ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558

จาก วิกิซอร์ซ

เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๒๐ ก

๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘
หน้า ๕
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๕)
พ.ศ. ๒๕๕๘

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘"

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑ ศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญนี้มีสามชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น"

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๓ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๓ ศาลชั้นอุทธรณ์ ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นอุทธรณ์"

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๔ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๔ ศาลฎีกา ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น อาจแบ่งส่วนราชการเป็นแผนกหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และจะให้มีอำนาจในคดีประเภทใดหรือคดีในท้องที่ใดซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของแต่ละศาลนั้นแยกต่างหากโดยเฉพาะก็ได้ โดยให้ออกเป็นประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม

ศาลชั้นต้นอาจเปิดทำการสาขาในท้องที่อื่นใด และจะให้มีอำนาจในคดีประเภทใดหรือคดีในท้องที่ใดซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลนั้นแยกต่างหากโดยเฉพาะก็ได้ โดยให้ออกเป็นประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม

การกำหนดและการเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งของศาล ให้ออกเป็นประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม

ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมที่ออกตามความในมาตรานี้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้"

มาตราให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๐ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๐ ในกรณีที่มีการแบ่งส่วนราชการในศาลฎีกา ศาลชั้นอุทธรณ์ หรือศาลชั้นต้น ออกเป็นแผนกหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกหรือผู้พิพากษาหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น แผนกหรือหน่วยงานละหนึ่งคน"

มาตราให้ยกเลิกวรรคสี่ของมาตรา ๑๖ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๘ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙/๑ ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น"

มาตราให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๙/๑ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

"มาตรา ๑๙/๑ บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นหรือมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด ได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป

ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องคดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทำให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ก็ให้ศาลนั้นพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไป”

มาตรา๑๐บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่อ้างถึงการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ให้ถือว่า อ้างถึงการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นอุทธรณ์ เว้นแต่เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่า ใช้ได้เฉพาะกับศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค หรือศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลกำหนดให้เป็นศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลใดศาลหนึ่งเท่านั้น

มาตรา๑๑ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยกำหนดให้เป็นศาลชั้นอุทธรณ์ที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชำนัญพิเศษ สมควรกำหนดความหมายของคำว่า “ศาลชั้นอุทธรณ์” ให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลดังกล่าว อีกทั้งสมควรกำหนดให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีอำนาจออกประกาศเปิดทำการสาขาของศาลชั้นต้น รวมทั้งให้มีอำนาจกำหนดและเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งของศาลได้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีและผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และในกรณีคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ถ้ามีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด ก็ให้ศาลดังกล่าวนั้นมีดุลพินิจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีที่รับฟ้องไว้แล้วนั้นต่อไป หรือโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีอำนาจก็ได้ แต่หากในกรณีที่ศาลดังกล่าวได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีไว้แล้วโดยในขณะยื่นฟ้องคดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง หรือกรณีเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด แต่ต่อมามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทำให้คดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ก็ให้ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป อันเป็นการส่งเสริมให้การบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"