ ช้าง ม้า ๘ ม้า เปนทัพหนึ่ง แลให้พญาราชบังสรรเปนนายกอง พระสรรคบุรีเปนยุกรบัตร หลวงวิชิตสงครามเปนเกียกกาย พระนนทบุรีเปนกองน่า พญาสุรราชภักดีเปนกองหลัง พญาตุกาลีเปนปีกขวา หลวงรามภักดีเปนปีกซ้าย พลสามพัน ปืนใหญ่ ปืนนกสับ ช้างเครื่อง ๖ ช้าง ม้า ๑๐ ม้า เปนทัพหนึ่ง แลพญาพิไชยสงครามเปนนายกอง หลวงสุรสงครามเปนยุกรบัตร หลวงราชมนตรีเปนเกียกกาย หลวงคำแหงสงครามเปนกองน่า หลวงนเรนทรภักดีเปนปีกขวา ขุนพิพิธรณรงค์เปนปีกซ้าย พลห้าร้อย ปืนใหญ่ ปืนนกสับ ช้างเครื่อง ๖ ช้าง ม้า ๘ ม้า เปนทัพหนึ่ง จึงทัพห้าทัพก็ยกขึ้นไป ครั้นถึงเมืองนครแลเมืองเถินไซ้ จึงสงเชดกายแลแหงไนซึ่งอยู่ในเมืองนครก็พากันอพยพเมืองนครแลเมืองเถินออกมาหานายทัพนายกองข้าหลวงขอเปนข้าสู่พระราชสมภาร แลฟ้าลายข่าซึ่งอยู่รักษาเมืองนครนั้นก็พากันอพยพหนีไปพึ่งอยู่ณเมืองเชียงใหม่ นายทัพนายกองก็บอกหนังสือส่งตัวสงเชดกาย แลแหงไน กับสกรรจ์อพยพทั้งปวง ลงมายังทัพหลวงณเมืองพิศณุโลก ว่า ได้เมืองนคร เมืองเถินสมเด็จพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการตรัสสั่งสมุหนายกให้มีตราตอบให้พญากระลาโหม พญารามเดโช พญาพิไชยสงคราม อยู่รั้งเมืองนคร ให้ซ่องสุมชาวเมืองนครแลครัวอพยพทั้งปวงซึ่งแตกฉานซ่านเซนออกไปจากเมืองนครนั้นให้เข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนาดุจก่อน แลให้พญานครราชสีมา พระราชสุภาวดี พระสุพรรณบุรี ยกไปเอาเมืองตัง แล้วก็มีพระราชโองการตรัสสั่งให้พญามหาเทพ แลขุนหมื่นข้าหลวง แลพลห้าร้อย สรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธ ไปเอาเมืองลอง ก็ได้แสนเมืองลองแลสกรรจ์อพยพคุมลงมาถวายยังทัพหลวงณเมืองพิศณุโลก ทรงพระกรุณาตรัสให้ขุนราชเสนา หมื่นอินทรสรแม่นไปฟังข่าวพญานครราชสีมา แลพระราชสุภาวดีพระสุพรรณบุรี ซึ่งยกทัพไปเอาเมืองตังนั้น แลได้สังฆราชาเขมราษฎ์ แลเมืองตัง หมื่นจิตร กับไพร่หกสิบแปด มายังทัพหลวงณเมืองพิศณุโลก ถึงวันเดือนสาม แรมสองค่ำ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าช้างเผือกก็เสด็จพระราชดำเนินกรีธาพลแต่เมืองพระพิศณุโลกไปยังเมืองศุโขไท แลเสด็จอยู่พระตำหนักตำบลธานี จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้พญาเกียวเปนนายกองทัพน่า วิเชียรโยธาเปนปีกขวา ขุนรามโยธาเปนปีกซ้าย สมิงสามแหลกเปนเกียกกาย พลรบห้าร้อย สรรพด้วยเครื่องสรรพายุทธ ทัพหนึ่งแลให้พญากำแพงเพ็ชรเปนนายกองทัพใหญ่ ขุนเมืองเปนปีกขวา ขุนราชาเปนปีกซ้าย หลวงอินทแสนแสงเปนเกียกกาย แลช้างม้าไพร่พลพันหนึ่ง สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธทั้งปวง แลให้ทัพทั้งสองทัพยกไปเมืองรามตี แลผู้อยู่รักษาเมืองนั้นชื่อ โลกกำเกียว ครั้นรู้ก็พาสกรรจ์อพยพหนีไปจากเมืองรามตี จึงขุนแลสมิงแลจ่าทั้งปวงสิบห้าคนนี้เปนนายหมวด แลลูกหลานนายหมวดสิบห้าคนออกมาหาพญากำแพงเพ็ชรว่า จะขอเปนข้าสู่พระราชสมภาร แลกินน้ำสบถแล้วก็ให้ผมไว้เปนสำคัญตามประเวณีลว้าซึ่งสัญญานั้น แล้วถวายอพยพทั้งปวงพันสี่ร้อยเก้าสิบสามคน ขอเปนข้าขัณฑสิมากรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา จึงพญากำแพงเพ็ชรก็ให้ผ้าเสื้อเปนรางวัลแก่นายหมวดลูกหลานนายหมวดผู้มีความสวามิภักดิ์นั้นถ้วนทุกคน แล้วพญากำแพงเพ็ชรก็บอกหนังสือมาถึงสมุหนายกเมื่อทัพหลวงเสด็จอยู่ตำบลธานีนั้น พญาจักรีจึงเอากราบทูล ทรงพระกรุณาโปรดนายหมวดว่า ผู้มีความสวามิภักดิ์ซึ่งมาสู่พระราชสมภาร แลพระราชทานผ้าเสื้อแลเงินถ้วนทุกคนแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับลงมายังเมืองพระพิศณุโลก จึงเสด็จแต่เมืองพระพิศณุโลกโดยทางชลมารคแปดวันก็ถึงกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา ๚
๏ ส่วนพญากำแพงเพ็ชรก็แต่งขุนโชติภักดี ขุนสรนรินทร์ แลหมื่นมหาเกาทัณฑ์ คุมไพร่ร้อยหนึ่ง สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธไปจัดซ่องพญาพรหมคีรี แลว่า ขุนหมื่นนายหมวดพญาพรหมคีรี แลขุนหมื่นสมิงนายหมวดทั้งปวงยี่สิบคนผู้ออกมากินน้ำสบถนั้น พญากำแพงเพ็ชรก็ให้รางวัลเสื้อผ้าแลเงินตราแก่พญาพรหมคีรีแลลว้านายหมวดทุกคน พญาพรหมคีรีแลลว้านายหมวดทั้งปวงถวายสกรรจ์อพยพพันแปดร้อยคนเปนข้าขัณฑสิมากรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาจึงพญากำแพงเพ็ชรให้ขุนราชา เมืองเชียงเงิน ขุนหมื่น แลไพร่ร้อยยี่สิบคน คุมเอาพญาพรหมคิรีแลลว้าเปนขุนหมื่นสมิงนายหมวดทั้งปวงมายังกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา แลพระราชทานชื่อแก่พญาพรหมคิรีนั้นเปนพญาอนุชิตชลธี แลพระราชทานเจียดเงินเลื่อมจำหลักสรรพางค์จุกทองผ้าเสื้อเงินตราสิ่งของแลเครื่องเรือนแก่พญาพรหมคิรีแลขุนหมื่นสมิงลว้านายหมวดนั้นมากนัก แล้วให้ไปอยู่ตามลำเนาดุจก่อน ส่วนพระราชสุภาวดีแลเมืองสรรคบุรี ครั้นได้เมืองตังแล้ว ก็ยกทัพไปเมืองอินทคิรี แลพญาอินทคิรีคุมเอาสกรรจ์อพยพเจ็ดร้อยออกมาหาพระราชสุภาวดีขอเปนข้าพระราชสมภาร จึงพระราชสุภาวดีให้พญาอินทคีรี จึงพญาอินทคิรีให้ลาด่งผู้ลูก แลแสนทักขิณดาน แสนบัวบาน แสนอภัยมาน แสนพิงไชย แลไพร่สี่สิบหกคน ลงมาด้วยพระราชสุภาวดีแลเมืองสรรคบุรีถึงกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าช้างเผือกก็มีพระราชโองการตรัสสั่งให้เบิกล่าด่ง แลแสนทักขิณดาน แสนบัวบาน แสนอภัยมาน แสนพิงไชย เข้ามากราบถวายบังคมณศาลาลูกขุน แลพระราชทานชื่อแก่นายล่าดงเปนแสนหลวงสุนทรราชภักดี (แสนหลวงสุรินทรภักดี) แสนบัวบานเปนแสนภักดีนรินทร์ แสนทักขิณดาเปนแสนภูมินทรบริบาล พระราชทานเจียดเงินเหลื่อมจำหลักสรรพางค์เครื่องสำรับแลผ้าเสื้อผ้าพอกไปแก่พญาอินทคิรี แลพระราชทานเจียดทรงมัน แลผ้าเสื้อแพรพรรณแก่แสนหลวงสุรินทรภักดีผู้ลูกพญาอินทอินทรคิรี แลพระราชทานผ้าเสื้อแพรพรรณแก่แสนภักดีนรินทน์ แสนภูมินทรบริบาล แสนพิงไชย แลพระราชทานเสื้อผ้าแก่แสนขุนแสนหมื่นผู้มานั้นเปนอันมาก แลพระราชทานอัฐบริขารแก่สงฆ์อันมาด้วยนั้นแล้ว แลอรรคมหาเสนาธิบดี แลมหาดเล็ก มหาดไทย กลาโหม จัตุสดมภ์ทั้งสี่ ก็ให้ผ้าเสื้อแก่แสนทั้งสี่นั้น แล้วก็พระราชทานให้เครื่องเลี้ยงนานาประการออกไปเลี้ยงเปนอันมากทั้งสี่นั้น แลทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้แสนหลวงสุรินทรภักดี แสนภักดีนรินทร์ แสนภูมินทรบริบาล แสนพิงไชย แสนขุน แสนหมื่น แลไพร่ทั้งปวง ให้กลับคืนขึ้นไปยังเมืองอินทคิรีอยู่ตามภูมิลำเนาแลรักษาเมืองอินทคิรีด้วยพญาอินทคิรีเปนเมืองขึ้นตามขนบณกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา ๚
๏ ส่วนทัพพญากำแพงเพ็ชรแลพญาเกียรติซึ่งไปตั้งอยู่ตำบลด่านอุมรุกนั้น ก็จัดซ่องได้สมิงคลองคู สมิงกะเทิง แลลว้านายหมวดแลไพร่ลว้าเปนอันมาก แล้วส่งนายหมวดลงมายังกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา แลพระราชทานชื่อแก่สมิงคลองคูเปนสมิงเทวคิรีรักษ์ สมิงกะเทิงเปนสมิงภักดีศิขรินทร์ แลพระราชทานดาบทองแก่สมิงเทวคิรีรักษ์ พระราชทานขันเงินแก่สมิงภักดีศิขรินทร์ แลพระราชทานผ้าเสื้อถ้วนทุกคน แล้วให้ขึ้นไปจัดซ่องลว้าทั้งปวง ได้สกรรจ์อพยพพลหกร้อย แล้วสมิงเทวคิรีรักษ์ไปสืบซ่อง ได้พญาพรหมคิรีจึงพญากำแพงเพ็ชรให้มนุราชาคุมพญาพรหมคิรีแลสมัครพรรคพวกมายังกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา ทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้เบิกพญาพรหมคิรีเข้ามากราบถวายบังคมแต่ศาลาลูกขุน แลพระราชทานชื่อแก่พญาพรหมคิรีเปนพญาสุทัศนธานีศรีวนาภิรมย์ แล้วพระราชทานเจียดเงินเหลี่ยมจุกทองปากจำหลักสรรพางค์แลผ้าเสื้อแพรพรรณเปนอันมาก อรรคมหาเสนาธิบดี มหาดไทย กลาโหม จัตุสดมภ์ทั้งสี่ ก็ให้รางวัลผ้าเสื้อแพรพรรณก็มาก แล้วก็ให้กลับคืนขึ้นไปอยู่รักษาเมืองอินทคิรีตามภูมิลำเนาเปนเมืองขึ้นตามขนบกรุงเทพพระมหานครบวรทวารวดีศรีอยุทธยา แล้วข้าหลวงไปอยู่ด้วยพญาสุทัศนธานีเพื่อจะให้รู้ขนบกิจราชการ ๚
๏ ฝ่ายมางนันทมิตรอยู่เมืองเมาะตมะ ฮ่อล้อมเมืองอังวะ ในขณะนั้น มางนันทมิตรผู้เปนอาว์พระเจ้าอังวะอยู่ปกครองเมืองเมาะตมะ ส่วนชาวเมืองฮ่อไซ้ยกทัพมาล้อมเมืองอังวะ จะเอาฮ่ออุทิงผาซึ่งพาสกรรจ์อพยพประมาณพันหนึ่งหนีไปพึ่งอยู่เมืองอังวะ จึงมางนันทมิตรเกณฑ์เอาพล ๓๒ หัวเมืองซึ่งขึ้นแก่เมืองเมาะตมะนั้นสามพันให้ไปช่วยป้องกันเมืองอังวะ แลมอญอันไปช่วยป้องกันก็หลีกหนีคืนมาเปนอันมาก จึงมางนันทมิตรก็ให้คุมเอามอญอันหนีมานั้นใส่ตรางไว้ ว่าจะเผาเสีย แลสมิงเพอ (อำเภอ) ทั้ง ๑๑ คนนั้นควบคุมมอญประมาณห้าพันยกเข้าเผาเมืองเมาะตมะเสีย จับตัวมางนันทมิตรได้ ให้คุมเชิงไว้ อยู่ประมาณสามเดือนเศษ มางนันทมิตรคิดกันกับผู้คุมเชิงซ่องมอญได้สองพันเศษ เข้ากันกับพรรคพวกชายหญิงเปนคนห้าพัน ๚
๏ ลุศักราช ๑๐๒๓ ปีศก มางนันทมิตรยกครอบครัวอพยพมาสู่พระบรมโพธิสมภารโดยทางเมืองกำแพงเพ็ชร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสให้รับมาตั้งอยู่ตำบลไทยใหญ่ ครั้นณวัน ๙ฯ ๓ ค่ำ เสด็จทรงพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ออกจับช้างกลางแปลงณเพนียด แล้วเสด็จออกณพระที่นั่งมรฎป ให้หามางนันทมิตรมาเฝ้า ตรัสถามว่า เปนอะไรกันกับพระเจ้าอังวะ มางนันทมิตรบังคมทูลว่า เปนอาว์พระเจ้าอังวะ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า พระเจ้าอังวะหาตั้งไว้ในตระกูลวงษ์ผู้ใหญ่หาไม่ฤๅ มางนันทมิดกราบทูลว่า ตั้งไว้ในที่ผู้ใหญ่อยู่ แต่มีความพิโรธกัน เพราะเหตุว่าพระเจ้าอังวะมิได้ตั้งในพระธรรมสามน (ธรรมสาตร) ราชสาตร แลแจ้งกิติศัพท์ขึ้นไปว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายตวันออกมีกฤษฎาภินิหารบารมีใหญ่หลวง ดำรงทศพิธราชธรรมเปนนิตยกาล ไพร่ฟ้าอาณาจักรแลนานาประเทศซึ่งขึ้นขอบขัณฑเสมานั้นก็อยู่เย็นเปนศุข ดังร่มรุกขสุวรรณมหาโพธิอันใหญ่ ข้าพระพุทธเจ้ามีความยินดี จึงอุสาหะเอากะเฬวระมาฝากไว้ใต้ฝ่าพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่มางนันทมิตรเปนอันมาก ๚
๏ ลุศักราช ๑๐๒๔ ปีศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงชักช้างเถื่อนเข้าเพนียด พังตัวหนึ่งตกลูกในวงพาดเปนเผือกผู้ อยู่เจ็ดวันล้ม ๚
๏ ศักราช ๑๐๒๕ ปีศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปตั้งคอกขังช้างตำบลโตรกพระ ได้ช้างพลายใหญ่เพรียว ๗๐ ช้าง พังประมาณ ๔๐๐ แล้วเสด็จเข้าพระนคร
๏ ครั้นรุ่งขึ้น เสด็จออก เสนาบดีทั้งปวงเฝ้าพร้อมกัน นายไชยขรรค์มหาดเล็กลูกพระนมกราบทูลพระกรุณาว่า ช้างไล่ม้าฬ่อแพนนั้น เว้นแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกนั้นหากลัวผู้ใดไม่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสทราบว่า นายไชยขรรค์แกล้งว่าเปรียบพระเพชราชา พระเพชราชาก็รู้เท่า จึงตอบนายไชยขรรค์ว่า ผลัดกันขี่ช้างไล่ม้าฬ่อคนละเที่ยวฤๅ นายไชยขรรค์ว่า จะขี่ช้างไล่ก่อน พระเพชราชาก็ยอม ครั้นถึงวันกำหนด นายไชยขรรค์ขี่ช้างต้นพญาปราบไตรภพสูงหกศอกหกนิ้ว พระเพชราชาขี่ม้ากาฬาคิรีสูงสามศอกสองนิ้ว ตั้งสนามตำบลคลองน่าวัดแตร ม้าไกลช้างเส้นหนึ่ง พระเพชราชาชักม้ารำแพนฬ่อ นายไชยขรรค์ขับช้างไล่ขึ้นมาใกล้สพานอิฐวัดทนัง (วัดหนัง) ช้างได้คว้าพระเพชราชา ๆ เห็นจวนตัว ก็ขับม้าเข้าช่องกุฏน้อย ช้างค้างอยู่ ครั้นเที่ยวพระเพชราชาจะขี่ช้างนายไชยขรรค์หนีไปบ้านเสีย พระเพชราชาเข้ามาเฝ้ากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แจ้งเนื้อความทั้งนั้นให้ทราบทุกประการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า หารู้ไม่ฤๅ อ้ายไชยขรรค์นั้นเปนทหารปาก ๚
๏ ครั้นถึงเดือนพิธีอำพวาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงม้าพระที่นั่งลงไปณตำบลชีกุน เจ้าฟ้ารามเจ้าฟ้าทองแต่งชาวเพ็ชรบุรี ๓๐๐ คน ตะบองครบมือ นั่งซุ่มอยู่ริมทาง ครั้นเสด็จพระดำเนินลงไปถึงทางสี่แพร่งป่าชมภูแลตแลงกุนปายารวมกัน ชาวเพ็ชรบุรีลุกพร้อมกันขึ้นจะเข้ายุดเอาบังเหียนม้าพระที่นั่ง กรมพระตำรวจก็จับตัวมาถาม ชาวเพ็ชรบุรีให้การว่า เจ้าฟ้าทองเจ้าฟ้ารามใช้ให้มาคอยทำร้ายแก่พระเจ้าอยู่หัว ๆ ก็เสด็จคืนเข้าพระราชวัง จึงมีพระราชโองการให้คุมเอาเจ้าฟ้าทองเจ้าฟ้ารามมาถาม สารภาพรับเปนสัตย์ ทรงกรุณาให้ปฤกษาโทษ ลูกขุนณศาลาปฤกษาว่า เจ้าฟ้าทองเจ้าฟ้ารามทำการขบถ ทรงพระกรุณาพระราชทานชีวิตรไว้แต่ก่อนนั้นก็สองครั้งแล้ว บัดนี้ ยังคิดขบถอยู่อิกเล่า เจ้าฟ้าทอง เจ้าฟ้าราม เปนมหันตโทษที่สุดอยู่แล้ว แผ่นดินหนาถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์ ทรงสมเด็จพระพุทธเจ้าถึงห้าพระองค์เปนมหาภัทกัลปอันยิ่ง จะให้โลหิตผู้ทรชนตกลงในพื้นปัถพีนี้ก็ดูมิสมควร ขอพระราชทานให้ใส่แพหยวกฟันลอยเสียตามกระแสพระสมุท เอาคำปฤกษากราบทูล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ตามคำปฤกษาเถิด ๚
๏ ศุภมัศดุ ศักราช ๑๐๕๐ ปีมโรง สัมฤทธิศก สมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าเสด็จขึ้นไปเมืองลพบุรี อยู่ประมาณเดือนหนึ่ง ทรงประชวรหนักลง วันหนึ่ง หม่อมปีย์เสด็จออกมาสรงพระภักตร์อยู่ณษาสา พญาสุรศักดิเข้าไปจะจับ หม่อมปีย์วิ่งเข้าไปในที่พระบรรธมร้องว่า ทูลกระหม่อมแก้ว ช่วยเกล้ากระหม่อมฉันด้วย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสว่า อ้ายพ่อลูกนี้คิดทรยศจะเอาสมบัติ แล้วมีพระราชโองการสั่งให้ประจุพระแสงปืนข้างที่ แล้วให้พญาเพชราชา พญาสุรศักดิ ก็เข้าไปยืนอยู่ที่พระทวารทั้งสองคน สมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าเสด็จบรรธมอยู่ ยื่นพระหัตถ์คลำเอาพระแสงปืน เผยอพระองค์จะลุกขึ้น ก็ลุกขึ้นมิได้ กลับบรรธมหลับพระเนตร ครั้นเพลาบ่าย พญาเพทราชาให้ไปเชิญพญาวิไชเยนทร์เข้ามาว่าปฤกษาราชการ แล้วให้ตำรวจไปกำกับประตูพระราชวัง สั่งว่า ข้าทูลลอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือนจะเข้ามาเฝ้า ให้เข้ามาแต่ถาดหมากคนโทมัดเฝ้า ครั้นพญาวิไชเยนทร์เข้ามาพร้อมกันณศาลาลูกขุน พญาเพทราชาว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรอยู่บ้านป่าเมืองดอน เราจะให้แต่งกองร้อยกองตระเวน แลกองร้อยรอบพระราชวังชั้นหนึ่ง น่าเพนียดชั้นหนึ่ง พระตำหนักชุบศรนั้นไว้แต่ม้าเร็วคอยเหตุ พญาวิไชเยนทร์จึงตอบว่า ท่านว่าชอบแล้ว ก็ชวนกันขึ้นไปบนเชิงเทิน พญาวิไชเยนทร์ก็จัดป้อมปากตลาดฉลากให้เจ้าน่าที่อยู่รักษา พญาวิไชเยนทร์เดินไปประมาณเส้นหนึ่ง รักษาองค์เอาตะบองทีท้องหกล้มลง แล้วพญาสุรศักดิเข้าไปจับหม่อมปีย์ได้ เอาไปล้างเสียทั้งพญาวิไชเยนทร์ ฝ่ายพญาพระหลวงข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงเห็นพญาเพทราชาทำการผิดปลาด ก็ให้หนังสือลงมาถึงเจ้าฟ้าอภัยทัศว่า มีคนพวกละ ๓๐๐ บ้าง ๔๐๐ บ้าง เจ้าฟ้าอภัยทัศเสด็จลงไปณพระตำหนักท้องสระ เอาหนังสือซึ่งขุนนางทั้งปวงถวายลงมานั้นขยำน้ำเสีย แล้วเสด็จขึ้นไปถึงปากน้ำปากสบ เข้านมัสการพระพรหม แล้วเสด็จขึ้นไป ชาวน่าที่ซึ่งสั่งให้ลงมาคอยเสด็จ ครั้นพบเสด็จแล้ว กลับขึ้นไปเรียนแก่พญาเพทราชา พญาสุรศักดิ ๆ ให้ลงมาเชิญเสด็จรีบขึ้นไป เจ้าพระขวัญทรงพระเสลี่ยงขึ้นไปถึง พญาสุรศักดิสั่งให้เอาไปวัดซาด (วัดซาก) พญาสุรศักดิขี่ช้างพังออกไปด้วย จึงให้เจ้าพนักงานทำเสียสำเร็จ แล้วก็กลับเข้ามาพระราชวัง เพลาสามยาม พระราชรักษาให้เรียนถามพญาเพทราชา พญาสุรศักดิ ว่า พร้อมแล้วฤๅยัง บอกว่า พร้อมแล้ว ขุนองค์อยู่งานถอนนิ้วขึ้นจากพระองค์ พระโอษฐงับก็นิ่งไป วัน ๗ ๕ฯ ๙ ค่ำ เพลา ๑๐ ทุ่ม เสด็จนิพพาน ๚
๏ ครั้นเพลาเช้า พระเพทราชานุ่งจีบ ถือพระกระบี่ ขุนนางทั้งปวงเข้าไปพร้อมกัน นั่งลงไหว้ พญาเพชราชาบอกว่า เราจะเชิญพระบรมศพออกไปใส่เรือพระที่นั่งสุวรรณหงษ์ ขุนนางทั้งปวงรับพระโองการพญาเพทราชาว่า ทำไมท่านทั้งปวงมารับพระโองการเรา ขุนนางทั้งปวงพร้อมกันว่า พระองค์ควรจะเปนใหญ่ปกป้องครองแผ่นดินอยู่แล้ว พญาเพชราชาจึงว่า เราจะช่วยรักษาว่าราชการไปพลางกว่าผู้มีบุญจะมีมานี่พอจะได้อยู่ แล้วมีพระราชโองการสั่งให้เชิญพระโกษฐขึ้นบนพระมหาปฤษฎาธารพระที่นั่งสุวรรณหงษ์ กำนัลแสงถวายเครื่องต้น เจ้าพนักงานเอาเรือพระที่นั่งสีสักลาดสองลำเข้ามาประทับ เสด็จลงเรือพระที่นั่งสีสักลาดองค์ละลำ ลอยลงมาท้ายพระที่นั่งสุวรรณหงษ์ เสด็จลงถึงตำบลบ้านตลุง เพลาประมาณสองทุ่มเศษ พระบรมสารีริกธาตุเสด็จปาฏิหารผ่านน่าเรือพระที่นั่งสุวรรณหงษ์วงเวียนรอบเรือพระที่นั่งนั้น พญาไชยทัน พระราชโกษา หลวงราชาพิมล ขุนสมเด็จพระขัน หลวงประไชยชีพ ซึ่งลงในเรือพระที่นั่งสุวรรณหงษ์นั้น ร้องกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ๆ ตรัสว่า เห็นแล้ว ครั้นเรือพระที่นั่งลงมาถึงพระนคร ประทับขนาน มีพระราชโองการให้เชิญพระบรมศพ ให้พระสนมเชิญเครื่องเชิญพระแสงตามธรรมเนียม ถือเครื่องสูงแลหามพระราชยานก็ผู้หญิง เชิญพระบรมศพขึ้นไปไว้ณพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ ครั้นส่งเสด็จแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จออกลอยเรืออยู่สระบัว ทรงพระกรุณาให้สถาปนาพระที่นั่งบันยงครัตนาด ถึงเดือนสี่แล้ว จวนพระราชพิธีตรุศ เสด็จปราบดาภิเศก ทรงพระนาม สมเด็จพระมหาบุรุษราชบพิตรเจ้า จัดพระอรรคมเหษีเดิมเปนฝ่ายขวา จัดสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระนารายน์เปนเจ้า แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทอง สองพระองค์ เปนฝ่ายซ้าย ฉิมบุตรภรรยาพนักงานของกินตั้งขึ้นเปนเจ้าอยู่นางพญา ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอรับพระบัณฑูรฝ่ายน่า เอาหม่อมแก้วบุตรท้าวศรีจุฬาลักษณ์ผู้น้องเปนกรมขุนเสนาบริรักษ์ ธิดาพันวสา น้อย ใหญ่พระราชทานเครื่องสูงแลเครื่องราชาบริโภค รับพระบัญชา นายทรงบาศหลานเธอเปนพระอภัยสุรินทร์กรมขุนทิพพลภักดิ พระราชทานเครื่องสูงแลเครื่องราชาบริโภค รับพระบัญชา เอาขุนองค์เปนพญาสุรสงคราม พระราชทานเครื่องสูง เอานายบุญมากเปนเจ้าพญาวิชิตภูบาล พระราชทานเครื่องสูง ให้อยู่วังหลัง ทรงพระกรุณาตรัสว่า วัดพญาแมนเราได้อุปสมบท ให้ไปสถาปนาพระวิหารการเปรียญขึ้น แล้วทรงพระราชูทิศกัลปนาส่วยขึ้นพระอารามนั้นเปนอันมาก บ้านป่าตองก็เปนที่ไชยราชศรีสวัสดิมงคล ทรงพระราชูทิศศรัทธาสถาปนาเปนพระอาราม สร้างพระอุโบสถวิหารการเปรียญเสนาสนกุฎีเปนพระรัตนไตรยบูชา สั่งให้หมื่นจันทราชช่างเคลือบ ๆ กระเบื้องสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถ แล้วถวายพระนามพระอารามชื่อ บรมพุทธาราม เจ้าอธิการถวายพระนามชื่อ พระญาณสมโพธิ ถวายกับปิยการกต่าง ๆ เปนอันมาก ๚ |
๏ ลุศักราช ๑๐๕๒ ปีมเมีย โทศก พระอรรคมเหษีฝ่ายซ้ายทั้งสองพระองค์ ๆ หนึ่งเปนพระราชธิดาสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้า มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งทรงพระนามชื่อว่า พระราชสมภาร พระองค์หนึ่งเปนพระมเหษีเปนพระราชบุตรเจ้าฟ้าทอง ๆ ร่วมพระราชบิดากับสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้า มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งทรงพระนามชื่อ นารายน์ธิเบศร์ ๚
๏ ลุศักราช ๑๐๖๐ ปีขาล สัมฤทธิศก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปทอดพระเนตรมวยอยู่ณเพนียด อ้ายธรรมเถียรปลอมว่าเปนเจ้าฟ้าอภัยทัศซึ่งเอาไปทุบเสียณวัดซาก เอาช้างมงคลรัตนาศน์ซึ่งอยู่ลพบุรีขี่เข้ามา ไพร่ซึ่งมาด้วยนั้นประมาณ ๕๐๐ ไพร่ชาวนาเกี่ยวเข้าถือหอกบ้าง คานหลาวบ้าง ขุนหลวงกรมพระราชวังบวรฯ กราบทูลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๆ ตรัสว่า ถ้าผู้มีบุญมาจริงแล้ว เราจะยกให้ กรมพระราชวังเสด็จอยู่ป้อมมหาไชย ธรรมเถียรยืนช้างอยู่ตีนรอ มีพระบัณฑูรให้ตำรวจไปพิเคราะห์ดูตัวให้แน่ ตำรวจกลับมากราบทูลว่า มิใช่เจ้าฟ้าอภัยทัศ จึงมีพระบัณฑูรให้วางปืนใหญ่ออกไปพร้อมกันทั้งแปดบอก พวกธรรมเถียรก็แตกไปในเพลาค่ำ รุ่งเช้า จับตัวธรรมเถียรได้ในสวนดอกไม้วัดสีฟัน เอาไปประหารชีวิตรเสีย พรรคพวกทั้งนั้นเอาไปเปนตะพุ่น ๚
๏ ลุศักราช ๑๐๖๕ ปีมแม เบญจศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรเสด็จสวรรคต เมื่อได้ราชสมบัติ พระชนม์ได้ ๕๑ อยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี ๚
๏ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวรฯ ขึ้นเสวยราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอสองพระองค์ พระเชษฐาพระชนม์ได้ ๒๔ พระวสา พระอนุชาพระชนม์ได้ ๒๐ พระวสา รับพระบัณฑูรทั้งสองพระองค์ แล้วให้จับเจ้ากรมขุนเสนาบริรักษ์ว่า คบคิดกันกับอำมาตย์หลอ พระรักษมณเฑียร เจ้าพระองค์ แขกดำ ว่า ซ่องสุมผู้คนคิดขบถ มิได้ถวายเครื่องสาตราวุธ ให้เอาไปประหารชีวิตรเสียสิ้น อยู่มาอิกสองวัน จับเจ้าพระขวัญให้เอาไปสำเร็จโทษเสียณวัดโคกพญา ๚
๏ ลุศักราช ๑๐๖๗ ปีรกา สัปตศก พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปณเมืองพระพิศณุโลก ถึงที่ประทับโพธิ์ทับช้าง มีพระโองการตรัสว่า สมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปตีเมืองล้านช้าง สมเด็จพระมารดาทรงพระครรภ์แก่ เสด็จขึ้นมาส่ง ตั้งจวนใต้ต้นมะเดื่อ ประสูตรกู จึงให้สถาปนาพระวิหาร พระอุโบสถ พระสถูป ที่จวนนั้น เสด็จขึ้นไปเมืองพระพิศณุโลก ประทับแรมอยู่ ๗ เวน เสด็จกลับลงมาพระนคร ๚
๏ ศุภมัศดุ ศักราช ๑๐๖๘ ปีจอ อัฐศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปล้อมช้างตำบลยางคลองทอง ได้ช้างพลาย ๖ ศอก ๕๐ ช้าง ได้ช้าง ๕ ศอกคืบ ๗๐ ช้าง ได้ช้างพัง ๓๒๐ ช้าง แล้วเสด็จกลับลงมาพระนคร มีพระโองการโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกปรือทแกล้วทหาร จะเสด็จไปเอาเมืองหงษา ๚
๏ ในปีนั้น หม่อมเดโชกินเมืองนคร จับปลัดฆ่าเสีย มีตราให้หาก็มิได้เข้ามา จึงยกทัพออกไปจะจับหม่อมเดโช ๆ ขับคนขึ้นน่าที่เชิงเทินต่อรบพุ่งเปนสามารถ พระไกรพลแสนอยู่ในเมืองเปนใจด้วยทัพหลวง ให้คนหนีจากน่าที่เชิงเทิน กองทัพจึงเข้าเมืองได้ หม่อมเดโชหนีไปได้ กองทัพยกกลับมา ๚
๏ ลุศักราช ๑๐๗๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ให้สถาปนาพระมณฑปพระพุทธบาท ๚
๏ ศักราช ๑๐๗๗ ปีมแม สัปตศก เสด็จขึ้นไปฉลองพระพุทธบาท ๗ เวน ทรงพระประชวร เสด็จทรงพระที่นั่งสุวรรณราเชนทร์เสด็จลงมาถึงกรุง ขึ้นพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ได้ ๗ เวน ประชวรหนักลงแปลงสถานลงมาพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ เพลาเช้า พระชนม์ ๒๗ พระวสา เปนกรมพระราชวังบวรฯ อยู่ ๑๕ ปี ได้เสวยราชสมบัติ๗ ปี พระชนม์ได้ ๔๙ พระวสา เสด็จสวรรคต ๚
๏ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสององค์แต่งพระบรมศพถวายพระเพลิงพระราชบิดาเสร็จ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเชษฐาธิราชพระชนม์ ๒๔ ขึ้นเปนกรมพระราชวังบวรฯ อยู่ ๗ ปี ๚
๏ เสด็จทรงนามพระรามาธิบดีแตกนักพระอินทร์เข้ามาแต่กรุงกัมพูชา ทรงพระกรุณาให้ออกไปรับ ปลูกตำหนักให้อยู่ตำบลวัดค้างคาว ๚
๏ ศักราช ๑๐๘๐ ปีจอ สัมฤทธิศก อสนีบาตลงยอดวัดมงคลบพิตร ไหม้เครื่องไม้ลงมาจนผนัง ๗ วันจึงดับ พระสอพระประธานหัก ๚
๏ ศักราช ๑๐๘๑ ปีกุญ เอกศก ทรงพระกรุณาให้เกณฑ์กองทัพเรือพล ๕๐๐๐ ทัพบกคน ๕๐๐๐ ให้พญาจักรีบ้านโรงฆ้องเปนแม่ทัพบก พญาโกษาจีนเปนแม่ทัพเรือกำปั่นสองลำ ยกออกไปรบญวนลแวกตีแตกเข้ามา ๚
๏ ศุภมัศดุ ศักราช ๑๐๘๔ ปีขาล จัตวาศก ทรงพระราชศรัทธาให้บุรณพระเจดีย์พระอุโบสถวัดมงคลบพิตรให้กว้างให้ยาวออกกว่าเก่า ๚
๏ ลุศักราช ๑๐๘๙ ปีมแม นพศก ทรงพระประชวรชิวหา ในปีนั้น สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้ากรมพระราชวังบวรฯ เสด็จออกไปทรงผนวชณวัดกุฎีดาว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอภัยถามนายบุญมีราชวังเมืองกรมช้างพระราชวังบวรฯ ว่า ตัวไรมีฝีงา นายบุญมีราชวังเมืองกราบทูลว่า ช้างพลายสระสงสาร ช้างพลายแก้ว พลายรัดกลึง รับวงพาดแลชนเถื่อน รับสั่งให้เอาช้างสามช้างไปพระราชวังหลวง แล้วสั่งว่า ช้างม้าซึ่งอยู่วังน่านั้นอย่าให้ตะพุ่นจ่ายหญ้าให้ หลวงมณเฑียรบาล หลวงกลาโหม เปนโทษครั้งปลงศพพระอาจารย์วัดคูหา เข้าไปกราบทูลพระกรุณาให้เอามาไว้ในพระราชวังหลวง จึงมีพระราชโองการให้ไปต่อว่าขุนหลวงกรมพระราชวังบวรฯ ก็ยอมถวาย จึงทรงพระกรุณาเอาหลวงมณเทียรบาลใส่ที่พระบำเรอภักดิ หลวงกลาโหมเปนที่หมื่นไวยวรนารถ สองคนนี้ พิดทูลยุยงพระเจ้าอยู่หัวแลสมเด็จพระเจ้าท้าวเจ้าฟ้าอภัยว่า ถ้าหาหลวงจ่าแสน ขุนชำนาญ นายชิดภูบาล มิได้ การดำริห์สิ่งใดก็จสะดวก ๚




