ข้ามไปเนื้อหา

พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 1/บท 20

จาก วิกิซอร์ซ
แผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้งที่ ๒

ครั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกสวรรคตแล้ว สมเด็จพระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดินมิได้นำพาการศึก แลเสด็จอยู่แต่ในพระราชวัง ไว้การทั้งปวงแก่พระยารามให้บังคับบัญชาตรวจตราทหารทั้งปวงผู้รักษาน่าที่รอบพระนคร ขณะนั้น พระยารามขี่คานหามทอง มีมยุรฉัตรประดับซ้ายขวา แลพลทหารแห่น่าหลังเปนหนั่นหนา แต่พลถือปืนนกสับเจ็ดร้อย เที่ยวเลียบน่าที่ทุกวัน แลเกณฑ์พลทหารออกรบชาวหงษาวดีเปนสามารถ.

ขณะนั้น พระยาจักรรัตนถือพลทหารออกไปหักค่ายข้าศึกณท้ายคู แลเผาค่ายน่าที่พระยาเกียรติ์ได้ประมาณเส้นหนึ่ง พลศึกอันประจำค่ายพ่ายลงไป จึงพระยาเกียรติ์ยกพลออกรบพระยาจักรรัตน พระยาจักรรัตนถลำไปก็เสียตัว แลชาวอาสาทั้งปวงก็พ่ายเข้ามาพระนคร พระยาเกียรติ์จับพระยาจักรรัตนไปถวายแก่พระเจ้าหงษาวดี ๆ ทรงพระโกรธแก่พระยาเกียรติ์ ตรัศแก่พระมหาอุปราชาว่า ซึ่งพระยาเกียรติ์มิได้รักษาค่ายให้มั่น ให้ชาวพระนครออกมาเผาเสียได้ มิลงโทษพระยาเกียรติ์ด้วยประการใด พระมหาอุปราชากราบทูลว่า พระยาเกียรติ์เสียค่าย ได้นายกองซึ่งถือพลออกมานั้น เห็นว่า โทษพระยาเกียรติ์กลบลบกัน จึงมิได้ลงโทษ พระเจ้าหงษาวดีทรงพระโกรธแก่พระมหาอุปราชาว่า ถึงพระยาเกียรติ์จับได้นายกองก็ดี ยังมิคุ้มโทษ แลมหาอุปราชาว่า พระยาเกียรติ์คุ้มโทษแล้ว แลมิได้เอาโทษพระยาเกียรติ์นั้น เห็นว่า มหาอุปราชามิได้เอาใจลงในการศึก อย่าให้มหาอุปราชาอยู่บังคับการศึกในทัพนั้นเลย จะไปแห่งใดก็ตามใจเถิด ให้มหาอุปราชาเอาแต่ช้างตัวหนึ่ง คนขี่ท้ายกลาง ไปด้วย กว่านั้นอย่าให้เอาไป พระเจ้าหงษาวดีก็ขับพระมหาอุปราชาเสีย แล้วก็ให้ลงโทษแก่พระยาเกียรติ์ถึงสิ้นชีวิตร พระมหาอุปราชากลับมายังทัพ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็ใช้สนองพระโอฐมาขับพระมหาอุปราชาให้ไปจากทัพจงพลัน ขณะนั้น พระเจ้าแปร พระเจ้าอังวะ กลัวอาชญาพระเจ้าหงษาวดี มิอาจทูลขอโทษพระมหาอุปราชาได้ พระมหาอุปราชาก็ให้มาทูลแก่พระมหาธรรมราชาว่า สมเด็จพระราชบิดาทรงพระโกรธ ให้ขับเราเสียจากทัพ แลพระเจ้าแปร พระเจ้าอังวะ จะทูลขอโทษนั้นพ้นกำลัง ทูลมิได้ แลซึ่งจะช่วยเราครานี้ เห็นแต่พระเจ้าพี่เราพอจะทูลขอโทษเราได้ เมื่อพระมหาอุปราชาให้มาทูลแก่พระมหาธรรมราชานั้น พระเจ้าหงษาวดีใช้สนองพระโอฐมาเล่า ว่า ให้พระมหาอุปราชาเร่งไปจงพลัน พระมหาอุปราชากลัวพระราชอาชญา ก็แต่งตัวขึ้นช้างไปจากทัพ จึงพระมหาธรรมราชาตรัศให้ข้าหลวงไปห้ามพระมหาอุปราชาว่า ให้งดอยู่ เราจะไปทูลขอโทษก่อน พระมหาธรรมราชาก็เสด็จมาเฝ้า ทูลขอโทษพระมหาอุปราชา พระเจ้าหงษาวดีก็โปรดยกโทษให้.

ขณะนั้น พระเจ้าหงษาวดีให้พระเจ้าแปรยกทัพเรือลงไปโดยคลองสพานขายเข้า ไปออกบางไทร เลี้ยวขึ้นมาตั้งท้ายคู กันมิให้เรือขึ้นล่องเข้าออกได้ แล้วพระเจ้าแปรก็แบ่งทัพเรือลงไปลาดถึงเมืองนนทบุรี เมืองธนบุรี เมืองสาครบุรี.

ขณะนั้น สำเภาจีนจังจิ๋วมิทันรู้ว่า ศึกเมืองหงษาวดีมาล้อมพระนคร ก็ใช้ใบเข้ามาถึงหลังเต๋า พระเจ้าแปรรู้ก็ยกทัพเรือออกไป จะเอาสำเภาจีนจังจิ๋ว ๆ รู้ว่า ศึกมาล้อมพระนคร แต่งทัพเรือลงมาลาด จีนจังจิ๋วก็ใช้ใบสำเภาออกไป แลทัพเรือพระเจ้าแปรยกออกไป เห็นสำเภาจีนจังจิ๋วคลาศออกไปฦกแล้ว จะตามเอามิได้ ก็ยกทัพคืนมา พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงพระโกรธแก่พระเจ้าแปรว่า สำเภาจีนเข้ามาถึงปากน้ำแล้ว แลมิได้ติดตามออกไปเอาจงได้ ให้สำเภาจีนหนีไปรอดนั้น พระเจ้าแปรผิด ตรัศให้เอาตัวพระเจ้าแปรไปตระเวนรอบทัพแล้วให้คงเปนนายกองทัพเรือดุจเก่า.

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีก็แต่งทหารให้เข้าหักค่ายริมน้ำด้านประตูหอรัตนไชย พระยาราม แลพระยากระลาโหม พระยาอินทราธิบดี พระมหาเทพ พระมหามนตรี แลพระหัวเมืองขุนหมื่นทั้งหลาย ช่วยกันเอาใจลงในราชการ รบพุ่งป้องกันมิให้ชาวหงษาหักเข้ามาได้ แลพระมหาเทพแต่งพลอาสาออกทลวงฟัน ชาวหงษาวดีก็แตกฉานเปนหลายครั้ง แลการศึกนั้นก็ช้าอยู่ พระเจ้าหงษาวดีทรงพระโกรธ ก็ให้เอานายทัพนายกองนั้นลงโทษ แล้วบัญชาการให้พระมหาอุปราชาไปตั้งค่ายตำบลวัดเขาดินตรงเกาะแก้ว พระเจ้าอังวะบุตรเขยนั้นตั้งค่ายตำบลวัดสพานเกลือ พระเจ้าแปรผู้หลานตั้งค่ายตำบลวัดจันตรงบางเอียน ให้เร่งถมดินเปนถนนข้ามแม่น้ำเข้าไปให้ถึงฟากทั้งสามตำบลจงได้ พระมหาอุปราชา พระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร ก็มาเร่งให้ทำตามรับสั่ง ชาวพระนครเจ้าน่าที่เห็นดังนั้น ก็เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงข้าศึกล้มตายเปนอันมาก สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีเสด็จไปทอดพระเนตร เห็นยังไม่เปนถนนขึ้น ก็ตรัศว่า พระมหาอุปราชา พระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร สามคนนี้ จะให้พูนแต่ถนนข้ามคูเท่านี้ยังมิได้ ที่ไหนจะได้กรุงศรีอยุทธยาเล่า ถ้าตายลงสักคนหนึ่งเมื่อใด จึงจะเปนถนนขึ้นได้ ตรัศเท่าดังนั้นแล้ว เสด็จกลับไป พระมหาอุปราชา พระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร ยิ่งเกรงพระราชอาชญา จึงดำริห์ให้เอาไม้โตนดทำทุบทูบังพลขนมูลดินเข้าไปถมถนน ชาวพระนครก็วางปืนใหญ่ออกมาทำลายทุบทู พลล้มตายเปนอันมาก ผู้ตรวจการเห็นดังนั้น ก็ไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีทุกประการ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีจึงตรัศถามผู้ตรวจการว่า พลแบกมูลดินตายลงคนหนึ่ง จะเปนมูลดินสักกี่ก้อน ผู้ตรวจการทูลว่า คนตายคนหนึ่งเปนมูลดินประมาณเจ็ดก้อนแปดก้อน พระเจ้าหงษาวดีตรัศมา เอาเถิด จงไปบอกเจ้าน่าที่ให้เร่งพลขนมูลดินถมถนนเข้าไป อย่าให้ขาดได้ ผู้ตรวจการก็มาทูลพระมหาอุปราชา พระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร ตามรับสั่งทุกประการ พระมหาอุปราชา พระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร ก็เร่งให้พวกพลทั้งปวงขนมูลดินเข้าไปถมถนนทั้งสามตำบลมิได้ขาดทั้งกลางวันกลางคืน พวกพลซึ่งต้องขนมูลดินต้องปืนตาย ก็ให้ทิ้งลงไปทั้งก้อนดินแลอาศพด้วยกัน แลการพูนถนนนั้นถึงสามเดือนจึงถึงฟากกำแพงพระนคร.

ฝ่ายพระยาราม พระยากระลาโหม พระมหาเทพ เห็นเชิงศึกแหลมเข้ามา ก็ให้ตั้งค่ายในกำแพงพระนครชั้นหนึ่งเปนวงพาด เอาปืนใหญ่มณฑกมาตั้งดาไว้ณน่าค่ายนั้น ฝ่ายพลอันอยู่น่าที่กำแพงเชิงเทินนั้นก็ยังรบพุ่งป้องกันอยู่ พระเจ้าหงษาวดีให้ยกพลเข้ามาโดยถนนมุมเกาะแก้ว แล้วเอาทัพเรือมากระหนาบ เอาปืนจ่ารงค์มณฑกนกสับยิงแย้งระดมเจ้าน่าที่ดังห่าฝนชิงเอามุมเกาะแก้วนั้น ชาวทหารอาสาซึ่งอยู่น่าที่มุมเกาะแก้วนั้นจะยิงรบพุ่งป้องกันมิได้ ก็พ่ายลงมายังค่ายซึ่งตั้งไว้นั้น ชาวหงษาวดีรุกเข้ามาทลายกำแพงมุมเกาะแก้วได้ ขณะนั้น พระยารามก็สลดใจ จะบังคับบัญชาการศึกมิได้เปนสิทธิดุจก่อน ก็คิดด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายว่า จะป้องกันสืบไป เห็นพ้นกำลัง แลจะแต่งออกไปให้เจรจาเปนไมตรี ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายก็ว่า ซึ่งจะเปนไมตรีไซ้ แต่ยังมิได้รบกันเปนสามารถ แลซึ่งได้รบพุ่งจนพระเจ้าหงษาวดีเสียรี้พลเปนอันมากดังนี้แล้ว พระเจ้าหงษาวดียังจะรับเปนไมตรีฤๅ ท้าวพระยาทั้งหลายก็มิลงด้วยพระยาราม แต่นั้นมา ท้าวพระยามุขมนตรีลูกขุนทหารทั้งปวงมิฟังบังคับบัญชาพระยาราม ต่างคนต่างรบพุ่งข้าศึก สมเด็จพระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดินก็มิเอาพระไทยลงในการสงคราม ละให้แต่มุขมนตรีทั้งหลายรบพุ่ง.

ขณะนั้น พระมหาเทพถือพลอาสาอยู่รักษาน่าค่ายมุมเกาะแก้วที่กำแพงทลายนั้น ข้าศึกหงษาวดียกเข้ามาปล้นค่ายเปนหลายครั้ง แลพระมหาเทพก็รบป้องกันไว้ ข้าศึกหักเข้าไม่ได้ อนึ่ง พระเจ้าลูกเธอ พระศรีเสาวราช เสด็จมายืนช้างพระที่นั่ง ให้พลอาสาช่วยพระมหาเทพรบแลแต่งทหารอาสาออกทลวงฟัน แล้วก็วางปืนใหญ่ยิงทะแยงออกไป ต้องพลหงษาวดีตายเปนอันมาก ข้าศึกจะปล้นเอาค่ายนั้นมิได้ ก็ตั้งประชิดกันอยู่.

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีทรงพระดำริห์ว่า กรุงพระมหานครศรีอยุทธยานี้ป้องกันเมืองเปนสามารถ ซึ่งจะหักเอาโดยง่ายนั้นยาก แล้วก็จวนเทศกาลฟ้าฝน จะลำบากไพร่พลนัก ก็ตรัศด้วยพระมหาธรรมราชาว่า จำเราจะเพโทบายให้ถือหนังสือเอาตัวพระยารามผู้เปนเจ้าการป้องกันพระนครนั้นได้แล้ว ก็จะเบามือลง เห็นจะได้เมืองถ่ายเดียว พระมหาธรรมราชาเห็นด้วย ก็แต่งนายก้องทองข้าหลวงเดิมให้ถือหนังสือลอบเข้าไปถึงขุนสนมข้าหลวงซึ่งสมเด็จพระเจ้าช้างเผือกไปเอามาลงแต่เมืองพระพิศณุโลกกับด้วยพระวิสุทธิกระษัตรีนั้น ขุนสนมก็ส่งหนังสือนั้นเข้าไปถวายแก่พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน แลในลักษณหนังสือนั้นว่า พระเจ้าช้างเผือกตรัศคิดด้วยพระยาราม จึงแต่งการรบพุ่งป้องกันพระนคร ละให้เสียสัตย์คลองพระราชไมตรีนั้น บัดนี้ พระเจ้าช้างเผือกเสด็จสวรรคตแล้ว ยังแต่พระยาราม แลพระไทยพระเจ้าหงษาวดียังไป่เสียคลองพระราชไมตรี ตรัศว่า ถ้าแลพระเจ้าแผ่นดินส่งตัวพระยารามผู้ก่อเหตุออกไปถวายแล้ว พระเจ้าหงษาวดีก็จะเปนไมตรี มิให้ยากแก่สมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎรทั้งปวง จะเลิกทัพกลับคืนไปเมืองหงษาวดี จึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในก็เอาหนังสือนั้นมาแถลงแก่สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน ๆ ได้ฟังโดยลักษณหนังสือนั้น ก็ให้หาท้าวพระยาพฤฒามาตย์ทั้งปวงมาประชุมกันปฤกษาว่า ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีจะให้ส่งพระยารามออกไปแลจะเปนไมตรีนั้น ยังเห็นควรจะส่งพระยารามออกไปฤๅ ๆ มิชอบส่ง จึงท้าวพระยาพฤฒามาตย์ทั้งปวงปฤกษาว่า ถ้าพระเจ้าหงษาวดีจะเปนพระราชไมตรีจริง ควรจะส่งพระยารามออกไป อย่าให้ได้ยากแก่ประชาราษฎรทั้งหลาย สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินก็ตรัศให้แต่งหนังสือตอบออกไปว่า ถ้าพระเจ้าหงษาวดีจะเปนพระราชไมตรีสัจจริงดุจให้มีหนังสือเข้ามาไซ้ ก็จะส่งพระยารามออกไป จึงนายก้อนทองเอาหนังสือออกไปถวายแด่พระมหาธรรมราชา ๆ ก็ตรัศใช้นายก้อนทองเข้ามาเล่าว่า พระเจ้าหงษาวดีจะเปนพระราชไมตรีสุจริตจริง ให้ส่งตัวพระยารามออกไปเถิด ซึ่งจะเอาพระยารามไว้ จะให้ได้ยากแก่อาณาประชาราษฎรทั้งปวงนั้น ดูมิบังควร ฝ่ายท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายมิได้รู้กลพระเจ้าหงษาวดี สำคัญว่าจริง ก็พร้อมกันทูลสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินให้ส่งพระยารามออกไปแก่พระเจ้าหงษาวดี สมเด็จพระเจ้ามหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินจึงตรัศสั่งนายก้อนทองให้ออกไปทูลแก่พระมหาธรรมราชาว่า จะส่งพระยารามออกไป กำหนดให้มารับ ครั้นนายก้อนทองไปแล้ว พระเจ้าแผ่นดินให้จำพระยาราม แต่งคนคุมออกไปส่ง อาราธนาพระสังฆราชกับภิกษุสี่องค์ออกไปด้วย ครั้นพระสังฆราชแลผู้คุมคุมพระยารามไปถึง สมเด็จพระมหาธรรมราชาให้ถอดจำพระยารามออก แล้วก็พาเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าหงษาวดี ๆ ก็ให้เบิกพระสังฆราชเข้ามา แล้วตรัศให้หาพระมหาอุปราชาแลท้าวพระยาผู้ใหญ่ทั้งปวงมาประชุมในน่าพลับพลา พระเจ้าหงษาวดีก็ตรัศแก่ท้าวพระยาทั้งหลายว่า พระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้พระสังฆราชเอาพระยารามผู้ก่อเหตุมาส่งแก่เรา แลว่า จะขอเปนพระราชไมตรีด้วยเราดุจก่อน ท้าวพระยาทั้งหลายจงพิพากษา ยังจะชอบรับเปนพระราชไมตรีฤๅประการใด ท้าวพระยาทั้งหลายก็ทูลว่า ซึ่งได้พระยารามออกมาแล้วดังนี้ เสมอได้แผ่นดินอยุทธยา อันจะเปนพระราชไมตรีนั้นหาต้องการไม่ ขอให้ยกเข้าหักเอากรุงจงได้ พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัศว่า เราเปนกระษัตริย์ จะทำการสงครามสืบไป ซึ่งจะทำดังนี้หาควรไม่ แล้วสั่งนายทัพนายกองทั้งปวงให้รักษาแต่มั่นไว้ อย่าให้ประชิดรบพุ่งเข้าไป ฝ่ายชาวพระนครก็มิได้รบ ต่างคนต่างสงบอยู่ทั้งสองฝ่าย จึงพระเจ้าหงษาวดีก็สั่งพระสังฆราชเข้ามาว่า ถ้าพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจะเปนพระราชไมตรีด้วยเราจริง ให้พระเจ้าแผ่นดินแลท้าวพระยาผู้ใหญ่ทั้งปวงออกมาถวายบังคม จึงจะรับเปนราชไมตรีด้วย ครั้นพระสังฆราชเข้ามาถึงกรุง ถวายพระพรแก่สมเด็จพระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดินโดยคำพระเจ้าหงษาวดีสั่งเข้ามานั้น จึงท้าวพระยาทั้งหลายทูลพระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดินว่า การทั้งนี้พระเจ้าหงษาวดีหากเพโทบายฬ่อลวงให้ออกไป แล้วจะกุมเอาท้าวพระยาผู้ใหญ่ทั้งปวงไว้ แล้วก็จะให้เข้ามาเทเอาครัวอาณาประชาราษฎรทั้งหลายอพยพไปเปนเชลย แลศึกครั้งนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายขอถวายชีวิตรบพุ่งป้องกันจนถึงขนาด จึงสมเด็จพระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดินก็ตรัศให้ท้าวพระยาทั้งหลายพิพากษาเปนหลายยกหลายเกณฑ์ แลท้าวพระยาทั้งปวงลงด้วยกันเปนคำเดียวว่า จะอาสารบพุ่ง แต่พระยาธารมาไซ้มิได้ลงด้วยท้าวพระยาทั้งปวง.

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีท่าฟังทูตซึ่งจะออกไปแต่พระนครช้าอยู่ถึงเจ็ดวัน จึงตรัศด้วยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าว่า กรุงพระมหานครศรีอยุทธยามิให้ทูตออกมาเจรจาความเมืองแลช้าอยู่ดังนี้ เห็นว่า มิเปนพระราชไมตรีกันแล้ว เราจะให้แต่งการที่จะปล้นนั้นดุจเก่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ทูลแก่พระเจ้าหงษาวดีว่า ขอให้งดก่อน ข้าพเจ้าจะเข้าไปแถลงการทั้งปวงให้พระเจ้าแผ่นดินแลท้าวพระยาผู้ใหญ่เห็นแท้ว่า จะเปนทางพระราชไมตรี อย่าให้ยากแก่สมณพราหมณาประชาราษฎรทั้งหลาย พระเจ้าหงษาวดีก็ตรัศบัญชาโดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้า สมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าก็เสด็จด้วยพระเสลี่ยงมายืนอยู่ตรงน่าที่พระมหาเทพ ร้องเรียกเจ้าน่าที่เข้าไปว่า เราจะเข้าไประงับการแผ่นดิน พระมหาเทพเจ้าน่าที่มิไว้ใจ ยิงปืนกระสุนใหญ่น้อยออกไป พระองค์ลงจากพระเสลี่ยง ขุนอินทรเดชะแบกพระองค์วิ่งกลับออกมา สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็มาเฝ้าพระเจ้าหงษาวดีแล้วกราบทูลทุกประการ พระเจ้าหงษาวดีก็ตรัศว่า อันชาวพระนครศรีอยุทธยามิไว้ใจนั้น ก็เปนสำหรับที่จะให้พระนครเสีย ซึ่งจะพ้นมือเราไปนั้นหาไม่แล้ว พระเจ้าหงษาวดีก็สั่งให้นายทัพนายกองทั้งปวงเร่งประชิดทำการทั้งกลางคืนกลางวัน ชาวพระนครก็รบพุ่งป้องกันเปนสามารถ.

ขณะนั้น พระเจ้าลูกเธอ พระศรีเสาวราช ถือพลหมื่นห้าพันตั้งเปนกองกลางอยู่ณท้องสนามหลวง ถ้าเจ้าน่าที่มาทูลว่า ข้าศึกเข้าหักหาญด้านใดหนัก ก็มิได้กราบทูลพระราชบิดาก่อน แต่งทหารให้ไปช่วยรบพุ่งทุกครั้ง ส่วนสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินมิได้เอาพระไทยใส่ในการศึก อยู่มา คิดแคลงพระเจ้าลูกเธอ พระศรีเสาวราช ว่า การศึกหนักเบามิได้มาแจ้งก่อน ทำแต่โดยอำเภอใจ จึงให้หาพระศรีเสาวราชเข้ามา แล้วสั่งพระยาธารมาให้เอาตัวพระศรีเสาวราชไปล้างเสียณวัดพระราม ข้าราชการแลนายทัพนายกองทหารทั้งปวงก็เสียใจ แต่เหตุว่ารักบุตรภรรยาอยู่ ก็อุสาหะรบป้องกันไว้ทุกน่าที่.

ฝ่ายขุนราชเสนา ขุนมหาวิไชย กับไพร่ห้าสิบคน พากันเล็ดลอดขึ้นไปถึงเมืองล้านช้าง จึงเอาศุภอักษรนั้นให้แก่เสนาบดี ในลักษณนั้นว่า ศุภอักษรบวรสถาผลวิมลเชษฐคุณานันตวิกสิตวิจิตรคามภีราอัชฌาไศรยในท่านอรรคมหาเสนาบธิบดินทร์นรินทรามาตย์อันสวามิประวาศบาทมุลิกากรบวรยุคลเรณุมาศในพระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนกรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชมหาสถาน มีมธุรจิตรสนิทเสน่หามายังเสนาธิบดีณกรุงศรีสัตนาคนหุต ด้วยบัดนี้ กรุงพระนครศรีอยุทธยามีราชดัษกร คือ พระเจ้าหงษาวดี กอปรด้วยโลภเจตนาหาหิริโอตัปปมิได้ ยกกองทัพลงมากระทำปไสยหาการย่ำยีพระนครศรีอยุทธยา สมณพราหมณาจารย์ไพร่ฟ้าประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน แลกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาก็เปนเขื่อนเพ็ชรเขื่อนขันธ์แก่กรุงศรีสัตนาคนหุต ถ้าพระนครศรีอยุทธยาเสียแก่กองทัพหงษาวดีแล้ว เห็นศึกหงษาวดีจะติดถึงกรุงศรีสัตนาคนหุตด้วย เชิญเสด็จพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตยกพยุหโยธาทัพลงมาช่วยรณยุทธปราบปรามข้าศึกให้ปราไชยปลาศไป แล้วจะได้ช่วยกันดำริห์การตอบแทนแก้แค้นพระเจ้าหงษาวดีให้ถึงขนาด เสนาบดีครั้นแจ้งในศุภอักษรแล้วก็พาขุนราชเสนา ขุนมหาวิไชย เข้าเฝ้า ทูลโดยสำเนาศุภอักษรเสร็จสิ้นทุกประการ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งดังนั้นก็ทรงพระโกรธ ดำรัศว่า พระเจ้าหงษาวดีมิได้ตั้งอยู่ในขัติยราชธรรมประเพณี ประพฤดิพาลทุจริตให้ทหารมาสกัดชิงพระเทพกระษัตรีไปครั้งหนึ่งมิหนำ ยังมีใจกำเริบยกมากระทำย่ำยีพระนครศรีอยุทธยาอิกเล่า จำเราจะยกไปตีเปนทัพกระหนาบ ดูหน้าพระเจ้าหงษาวดีจะทำเปนประการใด ประการหนึ่ง ทั้งทางพระราชไมตรีกรุงศรีอยุทธยาก็จะถาวรวัฒนาการสืบไป แล้วก็มีพระราชกำหนดให้เตรียมพลห้าหมื่น ช้างเครื่องสามร้อย ม้าสามพัน ครั้น ณ วัน ค่ำ ได้ศุภวารดฤถีมหามงคลฤกษ์อันประเสริฐ ก็เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาลาวแลพลพิริยโยธาหาญแห่โดยกระบวนซ้ายขวาน่าหลังดั้งแซงเปนขนัดแน่นนันด้วยเครื่องสรรพสาตราวุธ ยกออกจากกรุงศรีสัตนาคนหุตร้อนแรมมาโดยวิถีทางสถลมารค ฝ่ายชาวด่านเมืองนครไทยรู้ข่าวว่า ทัพเมืองล้านช้างยกลงมา ก็บอกข้อราชการลงไปให้กราบทูลสมเด็จพระมหาธรรมราชา.

สมเด็จพระมหาธรรมราชาแจ้งดังนั้น จึงเสด็จไปเฝ้ากราบทูลพระเจ้าหงษาวดีว่า บัดนี้ กองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมาทางเมืองเพ็ชรบูรณ์จะลงเมืองสระบุรีเปนทัพกระหนาบ พระเจ้าหงษาวดีทราบแล้วตรัศถามพระยารามว่า ทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมานี้มาช่วยเองฤๅ ๆ ไปขอให้มาช่วย พระยารามกราบทูลว่า สมเด็จพระมหินทราธิราชสั่งข้าพเจ้าให้มีศุภอักษรขึ้นไปขอกองทัพลงมาช่วย พระเจ้าหงษาวดีตรัศว่า ซึ่งทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมาครั้งนี้ ครั้นจะละให้มาใกล้ ชาวพระนครจะแขงมือขึ้น การที่จะทำเอาพระนครจะช้าวันไป จำจะตีเสียให้แตกฉานแต่ไกล แล้วให้สมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระยารามเอาช่างที่มีฝีมือมาแกะตราให้เหมือนตราพระราชสีห์ เสร็จแล้วจึงแต่งเปนศุภอักษรว่า ทัพพระเจ้าหงษาวดียกมาครั้งนี้ กองทัพกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแต่งออกรับ ก็หาหักหาญได้ไม่ บัดนี้ รับแต่มั่นไว้ แต่งให้ออกลาดตระเวนตัดเสบียง กองทัพเมืองหงษาวดีก็ขาดเสบียงลง จวนจะเลิกถอยไปอยู่แล้ว ให้เชิญเสด็จพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเร่งยกพยุหโยธาทัพลงมากระหนาบ ก็จะได้ไชยชำนะโดยง่าย ครั้นเสร็จแล้ว จึงให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาแต่งไทยซึ่งมีสติปัญญาไว้ใจได้ถือรีบไป แล้วสั่งให้พระมหาอุปราชายกกองทัพขึ้นไปคอยสกัดตี พระมหาอุปราชาก็เสด็จยกพยุหบาตราทัพโดยสถลมารคแนวน้ำแควป่าสักฟากตวันออก พักพลซุ่มไว้ใกล้เมืองสระบุรีทั้งสองฟากน้ำ

ฝ่ายผู้ถือศุภอักษรไปพบกองทัพพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตณเมืองเพ็ชรบูรณ์ เสนาบดีนำเข้าเฝ้าทูลข้อความตามศุภอักษรทุกประการ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้ง มิได้มีวิจารณญาณ สำคัญว่าจริง ดีพระไทย ก็ยกกองทัพรุดรีบลงมาเมืองสระบุรีถึงตำบลหมากสองต้น กองทัพยังมิทันพร้อม พระมหาอุปราชาก็กำหนดให้ทหารเข้าโจมตี กองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตไม่ทันรู้ตัว ก็แตก รี้พลเจ็บป่วยล้มตายเปนอันมาก พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตก็ขึ้นช้างหนีไป กองทัพพระมหาอุปราชาไล่ติดตามไป ได้ช้างม้าเปนอันมาก จับพลลาวเปนได้ประมาณร้อยเศษ แล้วยกลงมาเฝ้าพระเจ้าหงษาวดี ทูลซึ่งได้ไชยชำนะ แล้วถวายช้างม้ากับเชลยชาวล้านช้างซึ่งได้มานั้น พระเจ้าหงษาวดีดีพระไทย จึงให้ปล่อยชาวล้านช้างเข้าไปแจ้งเหตุทั้งปวงในพระนคร ฝ่ายพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินนายทัพนายกองทแกล้วทหารทั้งปวงแจ้งว่า เสียทัพกรุงศรีสัตนาคนหุต ก็เศร้าใจ พระเจ้าหงษาวดีก็คิดซี่งจะหักเอาพระนครให้ได้.

ฝ่ายสมเด็จพระมหาธรรมราชา ครั้นเวลาค่ำ จึงให้หาพระยาจักรีซึ่งพระเจ้าหงษาวดีได้ขึ้นไปครั้งพระราเมศวรนั้นมาเฝ้าแต่สอง ให้สาบาล แล้วจึงตรัศปฤกษาเปนความลับว่า แต่ก่อน ท่านกับเราก็เปนข้าพระเจ้าช้างเผือก ครั้งนี้ มาเปนข้าพระเจ้าหงษาวดีด้วยกัน ฝ่ายพระเจ้าช้างเผือกก็สวรรคตแล้ว ตัวเราก็ได้ทำความชอบ แต่ตัวท่านหามีความชอบสิ่งใดไม่ เราคิดจะให้ท่านมีความชอบไว้ต่อพระเจ้าหงษาวดี เราเห็นอุบายอันหนึ่งซึ่งจะเปนความชอบของท่านตราบเท่ากัลปาวสาน ถ้าท่านเปนใจด้วยแล้ว ก็จะได้เมืองโดยง่าย พระยาจักรีก็รับว่า จะสนองพระคุณไปกว่าจะสิ้นชีวิตร สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงเอาความลับทั้งนี้ไปกราบทูลแก่พระเจ้าหงษาวดี ๆ ยินดีนัก จึงอุบายให้เอาพระยาจักรีมาลงพระราชอาชญาแล้วจำไว้ ให้พม่ามอญลาวคุมอยู่สามสิบคน ครั้นอยู่มาประมาณ ๕ วัน ๖ วัน สมเด็จพระมหาธรรมราชาแต่งคนให้ลอบไปปล่อยพระยาจักรีเข้าไปในกรุงทั้งสังขลิกพันธนาเข้าน่าที่พระยาธารมาตรงวัดศพสวรรค์ในเวลากลางคืน ครั้นรุ่งขึ้น พระเจ้าหงษาวดีทำเปนให้ค้นหาพระยาจักรีทุกกองทัพไม่พบ แล้วก็ให้เอาผู้คุมสามสิบคนไปตระเวนรอบกองทัพแล้วประหารชีวิตเสียบไว้น่าค่ายวัดธารมา ในเพลานั้น พระยาธารมาก็พาตัวพระยาจักรีเข้าไปเฝ้า.

สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินสำคัญว่า พระยาจักรีหนีมาจริง มีความยินดีนัก ก็ให้ถอดเครื่องพันธนาการออก แล้วจึงพระราชทานบำเหน็จรางวัลเปนอันมาก ให้พระยาจักรีบังคับการซึ่งจะป้องกันพระนคร แล้วสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินพระราชทานอาชญาสิทธิ์พระยาจักรี ให้แห่เครื่องสูงมีปี่กลองชนะแตรสังข์ประโคมเที่ยวตรวจน่าที่ แลพระยาจักรีนั้นจัดแจงค่ายคูประตูหอรบบำรุงทแกล้วทหารรบพุ่งโดยฉันอันจริงมาได้ประมาณเดือนหนึ่ง แต่นั้นไป เห็นเจ้าน่าที่ผู้ใดรบพุ่งเข้มแขงกล้าหาญ ก็พาลผิดลงโทษว่า ละน่าที่เสีย มิได้เปนใจต่อราชการ แล้วก็เอาพลเรือมาเปนทหาร เอาทหารไปเปนพลเรือน นายทัพนายกองทั้งปวงก็เสียใจ การศึกก็ถอยกำลังลง แล้วให้หนังสือลับกำหนดออกไปว่า ณ วัน ๑๐ ค่ำ ให้ยกเข้ามา ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีแจ้งดังนั้น ก็กำหนดให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทหารทั้งปวงซึ่งจะเข้าหักเอาพระนคร แต่งทหารเปนสี่เหล่า ๆ หนึ่งใส่เสื้อดำถือดาบดั้ง เหล่าหนึ่งใส่เสื้อเขียวถือดาบสองมือ เหล่าหนึ่งใส่เสื้อแดงถือปืนนกสับคาบชุด เหล่าหนึ่งใส่เสื้อสีม่วงถือหอกทวนดาบสพายแล่ง ให้พระมหาธรรมราชากับพระมหาอุปราชาถือพลทั้งนี้ยกเข้าโดยถนนเกาะแก้ว แลพระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร ยกเข้าตามน่าที่พร้อมกันทั้งสามถนน เจ้าน่าที่ก็สาดปืนไฟแหลนหลาวมาต้องพลทหารหงษาวดีล้มตายเปนอันมาก พลข้าศึกก็มิได้ถอย เยียดยัดหนุนเนื่องกันเข้าไปมิได้ขาด เสียงพลเสียงปืนดังแผ่นดินจะไหว แลกองทัพพระมหาธรรมราชา พระมหาอุปราชา โจมตีหักเข้าไปได้ค่ายพระมหาเทพ ๆ แตกถอยเข้าไปตั้งรับอยู่ตำบลน่าวัดโควัดกระบือ แล้วก็แตกเข้ามาตั้งรับตำบลวัดเผาเข้า ก็ซ้ำแตกกระจัดพลัดพรายคุมกันไม่ติด ศึกก็เข้าเมืองได้ เมื่อเสียกรุงพระมหานครแก่พระเจ้าหงษาวดีนั้น ณวัน ๑๑ ค่ำ ศักราช ๙๑๘ ปีมโรง อัฐศก เพลาเช้า สามนาฬิกา.

ขณะนั้น พระมหาอุปราชากับสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าก็เสด็จเข้ามายืนช้างพระที่นั่งน่าพระราชวัง จึงสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินก็เสด็จด้วยพระราชยานออกไปยังพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า จึงพระมหาอุปราชก็ให้รับสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินออกไปถวายสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีณพลับพลาวัดมเหยงคณ์ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีทอดพระเนตรเห็น จึงตอบพระหัดถ์ลงที่ราชาอาศน์ แล้วตรัศเชิญเสด็จพระมหินทราธิราชให้เข้ามานั่ง สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าก็คลานเข้าไปตามรับสั่ง แต่ทว่าหาถึงที่ตบพระหัดถ์ไม่ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีจึงยกพานพระศรีเลื่อนมาให้สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าเสวย สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้ามิได้เสวย พระเจ้าหงษาวดีก็หยิบเอาพระศรีในพานประทานให้ สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าก็รับมากำไว้น่อยหนึ่งแล้วจึงเสวย สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีจึงหยิบบ้วนพระโอฐส่งให้ สมเด็จพระมหินทราธิราชก็มิได้บ้วนลง สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีจึงตรัศว่า ซึ่งเรายกมากระทำการสงครามทั้งนี้ เปนประเพณีกระษัตริย์ขัติยราช จะเอาไชยไว้เกียรติยศ แผ่ขอบขัณฑเสมาอาณาจักรให้กว้างขวางในทิศานุทิศทั้งปวง เจ้าอย่าโทมนัสน้อยใจเลย จะเชิญขึ้นไปอยู่กรุงหงษาวดีด้วยกัน แล้วสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีจึงตรัศแก่พระมหาธรรมราชาให้นำสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าไปทำนุบำรุงไว้ พระเจ้าหงษาวดีก็ให้เทเอาครัวอพยพชาวพระนครแลรูปภาพทั้งปวงในน่าพระบัญชรชั้นสิงห์นั้นส่งไปเมืองหงษาวดี แล้วทรงพระราชดำริห์การซึ่งจะราชาภิเศกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าให้ครองกรุงพระนครศรีอยุทธยา จึงไว้พระยานครศรีธรรมราช พระศรีอรรคราช ขุนเกษตราธิบดี ขุนรักษมณเฑียร หมื่นนรินทรเสนี แลขุนหมื่นทั้งปวงร้อยหนึ่ง แลไพร่พลชายหญิงอพยพหมื่นหนึ่ง ให้อยู่สำหรับกรุงศรีอยุทธยา.