พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2494

จาก วิกิซอร์ซ
ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา
(ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๔๙๔

ในพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔
เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา

พระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดั่งต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๔๙๔"

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๑ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๔๑ ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้น ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี ถ้าไม่ปรากฏว่า ผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่า ได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดที่เป็นลหุโทษหรือที่มีกำหนดโทษไม่สูงกว่าความผิดที่เป็นลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น ถึงสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะพิพากษาว่า ผู้นั้นมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษ แต่รอการลงโทษไว้ แล้วปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้

เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดนั้น ศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อ ดั่งต่อไปนี้

(๑) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้ เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือน ตามที่เห็นควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ

(๒) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ

(๓) ให้ละเว้นการสมาคมหรือการประพฤติอื่นใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดเช่นเดียวกันนั้นอีก

ภายในระยะเวลาซึ่งศาลได้กำหนดตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจจะเรียกตัวผู้นั้นมาสั่งแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนแก้ไขข้อใดก็ได้

ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดั่งที่ศาลกำหนดไว้ ศาลอาจออกหมายเรียกหรือหมายจับผู้นั้นมาตักเตือน หรือจะกำหนดและลงโทษที่ยังมิได้กำหนดหรือลงโทษซึ่งรอไว้นั้นก็ได้"

มาตรา  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๒ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๔๒ ถ้าภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา ๔๑ ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทำความผิดอันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดที่เป็นลหุโทษหรือที่มีกำหนดโทษไม่สูงกว่าความผิดที่เป็นลหุโทษ และศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดนั้น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอการกำหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง แล้วแต่กรณี

แต่ถ้าภายในเวลาที่ศาลได้กำหนดตามมาตรา ๔๑ ผู้นั้นมิไก้กระทำความผิดดั่งกล่าวมาในวรรคก่อน ให้ผู้นั้นพ้นจากการที่จะถูกลงโทษในคดีนั้น"

มาตรา  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๗ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๕๗ เด็กอายุกว่าเจ็ดขวบ แต่ยังไม่เกินสิบสี่ขวบ กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดั่งต่อไปนี้

(๑) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้น แล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควร จะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ มาตักเตือนเตือนด้วยก็ได้ หรือ

(๒) ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง สามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินกว่าสามปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร แต่ไม่ให้เกินหนึ่งพันบาท ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง จะต้องชำระต่อศาล ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น

ถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และศาลเห็นว่า ไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง มาวางข้อกำหนดดั่งกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่า จะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้สำหรับบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกำหนดเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้นไป โดยวางข้อกำหนดดังกล่าว หรือ

(๓) ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ ตาม (๒) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๑ ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น หรือ

(๔) ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมี แต่ศาลเห็นว่า ไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดั่งกล่าวใน (๒) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลอื่นหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม สั่งสอน ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะเพื่อดูแล อบรม สั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่ และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควร หรือ

(๕) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดขวบ

คำสั่งของศาลดั่งกล่าวใน (๒) (๓) (๔) และ (๕) นั้น ถ้าในขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาล โดยศาลรู้เอง หรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ บุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรม สั่งสอน หรือเจ้าพนักงานศาล ว่า พฤติการณ์เกี่ยวแก่คำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้น หรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้"

มาตรา  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๘ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๕๘ เด็กอายุกว่าสิบสี่ขวบ แต่ยังไม่เกินสิบเจ็ดขวบ กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้สึกผิดชอบของเด็กนั้น แล้วศาลจะจัดการตามความในมาตรา ๕๗ หรือจะลงโทษเด็กนั้นโดยลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่งก็ได้"

มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕๘ ทวิ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา

"มาตรา ๕๘ ทวิ ผู้ใดอายุกว่าสิบเจ็ดขวบ แต่ยังไม่เกินยี่สิบขวบ กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควร จะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้"

มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕๘ ตรี แห่งกฎหมายลักษณะอาญา

"มาตรา ๕๘ ตรี ในกรณีที่ศาลวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ ระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตามความในมาตรา ๕๗ (๒) ถ้าเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้นภายในเวลาในข้อกำหนด ศาลมีอำนาจบังคับบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ ให้ชำระเงินไม่เกินจำนวนในข้อกำหนดนั้นภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควร ถ้าบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ ไม่ชำระเงิน ศาลจะสั่งให้ยึดทรัพย์สินของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ เพื่อใช้เงินที่จะต้องชำระก็ได้"

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • จอมพล ป. พิบูลสงคราม
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"