พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 และรัฐนิยม/ส่วนที่ 3

จาก วิกิซอร์ซ

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑
เรื่อง การใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ

โดยที่ชื่อของประเทศนี้มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ "ไทย" และ "สยาม" แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า "ไทย" รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชนชาวไทย ดั่งต่อไปนี้

ก. ในภาษาไทย

ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ให้ใช้ว่า "ไทย"

ข. ในภาษาอังกฤษ

๑. ชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า Thailand

๒. ชื่อประชาชนและสัญชาติ ให้ใช้ว่า Thai

แต่ทั้งนี้ ไม่กะทบถึงกรณีที่มีบทกฎหมายบัญญัติคำว่า "สยาม" ไว้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นต้นไป

ประกาศมาณวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๒
เรื่อง การป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ

ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า ชาติไทยต้องเป็นที่เทอดทูลของชาวไทยอย่างสูงสุดเหนือสิ่งใด ๆ การป้องกันรักษาชาติย่อมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ร่วมชาติกันจักต้องป้องกันอันตรายหรือความเสื่อมโทรมของชาติที่อาจจะมีมาด้วยประการต่าง ๆ จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

๑. ชนชาติไทยต้องไม่ประกอบกิจการใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยของชาติ

๒. ชนชาติไทยต้องไม่เปิดเผยสิ่งซึ่งอาจเป็นผลเสียหายแก่ชาติให้ชนต่างชาติล่วงรู้เลยเป็นอันขาด การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ

๓. ชนชาติไทยต้องไม่ทำตนเป็นตัวแทนหรือเป็นปากเสียงของต่างชาติโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติไทย ต้องไม่ออกเสียงหรือแสดงตนเข้าข้างต่างชาติในกรณีที่เป็นปัญหาระหว่างชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ

๔. ชนชาติไทยต้องไม่แอบอ้างซื้อขายที่ดินแทนชนต่างชาติในทางที่เป็นภัยแก่ชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ

๕. เมื่อปรากฏว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดทรยศต่อชาติ เป็นหน้าที่ของชาวไทยต้องเอาใจใส่รีบระงับเหตุนั้น

ประกาศมาณวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๓
เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทย

ด้วยรัฐบาลเห็นว่า การเรียกชาวไทยบางส่วนไม่ต้องการชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียกก็ดี การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า เช่น ไทยเหนือ ไทยอิสาณ ไทยใต้ ไทยอิสลาม ก็ดี ไม่สมควรแก่สภาพของประเทศไทยซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้

จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

๑. ให้เลิกการเรียกชาวไทยโดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก

๒. ให้ใช้คำว่า "ไทย" แก่ชาวไทยทั้งมวลโดยไม่แบ่งแยก

ประกาศมาณวันที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๔
เรื่อง การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และ
เพลงสรรเสริญพระบารมี

ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งสำคัญประจำชาติ พึงได้รับความเชิดชูเคารพของชาวไทยทั้งมวล จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

๑. เมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้นหรือลงจากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับหรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลง ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

๒. เมื่อได้เห็นธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางการเชิญผ่านมาหรืออยู่กับที่ประจำแถวทหาร หรือหน่วยยุวชน หรือลูกเสือ ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

๓. เมื่อได้ยินเพลงชาติซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรือที่อยู่ในวงงานนั้นแสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

๔. เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในโรงมหรสพหรือในงานสโมสรใด ๆ ก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงาน หรือที่อยู่ในวงงาน หรือในโรงมหรสพนั้น แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

๕. เมื่อได้เห็นผู้ใดไม่แสดงความเคารพดั่งกล่าวในข้อ ๑–๒–๓ และ ๔ นั้น พึงช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี.

ประกาศมาณวันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๕
เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภค
ที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

เนื่องด้วยสถานะการณ์ของโลกอยู่ในสภาพสงครามทุกประเทศ ทั้งที่เป็นคู่สงครามและเป็นกลาง จำต้องสนับสนุนการเกษตร พาณิชย์ และอุตสาหกรรมของชาติเป็นพิเศษ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องชักชวนชาวไทยให้กระทำเช่นนั้น จึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

๑. ชาวไทยพึงพยายามบริโภคแต่อาหารอันปรุงจากสิ่งซึ่งมีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

๒. ชาวไทยพึงพยายามใช้เครื่องแต่งกายด้วยวัตถุที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

๓. ชาวไทยพึงช่วยกันสนับสนุนงานอาชีพการเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม และวิชาชีพของชาวไทยด้วยกัน

๔. กิจการสาธารณูปโภคอันใดที่รัฐบาลหรือชาวไทยจัดให้มีขึ้นแล้ว ชาวไทยพึงพยายามใช้และสนับสนุน

๕. ชาวไทยผู้ประกอบการเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม งานอาชีพหรือวิชาชีพอันได้รับการสนับสนุนโดยรัฐนิยมฉะบับนี้ ต้องพยายามรักษามาตรฐานปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และดำเนินกิจการนั้น ๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทุกประการ

ประกาศมาณวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๖
เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติซึ่งได้ประกาศไว้ณวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ นั้น ทำนองเพลงเป็นที่นิยมแพร่หลายตามสมควรแล้ว แต่เนื้อร้องจะต้องมีใหม่ เพราะชื่อประเทศได้เรียกว่าประเทศไทยแล้ว จึ่งได้ประกาศให้ประชาชนเข้าประกวดแต่งมาใหม่ บัดนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกเนื้อร้องบางบทเสนอให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัย คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาพิจารณาแล้ว ลงมติพร้อมกันตกลงตามบทเพลงของกองทัพบกโดยได้แก้ไขเล็กน้อย

จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

๑. ทำนองเพลงชาติ ให้ใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์ตามแบบที่มีอยู่ณกรมศิลปากร

๒. เนื้อร้องเพลงชาติ ให้ใช้บทเพลงของกองทัพบก ดั่งต่อไปนี้

  •  ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
  • เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
  • อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
  • ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
  • ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
  • เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
  • สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
  • เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย
ประกาศมาณวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๗
เรื่อง ชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ

โดยที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่า การที่ชาติของเราจะเจริญก้าวหน้าสมความปรารถนาอันดีได้ ย่อมอยู่ที่ข้าราชการจะต้องช่วยกันทำงานตามหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และใฝ่ใจทุกวิถีทางที่จะช่วยสนับสนุนพี่น้องชาวไทยให้มีทางประกอบอาชีพ โดยหวังให้ฐานะของคนทุกคนดีขึ้นเป็นลำดับ

อนึ่ง งานสร้างชาติเป็นงานที่ใหญ่ยิ่ง ต้องช่วยกันอย่างพร้อมเพรียง ถ้าพี่น้องชาวไทยทุกคนพยายามแสวงหาอาชีพอันสุจริตสำหรับตนเองและครอบครัวโดยไม่เลือกงาน ประกอบการงานของตนให้มีรายได้พอที่จะทำนุบำรุงครอบครัวของตนให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ก็ย่อมจะทำให้ชาติของเราเจริญรวดเร็วโดยมิต้องสงสัย การที่พี่น้องช่วยกันทำงานเช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่าร่วมกันสร้างชาติ คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

"ชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันสร้างชาติ โดยทุกคนซึ่งมีกำลังกายดีต้องทำงาน ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง ผู้ไม่ประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน นับว่าเป็นผู้ไม่ช่วยชาติ และไม่สมควรได้รับความนับถือของชาวไทยทั่วไป"

ประกาศมาณวันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๘
เรื่อง เพลงสรรเสริญพระบารมี

โดยเหตุที่ได้บัญญัติให้เรียกชื่อประเทศว่าประเทศไทย รัฐบาลจึงเห็นควรแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีมิให้มีคำว่าสยาม และตัดทอนข้อความและทำนองให้กระทัดรัดเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิศดารให้มีข้อความดั่งต่อไปนี้

 ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบรรดาล ธประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ชโย

ส่วนทำนองเพลงแบบสังเขปนั้น ให้คงไว้ตามเดิม

ประกาศมาณวันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๙
เรื่อง ภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี

ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า การที่ชาติไทยจะดำรงถาวรและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปนั้น ย่อมต้องใช้ภาษาและหนังสือของชาติเป็นส่วนประกอบอันสำคัญ คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

๑. ชนชาติไทยจะต้องยกย่อง เคารพ และนับถือภาษาไทย และต้องรู้สึกเป็นเกียรติยศในการพูดหรือใช้ภาษาไทย

๒. ชนชาติไทยจะต้องถือว่า หน้าที่ของพลเมืองไทยที่ดีประการที่หนึ่งนั้น คือ ศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติ อย่างน้อยต้องให้อ่านออกเขียนได้ ประการที่สอง ชนชาติไทยจะต้องถือเป็นหน้าที่อันสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนแนะนำชักจูงให้พลเมืองที่ยังไม่รู้ภาษาไทยหรือยังไม่รู้หนังสือไทยให้ได้รู้ภาษาไทยหรือให้รู้หนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้

๓. ชนชาติไทยจะต้องไม่ถือเอาสถานที่กำเนิด ภูมิลำเนา ที่อยู่ หรือสำเนียงแห่งภาษาพูดที่แปร่งไปตามท้องถิ่น เป็นเครื่องแสดงความแตกแยกกัน ทุกคนต้องถือว่า เมื่อเกิดมาเป็นชนชาติไทย ก็มีเลือดไทยและพูดภาษาไทยอย่างเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างกันในการกำเนิดต่างท้องที่หรือพูดภาษาไทยด้วยสำเนียงต่าง ๆ กัน

๔. ชนชาติไทยจะต้องถือเป็นหน้าที่ในการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีแห่งชาติ ช่วยแนะนำชักชวนกันสั่งสอนผู้ที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจหน้าที่พลเมืองดีของชาติให้ได้รู้ได้เข้าใจในหน้าที่พลเมืองดีแห่งชาติไทย

ประกาศมาณวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๓
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๐
เรื่อง การแต่งกายของประชาชนชาวไทย

ด้วยรัฐบาลได้สังเกตเห็นว่า การแต่งกายของประชาชนชาวไทยในสาธารณสถานหรือที่ชุมนุมชนยังไม่สุภาพเรียบร้อยสมกับวัฒนธรรมของชาติไทย

คณะรัฐมนตรีจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

๑. ชนชาติไทยไม่พึงปรากฏตัวในที่ชุมชน หรือสาธารณสถาน ในเขตต์เทศบาล โดยไม่แต่งกายให้เรียบร้อย เช่น นุ่งแต่กางเกงชั้นใน หรือไม่สวมเสื้อ หรือนุ่งผ้าลอยชาย เป็นต้น

๒. การแต่งกายที่ถือว่าเรียบร้อยสำหรับประชาชนชาวไทย มีดั่งต่อไปนี้

 ก. แต่งเครื่องแบบตามสิทธิและโอกาสที่จะแต่งได้

 ข. แต่งตามแบบสากลนิยมในทำนองที่สุภาพ

 ค. แต่งตามประเพณีนิยมในทำนองที่สุภาพ

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๑
เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย

ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การรู้จักปฏิบัติกิจประจำวันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวแก่การผะดุงส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ อันจะเป็นผลให้ประชาชนพลเมืองไทยทั่วไปมีสุขภาพแข็งแรงมั่นคง เป็นกำลังของประเทศชาติสืบไป คณะรัฐมนตรีจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

๑. ชนชาติไทยพึงแบ่งเวลาในหนึ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ปฏิบัติงานที่เป็นอาชีพส่วนหนึ่ง ปฏิบัติกิจส่วนตัวส่วนหนึ่ง และพักผ่อนหลับนอนอีกส่วนหนึ่ง ให้เป็นระเบียบ และมีกำหนดเวลาอันเหมาะสมจนเกิดเป็นนิสสัย

๒. ชนชาติไทยพึงปฏิบัติกิจประจำวันตามปกติ ดั่งต่อไปนี้

 ก. บริโภคอาหารให้ตรงตามเวลาไม่เกิน ๔ มื้อ

 ข. นอนประมาณระหว่าง ๖ ถึง ๘ ชั่วโมง

๓. ชนชาติไทยพึงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ประกอบกิจการงานของตนโดยไม่ท้อถอยและหลีกเลี่ยง กับควรหยุดเพื่อรับประทานอาหารและพักกลางวันไม่เกิน ๑ ชั่วโมง เมื่อพ้นกำหนดเวลาทำงานเวลาเย็น ควรออกกำลังกายโดยเล่นกิฬากลางแจ้งวันหนึ่งอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง หรือประกอบงานอื่น เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น เมื่อชำระล้างร่างกายแล้ว รับประทานอาหาร

๔. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาว่างเวลากลางคืนทำการงานอันจำเป็นที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ หรือสนทนาปราศรัยกับบุคคลในครอบครัว มิตรสหาย ศึกษาหาความรู้โดยการฟังข่าวทางวิทยุกระจายเสียง อ่านหนังสือ หรือในการมหรสพ หรือศิลปกรรม แล้วแต่โอกาส

๕. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาในวันหยุดงาน ให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตต์ใจ เช่น ประกอบกิจในทางสาสนา ฟังเทศน์ ทำบุญ ศึกษาหาความรู้ ท่องเที่ยว เล่นกิฬา หรือพักผ่อน เป็นต้น.

ประกาศมา ณ วันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๔
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี