ข้ามไปเนื้อหา

พระธรรมนูญศาลยุติธรรม รัตนโกสินทร์ศก 127

จาก วิกิซอร์ซ
สำหรับงานที่มีชื่อทำนองเดียวกัน ดู พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
รัตนโกสินทร์ ๑๒๗

  • หมวดที่ ๑
  • ว่าด้วยศาลยุติธรรม

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระธรรมนูญศาลยุติธรรม รัตนโกสินทร์ ๑๒๗ ให้ใช้ได้แต่ในส่วนศาลที่ได้บ่งนามไว้ในพระราชบัญญัตินี้

มาตราในกระทรวงยุติธรรม ให้มีเสนาบดีเปนประธาน เพื่อจะได้บังคับแลแก้ไขการขัดข้องในคดีแลรับผิดชอบให้การพิจารณาแลพิพากษาเปนไปโดยสดวกแลเปนยุติธรรม มีหน้าที่แพนกหนึ่งต่างหากจากการพิจารณาแลพิพากษาคดีนั้น แลให้มีเจ้าพนักงานสำหรับกระทรวงตามสมควร แลการที่จะตั้งหรือจะเลื่อนจะเปลี่ยนผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเปนหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจะต้องนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา

มาตราสรรพคดีทั้งปวงซึ่งตามกฎหมายเดิมได้พิจารณาอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ แลมีชื่อศาลต่าง ๆ คือ ศาลนครบาล ๑ ศาลแพ่งเกษม ๑ ศาลแพ่งกลาง ๑ ศาลอาญานอก ๑ ศาลอุทธรณ์กรมมหาดไทย ๑ ศาลกรมนา ๑ ศาลกรมท่าซ้าย ๑ ศาลกรมท่าขวา ๑ ศาลคดีต่างประเทศ ๑ ศาลราชตระกูล ๑ ศาลมรฎก ๑ ศาลสรรพากร ๑ ศาลธรรมการ ๑ รวมทั้งศาลฎีกาด้วย เปน ๑๕ ศาล กับศาลฝ่ายพระราชวังบวรที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ได้พิจารณาคดีทั้งปวง แลขึ้นอยู่แก่อธิบดีกรมต่าง ๆ นั้น ให้ยกคดีเหล่านี้ กับผู้พิจารณาตระลาการในกระทรวงแลศาลทั้งปวง มารวมยังศาลสถิตย์ยุติธรรมที่ได้ตั้งขึ้นเปนกระทรวงใหญ่ได้บังคับบัญชาเปนแห่งเดียวกัน

มาตราศาลทั้งปวงซึ่งตามธรรมเนียมเดิมมีชื่อต่าง ๆ ดังที่ว่าไว้ในมาตรา ๓ นั้น ให้ยกเลิกเสีย คงให้แบ่งศาลทั้งปวงเปนศาลฎีกาแพนก ๑ รับผิดชอบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลที่ขึ้นอยู่ในกระทรวงยุติธรรมอีก ๒ แพนก คือ ศาลสถิตย์ยุติธรรมกรุงเทพฯ แพนกหนึ่ง ศาลหัวเมืองแพนกหนึ่ง ส่วนศาลหัวเมืองนั้นให้เปนไปตามความในพระธรรมนูญศาลหัวเมือง ส่วนศาลในกรุงเทพฯ ให้แบ่งเปน ๕ ศาล คือ ศาลอุทธรณ์ ๑ ศาลพระราชอาญา ๑ ศาลแพ่ง ๑ ศาลต่างประเทศ ๑ ศาลโปริสภา ๑ รวมเปน ๕ ศาลเท่านั้น

มาตราคดีทั้งปวงที่ราษฎรจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้ คือ ในการกล่าวโทษหรือคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อย่าง ๑ หรือกล่าวโทษเสนาบดีเจ้ากระทรวงทั้งปวงในข้อที่เกี่ยวด้วยหน้าที่ราชการซึ่งห้ามไม่ให้ฟ้องร้องยังโรงศาลได้อย่าง ๑ ก็ให้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในข้อความร้องทุกข์นั้น

  • หมวดที่ ๒
  • ว่าด้วยศาลฎีกา

มาตราศาลฎีกาซึ่งได้ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุญาตนั้น ให้เปนศาลสูงสุดในการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง จะมีกรรมการกี่คนแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เมื่อกรรมการประชุมพร้อมกันไม่น้อยกว่า ๓ จึงเปนองค์คณะตรวจตัดสินฎีกาได้ แลถ้าความเรื่องใดมีปัญหาด้วยข้อกฎหมาย หรือมีข้อสงไสยอันใดในกระบวนพิจารณาพิพากษา แลกรรมการศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ก็ให้ศาลฎีกามีอำนาจนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ก่อนพิพากษาคดีนั้น ๆ

มาตราคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วในคดีเรื่องใด ห้ามไม่ให้คู่ความทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาชั้นที่ ๒ อีก

  • หมวดที่ ๓
  • ว่าด้วยอำนาจศาลแลผู้พิพากษา
  • ในศาลสถิตย์ยุติธรรมกรุงเทพฯ

มาตราให้ศาลอุทธรณ์ในกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาแลพิพากษาคดีได้ตามข้อความที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาซึ่งเกี่ยวด้วยศาลอุทธรณ์ทุกประการ

มาตราผู้พิพากษาซึ่งจะพิจารณาแลพิพากษาคดีชั้นอุทธรณ์นี้ ให้มีจำนวนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป จึงจะเปนองค์คณะได้

มาตรา๑๐ให้ศาลพระราชอาญามีอำนาจที่จะพิจารณาแลพิพากษาคดีอาญาทั่วไปตลอดพระราชอาณาเขตร์ตามข้อความที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาซึ่งเกี่ยวด้วยศาลพระราชอาญาทุกประการ

มาตรา๑๑ให้ศาลแพ่งมีอำนาจพิจารณาแลพิพากษาคดีแพ่งทั่วไปตลอดพระราชอาณาเขตร์ตามข้อความที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาซึ่งเกี่ยวด้วยศาลแพ่งทุกประการ

มาตรา๑๒ให้ศาลต่างประเทศมีอำนาจพิจารณาแลพิพากษาคดีทั้งปวง เมื่อคนในบังคับต่างประเทศซึ่งมีสัญญาทางพระราชไมตรีพิเศษเปนคู่ความ ตามข้อกำหนดที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาสำหรับศาลแพ่งแลศาลอาญาทุกประการ แลตามที่เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจะกำหนดให้เปนครั้งคราวเฉภาะคดีนั้น ๆ ด้วย

มาตรา๑๓ผู้พิพากษาซึ่งจะพิจารณาคดีทั้งปวงในศาลพระราชอาญา ศาลแพ่ง ศาลต่างประเทศ ทั้งสามศาล ตามมาตรา ๑๐, ๑๑, มาตรา ๑๒, ให้มีจำนวนตั้งแต่สองคนขึ้นไป จึงจะเปนองค์คณะ แต่ถ้านั่งพิจารณาคนเดียวแล้ว ให้มีอำนาจพิพากษาได้ตามพระธรรมนูญศาลหัวเมืองซึ่งได้ลำดับชั้นผู้พิพากษาไว้ในการพิพากษาคดีทั้งปวง

มาตรา๑๔ให้ศาลโปริสภามีอำนาจพิจารณาพิพากษาความในจังหวัดกรุงเทพฯ ตามที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาซึ่งเปนความมะโนสาเร่ทุกประการ แลมีอำนาจไต่สวนความอาญาที่ศาลทั้งหลายในพระธรรมนูญนี้ชำระได้

มาตรา๑๕ศาลโปริสภาจะควรมีกี่ศาลแลกำหนดเขตร์อย่างไร ให้แล้วแต่เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจะกำหนดเปนครั้งคราว แลผู้พิพากษาประจำศาลโปริสภานั้น ให้มีตั้งแต่คนหนึ่งขึ้นไปในศาลหนึ่งก็เปนองค์คณะได้

  • หมวดที่ ๔
  • ว่าด้วยศาลหัวเมือง

มาตรา๑๖พระธรรมนูญศาลหัวเมืองนี้ ให้ใช้ได้ในหัวเมืองมณฑลกรุงเทพฯ แลในมณฑลกรุงเก่า มณฑลจันทบุรี มณฑลชุมพร มณฑลนครไชยศรี มณฑลนครราชสีมา มณฑลนครสวรรค์ มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลปาจิณบุรี มณฑลพายัพ มณฑลพิศณุโลก มณฑลภูเก็ต มณฑลราชบุรี แลในมณฑลหรือเมืองอื่นเมื่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจะได้รับพระบรมราชานุญาตประกาศให้ใช้

มาตรา๑๗นอกจากศาลพิเศษซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเฉภาะแก่พระราชบัญญัติหรือราชการอย่างใดในหัวเมืองนั้น ให้มีศาลประจำสำหรับพิจารณาคดีตามหัวเมืองเปนสามชั้นโดยลำดับกันดังนี้ คือ

ศาลมณฑล

ศาลเมือง

ศาลแขวง

แลศาลพิเศษซึ่งจะตั้งขึ้นในมณฑลเปนครั้งเปนคราว

มาตรา๑๘ศาลประจำทั้งสามชั้นนี้จะควรตั้งณที่ใด ๆ ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมพิเคราะห์ดูตามสมควรแก่ราชการแล้วกราบบังคมทูลพระกรุณา เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแลได้ประกาศแก่มหาชนให้ทราบแล้ว ก็ให้ตั้งได้

มาตรา๑๙ศาลมณฑลต้องมีผู้พิพากษาประจำตำแหน่งคณะหนึ่ง คือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑล กับผู้พิพากษาอื่นอีก รวมกันทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าสองนาย จึงจะเปนองค์คณะที่จะพิจารณาแลพิพากษาคดีได้เต็มอำนาจศาล ศาลเมืองก็ต้องมีผู้พิพากษาคณะหนึ่ง คือ ผู้พิพากษาศาลเมือง กับผู้พิพากษาอื่น รวมกันไม่ต่ำกว่าสองนาย จึงจะเปนองค์คณะแลพิจารณาพิพากษาคดีได้เต็มอำนาจศาลเมือง แต่ศาลแขวงนั้นมีตำแหน่งผู้พิพากษาแต่ศาลละนาย

เมื่อผู้พิพากษาไม่สามารถจะนั่งพิจารณาความให้ครบคณะได้ เช่น ผู้พิพากษาบางคนป่วย หรือลา หรือนั่งไม่ได้เพราะเกี่ยวข้องกับคดีเรื่องนั้น เปนต้น ก็ให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณานั้นมีอำนาจเชิญข้าราชการชั้นสัญญาบัตร์คนใดคนหนึ่งมานั่งเปนสำรองผู้พิพากษาเพื่อให้ครบคณะได้ แต่การที่จะทำดังนี้ต้องทำเมื่อเปนการด่วน แลเปนการจำเปนต้องหมายเหตุไว้ในคดีนั้นด้วย

เมื่อผู้พิพากษาได้เชิญคนอื่นมานั่งพิจารณาคดีด้วยดังที่ว่ามาข้างบนนั้นแล้ว ต้องให้รายงานเข้ามาขออนุญาตต่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมโดยทันที แลในระหว่างที่ยังไม่ได้รับตอบ ไม่ต้องรอการพิจารณาไว้คอย ถ้าภายหลังได้รับอนุญาตจากเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม การสิ่งใดที่ศาลทำไปแล้วก็ใช้ได้ แต่ถ้าเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมไม่อนุญาตแล้ว คดีเรื่องนั้นต้องตั้งต้นพิจารณาใหม่

มาตรา๒๐ศาลมณฑลบังคับคดีได้ตามอำนาจศาลตลอดเขตร์มณฑลเทศาภิบาลซึ่งตั้งศาลนั้น ศาลเมืองบังคับคดีตามอำนาจได้แต่ในเขตร์เมืองที่ตั้งศาล แลศาลแขวงบังคับคดีตามอำนาจได้แต่ในท้องที่ซึ่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจะกำหนดแขวงให้ว่ากล่าวมากน้อยเท่าใดก็ได้

  • หมวดที่ ๕
  • ว่าด้วยอำนาจผู้พิพากษาศาลหัวเมือง

มาตรา๒๑ผู้พิพากษาสำหรับพิจารณาแลพิพากษาคดีตามหัวเมืองมีตำแหน่งโดยลำดับกันเปน ๒ ชั้น คือ

ผู้พิพากษาชั้นที่ ๑

ผู้พิพากษาชั้นที่ ๒

มาตรา๒๒ผู้พิพากษาชั้นที่ ๒ มีอำนาจดังนี้ คือ

ข้อที่จะออกหมายหรือสั่งให้จับได้

ข้อที่จะบังคับส่งตัวคนไปต่างแขวง

ข้อที่จะออกหมายหรือมีคำสั่งให้ค้นของกลาง

ข้อที่จะออกหมายเรียกคู่ความแลพยานในคดีซึ่งมีอำนาจที่จะพิจารณาได้

ข้อที่จะไต่สวนคดีมีโทษหลวง

ข้อที่จะพิจารณาพิพากษาคดีมีโทษหลวงชั้นลหุโทษเพียงอาญาจำไม่เกินเดือนหนึ่ง หรือปรับไหมไม่เกินสองร้อยบาท หรือโบยเด็กด้วยไม้เรียวไม่เกินยี่สิบที

ข้อที่จะพิจารณาพิพากษาความแพ่งซึ่งทุนทรัพย์หรือเบี้ยปรับไม่เกินสองร้อยบาท

มาตรา๒๓ผู้พิพากษาชั้นที่ ๑ มีอำนาจดังนี้ คือ

ข้อบรรดาอำนาจที่มีในผู้พิพากษาชั้นที่ ๒ ก็ทำได้

ข้อที่จะพิจารณาแลพิพากษาคดีมีโทษหลวงที่อาญาจำไม่เกินหกเดือนหรือเบี้ยปรับไม่เกินพันบาท

ข้อที่จะพิจารณาแลพิพากษาความแพ่งซึ่งทุนทรัพย์หรือเบี้ยปรับไม่เกินพันบาท

มาตรา๒๔ผู้พิพากษาจะมีอำนาจตามที่ได้ว่ามานี้เฉภาะแต่เมื่อได้อยู่ในตำแหน่งได้บังคับคดีในศาลใด ๆ

  • หมวดที่ ๖
  • ว่าด้วยอำนาจศาลหัวเมือง

มาตรา๒๕ศาลแขวงมีอำนาจที่จะพิจารณาแลพิพากษาคดีเพียงเท่าอำนาจในตำแหน่งของผู้พิพากษานั้นหรือต่ำกว่านั้นตามแต่เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจะกำหนดให้ว่า

มาตรา๒๖ศาลเมืองมีอำนาจดังนี้ คือ

ข้อถ้าคดีที่มาถึงศาลเมืองไม่เกินอำนาจในตำแหน่งผู้พิพากษา ผู้พิพากษาในศาลเมืองจะแยกกันพิจารณาแลพิพากษาคดีที่อยู่ในกำหนดอำนาจตำแหน่งของตนเรื่องละคนก็ได้

ข้อถ้าคดีที่มาถึงศาลเมืองเกินกว่าอำนาจในตำแหน่งผู้พิพากษา ก็ให้ผู้พิพากษาศาลเมืองรวมเปนคณะพร้อมกันมีอำนาจที่จะพิจารณาแลพิพากษาคดีโดยกำหนดดังนี้ คือ

ประการความแพ่งทุนทรัพย์ไม่เกินหมื่นบาท

ประการความมีโทษหลวงโดยกำหนดโทษเหล่านี้ คือ

สฐานจำไม่เกินสิบปี

สฐานเฆี่ยนไม่เกินสามสิบที

สฐานปรับไม่เกินหมื่นบาท

มาตรา๒๗ศาลมณฑลมีอำนาจดังนี้ คือ

ข้อที่จะพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงได้ทุกบทกฎหมาย

ข้อที่จะพิจารณาพิพากษาความอุทธรณ์ศาลต่ำในมณฑลนั้นตามที่เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจะกำหนดให้

  • หมวดที่ ๗
  • ว่าด้วยข้าหลวงพิเศษ

มาตรา๒๘ข้าหลวงพิเศษจัดการศาลยุติธรรมในหัวเมืองนั้น คือ

ผู้ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เปนข้าหลวงพิเศษ

ผู้เปนตำแหน่งข้าหลวงสำเร็จราชการมณฑล

ผู้ว่าราชการเมืองที่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจตั้งได้ในมณฑลละคนหนึ่ง

ข้าหลวงพิเศษซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งนั้น มีอำนาจทั่วทุกหัวเมือง

ข้าหลวงพิเศษที่เปนเทศาภิบาลแลที่เปนผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจเฉภาะแต่ในมณฑลนั้น

มาตรา๒๙ข้าหลวงพิเศษทั้ง ๓ อย่างตามในมาตรา ๒๘ นั้น มีอำนาจพิจารณาแลพิพากษาความได้ทุกชนิด แลข้าหลวงพิเศษที่ทรงพระกรุณาโปรดตั้ง มีอำนาจพิจารณาแลพิพากษาความได้ในทุกหัวเมือง แต่ข้าหลวงพิเศษที่เปนเทศาภิบาลแลที่เปนผู้ว่าราชการเมือง มีอำนาจพิจารณาแลพิพากษาความได้เฉภาะในมณฑลนั้น

เมื่อข้าหลวงพิเศษผู้ใดผู้หนึ่งดังที่กล่าวมาแล้วได้พิพากษาคดีเรื่องหนึ่งเรื่องใดไป คู่ความอุทธรณ์ไม่ได้ ต้องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทีเดียว

  • หมวดที่ ๘
  • ว่าด้วยอำนาจบังคับบัญชา

มาตรา๓๐ผู้พิพากษาซึ่งเปนอธิบดีหรือเปนประธานในศาลใดเปนผู้รับผิดชอบที่จะรักษาบรรดาการในศาลนั้นให้เรียบร้อยถูกต้องตามแบบแผน แลมีอำนาจที่จะตั้ง จะผลัดเปลี่ยน แลบังคับบัญชาพนักงานในศาลนั้นได้ทุกตำแหน่งมาตรา๓๑ผู้พิพากษาที่เปนผู้รับผิดชอบดังที่ได้กล่าวมาในมาตรา ๓๐ มีหน้าที่ดังนี้อีก คือ

ข้อที่ตรวจตราตักเตือนให้การในศาลที่อยู่ในบังคับเปนไปโดยเรียบร้อย

ข้อเปนที่หาฤๅความขัดข้องของผู้พิพากษาอื่น

ข้อที่จะเรียกรายงานการคดีแลการศาลที่อยู่ในบังคับ

ข้อที่จะปฤกษาหาฤๅด้วยเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ในการที่จะจัดแลรักษาการศาลให้เรียบร้อย

ข้อที่จะทำรายงานการคดีส่งมาตามระเบียบ

มาตรา๑๒ข้าหลวงพิเศษจัดการศาลหัวเมืองมีอำนาจบังคับผู้พิพากษาในหัวเมืองเรื่องการจัดศาลแลการพิจารณาพิพากษาคดี เมื่อผู้พิพากษาเห็นสมควรแล้ว มีอำนาจขอให้ข้าหลวงพิเศษออกคำสั่งนั้นเปนลายลักษณ์อักษรเซ็นชื่อข้าหลวงพิเศษนั้น ๆ ได้

คำสั่งของข้าหลวงพิเศษดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจยกถอนได้

  • หมวดที่ ๙
  • ว่าด้วยอัยการ

มาตรา๓๓ให้มีอัยการไว้สำหรับเปนทนายแผ่นดินแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง กรมอัยการในกรุงเทพมหานครให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงยุติธรรม อัยการหัวเมืองให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงเจ้าหน้าที่ซึ่งรักษาราชการเมืองแลมณฑลนั้น

มาตรา๓๔วิธีตั้งพนักงานอัยการนั้น ในกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งเจ้ากรมแลปลัดกรมอัยการ ตั้งโดยพระบรมราชานุญาต พนักงานอัยการในกรุงเทพฯ เจ้ากรมอัยการเปนผู้จัดสรรตั้งโดยได้รับอนุมัติของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พนักงานอัยการในหัวเมืองต่าง ๆ นั้น เสนาบดีเจ้ากระทรวงที่รักษาราชการเมืองตั้งยกระบัตร์มณฑลแลยกระบัตร์เมือง ข้าหลวงสำเร็จราชการมณฑลจัดตั้งตำแหน่งพนักงานอัยการที่รองแต่ยกกระบัตร์ลงมา

มาตรา๓๕อัยการมีหน้าที่รับว่าคดีในประเภทต่อไปนี้

ข้อในคดีแพ่งเรื่องหนึ่งเรื่องใดซึ่งเกี่ยวกับรัฐบาล

ข้อในคดีแพ่งแลอาญาซึ่งข้าราชการต้องถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้ทำไปในหน้าที่ซึ่งเห็นสมควรที่อัยการจะว่าต่างข้าราชการนั้น

ข้อเปนโจทย์ในคดีอาญามีโทษหลวง

ข้อในคดีอาญาที่มีโจทย์ เมื่ออัยการเห็นควรจะรวมเปนโจทย์ด้วยก็ได้ หรือเมื่อโจทย์จะทิ้งคดีเสีย อัยการมีอำนาจที่จะเปนโจทย์ได้เอง

ข้อในคดีที่ศาลไต่สวนส่งมาให้ฟ้องยังศาลสูง อัยการมีอำนาจที่จะสั่งให้ศาลไต่สวนฟังพยานต่อไปอีกได้ หรืออัยการจะสั่งให้ศาลไต่สวนพิจารณาพิพากษาเสียเอง ตามอำนาจมากแลน้อยของศาลไต่สวนนั้นก็ได้

ข้อในคดีที่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดจะฟ้องคดีนั้นเองไม่ได้โดยกฎหมายห้าม อัยการมีอำนาจรับตรวจข้อความนั้นแล้วเปนโจทย์ได้

ข้ออัยการมีอำนาจที่จะถอนฟ้องคดีที่อัยการเปนโจทย์ หรือจะไม่ฟ้องคดีที่ศาลไต่สวนส่งให้ฟ้องก็ได้ แต่อัยการต้องแจ้งความนั้นไปให้ศาลทราบ

มาตรา๓๖กองตระเวรแลตำรวจภูธรจะมีอำนาจเปนโจทย์ในศาลได้เพียงไรในคดีอาญา ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกกฎข้อบังคับ

มาตรา๓๗ถ้ากระทรวงหนึ่งกระทรวงใดจะตั้งเจ้าพนักงานไปว่าความ ให้มีตราส่งมายังกระทรวงยุติธรรมเพื่อจะได้ส่งไปยังศาล แล้วให้ถือว่า เจ้าพนักงานผู้นั้นมีอำนาจเหมือนอัยการในความเรื่องนั้น ๚

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"