ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2499

จาก วิกิซอร์ซ
ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ ๑๖)
พ.ศ. ๒๔๙๙

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙
เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๔๙๙"

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๔๖ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๓๔๖ ผู้ใดใช้ชื่อหรือยี่ห้อซึ่งมีอักษรไทยว่า "ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล" หรือ "ห้างหุ้นส่วนจำกัด" หรืออักษรต่างประเทศซึ่งมีความหมายดั่งกล่าว ในดวงตรา ป้ายสือ หนังสือบอกกล่าวป่าวร้อง จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจ โดยมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และปรับอีกไม่เกินวันละยี่สิบบาทจนกว่าจะได้เลิกใช้ชื่อหรือยี่ห้อดั่งกล่าว"

มาตราให้เพิ่มความต่อไปนี้่เป็นมาตรา ๓๔๖ ทวิ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา

"มาตรา ๓๔๖ ทวิ ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดใดที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว

(๑)ในกรณีที่ใช้ชื่อเป็นอักษรไทย ละเลยไม่ใช่คำว่า "ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล" หรือ "ห้างหุ้นส่วนจำกัด" แล้วแต่กรณี ไว้ในดวงตรา ป้ายชื่อ หนังสือบอกกล่าวป่าวร้อง จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นอันเกี่ยวกับธุรกิจของห้างหุ้นส่วน

(๒)ในกรณีที่ใช้ชื่อเป็นอักษรต่างประเทศ ละเลยไม้ใช้คำซึ่งมีความหมายว่า "ห้างหุ้นส่วสามัญนิติบุคคล" หรือ "ห้างหุ้นส่วนจำกัด" ตามประกาศของกระทรวงเศรษฐการ แล้วแต่กรณี ไว้ในดวงตรา หนังสือบอกกล่าวป่าวร้อง จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจของห้างหุ้นส่วน

มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และปรับอีกไม่เกินวันละยี่สิบบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้"

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๔๗ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๓๔๗ ผู้ใดใช้ชื่อหรือยี่ห้อซึ่งมีอักษรไทยว่า "บริษัท" หรือ "จำกัด" หรือ "บริษัทจำกัด" หรืออักษรต่างประเทศซึ่งมีความหมายดั่งกล่าว ไว้ในชื่อหรือยี่ห้อในดวงตรา ป้ายชื่อ หนังสือบอกกล่าวป่าวร้อง จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่น โดยมิได้จดทะเบียนตั้งขึ้นเป็นบริษัทจำกัดโดยชอบด้วยกฎหมาย เว้นแต่เป็นการใช้ในคำขอจดทะเบียนหรือหนังสือชี้ชวนให้เข้าชื่อซื้อหุ้น มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และปรับอีกไม่เกินวันละยี่สิบบาทจนกว่าจะได้เลิกใช้ชื่อหรือยี่ห้อดั่งกล่าว"

มาตราให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๔๗ ทวิ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา

"มาตรา ๓๔๗ ทวิ บริษัทจำกัดใด นอกจากธนาคาร

(๑)ในกรณีที่ใช้ชื่อเป็นอักษรไทย ละเลยไม่ใช้คำว่า "บริษัท" ไว้หน้าชื่อ หรือ "จำกัด" ไว้ท้ายชื่อ ในดวงตรา ป้ายชื่อ หนังสือบอกกล่าวป่าวร้อง จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท

(๒)ในกรณีที่ใช้ชื่อเป็นอักษรต่างประเทศ ละเลยไม่ใช้คำซึ่งมีความหมายว่า "บริษัทจำกัด" ตามประกาศของกระทรวงเศรษฐการ ในดวงตรา ป้ายชื่อ หนังสือบอกกล่าวป่าวร้อง จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท

มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และปรับอีกไม่เกินวันละยี่สิบบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้"

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • จอมพล ป. พิบูลสงคราม
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ขณะนี้ การใช้ชื่อร้านค้าต่าง ๆ ได้เป็นไปโดยสับสน เช่น ร้านค้าเป็นของบุคคลคนเดียว มิใช่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ก็อาจใช้คำว่า "ห้างหุ้นส่วน" หรือ "บริษัท" นำหน้าชื่อร้านค้านั้นได้ หรือร้านค้าที่จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด แทนที่จะใช้คำว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด นำหน้าชื่อ ได้ใช้คำว่า "บริษัท" นำหน้าชื่อก็มี หรือใช้ชื่อลอย ๆ โดยไม่มีคำบอกประเภทของห้างหุ้นส่วนก็มี ผู้เห็นชื่อห้าง ไม่อาจทราบได้ว่า เป็นร้านค้าของบุคคลคนเดียวหรือเป็นห้างหุ้นส่วนประเภทใด ทั้งนี้ เพราะการใช้ชื่อนั้น ในปัจจุบัน กฎหมายลักษณะอาญาบังคับไว้เพียงว่า ผู้มิใช่บริษัทจำกัด จะใช้คำว่า "จำกัด" ไว้ท้ายชื่อมิได้ และผู้ที่เป็นบริษัทจำกัด จะต้องใช้คำว่า "จำกัด" ไว้ท้ายชื่อเท่านั้น

เพื่อความเป็นระเบียบ และเพื่อให้ประชาชนทราบได้ทันทีในเมื่อเห็นชื่อร้านค้าว่า ร้านค้านั้น ๆ เป็นของบุคคลธรรมดาหรือเป็นของห้างหุ้นส่วนบริษัทนิติบุคคล ถ้าเป็นของห้างหุ้นส่วนบริษัทนิติบุคคล เป็นนิติบุคคลประเภทใด กล่าวคือ เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นบริษัทจำกัด และเมื่อทราบว่า เป็นห้างหุ้นส่วนบริษัทนิติบุคคลประเภทใดแล้ว ก็อาจไปขอตรวจสอบต่อหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้ว่า ห้างหุ้นส่วนบริษัทเหล่านั้นจดทะเบียนไว้ประการใด เช่น มีวัตถุประสงค์อย่างใด มีใครเป็นหุ้นส่วนหรือกรรมการ และใครเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อในนิติกรรมต่าง ๆ แทนห้างหุ้นส่วนบริษัทเหล่านั้นได้ เป็นต้น วิธีนี้อาจเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยมิให้ประชาชนถูกหลอกลวงหรือเข้าใจผิดในฐานะของร้านค้าต่าง ๆ ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงควรมีกฎหมายบังคับไว้ว่า ผู้ที่มิใช่ห้างหุ้นส่วนบริษัทนิติบุคคล จะใช้ชื่อหรือคำนำหน้าในลักษณะที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชนว่าเป็นห้างหุ้นส่วนบริษัทนิติบุคคลมิได้ และบังคับผู้ที่จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนบริษัทนิติบุคคลไว้ว่า จะต้องใช้คำนำหน้าชื่อบอกประเภทของการเป็นนิติบุคคลของตนไว้ด้วย

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"