ข้ามไปเนื้อหา

ปัญญาสชาดก/ภาคที่ 19/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ

ในงานปลงศพอำมาตย์โท พระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง สิงหเสนี) ซึ่งจะได้พระราชทานเพลิงในเดือนมีนาคม ปีนี้ เจ้าภาพมีความประสงค์จะพิมพ์หนังสือแจกเนื่องในงานนั้นสักเรื่อง ๑ จึ่งแจ้งความมายังราชบัณฑิตยสภาขอให้กรรมการช่วยเลือกหนังสือและจัดการพิมพ์ให้ ข้าพเจ้าระลึกขึ้นถึงความหลังที่ได้คุ้นเคยเกี่ยวข้องมากับพระยาประเสริฐสุนทราศรัย ทั้งในฝ่ายที่เป็นคุณ และบางทีจะได้เคยเป็นความเดือดร้อนแก่พระยาประเสริฐฯ เพราะตัวข้าพเจ้ามีมาแต่ก่อนบ้าง ดังรายการอันจะมีแจ้งอยู่ในเรื่องประวัติต่อไปข้างหน้า กล่าวความโดยย่อ คือ พระยาประเสริฐฯ เมื่อยังเด็ก ได้เข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการโรงเรียน เริ่มแรกได้รู้จักคุ้นเคยกัน เมื่อพระยาประเสริฐฯ เสร็จการเล่าเรียน เข้ารับราชการ เริ่มมีตำแหน่งในกระทรวงมหาดไทย ก็ประจวบเวลาข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีรับราชการอยู่ในกระทรวงนั้น ได้เป็นเพื่อนราชการด้วยกันมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสใช้สอยบังคับบัญชามาตลอดถึงเวลาข้าพเจ้าออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในระวางนั้น พระยาประเสริฐฯ ได้รับราชการตั้งแต่เป็นตำแหน่งผู้น้อย และได้เลื่อนยศและตำแหน่งขึ้นด้วยความพยายามและความซื่อตรง เป็นความชอบโดยลำดับ จนได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดไปอยู่เมืองเลยอันนับว่าเป็นที่กันดารอย่างยิ่ง พระยาประเสริฐฯ ต้องทนความลำบากอยู่ถึง ๙ ปี เพราะข้าพเจ้าหาตัวเปลี่ยนไม่ได้ จึงรู้สึกว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ทำให้พระยาประเสริฐฯ ได้ความเดือดร้อน แม้โดยมิได้เจตนา เมื่อพระยาประเสริฐฯ มาถึงอนิจกรรมลง และเจ้าภาพมาขอให้ช่วยเลือกหาเรื่องหนังสือ จึงเต็มใจที่จะทำให้ และกล่าวความที่เคยเกี่ยวข้องกันลงไว้ให้ปรากฎ เหมือนหนึ่งได้สนองคุณพระยาประเสริฐฯ บ้างเล็กน้อย ส่วนหนังสือที่จะพิมพ์นั้น ข้าพเจ้าได้เลือกปัญญาสชาดกให้พิมพ์ ด้วยเป็นหนังสือซึ่งกรรมการมุ่งหมายจะให้มีบริบูรณ์ในวรรณคดีของไทย อนุโลมเข้าในนิบาตชาดกอันพิมพ์ขึ้นโดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อันหนังสือปัญญาสชาดกนี้ คือ ประชุมนิทานเก่าแก่ที่เล่ากันในเมืองไทยแต่โบราณ ๕๐ เรื่อง[1] พระสงฆ์ชาวเชียงใหม่รวบรวมแต่งเป็นชาดกไว้ในภาษาบาลี เมื่อพระพุทธศักราชประมาณราวในระวาง ๒๐๐๐ จนถึง ๒๒๐๐ ปี อันเป็นสมัยเมื่อพระสงฆ์ชาวประเทศนี้พากันไปเล่าเรียนมาแต่ลังกาทวีป มีความรู้ภาษามคธแตกฉาน เอาแบบอย่างของพระพิกษุสงฆ์ในลังกาทวีปมาแต่งหนังสือเป็นภาษามคธขึ้นในบ้านเมืองของตน แต่งเป็นอย่างอรรถาธรรมาธิบาย เช่น คัมภีร์มังคลัตถทีปนี เป็นต้นบ้าง แต่งเป็นเรื่องสาสนประวัติ เช่น คัมภีร์ชินกาลมาลินี เปนต้น ตามอย่างเรื่องมหาวงศพงศาวดารลังกาบ้าง แต่งเปนชาดก เช่น เรื่องปัญญาสชาดกนี้เอาอย่างนิบาตชาดกบ้าง โดยเจตนาจะบำรุงพระสาสนาให้ถาวร และจะให้หนังสือซึ่งแต่งนั้นเป็นหลักฐานมั่นคง ด้วยเป็นภาษาเดียวกับพระไตรปิฎก แต่หนังสือปัญญาสชาดกนี้ เห็นจะแต่งในตอนปลายสมัยที่กล่าวมา เพราะความรู้ภาษามคธดูทรามลงไม่ถึงหนังสือแต่งชั้นก่อน

หนังสือปัญญาสชาดกนี้ ต้นฉะบับเดิมเป็นคัมภีร์ลาน จำนวนรวม ๕๐ ผูกด้วยกัน เดี๋ยวนี้เห็นจะมีอยู่แต่ในประเทศสยามกับที่เมืองหลวงพระบางและที่กรุงกัมพูชา ที่อื่นหามีไม่ มีเรื่องราวปรากฎว่า เคยได้ฉะบับไปถึงเมืองพะม่าครั้งหนึ่ง พะม่าเรียกว่า "เชียงใหม่ปัณณาส" แต่พระเจ้าแผ่นดินพะม่าองค์ใดองค์หนึ่งดำรัสว่า เป็นหนังสือแต่งปลอมพระพุทธวจนะ สั่งให้เผาเสีย ในเมืองพะม่าจึงมิได้มีหนังสือปัญญาสชาดกเหลืออยู่ คำที่ติว่า แต่งปลอมพระพุทธวจนะนั้น เพราะพระเจ้าแผ่นดินพะม่าองค์นั้นหลงเชื่อว่า หนังสือนิบาตชาดก หรือที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่า "เรื่องพระเจ้าห้าร้อยห้าสิบชาติ" เป็นพระพุทธวจนะ ซึ่งที่แท้หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความจริงเป็นดังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชวิจารณ์ไว้ในพระราชนิพนธ์คำนำหนังสือนิบาตชาดกภาคต้นซึ่งโปรดให้พิมพ์เมื่อในรัชชกาลที่ ๕ ว่า เรื่องนิบาตชาดกนั้น คงเป็นนิทานที่เล่ากันในพื้นเมือง มีมาแต่ก่อนพุทธกาลช้านาน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ ทรงยกเอาเรื่องนิทานมาแสดงเป็นอุปมาในพระธรรมเทศนาเนือง ๆ ก็ธรรมดาในเรื่องนิทานย่อมต้องมีตัวดีและตัวชั่ว ตัวดีจะเป็นคนก็ตาม จะเป็นสัตว์เดียรัจฉานก็ตาม ย่อมเรียกว่า "มหาสัตว์" มาเกินสมมตขึ้นต่อภายหลังพุทธกาลว่า มหาสัตว์ในเรื่องชาดกนั้นคือพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ ครั้นเมื่อมาตบแต่งร้อยกรองพระไตรปิฎกกันในชั้นหลัง ๆ ผู้แต่งประสงค์จะปลูกศรัทธาให้มั่งคงตามความเชื่อถือของตน จึงแต่งประชุมชาดกประหนึ่งว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า มหาสัตว์นั้น ๆ มาเกิดเป็นพระพุทธองค์ และบุคคลหรือสัตว์นั้น ๆ มาเป็นผู้นั้นผู้นี้ในปัจจุบันชาติ รูปเรื่องชาดกจึงเป็นเช่นปรากฎอยู่ในหนังสือนิบาตชาดก เพราะความเป็นดังอธิบายมานี้ ที่พระสงฆ์ชาวเชียงใหม่เอานิทานในพื้นเมืองมาแต่งเป็นชาดก เป็นแต่แต่งตามแบบอย่างหนังสือเก่าซึ่งพระคันถรจนาจารย์ได้แต่งมาแต่ปางก่อน หาได้ตั้งใจจะหลอกลวงผู้หนึ่งผู้ใดว่าเป็นพระพุทธวจนะไม่ พระเจ้าแผ่นดินพะม่าหากเข้าพระทัยหลงไปเอง

นิทานในปัญญาสชาดกเป็นนิทานที่ไทยเรารู้กันอยู่ซึมทราบหลายเรื่อง เช่น เรื่องสมุทโฆษ เรื่องพระสุธนนางมโนหรา เรื่องสังข์ทอง เรื่องคาวี เรื่องพระรถเสน เป็นต้น เรื่องสุวรรณสังขชาดกที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ก็มีผู้เอามาแต่งเป็นกลอนอ่าน เรียกว่า เรื่องสังข์ทอง การที่เอาหนังสือปัญญาสชาดกมาแปลพิมพ์จะเป็นประโยชน์สอบสวนให้รู้ว่า นิทานเหล่านั้น เรื่องที่เขาเล่ามาแต่โบราณเป็นอย่างไร ที่เอามาแต่งเป็นโคลงฉันท์และบทละคอนกลอนอ่าน เอามาแก้ไขเสียอย่างใดบ้าง และให้รู้เรื่องนิทานเก่าแก่ของประเทศนี้ซึ่งมิได้ปรากฎในที่อื่นก็อีกหลายเรื่อง เรื่องที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ชื่อ สุวรรณสังขชาดก (คือ เรื่องสังข์ทอง) เป็นเรื่องที่ ๓ ในปัจฉิมภาคแห่งปัญญาสชาดก

กรรมการราชบัณฑิตสภาขออนุโมทนาในกุศลบุญราศีทักษิณานุปทานซึ่งเจ้าภาพงานศพพระยาประเสริฐสุนทราศรัยได้บำเพ็ญเป็นปัตติทานมัยด้วยความกตัญญูกตเวที และที่ได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลาย

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  • นายกราชบัณฑิตยสภา
  • วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑

  1. หนังสือปัญญาสชาดกนี้ ตามที่ได้ตรวจฉะบับ มีลักษณะแผกกันเปน ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า "ปัญญาสชาดกบั้นปลาย" แต่ไม่ปรากฎว่ามี "บั้นต้น" อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า "ปัญญาสชาดกปฐมภาค (คือ ภาคแรก) คัมภีร์" ๑ "ปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค (คือ ภาคหลัง) คัมภีร์" ๑ ปัญญาสชาดกบั้นปลายมีอยู่ดาษดื่นทั่วไป แต่ปัญญาสชาดกปฐมภาคกับปัจฉิมภาคนั้นหาฉะบับยาก แต่แรกอ่านดูเข้าใจว่า ปัญญาสชาดกบั้นปลายกับปัญญาสชาดกปัจฉิมภาคเปนคัมภีร์เดียวกัน ครั้นตรวจสอบกันเข้า ตรงกันข้าม ปัญญาสชาดกบั้นปลายกลับตรงกันกับปัญญาสชาดกปฐมภาค ไปจบคัมภีร์เพียง ๕๐ นิทาน จึงสันนิษฐานว่า คงเปนด้วยชั้นเดิมผู้แต่งปัญญาสชาดกบั้นปลายมุ่งหมายจะให้อนุโลมเข้าใจปัญญาสนิบาต ภายหลังมีผู้แต่งนิทานเพิ่มเข้าอีก ๒๕ เรื่อง และมุ่งหมายจะให้เปนหนังสือส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่อนุโลมเข้าในนิบาต จึ่งเปลี่ยนชื่อ ปัญญาสชาดกบั้นปลาย เปน ปัญญาสชาดกปฐมภาค ส่วนที่แต่งเติมเข้าใหม่เรียกว่า ปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค.
    พระพินิจวรรณการ