ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 8/เรื่องที่ 5
พระโกษฐที่ทรงพระบรมศพแลพระศพเจ้านาย กับโกษฐที่พระราชทานสำหรับศพข้าราชการผู้มีบันดาศักดิสูง ซึ่งมีอยู่เวลานี้ รวมเบ็ดเสร็จมี ๑๔ อย่าง เรียงโดยลำดับยศเปนดังนี้
๑พระโกษฐทองใหญ่
๒พระโกษฐทองรองทรง นับเสมอพระโกษฐทองใหญ่
๓พระโกษฐทองเล็ก
๔พระโกษฐทองน้อย
๕พระโกษฐกุดั่นใหญ่
๖พระโกษฐกุดั่นน้อย
๗พระโกษฐมณฑปใหญ่
๘พระโกษฐมณฑปน้อย
๙พระโกษฐไม้สิบสอง
๑๐พระโกษฐพระองค์เจ้า เดิมเรียกว่า โกษฐลังกา
๑๑โกษฐราชินิกูล
๑๒โกษฐเกราะ
๑๓โกษฐแปดเหลี่ยม
๑๔โกษฐโถ
ตำนานพระโกษฐทั้งปวงนี้ มีปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารบ้าง บอกเล่าต่อกันสืบมาบ้าง ต้องสันนิฐานบ้าง มีตำนานดังแสดงต่อไปนี้ เรียงลำดับตามสมัยที่สร้าง
ที่๑โกษฐแปดเหลี่ยม มีอยู่ ๔ โกษฐด้วยกัน แต่โกษฐหนึ่งนั้นเก่ามาก ไม่ทราบตำนานว่า สร้างครั้งไร สังเกตทำนองลวดลาย เห็นเปนอย่างเดียวกับช่างครั้งรัชกาลที่ ๑ แต่ฝีมือทำนั้นหยาบมาก ถ้าจะกะเอาว่า สร้างแต่ครั้งกรุงธนบุรี ก็เห็นว่า จะเปนการสมควร ด้วยเหตุข้อ ๑ ยุคนั้น เวลาว่างการทัพศึกมีน้อย งานพระเมรุต้องรีบชิงทำในเวลาว่างอันเปนเวลาสั้น จึงต้องเร่งทำเอาแต่พอให้ใช้ได้ทันงาน จะให้งดงามถึงที่ไม่ได้ ข้อ ๒ โกษฐแปดเหลี่ยมนี้เปนอย่างเดียวกันกับพระโกษฐกุดั่นอันมีตำนานปรากฎว่า สร้างเปนครั้งแรกในรัชกาลที่ ๑ โกษฐแปดเหลี่ยมต้องมีอยู่ก่อนแล้ว พระโกษฐกุดั่นทำเอาอย่าง จึงจะเปนได้ ซึ่งโกษฐแปดเหลี่ยมจะทำทีหลังเอาอย่างพระโกษฐกุดั่นนั้นเปนไปไม่ได้ ใช้ประกอบศพที่ต่ำศักดิเปนกรรโชก เข้าใจว่า โกษฐแปดเหลี่ยมนี้เก่าแก่กว่าโกษฐชนิดอื่นหมด ด้วยยอดเปนหลังคา คงเปนแบบแรกที่แปลงมาจากเหมตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ยังอิก ๓ โกษฐนั้น โกษฐหนึ่งก็ไม่ทราบแน่ว่า สร้างเมื่อไร แต่สังเกตฝีมือ เห็นว่า คงทำราวรัชกาลที่ ๓ ฤๅที่ ๔ อิกโกษฐหนึ่ง กรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ใช้ประกอบศพหม่อมแม้นในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดชเปนคราวแรก อิกโกษฐหนึ่ง กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจขอพระบรมราชานุญาตทำถวายในรัชกาลนี้ ใช้ประกอบศพเจ้าจอมมารดาสังวาลเปนประเดิม
ที่๒โกษฐโถ มีอยู่ ๒ โกษฐ โกษฐหนึ่งนั้นเก่ามาก ลวดลายแลฝีมือเหมือนกับโกษฐแปดเหลี่ยมใบเก่า เห็นได้ว่า ทำรุ่นราวคราวเดียวกัน ไม่ปรากฎตำนานว่า สร้างเมื่อไร ได้ยินแต่กล่าวกันว่า เปนโกษฐเก่าแก่ ใช้มาแต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว คำกล่าวเช่นนี้ ประกอบกับฝีมือที่ทำรุ่นเดียวกับโกษฐแปดเหลี่ยม ชักให้น่าเชื่อขึ้นอิกว่า โกษฐแปดเหลี่ยมแลโกษฐโถทั้งสองอย่างนี้สร้างแต่ครั้งกรุงธนบุรี ทำไมจึงเรียก โกษฐโถ ก็เข้าใจไม่ได้ รูปก็ไม่เห็นเหมือนโถ ทรงอย่างโกษฐแปดเหลี่ยมนั้นเอง แต่ถากแปลงเปนกลม ยอดแก้เปนทรงมงกุฎเหมือนชฎาลคร คงจะทำทีหลังโกษฐแปดเหลี่ยม แลเห็นจะได้เปนยศสูงกว่าโกษฐแปดเหลี่ยม ด้วยยอดทรงมงกุฎพาให้เข้าใจไปเช่นนั้น แต่เดี๋ยวนี้ ถือว่า ต่ำกว่าโกษฐแปดเหลี่ยม ใช้สำหรับพระราชทานพระราชาคณะแลข้าราชการที่มีบันดาศักดิ์ได้รับพระราชทานโกษฐเปนชั้นต้น อิกโกษฐหนึ่ง เปนของทำเติมขึ้นใหม่ พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการ เปนผู้ทำโดยรับสั่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อในรัชกาลที่ ๕
ที่๓พระโกษฐกุดั่น ๒ พระโกษฐ สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๑๑๖๑ (พ.ศ. ๒๓๔๒) ทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี แลเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ เมื่อทรงพระศพสมเด็จพระพี่นาง หุ้มทองคำทั้งสองพระโกษฐ ตามคำที่ว่ากันว่า พระโกษฐกุดั่นนั้นชำรุดหายไปเสียองค์หนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงค้นหาได้มาแต่ตัวพระโกษฐ จึงทรงทำฝาแลฐานใหม่ประกอบเข้า พระโกษฐองค์นี้เรียกว่า "กุดั่นใหญ่" ฝีมือทำซึ่งปรากฎอยู่ที่กาบพระโกษฐนั้นงามอย่างยิ่ง สมกับที่มีตำนานว่า เปนของทำในรัชกาลที่ ๑ อิกองค์หนึ่งเรียกว่า "กุดั่นน้อย" องค์นี้ที่ว่า ไม่ได้ชำรุดสูญหาย แต่ดูทำนองลายในกาบไม่ค่อยเทียมทันเสมอกันกับพระโกษฐกุดั่นใหญ่อันมีตำนานว่า ทำพร้อมกัน อาจจะเปนตัวแทนเสียแล้วก็ได้ พระโกษฐทั้งสององค์นี้เกียรติยศใช้ต่างกัน ทุกวันนี้ ถือว่า พระโกษฐกุดั่นใหญ่เกียรติยศสูงกว่าพระโกษฐกุดั่นน้อย แลพระโกษฐกุดั่นน้อยนี้กรมหมื่นปราบปรปักษ์ได้ทรงสร้างเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อิกองค์ ๑
ที่๔พระโกษฐไม้สิบสอง มีตำนานว่า สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีกุญ จุลศักราช ๑๑๖๕ (พ.ศ. ๒๓๔๖) ทรงพระศพกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ครั้งนั้น หุ้มทองคำ ในบัดนี้ พระโกษฐไม้สิบสองมี ๒ องค์ ว่า เปนของเก่าองค์หนึ่ง เปนของสร้างเติมขึ้นใหม่อิกองค์หนึ่ง แต่ไม่ได้ความว่า สร้างเติมขึ้นเมื่อไร สังเกตดูรูปทรงลวดลายทั้งสององค์ไม่เห็นสมเปนฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ สักองค์เดียว
ที่๕พระโกษฐทองใหญ่ สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๗๐ (พ.ศ. ๒๓๕๑) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์โปรดให้รื้อทองที่หุ้มพระโกษฐกุดั่นมาทำพระโกษฐทองใหญ่ขึ้นไว้สำหรับพระบรมศพของพระองค์ เมื่อทำพระโกษฐองค์นี้สำเร็จแล้ว โปรดให้เอาเข้าไปตั้งถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในปีนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงพระอาไลยมาก แลจะใคร่ทอดพระเนตรพระโกษฐทองใหญ่ออกพระเมรุตั้งพระเบญจา จึงโปรดให้เชิญพระโกษฐทองใหญ่ไปประกอบพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ เปนครั้งแรก จึงเลยเปนประเพณีในรัชกาลต่อมาที่พระราชทานพระโกษฐทองใหญ่ให้ทรงพระศพอื่นเปนพิเศษนอกจากพระบรมศพได้ มีบาญชีจดไว้ในห้องพระอาลักษณลงมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ กรมพระสมมตอมรพันธุ์พบบาญชีนี้ ได้ทรงจดต่อมาจนรัชกาลปัจจุบัน มีอย่างนี้
๑กรมหลวงศรีสุนทรเทพ
๒พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์
๓กรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
๔สมเด็จพระสังฆราชวัดราชสิทธาราม
๕กรมหลวงพิทักษมนตรี
๖กรมหลวงเทพวดี
๗พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
๘กรมหมื่นสุรินทรรักษ์
๙กรมขุนอิศรานุรักษ์
๑๐กรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๑๑พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ
๑๒สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์
๑๓สมเด็จพระศรีสุลาไลย
๑๔กรมหลวงเทพพลภักดิ์
๑๕กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
๑๖กรมหมื่นอับศรสุดาเทพ
๑๗พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๑๘สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้าโสมนัศ
๑๙กรมสมเด็จพระปรมานุชิต
๒๐กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร เมื่อชัก
๒๑กรมสมเด็จพระเดชาดิศร
๒๒กรมหลวงมหิศวรินทรฯ เมื่อชัก
๒๓พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพอย
๒๔กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร
(จดหมายห้องพระอาลักษณหมดเท่านี้ ต่อนี้กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงจด)
กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ทราบว่า ไม่ได้เปลี่ยนลองสี่เหลี่ยม ทรงพระโกษฐมณฑปตลอดงาน
๒๕พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒๖กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ
๒๗พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒๘กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เมื่อชัก
๒๙กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ เมื่อชัก
๓๐สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน
๓๑สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน
๓๒พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์
๓๓กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์
๓๔กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์
๓๕สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
๓๖กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร
๓๗สมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงษ์วโรไทย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ
๓๘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓๙กรมหลวงวรเสรฐสุดา
๔๐สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์
๔๑กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เมื่อชัก
๔๒กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เมื่อชัก
ที่๖พระโกษฐพระองค์เจ้า เรียกกันแต่แรกว่า โกษฐลังกา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์สร้างขึ้นแต่ครั้งยังทรงผนวช เปนลองสี่เหลี่ยม หุ้มผ้าขาว ยอดเปนฉัตรระบายผ้าขาว เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ (ก่อนมีพระโกษฐมณฑปน้อย) ต่อมา พระโกษฐ์นี้สำหรับทรงพระศพพระองค์เจ้าวังน่าแลพระองค์เจ้าตั้ง มาถึงในรัชกาลที่ ๕ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์จึงทรงคิดทำประกอบนอกขึ้น ต่อมา กรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำเติมขึ้นใหม่อิกพระโกษฐหนึ่ง จึงมีอยู่ในเวลานี้ ๒ พระโกษฐด้วยกัน
ที่๗พระโกษฐทองน้อย โปรดให้กรมพระเทเวศร์วัชรินทรสร้างขึ้นตามแบบอย่างพระโกษฐทองใหญ่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ปีกุญ จุลศักราช ๑๒๑๓ (พ.ศ. ๒๓๙๔) สำหรับทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อผลัดพระโกษฐทองใหญ่ไปแต่งก่อนออกงานพระเมรุเมื่อทรงพระบรมศพฤๅตั้งงานพระศพคู่กับพระโกษฐทองใหญ่แล้วหุ้มทองคำ ถ้าใช้งานอื่น ไม่หุ้ม กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงจดคราวที่ได้หุ้มทองคำใช้นั้นไว้ มีอยู่ในท้ายบาญชีพระโกษฐทองใหญ่อย่างนี้
๑พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓สมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
พระโกษฐทองน้อยนี้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล ณกรุงเทพ) สร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อิกองค์หนึ่ง
ที่๘พระโกษฐมณฑปน้อย โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติสร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๔ สำหรับทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ ถ้าทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระโกษฐนี้หุ้มทองคำเฉภาะงาน
ที่๙พระโกษฐมณฑปใหญ่ โปรดให้กรมขุนราชสีหวิกรมคิดอย่างสร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุญ จุลศักราช ๑๒๒๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖) เอาแบบมาแต่พระโกษฐมณฑปน้อย ทรงพระศพกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ก่อน ด้วยกรมพระพิทักษ์เทเวศร์พระรูปใหญ่โต พระศพลงลองพระโกษฐสามัญไม่ได้ ต้องทำลองสี่เหลี่ยมขึ้นโดยเฉภาะ จึงโปรดให้สร้างพระโกษฐมณฑปนี้สำหรับประกอบลองสี่เหลี่ยม พระโกษฐมณฑปใหญ่นี้ ต่อมา สร้างขึ้นอิกองค์หนึ่ง แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ทราบแน่
ที่๑๐โกษฐเกราะ สร้างขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุญ จุลศักราช ๑๒๒๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖) สำหรับศพเจ้าพระยานิกรบดินทร ด้วยท่านอ้วน ศพลงลองสามัญไม่ได้ ต้องทำลองสี่เหลี่ยม จึงโปรดให้ทำโกษฐเกราะขึ้นประกอบ ที่เรียกว่า "โกษฐเกราะ" เพราะลายสลักเปนเกราะรัด
ที่๑๑โกษฐราชินิกูล โปรดให้กรมขุนราชสีหวิกรมสร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีขาล จุลศักราช ๑๒๒๘ (พ.ศ. ๒๔๐๙) พระราชทานให้ประกอบศพพระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชุ่ม บุนนาค) ก่อนผู้อื่น
ที่๑๒พระโกษฐทองเล็ก โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์ สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีกุญ จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เปนทีแรก แล้วได้ใช้ทรงพระศพเจ้านายต่อมา มีบาญชีกรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงจดไว้ในท้ายบาญชีพระโกษฐทองใหญ่อย่างนี้
๑สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
๒สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง
๓เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี
๔กรมขุนสุพรรณภาควดี
๕พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช
ที่๑๓พระโกษฐทองรองทรง โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์ สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีชวด รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) พระโกษฐองค์นี้นับเหมือนกับพระโกษฐทองใหญ่ สำหรับใช้แทนที่พระโกษฐทองน้อยเวลาที่จะต้องหุ้มทองคำ เพื่อจะไม่ให้ต้องหุ้มเข้าแลรื้อออกบ่อย ๆ มีบาญชีคราวที่ได้ใช้ทรงพระบรมศพแลพระศพ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงจดไว้ในท้ายบาญชีพระโกษฐทองใหญ่อย่างนี้
๑กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร
๒สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์
๓สมเด็จเจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ
๔พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาแต่งพระโกษฐทองใหญ่
๕พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค
๖สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกย์ลักษณวดี
ยังมีเครื่องประดับสำหรับพระโกษฐอิก เช่น พระโกษฐทองใหญ่ มีดอกไม้เพ็ชรเปนพุ่มเข้าบิณฑ์ ดอกไม้ไหว เฟื่อง ดอกไม้เอว ของเหล่านี้ประดับครบทุกอย่างแต่พระบรมศพ ถ้าพระราชทานให้ทรงพระศพเจ้านาย โดยปรกติไม่มีเครื่องประดับ ถ้าพระราชเครื่องประดับด้วย มีเปนชั้น ๆ กัน ชั้นต้น ประดับพุ่มเข้าบิณฑ์กับเฟื่อง ชั้นสูง รองแต่พระบรมศพ ประดับดอกไม้เอวด้วยอิกอย่างหนึ่ง พระโกษฐเจ้านายก็มีเครื่องประดับ คือ ยอดพุ่มเข้าบิณฑ์แลเฟื่อง ต่อที่ทรงบันดาศักดิสูงจึงใช้เครื่องประดับ ถ้าพระราชทานให้ทรงศพเจ้านายชั้นต่ำลงมาฤๅขุนนาง ไม่ใช้เครื่องประดับ