ข้ามไปเนื้อหา

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (2502)/ผู้วายชนม์

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำประวัติ

ประวัติพลโท พระยากลาโหมราชเสนา ตามที่กล่าวมานี้เป็นข้อความที่พระยากสิภูมิพิทักษ์ (เจิม สาริกานนทื) รับฉันทะจากคุณหญิงกลาโหมราชเสนานำมาให้ข้าพเจ้าช่วยตรวจดูหรือจะแก้ไขอะไรบ้างก็แล้วแต่จะเห็นสมควร ข้าพเจ้ายินดีรับสนอง เพราะจะเป็นโอกาสให้ข้าพเจ้าได้สำแดงความเคารพระลึกถึงเป็นปฏิการะแด่ท่านเจ้าคุณกลาโหมราชเสนาในฐานะที่ท่านเคยมีไมตรีจิตแก่ข้าพเจ้าซึ่งเป็นนิทัศนอุทาหรณ์อันดีของผู้ใหญ่ที่มีต่อผู้น้อย

ข้าพเจ้าได้อ่านประวัติพลโท พระยากลาโหมราชเสนา ตลอดแล้ว เห็นว่าเรียงไว้เรียบร้อยดี คงมีแก้และตกเติมบ้างก็เล็กน้อยเท่านั้น แต่ในประวัติมิได้กล่าวข้อความลางประการเกี่ยวกับพระยามหาเทพ (ทองปาน) ผู้ซึ่งเป็นปู่ของพลโท พระยากลาโหมราชเสนา และเป็นต้นสกุลปาณิกบุตร ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือพบเรื่องเกี่ยวกับพระยามหาเทพ (ทองปาน) ว่า เมื่อครั้งเป็นจมื่นราชามาตย์ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานมาก เพราะ “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง” ซึ่งเป็นความจริง ในสมัยนั้นถึงกับมีผู้แต่งเพลงยาวค่อนแคะพระยามหาเทพ (ทองปาน) ว่า “มิเสียทีที่เขามีวาสนา แต่เห็น ๆ ที่ได้เป็นขุนนางมา ไม่เหมือนราชามาตย์ในชาตินี้” เป็นต้น อนึ่ง ข้าพเจ้าเคยกราบเรียนท่านถึงเรื่องวัดดาวดึงษ์ที่อยู่ใต้ปากคลองบางยี่ขัน จังหวัดธนบุรี ซึ่งพระยามหาเทพ (ทองปาน) เป็นผู้สร้างใหม่ในวัดเดิม ว่าชำรุดทรุดโทรมมาก น่าเสียดายภาพจิตรกรรมที่มีอยู่จะต้องเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา ท่านตอบว่า ท่านก็ทราบและหนักใจอยู่เหมือนกัน แต่การที่จะบูรณะให้คงสภาพของเดิมเห็นจะยาก ที่ท่านกล่าวนี้ข้าพเจ้าก็เห็นใจ เพราะเท่ากับบูรณะร่างกายที่เก่าชราคร่ำคร่าแล้วให้กลับมีสภาพเป็นหนุ่มกระชุ่มกระชวยอีก ถึงไม่ต้องบอกใคร ๆ ก็ทราบว่าทำไม่ได้

บัดนี้ท่านเจ้าคุณกลาโหมราชเสนาได้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว สังขารซึ่งเป็นเครื่องปรุงแต่งเป็นรูปร่างของท่านเป็นร่างกายซึ่งเคยมีชีวิตและจิตใจ ก็กลายเป็นแต่สรีระร่างอย่างเดียว แต่คุณธรรมอันเป็นเกียรติประวัติของท่านจะคงอยู่ต่อไป เสมือนหนึ่งเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายที่มอบให้แก่อนุชนรุ่นหลังจะได้พยายามอนุวรรตตาม

สพฺเพเตว ชราธมฺมา เภทธมฺมา จ เกวสา
อจฺจยนฺติ จ สพฺเพเต สพฺเพสํว ปุนพฺภโว

(สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ย่อมทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา ย่อมแตกทำลายไปเป็นธรรมดา

สิ่งทั้งหลายทั้งหมดนี้ย่อมเป็นไปล่วง ย่อมมีภพใหม่)

ด้วยอำนาจคุณงามความดีพร้อมทั้งกุศลบุญราศีที่คุณหญิงกลาโหมราชเสนาได้บำเพ็ญเป็นทักษิณานุปทานอุทิศให้ด้วยความอาลัยระลึกถึงนานัปการ จงรวมกันบันดาลให้พลโท พระยากลาโหมราชเสนา ประสบแต่อิฐวิบูลมนูญผลตลอดไปในภพใหม่ภพหน้าโน้นเทอญ.


พระยาอนุมานราชธน
ราชบัณฑิตยสถาน
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพลโท พระยากลาโหมราชาเสนาเมื่อยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร

รูปถ่ายเมื่อคราวตามเสด็จผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการไปทวีปยุโรป
(จากซ้าย) พระศัลยุทธวิธีกรร (ภายหลังต่อมาเป็นพระยาสุรเสนา)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
นายร้อยเอก เล็ก (พลโท พระยากลาโหมราชเสนา)
นายร้อยโท ฮวด (พระยาดำรงแพทยาคุณ)

พลโท พระยากลาโหมราชเสนา ถ่ายเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นประธานในพิธียืนชิงช้า พ.ศ. ๒๔๗๑

ประวัติ
พลโท พระยากลาโหมราชเสนา ป.ช., ป.ม., ท.จ.ว.

พลโท พระยากลาโหมราชเสนา (เล็ก ปาณิกบุตร) เป็นบุตรชายคนเล็กของพันโท พระพิทักษ์ยุทธภัณฑ์ (เทศ) และนางพิทักษ์ยุทธภัณฑ์ (ปริก) เกิดที่บ้านริมวัดดุสิตาราม จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๒ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ๖ คน คือ

  1. หม่อมละม้าย เกษมศรี ต.จ. ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ (ถึงแก่กรรม)
  2. เป็นหญิงชื่อละมุน (ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์)
  3. หม่อมเล็ก (ละม่อม) สุขสวัสดิ์ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช (ถึงแก่กรรม)
  4. เป็นชายชื่อแป๊ะ (ถึงแก่กรรม)
  5. พระนมจำเริญ เกษมศรี ในหม่อมเจ้าสมบัติสมบูรณ์เกษมศรี ได้รับหน้าที่เป็นพระนมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ (ถึงแก่กรรม)
  6. หลวงศรีอาญัติ (พลอย) ข้าราชการกระทรวงยุตติธรรม (ถึงแก่กรรม)

ท่านบิดาของพระยากลาโหมราชเสนาคือพันโท พระพิทักษ์ยุทธภัณฑ์ เป็นบุตรพระยามหาเทพ (ทองปาน) ซึ่งเป็นบิดาท่านน้อย ภริยานายศัลวิไชย (ทองคำ) ซึ่งเป็นมหาดเล็กรับราชการมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ ด้วยอีกผู้หนึ่ง นายศัยวิไชย (ทองคำ) และท่านน้อยมีธิดาชื่อสังวาล ซึ่งต่อมาได้ถวายตัวทำราชการฝ่ายใน ได้เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔

พระพิทักษ์ยุทธภัณฑ์กับท่านน้อยจึงเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เจ้าจอมมารดาสังวาล ธิดาของท่านน้อย จึงนับเนื่องเป็นพี่ของพระยากลาโหมราชเสนา และมีความกรุณารักใคร่น้องเป็นอันดี พระยากลาโหมราชเสนาได้ไปเยี่ยมเคารพเจ้าจอมมารดาสังวาลเสมอ และในยามว่างท่านก็ได้กรุณามาเยี่ยมถึงบ้าน เจ้าจอมมารดาสังวาลเป็นเจ้าจอมมารดาของเจ้านายซึ่งเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ

  1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
  2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
  3. พระองค์เจ้าชายเจริญรุ่งราษี (สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์)
  4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงกาญจนากร

ด้วยเหตุนี้เจ้านายทั้ง ๓ พระองค์จึงทรงรู้จักคุ้นเคยกับพระยากลาโหมราชเสนา และทรงนับว่าเป็นพระญาติ

มีเรื่องที่ควรเล่าในที่นี้ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงพระเมตตาพระยากลาโหมราชเสนาเป็นพิเศษ ครั้งหนึ่งเมื่อพระยากลาโหมราชเสนาไปเฝ้าถวายน้ำสรงตามประเพณีในเทศกาลสงกรานต์ พระองค์ท่านตรัสว่า “เจ้าคุณไม่ต้องมารดน้ำฉัน เพราะนับตามสกุลก็มีศักดิ์เป็นน้าฉัน ถ้าเจ้าคุณตายก่อนฉัน เวลาเผาฉันจะนุ่งขาวให้”

พลโท พระยากลาโหมราชเสนา ได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ขณะที่มีอายุได้ ๑๓ ปี การที่เข้าศึกษาในสถานศึกษาแห่งนี้ก็โดยได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ทรงฝากเข้าเป็นนักเรียนทหารของกรมยุทธนาธิการ ในสมัยนั้นเรียกว่า “คะเด๊ต” เนื่องจากคุณน้าของพระยากลาโหมราชเสนา คือ หม่อมชุ่ม สุขสวัสดิ์ เป็นหม่อมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น และเป็นหม่อมมารดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงมนัสสวาสดิ พระยากลาโหมราชเสนาได้ไปหาหม่อมน้าที่วังข้างวัดพระเชตุพน (วังเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ) อยู่เสมอ และเมื่อได้ทรงฝากเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยแล้ว ก็ยังทรงห่วงใยเสด็จไปเยี่ยมและฝากฝังกับครูบาอาจารย์อยู่เสมอ ๆ ด้วย นับว่ามีคุณูปการแก่พระยากลาโหมราชเสนาอยู่เป็นอันมาก

การเล่าเรียนของพระยากลาโหมราชเสนาได้เป็นผลสำเร็จอย่างดี ปรากฏตามประวัติซึ่งกระทรวงกลาโหมบันทึกไว้ดังนี้

แรกเข้ารับราชการเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก วันที่ ๑๔ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) ในห้องชั้นเล็ก (ห้องดี) สอบไล่ในวิชาโรงเรียนนายร้อยทหารบก

ชั้น เล็ก เป็นที่ ปี ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗)
๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๓๗)
๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙)
๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐)

ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารตามลำดับดังนี้

ร้อยตรี วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๒
ร้อยโท วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๔
ร้อยเอก วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๕
พันตรี วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๘
พันโท วันที่ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๑
พันเอก วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๓
พลตรี วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕
พลโท วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙

ได้รับพระราชบรรดาศักดิ์ดังนี้

หลวงศัลยุทธวิธิกรร วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๕หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/19หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/20หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/21หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/22หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/23หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/24หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/25หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/26หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/27หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/28หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/29หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/30หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/31หน้า:พงศาวดาร (จาด) - ๒๕๐๒.pdf/32