ข้ามไปเนื้อหา

ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 9/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ

จางวางโท พระยาบำเรอบริรักษ์ (สาย ณมหาไชย) มาแจ้งความแก่กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณว่า เจ้าภาพงานศพพระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร (เอม ณมหาไชย) ข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๕ มีความศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครเปนของแจกในงานศพเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ข้าพเจ้าจึงได้เลือกเรื่องประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๙ ให้พิมพ์ตามปราถนา

หนังสือพงษาวดารที่รวมพิมพ์ในประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๙ นี้ มี ๔ เรื่อง คือ พงษาวดารเมืองเชียงรุ้ง เรื่อง ๑ พงษาวดารเมืองไล เรื่อง ๑ พงษาวดารเมืองแถง เรื่อง ๑ แลพงษาวดารเมืองเชียงแขง เรื่อง ๑ เมืองเหล่านี้ล้วนเปนเมืองของชนชาติไทย อยู่ข้างเหนือพระราชอาณาเขตร เคยมาขึ้นอยู่ในพระราชอาณาจักรสยามบางยุคบางคราวแต่ก่อนมา ในคราวที่มีท้าวพระยาผู้ใหญ่ของเมืองนั้น ๆ เข้ามาสวามิภักดิ จึงได้ถามเรื่องพงษาวดารของบ้านเมืองจดไว้เปนความรู้ในราชการ

เมืองเชียงรุ้งอยู่ในแว่นแคว้นสิบสองปันนา เขตรแดนติดต่อกับประเทศจีน ไทย แลพม่า โดยปรกติมักขึ้นอยู่กับจีนแลพม่าทั้ง ๒ ฝ่าย ด้วยไปมาถึงกันได้ง่ายกว่าทางประเทศสยาม พวกพลเมืองเปนไทยจำพวก ๑ ซึ่งเรียกกันว่า "ลื้อ" ภาษาที่พูดก็เข้าใจกับเราชาวสยามได้ แต่ปลาดที่สำเนียงแลคำพูดคล้ายชาวนครศรีธรรมราช ข้าพเจ้าได้เคยพูดกับพวกลื้อที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเขตรเมืองน่าน จึงทราบความอันนี้ เห็นสมกับที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อ ปีจอ พ.ศ. ๑๙๗๓ สมเด็จพระราเมศวรเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ กวาดครอบครัวลงมามาก แลครอบครัวที่ได้มาครั้งนั้นให้ลงไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ไทยที่อยู่ในแขวงเชียงใหม่สมัยนั้นคงจะเปนพวกลื้อนี้โดยมาก

แว่นแคว้นสิบสองปันนาแยกกันเปนหลายเมือง ต่างมีเจ้านายปกครอง แต่อยู่ในญาติวงษ์อันเดียวกัน เจ้าเชียงรุ้งเปนหัวน่า

เหตุที่จะได้เรื่องพงษาวดารเมืองเชียงรุ้งที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้นั้น เดิมพวกเจ้าเมืองเชียงรุ้งแย่งกันเปนใหญ่ จีนอุดหนุนฝ่าย ๑ พม่าอุดหนุนฝ่าย ๑ พวกเชียงรุ้งเกิดรบราฆ่าฟันกัน บ้านเมืองไม่เปนปรกติมาหลายปี ทีหลังพม่ามาเบียดเบียน เจ้านายเมืองเชียงรุ้งจึงอพยพเข้ามาขออาไศรยในพระราชอาณาจักรเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๑ อุปราชามาอาไศรยเมืองหลวงพระบางพวก ๑ มหาไชยมาอาไศรยเมืองน่านพวก ๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รับลงมากรุงเทพฯ ทั้ง ๒ คน ไต่ถามได้ความว่า เมืองเชียงรุ้งสมัคจะเปนข้าขอบขัณฑสิมา ขอพระบารมีเปนที่พึ่งต่อไป ทรงพระราชดำริห์ว่า พม่ามีอำนาจที่เมืองเชียงรุ้ง ก็เพราะได้กำลังเมืองเชียงตุงซึ่งอยู่ต่อติดกับเมืองเชียงรุ้งทางด้านตวันตก ถ้าตัดกำลังเมืองเชียงตุงเสียแล้ว พม่าก็จะทำไมแก่เมืองเชียงรุ้งไม่ได้ เวลานั้น เมืองเชียงตุงมีเหตุเปนอริอยู่กับเมืองเชียงใหม่ด้วย จึงดำรัสสั่งให้มีตราเกณฑ์กองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน ให้พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่เปนแม่ทัพ ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงเมื่อปีรกา พ.ศ. ๒๓๙๒ ตีหัวเมืองรายทางเข้าไปได้จนถึงชานเมืองเชียงตุง แต่กองทัพไม่พรักพร้อมกัน แลไปขัดสนเสบียงอาหาร จึงต้องถอยทัพกลับมา ยังมิทันที่จะได้จัดการเรื่องเมืองเชียงรุ้งต่อไปประการใด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต อุปราชาแลมหาไชยยังค้างอยู่ในกรุงเทพฯ จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เสนาบดีปฤกษาการเรื่องเมืองเชียงรุ้งว่า จะควรทำอย่างไรต่อไป เสนาบดีปฤกษาเห็นพร้อมกันว่า กองทัพเมืองเชียงใหม่ยกขึ้นไปก็เกือบจะได้เมืองเชียงตุงอยู่แล้ว หากไปมีเหตุเกิดการบกพร่อง จึงต้องถอยทัพ ครั้งนี้ ควรจะให้ยกกองทัพใหญ่จากกรุงเทพฯ ขึ้นไปสมทบกับกองทัพหัวเมือง ระดมตีเมืองเชียงตุงให้การสำเร็จดังกระแสพระราชดำริห์ในรัชกาลที่ ๓ จึงได้โปรดให้กรมหลวงวงษาธิราชสนิท กับเจ้าพระยาภูธราภัย แต่ยังเปนเจ้าพระยายมราช ยกกองทัพขึ้นไป ความพิศดารเรื่องยกทัพคราวนั้นแจ้งอยู่ในหนังสือ "จดหมายเหตุ เรื่อง ทัพเชียงตุง" ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร โปรดให้พิมพ์แจกในงานศพนายพลเรือตรี พระยานาวาพลพยุหรักษ์ (ม.ร.ว.พิณ สนิทวงศ์ ณกรุงเทพ) เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้นแล้ว

หนังสือพงษาวดารเมืองเชียงรุ้งที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ จดตามคำให้การของมหาไชยเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ ในคราวเมื่อจะยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุงที่กล่าวมา

หนังสือพงษาวดารเมืองไล แลพงษาวดารเมืองแถง ๒ เรื่องนั้น นายพลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุข ชูโต) แต่ยังเปนนายจ่ายวด เปนนายพันตรีปลัดทัพขึ้นไปกับเจ้าพระยาสุรศักดิมนตรีเมื่อปีรกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้ถามพวกท้าวขุนเมืองเหล่านั้น แล้วเรียบเรียงพงษาวดาร ๒ เรื่องนี้ขึ้นไว้เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ ในเวลาเปนที่พระพลัษฎานุรักษ์ ปลัดจางวางกรมมหาดเล็ก

เมืองไล เมืองแถง อยู่ในแว่นแคว้นสิบสองจุไทย กล่าวกันมาว่า แรกที่ชนชาติไทยจะอพยพลงมาสยามประเทศแต่ดึกดำบรรพ์ มาตั้งอยู่ที่แว่นแคว้นสิบสองจุไทยนี้ก่อน คำว่า สิบสองจุไทย ว่า ตรงกับ สิบสองเจ้าไทย เพราะแต่เดิมไทยที่ตั้งอยู่ในแว่นแคว้นนั้นอยู่แยกกันเปนสิบสองอาณาเขตร แม้ทุกวันนี้พวกพลเมืองที่อยู่ในที่นั้นก็เปนไทยโดยมาก เรียกกันว่า "ผู้ไทย" เขตรแดนท้องที่ ๆ พวกผู้ไทยอยู่ในแว่นแคว้นอันนี้กว้างขวาง ข้างเหนือไปจนถึงมณฑลฮุนหนำ แดนจีน ข้างตวันออกถึงมณฑลตังเกี๋ย แดนญวน ข้างตวันตกต่อแดนไทยสิบสองปันนาซึ่งขึ้นพม่าที่กล่าวมาแล้ว ข้างใต้ต่อกับกรุงศรีสัตนาคนหุต ซึ่งไทยพวกนี้เองได้ลงมาตั้งขึ้น เมื่อกรุงศรีสัตนาคนหุตมีอำนาจ จึงได้รวมแว่นแคว้นสิบสองจุไทยซึ่งเปนพวกเดิมของตนไว้ในอาณาจักร ต่อมา เมื่ออำนาจกรุงศรีสัตนาคนหุตอ่อนลง ตั้งแต่เสียเมืองแก่พม่าครั้งพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองเปนต้นมา อำนาจการปกครองหัวเมืองที่ห่างไกลก็มีน้อยลงโดยลำดับ ทีหลังมา เมื่อกรุงศรีสัตนาคนหุตแยกกันออกไปเปน ๒ อาณาเขตร คือ หลวงพระบาง แลเวียงจันท์ หัวเมืองผู้ไทยก็แยกกันออกไป ที่อยู่ข้างฝ่ายตวันออก เรียกว่า เมืองพวน มีเมืองเชียงขวางเปนต้น ไปขึ้นแก่เจ้านครเวียงจันท์ หัวเมืองข้างฝ่ายเหนือ รวมทั้งเมืองไล แลเมืองแถงนี้ ขึ้นกับเจ้านครหลวงพระบาง ที่เปนเมืองใกล้ ๆ เจ้าหลวงพระบางตั้งท้าวพระยาไปเปนหัวพันปกครอง เรียกส่วนนี้ว่า เมืองหัวพันทั้งหก เมืองที่อยู่ห่างไกลออกไป คงเรียกว่า สิบสองจุไทย ให้ปกครองกันเองเปนทำนองประเทศราช เมืองไลแลเมืองแถงอยู่ในพวกหลังนี้

หัวเมืองของจีนซึ่งต่อแดนสิบสองจุไทยข้างฝ่ายเหนือก็ดี หัวเมืองของญวนซึ่งต่อแดนเมืองพวนข้างฝ่ายตวันออกก็ดี แต่เดิมมา การปกครองชายแดนก็ละหลวม กำหนดแต่ว่า เขตรแดนถึงเพียงนั้น ๆ แต่การภายในแล้วแต่พวกที่อยู่ในนั้นจะปกครองกันอย่างไร เหมือนกับทางข้างนี้ การเปนดังนี้ หัวเมืองที่พวกผู้ไทยอยู่ ทั้งในแดนจีน แดนญวน แลในแว่นแคว้นสิบสองจุไทย แลเมืองพวน จึงคล้าย ๆ กับแผ่นดินกลางมาช้านาน เมืองใดที่อยู่ใกล้ชิดข้างไหน ก็ขึ้นข้างนั้น ที่อยู่ห่าง ๆ ก็ขึ้นสองฝ่ายสามฝ่าย แล้วแต่อำนาจข้างไหนมาถึงตัวเมื่อใด ก็ยอมอ่อนน้อมต่ออำนาจนั้น พออย่าให้เบียดเบียน

ส่วนผู้คนพลเมืองที่อยู่ในท้องที่ ๆ กล่าวมานี้ มีหลายชาติหลายภาษา ไม่ใช่มีแต่ผู้ไทยชาติเดียว ข่าเปนพลเมืองเดิม อยู่ในท้องที่แต่พวกไทยยังไม่เข้ามา ครั้นไทยลงมา ๆ ปราบปรามชนะพวกข่า ๆ จึงต้องยอมให้ไทยใช้สอยสืบมาจนเปนประเพณี คราวนี้ ถึงสมัยเมื่อพวกเม่งจูมาได้เปนใหญ่ในเมืองจีน บังคับให้จีนไว้ผมเปียต่างมวย พวกจีนที่ไม่พอใจจะอยู่กับพวกเม่งจูก็พากันอพยพหลบเข้ามาอยู่ในหัวเมืองเหล่านี้ มีจีนมาเปนพลเมืองอิกชาติ ๑ แต่จีนกับผู้ไทยไม่ผิดกันนัก ไทยมากกว่า อยู่มา พวกจีนก็ปนไปกับไทย พูดภาษาแลแต่งตัวกลายเปนผู้ไทย คงแต่ถือขนบธรรมเนียมจีนอยู่บางอย่าง มีที่คงเปนจีนอยู่พวก ๑ (จะมาแต่ครั้งใดไม่ทราบแน่) เรียกว่า พวกแม้ว, พวกเย้า, ซึ่งเที่ยวตั้งบ้านเรือนอยู่บนยอดเขา ไม่ลงมาอยู่ปะปนกับพวกอื่น มาในชั้นหลัง เมืองญวนเกิดขบถเปนจลาจลขึ้นเมื่อในสมัยครั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานีของประเทศสยาม มีพวกญวนอพยพหลบหนีไภยอันตรายเข้ามาอยู่ในแขวงนี้อิกพวก ๑ ผู้คนพลเมืองจึงปะปนกันหลายชาติหลายภาษา

ว่าโดยเหตุการณ์ที่ปรากฎมาในพระราชพงษาวดาร ตั้งแต่องเชียงสือกลับตั้งเมืองญวนเปนอิศระได้เมื่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร แต่นั้น ญวนก็พยายามขยายอำนาจออกไปโดยลำดับ มาถึงในรัชกาลที่ ๒ ญวนขยายอำนาจปกคลุมเข้ามาถึงทางเมืองพวนแลแว่นแคว้นสิบสองจุไทยเอาไปอยู่ในบังคับบัญชาญวนได้เกือบหมด แล้วกำเริบเอิบเอื้อมต่อเข้ามาจนถึงเมืองเวียงจันท์ ญวนอุดหนุนให้อนุเจ้านครเวียงจันท์เปนขบถเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ไทยจึงเกิดรบขึ้นกับญวน ในการสงครามคราวนั้น กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงห์เสนี) ขึ้นไปถึงเมืองพวน ขับไล่ญวนออกไปได้หมด เมื่อปราบปรามขบถเวียงจันท์ราบคาบแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลิกประเทศราชเวียงจันท์เสีย ให้เมืองหลวงพระบางว่ากล่าวทั้งสิบสองจุไทยแลเมืองพวน อำนาจการปกครองหัวเมืองเหล่านั้นก็ยิ่งอ่อนแอลง เมืองพวนอยู่ใกล้แดนญวน แลไปมาค้าขายถึงกันอยู่เสมอ ต่อมา เมื่อบ้านเมืองเปนปรกติ พวกท้าวพระยาเมืองพวนก็ไปสมัคสมานเข้ากับญวนอิก แต่ไม่ปรากฎมีเหตุการณ์สำคัญอันใดตลอดเวลาราว ๓๐ ปี จึงมาเกิดเหตุเรื่องฮ่อ

แต่ก่อนมา เรามักเข้าใจกันว่า "ฮ่อ" เปนชนชาติหนึ่งต่างหาก ข้าพเจ้ายังจำได้ เมื่อครั้งทัพฮ่อคราวแรกในรัชกาลที่ ๕ กองทัพพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) จับได้ฮ่อส่งลงมากรุงเทพ ฯ มีคนกระซิบกันว่า ไปจับเอาเจ๊กมาลวงว่า เปนฮ่อ ด้วยไม่รู้ว่า ที่จริง ฮ่อมันก็เจ็กนั่นเอง พวกไทยทางข้างเหนือทั้งเชียงใหม่แลหลวงพระบางเขาเรียกบรรดาจีนที่มาฮุนหนำว่า "ฮ่อ" เราสำคัญเอาแต่คำที่เขาเรียก จึงเข้าใจไปว่า เปนชนชาติอื่นต่างหาก

เรื่องประวัติของพวกฮ่อที่เข้ามาวุ่นวายในพระราชอาณาเขตร ข้าพเจ้าได้พบในหนังสือ ๒ ฉบับ คือ คำให้การของหลีมังคัง ทหารฮ่อ ซึ่งทัพพระยามหาอำมาตย์จับได้ส่งตัวลงมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ถามคำให้การ พิมพ์อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๘ (พ.ศ. ๒๔๑๙) เรื่อง ๑ คำให้การของกอยี่ หัวน่าฮ่อ ซึ่งเข้ามาอ่อนน้อมต่อเจ้าพระยาสุรศักดิมนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อปีจอ จุลศักราช ๑๒๔๘ (พ.ศ. ๒๔๒๙) ยังไม่ได้ลงพิมพ์เรื่อง ๑ ความทั้ง ๒ ฉบับยุติต้องกันบ้าง ขาดเหลือผิดกันบ้าง ข้าพเจ้าจะลองเก็บเนื้อความมาแสดงพอให้ทราบเค้าเงื่อนบ้าง

เดิม เมื่อราวปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๖ ในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร มีจีนพวก ๑ เป็นขบถต่อพระเจ้ากรุงจีน หัวน่าเปนชาวมณฑลกังไส เรียกชื่อว่า ง่ออาจง มีสมัคพรรคพวกประมาณหมื่นเศษ ใช้ธงเหลืองเปนสำคัญให้ผิดกับพวกเมืองลาวกายซึ่งใช้ธงดำ เราเรียกกันว่า ฮ่อธงเหลือง พวกฮ่อธงเหลืองยกกองทัพตีหัวเมืองชายแดนจีนมาจนในแดนญวน กองทัพจีนเมืองเสฉวนกับกองทัพญวนเมืองตังเกี๋ยจึงสมทบกันยกไปรบพวกฮ่อ ๆ แตก ง่ออาจง หัวน่า ตายในที่รบ พวกฮ่อธงเหลืองจึงหนีไปรวบรวมกันอยู่ที่เมืองชันเทียนอันเปนเมืองพวกแม้วอยู่บนเขาข้างชายแดน ยกน้องชายง่ออาจงขึ้นเปนหัวน่า เรียกว่า "ปวงนันซี" มีไพร่พลประมาณ ๕๐๐๐ คน ต่อมา ปวงนันซีคุมสมัคพรรคพวกเที่ยวปล้นสดมบ้านเล็กเมืองน้อยทั้งในแดนจีนแลแดนญวน จีนกับญวนยกกองทัพสมทบกันมารบอิกครั้ง ๑ ปวงนันซีตีแตกไป แต่นั้น พวกฮ่อก็มีใจกำเริบ ยกเปนกองทัพเที่ยวตีบ้านเมืองหาผลประโยชน์ แห่งใดต่อสู้ ถ้าแพ้ฮ่อ ๆ ก็เก็บริบทรัพย์สมบัติ จับผู้คนที่เปนหัวน่าฆ่าเสีย เอาลูกหลานบ่าวไพร่ไปใช้สอยเปนพรรคพวก ผู้ที่มีทรัพย์ ก็ยอมให้ไถ่ตัวไปบ้าง ถ้าแห่งใดกลัวเกรงอ่อนน้อมยอม "ทู้" ต่อฮ่อ ๆ ก็ไม่ทำอันตราย เปนแต่กะเกณฑ์เอาผู้คนแลทรัพย์สิ่งของมาใช้สอยเปนกำลังพาหนะ ฮ่อตีบ้านเมืองเข้ามาในแดนญวน ได้เมืองหอเยียงจิ๋วเปนที่มั่นเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ตั้งซ่องสุมได้กำลังมากแล้ว แต่แรกคิดจะไปตีเมืองตังเกี๋ย แต่พวกหัวเมืองญวนมาเกลี้ยกล่อมยอมเปนไมตรีกับฮ่อ ๆ จึงขยายอำนาจเข้ามาทางหัวเมืองสิบสองจุไทยเมื่อในรัชกาลที่ ๕

ถึงปีรกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ฮ่อคิดจะลงมาตีเมืองลาวในพระราชอาณาเขตร จึงแต่งกองทัพให้ยกมาตีเมืองเชียงขวางในเขตรเมืองพวนก่อน เจ้าเมืองเชียงขวางไปขอกองทัพญวนมาช่วย ฮ่อตีกองทัพญวนแตก ได้เมืองเชียงขวางแล้ว จึงมาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ทุ่งเชียงคำเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗

ถึงปีกุญ พ.ศ. ๒๔๑๘ ฮ่อยกลงมาจากทุ่งเชียงคำ ๒ กอง ๆ ๑ ยกลงมาทางเมืองเวียงจันท์ จะมาตีเมืองหนองคาย อิกกอง ๑ ยกไปทางเมืองหัวพัน จะไปตีเมืองหลวงพระบาง ข่าวที่ฮ่อยกกองทัพเข้ามานี้ กรมการเมืองหนองคายได้ทราบความจากพวกท้าวพระยาเมืองพวนที่แตกหนีเข้ามา จึงบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ถึงพร้อมกับใบบอกเจ้านครหลวงพระบาง เวลานั้น พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) เปนข้าหลวงขึ้นไปสักเลขอยู่ในมณฑลอุบล จึงโปรดให้พระยามหาอำมาตย์ฯ เกณฑ์คนมณฑลนครราชสิมา มณฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็ด แลมณฑลอุบล รวมเปนกองทัพยกขึ้นไปป้องกันเมืองหนองคายก่อน ทางกรุงเทพฯ โปรดให้เจ้าพระยาภูธราภัยเปนแม่ทัพยกไปทางเมืองหลวงพระบางทัพ ๑ ให้เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงเปนแม่ทัพยกไปทางเมืองหนองคายทัพ ๑

เมื่อกองทัพพระยามหาอำมาตย์ยกขึ้นไปถึงเมืองหนองคาย ฮ่อก็ลงมาถึงฝั่งน้ำโขงฟากโน้น ตั้งค่ายอยู่ที่วัดจันทน์ในเมืองเวียงจันท์แห่ง ๑ ที่บ้านสีถานแห่ง ๑ ที่บ้านโพนทานาเลาแห่ง ๑ ฮ่อข้ามฟากมาตีเมืองปากเหืองแตกเมือง ๑ พระยามหาอำมาตย์ กับพระยานครราชสิมา (เมฆ) พระยานครราชเสนี (กาจ สิงห์เสนี) แต่ยังเปนพระพรหมภักดี ยกรบัตรเมืองนครราชสิมา ยกขึ้นไป ได้รบพุ่งกับพวกฮ่อ ๆ ล้มตายแตกหนีไป ที่จับเปนได้ก็มาก กองทัพเจ้าพระยามหินทรฯ จึงไม่ต้องยกขึ้นไปเมืองหนองคาย ส่วนทางเมืองหลวงพระบาง พระยาพิไชย (ดิศ) คุมกองทัพหัวเมืองเหนือยกขึ้นไปก่อน ยกจากเมืองหลวงพระบางขึ้นไปพบกองทัพฮ่อตั้งอยู่ที่เมืองเวียงกัดในแขวงหัวพัน ได้รบกันเมื่อเดือน ๑๒ ปีกุญ แต่กำลังไม่พอจะตีฮ่อให้แตกไป จึงตั้งมั่นรักษาด่านอยู่ ครั้นเจ้าพระยาภูธราภัยยกขึ้นไปถึงเมืองพิไชย จึงให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก บุณยรัตพันธุ์) แต่ยังเปนพระสุริยภักดี เจ้ากรมพระตำรวจ รีบยกขึ้นไปเมืองหลวงพระบางตามไปช่วยพระยาพิไชยรบพุ่งตีพวกฮ่อแตกพ่ายยับเยินไป กองทัพไทย ทั้งกองพระยามหาอำมาตย์ แลกองเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ติดตามฮ่อไปจนทุ่งเชียงคำ ฮ่อก็พากันอพยพหลบหนีไปจากเมืองพวน จึงเสร็จสิ้นการทัพฮ่อในคราวนั้น

ในระยะเวลาต่อมา ๘ ปี ระหว่างนี้ ทั้งจีนแลญวนยกกองทัพสมทบกันไปรบฮ่อที่เมืองชันเทียน คราวนี้ ตีเมืองได้ แลฆ่าปวงนันซี ผู้เปนหัวน่า ตาย พวกฮ่อที่เปนสมัคพรรคพวกไม่มีนายใหญ่ควบคุมดังแต่ก่อน ก็แยกกันออกเปนหลายพวกหลายเหล่า บางพวกไปตั้งทำมาหากินแลยอมเสียส่วยให้เจ้าบ้านผ่านเมืองอย่างราษฎร บางพวกประพฤติเปนโจรผู้ร้ายเที่ยวปล้นสดมหาเลี้ยงชีพ บางพวกที่มีกำลังมากก็ใช้กำลังเที่ยวขู่กรรโชกฤๅรบพุ่งตามหัวเมืองที่มีกำลังน้อย แล้วแต่จะมีโอกาศหาผลประโยชน์เลี้ยงชีพได้ด้วยประการอย่างใด จึงมีฮ่อเที่ยวกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในแว่นแคว้นสิบสองจุไทย พวกเจ้าเมืองเหล่านั้นกำลังน้อย ก็เข้าเปนสมัคพรรคพวกกับฮ่อโดยมาก บางทีถึงอาไศรยจ้างวานฮ่อเปนกำลังรบพุ่งกันเองบ้างก็มี

ถึงปีมแม พ.ศ. ๒๔๒๖ ฮ่อพวก ๑ ยกกองทัพกลับลงมาตั้งค่ายมั่นที่ทุ่งเชียงคำในแขวงเมืองพวน แล้วเที่ยวตีหัวเมืองขึ้นเมืองหลวงพระบางเข้ามาทางเขตรหัวพันทั้งหกอิก จึงโปรดให้พระยาพิไชย (มิ่ง) กับพระยารณไชยชาญยุทธ (ครุธ) แต่ยังเปนพระยาศุโขไทย คุมกองทัพหัวเมืองเหนือขึ้นไปก่อน แลให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (เวก บุณยรัตพันธุ์) เวลานั้น ได้เลื่อนที่เป็นพระยาราชวรานุกุล เปนแม่ทัพ ยกตามขึ้นไปทางเมืองหลวงพระบางทาง ๑ แลเตรียมกองทัพใหญ่ไว้ ถ้าราชการหนักแน่นประการใด จะโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งทรงสำเร็จราชการกระทรวงมหาดไทย เสด็จเปนแม่ทัพใหญ่ ตัวข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงหนังสือนี้ก็จะได้โดยเสด็จด้วยในกองทัพนั้น แต่เมื่อได้ความว่า ฮ่อที่ยกลงมาคราวนี้ไม่มากมายแขงแรงเหมือนคราวก่อน ทัพหลวงจึงมิได้ยกไป กองทัพเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชสมทบกับกองทัพหัวเมืองยกขึ้นไป ฮ่อถอยหนีไปตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายทุ่งเชียงคำ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชยกตามไปล้อมค่ายไว้ รบพุ่งกันอยู่กว่าเดือน เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชถูกปืนข้าศึกเจ็บป่วย ตีเอาค่ายทุ่งเชียงคำไม่ได้ ขัดสนเสบียงอาหาร จึงต้องถอยทัพกลับมาเมืองหนองคาย

ถึงปีรกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ทรงพระราชดำริห์ว่า กองทัพที่ยกไปรบฮ่อตั้งแต่คราวแรกมาจนคราวแล้ว เกณฑ์พลเรือนไปรบตามอย่างโบราณทุกคราว ในเวลานั้น ทหารอย่างใหม่ก็ได้จัดตั้งขึ้นหลายกรมแล้ว ควรจะใช้กำลังทหารปราบปรามฮ่อเสียให้ราบคาบ จึงโปรดให้จัดทหารบกในกรุงเทพฯ เข้าเปนกองทัพ ๒ กอง กอง ๑ ให้นายพันเอก กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม แต่ยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่น แลเปนผู้บังคับกรมทหารรักษาพระราชวัง เปนแม่ทัพ ยกไปทางเมืองหนองคาย อีกกอง ๑ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิมนตรี (เจิม แสง-ชูโต) แต่ยังเปนนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ แลเปนผู้บังคับกรมทหารน่า ยกขึ้นไปทางเมืองหลวงพระบาง ยกออกจากกรุงเทพฯ ในเดือน ๑๑ ปีรกานั้นด้วยกันทั้ง ๒ กอง

กองทัพกรมหลวงประจักษ์ฯ ขึ้นไปถึงเมืองหนองคาย ทรงแต่งให้เจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนศักดิ (โต บุนนาค) แต่ยังเปนนายพันตรี พระอมรวิไสยสรเดช ผู้บังคับการกองปืนใหญ่ เปนนายทัพน่า กับเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล ณกรุงเทพ) แต่ยังเปนนายร้อยเอก หลวงสรวิเศษเดชาวุธ เปนปลัด คุมพลทหารกอง ๑ เป็นทัพน่า ให้พระยานครราชเสนี (กาจ สิงห์เสนี) แต่ยังเปนพระยาปลัดเมืองนครราชสิมา เปนกองลำเลียงทัพน่า ให้พระยาอภัยรณฤทธิ (บุศย์ บุณยรัตพันธุ์) แต่ยังเปนพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจ เปนนายทัพ คุมทหารกอง ๑ เปนทัพหนุน ให้พระยาอนุชิตชาญไชย (สาย สิงห์เสนี) แต่ยังเปนจมื่นไชยาภรณ์ ปลัดกรมพระตำรวจ เปนกองลำเลียงทัพหนุน ยกขึ้นไปตีค่ายฮ่อทุ่งเชียงคำ ครั้นกองทัพขึ้นไปถึง พวกฮ่อพากันอพยพหลบหนีไม่ต่อสู้ กองทัพรื้อทำลายค่ายทุ่งเชียงคำ แลยกไปจัดการเมืองเชียงขวางเรียบร้อยแล้ว จึงกลับลงมาเมืองหนองคาย

ส่วนกองทัพเจ้าพระยาสุรศักดิมนตรีไปถึงเมืองหลวงพระบางแล้ว ยกขึ้นไปตั้งทัพหลวงอยู่ที่เมืองซ่อนในเขตรหัวพันทั้งหก แต่งกองทหารแยกย้ายออกเที่ยวปราบปรามพวกฮ่อ กองทหารที่พระยาดัษกรประลาศ (อยู่) แต่ยังเปนนายร้อยเอก หลวงดัษกรประลาศ คุมไป แลกองทหารที่พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) สมุหเทศาภิบาล แต่ยังเปนนายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจ คุมไป ๒ กองนี้ ได้รบพุ่งมีไชยชนะพวกฮ่อหลายครั้ง พวกฮ่อที่เข้ามาตั้งอยู่ตามหัวเมืองขึ้นเมืองหลวงพระบางแตกหนีไปบ้าง ที่เข้ามาอ่อนน้อมต่อเจ้าพระยาสุรศักดิมนตรีก็หลายแห่ง เจ้าพระยาสุรศักดิมนตรีตั้งอยู่ที่เมืองซ่อนพอสิ้นฤดูฝนแล้ว จึงยกขึ้นไปตั้งอยู่ณเมืองแถง จัดการหัวเมืองสิบสองจุไทย ในเวลาเจ้าพระยาสุรศักดิมนตรีขึ้นไปจัดการคราวนั้น เรียกพวกท้าวพระยากรมการตามหัวเมืองมาประชุมกัน พระยาฤทธิรงค์รณเฉทจึงได้มีโอกาศถามคำให้การจดเรียบเรียงพงษาวดารเมืองไลแลเมืองแถงที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้

พงษาวดารเมืองเชียงแขงนั้น โปรดให้พระยาราชวรานุกูล (อ่วม) แต่ยังเปนพระยาศรีสิงหเทพ ถามท้าวพระยาเมืองเชียงแขงที่คุมต้นไม้ทองเงินเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อปีขาล รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เมืองเชียงแขงอยู่ในแว่นแคว้นไทยจำพวก ๑ ซึ่งเรียกว่า พวก "เขิน" คือ พวกเดียวกับชาวเชียงตุง อยู่ข้างเหนือมณฑลภาคพายัพ เดิมขึ้นพม่า เจ้าเมืองเชียงแขงมีก็อยู่ในสกุลวงษ์อันเดียวกันกับเจ้าเมืองเชียงตุง เจ้าเมืองเชียงแขงมีนามตามเกียรติยศที่พม่าตั้งว่า "เจ้าหม่อมมหาศรีสัพเพชังกูร พุทธพรหมวงษา" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิฐานว่า คือ "สรรเพชญ์พุทธางกูร" เหตุที่จะมาถวายต้นไม้ทองเงินสวามิภักดินั้น ด้วยเดิม เมืองเชียงแขงตั้งอยู่ข้างฝั่งตวันตกลำน้ำโขง ทำเลทำไร่นาอัตคัต เจ้าเมืองเชียงแขงจึงอพยพครอบครัวข้ามฟากมาตั้งอยู่ที่เมืองสิงห์ เวลานั้น เปนอาณาเขตรขึ้นในเมืองน่าน ด้วยเจ้าเมืองเชียงแขงเกี่ยวพันในเครือญาติวงษ์กับเจ้านายเมืองน่าน แล้วจึงสวามิภักดิขอเปนข้าขอบขัณฑสิมา

เรื่องพงศาวดารเกร็ดต่าง ๆ ซึ่งกรรมการหอพระสมุดฯ ได้รวมพิมพ์เปนหนังสือประชุมพงษาวดาร ได้พิมพ์มาแต่ก่อนแล้ว ๘ ภาค คือ

ภาคที่สมเด็จพระมาตุจฉาโปรดให้พิมพ์ประทานในงานศพหม่อมเจ้าดไนยวรนุชเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ มี ๖ เรื่อง คือ

(๑)พงษาวดารเหนือ

(๒)พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ

(๓)จาฤกครั้งกรุงศุโขไทย

(๔)พงษาวดารเขมร

(๕)พงษาวดารพม่ารามัญ

(๖)พงษาวดารล้านช้าง

ภาคที่สมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีดำรัสสั่งให้พิมพ์พระราชทานในงานศพคุณหญิงฟักทอง จ่าแสนย์บดี ราชินิกูลในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ มี ๘ เรื่อง คือ

(๑)เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชครั้งกรุงเก่า

(๒)เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี

(๓)เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์)

(๔)เรื่องตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ (คือ เจ้าพระยานครน้อย) เปนพระยานครศรีธรรมราช

(๕)พงษาวดารเมืองถลาง

(๖)พงษาวดารเมืองไทรบุรี

(๗)พงษาวดารเมืองตรังกานู

(๘)พงษาวดารเมืองกลันตัน

ภาคที่เจ้าพระอภัยราชามหายุติธรรมธรพิมพ์แจกในงานศพหม่อมเจ้าหญิงอรชรในพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นไกรสรวิชิต เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๘ มี ๓ เรื่อง คือ

(๑)พงษาวดารเมืองปัตตานี

(๒)พงษาวดารเมืองสงขลา

(๓)พงษาวดารเมืองนครเชียงใหม่

ภาคที่พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) พิมพ์แจกในงานศพมารดาเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๕๘ มี ๓ เรื่อง คือ

(๑)พระราชพงษาวดาร ความเก่า

(๒)พงษาวดารเมืองลแวก

(๓)พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ

ภาคที่คุณหญิงหุ่น รณไชยชาญยุทธ พิมพ์แจกในงานศพพระยารณไชยชาญยุทธ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ เมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๔๖๐ มี ๔ เรื่อง คือ

(๑)จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ

(๒)ศักราชรัชกาลครั้งกรุงศรีอยุทธยาตามที่สอบใหม่

(๓)พงษาวดารลาวเฉียง

(๔)พงษาวดารเมืองหลวงพระบาง

ภาคที่พระยาสีหราชฤทธิไกรพิมพ์แจกในงานปลงศพมารดาเมื่อปีมเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ มีเรื่องสงครามไทยรบกับพม่าครั้งกรุงเก่า ๒๔ ครั้ง

ภาคที่เจ้าภาพพิมพ์แจกในงานศพนายอี่เมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๔๖๐ มี ๔ เรื่อง คือ

(๑)คำให้การจีนกัก เรื่อง เมืองบาหลี

(๒)คำให้การเถ้าสา เรื่อง หนังราชสีห์

(๓)คำให้การขุนโขลน เรื่อง พระพุทธบาท

(๔)คำให้การนายจาด เรื่อง เหตุการณ์ในเมืองพม่าเมื่อพระเจ้ามินดงทิวงคต

ภาคที่พระยาศรีภูริปรีชาพิมพ์แจกในงานศพคุณหญิงพึ่ง ศรีภูริปรีชา เมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๔๖๐ มี ๕ เรื่อง คือ

(๑)จดหมายเหตุปูมโหร

(๒)จดหมายเหตุปูมจมื่นก่งศิลป์

(๓)พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด)

(๔)พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔ เรื่อง ปฐมวงษ์

(๕)เรื่อง ตำนานพระโกษฐ

ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๘ นี้ เมื่อพิมพ์แล้วมา มีเหตุเปนที่เสียใจของกรรมการปรากฎขึ้นอย่าง ๑ ด้วยในจดหมายเหตุปูมจมื่นก่งศิลป์ ๆ จดไว้ว่า คราวชำระนายทหารเมื่อเกิดเหตุยิงคนที่พระพุทธบาท กัปตันน่วมต้องถูกชำระ แล้วถูกจำคุก มาได้ความปรากฎว่า กัปตันน่วมคนนั้น คือ พระยาผดุงพิพิธภัณฑ์ (น่วม ชูโต) ที่ยังรับราชการอยู่ทุกวันนี้นั้นเอง ในคราวนั้น ถูกไต่สวนจริง แต่ไม่มีความผิด หาได้รับพระราชอาญาอย่างใดไม่ จมื่นก่งศิลป์จดลงด้วยเข้าใจผิด เมื่อปรากฎความจริงเปนดังกล่าวมานี้ ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจมาก ได้พยายามแก้ไขทุกฉบับพิมพ์ที่จะพึงแก้ไขได้ แต่ถ้าฉบับที่ยังไม่ได้แก้จะเล็ดลอดเหลืออยู่บ้างณที่แห่งใด ขอท่านทั้งหลายจงเข้าใจว่า ข้าพเจ้าขอแก้ไขด้วยความที่กล่าวตรงนี้ แลขออภัยแก่พระยาผดุงพิพิธภัณฑ์ด้วย

ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราษีทักษิณานุปทาน ซึ่งเจ้าภาพงานศพพระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร (เอม ณมหาไชย) ได้บำเพ็ญในการปลงศพพระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร แลได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลายเปนครั้งแรก แลเชื่อว่า ท่านทั้งหลายผู้ที่ได้อ่านสมุดเล่มนี้จะพอใจแลอนุโมทนาด้วยทั่วกัน

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพสภานายก
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑