ข้ามไปเนื้อหา

ประมวลกฎหมายอาญาทหาร/ภาคที่ 2

จาก วิกิซอร์ซ
ภาคที่ ๒
ว่าด้วยลักษณความผิดโดยเฉภาะ

มาตรา ๑๓

ชะเลยศึกคนใด ท่านปล่อยตัวไป โดยมันให้คำสัตย์ไว้ว่า จะไม่กระทำการรบพุ่งต่อท่านอีกจนตลอดเวลาสงครามคราวนั้น ถ้าแลมันเสียสัตย์นั้นไซร้ ท่านจับตัวมาได้ ท่านให้ประหารชีวิตมันเสีย หรือจำคุกมันไว้จนตลอดชีวิต หรือมิฉนั้น ให้จำคุกมันไว้ตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

มาตรา ๑๔

ผู้ใดเปนราชสัตรู แลมันปลอมตัวล่วงเข้าไปในป้อม ค่าย เรือรบ หรือสฐานที่ใด ๆ อันเปนของสำหรับทหารบกทหารเรือ หรือมีทหารบกทหารเรือของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ไซ้ ท่านว่า มันเปนผู้ลักลอบสอดแนม ให้เอาตัวมันไปประหารชีวิตเสีย หรือมิฉนั้น ให้จำคุกมันไว้จนตลอดชีวิต

มาตรา ๑๕

ผู้ใดปิดบังซ่อนเร้นหรือช่วยราชสัตรูที่กระทำเช่นว่ามาในมาตรา ๑๔ โดยที่มันรู้ชัดว่าเปนราชสัตรูก็ดี มันปิดบังซ่อนเร้นหรือช่วยผู้ลักลอบสอดแนมโดยที่รู้ชัดแล้วก็ดี ท่านว่า โทษมันถึงต้องประหารชีวิต หรือมิฉนั้น ให้จำคุกมันไว้จนตลอดชีวิต

มาตรา ๑๖

ผู้ใดเปนทหาร แลมันบังอาจเกลี้ยกล่อมคนให้ไปเข้าเปนพวกราชสัตรู ท่านว่า โทษมันถึงต้องประหารชีวิต หรือมิฉนั้น ให้จำคุกมันไว้จนตลอดชีวิต

มาตรา ๑๗

ผู้ใดท่านใช้ให้เปนนายทหารบังคับกองทหารใหญ่น้อย ป้อม ค่าย เรือรบ หรือสถานที่อย่างใด ๆ ของกรมทหารบกทหารเรือของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้ายังมิทันสิ้นกำลัง แลสามารถที่มันจะป้องกันแลต่อสู้ข้าศึก มันยอมแพ้ ยกกองทหาร ป้อมค่าย เรือรบ หรือสถานที่นั้น ๆ ให้แก่ราชสัตรูเสียไซ้ ท่านว่า โทษมันถึงประหารชีวิต หรือจำคุกจนตลอดชีวิต หรือมิฉนั้น ให้จำคุกมันไว้ตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

มาตรา ๑๘

ผู้ใดยุยงหรือข่มขืนใจ หรือสมคบกันเพื่อยุยงหรือข่มขืนใจ ให้ผู้บังคับกองทหารใหญ่น้อย ป้อม ค่าย เรือรบ หรือสถานที่อย่างใด ๆ ของกรมทหารบกทหารเรือของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยอมแพ้แก่ราชสัตรู ท่านว่า โทษของมันถึงประหารชีวิต หรือจำคุกจนตลอดชีวิต หรือมิฉนั้น ให้จำคุกมันไว้ตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

มาตรา ๑๙

ผู้ใดเปนนายเรือ ท่านใช้ให้ควบคุมเรือลำหนึ่งลำใดของทหารของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะกระทำการรบพุ่ง ถ้าและมันถอยออกเสียจากที่รบนั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ท่านว่า โทษของมันถึงประหารชีวิต หรือจำคุกจนตลอดชีวิต หรือมิฉนั้น ให้จำคุกมันไว้ตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

มาตรา ๒๐

ผู้ใดเปนนายเรือ ท่านใช้ให้ควบคุมเรือลำหนึ่งลำใดของกรมทหารบกทหารเรือของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมันจงใจกระทำหรือปล่อยให้เรือนั้นชำรุดหรืออับปาง ท่านว่า โทษของมันถึงจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

มาตรา ๒๑

ผู้ใดเปนนายเรือ ท่านใช้ให้ควบคุมเรือลำหนึ่งลำใดของกรมทหารบกทหารเรือของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมันกระทำหรือปล่อยให้เรือนั้นชำรุดหรืออับปางด้วยความประมาทของมันไซ้ ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าสามปี

มาตรา ๒๒

ผู้ใดเจตนากระทำหรือปล่อยให้เรือลำหนึ่งลำใดของกรมทหารบกทหารเรือของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชำรุดหรืออับปาง ท่านว่า โทษของมันถึงจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไปจนถึงสิบห้าปี

มาตรา ๒๓

ผู้ใดกระทำหรือปล่อยให้เรือลำหนึ่งลำใดของกรมทหารบกทหารเรือของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชำรุดหรืออับปางด้วยความประมาทของมันไซ้ ท่านว่า โทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าสองปี

มาตรา ๒๔

ถ้าเรือนั้นเปนเรือสำหรับใช้เดิรในลำน้ำ ท่านว่า ควรลดอาญาอย่างหนักที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐, ๒๑, ๒๒, ๒๓, นั้นลงกึ่งหนึ่ง และมิให้ศาลต้องถือตามอาญาอย่างเบาที่บัญญัติไว้นั้น ๆ เปนประมาณในการที่จะปรับโทษผู้กระทำผิด

มาตรา ๒๕

ผู้ใดเปนนายเรือ ท่านใช้ให้ควบคุมเรือเดินทะเลลำหนึ่งลำใดของกรมทหารบกทหารเรือของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้ามีเหตุร้ายเกิดขึ้น เช่น พยุ เปนต้น และมันไม่พากเพียรจนสุดสิ้นความสามารถที่จะแก้ไขให้เรือนั้นพ้นอันตรายเสียก่อน มันละทิ้งเรือนั้นไปเสียไซ้ ท่านว่า โทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าสามปี

มาตรา ๒๖

ผู้ใดเปนนายเรือ ท่านใช้ให้ควบคุมเรือเดิรทะเลลำหนึ่งลำใดของกรมทหารบกทหารเรือของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นเช่นเรือเกยที่ตื้นหรือจวนอับปาง มันรู้ว่า ยังมีคนอยู่ในเรือนั้น และมันจงใจไปเสียจากเรือนั้นไซ้ ท่านว่า โทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าห้าปี

มาตรา ๒๗

ผู้ใดเปนทหาร ถ้ามันมิได้มีเหตุอันสมควรที่จะกระทำได้ และมันบังอาจทำลายหรือละทิ้งเครื่องสาตราวุธ กระสุนดินปืน เสบียง ม้า หรือเครื่องยุทธนาการอย่างใด ๆ ก็ดี หรือทำให้ของนั้น ๆ วิปลาศบุบฉลายไปก็ดี ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระหว่างโทษตามสมควรแก่เหตุดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญามันเปนสามสฐาน คือ สฐานหนึ่ง ให้ประหารชีวิต สถานสฐาน ให้จำคุกจนตลอดชีวิต สฐานหนึ่ง ให้จำคุกตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไว้จนตลอดชีวิต หรือมิฉนั้น ให้จำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๓)ถ้ามันกระทำความผิดนั้นในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่ายี่สิบปี

มาตรา ๒๘

ธงซึ่งได้มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ในราชการเปนเครื่องหมายสำหรับประเทศก็ดี รัฐบาลก็ดี หรือสำหรับเรือรบหลวงหรือกรมกองทหารใด ๆ ก็ดี หรือเปนเครื่องหมายสำหรับเกียรติยศหรือตำแหน่งน่าที่ราชการของบุคคลใด ๆ ก็ดี เหล่านี้ ถ้าในเวลาเจ้าพนักงานได้ชักขึ้นไว้หรือประดิษฐานไว้ หรือเชิญไปมาแห่งใด ๆ เพื่อเปนเครื่องหมายดังที่ว่านั้น ผู้หนึ่งผู้ใดบังอาจลด ล้ม หรือกระทำแก่ธงนั้นให้อันตราย ชำรุด หรือเปื้อนเปรอะเสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควรไซ้ ท่านว่า มันมีความผิดฐานสบประมาทธง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า ๑ ปี

อนึ่ง ถ้าธงที่มันสบประมาทนั้นเปนธงเครื่องหมายสำหรับพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฎราชกุมาร หรือผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระราชโอรสพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชกาลใด ๆ ก็ดี ท่านไม่ประสงค์จะให้เอาความในมาตรานี้ไปใช้ลบล้างอาญาที่ท่านได้บัญญัติไว้สำหรับความผิดฐานแสดงความอาฆาฎมาทร้ายแลหมิ่นประมาท ดังได้กล่าวไว้ในประมวลกฎหมายลักษณอาญาสำหรับพระราชอาณาจักร์สยามมาตรา ๙๘ หรือมาตรา ๑๐๐ นั้น

มาตรา ๒๙

ผู้ใดเปนทหาร ท่านใช้ให้อยู่ยามรักษาการก็ดี ท่านมอบหมายให้กระทำการตามบังคับหรือคำสั่งอย่างใด ๆ ก็ดี ถ้าและมันละทิ้งน่าที่นั้นเสีย หรือมันไปเสียจากน่าที่โดยมิได้รับอนุญาตก่อน ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญามันเปนสามสฐาน คือ สฐานหนึ่ง ให้ประหารชีวิตเสีย สฐานหนึ่ง ให้จำคุกจนตลอดชีวิต สฐานหนึ่ง ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๓)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าสิบปี

มาตรา ๓๐

ผู้ใดเปนทหาร และมันขัดขืนหรือละเลยมิกระทำตามคำสั่งอย่างใด ๆ ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญามันเปนสามสฐาน คือ สฐานหนึ่ง ให้ประหารชีวิตเสีย สฐานหนึ่ง ให้จำคุกจนตลอดชีวิต สฐานหนึ่ง ให้จำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๓)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าห้าปี

มาตรา ๓๑

ผู้ใดเปนทหาร และมันขัดขืนมิกระทำตามคำสั่งอย่างใด ๆ โดยมันแสดงความขัดขืนด้วยกิริยาหรือวาจาองอาจต่อหน้าหมู่ทหารถืออาวุธด้วยไซ้ ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญามันเปนสามสฐาน คือ สฐานหนึ่ง ให้ประหารชีวิต สฐานหนึ่ง ให้จำคุกจนตลวตชีวิต สฐานหนึ่ง ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่สามปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๓)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าสิบปี

มาตรา ๓๒

ผู้ใดเปนทหาร และมันขัดขืนหรือละเลยมิกระทำตามข้อบังคับอย่างใด ๆ ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงสิบปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึกไซ้ ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงห้าปี

๓)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าสามปี

มาตรา ๓๓
ผู้ใดเปนทหาร และมันขัดขืนมิกระทำตามข้อบังคับอย่างใด ๆ โดยมันแสดงความขัดขืนนั้นด้วยกิริยาหรือวาจาองอาจต่อหน้าหมู่ทหารถืออาวุธด้วยไซ้ ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่สามปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาศึกสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงสิบปี

๓)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าห้าปี

มาตรา ๓๔

ผู้ใดเปนทหาร ท่านใช้ให้เปนยามรักษาการหรืออยู่ยามประจำหน้าที่ และมันหลับเสียในหน้าที่ก็ดี หรือเมาสุราในหน้าที่ก็ดี ท่านว่า มันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงเจ็ดปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงสามปี

๓)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลา หรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าสองปี

มาตรา ๓๕

ผู้ใดเปนทหาร ท่านใช้ให้เปนยามรักษาการหรืออยู่ยามประจำน่าที่ และปรากฏว่ามันมิได้เอาใจใส่ หรือมันมีความประมาทในน่าที่นั้นไซ้ ท่านว่ามันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงห้าปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าสามปี

๓)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลา หรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าสองปี

มาตรา ๓๖

ผู้ใดบังอาจใช้กำลังทำร้ายแก่ทหารยามรักษาการก็ดี หรือแก่ทหารอยู่ยามประจำน่าที่ก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุ ดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญามันเปนสามสฐาน คือ สฐานหนึ่งให้ประหารชีวิต สฐานหนึ่งให้จำคุกมันจนตลอดชีวิต สฐานหนึ่งให้จำคุกมันตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๓)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลาหรือที่อื่น นอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าห้าปี

ถ้าและในการประทุษร้ายนั้น มันทำให้เขาถึงตายหรือให้เขามีบาดเจ็บถึงสาหัสด้วยไซ้ ท่านว่าถ้ามันสมควรรับโทษหนักยิ่งกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้แล้ว ก็ให้มันผู้กระทำผิดนั้นรับอาญาตามลักษณที่ท่านบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๐, ๒๕๑, และ ๒๕๗ แห่งประมวลกฎหมายลักษณอาญา

มาตรา ๓๗

ผู้ใดหมิ่นประมาทหรือขู่เข็ญว่า จะกระทำร้ายแก่ทหารยามรักษาการก็ดี หรือแก่ทหารอยู่ยามประจำน่าที่ก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุ ดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงสิบปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงห้าปี

๓)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้น ในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าสามปี

มาตรา ๓๘

ผู้ใดเปนทหาร และมันบังอาจกระทำการประทุษร้ายด้วยกำลังกายแก่ผู้ซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือมันไซ้ ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุ ดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญามันเปนสามสฐาน คือ สฐานหนึ่งให้ประหารชีวิตเสีย สฐานหนึ่งให้จำคุกมันตลอดชีวิต สฐานหนึ่งให้จำคุกมันตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๓)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้น ในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงเจ็ดปี

มาตรา ๓๙

ผู้ใดเปนทหาร และมันบังอาจใช้กำลังทำร้ายแก่ทหารผู้ใดซึ่งเปนผู้ใหญ่เหนือมันไซ้ ท่านว่ามันควรรับอาญาจำคุกไม่เกินกว่าห้าปี

มาตรา ๔๐

ถ้าและในการกระทำผิดเช่นว่ามาในมาตรา ๓๘ และ ๓๙ นั้น เปนเหตุให้ผู้ต้องประทุษร้ายถึงตาย หรือต้องบาดเจ็บถึงสาหัสด้วยไซ้ ท่านว่า ถ้ามันสมควรรับโทษหนักยิ่งกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้แล้ว ก็ให้ลงอาญาแก่มันผู้กระทำผิดนั้นตามลักษณที่ท่านบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๐, ๒๕๑ และ ๒๕๗ แห่งประมวลกฎหมายลักษณอาญา

มาตรา ๔๑

ผู้ใดเปนทหาร และมันบังอาจแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อผู้บังคับบัญชา หรือต่อทหารที่เปนใหญ่เหนือมัน หรือมันหมิ่นประมาทใส่ความ หรือโฆษณาความหมิ่นประมาทอย่างใด ๆ ก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าสามปี

มาตรา ๔๒

ถ้าทหารมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปใช้กำลังทำร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะทำร้ายก็ดี หรือมันกระทำการอย่างใด ๆ ขึ้นให้วุ่นวายในบ้านเมืองของท่านก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานกำเริบต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุด้วยกันทุกคน ดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญามันเปนสามสฐาน คือ สฐานหนึ่งให้ประหารชีวิตเสีย สฐานหนึ่งให้จำคุกมันจนตลอดชีวิต สฐานหนึ่งให้จำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๓)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลา หรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าห้าปี

มาตรา ๔๓

ถ้าและในพวกทหาร ที่กระทำการกำเริบที่ว่ามาในมาตรา ๔๒ นั้น มีสาตราวุธไปด้วยตั้งแต่คนหนึ่งขึ้นไป ท่านว่าพวกนั้นต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุด้วยกันทุกคน ดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญามันเปนสามสฐาน คือ สฐานหนึ่งให้ประหารชีวิตเสีย สฐานหนึ่งให้จำคุกจนตลอดชีวิต สฐานหนึ่งให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๒)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่สามปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี

๓)ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้น ในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าสิบปี

มาตรา ๔๔

เมื่อเจ้าพนักงาน ผู้มีตำแหน่งน่าที่ได้บังคับทหารที่กระทำการกำเริบในที่ใด ๆ ให้เลิกไปเสีย ถ้าและพวกทหารที่กระทำการกำเริบนั้น คนใดที่ยังมิได้ใช้กำลังทำร้ายอย่างใดแล้วเลิกไปตามบังคับนั้นโดยดี ท่านว่าให้ลงโทษแก่มันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๒ และ ๔๓ นั้นแต่กึ่งหนึ่ง

มาตรา ๔๕

ผู้ใดเปนนายทหารชั้นสัญญาบัตร์ ชั้นประทวน ชั้นนายสิบ ชั้นจ่า หรือเปนพลทหารก็ดี ถ้าและมันขาดจากน่าที่ราชการโดยมิได้รับอนุญาต หรือมันขาดจากราชการในเมื่อพ้นกำหนดอนุญาตลาแล้วก็ดี แม้เปนไปด้วยความเจตนาจะหลีกเลี่ยงจากราชการตามคำสั่งให้เดิรกองทหาร หรือเดิรเรือไปจากที่ หรือคำสั่งเรียกระดมเตรียมศึกนั้นไซ้ ท่านว่ามันมีความผิดฐานหนีราชการ อีกนัยหนึ่ง มันขาดจากราชการ จนถึงกำหนดที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ

๑)ขาด ๒๔ ชั่วโมง ต่อหน้าราชสัตรู

๒)ขาด ๓ วัน ถ้ามิใช่ต่อหน้าราชสัตรู แต่ในเวลาสงครามหรือในเขตร์ที่ใช้กฎอัยการศึก

๓)ขาด ๑๕ วัน ในที่และเวลาอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้วดังนี้ไซ้ ท่านก็ว่ามันมีความผิดฐานหนีราชการดุจกัน

มาตรา ๔๖

ผู้ใดกระทำความผิดฐานหนีราชการ ท่านว่ามันต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุ ดังจะว่าต่อไปนี้ คือ

๑)ถ้ามันหลบหนีไปเข้าอยู่กับพวกราชสัตรู ท่านว่าโทษมันถึงตาย

๒)ถ้ามันกระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไว้จนตลอดชีวิต หรือมิฉนั้น ให้จำคุกมันไว้ยี่สิบปี

๓)ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชสัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตร์ซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึก ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไว้ตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงสิบห้าปี

๔)ถ้ามันกระทำความผิดนั้นในเวลา หรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันผู้กระทำผิดนั้นไว้ไม่เกินกว่าห้าปี

มาตรา ๔๗

ผู้ใดเปนทหาร ท่านใช้ให้มีน่าที่จัดซื้อหรือทำ หรือปกครองรักษาทรัพย์สิ่งใด ๆ ของทหาร ถ้าและมันบังอาจเอาของอื่นปลอมหรือปนกับทรัพย์สิ่งนั้น ๆ ให้เสื่อมลงก็ดี หรือมันปล่อยให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้นโดยมันรู้เห็นเปนใจด้วยก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนขึ้นไป จนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่ร้อยบาทขึ้นไปจนถึงสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง

และทหารคนใดท่านใช้ให้มีน่าที่จัดซื้อหรือทำ หรือปกครองรักษาสิ่งใด ๆ ของทหาร ถ้าและมันบังอาจจ่ายทรัพย์สิ่งใด ๆ ที่มันรู้อยู่ว่ามีของอื่นปลอมหรือปนเช่นว่ามาแล้วก็ดี หรือมันปล่อยให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น แล้วมันไม่รีบร้องเรียนต่อผู้ใหญ่ที่เหนือมันก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษเช่นว่ามาในมาตรานี้แล้วนั้นดุจกัน

มาตรา ๔๘

ในเวลาสงคราม ถ้าผู้ใดกระทำการปราศจากความเมตตาแก่คนที่ถูกอาวุธบาดเจ็บ หรือแก่คนที่ป่วยเจ็บในกองทัพฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ดี หรือกระทำการปล้นทรัพย์แย่งทรัพย์อย่างใด ๆ ที่ท่านบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๙ ถึง มาตรา ๒๕๙ และมาตรา ๒๘๘ ถึง มาตรา ๓๐๓ แห่งประมวลกฎหมายลักษณอาญานั้น ท่านให้เพิ่มโทษมันผู้กระทำผิดต้องระวางโทษตามที่ท่านบัญญัติไว้สำหรับความเช่นนั้นขึ้นด้วยอีกกึ่งหนึ่ง

มาตรา ๔๙

ในเวลาสงคราม ถ้าผู้ใดใช้ธงกากะบาทแดงหรือเครื่องหมายกากะบาทแดงโดยผิดข้อบังคับแห่งหนังสือสัญญานานาประเทศซึ่งทำที่เมืองเยนีวาเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ ท่านว่า มันมีความผิด ต้องด้วยอาญาซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๘ แห่งประมวลกฎหมายลักษณอาญา

มาตรา ๕๐

ผู้ใดเปนทหาร และมันกระทำความผิดอย่างใด ๆ ที่ท่านบัญญัติไว้ในมาตราต่าง ๆ แห่งประมวลกฎหมายลักษณอาญาดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

มาตรา ๙๘ ถึง มาตรา ๑๐๐ ความผิดฐานประทุษฐร้ายต่อพระบรมราชตระกูล
มาตรา ๑๐๒ ถึง มาตรา ๑๐๔ ความผิดฐานขบถภายในพระราชอาณาจักร์
มาตรา ๑๐๕ ถึง มาตรา ๑๐๘ ความผิดฐานขบถภายนอกพระราชอาณาจักร์
มาตรา ๑๑๒ ถึง มาตรา ๑๑๕ ความผิดต่อทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ
มาตรา ๑๑๖ ถึง มาตรา ๑๒๘ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน
มาตรา ๑๕๑ ความผิดฐานกระทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาล
มาตรา ๑๕๔ ความผิดฐานช่วยผู้อื่นให้พ้นอาญาอันควรรับโทษตามกฎหมาย
มาตรา ๑๖๓ ถึง มาตรา ๑๖๙ ความผิดฐานหลบหนีจากที่คุมขัง
มาตรา ๑๗๗ ถึง มาตรา ๑๘๒ ความผิดฐานสมคบกันเปนอังยี่และเปนส้องโจรผู้ร้าย
มาตรา ๑๘๓ และ มาตรา ๑๘๔ ความผิดฐานก่อการจลาจล
มาตรา ๑๘๕ ถึง มาตรา ๒๐๑ ความผิดฐานกระทำให้เกิดภยันตรายแก่สาธารณชน ฐานกระทำให้สาธารณชนปราศจากความสดวกในการไปมาและการส่งข่าวและของถึงกัน และฐานกระทำให้สาธรณชนปราศจากความศุขสบาย
มาตรา ๒๕๓ ถึง ความผิดฐานเกี่ยวข้องในที่วิวาทต่อสู้กันซึ่งมีผู้ถึงแก่ความตาย
มาตรา ๒๕๔ ถึง มาตรา ๒๕๙ ความผิดฐานประทุษฐร้ายแก่ร่างกาย
มาตรา ๒๖๘ ถึง มาตรา ๒๗๗ ความผิดฐานกระทำให้เสื่อมเสียอิศระภาพ
มาตรา ๒๘๘ ถึง มาตรา ๒๙๖ ความผิดฐานลักทรัพย์
มาตรา ๒๙๗ ถึง มาตรา ๓๐๒ ความผิดฐานวิ่งราว ฐานชิงทรัพย์ และฐานปล้นทรัพย์ และฐานสลัด
มาตรา ๓๐๓ ความผิดฐานกันโชก
มาตรา ๓๒๗ ถึง มาตรา ๓๓๐ ความผิดฐานบุกรุก

ท่านว่า มันผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษตามที่ท่านบัญญัติไว้สำหรับความผิดเช่นนั้น และให้เพิ่มโทษนั้นขึ้นด้วยอีกกึ่งหนึ่ง

มาตรา ๕๑

ผู้ใดเปนทหาร ถ้ามันกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดดังที่ว่ามาในมาตรา ๕๐ ในเวลาที่ท่านใช้มันเปนยามรักษาการหรืออยู่ยามประจำที่ หรือให้กระทำการอย่างใด ๆ ที่มีสาตราวุธของหลวงประจำตัวด้วยไซ้ ท่านว่า มันโทษหนัก ให้ลงอาญาแก่มันตามที่ท่านบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณอาญาสำหรับความผิดเช่นนั้นทวีคูณ

· · · · · · · · · · · · · · · · · · · · · · · · ·