ประมวลกฎหมายอาญาทหาร/ภาคที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ
ประมวลกฎหมายอาญาทหาร

ภาค ๑
ว่าด้วยข้อบังคับต่าง ๆ

มาตรา ๑

ให้เรียกพระราชบัญญัตินี้ว่า "ประมวลกฎหมายอาญาทหาร"

มาตรา ๒

ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เปนกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร ๑๓๑ เปนต้นไป

มาตรา ๓

ตั้งแต่วันที่ใช้กฎหมายนี้สืบไป ให้ยกเลิก

๑)กฎหมายลักษณขบถศึก

๒)ข้อความในพระราชกำหนดกฎหมายแลกฎข้อบังคับอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวกับบรรดาความผิดที่กฎหมายนี้บัญญัติว่าต้องมีโทษ

มาตรา ๔

ในกฎหมายนี้ คำว่า "ทหาร" ท่านหมายความว่า บุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจกฎหมายฝ่ายทหาร เช่น บุคคลที่กล่าวไว้ในมาตรา ๔๘ แห่งพระธรรมนูญศาลทหารบก รัตนโกสินทรศก ๑๒๖ แลในมาตรา ๔๓ แห่งพระธรรมนูญศาลทหารเรือ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

คำว่า "เจ้าพนักงาน" ที่ใช้ในประมวลกฎหมายลักษณอาญานั้น ท่านหมายความตลอดถึง บรรดานายทหารบก นายทหารเรือ ชั้นสัญญาบัตร์ แลชั้นประทวน ที่อยู่ในกองประจำการนั้นด้วย

คำว่า "ราชสัตรู" นั้น ท่านหมายความตลอดถึง บรรดาคนมีอาวุธที่แสดงความขัดแขงต่ออำนาจผู้ใหญ่ หรือที่เปนขบถหรือเปนโจรสลัด หรือที่ก่อการจลาจล

คำว่า "ต่อหน้าราชศัตรู" นั้น ท่านหมายความตลอดถึง ที่อยู่ในเขตร์ซึ่งกองทัพได้กระทำสงครามนั้นด้วย

คำว่า "คำสั่ง" นั้น ท่านหมายความว่า บรรดาข้อความที่นายทหารผู้ถืออำนาจอันสมควรเปนผู้สั่งไปโดยสมควรแก่กาลสมัยแลชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย คำสั่งเช่นนี้ ท่านว่า เมื่อผู้รับคำสั่งนั้นได้กระทำตามแล้ว ก็เปนอันหมดเขตร์ของการที่สั่งนั้น

คำว่า "ข้อบังคับ" นั้น ท่านหมายความว่า บรรดาข้อบังคับแลกฎต่าง ๆ ที่ให้ใช้อยู่เสมอ ซึ่งนายทหารผู้ถืออำนาจอันสมควรได้ออกไว้โดยสมควรแก่กาลสมัยแลชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย

มาตรา ๕

ทหารคนใดกระทำความผิดอย่างใด ๆ นอกจากที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาทหารนี้ ท่านว่า มันควรรับอาญาตามลักษณพระราชกำหนดกฎหมาย ถ้ากฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้ให้เปนอย่างอื่น

มาตรา ๖

ผู้ใดต้องคำพิพากษาศาลทหารบกหรือศาลทหารเรือให้ลงอาญาประหารชีวิต ท่านให้เอามันไปยิงเสียให้ตายหรือตัดศีร์ษะ สุดแล้วแต่ศาลจะสั่งในคำพิพากษา

มาตรา ๗

นายทหารผู้มีอำนาจบังคับบัญชาได้นั้น ท่านให้มีอำนาจลงอาญาแก่ผู้ที่กระทำผิดต่อวินัยทหาร ตามลักษณกฎหมายหรือข้อบังคับทหารบกทหารเรือซึ่งจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นไว้

มาตรา ๘

การกระทำความผิดอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑, ๒๓, ๒๔, ๒๗, ๒๘, ๒๙, ๓๐, ๓๑, ๓๒, ๓๓, ๓๔, ๓๕, ๓๖, ๓๗, ๓๙, ๔๑, ๔๒, ๔๓, ๔๔, ๔๖, แล ๔๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าเปนการเล็กน้อยไม่สำคัญ ท่านให้ถือว่า เปนความผิดต่อวินัยทหาร ควรมีโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ เว้นไว้แต่ถ้านายทหารผู้มีอำนาจตั้งศาลทหารอันมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีเช่นนั้นจะสั่งให้ส่งตัวผู้กระทำผิดไปพิจารณา หรือว่า จะมีการฟ้องคดีความผิดนั้นต่อศาลพลเรือน ตามความในมาตรา ๕๓ แห่งพระธรรมนูญศาลทหารบก รัตนโกสินทรศก ๑๒๖ หรือในมาตรา ๔๘ แห่งพระธรรมนูญศาลทหารเรือ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ ฉนั้น จึงให้เปนไปตามที่ว่านั้น

มาตรา ๙

ความที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ นั้น ท่านให้ใช้ตลอดถึงความผิดฐานลหุโทษดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณอาญา แลถึงความผิดอย่างอื่น ๆ อันต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าเดือนหนึ่ง หรือปรับไม่เกินกว่าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามานั้น

มาตรา ๑๐

บรรดาบทในพระราชกำหนดกฎหมายที่ท่านกำหนดแต่โทษปรับสฐานเดียว ถ้าจำเลยเปนทหารซึ่งไม่ใช่ชั้นสัญญาบัตร์หรือชั้นประทวน ท่านว่า ถ้าศาลวินิจฉัยเห็นสมควร จะให้จำเลยรับโทษจำคุกแทนค่าปรับตามลักษณที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ แห่งประมวลกฎหมายลักษณอาญานั้นก็ได้

มาตรา ๑๑

ความผิดฐานลหุโทษก็ดี ความผิดอันต้องด้วยโทษจำคุกไม่เกินกว่าเดือนหนึ่ง หรือปรับไม่เกินกว่าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นนั้นเปนโทษที่หนักก็ดี ถ้าจำเลยเปนทหาร ท่านให้ศาลวินิจฉัยตามเหตุการณ์ ถ้าเห็นสมควร จะเปลี่ยนให้เปนโทษขังไม่เกินกว่าสามเดือนก็ได้

มาตรา ๑๒

เมื่อศาลทหารบกหรือศาลทหารเรือศาลใดพิพากษาเด็ดขาดให้ลงโทษแก่ทหารคนใด ท่านว่า ให้นายทหารผู้มีอำนาจสั่งให้ลงโทษตามคำพิพากษานั้นวินิจฉัยตามเหตุการ ถ้าเห็นสมควร จะสั่งให้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังต่อหน้ัาประชุมทหารหมู่หนึ่งหมู่ใดตามที่สมควรก็ได้