ข้ามไปเนื้อหา

พจนานุกรมกฎหมาย/ก

จาก วิกิซอร์ซ
พจนานุกรมกฎหมาย

ก.
กงสุล
กงสุล ผู้แทนรัฐบาลในส่วนค้าขาย
กฎ ข้อบังคับที่ได้ตั้งขึ้นไว้ เช่น กฎวางระเบียบเครื่องแต่งกายผู้พิพากษาตุลาการ พ.ศ. ๒๔๕๙
กฎยุทธวินัย ข้อบังคับที่ว่าด้วยวินัยแลการลงอาชญาแก่ทหาร เช่น กฎว่าด้วยยุทธวินัยแลการลงอาชญาทหารบกฐานละเมิดยุทธวินัย พ.ศ. ๒๔๖๔
กฎมณเฑียรบาล ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบการปกครองและรักษาการในพระราชสถาน เช่น กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวข้าราชการในพระราชสำนัก พ.ศ. ๒๔๕๗
กฎเสนาบดี ข้อบังคับของเจ้ากระทรวงที่ตั้งขึ้นไว้โดยได้รับอำนาจจากกฎหมายที่ได้บ่งบัญญัติไว้และถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งกฎหมายที่ได้ตั้งขึ้น เช่น กฎเสนาบดีมหาดไทย เรื่อง การตรวจคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๗๐
กฎหมาย มีผู้แปลกันต่าง ๆ เช่น ออสบอน (Osborn) ว่า "กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ผูกพันความประพฤติให้จำต้องกระทำ" ฮอบบส์ (Hobbes) แปลว่า "คำสั่งของบุคคลผู้หนึ่งหรือหลายคนที่มีอำนาจบังคับประจำตัว" ออสติน (Austin) อธิบายว่า "กฎหมาย คือ เป็นข้อบังคับสำหรับความประพฤติ ซึ่งรฐาธิปัตย์ได้บัญญัติและบังคับไว้" แซลมอนด์ (Salmond) แก้ศัพท์ว่า "กฎหมายเป็นองค์กำหนดการปฏิบัติ ซึ่งบ้านเมืองถือกำหนดและนำมาใช้ในการอำนวยความยุตติธรรม" แบลกสะโตน (Blackstone) ถือว่า "ข้อบังคับแห่งกฎหมายซึ่งได้ทำขึ้นตามประเพณีที่เคยมีมาแต่ก่อน ให้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย นอกจากผู้ตั้งกฎหมาย หรือตุลาการ" เมน (Maine) นั้น ชี้แจงว่า "มีกฎหมายในระวางประชุมชนมาแต่ครั้งโบราณ" ซาวิญีย์ (Savigny) ถือว่า "กฎหมายนั้นย่อมเจริญขึ้นในตนเองได้โดยตามลำดับ แต่ไม่เป็นไปตามใจของผู้ออกกฎหมาย" เจอริง (Jhering) เห็นผลที่สุดของกฎหมายว่า เป็น "กำหนดเขตต์ของผลประโยชน์" วิโนกราดอฟฟ์ (Vinogradoff) เห็นว่า กฎหมายเป็น "ข้อบังคับชุดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นและบังคับฝูงชน เนื่องด้วยการถืออำนาจและใช้อำนาจเหนือบุคคลแลสิ่งของ" เดอ มอนต์โมเรนซี (De Montmorency) กระจายศัพท์กฎหมายลงว่า "เป็นข้อบังคับซึ่งรัดรึงคนทั้งหลายให้เข้าเป็นหมู่คณะ ในการที่จะต่อต้านกับธรรมชาติที่ห้อมล้อมโดยรอบกาย"
แต่ถ้าจะแปลกันอย่างสั้น ๆ แล้ว ก็ควรจะต้องกล่าวว่า "กฎหมาย เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับของผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดสูงสุดในประเทศเอกราช ได้บัญชาลงไว้ให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับประพฤติตาม ถ้าผู้ใดฝ่าฝืน ผู้นั้นจะต้องถูกบังคับให้ต้องรับโทษหรือสำนอง"
กฎหมายแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ—
(๑)สารบัญญัติ คือ กฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลทั่วไป เช่น ประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา (ฉะเพาะความใน ภาคที่ ๒) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ในส่วนที่มิใช่เกี่ยวแก่วิธีพิจารณา) เป็นต้น
(๒)สบัญญัติ คือ กฎหมายที่ว่าด้วยกระบวนพิจารณาสำหรับชำระความในศาล เพื่อดำเนิรการบังคับให้เป็นผลตามสิทธิที่มีอยู่ กล่าวคือ การพิจารณาให้ล่วงรู้ว่า กิจการใดที่บุคคลใดได้ทำไปเป็นผิดหรือชอบด้วยสารบัญญัติประการใด เช่น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗, พระราชบัญญัติลักษณะพะยาน ร.ศ. ๑๑๓ เป็นต้น
สารบัญญัติยังแบ่งออกได้อีก ๒ อย่าง คือ—
(๑)อาชญา คือ กฎหมายที่ลงโทษคนในทางอาชญา (ดู กฎหมายลักษณะอาชญา)
(๒)แพ่ง คือ กฎหมายที่บังคับ ปรับปรุง หรือใช้สินไหมทดแทน เพราะเหตุที่กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาต่อกัน (ดู กฎหมายลักษณะแพ่ง)
แพ่งนั้น ยังแบ่งออกได้เป็นอีก ๒ ชะนิด คือ—
(๑)สัญญา (ดู สัญญา)
(๒)ละเมิด (ดู ละเมิด)
กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในบัดนี้ มี ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งออกบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร ที่เรียกว่า "ประมวล" (Code) เช่น ประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ของไทยเรา เป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้ออกบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างที่เรียกว่า "กฎหมายธรรมดา" (Common Law) มีของอังกฤษเป็นอาทิ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) เรียกกฎหมายที่ประกาศเป็นบทมาตราแล้วว่า "บทกฎหมาย" ตรงกับภาษาละตินว่า "Lex" เรียกกฎหมายทั่ว ๆ ไป จะประกาศเป็นบทมาตราแล้วหรือยังก็ตาม ว่า "กฎหมาย" ตรงกับภาษาละตินว่า "Jus" (ดู ฟุตโน๊ตในคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉะบับเก่า) ตอนที่ ๓ หน้า ๓๑๘ ของท่านผู้นี้)
กฎหมายนานาประเทศ ดู กฎหมายระวางประเทศ
กฎหมายปิดปาก ดู บทตัดสำนวน
กฎหมายสันนิษฐาน ความสันนิษฐานของกฎหมาย ในเมื่อมีเหตุการณ์อันเป็นข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ให้ถือว่าผลต้องฤๅควรเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ฤๅเท่ากับเป็นเช่นนั้นเช่นนี้
ข้อสันนิษฐานในทางกฎหมายนั้น พอแบ่งออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ–
(๑)สันนิษฐานโดยข้อกฎหมาย เช่น กฎหมายลักษณะอาชญา มาตรา ๕๖ สันนิษฐานว่า เด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบไม่รู้เดียงสา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๔–๖๕ สันนิษฐานว่า คนที่สาบสูญไปตั้ง ๗ ปีนั้น ตาย
ข้อนี้ยังแบ่งออกได้อีก ๒ ประการ คือ—
(ก)สันนิษฐานเด็ดขาด คือ ไม่ยอมให้สืบพะยานหักล้าง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบ ที่กฎหมายสันนิษฐานว่าไม่รู้เดียงสา จะนำสืบว่ารู้เดียงสาไม่ได้ (ป.ก.อ. มาตรา ๕๖)
(ข)สันนิษฐานไม่เด็ดขาด คือ ยอมให้สืบพะยานหักล้างได้ เช่น ผู้ที่มิได้เล่นการพะนัน แต่ถูกจับในวงการพะนันที่เล่นกันโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายสันนิษฐานก่อนว่าผู้ถูกจับเป็นผู้เล่น แต่ผู้ถูกจับสืบหักล้างได้ว่าไม่ได้เล่น (พ.ร.บ. การพะนัน พ.ศ. ๒๔๗๓ มาตรา ๖)
(๓)สันนิษฐานโดยข้อเท็จจริง เช่น ใช้ปืนยิงคน ตามธรรมดาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ยิงตั้งใจจะฆ่าผู้ถูกยิงให้ตาย เพราะปืนเป็นอาวุธร้ายแรงมาก (ดู คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๔/๑๒๘, ๕๔๗/๑๒๘) แต่นำสืบหักล้างได้
กฎหมายระวางประเทศ แบบธรรมเนียม ประเพณี และกฎข้อบังคับ สำหรับความประพฤติของประเทศต่าง ๆ ต่อกันแลกัน (ดู พระราชนิพนธ์หัวข้อกฎหมายนานาประเทศแผนกคดีเมือง ของพระมงกุฎเกล้าฯ หน้า ๓)
บางคนเรียกกฎหมายระวางประเทศว่า "ธรรมะระวางประเทศ" เพราะไม่เป็นกฎหมายบริบูรณ์ คือ ขาดการบังคับได้อย่างจริงจังในเมื่อมีผู้กระทำผิด
กฎหมายลักษณะแพ่ง กฎหมายที่กำหนดอำนาจและหน้าที่ของบุคคลผู้ที่กระทำผิด เป็นการกระทำผิดต่อเอกชน จะได้รับผลเพียงถูกบังคับใช้ทรัพย์ฤๅใช้สินไหมทดแทน เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กฎหมายลักษณะอาชญา กฎหมายที่บัญญัติความผิด ซึ่งโดยมากเป็นการกระทำผิดต่อประชาชน ฤๅประชาชนได้รับความเสียหาย โดยกำหนดการลงโทษผู้กระทำผิดไว้เป็นอาชญา เช่น ประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา
กฎอัยยการศึก กฎหมายที่ใช้บังคับเหนือกฎหมายธรรมดาโดยอำนาจศาลทหารชั่วครั้งคราวเพื่อการปกครองท้องที่ เช่น พระราชบัญญัติกฎอัยยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ (ดู ศาลสนาม)
กติกา การกำหนด, การนัดหมาย
กบฎ ดู ขบถ
กรณีย์ คดีความ, เรื่อง, กิจการที่กระทำ
กรม ราชการแผนกหนึ่ง ๆ ที่แบ่งออกจากทะบวงการ ซึ่งมีหัวหน้าเป็นเจ้ากรมหรืออธิบดีปกครองบังคับบัญชา เช่น กรมตำรวจภูธร
กรมการ ดู กรรมการ
กรมตำรวจภูธร ราชการแผนกหนึ่งซึ่งมีอธิบดีเป็นหัวหน้า มีหน้าที่ในการจัดตั้งตำรวจฯ ขึ้นปราบปรามโจรผู้ร้ายและรักษาศานติสุขแห่งประชาชน (ดู ตำรวจ)
กรมธรรม์ หนังสือสัญญาที่ทำขึ้นตามแบบ และจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่
มีหนังสืออีกชะนิดหนึ่งซึ่งมิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน กฎหมายก็เรียกว่า "กรมธรรม์" คือ หนังสือตราสารที่ผู้รับประกันภัยทำให้แก่ผู้เอาประกันภัยในเรื่องประกันภัย แต่เรียกว่า "กรมธรรม์ประกันภัย" (ป.ก.พ. มาตรา ๘๖๗)
กรมธรรม์ประกันภัย หนังสือตราสารที่ผู้รับประกันภัยทำให้แก่ผู้เอาประกันภัยในการประกันภัย
กรมธรรม์ประกันภัยนี้ต้องลงลายมือชื่อผู้รับประกันภัย แลมีรายการดังต่อไปนี้—
(๑)วัตถุที่เอาประกันภัย
(๒)ภัยใดซึ่งผู้เอาประกันภัยรับเสี่ยง
(๓)ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กำหนดกันไว้
(๔)จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย
(๕)จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย
(๖)ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย
(๗)ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย
(๘)ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย
(๙)ชื่อของผู้รับประโยชน์ ถ้าจะพึงมี
(๑๐)วันทำสัญญาประกันภัย
(๑๑)สถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย
(ป.ก.พ. มาตรา ๘๖๗)
กรมธรรม์สัญญา ดู กรมธรรม์
กรมรักษาทรัพย์ ราชการแผนกหนึ่งซึ่งมีเจ้ากรมเป็นหัวหน้า มีหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สมบัติของผู้ที่ต้องล้มละลายตามคำสั่งของศาล กับทั้งเป็นผู้จัดการทรัพย์สมบัติของผู้ที่ถูกล้มละลายด้วย
กรมอัยยการ ราชการแผนกหนึ่งที่มีอธิบดีเป็นหัวหน้า มีหน้าที่เป็นทนายแทนแผ่นดินและฟ้องความแทนราษฎรในคดีอาชญาและคดีแพ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ฤๅที่ราษฎรไม่สามารถจะฟ้องด้วยตนเองได้ (ดู อัยยการ)
กรรม การ, กระทำ, เจตนา, งาร, กิจ, ธุระ, หน้าที่
กรรมกร บุคคลผู้มีอาชีพในทางทำการงาร, คนงาร
กรรมกรณ์ เครื่องสำหรับลงอาชญา เครื่องจองจำ เช่น โซ่ ตรวน เป็นต้น
กรรมการ บุคคลผู้มีหน้าที่ประชุดจัดการงารของนิติบุคคล เช่น กรรมการของบริษัท กรรมการของสมาคม เป็นต้น และคนที่มีหน้าที่ตัดสินกรณีย์หรือพฤติการณ์อย่างใด ๆ เช่น กรรมการของศาลทหาร, กรรมการจัดการกิฬา เป็นอาทิ
กรรมการฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลนี้ที่จะเป็นองค์คณะตรวจตัดสินฎีกาได้ต้องมีไม่น้อยกว่า ๓ คน
กรรมสิทธิ์ อำนาจแห่งความสำเร็จเด็ดขาดในการที่จะยึดถือ ใช้ เก็บประโยชน์ ซื้อ ขาย จำหน่าย หรือทำลายทรัพย์นั้นได้ เมื่อไม่มีกฎหมายห้าม
กรรมสิทธิ์เกิดขึ้นได้ดังนี้—
(๑)โดยเข้ายึดถือ
(๒)โดยอายุความ
(๓)โดยทำขึ้น
(๔)โดยเป็นส่วนหนึ่งแห่งของเดิม
(๕)โดยเจ้าของโอนให้
(๖)โดยทางมฤดก
อำนาจกรรมสิทธิ์นี้ ตามธรรมดาย่อมมีอยู่แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์เสมอไป เว้นไว้แต่—
(๑)เจ้าของสละ เช่น ขายทรัพย์ให้แก่ผู้อื่นโดยถูกต้องตามกฎหมาย อำนาจกรรมสิทธิ์นี้ขาดทันที แต่บางอย่างไม่ขาดทันทีโดยกฎหมายบัญญัติ เช่น การละทิ้งที่ดินที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ จะขาดกรรมสิทธิ์ต่อเมื่อละทิ้งครบกำหนดอายุของหนังสือสำคัญที่กฎหมายบัญญัติไว้ (ดู โฉนด, ตราแดง, ตราจอง, ใบเหยียบย่ำ, หนังสือสำคัญสำหรับที่บ้าน)
(๒)เกินกำหนดเวลาที่กฎหมายบังคับ เช่น กรรมสิทธิ์หนังสือที่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์แล้ว ผู้แต่งกรรมสิทธิ์มีตลอดอายุของผู้แต่ง แลต่อไปอีก ๗ ปีนับตั้งแต่วันที่ผู้แต่งวายชนม์ แต่ถ้าผู้แต่งมีกรรมสิทธิ์อยู่จนถึง ๗ ปีแล้วจึงวายชนม์ ให้มีกรรมสิทธิ์รวม ๔๒ ปีนับจากวันได้รับกรรมสิทธิ์ กรรมสิทธิ์เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้ว ให้ใช้ได้เพียง ๑๐ ปี แต่จะจดทะเบียนต่อไปอีกก็ได้ (ดู เครื่องหมายการค้า)
ผู้ทรงกรรมสิทธิ์นั้นจะมีอำนาจทรงอยู่ได้ก็ในระวางมีชีวิต แต่ถ้าวายชนม์ลงแล้ว จะต้องโอนไปยังผู้รับมรฎกฤๅวิธีอื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้
กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ อำนาจสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียวในการที่จะพิมพ์ จัดคัดแปลเป็นภาษาอื่น หรือจะเพิ่มจำนวนเล่ม หรือจะจำหน่ายหรือขายหนังสือที่ตนมีกรรมสิทธิ์นั้นได้แต่ผู้เดียว ผู้อื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของกรรมสิทธิ์หามีอำนาจไม่ (พ.ร.บ. กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. ๑๒๐ มาตรา ๔)
หนังสือที่แต่งซึ่งจะมีกรรมสิทธิ์ได้นั้น ต้องเป็นหนังสือที่ได้พิมพ์จำหน่ายเป็นครั้งแรกในพระราชอาณาจักร์ (พ.ร.บ. กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. ๑๒๐ มาตรา ๗)
หนังสือนั้นต้องนำไปจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานภายใน ๑๒ เดือนนับตั้งแต่ได้พิมพ์ออกจำหน่าย (พ.ร.บ. กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. ๑๒๐ มาตรา ๑๐)
หนังสือนั้นจะต้องพิมพ์คำว่า "มีกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ" ลงที่หน้าหนังสือ หรือใบปกหน้าสมุด หรือส่วใดส่วนหนึ่งที่เห็นได้ง่าย (พ.ร.บ. แก้ไขกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๒๒)
กรรมสิทธิ์ในหนังสือนี้มีอยู่ตลอดอายุของผู้แต่งหนังสือ แลต่อไปอีก ๗ ปีจากวันที่ผู้แต่งวายชนม์ แต่ถ้าผู้แต่งมีกรรมสิทธิ์อยู่จนถึง ๗ ปีแล้วจึงวายชนม์ ให้มีกรรมสิทธิ์รวมเป็นเวลา ๔๒ ปีนับจากวันได้รับกรรมสิทธิ์ (พ.ร.บ. กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. ๑๒๐ มาตรา ๕)
กระทรวง ทะบวงการของรัฐบาลแผนกหนึ่ง ๆ ที่มีหัวหน้าเป็นเสนาบดีปกครองบังคับบัญชา เช่น กระทรวงยุตติธรรม
กระทรวงกลาโหม กระทรวงที่มีหน้าที่ในการทหารบก
กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงที่มีหน้าที่ในการพูดจาโต้ตอบกิจการบ้านเมือง ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ทำสัญญากับนานาชาติเพื่อความศานติสุข ตลอดถึงการค้าขายซึ่งเกี่ยวกับคนในบังคับรัฐบาลต่างประเทศ
กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงที่มีหน้าที่ออกโฉนดที่ดินเรือกสวนไร่นา การขุดหาแร่ การรักษาสัตว์น้ำ และการป่าไม้ในพระราชอาณาจักร์
กระทรวงทหารเรือ กระทรวงที่มีหน้าที่ในการทหารเรือ
กระทรวงธรรมการ กระทรวงที่มีหน้าที่ในการพระสาสนาและการศึกษา
กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงที่มีหน้าที่ในการเงินของแผ่นดิน
กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม กระทรวงที่มีหน้าที่ในการจัดการทำนุบำรุงการคมนาคม เช่น รถไฟ ทางหลวง แลทางราษฎร์ จัดการไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ในการส่งข่าวสาส์น จัดการเผยแผ่แลบำรุงการพาณิชย์ กับบำรุงการเพาะปลูกของประเทศ
กระทรวงยุตติธรรม กระทรวงที่มีหน้าที่ในการจัดการศาล รักษาพระธรรมนูญแลตัวบทกฎหมายแผ่นดิน แลพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุตติธรรม
กระทรวงมหาดไทย กระทรวงที่มีหน้าที่ในการจัดการปกครองรักษาประชาชนในพระราชอาณาจักร์
กระทรวงวัง กระทรวงที่มีหน้าที่จัดการต่าง ๆ ในพระราชสำนักอันเกี่ยวในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแลพระบรมราชวงศ์ กับจัดการงารในพระราชพิธีต่าง ๆ
กระทำ การที่สะแดงออกมาแห่งความตกลงในใจของบุคคลคนหนึ่งคนใด มุ่งถึงเหตุเดิมแห่งสิทธิ หรือความเป็นที่สิ้นสุดแห่งสิทธิ หรืออาการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น
การกระทำนี้ย่อมประกอบด้วยข้อสำคัญ ๓ ประการ คือ—
(๑)ความตกลงในใจ
(๒)ความรู้สึกเหตุผล
(๓)ความตกลงในใจได้สะแดงออกมา
ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา ไม่หมายความแต่ฉะเพาะการที่บุคคลกระทำ ให้หมายความได้ตลอดถึงการละเว้นการซึ่งกฎหมายกำชับให้กระทำและผลแห่งการละเว้นนั้นด้วย (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๑))
อุทาหรณ์เช่น เราเอาปืนยิงคนตาย เรียกว่าเราได้กระทำให้คนตายโดยเจตนา แต่ถ้าเราเอาลูกขังจนลูกอดข้าวตาย ก็เรียกว่าเรากระทำให้ลูกตายเหมือนกัน เพราะเราละเว้นการซึ่งกฎหมายกำชับให้กระทำ คือ การให้ลูกกินข้าว จนเกิดผลถึงลูกตาย
กระทำการทุจริต ผู้ใดกระทำการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองก็ดี เพื่อผู้อื่นก็ดี อันเป็นประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แลเกิดการเสียหายแก่ผู้อื่น (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๓)) เช่น ถือเอาประโยชน์อันเกิดจากการยักยอกทรัพย์
กระทำความผิด ผู้ใดกระทำการอันใดซึ่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้นบัญญัติว่าจะต้องถูกทำโทษ (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๖)) เช่น ลักทรัพย์ของผู้อื่น
กระทำพยานเท็จ กระทำการอย่างใด ๆ อันประกอบด้วยความเท็จ เพื่อให้เป็นหลักถานพะยานในภายน่า
ตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา มีดังนี้ คือ—
(๑)ก่อให้เกิดมีขึ้นด้วยประการใด ๆ หรือทำบัญชีหรือจดลงในจดหมายและหนังสือเอกสารใด ๆ ที่อาจจะพึงใช้เป็นสักขีพะยานในข้อสำคัญแห่งการพิจารณาคดีอันใด โดยรู้อยู่ว่าเหตุการที่ก่อให้เกิดขึ้นและบัญชีหรือหนังสือที่ทำนั้นจะให้เสียความสัตย์จริงในคดี (ป.ก.อ. มาตรา ๑๕๗)
(๒)เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ทำหนังสือราชการหรือจดบัญชีและข้อความที่เป็นหลักถานอย่างใด ๆ ได้บังอาจเอาเนื้อความซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาจดลงว่าเป็นความจริง หรือจดลงโดยลักษณะอันเป็นเท็จ อาจสามารถจะเกิดการเสียหายแก่ผู้อื่นได้ (ป.ก.อ. มาตรา ๒๓๐)
(๓)แพทย์จดหมายข้อความเท็จลงในหนังสือสะแดงความเกิดความตายหรือใบบอกอาการของบุคคล โดยรู้ว่าจะมีผู้เอาหนังสือไปหลอกลวงเจ้าพนักงานในหน้าที่หรือหลอกลวงบริษัทรับประกันให้หลงเชื่อ (ป.ก.อ. มาตรา ๒๓๑)
กระทำมิชอบ ผู้ใดกระทำการอันใดที่ตนมิได้มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๒)) เช่น ทำร้ายร่างการผู้อื่นโดยมิได้มีอำนาจที่จะทำได้
กระทำให้เสื่อมเสียอิสสระภาพ ผู้ใดมิได้มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย บังอาจใช้อำนาจกระทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำร้ายข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำหรือมิกระทำการใด ๆ ก็ดี หรือข่มขืนใจให้เขาจำยอมให้กระทำการใด ๆ ก็ดี (ป.ก.อ. มาตรา ๒๖๘)
กระทำให้เสื่อมเสียอิสสระภาพมีเกณฑ์ดังนี้ คือ—
(๑)ใช้อำนาจกระทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำร้าย
(๒)โดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมาย
(๓)ให้เขากระทำการ หรือละเว้นกระทำการ หรือยอมให้กระทำการอย่างใด ๆ
อุทาหรณ์เช่น ผู้ใหญ่บ้านพูดห้ามคนแจวเรือจ้างว่า ไม่ให้รับส่งคนโดยสาร ถ้าขืนรับจะต้องจับ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๐/๒๔๕๔) หรือเอาคนมากักขังโดยมิได้มีอำนาจที่จะกระทำได้ (ดู คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗/๒๔๕๗, ๔๕/๒๔๕๙, ๕๑๖/๒๔๖๒, ๙๑๗/๒๔๖๓)
กระทู้ ข้อความ, หัวข้อ, เค้าเงื่อน.
กระบิล ข้อ, เค้า, แบบแผน, หมู่.
กระษาปณ์ เงินตรา
กฤษฎีกา ดู กติกา
กลฉ้อฉล โกงโดยใช้อุบาย
กลพะยาน พะยานที่ถูกวานให้ไปถามเป็นคำนับ (กฎห์ ลักษณะพะยาน บทที่ ๙)
กล้องสูบฝิ่น หัวกล้อง หรือด้ามกล้อง หรือทั้งหัวกล้องและด้ามกล้องรวมกัน หรือเครื่องมืออย่างอื่นอันทำไว้เพื่อสูบฝิ่น (พ.ร.บ. ฝิ่น พ.ศ. ๒๔๗๒ มาตรา ๓ วรรค ๖)
กลางคืน เวลาระวางตั้งแต่พระอาทิตย์ตกไปจนพระอาทิตย์ขึ้น (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๒๔))
กสิกรรม การเพาะปลูก
ก่อการจลาจล บุคคลมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังกระทำร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะทำร้าย หรือกระทำการอย่างใด ๆ ขึ้นให้วุ่นวายในบ้านเมือง (ป.ก.อ. มาตรา ๑๘๓)
กองหมาย ราชการแผนกหนึ่งซึ่งมีเจ้ากรมเป็นหัวหน้า มีหน้าที่ในการนำหมายของศาลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ไปส่งให้โจทก์ จำเลย หรือพะยานตามที่ศาลต้องการ ทั้งมีหน้าที่ในการยึดทรัพย์และจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สมบัติของคู่ความตามคำสั่งของศาลแลกรมรักษาทรัพย์ด้วย
กะเกณฑ์ บังคับ, กำหนด, หมาย
กะทง ฐานโทษ
กะทงแถลง คัดใจความยกขึ้นเสนอ
กะบิล ดู กระบิล
กัก หน่วงเหนี่ยวเอาไว้
กักห้ามเรือ ตามกฎหมายระวางประเทศหมายถึง กิริยาที่ประเทศที่ได้รับความเจ็บแค้นกักห้ามเรือของประเทศที่กระทำผิดที่อยู่ภายในอ่าวของประเทศซึ่งห้ามเป็นการตอบแทน
กันโชก ผู้ใดไม่มีอำนาจที่จะได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ได้บังอาจบังคับผู้อื่นด้วยใช้กำลังข่มขืนหรือขู่เข็ญขืนใจให้เขาสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ก็ดี หรือให้เขาทำ หรือถอน หรือทำลายหนังสือสำคัญอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี (ป.ก.อ. มาตรา ๓๐๓)
กันโชกมีเกณฑ์ดังนี้ คือ—
(๑)บังคับเขาโดยใช้กำลังข่มขืนหรือขู่เข็ญขืนใจเขา
(๒)ให้เขาทำสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ หรือให้เขาทำ หรือถอน หรือทำลายหนังสือสำคัญ
(๓)โดยตนไม่มีอำนาจที่จะบังคับเขาเช่นนั้น
(๔)กระทำโดยเจตนาทุจริต
อุทาหรณ์เช่น ทนายความนำยึดทรัพย์ของตัวความอีกฝ่ายหนึ่งที่แพ้คดี ในการยึดทรัพย์นั้น ทนายความพบธนบัตร์ ๑ ฉะบับ จึงพูดว่า ผู้ถูกยึดจะต้องติดตรางในเรื่องมีธนบัตร์ปลอมและยักยอกทรัพย์ที่จะยึด เพื่อประสงค์จะให้เขาให้เงินแก่ตน ผู้ถูกยึดมีความกลัว จึงยอมทำสัญญายกทรัพย์ให้ทนายความผู้นั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๖/๒๔๖๘)
กานไม้ ตัดต้นไม้ไว้แต่พอควรเพื่อจะได้ตัดขาดจากต้นในภายหน้า (ดู พ.ร.บ. รักษาต้นไม้สัก ร.ศ. ๑๑๖)
การ กิจ, งาร, ธุระ, หน้าที่, สิ่งที่กระทำ
การค้าขาย การลงทุนด้วยสินทรัพย์ หรือด้วยกำลัง หรือความคิดก็ดี หรือด้วยชื่อเสียง เกียรติยศ เกียรติคุณก็ดี เพื่อหาผลกำไรจากการที่ลงทุนกระทำนั้น
การณ์ เหตุ, เหตุการณ์, เค้า, มูล.
การณรงค์สงคราม ดู สงคราม
การพะนัน สัญญาในระวางบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป มีความเห็นต่างกันในสิ่งที่ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าจะตรงกับความเห็นฝ่ายใด และเมื่อสิ่งนั้นมีความเป็นอยู่ฤๅเกิดขึ้นตรงกับความเห็นฝ่ายใดแล้ว ฝ่ายนั้นเป็นผู้ชนะ จะต้องได้สินทรัพย์จากอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายที่แพ้
ยังมีสัญญาอีกประเภทหนึ่ง มีลักษณะคล้ายสัญญาการพะนัน คือ "สัญญาประกันภัย" แต่เป็นพาณิชโยบายที่จะช่วยการค้าขายได้ส่วนหนึ่ง กฎหมายจึงกำหนดเอาว่าเป็นสัญญาที่ใช้ได้ต่างหากจากสัญญาการพะนัน (ดู ประกันภัย)
"การพะนัน" นี้บางคนก็เรียกว่า "การพะนันขันต่อ" แต่แท้จริง "การพะนัน" เป็นคำหนึ่งที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Gambling" ซึ่งเป็นการพะนันที่เล่นกันโดยมิได้มีการต่อรอง เช่น เล่นไพ่ตอง เป็นต้น และ "ขันต่อ" เป็นอีกคำหนึ่งที่เรียกว่า "Betting" ซึ่งเป็นการพะนันที่มีการต่อรองกัน เช่น เล่นตีไก่ กัดปลา เป็นอาทิ (ดู ขันต่อ)
การพะนันขันต่อไม่ทำให้เกิดหนี้ตามกฎหมาย สิ่งที่ให้ไปในการพะนันก็เรียกคืนไม่ได้ และใช้ตลอดถึงข้อตกลงเป็นมูลหนี้ฝ่ายที่เสียการพะนันขันต่อทำให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อใช้เงินพะนันหรือขันต่อนั้น (ป.ก.พ. มาตรา ๘๕๓ และควรดูคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีแดงที่ ๔๗/๗๑๖/๒๔๗๓ ระวางนายประเวศน์ เบลี่, นายแจ้ ผดุงชีวิต โจทก์ สโมสรราชตฤณมัย กับนาย ดี. เอ. เปสตันยี จำเลย ซึ่งเป็นคดีที่สิ้นสุดเพียงนั้น)
การพิจารณาคดีล้มละลาย การพิจารณาในคดีล้มละลาย จะเป็นที่ศาลหรือที่เจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ก็ตาม นับตั้งแต่ชั้นยื่นฟ้องจนถึงชั้นคำสั่งเด็ดขาด (พ.ร.บ. ล้มละาย ร.ศ. ๑๓๐ มาตรา ๖ วรรค ๘)
การพิมพ์ การกดให้เป็นรอยอย่างใด ๆ ไม่ฉะเพาะแต่ด้วยตีพิมพ์ ให้หมายควมตลอดทั้งการที่ทำด้วยพิมพ์หิน ฤๅใช้ด้วยเครื่องกล ฤๅด้วยเฆมีอย่างใด ๆ อันเป็นทางให้ทำได้หลาย ๆ ฉะบับ (พ.ร.บ. สมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ มาตรา ๔ วรรค ๒)
การสมรส ดู สมรส
การสุขาภิบาล การเหล่านี้ คือ—
(๑)การรักษาความสะอาดในท้องที่
(๒)การป้องกันและรักษาความไข้เจ็บในท้องที่
(๓)การบำรุงรักษาทางไปมาในท้องที่
(พ.ร.บ. จัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๔)
กำนัน ผู้ปกครองลูกบ้านในตำบลหนึ่ง ๆ (ดู พ.ร.บ. ลักษณปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๓๐)
กำนล เครื่องเส้น, เครื่องบูชา, เครื่องคำนับ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใช้เรียกจำนวนเงินที่ครูผู้สอนลูกมือฝึกหัดเรียกเอาแก่ลูกมือฝึกหัดนั้น (ป.ก.พ. มาตรา ๑๖๕ ข้อ ๑๐)
กำนัล นางพนักงานในพระราชสำนัก, ของที่ให้กันโดยความนับถือ (ดู กำนล)
กำเนิด ความเกิด, เกิด, เป็นขึ้น, มีขึ้น,
กำปั่นใบ ดู เรือใบ
กำปั่นไฟ ดู เรือกลไฟ
กำปั่นยนตร์ ดู เรือกลไฟ
กำมะลอ ของทำเทียม
กำไร ดู ผลกำไร
กิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค การรถไฟ รถราง ขุดคลอง เดิรอากาศ ประปา ชลประทาน โรงไฟฟ้า และบรรดากิจการอื่นอันกะทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน (พ.ร.บ. ควบคุมกิจการค้าขายอันกะทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๕)
กิจการในกฎหมาย การแสดงออกซึ่งความตั้งใจโดยเจตนาที่จะก่อให้เกิดมีผลขึ้นตามกฎหมาย
กุมเกาะเบาะฉะแลง ฉุดคร่าห์
กุมมือ บิดามารดาหญิงยกหญิงให้เป็นภรรยาชาย (กฎห์ ลักษณะผัวเมีย บท (ก))
กู้เงิน ดู กู้ยืม
กู้ยืม สัญญาซึ่งผู้ให้กู้ยืมเงินโอนกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้กู้ยืม แลผู้กู้ยืมตกลงว่าจะใช้เงินอันมีจำนวนเท่าที่กู้ยืมให้แก่ผู้ให้กู้ยืม (ดู ยืมใช้สิ้นเปลือง)
แต่เดิมมากู้ยืมแบ่งเรียกเป็น ๒ คำ ถ้าเสียดอกเบี้ยเรียกว่า "กู้" ถ้าไม่เสียดอกเบี้ยเรียกว่า "ยืม" (ดู ฟุตโน๊ตของกรมหลวงราชบุรีในกฎหมาย เล่ม ๑ หน้า ๑๐๓) แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ออกใช้อยู่ในบัดนี้ รวมเรียกว่า "กู้ยืม" เป็นคำเดียว ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "Loan"
เกณฑ์ ดู กะเกณฑ์
เกณฑ์จ้าง การเกณฑ์สัตว์พาหนะหรือยานพาหนะ หรือเกณฑ์แรงราษฎร ให้ช่วยในทางราชการ โดยราชการให้ค่าจ้างแก่ผู้ถูกเกณฑ์ตามสมควร (พ.ร.บ. เกณฑ์จ้าง ร.ศ. ๑๑๙ มาตรา ๕–๖)
เกณฑ์เมืองรั้ง ตำแหน่งสำรองผู้ว่าราชการจังหวัด
เกาะ แผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ, จับ, กุม, ปรับ
เกาะกุม จับกุม, ควบคุม
เกวียน ยานพาหนะประเภทหนึ่ง มีล้อสองล้อ ใช้ไม้ประกอบเป็นเครื่องผูก มีหลังคาก็ดี หรือไม่มีหลังคาก็ดี ใช้เทียมด้วยสัตว์พาหนะ เช่น โค กระบือ เป็นต้น หรือเกวียนซึ่งเรียกในท้องที่บางแห่งว่า ระแทะ ก็ดี รวมเรียกว่า เกวียน เว้นไว้แต่เกวียนบรรทุกอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีล้อทำด้วยเหล็กทั้งตัว หรือล้อมีเครื่องเหล็กประกอบใช้ฉะเพาะท้องที่มีถนนแล้ว เกวียนชนิดนี้เรียกว่า เกวียนล้อเหล็ก ไม่นับเป็นเกวียนตามพระราชบัญญัติขนาดเกวียนนี้ (พ.ร.บ. ขนาดเกวียน พ.ศ. ๒๔๕๙ มาตรา ๓)
เกียรติยศ ยศคือความสรรเสริญ
เกษียณ เสื่อมไป, หมดไป
แกงได รอยขีดเขียนซึ่งบุคคลไม่รู้หนังสือเขียนลงไว้ในจดหมาย (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๒๑))
แก้ต่าง ทนายผู้ว่าความต่างจำเลย (ดู ผู้แก้ต่าง และ ทนายความ)
แก้ฟ้อง (๑) ให้การแก้ฟ้องโจทก์ (ดู ให้การ) (๒) แก้ข้อความในฟ้อง ก่อนเวลาจำเลยรับหมายและให้การ โจทก์มีโอกาศจะแก้ฟ้องได้ แต่ถ้าจำเลยได้รับหมายและยื่นคำให้การแล้ว โจทก์จะต้องขออนุญาตต่อศาลและแจ้งความให้จำเลยทราบก่อน เพื่อให้จำเลยมีโอกาศค้าน ศาลมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ สุดแต่ศาลจะเห็นสมควร (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๖๓ และดู มาตรา ๒๔ ใน พ.ร.บ. นี้ด้วย)
ฟ้องข้อใดที่โจทก์ขอแก้วแล้ว จะกลับขอแก้ข้อที่แก้แล้วอีกหนหนึ่งไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๐/๑๒๗)
แก้ฟ้องแย้ง ดู แก้ฟ้อง
แกล้งฟ้อง นำเอาความที่ไม่จริงขึ้นฟ้องร้องผู้อื่นยังโรงศาลฤๅเจ้าพนักงานธุระการ
ผู้ใดนำเอาความเท็จไปฟ้องผู้อื่นในทางอาชญายังโรงศาล ผู้นั้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา มาตรา ๑๕๘ ถ้านำเอาความเท็จไปฟ้องร้องผู้อื่นในทางอาชญายังเจ้าพนักงานธุระการ ผู้ฟ้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา มาตรา ๑๕๙ (ควรดู ป.ก.อ มาตรา ๑๑๘ ด้วย) ผู้ที่แกล้งฟ้องผู้อื่น นอกจากจะต้องมีโทษในทางอาชญาดังได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี ฤๅฟ้องในชนิดที่ไม่มีโทษในทางอาชญาก็ดี ผู้นั้นยังจะต้องรับผิดชอบในทางแพ่งอีกด้วย (ดู ลักษณะละเมิดใน ป.ก.พ.)
โก่นสร้างเลิกรั้ง เข้าทำในที่ดินที่ว่างเปล่า เพื่อจะปกครองหวงห้าม