ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2555

จาก วิกิซอร์ซ
ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๔)
พ.ศ. ๒๕๕๕

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕
เป็นปีที่ ๖๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕"

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๓ ให้มีอธิบดีผู้พิพากษาภาค ภาคละหนึ่งคน จำนวนเก้าภาค มีสถานที่ตั้งและเขตอำนาจตามที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา กับให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค ภาคละสามคน ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม โดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา จะกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคมากกว่าสามคน แต่ไม่เกินหกคนก็ได้

เมื่อตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาคว่างลง หรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ทำการแทนตามวรรคสอง ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนก็ได้

ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจำศาลจะเป็นผู้ทำการแทนในตำแหน่งตามวรรคหนึ่งไม่ได้"

มาตราให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๑๔ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

"ให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจด้วย โดยให้มีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง (๒) และให้มีหน้าที่ช่วยอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่อธิบดีผู้พิพากษาภาคมอบหมาย"

มาตราให้ยกเลิกความใน (๓) ของมาตรา ๒๘ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๓)ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้น ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี มอบหมาย"

มาตราให้ยกเลิกความใน (๓) ของมาตรา ๒๙ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๓)ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี"

มาตราให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยปริมาณงานตุลาการและงานธุรการคดีของศาลยุติธรรมได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลงานของศาลยุติธรรมในส่วนภูมิภาคมีอธิบดีผู้พิพากษาภาคเพียงคนเดียว ไม่มีผู้ช่วยปฏิบัติราชการ ทำให้ราชการของศาลยุติธรรมไม่อาจดำเนินไปได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และปริมาณคดีที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าวส่งผลต่อระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นมีความล่าช้า กระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนและคู่ความในคดี ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม โดยกำหนดตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค และอำนาจหน้าที่ของอธิบดีผู้พิพากษาภาคและรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"