พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์
ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี


ข้าพระพุทธเจ้า พระยามหาอำมาตยาธิบดี ขอพระราชทานเรียบเรียงพงศาวดารเมืองนครจำปาศักดิ์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ฯ

เดิมเมืองนครจำปาศักดิ์นั้นว่าเป็นเมืองจำปานคร มีพระมหากษัตริย์ครอบครองบ้านเมืองต่อมาแล้วก็ขาดวงศ์ตระกูล แล้วยังมีท้าวพระยาผู้หนึ่งมีนามปรากฏว่าท้าวคัชนามครอบครองเมืองจำปานครต่อไป ครั้นท้าวคัชนามทิวงคตแล้ว ก็หามีเจ้านายที่จะครอบครองบ้านเมืองต่อไปไม่ ครั้นภายหลังมายังมีกษัตริย์พระองค์หนึ่งมีพระนามว่าพระยากำมะทาเป็นเชื้อแขก ยกไพร่พลแขกจามขึ้นไปสร้างเมืองที่เมืองจำปานคร แต่พระยากำมะทาสร้างเมืองลงที่ริมฝั่งแม่น้ำของฟากตะวันตกตรงเขาหนองสระลงไป ที่บนเขาหนองสระนั้นพระยากำมะทาก็ไปสร้างปราสาทและเรือนสนมกำนัลตึกแถวและถนนกำแพงแก้วมีป้อมอยู่ตามเนินเขาแล้วไปด้วยศิลาทั้งสิ้น แล้วพระยากำมะทาให้ช่างปั้นรูปของตนไว้ทำด้วยศิลา และแต่งตัวสามเทริดใส่สังวาลย์เหมือนอย่างคนตีมงครุ่มตั้งไว้ที่หน้าปราสาท ณ บนเขาหนองสระ รูปนั้นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ครั้นพระเจ้ากำมะทาทิวงคตแล้วเมืองนั้นก็ว่างมาช้านาน หามีกษัตริย์ผู้ใดที่จะปกครองต่อไปไม่ มีแต่บ้านเรือนพวกลาวพวกส่วยตั้งเรียงรายอยู่ที่เมืองเก่าริมฝั่งโขงและตามเชิงเขาหนองสระ ว่ายังมีกษัตริย์พระองค์หนึ่งนามมิได้ปรากฏ ยกพลเขมรแขกจามขึ้นไปสร้างพระนครที่เมืองพระเจ้ากำมะทาสร้างอยู่นั้น ครั้นสร้างเมืองสำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงขนานนามเมืองใหม่ชื่อว่านครกาลจำปากนาคบุรีศรี พระเจ้านครกาลจำปากนาคบุรีศรีกับพระเจ้ากรุงกำพุชาธิบดีเป็นทางพระราชไมตรีซึ่งกันและกัน ครั้นอยู่มาพระเจ้านครกาลจำปากนาคบุรีมีพระราชโอรสองค์หนึ่งซึ่งพอเจริญวัยวัฒนาการ พระเจ้านครกาลจำปากนาคบุรีศรีก็ถึงแก่พิราลัย เจ้าพระยาเสนาพฤฒามาตย์ผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกัน จึงอัญเชิญพระราชโอรสพระเจ้านครกาลจำปากนาคบุรีศรีขึ้นครองราชสมบัติ ถวายพระนามว่าพระเจ้าสุทัศสาราชา ๆ ก็ปกป้องท้าวพระยาประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขหาอันตรายมิได้ พระเจ้าสุทัศสาราชากับพระเจ้ากรุงกำพุชาธิบดีก็เป็นทางพระราชไมตรีต่อกันมาเหมือนอย่างแต่ก่อน ครั้นอยู่มาพระเจ้ากรุงกำพุชาธิบดีมีพระราชสาส์นมายังพระเจ้าสุทัศสาราชาว่า มีอริราชไพรียกมากระทำย่ำยีแก่กรุงกำพุชาธิบดี ขอให้พระเจ้าสุทัศสาราชาเห็นแก่ทางพระราชไมตรีเกณฑ์กำลังไปช่วยปราบปรามอริราชดัษกร พระเจ้าสุทัศสาราชได้ทราบในพระราชสาสน์แล้ว จึงสั่งให้ท้าวพระยาเกณฑ์ไพร่พลล่ำฉกรรจ์พร้อมไปด้วยช้างม้าเครื่องสรรพศาสตราวุธ ครั้นได้วันมหาพิชัยฤกษ์ พระเจ้าสุทัศสาราชาท้าวพระยานายทัพนายกองยกไพร่พลไปถึงกรุงกำพุชาธิบดี ก็ยกกองทัพเข้าตีข้าศึกซึ่งมาตั้งรบพุ่งกำพุชาธิบดีแตกพ่ายหนีไป แล้วพระเจ้ากรุงกำพุชาธิบดีก็อัญเชิญพระเจ้าสุทัศสาราชาเข้าพักอยู่ในพระนคร แล้วพระเจ้ากรุงกำพุชาธิบดีก็จัดสิ่งของอันมีค่าให้พระเจ้าสุทัศสาราชา และพระราชทานเสื้อผ้าแก่ท้าวพระยานายทัพนายกองเมืองนครกาลจำปากนาคบุรีศรีตามลำดับผู้ใหญ่ผู้น้อย แล้วพระเจ้าสุทัศสาราชาก็ลาพระเจ้ากรุงกำพุชาธิบดียกไพร่พลกลับมายังเมืองนครกาลจำปากนาคบุรีศรี

ลุจุลศักราช ๙๘๙ ปีเถาะนพศก พระเจ้าสุทัศสาราชาก็ถึงแก่พิราลัย พระเจ้าสุทัศสาราชาหามีโอรสนัดดาที่จะสืบวงศ์ตระกูลต่อไปไม่ ก็ว่างกษัตริย์ที่จะครอบครองเมืองนครกาลจำปากนาคบุรีศรี

จนถึงศักราชได้ ๑๐๐๐ ปีขานสัมฤทธิศก ยังมีบุรุษผู้หนึ่งเป็นคนตั้งอยู่ในยุตติธรรมซื่อตรง สมณชีพราหมณ์ประชาราษฎรก็เป็นที่นับถือเคารพยำเกรง จะว่ากล่าวกิจสุขทุกข์สิ่งใดก็เด็ดขาด จึงพร้อมกันสมมุติขึ้นให้เป็นใหญ่แก่คนทั้งปวง แต่นามหาได้ปรากฏไม่ แต่นั้นมาจะบัญชาการก็เด็ดขาดในราชอาณาเขตต์นครกาลจำปากนาคบุรีศรี ผู้ครองเมืองนั้นมีบุตรีคนหนึ่ง มีนามว่านางเภา ๆ เจริญขึ้นมา บิดาก็ถึงแก่อสัญญกรรมไป พระยาคำยาตรพระยาสองฮาดเสนาของบิดานางเภาพร้อมด้วยท้าวเพี้ยใหญ่น้อยรักษาบ้านเมือง

ต่อมาในศักราชได้ ๑๐๐๓ ปีมะเส็งตรีศก เจ้าปางคำบ้านหนองบัวลำภู เดินช้างพลายพังหมอควานพร้อมด้วยท้าวเพี้ยไพร่พลยกลงมาเที่ยวโพนแซกคล้องช้างตามอรัญราวป่าประเทศ ก็ถึงเขตต์แดนนครกาลจำปากนาคบุรีศรีหยุดพักอาศัยในนครได้หลายวัน เจ้าปางคำเห็นนางเภามีสิริรูปอันงาม เจ้าปางคำพูดจาลอบรักร่วมสังวาสด้วยนางเภาจนมีครรภ์ แล้วเจ้าปางคำพร้อมด้วยท้าวเพี้ยไพร่พลช้างต่อหมอควานยกกลับไปบ้านหนองบัวลำภู อยู่ภายหลังนางเภาครรภ์แก่พอถ้วนทศมาสแล้วจะคลอดบุตรก็มีความเจ็บปวดลำบาก นางเภาจึงแช่งไว้ว่า ถ้าหญิงคนใดหาผัวมิได้ มีชายมาลอบรักร่วมสังวาสจนมีครรภ์ดังนี้ ให้หญิงนั้นจัดหากระบือแต่งเครื่องพลีกรรมบวงสรวงเสื้อเมืองทรงเมือง ถ้าผู้ใดไม่ทำตามดังนี้ให้ข้าวในไร่ในนาตายแล้ง แล้วนางเภาจึงสั่งให้พระยาคำยาตรพระยาสองฮาด พร้อมด้วยท้าวเพี้ยใหญ่น้อยทำหนังสือประทับตราประจำครั่งรูปช้างยืนแท่น ประกาศให้พวกส่วยรักษาเขตต์แขวงอำเภอตามคำนางเภา จึงเป็นเยี่ยงอย่างมาจนทุกวันนี้ ครั้นนางเภาคลอดบุตรออกมาเป็นกุมารี นางเภาจึงให้ชื่อบุตรว่านางแพง

และเมื่อศักราชได้ ๑๐๐๕ ปีมะแมเบ็ญจศกนั้นว่ายังมีท่านพระครูยอดแก้วอยู่เมืองเวียงจันทน์ ในเวลากลางคืนจำวัดอยู่นิมิตต์ฝันเห็นว่า มีคชสารพลายตัวใหญ่เข้ามาในอารามทำลายพระวิหารขึ้นไปบนกุฎีแล้วแทงหอไตรทำลายลง ช้างจึงจับเอาหนังสือกลืนเป็นอาหารหมดทั้งหีบ พอรุ่งสว่างก็ตกใจตื่นขึ้น แล้วท่านพระครูยอดแก้วก็เล่านิมิตต์ให้สงฆ์ทั้งปวงฟัง ๆ แล้วก็พากันไปบิณฑบาตร พอเวลาสายพระสงฆ์กลับมาจากบิณฑบาตรก็เห็นสามเณรองค์หนึ่งอายุประมาณ ๑๓ - ๑๔ ปี มานั่งอยู่ในอาราม พระสงฆ์ทั้งปวงจึงถามสามเณรว่ามาแต่แห่งใด สามเณรจึงบอกแก่พระสงฆ์ว่ามาแต่กะลึมเมืองพาน ข้าพเจ้าเป็นสานุศิษย์พระครูลึมบองเที่ยวมาหาที่เล่าเรียน พระสงฆ์ทั้งปวงจึงไปแจ้งความแก่พระครูยอดแก้ว พระครูยอดแก้วจึงนิมนต์สามเณรขึ้นไปบนกุฎี แล้วพระครูยอดแก้วก็ทำนุบำรุงสามเณรนั้นไว้ แล้วพระครูยอดแก้วก็ให้สามเณรเล่าสวดมนต์จนถึงพระปาฏิโมกข์ สามเณรเล่าเรียนแม่นยำจนชำนิชำนาญ พระครูยอดแก้วจึงให้สามเณรเล่าสูตรจำได้จนจบ แล้วพระครูยอดแก้วก็บอกหนังสือพระไตรปิฎก ตั้งแต่ธรรมบทบั้นต้นบั้นปลายและเล่าเรียนในพระคัมภีร์ใด ๆ สามเณรก็เล่าเรียนได้หมดสิ้น จึงเอาหนังสือในหีบอยู่ในหอไตรมาให้สามเณร ๆ ก็รอบรู้ทุกพระคัมภีร์ไม่มีผู้ใดจะเปรียบได้ กิติศัพท์ได้ยินเลื่องลือถึงพระเจ้าเมืองเวียงจันทน์ ๆ ก็ยินดีมีจิตต์เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงจัดผ้าไตรมาถวายยกชื่อขึ้นให้เป็นราชาจั่ว แต่นั้นมาก็ลือชาทั่วไปทั้งอาณาเขตต์เมืองเวียงจันทน์ พออายุสามเณรถ้วนถึง ๒๑ ปีครบอุปสมบทพระเจ้าเวียงจันทน์ก็นิมนต์ราชาจั่วให้บวชเป็นภิกษุ ราชาจั่วจึงว่าแก่ท่านพระครูยอดแก้วว่าถ้าจะบวชข้าพเจ้าแล้ว ขอให้นิมนต์พระสงฆ์นั่งหัตถบาสให้ได้ ๕๐๐ รูป ให้ทำโบสถ์น้ำจึงจะบวช ท่านพระครูก็เข้าไปถวายพระพรแก่พระเจ้าเวียงจันทน์ตามถ้อยคำสามเณร พระเจ้าเวียงจันทน์ได้ทราบดังนั้น จึงสั่งให้ท้าวพระยาจัดหาเรือใหญ่มาพ่วงติดกันเข้าแล้วทำเป็นโสบถ์น้ำ ครั้นถึงวันกำหนดก็แห่สามเณรไปยังโบสถ์น้ำ พระอุปัชฌาย์อนุกรรมวาจากับพระสงฆ์อันดับ ๕๐๐ รูป ก็พร้อมกันอุปสมบทสามเณรขึ้นเป็นภิกษุ ขอนิสสัยเสร็จแล้วอนุกรรมวาจาจะให้อนุศาสน์ แพโบสถ์น้ำก็จมลง ทันใดนั้นสงฆ์ทั้งปวงก็ต้องว่ายน้ำขึ้นฝั่งไป ไตรจีวรก็เปียกทุกองค์ แต่ภิกษุที่บวชใหม่นั้นไม่เปียก สบงจีวรก็แห้งอยู่ สงฆ์ทั้งปวงเห็นแล้วก็พากันอัศจรรย์ยิ่งนัก พระเจ้าเวียงจันทน์ก็ยินดีปรีดา ครั้นได้พรรษาหนึ่งพระเจ้าเวียงจันทน์ก็จัดหาเครื่องไตรอัฏฐบริกขารครบเสร็จแล้วพร้อมด้วยคณะสงฆ์ จึงตั้งพระภิกษุองค์นั้นขึ้นเป็นพระครูให้อยู่วัดโพนเสม็ด คนทั้งหลายจึงเรียกพระครูโพนเสม็ดมาจนเท่าทุกวันนี้ แล้วพระครูก็อยู่รักษาวินัยสิกขาบริบูรณ์ได้ถึงอภิญญาห้าอัฏฐสมาบัติ ๘ ประการสำเร็จไปด้วยญาณ จะว่าสิ่งใดก็แม่นยำด้วยบุญบารมีธรรมโปรดสำเร็จดังใจนึก คนทั้งปวงก็นิยมเป็นอันมาก ต่างคนต่างสรรเสริญบุญพระครูโพนเสม็ด พระเจ้าเวียงจันทน์ก็โปรดเป็นอุปัฏฐาก พระเจ้าเวียงจันทน์มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง เรียกว่าเจ้าหล่ออายุได้ ๑๓ ปี และพระมเหสีพระเจ้าเวียงจันทน์คนหนึ่งมีครรภ์ประมาณได้ ๖ - ๗ เดือน

ศักราช ๑๐๕๐ มีมะโรงสัมฤทธิศก พระเจ้าเวียงจันทน์ก็ถึงแก่พิราลัย พระยาเมืองแสนชิงเอาสมบัติได้แล้วก็ขึ้นครองเมืองเวียงจันทน์จะรับเอานางที่เป็นมเหสีพระเจ้าเวียงจันทน์ขึ้นเป็นภรรยา นางไม่ยอมร่วมสังวาสกับพระยาเมืองแสน นางจึงเข้าไปพึ่งอาศัยอยู่กับพระครูโพนเสม็ด ๆ กลัวจะมีความครหาติเตียนจึงให้นางลงไปอยู่ภูสะง้อหอคำ ฝ่ายพรรคพวกเจ้าองค์หล่อบุตรพระเจ้าเวียงจันทน์จึงพาเจ้าองค์หล่อหนีไปอยู่ ณ เมืองญวน ๆ ก็รับเอาเจ้าองค์หล่อไว้ แล้วให้ชื่อว่าเจ้าองค์เวียด ฝ่ายพระมเหสีพระเจ้าเวียงจันทน์พอครรภ์นางถ้วนทศมาสนางก็คลอดบุตรเป็นราชกุมาร พระครูโพนเสม็ดจึงให้นามว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ ครั้นนานมาพระยาเมืองแสนที่ได้ครองเมืองเวียงจันทน์เห็นว่าท้าวพระยาไพร่บ้านพลเมืองพากันนิยมนับถือพระครูโพนเสม็ดเป็นอันมาก พระยาเมืองแสนกลัวว่านานไปภายหน้า พระครูโพนเสม็ดจะชิงเอาสมบัติ จึงคิดเป็นความลับกับพรรคพวกที่สนิทจะทำอันตรายแก่พระครูโพนเสม็ด ๆ ก็ล่วงรู้ในความคิดของพระยาเมืองแสน พระครูโพนเสม็ดจึงให้ไปรับเอาเจ้าหน่อกษัตริย์กับมารดามาแต่ภูสะง้อหอคำ แล้วจึงปรึกษากับญาติโยมและศิษย์สานุศิษย์ผู้อุปัฏฐากพร้อมกันรวมได้ชายหญิงใหญ่น้อย ๓๓๓๓ คน ก็ยกออกจากเมืองเวียงจันทน์ไปถึงบ้านงิ้วพันลำโสมสนุก พระครูโพนเสม็ดจึงให้เจ้าหน่อกษัตริย์กับมารดาและพรรคพวกตั้งอยู่ที่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุก แล้วพระครูโพนเสม็ดก็เที่ยวไปตามลำชี พระครูโพนเสม็ดไปหยุดพักอยู่ที่แห่งใดตำบลใด คนก็ปีติยินดีเป็นอันมาก ครั้นยกไปแห่งใดญาติโยมก็ยกติดตามไปตำบลละ ๒ - ๓ ครัว แล้วพระครูโพนเสม็ดก็ลงไปกรุงอินทปัทมหานคร ครอบครัวที่เฉื่อยช้าติดตามลงไปมิได้ ก็ให้ตั้งบ้านเรือนเรียงรายกันไป จึงเรียกว่าลาวเดิมบานบารายมาจนทุกวันนี้

แล้วพระครูโพนเสม็ดกับครอบครัวญาติโยมสานุศิษย์ก็ลงไป ถึงหางตุยจังวะสุดแดน แต่บัดนี้เรียกว่าจะโรยจังวา[1] พระครูโพนเสม็ดเห็นที่ตำบลจะโรยจังวาข้ามเป็นชัยภูมิกว้างขวางและมีเขาใหญ่น้อย จึงพักญาติโยมครอบครัวศิษย์สานุศิษย์อยู่ที่นั้น แล้วพระครูโพนเสม็ดจึงสร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งบนเขานั้น เมื่อวันจะสำเร็จยังมีหญิงเขมรแก่คนหนึ่งชื่อเป็น ลงไปอาบน้ำในลำน้ำใหญ่ ยายเป็นเห็นพระบรมธาตุเลื่อนไหลมาบนหลังน้ำ มีพระรัศมีมีโอภาสเป็นอันงาม ยายเป็นเห็นประหลาด จึงเอาขันน้ำเข้ารับรองขึ้นไปถวายแก่พระครูโพนเสม็ด ๆ เห็นว่าเป็นพระบรมธาตุแน่แล้วก็บิณฑบาตรกับยายเป็น แล้วพระครูโพนเสม็ดก็อัญเชิญพระบรมสาริกธาตุเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์ แล้วพระครูโพนเสม็ดเห็นว่าภูเขานั้นภาษาเขมรเรียกว่าพนมแล้วเอานามยายเป็นที่ได้พระบรมสาริกธาตุมาประกอบกันเข้า พระครูโพนเสม็ดจึงให้ชื่อว่าพระเจดีย์พนมเป็น ครั้นภายหลังมาเจ้ากรุงกำพุชาธิบดียกเมืองจากเมืองประทายเพ็ชรลงไปสร้างเมืองขึ้นที่ตำบลนั้นเป็นเมืองหลวง จึงเรียกนามเมืองว่าพนมเป็นมาจนทุกวันนี้ และเมื่อพระครูโพนเสม็ดสร้างพระเจดีย์แล้ว จึงหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์หนึ่งได้ตั้งแต่พระเศียรลงมาถึงพระกรเบื้องขวายังหาทันสำเร็จไม่ เจ้ากรุงกำพุชาธิบดีแจ้งว่าพระครูโพนเสม็ดพาครอบครัวญาติโยมลาวเข้ามาอยู่ในเขตต์แดน จึงแต่งให้พระยาพระเขมรไปตรวจบัญชีครอบครัว พระยาพระเขมรจะเรียกเอาเงินครัวละ ๘ บาท พระครูโพนเสม็ดเห็นว่าญาติโยมจะได้ความยากแค้น จึงพาญาติโยมครอบครัวหนีขึ้นไปตามลำน้ำโขง ถึงสถานบ้านแห่งหนึ่งที่เรียกว่าเมืองสมบูรณ์บัดนี้

พระครูโพนเสม็ดจึงได้พาญาติโยมครอบครัวตั้งพักอาศัยอยู่ในที่นั้น แล้วพระครูโพนเสม็ดจึงชักชวนญาติโยมศิษย์สานุศิษย์สร้างพระวิหารไว้หลังหนึ่งในที่ตำบลนั้น ครั้นเจ้ากรุงกำพุชาธิบดีได้แจ้งว่าพระครูโพนเสม็ดยกไปยังไม่พ้นเขตต์แดน จึงแต่งให้พระยาพระเขมรยกทัพมาขับไล่พระครูโพนเสม็ด ๆ เห็นว่าญาติโยมทายกจะพากันเป็นอันตราย จึงตั้งอธิษฐานว่าเดชบารมีธรรมที่ได้บำเพ็ญมาแต่หนหลัง ครั้งนี้จงช่วยสร้างสรรพสัตว์ให้พ้นอันตราย ขอเทพยเจ้าจงช่วยอภิบาลในครั้งนี้ ด้วยอำนาจกุศลเผอิญให้พระยาพระเขมรหาคิดที่จะทำอันตรายไม่ พระครูโพนเสม็ดก็พาครอบครัวไปได้โดยสะดวก พระยาพระเขมรก็เลิกทัพกลับคืนไปยังกรุงกำพุชาธิบดี ฝ่ายพระครูโพนเสม็ดไม่มีที่พักอาศัย จึงตั้งอธิษฐานว่าเดชกุศลธรรม ดินก็ผุดขึ้นเป็นเกาะ ในที่นั้นก็เป็นหาดทราย ราษฎรก็เรียกว่าหาดท่านพระครูมาเท่าจนบัดนี้ พระครูโพนเสม็ดก็พาญาติโยมทายกหยุดพักอยู่ในเกาะนั้น พร้อมกันหล่อพระพุทธปฏิมากรแต่บ่าพาดพระกรเบื้องซ้ายถึงหน้าตักหัตถบาสตลอดพระแท่นสำเร็จแล้ว จึงให้ศิษย์ไปเชิญพระปฏิมากรที่หล่อไว้ที่เจดีย์พนมเป็นยังไม่สำเร็จนั้นมาสวมต่อกันเข้า เกาะนั้นก็เรียกกันว่าเกาะพาดเกาะทรายมาจนบัดนี้ แล้วพระครูโพนเสม็ดจึงพาญาติโยมทายกแห่พระขึ้นมาถึงหางโค ปากน้ำเซกองฝั่งตะวันออก เห็นภูมิสถานที่นั้นสมควร พระครูโพนเสม็ดเห็นว่านานไปภายหน้าก็คงจะได้เป็นเมือง จึงพร้อมญาติโยมทายกสร้างพระวิหารลงไว้ที่นั้น แล้วอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรพระแสนประดิษฐานไว้ในพระวิหารนั้น แล้วก่อพระเจดีย์ไว้ที่บาจงองค์หนึ่ง พระครูโพนเสม็ดจึงให้ศิษย์ผู้หนึ่งกับทั้งครอบครัวเป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธปฏิมากรพระแสนที่นั้น

ครั้นนานมาศิษย์ผู้นั้นมีบุตรชายผู้หนึ่งชื่อเชียงแปง ครั้นบิดาถึงแก่กรรมแล้ว เชียงแปงก็รักษาครอบครัวอยู่ในที่ตำบลนั้นต่อมา และพระครูโพนเสม็ดก็พาศิษย์ทั้งปวงขึ้นไปตามลำน้ำโขงถึงดอนลี่ผี พระครูโพนเสม็ดจึงสร้างพระเจดีย์ด้วยศิลาองค์หนึ่งสูงสี่ศอก สร้างพระวิหารไว้หลังหนึ่ง แล้วพระครูโพนเสม็ดก็ขึ้นไปตามลำน้ำโขงถึงเกาะใหญ่แห่งหนึ่งจึงพักอยู่ในที่นั้น แล้วพระครูโพนเสม็ดนั่งบริกรรมเห็นว่า ในเกาะนี้นานไปภายหน้าจะได้เป็นเมือง จึงสร้างพระเจดีย์ไว้องค์หนึ่งบนยอดนพสูรจารึกเป็นอักษรขอมไว้ว่า ศักราชได้ ๑๐๗๐ ปี ณ วัน ๑๔ ฯ  ค่ำ พระครูโพนเสม็ดมีศรัทธาสร้างพระเจดีย์ไว้นครโขงให้เป็นที่ไหว้ที่บูชาแก่เทพยดาและคนทั้งหลาย แล้วหล่อระฆังใหญ่ไว้ระฆังหนึ่ง วัดโดยกว้างได้สองศอก แล้วจึงประชุมบุตรหลานลาวเดิมให้ไว้เป็นข้าพระมหาธาตุเจดีย์ตอนโขงตราบเท่า ๕๐๐๐ พรรษา แล้วให้จารียฮวดอยู่รักษาอาณาเขตต์อำเภอโขง แล้วพระครูโพนเสม็ดก็ขึ้นมาศีร์ษะเกาะไชย เห็นว่าถ้าตั้งอยู่ที่นี้คงจะมีไชยแต่เกาะน้อยไม่พอจะเป็นเมืองได้ จึงให้เรียกว่าเกาะไชยมาจนบัดนี้ แล้วพระครูโพนเสม็ดก็ขึ้นมาถึงเกาะแดงหยุดพักอยู่ แล้วให้ศิษย์ ๑๖ คนนุ่งขาวห่มขาวรับศีลแล้วให้ไปเที่ยวนอนเอานิมิตต์ ณ กลางเกาะแห่งหนึ่ง ศีร์ษะเกาะแห่งหนึ่ง ผ้าขาว ๑๖ คนมาถึงตำบลกลางเกาะหยุดนอนแล้วพร้อมกันอธิษฐานเสร็จแล้ว เทพยเจ้าก็ลงมานิมิตต์ว่าตำบลนี้จะเป็นศรีนคร แต่จะมีปรปักษ์มาเบียดเบียฬในศาสนา

ครั้นได้นิมิตต์แล้วผ้าขาว ๑๖ คนก็ขึ้นไปนอนศีร์ษะเกาะพร้อมกันตั้งสัตยาธิษฐานเสร็จแล้ว เทพยเจ้าลงมาให้นิมิตต์ว่าเห็นปุถุชนทั้งปวงมีใจกล้าหาญหยาบช้าก่อการวิวาทเป็นปรปักษ์แก่กันอยู่ ผ้าขาว ๑๖ คนได้นิมิตต์ ๒ ตำบลแล้ว ก็เข้าไปแจ้งความแก่พระครูโพนเสม็ด ๆ เห็นว่าตำบลนี้กษัตริย์องค์ใดมาครอบครองสมบัติในนครอันนี้ สองพี่น้องก็จะไม่ถูกต้องปรองดองกัน ประชาราษฎรก็จะเป็นปรปักษ์ฉกลักเบียดเบียฬซึ่งกันและกัน

ฝ่ายข้างเมืองนครกาลจำปากนาคบุรีศรี นางเภาชราแล้วก็ถึงแก่กรรม นางแพงผู้บุตรกับท้าวพระยาก็กระทำการฌาปนกิจเสร็จแล้ว นางแพงผู้บุตรกับพระยาคำยาตร พระยาสองฮาดจึงว่าราชการบ้านเมืองต่อมา ครั้นได้ทราบกิติศัพท์ว่าพระครูโพนเสม็ดมาพักอยู่ที่เกาะแดงมีคนนับถือเป็นอันมาก นางแพงก็มีจิตต์เลื่อมใสจึงปรึกษาด้วยท้าวพระยาผู้ใหญ่ผู้น้อยว่า เราจะอาราธนาพระครูโพนเสม็ดมา จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้จิรฐิติถาวรไปภายหน้า ท้าวพระยาทั้งปวงก็เห็นชอบด้วย นางแพงจึงให้พระยาคำยาตร พระยาสองฮาดไปอาราธนาพระครูโพนเสม็ด ๆ จึงพาญาติโยมสานุศิษย์ข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งตะวันตกตั้งพักอยู่ที่ห้วยสระหัว นางแพงก็ปลูกกุฎีเสนาสนะถวายพระครูโพนเสม็ดให้จำพรรษาอยู่ ณ วัดห้วยสระหัว คนทั้งหลายก็เรียกว่าวัดหลวง แล้วนางแพงกับท้าวพระยาทั้งปวงจึงมอบพุทธจักรอาณาจักร ให้พระครูโพนเสม็ดทำนุบำรุงสมณพราหมณาจารย์ท้าวพระยาอาณาประชาราษฎรในเมืองนครกาลจำปากนาคบุรีศรี

ในศักราช ๑๐๗๑ ปีฉลูเอกศก แล้วพระครูโพนเสม็ดจึงชักชวนชาวเมืองหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์หนึ่ง หน้าตักสิบเก้านิ้วสำเร็จบริบูรณ์ ก็อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดบางซ้ายอยู่มาจนเท่าทุกวันนี้ ครั้นนานมาประชาชนทั้งหลายก็เกิดเป็นโจรผู้ร้ายฉกลักเครื่องอัญญมณีของสมณะและทรัพย์สิ่งของอาณาประชาราษฎรทั้งปวง แล้วก็เกิดฆ่าฟันกันขึ้นหลายแห่งหลายตำบล พระครูโพนเสม็ดจะชำระว่ากล่าวตามอาญาก็กลัวจะผิดด้วยวินัยสิกขาบท ครั้นจะนิ่งเสียไม่ปราบปรามให้ราบคาบ สมณพราหมณาจารย์ราษฎรก็จะได้ความเดือดร้อนยิ่งขึ้นไป พระครูโพนเสม็ดจึงเห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าเวียงจันทน์ จะปกครองประชาราษฎรต่อไปได้ พระครูโพนเสม็ดจึงให้จารียแก้วจารียเสียงช้างกับท้าวเพี้ยไพร่พลไปอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุกลงมาเมืองนครกาลจำปากนาคบุรีศรี

ในศักราช ๑๐๗๕ ปีมะเส็งเบ็ญจศก แต่มารดาของเจ้าหน่อกษัตริย์นั้นถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว แล้วพระครูโพนเสม็ดให้ตั้งโรงราชพิธีที่จะได้ราชาภิเษกเสร็จแล้ว ครั้นได้วันอันเป็นมหาพิชัยฤกษ์ พระครูโพนเสม็ดก็อัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์เข้าสรงมุรธาสนานราชาภิเษกเสร็จแล้ว สมณพราหมณาจารย์ท้าวพระยาทั้งปวงถวายพระนามว่าเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรเป็นเจ้าเอกราชครองราชสมบัติตามโบราณราชประเพณีกษัตริย์ในมลาวประเทศ แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงให้ทำระเนียดเสาไม้แก่นสร้างเมืองขึ้นที่ตำบลริมฝั่งศรีสุมังแล้วเปลี่ยนนามเมืองใหม่ให้เรียกว่านครจำปาบาศักดิ์นาคบุรีศรี และนางแพงบุตรนางเภานั้น เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรก็รับเข้าไปไว้ในวังเลี้ยงดูทำนุบำรุงเคารพเป็นอันดี แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรก็จัดแจงราชการบ้านเมืองตั้งเจ้านายและแสนท้าวพระยา พระยาเมืองแสนเป็นเสนาบดีฝ่ายขวา พระยาเมืองขวาปลัด พระยาเชียงเหนือ พระยาเมืองฮาม นามฮุงศรี สองเมืองสมุหบัญชี สุวอกรมหนึ่ง พระยาเมืองจันเป็นเสนาบดีฝ่ายซ้าย พระยาเมืองซ้ายปลัด พระยาเชียงใต้ศักขาเมืองปาก หมื่นวิสัยสมุหบัญชี พันหนองกรมหนึ่ง พระยาเสระโยธากรมนครบาล พระยาคำมูลปลัด พระยาเวียงคำเมืองคุก กรมเมืองสมุหบัญชี พระโยหะ อินทกุมพันขันธฤาไชย หารเพ็ชรลักไชยบาลกรมหนึ่ง พระยาวิไชยมนเทียรกรมวัง พระยาพะชุมปลัด พุทธวงษ์พลลักขวาอัคชา มหาวงษ์ หมื่นวงษ์ไชยกรมหนึ่ง พระยารามโฆษาพระคลัง ราชโกฏิสิหาคลัง แสนยศ ศรีสุทธสมุหบัญชีกรมหนึ่ง กรมนาพระยาจิตตะเสนา พระยาหมื่นเยียปลัด พันนา พระทิพสาลี ทิพมุนตรีกรมหนึ่ง กรมสัสดีพระยาเมืองกลาง พระยาโยธา ราชานนพัฒมานศรีสุนนท สุขนันทา แสนจัน ศรีสมุดกรมหนึ่ง นายเวรสาลาพันโนฤทธิ พันโนลาษ ศรีสุธรรม ชาบูฮม กรมหนึ่ง พนักงานรับแขก แขกขวา แขกซ้าย กรมหนึ่ง กรมไพร่หลวง พระละครมหาโฆษ พลลักซ้าย นามราชา หมื่นเสมอใจ กางสงคราม ศรีทิพเนตรกรมหนึ่ง ผู้จำหน่ายของหลวง ศรีสมบัติ หอมสมบัติ เพี้ยจ่าย จันทพานิช ยศสมบัติ กรมหนึ่ง กรมช่างทองสุวรรณจักคำ สุวรรณวิจิตร สุวรรณปัญญา หลวงสุวรรณ กรมหนึ่ง หกเหล่า พระยาสุโพ พระยาพลเชียงสา เวียงแก อุปราชา เมืองซอง มหาสงคราม กรมหนึ่ง สี่ท้าวช้าง นาใต้นาเหนือ หมื่นนาเมืองแพน กรมหนึ่ง กรมแสง สินระแสง พรมเทพ พันลูกท้าว กรมหนึ่ง ช่างเหล็ก แสนนามเกียน แสนแก้ว หมื่นอาวุธ พนทะนี กรมหนึ่ง นายมหาดเล็ก นักภูมินทร คำชุมภู ขันขวา ขันซ้าย กรมหนึ่ง นายเวรมหาดเล็ก คำพีทูล แก้วพิทูล แก้วมาลา แก้วกินนรี ลาดปาอิน อินทสริยา กวอินตา อินทวีไชย แก้วดวงดี นามลคร พทักภูบาล สีหาจักร กรมหนึ่ง ตำรวจ พลเดชซาภักดี ซาหลาบคำ วงษภูธร กรมหนึ่ง นายประตู แสนแกว่ง แสนวัง แสนคุ้ม เพี้ยสูน มหาวังกรมหนึ่ง พ่อมโรง มหาโนชิต มหามุนตรี ซาโนชิต ซามาต ซาเนตร ซากำนัน ซาทิพฮต ซามุนตรี อุทธามุนตรี แสนไชย กรมหนึ่ง เถ้าแก่ ซาบรรทม ซามะรัต คำเพียงตา ราชอาส กรมหนึ่ง กรมโหรสีมังคละ สิทธิมงคล สีกาชะโยก โสระบัณฑิต โลกวิวร ไลยณุโยก กรมหนึ่ง เป็นตำแหน่งไว้ครบทุกตำแหน่งตามอย่างเมืองเวียงจันทน์ แล้วจัดการทำเนียบเมืองตามโบราณราชประเพณีสืบมาแต่ก่อน

แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร จึงสร้างอารามขึ้นใหม่อารามหนึ่งสำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงอาราธนาพระครูโพนเสม็ดกับพระสงฆ์อันดับมาอยู่ที่อารามใหม่นั้น จึงเรียกว่าวัดหลวงใหม่ และวัดที่พระครูโพนเสม็ดอยู่เดิมนั้น เรียกว่าวัดหลวงเก่ามาจนทุกวันนี้

ครั้น ณ วันสงกรานต์วันเถลิงศก เจ้านายและแสนท้าวพระยาครบตำแหน่งและเจ้าเมืองกรรมการเมืองขึ้นและท้าวฝ่ายในจัดบายศรีสองสำรับซ้ายขวา เจ้านายแสนท้าวพระยาข้าราชการใหญ่น้อยทุกตำแหน่งมีข้าวตอกดอกไม้เทียนใหญ่คู่หนึ่งพร้อมกัน ณหอราชสิงห์หาร กราบถวายบังคมแล้ว พราหมณ์จึงถวายพรแก่เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร ครั้นเวลาบ่ายโมงหนึ่ง จึงพร้อมกันเข้าไปสู่พระอุโบสถพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ทำน้ำพระราชพิธี เจ้าท้าวพระยาทั้งปวงก็กระทำสัตยานุสัตย์รับพระราชทานน้ำพิพัฒน์

ครั้นรุ่งขึ้นนางเภาเถ้าแก่หม่อมนางข้างในและภรรยาเจ้านายพระยาแสนท้าวครบตำแหน่ง พร้อมกัน ณ หอราชสิงห์หารรับน้ำพระราชพิธี ครั้นถึง ณ วันเดือนสิบเอ็ดแรมค่ำหนึ่งเป็นวันปวารณาทำบุญให้ทาน วันแรมสองค่ำแต่งเครื่องกระยาบูชาเทพยดา วันแรมสี่ค่ำแต่งการบวงสรวงแข่งเรือ ให้พวกข่าสูลงเรือลำหนึ่งเรียกว่าเรือมเหศักดิ์ ตีฆ้องใหญ่น้อยสามฆ้อง สวมเสื้อแดงหมวกแดงแต่งเป็นคนรำ ๔ คนพายเรือขึ้นล่องกำกับเรือทั้งปวง เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรเสด็จออกหอไชยดูแข่งเรือทุก ๆ วัน ถ้วนคำรบสามวัน รุ่งขึ้นพอเวลาตีสิบเอ็ดยิงปืนใหญ่สามนัด พวกคนทรงทอดทุ่นเหนือน้ำใต้น้ำแล้ว แล้วเอาเนื้อกระบือเข้ามาประชุมที่ท่าหอแต่งพล่ายำทำเครื่องบวงสรวงเสื้อเมืองทรงเมืองเสร็จแล้วก็แจกจ่ายแก่เจ้านายแสนเท้าพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแล้วก็แข่งเรือกันไปถึงเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ เจ้านายท้าวพระยาที่รับเลี้ยงสีพายเรือลำใดก็จัดเทียนใส่ขันเงินผ้าแดงปกปากขันนุ่งขาวห่มขาวนั่งมาบนศีร์ษะเรือ พายลงมาถึงหน้าหอไชยแล้วจอดเรือขึ้นถวายเทียนแก่เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรทุกลำ แล้วก็แจกหมายคาดคู่เรือบ้านนั้นกับบ้านนั้นลำดับกันไปตามเรือมากและน้อยเป็นคู่ๆ กัน พอเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เรือมเหศักดิ์พวกข่าลงมาก่อน เรือแข่งคู่หนึ่งคู่สองคู่สามก็แข่งเป็นคู่ ๆ ลงมา ถึงเรือทอดทุ่นแล้วพอเวลาย่ำค่ำยิงปืนใหญ่นัดหนึ่งพวกสีพายเรือก็ตั้งโห่ร้องแข่งเรือเสมอหน้ากันลงมา เรือมเหศักดิ์พวกข่าก็จุดเทียนที่ศีร์ษะเรือพายตามหลังเรือทั้งปวงลงมาถึงเพียงท่าหอไชยยิงปืนใหญ่อีกนัดหนึ่ง ก็จุดดอกไม้ไฟพะเนียงบูชาเทพารักษ์ ครั้นเรือไปถึงทุ่นใต้น้ำก็ยิงปืนใหญ่อีกนัดหนึ่ง ครบสามวันแล้วก็เลิกการพิธีแข่งเรือ จนเป็นธรรมเนียมมาจนเท่าบัดนี้

เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรให้ทำเงินเป็นน้ำหนัก ๔ หุนตอกตรารูปหงส์เรียกว่าเงินสิงห์ แล้วหล่อทองเหลืองเหมือนรูปกระสวยยาวประมาณ ๕ นิ้วเศษ ๖ นิ้วข้างหลังกลม ข้างท้องเป็นร่องเหมือนตัวชันลุกะเรียกว่าลาดให้ใช้ต่างเบี้ย แต่ลาดนั้นยังใช้ต่อมาจนเท่าทุกวันนี้ เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรมีราชบุตรด้วยนางมเหสีขวาชื่อเจ้าไชยกุมาร ๑ มีบุตรกับมเหสีซ้าย ๒ องค์ ๆ หนึ่งชื่อเจ้าธรรมเทโว องค์หนึ่งชื่อเจ้าสุริโย ฝ่ายนางแพงครั้นชราลงก็ถึงแก่กรรม เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรกับพระยาลาวท้าวแสนก็กระทำการฌาปณกิจตามสมควร แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงปรึกษาเจ้านายแสนท้าวพระยาเสนาพฤฒามาตย์ข้าราชการว่า ครั้งพระครูโพนเสม็ดลงไปกรุงกำพุชาธิบดี เจ้ากรุงกำพุชาธิบดีคิดก่อการวิวาทกับฝ่ายลาว พระยาพระเขมรยกทัพมาขับไล่พระครูโพนเสม็ดกับญาติโยมพากันหนีมานาน ต่อไปภายหน้าเกลือกพระเจ้ากำพูชาธิบดีจะยกมาคิดการสงครามสืบต่อไป จำเราจะแต่งเครื่องมงคลราชบรรณาการไปอ่อนน้อมขอเป็นทางสัมพันธมิตรสืบโบราณราชประเพณี จะเห็นเป็นประการใด แสนท้าวพระยาข้าราชการใหญ่น้อยก็พร้อมกันเห็นชอบด้วย จึงแต่งราชสาส์นเครื่องมงคลราชบรรณาการให้ทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์นเจริญทางพระราชไมตรีไปขอพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงกำพูชาธิบดี ๆ ทราบในราชสาส์นแล้ว จึงแต่งพระยาพระเขมรและบ่าวไพร่ ให้ท้าวพระยานำราชธิดากับเครื่องมงคลราชบรรณาการตอบแทนมาให้กับเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรตามราชประเพณี เจ้ากรุงกำพุชาธิบดียกให้บ่าวไพร่ชายหญิงมาอยู่กับพระราชธิดาเป็นอันมาก ธิดาเจ้ากรุงกำพูชาธิบดีมาอยู่ได้สามเดือนก็มีครรภ์ แต่หาทราบว่านางมีครรภ์ไม่ แล้วนางก็ลาเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรลงไปเยี่ยมเยือนพระราชบิดา เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงแต่งท้าวพระยาพานางลงไปเยี่ยมเยือนพระราชบิดา ณ กรุงกำพุชาธิบดี ครั้นครรภ์นางแก่ขึ้น พระเจ้ากรุงกำพุชาธิบดีก็ส่งพระราชธิดาคืนมา เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรมีความสงสัย จึงเสี่ยงสัตย์อธิษฐานว่าถ้าเป็นบุตรแล้วคลอดออกมาขอให้เสียอวัยวะแห่งหนึ่ง ถ้ามิใช่บุตรขอให้กุมารนั้นบริสุทธิ์ประกอบไปด้วยอวัยวะสามสิบสองประการ ครั้นนางคลอดกุมารออกมาเสียเนตรข้าง ๑ เป็นสำคัญ ครั้นพระราชกุมารใหญ่ขึ้นมาให้นามว่าเจ้าโพธิสาร แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงจัดตั้งบ้านอำเภอโขงขึ้นเป็นเมืองโขง ให้จารียฮวดเป็นเจ้าเมืองรักษาอาณาเขตต์ที่ตำบลนั้น ให้จารียเสียงช้างขึ้นไปเป็นเจ้าเมืองศรีคอรเตา ให้จารียแก้วเป็นเจ้าเมืองท่งรักษาเขตต์แดนฝ่ายเหนือ ตั้งแต่ยางสามต้นอ้นสามข้อยหลักทอดยอดยางตะวันออกเขาประทัดต่อแดนกับญวณตะวันตกลำน้ำกระยุงเป็นแดน แล้วก็ยกให้นายมั่นข้าหลวงเดิมเป็นคนใช้สอยสนิทไปเป็นหลวงเอกรักษาอำเภอบ้านโพนเรียกว่าเมืองมั่น ให้นายพรมไปเป็นซาบุตตโคตรักษาอำเภอบ้านแก้งอาเฮิม มีพระเจดีย์อยู่ในตำบลนั้นองค์หนึ่งเรียกว่าธาตุกระเดาทึก จึงให้เป็นเมืองคำทองหลวง ให้จารียโสมไปเป็นใหญ่รักษาอำเภอบ้านอิดกระบือ แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงมีราชสาส์นให้ท้าวพระยาถือไปยังกรุงกำพุชาธิบดีขอยืมฉะบับพระไตรปิฎก พระเจ้ากำพุชาธิบดีก็ให้พระราชาคณะสงฆ์ผู้ใหญ่จัดพระไตรปิฎกให้แก่ท้าวพระยาคุมขึ้นไปเมืองนครกาลจำปาศักดิ์ เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรก็ให้จำลองออกแล้วให้พระเถรานุเถระที่รู้อรรถธรรมบอกแก่พระสงฆ์สามเณรให้เล่าเรียนศึกษาในคันธธุระวิปัสสนาธุระ ตั้งแต่นั้นมาเจ้านายท้าวพระยาสมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎรก็อยู่เย็นเป็นสุข

ลุจุลศักราช ๑๐๘๒ ปีชวดโทศก พระครูโพนเสม็ดก็อาพาธลง ครั้นอาการมากแล้วพระครูโพนเสม็ดเห็นว่าจะไม่รอดจึงสั่งไว้ว่า ถ้าถึงแก่มรณภาพแล้วให้เอาอัฏฐิไปบรรจุไว้ที่ธาตุพนม ครั้นถึง ณ วันพุธขึ้นห้าค่ำเดือนเจ็ด พระครูโพนเสม็ดก็ถึงแก่มรณภาพ อายุได้ ๙๐ ปี เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงสั่งให้พระยาลาวท้าวแสนให้ทำเมรุเสร็จแล้ว ก็ชักศพพระครูโพนเสม็ดเข้าสู่เมรุ แต่งตั้งการทำบุญให้ทานมีการเล่นต่าง ๆ ได้เดือนหนึ่ง แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรกับแสนท้าวพระยาพร้อมกันก็จุดเพลิงเผาศพพระครูโพนเสม็ดเสร็จแล้ว เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงให้สร้างพระอารามขึ้นในที่ตำบลเผาศพพระครูโพนเสม็ดอารามหนึ่ง และก่อพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งพระเจดีย์เล็กสามองค์บรรจุอังคารพระครูโพนเสม็ดไว้ในพระอารามนั้น จึงได้เรียกว่าวัดธาตุมาจนบัดนี้ แต่อัฏฐินั้นเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรให้ท้าวพระยาคุมขึ้นไปให้บรรจุไว้ที่ธาตุพนมตามคำพระครูโพนเสม็ดสั่งไว้ แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงปรึกษาพร้อมด้วยเจ้านายพระยาลาวท้าวแสนว่า จะให้เจ้าโพธิสารราชบุตรที่มารดามาแต่ฝ่ายเขมรออกตั้งรักษาประชาราษฎรฝ่ายเขมร จึงได้มีพระราชสาส์นไปยังเจ้ากรุงกำพุชาธิบดีผู้ตาเจ้าโพธิสาร ๆ ได้ทราบในพระราชสาส์นแล้ว ก็ให้พระยาพระเขมรผู้ใหญ่มาพร้อมกันจัดการตั้งให้เจ้าโพธิสารเป็นเจ้าเมืองศรีจำบังอยู่ลำน้ำเซลำเภา แล้วพระยาพระเขมรจึงปันเขตต์แดนฝ่ายใต้ให้เป็นเขตต์แดนเมืองนครจำปาศักดิ์ น้ำโขงฝั่งตะวันจดตั้งแต่ปากคลองน้ำจะหลีกไปตามปลายคลองถึงลำน้ำเสน ฟากฝั่งเสนเป็นเขตต์แดนเมืองสะโทงกำปงสวายฝั่งน้ำโขงตะวันออกบุงขาถึงลำน้ำปากคลองสบา

ครั้นลุศักราช ๑๐๙๘ ปีมะโรงอัฏฐศก นายพรานนำข่าวสารมาแจ้งต่อท้าวพระยาเสนาบดีว่า พรานทึงพรานเทืองข่าบ้านส้มป่อยนายอนได้พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกมาองค์หนึ่ง พวกข่าหารู้จักว่าเป็นพระปฏิมากรไม่ ว่าเป็นรูปเจว็ดเอาเซ่นบวงสรวง ถ้าจะไปเที่ยวยิงสัตว์ก็เซ่นบอก ครั้นได้สัตว์มาแล้วก็เอาโลหิตสัตว์นั้นมาทาที่พระโอษฐ์พระ ถ้าจะตากเข้าและของก็เอาพระปฏิมากรมาตั้งไว้ให้เฝ้า ไก่กาก็หาทำอันตรายแก่ของที่ตากไม่ แต่พระกรรณนั้นข่าเมื่อได้พระเอาหน้าไม้คอนมาพระกรรณกระทบหน้าไม้บิ่นข้างหนึ่ง ท้าวพระยาเสนาบดีจึงนำข้อความขึ้นกราบทูลเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร ๆ ทราบแล้วก็มีปีติโสมนัส จึงแต่งท้าวพระยาผู้ใหญ่คุมไพร่พลขึ้นไปอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกลงมาณเมืองนครจำปาบาศักดิ์ ท้าวพระยาคุมไพร่พลขึ้นไปถึงบ้านส้มป่อยนายอนแล้ว ก็อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกแห่ลงมา พวกข่าบ้านส้มป่อยนายอนก็พากันตามลงมาส่งพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกจนถึงปากคลองบางเลียง ท้าวพระยาผู้ไปอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกนั้น ก็ให้พวกข่าบ้านส้มป่อยนายอนกลับคืนไปตามภูมิลำเนาเดิม แล้วก็อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกลงเรือ พอจะออกเรือลงมานครจำปาบาศักดิ์เกิดมหัศจรรย์คลื่นลมพายุก็หามีไม่ เผอิญให้เรือที่ทรงพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกเอียงลง พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกก็จมน้ำหายไป ท้าวพระยาจึงให้ไพร่พลลงดำน้ำค้นคว้าหาถึงสองวันสามวันก็หาได้ไม่ จึงได้นำข้อความไปกราบทูลเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร ๆ ได้ทรงทราบแล้วก็มีความเสียดายเสียพระทัยเป็นอันมาก แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงให้ตั้งพิธีบวงสรวงเทพารักษ์เสร็จแล้ว ตั้งสัตยาธิษฐานว่าบุญบารมีเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจะมีบุญญาภิสมภารแล้วขอให้ได้พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกองค์นี้ ครั้นเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรตั้งสัตยาธิษฐานแล้ว ในวันนั้นเวลาค่ำเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรเข้าที่บรรทมบังเกิดสุบินนิมิตต์เป็นเทพสังหรณ์ว่า ให้เอาพวกข่าบ้านส้มป่อยนายอนที่ตามมาส่งพระปฏิมากรแก้วผลึกมาดำน้ำค้นหาจึงจะได้ แต่พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกองค์นี้อยู่ที่บ้านใดเมืองใด เมืองนั้นก็จะบริบูรณ์หาอันตรายมิได้ เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรตื่นบรรทมแล้วก็มีปิติโสมนัส จึงสั่งให้แสนท้าวพระยาขึ้นไปหาตัวพวกข่าส้มป่อยนายอนที่ตามมาส่งพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกแต่ก่อนนั้นทั้งหญิงทั้งชายลงมาแล้วให้พวกข่าลงดำน้ำค้นหาพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก พรานทึงนายข่าจึงดำได้พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกขึ้นมา เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงให้ช่างทำฐานและเครื่องทรงพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก เสร็จแล้วแห่เข้าสู่โรงสมโภชมีการเล่นต่าง ๆ ครบ ๗ วัน ๗ คืน แล้วให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกประดิษฐานไว้ในหอพระที่วังเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรเป็นที่สักการบูชา พวกข่าที่ตามลงมาส่งพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกนั้นก็ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านขามเนิ่ง จึงเรียกว่าข่าข้าพระแก้วมาจนบัดนี้ แต่พรานทึงนั้นตั้งให้เป็นนายกองพิทักษ์รักษาข่าบ้านส้มป่อยนายอนที่ยังเหลืออยู่ให้เป็นส่วยขี้ผึ้งผ้าขาวถวายพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก ตั้งแต่ได้พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกมาไว้ในบ้านเมือง สมณพราหมณาจารย์เจ้านายพระยาท้าวแสนก็อยู่เย็นเป็นสุข

ลุศักราช ๑๐๙๙ ปีมะเส็งนพศก เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรประชวรโรคชรา จึงให้หาตัวเจ้านายท้าวพระยามาพร้อมกัน มอบราชสมบัติบ้านเมืองให้แก่เจ้าไชยกุมารผู้บุตร แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรก็ถึงแก่สวรรคต เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรครองราชสมบัติได้ ๒๕ ปี แต่ชนมายุเท่าใดมิได้ปรากฎ เสนาบดีทั้งปวงจึงอัญเชิญเจ้าไชยกุมารขึ้นครองราชสมบัติในเมืองนครจำปาบาศักดิ์ ถวายพระนามว่าพระเจ้าองค์หลวง ๆ จึงตั้งเจ้าธรรมเทโวอนุชาเป็นมหาอุปราช ตั้งเจ้าสุริโยเป็นราชวงศ์ แล้วพระเจ้าองค์หลวงทำเงินพดด้วงตอกตรา ๆ ดวงหนึ่งเป็นเม็ด ๆ เจ็ดเม็ด ตราดวงหนึ่งเรียกว่าตราดอกรัก น้ำหนัก ๓ สลึงเฟื้อง ลาวเรียกว่าเงินเป้งแปด หาเรียกว่าเงินบาทไม่ แต่ทุกวันนี้เรียกว่าเงินบาทลาวเงินเนื้อต่ำ พระองค์เจ้าหลวงจึงสั่งให้ท้าวพระยาเกณฑ์ไพร่ทำเมรุขึ้นที่ข้างวัง ครั้นการทำเมรุเสร็จแล้วจึงได้ชักศพเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรเข้าสู่เมรุทำบุญให้ทาน พระเจ้าองค์หลวงแลเจ้านายท้าวพระยาก็เผาศพเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรเสร็จแล้ว พระเจ้าองค์หลวงจึงให้เกณฑ์ไพร่พลก่อพระเจดีย์ขึ้นที่ตำบลทำเมรุ บรรจุอัฏฐิเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรไว้ในที่พระเจดีย์นั้น ยังปรากฏมาจนทุกวันนี้

ครั้นลุศักราช ๑๑๐๐ ปีมะเมียสัมฤทธิศก พระเจ้าองค์หลวงหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์หนึ่ง หน้าตักศอก ๘ นิ้ว ครั้นสร้างสำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดศรีสมังจนทุกวันนี้ อยู่นานมาชาวบ้านราษฎรพากันไปเที่ยวซุ่มซ่อมช้อนปลาในลำห้วย แล้วไปพบพระพุทธไสยาสน์องค์หนึ่งเป็นศิลา แต่ผู้ที่ไปพบหาทราบว่าเป็นพระพุทธปฏิมากรไสยาสน์ไม่ด้วยจมอยู่ในลำห้วย เห็นแต่พระกรสูงขึ้นมาพ้นน้ำ ราษฎรชาวบ้านจึงได้เอามีดไปลับที่พระกรพระนั้นเนือง ๆ มาวันหนึ่งมีคนไปลับมีดที่พระกรพระแล้ว เป็นด้วยอำนาจเทพยดาให้พระร้องปรากฏขึ้น คนที่ลับมีดก็ตกใจแล้วไปบอกแก่ชาวบ้านทั้งปวง ราษฎรชาวบ้านพากันไปขุดค้นดูจึงเห็นองค์พระพุทธไสยาสน์

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. แปลว่า แหลม