พจนานุกรมกฎหมาย/ข
หน้าตา
ข.
ขนอน
ขนอน | ด่าน, ที่คอย. | |
ขบถ | ผู้ที่ทนงองอาจกระทำการประทุษฐร้ายอย่างใด ๆ เพื่อจะทำลายรัฐบาลก็ดี หรือเพื่อจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองพระราชอาณาจักร์ก็ดี หรือเพื่อจะแย่งชิงเอาพระรา⟨ช⟩อาณาจักร์แม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ดี (ป.ก.อ. มาตรา ๑๐๑) | |
ความผิดฐานขบถนี้ แม้แต่ผู้ใดพะยายามจะก่อการขบถ เพียงแต่สะสมกำลังหรือเครื่องสาตราวุธ หรือตระเตรียมการ หรือสมคบกันคิดการเพื่อจะขบถก็ดี หรือยุยงไพร่บ้านพลเมืองจะให้ขบถก็ดี และผู้ใดรู้แล้วช่วยปกปิดไม่ร้องเรียนก็ดี ผู้นั้นยังมีความผิด ถ้าหากว่าเกิดขบถขึ้นดังพะยายาม ผู้พะยายามดังกล่าวแล้วมีโทษฐานขบถ (ป.ก.อ. มาตรา ๑๐๒) | ||
ขบถภายนอกพระราชอาณาจักร์ | ผู้ที่สมคบกับรัฐบาลประเทศอื่นหรือกับคนใช้ของรัฐบาลประเทศอื่นโดยเจตนาจะให้พระราชอาณาจักร์ทั้งหมดหรือแม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งตกไปอยู่ใต้อำนาจประเทศอื่นก็ดี หรือใช้อุบายอย่างอื่นโดยประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันกับที่ว่ามานี้ก็ดี (ป.ก.อ. มาตรา ๑๐๕) | |
ความผิดฐานขบถภายนอกพระราชอาณาจักร์นี้ แม้แต่ผู้ใดพะยายามกระทำเพียงแต่ได้ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อกระทำการ ก็มีความผิดเช่นเดียวกัน (ป.ก.อ. มาตรา ๑๑๑) | ||
ขบถภายในพระราชอาณาจักร์ | ดู ขบถ | |
ขมา | ขอโทษ, ความอดกลั้น, ความงดโทษ | |
ข่มขืนทำชำเรา | กิริยาที่ชายได้บังอาจใช้อำนาจด้วยกำลังกายหรือด้วยวาจาขู่เข็ญกระทำชำเราขืนใจหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตนเอง (ป.ก.อ. มาตรา ๒๔๓) | |
ขรัว | คำเรียกนำนามพระภิกษุที่มีอายุมาก | |
ขรัวยาย | ตำแหน่งบรรดาศักดิ์หญิงที่เป็นยายพระองค์เจ้า | |
ของเทียม | ของที่ทำขึ้นจนคล้ายจริง | |
ของแท้ | ของจริง | |
ของปลอม | ของเทียมที่ทำขึ้นโดยเจตนจะให้ผู้อื่นหลงว่าเป็นของแท้ (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๕)) | |
ของป่า | ต้นไม้ต่าง ๆ ไม้ฟืน ไม้ถ่าน สีเสียด น้ำมันยาง ยางไม้ (เช่น ยางสน ชัน และกำยาน) เปลือกไม้ ครัง น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ และสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดจากต้นไม้ทั่วไป รวมชะนิดต้นหญ้าทั้งหมด (ตลอดพง อ้อ ปรือ และคา ฯลฯ) พรรณไม้ไผ่ต่าง ๆ หวายต่าง ๆ พรรณไม้เลื้อยต่าง ๆ (พ.ร.บ. รักษาป่า พ.ศ. ๒๔๕๖ มาตรา ๓ ข้อ ๔) | |
ของหมั้น | เงินทองหรือสิ่งของที่ชายให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองหญิงเป็นประจำในการที่จะแต่งงานว่าฝ่ายชายสัญญาจะแต่งงานตามที่กำหนดไว้ ถ้าพ้นกำหนดไม่แต่งงาน บิดามารดาหรือผู้ปกครองหญิงมีอำนาจที่จะริบของหมั้นนั้นได้ (ดู คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒๘/๑๒๓) | |
ของหมั้นนี้เป็นส่วนของบิดามารดา เว้นไว้แต่บิดามารดาได้ให้ชายหญิง จึงเป็นของไหว้ นับว่าเป็น⟨สิน⟩สมรส (ดู สินสมรส) | ||
ข้อ | ส่วนข้อความในมาตราหนึ่งที่ขึ้นต้นด้วยบรรทัดย่อหน้าและมีเครื่องหมายเป็นตัวอักษรหรือเป็นเลขกำกับอยู่ข้างหน้า (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๒๖)) | |
ข้อกฎหมาย | ดู ประเด็นหาฤๅบท | |
ข้อเกี่ยวกับประเด็น | ข้อความใด ๆ ที่เป็นแต่เพียงเครื่องประกอบแวดล้อมข้อทุ่มเถียงในประเด็นซึ่งอาจทำให้คิดเห็นไปได้ว่าข้อเท็จจริงในประเด็นนั้นจะมีจริงหรือไม่มี และข้อความที่เป็นเหตุหรือเป็นผลของข้อเท็จจริงนั้น | |
ข้อเท็จจริง | ดู ประเด็นข้อเท็จจริง | |
ข้อบังคับ | คำสั่งของผู้มีอำนาจเหนือที่ได้ออกเป็นระเบียบวางไว้ว่าให้ผู้อยู่ใต้บังคับกระทำตามในระวางเวลาที่ยังไม่ได้ยกเลิก | |
ข้อสันนิษฐานในกฎหมาย | ดู กฎหมายสันนิษฐาน | |
ขัง | เอาตัวบุคคลหรือสิ่งที่มีชีวิตเข้าคุมขังในที่ ๆ ถูกควบคุมโดยไม่มีอิสสระที่จะไปไหนได้ตามชอบใจ | |
ขัดขวาง | กระทำการอย่างใด ๆ ให้เป็นที่กีดขวางแห่งกิจการของผู้อื่นอันจะกระทำได้โดยสดวก | |
ขัดทรัพย์ | ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่เจ้าพนักงานได้ยึดโดยว่าเป็นของผู้แพ้คดี ได้ร้องคัดค้านต่อศาลว่า ทรัพย์ที่ยึดนั้นไม่ใช่เป็นทรัพย์ของผู้แพ้คดี ขอให้ปล่อยทรัพย์พ้นจากการยึด (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๘๙) | |
ขัดหมาย | ผู้ที่ได้รับหมายให้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วไม่ทำตามหมาย | |
ขัดอำนาจศาล | ขัดขืนอำนาจศาลที่สั่งโดยชอบด้วยราชการ หรือหมิ่นประมาทผู้พิพากษาในเวลากระทำตามหน้าที่ หรือหมิ่นประมาทต่อศาล (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๑๓๔, ๑๓๖ และดู คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๔/๑๒๓) | |
การกระทำผิดในข้อนี้ถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อศาลโดยตรง นอกจากจะสั่งให้อัยยการฟ้องแล้ว (ดู พ.ธ.ย. มาตรา ๓๕ ข้อ ๓) เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจจะไต่สวนแลลงโทษเสียเองในทันทีก็ได้ (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๑๓๗) | ||
ขันต่อ | การพะนันที่มีการต่อรองกัน (ดู การพะนัน) | |
ขันหมาก | ขันใส่หมากพลูของเจ้าบ่าวซึ่งเชิญไปพร้อมกับของอื่นในพิธีแต่งงานเพื่อเป็นเครื่องคำนับผู้ปกครองของเจ้าสาว (ดู กฎห์ ลักษณะผัวเมีย บทที่ ๑๑๔) | |
ขาดนัด | คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่มิได้ไปศาลตามกำหนดวันเวลาที่ได้นัดไว้ | |
โจทก์ขาดนัดฝ่ายเดียว ถ้าเป็นคดีแพ่ง ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้จำหน่ายคดีเสียได้ (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๔๗) แต่โจทก์มีโอกาศที่จะร้องขอให้กลับพิจารณาใหม่ได้เมื่อมีเหตุผลสมควร (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๕๐) ถ้าเป็นคดีอาชญา ศาลมีอำนาจที่จะตัดสินยกฟ้องของโจทก์เสียทีเดียวก็ได้ (พ.ร.บ. ลักษณะพะยาน ร.ศ. ๑๑๓ มาตรา ๓๒, พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความมีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน ร.ศ. ๑๑๕ มาตรา ๑๐) | ||
จำเลยขาดนัด ถ้าเป็นคดีแพ่ง ศาลสืบพะยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วตัดสินไปตามรูปความ (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๔๘) แต่จำเลยมีโอกาศจะขอให้ศาลพิจารณาใหม่ได้เมื่อมีเหตุผลอันสมควร (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๕๐) ส่วนคดีอาชญา จำเลยขาดนัด จะสืบพะยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะการพิจารณาจะต้องพิจารณาต่อหน้าจำเลยทุกคราวไป (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความมีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน ร.ศ. ๑๑๕ มาตรา ๑๑) แต่เป็นโอกาศให้ศาลเรียกประกันตัวจำเลย หรือถ้ามีประกันอยู่แล้ว ก็อาจจะถูกถอนประกันเสียได้ | ||
ถ้าโจทก์จำเลยขาดนัดทั้งสองฝ่าย ในคดีแพ่ง จะต้องถูกจำหน่ายความเรื่องนั้นออกจากบัญชี แต่โจทก์จะฟ้องใหม่อีกก็ได้เมื่อไม่เกินอายุความ (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๔๖) ส่วนความอาชญา ก็จะต้องถูกจำหน่ายบัญชีเช่นเดียวกัน | ||
ขาดยื่นคำให้การ | จำเลยมิได้ไปแก้คดีหรือยื่นคำให้การตามวันเวลาที่ศาลกำหนด ในคดีแพ่ง มีผลให้จำเลยสืบพะยานฝ่ายตนเองมิได้ ได้แต่จะสาบาลตัวเองแล้วเบิกความ กับจะคอยซักค้านพะยานโจทก์เท่านั้น (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๔๕) ส่วนในทางอาชญา จำเลยยังมีอำนาจที่จะสืบพะยานตนเองได้ (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความมีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน ร.ศ. ๑๑๕ มาตรา ๑๒) | |
ขายตามคำพรรณา | ขายโดยผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ซื้อตรงตามคำพรรณา (ป.ก.พ. มาตรา ๕๐๓ วรรค ๒) | |
ขายตามตัวอย่าง | ขายโดยผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ซื้อตรงตามตัวอย่าง (ป.ก.พ. มาตรา ๕๐๓ วรรค ๑) | |
ขายทอดตลาด | เอาทรัพย์ออกร้องขายโดยเปิดเผย คนทั่วไปมีอำนาจเข้าไปฟังได้ ผู้ที่มาซื้อต่างแย่งกันให้ราคาขึ้นไป ในที่สุดผู้ใดให้ราคาสูง ผู้ร้องขายลงค้อนตกลงคำแก่ผู้นั้น การซื้อขายเป็นอันตกลงกันทันที (ดู ป.ก.พ. มาตรา ๕๐๙ ถึงมาตรา ๕๑๗) | |
ขายประมูล | เอารายละเอียดแห่งทรัพย์ที่จะขายออกประกาศเชิญคนทั้งหลายให้เข้ามาซื้อ โดย— | |
(๑)ประมูลเป็นหนังสือ คือ ให้ผู้ที่จะซื้อเขียนหนังสือแจ้งราคาขอรับซื้อยื่นต่อผู้ขายภายในกำหนดเวลาที่ผู้ขายกำหนดไว้ เมื่อผู้ขายตรวจดูราคาที่ผู้ซื้อทั้งหลายยื่นไว้ เห็นสมควรจะขายให้ผู้ใด ก็บอกตกลงไปยังผู้นั้น ฤๅ | ||
(๒)ประมูลด้วยปาก คือ ผู้ซื้อไปยังที่และเวลาที่ผู้ขายกำหนดไว้ แล้วก็แย่งต่อราคากันขึ้นไป ในที่สุดผู้ใดให้ราคาสูง ผู้ขายยอมบอกขายแก่ผู้นั้น วิธีนี้เป็นอย่างเดียวกับวิธีขายทอดตลาด (ดู ขายทอดตลาด) | ||
ขายเผื่อชอบ | ขายโดยมีเงื่อนไขว่าให้ผู้ซื้อได้มีโอกาศตรวจดูทรัพย์สินก่อนที่จะรับซื้อ ในเมื่อผู้ซื้อได้รับทรัพย์สินแล้ว ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อ ถ้าผู้ซื้อ— | |
(๑)มิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อภายในเวลาที่กำหนดไว้โดยสัญญา หรือโดยประเพณี หรือโดยคำบอกกล่าว ฤๅ | ||
(๒)ไม่ส่งทรัพย์สินนั้นคืนภายในกำหนดเวลา ฤๅ | ||
(๓)ใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเสร็จหรือแต่บางส่วน ฤๅ | ||
(๔)จำหน่ายทรัพย์สินนั้น หรือทำประการใดอันเป็นปริยายว่ารับซื้อทรัพย์สินนั้น | ||
(ป.ก.พ. มาตรา ๕๐๕, ๕๐๘) | ||
ขายฝาก | ขายโดยมีข้อสัญญาว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยผู้ขายมีอำนาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ในเมื่อไม่เกินเวลาดังนี้— | |
(๑)อสังหาริมทรัพย์ กำหนด ๑๐ ปี | ||
(๒)สังหาริมทรัพย์ กำหนด ๓ ปี | ||
(ป.ก.พ. มาตรา ๔๙๑, ๔๙๔) | ||
ข้าราชการ | คนที่ทำการหลวง | |
ข้าราชการตุลาการ | ผู้ที่รับราชการในตำแหน่งเป็นผู้พิจารณาพิพากษาอรรคดีในศาลสถิตย์ยุตติธรรม (ดู พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตุลาการ พ.ศ. ๒๔๗๑) | |
ข้าราชการทหาร | ผู้ที่รับราชการในฝ่ายทหาร (ดู ทหาร) | |
ข้าราชการในพระราชสำนัก | ผู้ที่รับราชการในฝ่ายพระราชสำนัก | |
ข้าราชการพลเรือน | ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เข้ารับราชการในกระทรวงทะบวงการแผ่นดินฝ่ายพลเรือน เว้นข้าราชการฝ่ายตุลาการ และให้รวมทั้งข้าราชการฝ่ายพลเรือนในกระทรวงทหาร (พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๔) | |
ข้าราชการพลเรือนมี ๓ ประเภท คือ— | ||
(๑)ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ชั้น คือ— | ||
(ก)ชั้นสัญญาบัตร์ ได้แก่ ข้าราชการซึ่งมียศตั้งแต่รองอำมาตย์ตรี หรือซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเสมอด้วยรองอำมาตย์ตรีขึ้นไป | ||
(ข)ชั้นราชบุรุษ ได้แก่ ข้าราชการซึ่งมียศชั้นราชบุรุษ หรือซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเสมอด้วยราชบุรุษ | ||
(๒)ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ คือ ผู้ที่มีวิชาพิเศษซึ่งรัฐบาลจ้างไว้ให้ทำการฉะเพาะอย่างหรือชั่วเวลาจำกัด และข้าราชการฝ่ายรัฐพาณิชย์ | ||
(๓)เสมียนพนักงาน คือ ข้าราชการชั้นต่ำ | ||
(พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๒๗, ๒๙,) | ||
ข้าศึก | ศัตรู, คนที่ปองจะทำร้าย | |
ข้าสาว | บ่าวผู้หญิง | |
ข้าหลวง | (๑) คนใช้ผู้หญิงของเจ้านาย (๒) ข้าราชการที่รัฐบาลส่งไปประจำเป็นครั้งคราวตามจังหวัดฤๅต่างประเทศ | |
ข้าหลวงพิเศษ | ข้าหลวงที่รัฐบาลส่งไปจัดการเมืองชั่วครั้งชั่วคราว | |
ข้าหลวงพิเศษศาลยุตติธรรม | ข้าหลวงผู้มีอำนาจและหน้าที่ภายในบังคับแห่งบทพระธรรมนูญศาลยุตติธรรมตามที่เสนาบดีกระทรวงยุตติธรรมจะได้ออกท้องตราสั่งไป (ประกาศตั้งตำแหน่งข้าหลวงพิเศษศาลยุตติธรรม ลงวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒) | |
ตามพระธรรมนูญศาลยุตติธรรม มาตรา ๒๘ กล่าวว่า ข้าหลวงพิเศษศาลยุตติธรรมนั้น คือ ผู้พิพากษาฝ่ายตุลาการอันได้มีพระบรมราชโองการตั้งให้เป็นข้าหลวงพิเศษ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบังคับอรรถคดีแพ่ง กรณีย์อาชญา และตรวจตราระเบียบราชการศาล แนะนำครอบงำผู้พิพากษาตุลาการทั่วหัวเมืองมณฑลในพระราชอาณาจักร์ (ดู ประกาศแก้พระธรรมนูญข้าหลวงพิเศษ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๘) | ||
แต่เดิมนั้นข้าหลวงพิเศษมีถึง ๓ จำพวก คือ— | ||
(๑)ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง | ||
(๒)สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล | ||
(๓)ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เสนาบดีมหาดไทยตั้ง | ||
ขึ้ง | โกรธ, เคือง | |
ขึ้งเคียด | โกรธแค้น | |
ขู่รู่ | ขู่ | |
เขตต์ตรวจแร่ | เขตต์ที่ดิน (ทั้งที่ดินใต้น้ำด้วย) ซึ่งได้กำหนดอนุญาตไว้ในอาชญาบัตร์ผูกขาดตรวจแร่ ผู้รับอาชญาบัตร์ผูกขาดตรวจแร่มีอำนาจตรวจหาแร่ในเขตต์ที่ได้ผูกขาดไว้นั้นแต่ผู้เดียว (พ.ร.บ. การทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๓ ข้อ ๔) | |
เขตต์เหมืองแร่ | พื้นที่ดิน ทั้งที่ดินใต้น้ำ อันรวมอยู่ในเขตต์ซึ่งได้กำหนดไว้ในประทานบัตร์ (พ.ร.บ. การทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๓ ข้อ ๖) | |
เขย | ญาติจำพวกชายที่เกิดขึ้นโดยทางสมรส, สามีของญาติ. |