ข้ามไปเนื้อหา

พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 1/บท 19

จาก วิกิซอร์ซ
แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ครั้งที่ ๒

สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินแลพระยารามก็เอายุบลคดีซึ่งคิดทั้งปวงนั้นกราบทูลแก่พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก แล้วอัญเชิญพระองค์ลาพระผนวชออกมาครองราชสมบัติ พระเจ้าช้างเผือกก็มิได้รับ จึงสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินแลพระยารามก็ทูลวิงวอนเปนหลายครั้งว่า บัดนี้ ไภยจะมาถึงประชาราษฎรทั้งปวงแล้ว ขอทรงพระกรุณาเสด็จมาครองราชสมบัติเอาอาณาประชาราษฎรทั้งหลายไว้ให้รอด พระเจ้าช้างเผือกก็ตรัศบัญชาตามสมเด็จพระโอรสาธิราชกราบทูลนั้น จึงเสด็จลาพระผนวชในเดือน ๔ แรม ๑๓ ค่ำ ศักราช ๙๑๖ ปีขาล ฉศก.

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีแจ้งข่าวไปว่า พระยาภุกาม พระยาเสือหาญ ซึ่งให้มาช่วยกันเมืองพระพิศณุโลก กลับเสียทัพแก่ชาวล้านช้าง ก็ทรงพระพิโรธ แลให้ม้าใช้มาหาพระยาภุกามแลพระยาเสือหาญไปจะลงโทษ พระยาภุกาม พระยาเสือหาญ กลัวพระราชอาญาพระเจ้าหงษาวดี ก็ทูลวิงวอนพระมหาธรรมราชา เชิญเสด็จขึ้นไปช่วยขอโทษ พระมหาธรรมราชาก็ทรงพระกรุณาแก่พระยาภุกาม พระยาเสือหาญ จึงพาพระนเรศวรราชบุตรเสด็จขึ้นไปถึงเมืองหงษาวดี ทูลขอโทษพระยาภุกาม พระยาเสือหาญ แก่พระเจ้าหงษาวดี ๆ ตรัศว่า มันทั้งสองนี้โทษถึงตายอยู่แล้ว แต่พระเจ้าน้องเราได้ขึ้นมาขอแล้ว เรายกโทษให้ พระมหาธรรมราชาก็โสมนัศรักใคร่ในพระเจ้าหงษาวดีเปนอันมาก.

ขณะเมื่อพระมหาธรรมราชาเสด็จไปกรุงหงษาวดีนั้น ข่าวแจ้งลงไปถึงกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา สมเด็จพระมหินทราธิราชก็กราบทูลแก่สมเด็จพระราชบิดาว่า พระมหาธรรมราชานี้มิได้สวามิภักดิต่อพระองค์แล้ว ไปใฝ่ฝากไมตรีแต่พระเจ้าหงษาวดีถ่ายเดียว จำจะยกทัพรีบไปขึ้นไปเชิญเสด็จพระเจ้าพี่นางกับราชนัดดาลงมาไว้ณพระนครศรีอยุทธยา ถึงมาทพระมหาธรรมราชาจะคิดประการใด ก็จะเปนห่วงอาไลยอยู่ อันพระมหาธรรมราชา เห็นจะไม่พ้นเงื้อมพระหัดถ์ สมเด็จพระราชบิดาก็เห็นด้วย จึงตรัศให้พระยารามอยู่จัดแจงรักษาพระนคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระมหินทรโอรสาธิราชก็กรีธาพลเสด็จโดยชลมารคถึงเมืองพระพิศณุโลก ก็รับสมเด็จพระวิสุทธิกระษัตรี กับเอกาทศรฐอันเปนพระภาคิไนยราช แลครัวอพยพข้าหลวงเดิมซึ่งให้ขึ้นมาแต่ก่อนนั้น แล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกับพระมหินทราธิราชก็เสด็จล่องจากเมืองพระพิศณุโลกไปประทับยังเมืองนครสวรรค์ จึงสมเด็จพระมหินทราธิราชกราบทูลสมเด็จพระราชบิดาว่า เมืองกำแพงเพ็ชรเปนทางศึกกำลังศึก จะขอทำลายเมืองกำแพงเพชร กวาดเทเอาครอบครัวอพยพลงไปไว้ณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ถึงศึกมีมา ก็จะได้หย่อนกำลังลง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ตรัศเห็นด้วย ทัพหลวงก็ตั้งยั้งอยู่ณเมืองนครสวรรค์ สมเด็จพระมหินทราธิราชก็ยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองกำแพงเพ็ชร ทัพหลวงตั้งค่ายท้ายเมือง พระยาศรีเปนกองน่า เข้าตั้งค่ายแทบคูเมือง.

ฝ่ายขุนอินทเสนา แลขุนต่างใจ ข้าหลวงซึ่งตั้งไปแต่พระพิศณุโลกนั้น แต่รู้ข่าว ก็ตรวจจัดรี้พลแต่งกันเมืองกำแพงเพ็ชรเปนสามารถ ครั้งกองทัพเข้าตั้งแทบคูเมือง ก็แต่งพลทหารออกหักค่ายพระยาศรี ๆ ก็พ่ายแก่ชาวเมืองกำแพงเพ็ชร จึงพระยาศรีก็แต่งการที่จะปล้นเมืองกำแพงเพ็ชร ก็จัดชาวอาสาในหมวดพันตรีไชยศักดิพันหนึ่ง แต่งการสรรพ ก็ยกเข้าปล้นเมืองในเพลากลางคืน เมื่อแรกยกเข้าไปนั้น ชาวในเมืองสงบอยู่ ละให้เข้าไปถึงเชิงกำแพง แล้วก็วางปืนไฟแลพุ่งสาตราวุธมาต้องชาวอาสา ๆ ก็พ่ายออกมา แต่ยกเข้าปล้นเมืองถึงสามวัน รี้พลตายมาก เห็นจะเอาเมืองมิได้ สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าก็เลิกทัพหลวงคืนลงมายังนครสวรรค์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก แลสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้า ก็เสด็จลงมายังพระมหานครศรีอยุทธยา.

ส่วนพระยารามอยู่แต่งการซึ่งจะกันพระนคร แลในน่าที่กำแพงรอบพระนครนั้น ให้แต่งป้อมเพ็ชรแลหอรบระยะไกลกันแต่เส้นหนึ่ง วางปืนใหญ่ไว้ระยะแต่สิบวา ปืนบะเหรี่ยมจ่ารงค์มณฑกระยะไกลกันแต่ห้าวา อนึ่ง กำแพงพระนครขณะนั้นตั้งโดยขบวนเก่า แลยังไป่รื้อลงตั้งในริมน้ำ พระยารามก็ให้ตั้งค่ายรายไปตามริมน้ำเปนชั้นหนึ่ง แลไว้ปืนจ่ารงค์มณฑกสำหรับค่ายนั้นก็มาก แล้วให้ตั้งหอโทนในกลางน้ำไกลริมฝั่งออกไปห้าวารอบพระนคร มิให้ข้าศึกเอาเรือเข้ามาตีริมพระนครได้.

ฝ่ายข้าหลวงในเมืองพระพิศณุโลก ครั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก แลสมเด็จพระมหินทราธิราช มานำพระวิสุทธิกระษัตรี แลเอกาทศรฐ กับครอบครัวอพยพข้าหลวงเดิม ลงไปแล้ว ก็ขึ้นม้ารีบไปยังกรุงหงษาวดีกราบทูลแด่พระมหาธรรมราชาเจ้าทุกประการ พระมหาธรรมราชาได้แจ้งดังนั้น ก็ตกพระไทย จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าหงษาวดี เอาเหตุซึ่งพระยารามกับสมเด็จพระมหินทราธิราชคิดการกันแต่ต้นจนมาหักหาญรับพระวิสุทธิกระษัตรีลงไปกรุงพระมหานครศรีอยุทธยานั้นทูลแก่พระเจ้าหงษาวดีทุกประการ พระเจ้าหงษาวดีแจ้งเหตุดังนั้น ก็เคืองพระราชหฤไทย จึงตรัศแก่พระมหาธรรมราชาว่า ซึ่งกรุงพระมหานครเสียสัตยานุสัตย์กลับเปนปรปักษ์ข้าศึกแก่พระเจ้าน้องเรานั้น จะละไว้มิได้ พระเจ้าน้องเราเร่งลงไปจัดแจงกองทัพทั้งเจ็ดเมืองเหนือแลเสบียงอาหารไว้ให้สรรพ เดือน ๑๒ เราจะยกลงไป พระมหาธรรมราชาเจ้ารับบัญชาพระเจ้าหงษาวดีแล้ว ก็ถวายบังคมลามายังเมืองพระพิศณุโลก จัดแจงเสบียงอาหารช้างม้ารี้พลทั้งเจ็ดหัวเมืองเหนือไว้ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีให้บำรุงช้างม้ารี้พลสรรพ.

ลุศักราช ๙๑๗ ปีเถาะ สัปตศก วัน ๑๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกาหกบาท สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จสรงพระปริตโตทกธาราภิเศกเสร็จ เสด็จทรงเครื่องศิริราชวิภูษนาธาร กาญจนวิเชียรมาลี มณีมาศมงกุฎ สำหรับวิไชยยุทธราชรณภูมิเสร็จ เสด็จทรงช้างต้นพลายชมภูทัด สูงหกศอกสองนิ้ว ผูกพระที่นั่งสุวรรณมหามณฑป เปนบรมอรรคยานพาหนะ พร้อมด้วยแสนสุรชาติโยธาพลากรเหี้ยมหาญ พลโล่ห์เขนทวนธนูดูดิเรกมเหาฬาร นานาวุธประภูศักดิสารสินธพดุรงคภาชีชาติพันฦก อธึกด้วยกาญจนกลิ้งกลดอภิรุมบังสุริยไพโรจรุจิตร พิพิธปฎาการธงไชยบรรฎากเปนขนัดแน่นไสว เดียรดาษด้วยท้าวพระยาพลากรกรรกงริ้วรายระยะโดยขบวนบทจรพยุหบาตรซ้ายขวาน่าหลังทั้งปวงเสร็จ ได้เพลามหาพิไชยฤกษ์ โหราลั่นฆ้องไชย ทวิชาจารย์เป่าสังข์ประโคมฆ้องกลองกาหฬกึกก้องนฤนาทนี่สนั่นพสุธาดล ดำเนินธวัชลีลาพยุหแสนยากรทัพหลวงออกจากหงษาวดี ร้อนแรมมา ๒๕ เวน ถึงแดนเมืองกำแพงเพชร เสด็จประทับเถลิงราชพลับพลาไชยราชาอาศน์ จึงดำรัศให้พระเจ้าแปรเปนนายกองทัพเรือ แล้วพระเจ้าหงษาวดีก็ยกมาชุมพลทั้งทัพบกทัพเรือณเมืองนครสวรรค์ แลพลพระเจ้าหงษาวดียกมาครั้งนั้น คือ พลพม่ามอญในหงษาวดี อังวะ ตองอู เมืองปรวน แลเมืองประแสนหวี เมืองกอง เมืองมิต เมืองตาละ เมืองหน่าย เมืองอุมวง เมืองสะพัวบัวแส แลเมืองสรอบ เมืองไทยใหญ่ อนึ่ง ทัพเชียงใหม่นั้น พระเจ้าเชียงใหม่ประชวร จึงแต่งให้พระแสนหลวงพิงไชยเปนนายกองถือพลลาวเชียงใหม่ทั้งปวงมาด้วยพระเจ้าหงษาวดีเปนทัพหนึ่ง แลกำหนดพลนั้นมีบาญชีร้อยหมื่น สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเปนนายกองถือพลหัวเมืองเหนือทั้งเจ็ดหัวเมืองมาด้วยพระเจ้าหงษาวดีเปนทัพหนึ่ง ครั้นได้ศุภวารฤกษดิถี พระเจ้าหงษาวดีก็กรีธาพยุหโยธาทัพทั้งปวงลงมายังพระมหานครศรีอยุทธยา.

ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกแลสมเด็จพระมหินทราธิราชแจ้งข่าว ก็ให้ขับพลเมืองนอกทั้งปวงเข้าพระนคร แลได้แต่ในแขวงจังหวัดซึ่งอยู่ใกล้พระนครทั้งสี่แขวงนั้นประมาณส่วนหนึ่ง แลซึ่งมิได้เข้ามานั้นออกอยู่ป่าเปนอันมาก อนึ่ง พลเมืองเล็กน้อยทั้งปวงมิได้เข้าพระนครแลออกอยู่ป่ามาก ได้แต่ตัวเจ้าเมืองแลพลสำหรับเจ้าเมืองนั้นเข้ามาพระนคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ให้พระยารามตรวจจัดพลสรรพยุทธขึ้นประจำน่าที่กำแพงรอบพระนคร แลค่ายทั้งปวงก็มั่นคงนัก แล้วก็แต่งกองแล่นไว้ทั้ง ๔ ด้านรอบพระนคร ด้านละ ๕ กอง ส่วนพระยารามนั้นตั้งทัพในท้องสนามหลวงเปนกองกลาง จะได้ยกไปช่วยทั้ง ๔ ด้าน อนึ่ง น่าที่ใดซึ่งเปนน่าที่กวดขัน พระเจ้าอยู่หัวก็ไว้พระยากระลาโหม แลพระยาพลเทพ พระมหาเทพ เมืองไชยนาท เมืองสุพรรณบุรี เมืองลพบุรี เมืองอินทบุรี เมืองเพ็ชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองนครนายก เมืองสระบุรี เมืองพรหมบุรี เมืองสรรคบุรี เมืองสิงคบุรี เมืองนครไชยศรี เมืองธนบุรี เมืองมฤท ทั้งนี้ อยู่ประจำน่าที่แต่ประตูหอรัตนไชยลงไปเกาะแก้วซึ่งมีแต่คูหาแม่น้ำกั้นมิได้ แลน่าที่ทั้ง ๓ ด้านไซ้ แต่ในค่ายไปถึงประตูไชย พระยาพระคลังเปนนายกองใหญ่ แต่ประตูไชยไปถึงประตูวังไชย พระยาอินทรานครบาลเปนนายกองใหญ่ แต่ประตูวังไชยไปถึงประตูชีขัน พระท้ายน้ำเปนนายกองใหญ่ แต่ประตูชีขันไปถึงมุมศาลหลวง พระยาสีหราชเดโชเปนนายกองใหญ่ แต่มุมศาลหลวงมาพระราชวัง แต่พระราชวังไปถึงขื่อน่า พระยาธรมาเปนนายกอง ถือพลทหารในทั้งปวงรักษาน่าที่.

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดียกทัพมาถึงกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาณวัน ค่ำ ตั้งทัพมั่นณตำบลลุมพลี จึงพระยารามก็ให้เอาปืนนารายน์สังหารยาว ๓ วาศอก กระสุน ๑๒ นิ้ว ลากไปตั้งในช่องมุมศพสวรรค์ ให้จังกายิงเอากลางทัพพระเจ้าหงษาวดี ต้องช้างม้ารี้พลตายมาก กระสุนนั้นไปตกใกล้พลับพลาพระเจ้าหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดีก็ให้เอากระสุนขึ้นสรวงพลี แล้วก็เสด็จเลิกกองทัพมาตั้งณมหาพราหมณ์ พอทัพบกทัพเรือถึงพร้อม จึงพระเจ้าหงษาวดีก็ตรัศกำหนดให้ทัพทั้งปวงเข้าล้อมพระนคร ในขื่อน่าทิศบูรพ์ไซ้ ทัพพระมหาอุปราชาแลทัพพระมหาธรรมราชา ทัพพระเจ้าอังวะไปตั้งข้างทักษิณ ทัพพระยาทะละ แลเจ้าฟ้าไทยใหญ่ แลพระยาแสนหลวงชาวเชียงใหม่ ไปตั้งข้างปัจจิมทิศ ทัพพระยาพสิม แลทัพพระยาตองอู ทัพพระยาอไภยคามินี พระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตะมะ พระยาพะตะบะ พะตะเบิด ตั้งทิศอุดร ฝ่ายทัพหลวงก็ยกเข้าไปตั้งณวัดมเหยงค์ แลทัพอันล้อมพระนครทั้ง ๔ ด้านนั้น เมื่อแรกยกเข้าล้อมนั้น ตั้งไกลริมน้ำออกไปประมาณ ๓๐ เส้น แลเอาไม้ตาลเปนค่ายพูนดินกันปืนใหญ่กว่าจะตั้งค่ายมั่นลงได้ ชาวพระนครวางปืนใหญ่ออกไป ต้องพลพระเจ้าหงษาวดีตายมากนัก ครั้นตั้งค่ายมั่นกันปืนใหญ่ได้แล้วประมาณ ๑๐ วัน ก็ยกเข้ามาตั้งค่ายอิกชั้นหนึ่ง ห่างค่ายเดิม ๑๐ เส้น ยังประมาณ ๒๐ เส้นจะถึงริมน้ำ ชาวพระนครแต่งพลอาสาออกมาทลวงฟัน แล้ววางปืนใหญ่ออกไปต้องพลพระเจ้าหงษาวดีเมื่อตั้งค่ายนั้นตายมากนัก แลนายทัพนายกองเห็นจะตั้งค่ายในกลางวันมิได้ ให้ลอบเข้าตั้งกลางคืนเปนช้านาน จึงตั้งค่ายชั้นนั้นมั่นลงได้ แล้วพระเจ้าหงษาวดีก็ให้ยกเข้าตั้งค่ายอิกชั้นหนึ่งเล่าให้ถึงริมน้ำคูเมือง แลค่ายชั้นนี้ตั้งยากนัก ด้วยชาวพระนครวางปืนใหญ่แลปืนจินดาจ่ารงค์มณฑกถนัดเต็มแม่นยำ พลทั้งปวงต้องปืนไฟตายมากนัก จึงพระเจ้าหงษาวดีให้ขุดอุโมงค์ให้พลทั้งปวงเดินเข้ามาเปนหลายแห่งหลายสาย ครั้นถึงริมแม่น้ำที่จะตั้งค่ายนั้น ก็ขุดเปนอุโมงค์แล่นหากันโดยน่าค่าย แลลอบตั้งค่ายนั้นในกลางคืน แล้วห้ามพลทั้งปวงให้สงบมิให้มี่ฉาว ฝ่ายในพระนครรู้ว่า ชาวหงษาวดีขุดอุโมงค์เดิน เอาปืนใหญ่ยิงออกไป มิได้ต้องข้าศึก ก็จัดกองอาสาออกไปทลวงฟัน ได้หัวเข้ามาถวายหลายครั้ง แลชาวหงษาวดีตั้งค่ายชั้นนั้นเปนเดือนเศษจึงตั้งได้ แต่พระเจ้าหงษาวดียกมาให้ตั้งค่ายล้อมเปนสามครั้งประมาณสองเดือนเศษจึงเข้าล้อมได้ถึงริมแม่น้ำคูเมือง.

ฝ่ายสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าจึงดำรัศแก่พระยารามให้มีศุภอักษรขึ้นไปถึงเมืองล้านช้างขอกองทัพลงมาช่วย พระยารามก็แต่งศุภอักษรโดยพระราชบริหาร เสร็จแล้วจึงแต่งให้ขุนราชเสนา ขุนมหาวิไชย กับไพร่ห้าสิบ ขึ้นไปยังเมืองล้านช้าง.

เมื่อศึกหงษาวดียกมาล้อมพระนครแลตั้งค่ายได้สามครั้ง พระเจ้าช้างเผือกเสด็จเลียบพระนครมิได้ขาด แลแต่งขุนหมื่นทหารออกไปกองละพันสองพันทั้ง ๔ ด้านเปนหลายหมู่หลายกอง ได้รบด้วยชาวหงษาวดีซึ่งเข้ามาตั้งค่ายนั้นทุกวัน แลได้ฆ่าฟันชาวหงษาวดีตาย ได้หัวมาถวายก็มาก ฝ่ายพลหงษาวดีแม้นล้มตายเท่าใด พลทั้งปวงก็มิได้แตกฉาน ยกหนุนกันเข้ามาหนั่นหนาป้องกันให้ตั้งค่าย ครั้นตั้งค่ายมั่นล้อมทั้ง ๔ ด้านแล้ว พระเจ้าหงษาวดีก็ตรัศแก่พระมหาอุปราชา พระเจ้าแปร พระเจ้าอังวะ ท้าวพระยาทั้งหลาย ว่า เราไปรบเมืองทุกแห่งไซ้ ครั้นยกเข้าล้อมได้แล้วดังนี้ ก็แต่งการที่จะเข้าปีนปล้นเอาได้ด้วยฉับพลัน แลแผ่นดินอยุทธยานี้เปนราชธานีใหญ่หลวง เอาสมุทเปนคูคั่นรอบ ดุจเขาพระสิเนรุราชอันมีแม่น้ำสีทันดรนทีรอบคอบ แลที่จะปล้นได้ไซ้ เห็นแต่ขื่อน่าด้านเดียว ถึงดังนั้นก็ดี จะปล้นเอาเหมือนนครทั้งปวงนั้นมิได้ แลซึ่งจะเอาอยุทธยาครานี้ เราจะแต่งการเปนงานปีจึงจะได้ ให้ท้าวพระยาทั้งหลายกำหนดให้แก่นายทัพนายกองทั้งปวงให้รักษาแต่มั่นไว้ ย่าเพ่อรบพุ่ง ให้แต่งกันออกลาดหาเข้าไว้เปนเสบียงไพร่พลทั้งปวงให้ครบปีหนึ่ง แล้วจะให้สำรวจเอาให้ถ้วนตัวจงทุกหมู่ทุกกอง ถ้านายทัพนายกองผู้ได้เสบียงพลนั้นมิครบถึงปีไซ้ จะให้ลงโทษแก่นายทัพนายกองถึงสิ้นชีวิตร จึงท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายก็แต่งพลไว้ประจำค่ายทั้งปวงแต่พอรบพุ่งป้องกันน่าค่าย แล้วก็แต่งพลออกไปลาดหาเข้าทุกหมู่ทุกกองโดยพระราชกำหนด แต่หมวดมะโดดข้าหลวงเดิมนั้นเสบียงบมิครบปี พระเจ้าหงษาวดีให้ลงโทษถึงสิ้นชีวิตร.

ขณะนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรรดิพระเจ้าช้างเผือกทรงพระประชวรหนักประมาณ ๒๕ วัน ก็สวรรคตในศักราช ๙๑๗ ปีเถาะ สัปตศก อยู่ในราชสมบัตินั้น ๒๗ ปี.