พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 2/บท 10
๏แลในเดือนแปด ข้างขึ้นนั้น ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายก็ให้ตั้งการพระราชพิธีราชาภิเศกณพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท อัญเชิญสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชขึ้นผ่านพิภพเสวยมไหสุริยสมบัติสืบไป ถวายพระนาม สมเด็จพระบรมราชามหาอดิศรบวรสุจริตทศพิธธรรมธเรศเชษฐโลกนายกอุดมบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้ากรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา แลการพะราชพิธีราชาภิเศกในปีขาล สำฤทธิศกนั้น ถึงสองครั้งเนื่อง ๆ กันไป.
๏อยู่มาประมาณเจ็ดวัน กรมหมื่นเทพพิพิธคิดถึงพระองค์ว่า เปนเจ้าผู้ใหญ่ เกรงพระเจ้าแผ่นดินจะมีความรังเกียจพระไทยไม่เลี้ยง ก็จะมีชีพิตันตรายเหมือนเจ้าสามกรม จึงเข้าไปกราบทูลถวายบังคมลาออกทรงผนวช ครั้นทรงพระอนุญาตแล้ว ก็ไปทรงผนวชอยู่ณวัดกระโจม.
๏สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการให้ตั้งกรมหลวงพิพิธมนตรีพระราชมารดาเปนสมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตย แล้วโปรดตั้งเจ้าอาทิตยเปนกรมหมื่นพิทักษภูเบศร ตั้งนายปิ่นผู้พี่เจ้าจอมแพงเจ้าจอมแมนพระสนมเอกนั้นเปนพระยาราชมนตรีบริรักษ์จางวางมหาดเล็ก ตั้งนายฉิมผู้น้องเปนจมื่นศรีสรรักษ์.
๏ครั้นถึงเดือนสิบสอง สมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตยทรงพระประชวรหนักเสด็จทิวงคต สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงให้แต่งพระศพใส่พระโกษฐ แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์เคียงกันเปนสองพระโกษฐ.
๏ฝ่ายพระยาราชมนตรีบริรักษ์นั้นเข้าออกในพระราชวังทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีใครว่ากล่าวห้ามปรามได้ แล้วเจรจาคำหยาบประมาทหมิ่นขุนนางผู้ใหญ่ให้ได้ความเจ็บแค้น เจ้าพระยาอไภยราชามีความโทมนัศ จึงปฤกษาด้วยพระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี หมื่นทิพเสนา กับนายจุ้ย นายเพงจัน อันเปนคนสนิทไว้ใจ ว่า พระเจ้าแผ่นดินชุบเลี้ยง พระยาราชมนตรี จมื่นศรีสรรักษ์ มีจิตรกำเริบกระทำการหยาบช้างต่าง ๆ ไม่ช้าบ้านเมืองก็จะเกิดจลาจลเปนแท้ อนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ตรัศมอบราชสมบัติแก่พระพุทธเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงผนวช จะได้ทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระองค์นี้หามิได้ ตรัศทำนายไว้ว่า ถ้าจะให้พระองค์นี้ครองสมบัติ บ้านเมืองก็จะพิบัติฉิบหาย ควรเราจะคิดกำจัดพระองค์นี้เสียจากเสวตรฉัตร จะไปเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงผนวชนั้นให้ลาผนวชออกมาเสวยราชสมบัติดังเก่า บ้านเมืองจึงจะเปนศุข พระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี จึงว่า ซึ่งจะคิดการทั้งนี้เปนการใหญ่ จำจะไปทูลปฤกษากรมหมื่นเทพพิพิธดูก่อน ด้วยเธอเปนเจ้าผู้ใหญ่ จะเห็นควรไม่ควรประการใด เจ้าพระยาอไภยราชาก็เห็นชอบด้วย ครั้นเพลาค่ำจึงพากันไปณวัดกระโจม เข้าเฝ้ากรมหมื่นเทพพิพิธ แล้วกราบทูลปฤกษาตามคดีซึ่งคิดกันนั้น กรมหมื่นเทพพิพิธก็ตรัศว่า ข้าก็เห็นด้วย แต่เกรงว่า ขุนหลวงหาวัดท่านจะไม่ยอมสึกออกมาครองสมบัติ เราจำจะไปทูลปฤกษาพระองค์ท่านดูก่อน ถ้าท่านยอมด้วยแล้วจึงคิดทำการ.
๏ครั้นค่ำอิกวันหนึ่ง กรมหมื่นเทพพิพิธกับขุนนางทั้งสี่คนก็พากันไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงผนวชณวัดประดู่ แล้วกราบทูลความซึ่งคิดกันนั้น ครั้นได้ทรงทราบจึงตรัศว่า รูปเปนสมณ จะคิดอ่านการแผ่นดินด้วยนั้นไม่ควร ท่านทั้งปวงเห็นควรประการใดก็ตามจะคิดกันเถิด กรมหมื่นเทพพิพิธกับขุนนางทั้งสี่ก็เข้าใจว่าทรงยอมแล้ว ก็ทูลลากลับมา.
๏ฝ่ายพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชจึงทรงพระดำริห์ว่า คนเหล่านี้คิดการขบถจะทำการใหญ่ ถ้าเขาทำการสำเร็จจับพระเชษฐาได้แล้ว เขาจะมาจับเราเสียด้วย จะยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นครองสมบัติ เราสองคนพี่น้องก็จะพากันตาย จะนิ่งไว้มิได้ จำจะไปทูลพระเจ้าพี่ให้รู้พระองค์จึงจะชอบ ครั้นรุ่งขึ้นเช้าจึงเสด็จเข้ามาในพระราชวังเข้าเฝ้าพระเชษฐาธิราช ถวายพระพรแถลงรหัศเหตุนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ แล้วถวายพระพรว่า อาตมภาพเปนสมณะ จะเกี่ยวข้องสิกขาบท จะรับพระราชทานแต่ชีวิตรคนเหล่าร้ายอย่าให้ถึงตาย แล้วถวายพระพรลากลับไปอาราม.
๏สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงมีพระราชโองการตรัศสั่งเจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจทั้งแปดกรมให้ไปจับคนเหล่าร้าย ให้ข่าวปรากฎไปว่า มีผู้เปนโจทย์มาฟ้องว่าคิดการขบถ ได้ตัวแต่เจ้าพระยาอไภยราชา พระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี นายจุ้ย สี่คน ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วจำไว้ แต่หมื่นทิพเสนากับนายเพงจันนั้นหนีไป หาได้ตัวไม่.
๏ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธทราบเหตุ ก็หนีจากวัดกระโจมไปอยู่ณวัดพระผแนงเชิง ครั้งนั้น เจ้ากรมปลัดกรมแลข้าในกรมทั้งปวงมีความกตัญญูสวามิภักดิ์รักเจ้า มาพร้อมกันเปนอันมาก ช่วยกันตั้งค่ายล้อมวัดไว้ป้องกันรักษาเจ้าของตน ตำรวจติดตามไปจับกรมหมื่นเทพพิพิธนั้นมิได้ตัว พวกข้าในกรมออกป้องกันไว้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ จึงแต่งข้าหลวงที่ฉลาดไปทูลแก่กรมหมื่นเทพพิพิธว่า ทรงพระกรุณาดำรัศว่า เจ้าเปนคนสัจซื่อ เกิดเหตุทั้งนี้เปนเพราะเจ้ากรมปลัดกรมคิดอ่านเอง ให้เจ้าส่งตัวเจ้ากรมปลัดกรมมาถวายโดยดี ทรงพระกรุณามิได้เอาโทษแก่เจ้า ๆ กรมหมื่นเทพพิพิธกลัวพระราชอาชญาก็รับว่าจะส่งตัวให้ เจ้ากรมปลัดกรมรู้ตัวก็หนีไปทั้งบุตรภรรยา แต่ปลัดกรมนั้นไปผูกคอตายเสีย เจ้ากรมนั้นหารู้ว่าหนีไปแห่งใดไม่ ตามไม่ได้ตัว พวกข้าในกรมก็แตกหนีกระจัดพลัดพรายกันไป แต่ตัวเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธนั้นพาบุตรชายหลายองค์หนีไปข้างตระวันตก พวกข้าหลวงไปติดตามจับได้ณป่าพระแท่นดงรัง กุมเอาตัวมาถวายกับทั้งบุตร ทรงพระกรุณาให้สึกออกคุมตัวไว้.
๏ฝ่ายกำปั่นทูตซึ่งออกไปลังกาทวีปครั้งก่อนนั้นส่งพระสงฆ์แล้วกลับเข้ามา จึงทรงพระกรุณาให้แต่งกำปั่นใหม่ในปีขาล สำฤทธิศกนั้น แล้วให้อาราธนาพระวิสุทธาจารย์ พระวรญาณมุนี พระราชาคณะสององค์ กับพระสงฆ์อันดับสามรูป เปนห้ารูป ลงกำปั่นไปลังกาทวีปอิกครั้งหนึ่งกับด้วยข้าหลวง ออกไปผลัดพระสงฆ์ซึ่งไปครั้งก่อนนั้นให้กลับเข้าพระนคร แลให้เอากรมหมื่นเทพพิพิธลงกำปั่นไปปล่อยเสียณเกาะลังกาด้วย แล้วดำรัศสั่งให้ทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่ ขื่อเจ็ดวาสองศอก แลการพระเมรุนั้นแปดเดือนจึงสำเร็จ.
๏ครั้นลุศักราช ๑๑๒๑ ปีเถาะ เอกศก ถึงณวัดขึ้นสิบเอ็จค่ำ เดือนห้า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงให้เชิญพระโกษฐพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแลสมเด็จพระพันปีหลวงไปขึ้นพระมหาพิไชยราชรถ ทั้งสองรถประดับด้วยรูปสัตวแลเครื่องแห่ทั้งปวง แห่ไปเข้าพระเมรุมาศ ให้มีงานมหรศพสมโภชแลสดับปกรณ์ ทรงถวายไตรจีวร บริกขาร แลไทยทานต่าง ๆ แก่พระสงฆ์เปนอันมาก ครบเจ็ดวันแล้วถวายพระเพลิง ครั้นดับพระเพลิงแล้ว แจงพระรูป พระสงฆ์สดับปกรณ์อิกสี่ร้อยรูป แล้วเก็บพระอัฐิใส่พระโกษฐน้อย แห่เข้ามาบรรจุไว้ณท้ายจรนำพระมหาวิหารวัดพระศรีสรรเพชดารามตามโบราณราชประเพณีสืบมา.
๏ฝ่ายข้ามภุกามประเทศ พระเจ้าอลองพราญีมังลองผู้ครองเมืองรัตนสิงค เมื่อมีไชยชำนะแก่รามัญแล้ว ก็ได้เปนอิศราธิบดีในอาณาเขตแผ่นดินพม่าทั้งสิ้น จึงให้ราชบุตรทั้งหกองค์แยกกันไปครองหัวเมืองต่าง ๆ ให้มังลอกราชบุตรผู้ใหญ่ไปครองเมืองดิเปะเยียง ให้มังระไปครองเมืองปิดู่ ให้มังโปไปครองเมืองอเมียง ให้มังเวงไปครองเมืองปดุง ให้มังจูไปครองเมืองปคาน ให้มังโพเชียงไปครองเมืองแปงตแล ให้สโดะมหาสิริยอุจนาผู้เปนอนุชานั้นไปครองเมืองตองอู พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคโดยควรแก่ถานาศักดิ์ แล้วให้เกณฑ์กองทัพพลพม่าทั้งปวงจะยกไปติดตามรามัญตีเมืองย่างกุ้ง ให้มังลอกราชบุตรผู้ใหญ่อยู่รักษาเมืองรัตนสิงคกับพลหมื่นหนึ่ง แล้วให้เลือกสรรพลทหารที่มีฝีมือหมื่นหนึ่ง ช้างเครื่องสองร้อย ม้าสี่ร้อย เตรียมไว้ให้พร้อมสรรพ.
๏ครั้นถึงวันได้มหาพิไชยฤกษ์ พระเจ้าอลองพราญีก็ให้ดำเนินทัพทั้งบกทั้งเรือลงมาถึงเมืองปรอน หยุดทัพอยู่ที่นั้น ให้กองน่ายกล่วงลงมาตีเมืองย่างกุ้ง ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ ได้รบกับพลรามัญเปนสามารถถึงสามเดือนจึงหักเอาเมืองย่างกุ้งได้ กองทัพรามัญแตกพ่ายถอยไปตั้งมั่นรักษาเมืองเสี่ยง ทัพน่าพม่ายกตามไปล้อมเมืองเสี่ยง ทัพหลวงเลื่อนลงมาตั้งอยู่ณเมืองย่างกุ้ง เร่งให้กองน่าเข้าตีหักเอาเมืองเสี่ยงให้จงได้ แลพลรามัญต่อรบป้องกันเมืองเปนสามารถ ฆ่าพม่าล้มตายเปนอันมาก เข้าปล้นเปนหลายครั้งไม่ได้ แต่ตั้งรบกันอยู่ถึงสี่เดือน ฝ่ายรามัญอยู่ในที่ล้อมขัดเสบียงอาหาร จะส่งกันมิได้ ก็อดอยากอิดโรยเหลือกำลัง จึงแหกหนีออกจากเมืองในเพลากลางคืน ถอยทัพไปเมืองหงษาวดี พม่าเข้าเมืองได้ ๆ วัดถุสิ่งของแลผู้คนครอบครัวเปนอันมาก พระเจ้าอลองพราญีทราบว่าได้เมืองเสี่ยงแล้ว ก็ยกทัพหลวงมาตั้งอยู่ในเมืองเสี่ยง ให้กองน่ายกติดตามไปตั้งค่ายล้อมเมืองหงษาวดี แล้วทัพหลวงก็ยกตามไปตั้งค่ายใหญ่ใกล้กำแพงเมืองทางหกเส้น ให้สร้างเมืองก่อกำแพงแลปราสาทลงในที่นั้น กระทำการเมืองสามเดือนก็สำเร็จ.
๏ฝ่ายพระยาหงษาวดีก็ให้นายทัพนายกองแลพลทหารทั้งปวงออกตั้งค่ายนอกเมือง ได้ต่อรบกับพม่าเปนสามารถ แต่ยกออกตีค่ายพม่าเปนหลายครั้งไม่แตกฉาน เห็นเหลือกำลังก็ลาดถอยเข้าเมือง แลพระยาหงษาวดีจึงปฤกษาด้วยพระยาอุปราชาแลท้าวพระยาสมิงรามัญทั้งปวงว่า เสบียงอาหารในเมืองเราก็น้อย แม้นจะสู้รบพม่าช้าวันไป ก็จะสิ้นเสบียงลง เมืองก็จะเสียแก่ข้าศึก เราจะแต่งธิดาออกไปถวายมังลอง ยอมแพ้ ขอเปนเมืองขึ้น จึงจะพ้นไภยปัจจามิตร ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด พระยาอุปราชาแลท้าวพระยาสมิงรามัญก็ไม่เห็นด้วย ต่างคนทูลว่า ข้าพเจ้านายทัพนายกองทั้งปวงมีฝีมือพอทัดกันอยู่กับทหารพม่า ซึ่งจะอ่อนน้อมยอมแพ้เขานั้นมีความลอายอัปรยศนัก จะขอต่อสู้พม่ากว่าจะสิ้นชีวิตร ไม่ยอมเปนข้าพม่าแล้ว พระยาหงษาวดีก็มิฟัง จึงแต่งราชธิดากับทั้งบรรณาการแลราชสาสนอ่อนน้อมให้ขุนนางรามัญนำออกไปถวายมังลองณเมืองซึ่งสร้างใหม่นั้น.
๏ฝ่ายพระเจ้าอลองพราญีได้ราชธิดาแลทราบในราชสาสนนั้น ก็สั่งนายทัพนายกองทั้งหลายให้งดการรบรออยู่ประมาณสองวันสามวัน.
๏ฝ่ายพระยาอุปราชา พระยาทละ ตละปั้น แลท้าวพระยาสมิงรามัญนายทหารทั้งหลาย ชวนกันโกรธพระยาหงษาวดีด้วยมีความลอายอัปรยศแก่พม่านัก จึงคิดพร้อมกันมิได้ทูลพระยาหงษาวดีให้ทราบ เพลากลางคืนก็คุมพลทหารประมาณหมื่นเศษเปิดประตูเมืองออกไปยกเข้าปล้นค่ายพม่าแตกถึงเก้าค่าย ฆ่าฟันพม่าล้มตายเปนอันมาก ก็เข้าตั้งรักษาอยู่ในค่ายซึ่งตีได้นั้น.
๏พระเจ้าอลองพราญีทราบว่า มอญกลับออกมาตีค่ายได้หลายค่ายดังนั้น ก็ทรงพระโกรธ ตรัศว่า พระยาหงษาวดีเสียสัจฬ่อลวงเรา ๆ จะตีเอาเมืองให้จงได้ แล้วสั่งนายทัพนายกองให้จัดแจงการรบให้เข้มขันขึ้นกว่าแต่ก่อน.
๏ฝ่ายพระยาหงษาวดีแจ้งว่า พลทหารได้ไชยชำนะแก่พม่า ก็มีความยินดี จึงว่า ท่านทั้งปวงไม่ฟังเรา ชวนกันออกรบพม่าได้ไชยชำนะ แต่ตัวเราเคราะห์ร้ายเสียบุตรีคนหนึ่ง ก็แล้วไปเถิด เราจะคิดทำสงครามกับพม่าด้วยท่านทั้งปวงสืบไปอิก แล้วก็สั่งให้จัดแจงการป้องกันเมืองเปนสามารถ.
๏ฝ่ายพระเจ้าอลองพราญีก็ให้พลทหารขุดขนมูลดินปั้นเปนก้อนกองไว้เปนอันมากสูงเสมอกำแพงเมืองเปนหลายกอง แล้วให้ไล่ต้อนพวกมอญเชลยทั้งหลายมาให้ขนก้อนดินเข้าไปถมลงในคูเมืองเปนสามแห่ง ละแห่งละแห่งให้ถมกว้างสิบวา แต่ถมอยู่ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน ชาวเมืองซึ่งขึ้นอยู่ประจำรักษาน่าที่เชิงเทินยิงปืนใหญ่น้อยออกมาต้องคนซึ่งถมดินนั้นล้มตายมากกว่ามาก นายทัพนายกองพม่าเร่งขับต้อนมอญเชลยให้ทิ้งถมลงไปทั้งก้อนดินแลศพคนซึ่งตายนั้นจนเต็มคูเสมอถึงที่ทั้งสามแห่ง พระเจ้าอลองพราญีจึงสั่งนายทัพนายกองให้ยกพลทหารข้ามคูเมืองเข้าไปทั้งสามถนนเร่งเข้าปล้นเอาเมือง ชาวเมืองยกออกมาต่อรบเปนสามารถ แลมอญพม่าฆ่าฟันกันตายลงมากกว่ามากทั้งสองฝ่าย พลพม่ายกหนุนเนื่องกันเข้าไปมิได้ท้อถอย ฝ่ายรามัญเห็นเหลือกำลังก็ลาดถอยเข้าเมือง พม่ายกติดตามเข้าเมืองได้ แต่รบกันอยู่ถึงเจ็ดเดือนเศษได้เมืองหงษาวดี แลพระเจ้าอลองพราญีกระทำสงครามกับรามัญ ตั้งแต่ตีเมืองย่างกุ้ง เมืองเสี่ยง จนตีเมืองหงษาวดีได้นั้น ถึงปีเศษจึงเสร็จการศึก ให้จับพวกมอญเชลยทั้งคฤหัสถ์แลสมณฆ่าเสียด้วยน้ำด้วยเพลิงด้วยสาตราวุธต่าง ๆ ตายมากกว่ามาก แลจับตัวพระยาหงษาวดี พระยาอุปราชา พระยาทละ แลพระญาติวงศาท้าวพระยาสมิงรามัญทั้งปวง กับทั้งครอบครัวอพยพชาวเมืองเปนอันมาก ให้กวาดต้อนขึ้นไปก่อน แล้วทัพหลวงจึงเลิกตามขึ้นไปยังเมืองรัตนสิงคต่อภายหลัง แต่ตละปั้นนั้นหนีไปได้ ให้พลทหารไปตามจับไม่ได้ตัว แลสมิงแซงบูได้เปนเจ้ารามัญอยู่ได้เจ็ดปีก็เสียเมืองแก่พม่า.
๏เมื่อปีจอ ฉศกนั้น อสนีบาตลงในเมืองรัตนสิงคในวันเดียวกันถึงสิบหกแห่ง โหรทำนายว่า พระเจ้าอลองพราญีจะมีเดชานุภาพมากแผ่ไปในนานาประเทศทั้งปวง.
๏ครั้งนั้น พระเจ้าอลองพราญีก็ได้เปนอิศราธิราชในภุกามประเทศแลรามัญประเทศทั่วทั้งสิ้น แลว่างศึกบำรุงช้างม้ารี้พลอยู่สามปี จึงให้เกณฑ์กองทัพพลสกรรจ์ลำเครื่องสามหมื่นห้าพัน ช้างเครื่องสามร้อยเศษ ม้าห้าร้อย สรรพด้วยเครื่องนานาสรรพาวุธ คิดจะยกมาตีกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา.
๏ครั้นถึงปีเถาะ เอกศกนั้น พระเจ้าอลองพราญีมังลอง กับมังระราชบุตรที่สอง ก็ยกทัพหลวงทั้งทางบกทางเรือออกจากเมืองรัตนสิงค ให้มังลอกราชบุตรผู้ใหญ่อยู่รักษาเมือง แล้วก็ลงมาพร้อมทัพกันอยู่ณเมืองปรอนในเดือนห้าต้นปี ให้กองน่ายกลงมาตั้งอยู่ณเมืองย่างกุ้ง จัดแจงเสบียงอาหารต่อเรือรบเรือลำเลียงอยู่เจ็ดเดือน ครั้นพร้อมเสร็จแล้ว ถึงณเดือนสิบเอ็จ จึงยกทัพหลวงทั้งทางบกทางเรือล่วงรามัญประเทศมาตีเมืองทวาย ได้เมืองทวายแล้วก็ตั้งทัพอยู่ที่นั้น.
๏ครั้นถึงเดือนอ้าย กรมการเมืองตนาวศรีบอกหนังสือข่าวศึกเข้ามาณกรุงเทพมหานครว่า เจ้าพม่าชื่อ มังลอง ยกกองทัพมาประมาณสามหมื่นเศษ ตีได้เมืองทวาย แล้วจะยกมาตีเมืองมฤต เมืองตนาวศรี โกษาธิบดีกราบทูลพระกรุณาตามหนังสือข้อราชการศึก.
๏สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงดำรัศสั่งเสนาบดีให้เกณฑ์กองทัพ ขณะนั้น พระยายมราชเปนโทษอยู่ จึงโปรดให้พระอินทราราชรองเมืองเปนพระยมราชเปนแม่ทัพ ให้พระยาเพ็ชรบุรีเปนทัพน่า พระยาราชบุรีเปนยุกรบัตร พระสมุทสงครามเปนเกียกกาย พระธนบุรีกับพระนนทบุรีเปนทัพหลัง ถือพลสามพันเศษ พร้อมด้วยช้างม้าเครื่องสาตราวุธยกไปทัพหนึ่ง แลให้เกณฑ์อิกทัพหนึ่ง โปรดให้พระยารัตนาธิเบศผู้ว่าที่ธรรมาเปนแม่ทัพ แลจัดเอาท้าวพระยาอาสาหกเหล่าเปนยุกรบัตรเกียกกายทัพน่าหลัง ถือพลสองพันเศษ สรรพด้วยช้างม้าเครื่องสาตราวุธ ให้ยกหนุนไปอิกทัพหนึ่ง.
๏ขณะนั้น ขุนรองปลัดชูเปนกรมการเมืองวิเศษไชยชาญ เข้ามารับอาสากับไพร่สี่ร้อยเศษขอไปรบพม่าด้วย จึงโปรดให้เปนกองอาจสามารถกองหนึ่ง ให้ไปในกองทัพพระยารัตนาธิเบศ แลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งสองทัพก็กราบถวายบังคมลายกกองทัพออกจากพระนครเนื่อง ๆ กันไป แลทัพพระยมราชไปตั้งค่ายรับอยู่ตำบลแก่งตุ่ม ทัพพระยารัตนาธิเบศไปตั้งค่ายมั่นอยู่ณเมืองกุยบุรี จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เจ้าเมืองกรมการหัวเมืองทั้งปวงไล่ต้อนเลขสำหรับเมืองเข้ามาช่วยรักษาพระนคร แลครอบครัวหัวเมืองทั้งปวงนั้นให้ยักย้ายหลบหนีเข้าซุ่มซ่อนอยู่ในป่า อย่าให้ข้าศึกจับเอาไปได้.
๏ฝ่ายทัพน่าพม่าข้าศึกก็ยกมาตีเมืองมฤต เมืองตนาวศรี เจ้าเมืองกรมการสู้รบต้านทานมิได้ ก็แตกฉานพ่ายหนีพาครอบครัวอพยพเข้าป่า พม่าก็ได้เมืองมฤต เมืองตนาวศรี ทั้งสองเมืองโดยสดวก แล้วบอกไปถึงทัพหลวงณเมืองทวาย พระเจ้าอลองพราญีก็ยกทัพใหญ่มาตั้งอยู่ณเมืองตนาวศรี จึงให้มังระราชบุตร กับแมงละราชา แมงละแมงข่อง ถือพลสองหมื่นเปนกองน่ายกล่วงมาก่อน ทัพหลวงพลหมื่นห้าพันจึงยกตามมาภายหลัง แลกองทัพน่าพม่ามาถึงทัพพระยมราชซึ่งตั้งค่ายรับอยู่ณแก่งตุ่ม ก็ยกเข้าตี ทัพไทยน้อยตัว ต้านทานมิได้ ก็แตกฉานในเพลาเดียว แลพระยารัตนาธิเบศได้แจ้งว่า ทัพพระยมราชแตกพ่ายมา จึงเกณฑ์พลห้าร้อยเข้าบรรจบกองขุนรองปลัดชู แล้วให้ยกไปรับทัพพม่า ไปตั้งอยู่ตำบลหว้าขาวริมชายชเล.
๏ฝ่ายทัพน่าพม่ายกมาถึงที่นั้น พอเพลาเช้าตรู่ ขุนรองปลัดชูก็แต่งตัวกับทั้งพลทหารทั้งนั้น ก็กรูกันออกโจมตีทัพน่า รบกันด้วยอาวุธสั้นถึงตลุมบอนฟันแทงพม่าล้มตายเปนอันมาก แลตัวขุนรองปลัดชูนั้นถือดาบสองมือวิ่งเข้าในท่ามกลางศึก ฟันพม่าตายล้มลงไปก่ายกันดังขอนไม้ แต่รบกันอยู่แต่เช้าจนเพลาเที่ยง พลพม่ามากกว่าเปนหลายเท่าไม่ท้อถอย เยียดยัดหนุนเนื่องกันเข้ามาต่อรบ จนขุนรองปลัดชูเหนื่อยอ่อนสิ้นกำลังลง พม่าจับเปนไปได้ แล้วให้พลทัพช้างขับช้างเข้าย่ำเหยียบพลทหารไทยล้มตายเปนอันมาก ไล่กันลงไปในชเล จมน้ำตายบ้าง ปลากินเสียบ้าง ที่รอดหนีกลับได้นั้นน้อย มาแจ้งความแก่พระยารัตนาธิเบศ ๆ ก็ตกใจกลัวไม่อยู่สู้รบ เร่งเลิกทัพหนีมากับทั้งทัพพระยมราช พากันพ่ายหนีพม่าข้าศึกกลับมายังพระนคร ขึ้นเฝ้ากราบทูลพระกรุณาว่า ศึกหนักเหลือกำลัง จึงพ่าย.
๏ฝ่ายทัพน่าพม่าก็ยกมาทางเมืองกุย เมืองปราณ เมืองชอ่ำ เมืองเพ็ชรบุรี เมืองราชบุรี จนถึงเมืองสุพรรณบุรี ไม่มีหัวเมืองใดต่อรบ แตกหนีไปสิ้น ทัพหลวงก็ยกตามมาตั้งอยู่ณเมืองสุพรรณบุรี ขณะนั้น ขุนนางแลอาณาประชาราษฎรทั้งหลายชวนกันไปกราบทูลวิงวอนพระเจ้าอยู่หัววัดประดู่เชิญเสด็จลาผนวชออกมาช่วยราชการแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวมีพระไทยกรุณาแก่ไพร่ฟ้าประชากร เกรงพระนครจะเสียแก่ข้าศึก จึงลาผนวชออกมาช่วยราชการพระเชษฐาธิราชรักษาแผ่นดินป้องกันพระนคร จึงมีรับสั่งโปรดให้ถอดเจ้าพระยาอไภยราชา พระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี ออกจากโทษ ให้คงที่ถานาศักดิ์ว่าราชการตามเดิม แล้วให้กวาดต้อนไพร่พลเมือง แลครอบครัว เสบียงอาหาร เข้าพระนคร แลกำแพงเมืองตามน่าพระราชวังด้านข้างริมน้ำนั้นเดิมมีแต่ชั้นเดียว ให้ก่อกำแพงขึ้นใหม่ภายนอกอิกชั้นหนึ่งต่ำกว่ากำแพงเดิม แลให้เอาไม้ขอนสักขึ้นผูกแขวนตามใบเสมาแลปักเปนเขื่อนปิดประตูบกน้ำทั้งสิ้น แล้ให้เอาปืนล้อปืนหลักขึ้นตั้งรายเรียงบนเชิงเทิน เกณฑ์พลทหารขึ้นประจำรักษาน่าที่รอบพระนคร แล้วให้เกณฑ์กองทัพ โปรดให้เจ้าพระยามหาเสนาเปนแม่ทัพ กับพระยารัตนาธิเบศ พระยมราช พระยาราชวังสรรค์ แลข้าราชการทั้งปวงยกกองทัพใหญ่พลสองพันเศษออกไปตั้งรับทัพพม่าข้าศึก ไปตั้งค่ายรายกันอยู่ตามลำน้ำเอกราชเปนหลายค่าย แล้วให้จับพระยาราชมนตรี จมื่นศรีสรรักษ์ มาจำไว้ ให้มีกระทู้ถามว่า เข้าไปภายในพระราชวังคบหาทำชู้ด้วยนางข้างในเปนหลายคน ครั้นรับเปนสัจแล้ว ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนคนทั้งสองคนละห้าสิบทีแล้วจำคงไว้ อยู่สามวัน พระยาราชมนตรีปิ่นถึงแก่กรรม ให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ณประตูไชย.
๏ฝ่ายกองทัพน่าพม่ายกจากเมืองสุพรรณบุรีเดินทัพมาตามท้องทุ่ง พบกองทัพไทยมาตั้งค่าย ก็จับพลทหารข้ามน้ำแยกกันออกเปนหลายกองเข้าตีทัพไทยทุก ๆ ค่าย ได้รับกันเปนสามารถ พลทัพไทยฝีมือ่อน สู้พม่ามิได้ ก็แตกฉานทิ้งค่ายเสียทุก ๆ ค่าย พ่ายหนีกระจัดพลัดพรายไม่เปนหมวดกอง แลเจ้าพระยามหาเสนาแม่ทัพนั้นขึ้นช้างหนีมาถึงทุ่งวัดนนทรี ทัพม้าพม่าควบไล่ติดตามมาทัน พุ่งด้วยหอกซัดถูกตายตกจากหลักช้าง แลพระยมราชก็ต้องหอกซัดเปนหลายแห่ง หนีมาได้ถึงพระนคร อยู่ประมาณเก้าสิบสิบวันก็ถึงแก่กรรม แลพระยารัตนาธิเบศนั้นขึ้นม้าหนีมารอดถึงพระนคร ขึ้นเฝ้ากราบทูลกล่าวโทษพระยาราชวังสรรค์ว่าเปนขบถ ให้ยิงปืนแย้งเอาค่ายข้าพระพุทธเจ้า จึงแตกฉานเสียที ครั้นพ่ายหนีข้าศึกมาแล้วก็หามาเฝ้าไม่ เปนพรรคพวกพระราชมนตรีปิ่น จึงดำรัศให้ตำรวจไปปสืบหาจับตัวมาได้ ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนห้าสิบแล้วจำไว้ อยู่เจ็ดแปดวันก็ถึงแก่กรรม ให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ณประตูไชยตามโทษ.
๏ฝ่ายพระเจ้าอลองพราญีมังลองก็ดำเนินทัพหลวงเข้ามาตั้งค่ายใหญ่ณทุ่งบางกุ่ม บ้านกระเดื่อง ทัพน่ามาตั้งค่ายใหญ่ตำบลโพธิ์สามต้น
๏จึงหลวงอไภยพิพัฒจีนกราบทูลอาสาออกรบ จัดพวกจีนนายก่ายได้สองพันยกออกไปจากเมือง ข้ามคลองช้างไปจะไปตั้งค่าย จึงโปรดให้หมื่นทิพเสนาปลัดกรมพระตำรวจในขวาถือพลพันหนึ่งยกหนุนออกไปคอยช่วย ตั้งพลอยู่ณที่ปรกวัดทเลหญ้า แลทัพจีนยังมิทันจะตั้งค่ายมั่น พอแมงละแมงข่องนายกองทัพน่าพม่าแลเห็น ก็จับพลทหารข้ามแม่น้ำโพธิ์สามต้นมาตีกองทัพจีนแตกพ่ายลงน้ำหนีขึ้นบก ทหารม้าพม่าเห็นได้ที ก็ขับม้าข้ามน้ำไล่ติดตามยิงปืนบนหลังม้า แลพุ่งหอกซัดต้องพลทัพจีนตายในน้ำในบกเปนอันมาก ไล่มาถึงทัพหมื่นทิพเสนา ๆ เห็นทัพจีนแตก ก็มิได้เข้าช่วยอุดหนุน พลอยแตกข้ามน้ำหนีมาด้วย เสียไพร่พลไทยจีนตายเปนอันมาก พม่าก็ยกกองทัพตามเข้ามาตั้งค่ายณพเนียด แลวัดพระเจดีย์แดง วัดสามพิหาร ให้ทำบันไดไว้เปนอันมากสำหรับจะพาดกำแพงปีนปล้นเอาเมือง ขณะนั้น แต่บรรดาเรือราษฎรลูกค้าเหนือใต้ทั้งปวงก็ถอยลงไปจอดคับคั่งกันอยู่ณท้ายคู แลเรือพระที่นั่งกิ่งไชยศรีกราบแลเรือดั้งกันเรือศีศะสัตวทั้งหลายใหญ่น้อย กับทั้งกำปั่นแลเรือรบ ก็โปรดให้ถอยลงไปจอดไว้ที่ท้ายคูทั้งสิ้น.
๏ครั้นถึงณวันแรมแปดค่ำ เดือนห้า ปีมโรง โทศก ศักราช ๑๑๒๒ ปี พลพม่าประมาณสองพันยกไปตีที่ท้ายคูทั้งสองฟาก บรรดาครอบครัวชายหญิงซึ่งอยู่บกนั้น พม่าจับผูกมัดฆ่าฟันตายเปนกอง ๆ ที่อยู่เรือแออัดกันทั้งแม่น้ำนั้น พม่าลงในเรือไล่ฆ่าฟันล้มตายเปนอันมาก แล้วเผากำปั่นแลเรือหลวงใหญ่น้อยทั้งปวงเสียสิ้น อาศพลอยเต็มทั้งแม่น้ำจนน้ำกินไม่ได้ ที่จับได้เปนไปก็มาก.
๏ครั้นณวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนห้า พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้งณวัดราชพฤกษ์แลวัดกระษัตราวาศ ยิงเข้ามาในพระนคร ถูกเย่าเรือนแลคนเจ็บป่วยล้มตาย จึงสมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จทรงช้างต้นพลายแสนพลพ่ายไปเลียบพระนครทอดพระเนตรตรวจไปทุก ๆ น่าที่ ตรัศกำชับเจ้าน่าที่ทั้งปวงให้ระวังรักษาจงกวดขันอย่าประมาท แล้วดำรัศสั่งให้เจ้าน่าที่ตรงวัดสวนหลวงศพสวรรค์ แลป้อมท้ายกบ ป้อมมหาไชย ให้ระดมยิงปืนใหญ่เอาพม่าณฝั่งฟากข้างโน้น ครั้นเพลาเย็น พม่าเลิกข้ามฟากไปข้างวัดภูเขาทอง ครั้นณวันขึ้นค่ำหนึ่ง เดือนหก เพลาเช้า พม่าเอาปืนใหญ่เข้ามาตั้งณวัดพระเมรุราชิการามแลวัดท่าช้าง จังก้ายิงระดมเอาพระราชวังแลพระที่นั่งสุริยามรินทรทั้งกลางวันกลางคืน ต้องยอดปราสาททำลายลง
๏ครั้นณวันขึ้นสองค่ำ เดือนหก ปีมโรง โทศก กองทัพพม่าเลิกกลับไปทางเหนือตาวแนวแม่น้ำใหญ่ แลได้ข่าวว่า พระเจ้าอลองพราญีมังลองมาให้จุดปืนใหญ่ยิงปราสาท ปืนแตกต้องพระกาย กลับไปค่ายบางกุ่ม ประชวรหนัก จึงเร่งเลิกทัพกลับไปโดยเร็ว ให้แมงละแมงข่องคุมพลหมื่นหนึ่งอยู่รั้งหลัง แลทัพหลวงนั้นยกรีบไปถึงตำบลเมาะกโลกนอกด่านเมืองตากเปนระหว่างแดนต่อแดน พระเจ้าอลองพราญีมังลองก็ดับสูญทิวงคตในที่นั้น แต่ได้เสวยราชสมบัติอยู่แปดปี
๏พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ทรงทราบว่า กองทัพพม่าข้าศึกยกไปแล้ว จึงมีพระราชดำรัศสั่งให้พระยายมราช พระยาสีหราชเดโช ยกกองทัพไปติดตามทัพพม่า แลยกไปถึงด่านเมืองตาก ตามไม่ทัน แล้วก็กลับมายังพระมหานคร
๏ฝ่ายมังระ ราชบุตร ก็เชิญพระศพไปถึงด่านแม่ลำเมา จึงหยุดทัพอยู่สามวัน กระทำการถวายพระเพลิงในที่นั้น เสร็จแล้วก็เก็บพระอัฐิเชิญไปยังเมืองรัตนสิงค แลแมงละแมงข่องซึ่งเปนกองรั้งหลังนั้นแจ้งว่า พระเจ้าอลองพราญีทิวงคตแล้ว ก็มีใจกำเริบคิดการขบถ รีบเดินทัพไปโดยด่วนถึงเมืองอังวะ แล้วก็ให้กวาดผู้คนเสบียงอาหารเข้าไว้ในเมือง จัดแจงการรักษาเมืองตั้งมั่นอยู่ มิได้ไปเฝ้ามังลอก มังระณเมืองรัตนสิงคนั้น
๏ฝ่ายมังลอกซึ่งอยู่รักษาเมืองทราบอึงกิดาการไปว่า พระราชบิดาทิวงคต พวกรามัญกลับเปนขบถ จึงให้จับมอญฆ่าเสียเปนอันมาก พวกมอญหนีกระจัดพลัดพรายไปทุกตำบล พอมังระ ราชอนุชา ไปถึงเมือง จึงทูลว่า มอญหาได้เปนขบถไม่ บัดนี้ แมงละแมงข่องซึ่งให้เปนกองรั้งหลังนั้นคิดขบถ ยกรีบมาชิงเอาเมืองอังวะก่อน เข้าตั้งมั่นแขงเมืองอยา มังลอกได้ทราบก็ตกพระไทย ด้วยแมงละแมงข่องคนนี้มีฝีมือเข้มแขงนัก จะหาผู้ใดไปต่อรบจับเอาตัวนั้นยาก จึงให้โหรพิจารณาหาคนซึ่งจะปราบแมงละแมงข่องเอาไชยชำนะได้ โหรทูลทำนายว่า อันคนชาติพม่าซึ่งจะให้ไปรบแมงละแมงข่องนั้นเห็นไม่ได้ไชยชำนะเปนแท้ ถ้าได้คนชาติรามัญมีรูปร่างวรรณสัณฐานดังนั้น ๆ ไปรบ จึงจะมีไชยแก่แมงละแมงข่อง มังลอก มังระ จึงให้เที่ยวหารามัญที่รูปร่างต้องตามคำโหรทำนาย ได้รามัญคนหนึ่งชื่อ หยั่งมิ หลบหนีไปเร้นซ่อนอยู่ในเรือนพม่าแห่งหนึ่ง รูปร่างต้องลักขณะเหมือนคำโหรทำนาย พวกข้าหลวงพม่าเจรจาเล้าโลมให้หายกลัวแล้วก็พาตัวมาถวาย มังลอก มังระ จึงตรัศปลอบโยนเอาใจหยั่งมิว่า เราไม่ฆ่าท่านดอก ท่านอย่ากลัวเราเลย จงรับอาสาเราไปรบแมงละแมงข่องจับเอาตัวให้ได้ หยั่งมิมีความยินดี จึงกราบทูลว่า ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานชีวิตรข้าพระพุทธเจ้าแล้ว จะขอรับอาสาไปรบจับเอาตัวแมงละแมงข่องมาถวายให้จงได้ แต่จะของดประกอบยาคงกระพันอยู่สักเจ็ดวัน กับขอพระราชทานทหารรามัญที่เข้มแขงสักสามร้อยคน แล้วจะยกไปตีเมืองอังวะ แลมังลอก มังระ ก็โปรดให้หยั่งมิประกอบโอสถ แลเกณฑ์ทหารรามัญให้สามร้อยคน แล้วให้เกณฑ์กองทัพพลสามพันยกไปติดเมืองอังวะก่อน ตั้งค่ายสามค่ายใกล้เมืองทางห้าสิบเส้น
๏ฝ่ายแมงละแมงข่องแจ้งว่า กองทัพเมืองรัตนสิงคยกมา ก็ยกพลทหารสี่พันออกจากเมือง เข้าตีค่ายทั้งสามนั้นแตกพ่ายหนีแต่ในเพลาเดียว แล้วยกกลับเข้าเมือง ฝ่ายกองทัพซึ่งแตกไปนั้นล่าทัพมาถึงกลางทาง ประชุมพร้อมกันแล้ว จึงหยุดตั้งค่ายอยู่สามค่าย แล้วบอกหนังสือไปกราบทูลให้ทราบ มังลอกก็เกณฑ์คนเติมไปอิกสองพันบรรจบกับทัพก่อนเปนห้าพันด้วยกัน ให้ยกไปตีเมืองอังวะอิกเปนสองครั้งก็แตกพ่ายมา แล้วเกณฑ์พลอิกสองพันไปเพิ่มเติมบรรจบเปนเจ็ดพัน ให้ยกไปรบอิกก็แตกฉานพ่ายมาทั้งสามครั้ง แลแมงละแมงข่องฆ่าพลพม่ารามัญล้มตายเสียเปนอันมาก
๏ขณะนั้น หยั่งมิประกอบโอสถพบครบเจ็ดวันก็สำเร็จ จึงจัดแจงการซึ่งจะยกไป ให้เอายานั้นใส่ในกระบอกบ้าง น้ำเต้าบ้าง เมื่อจะออกรบนั้น ให้คนกินหนักสลักหนึ่ง ให้ม้ากินหนักสองสลึง ให้ช้างกินหนักบาทหนึ่ง อยู่คงกระพันชาตรี ถูกอาวุธหอกดาบแลปืนยิงฟันแทงไม่เข้า
๏ครั้นได้ศุภฤกษ์ หยั่งมิก็กราบถวายบังคมลาพาพลทหารรามัญสามร้อยสรรพด้วยสรรพาวุธยกไป มังระจึงให้เกณฑ์ทัพพลพม่าพันหนึ่ง ช้างยี่สิบ ม้าสี่สิบ พร้อมด้วยเครื่องสรรพยุทธยกหนุนไปอิกทัพหนึ่ง ครั้นไปถึงเมืองอังวะ หยั่งมิจึงให้กองทัพซึ่งยกมาครั้งก่อนแลทัพซึ่งตามมานั้นตั้งค่ายอยู่เบื้องหลัง แลกองหยั่งมินั้นยกเข้าไปน่า ตั้งค่ายใกล้เมืองทางห้าเส้น ฝ่ายแมงละแมงข่องแจ้งว่า กองทัพยกมาอิก ก็ขึ้นช้างยกพลทหารเปนอันมากออกจากเมือง ขับพลเข้าตีค่ายหยั่งมิ ๆ ก็แจกยาให้พลทหารกินทุกคน แล้วก็ยกออกจากค่ายเข้าตีทัพแมงละแมงข่องกลางแปลง แลตัวหยั่งมินั้นถือดาบสองมือวิ่งออกน่าไล่ฟันรี้พลแมงละแมงข่องล้มตายกลาดเกลื่อนไป แมงละแมงข่องเห็นดังนั้นก็ไสช้างเข้าแทงหยั่งมิ ๆ ก็ฟันงวงช้างนั้นขาด ช้างก็ร้องสลัดแล่นไป แมงละแมงข่องตกลงจากคอ หยั่งมิจะเข้าฟันแมงละแมงข่อง พวกทหารกลุ้มรุมเข้าช่วยป้องกันพาหนีเข้าเมืองได้ ทัพหยั่งมิไล่ติดตามไปไม่ได้ตัวแมงละแมงข่องก็กลับมาค่าย ตั้งแต่นั้นมา แมงละแมงข่องกลัวหยั่งมินัก มิได้ยกออกรบนอกเมืองอิก ให้พลทหารขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินป้องกันเมืองเปนสามารถ หยั่งมิก็ให้พลทหารเข้าตั้งค่ายประชิดใกล้กำแพงเมือง แล้วให้ขุดอุโมงค์รุ้งรากกำแพงเข้าไป แต่กองทัพพม่าทั้งนั้นกลัวแมงละแมงข่อง ตั้งค่ายล้อมอยู่แต่ห่าง ๆ ไม่อาจเข้าตั้งประชิดใกล้เมืองได้ แต่ล้อมเมืองอยู่ถึงเจ็ดเดือน แลกองหยั่งมิขุดอุโมงค์ทลุเข้าไปในเมืองได้ ก็ขึ้นไล่ฆ่าฟันชาวเมืองล้มตายเปนอันมาก แล้วเข้าไปในพระราชวัง แลแมงละแมงข่องสู้รบเห็นเหลือกำลังก็ทิ้งเมืองเสีย พาพลทหารหนีออกจากเมือง หยั่งมิยกติดตามไปทัน ได้สู้รบกันเปนสามารถ แมงละแมงข่องถูกปืนที่เข่า เข่าหักล้มลง หยั่งมิจับตัวได้ เอาใส่กรง ให้หามมายังค่าย แล้วบอกหนังสือไปให้กราบทูลมังลอก มังระ ๆ ดีพระไทยนัก แต่เกรงฝีมือแมงละแมงข่องอยู่ จึงสั่งให้ทุบแขนทั้งสองเสียให้หัก แล้วจึงส่งตัวเข้าไปถวาย แลกองทัพทั้งนั้นก็นำเอาตัวแมงละแมงข่องเข้าไปทั้งกรงถึงเมืองรัตนสิงค มังลอก มังระ ก็ให้เอาตัวแมงละแมงข่องไปผ่าอกประหารชีวิตรเสีย แล้วปูนบำเหน็จหยั่งมิตั้งให้เปนมังมหานันทมิตร ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายข้างทหาร พระราชทานเงินทองแลเครื่องยศกับทั้งบ่าวไพร่แลเคหฐานบ้านเรือนโดยสมควรแก่ความชอบ ครั้นการศึกเสร็จแล้ว ในปีมโรง โทศกนั้น เสนาบดีทั้งปวงก็ประชุมพร้อมกันอัญเชิญมังลอก ราชบุตรผู้ใหญ่ ขึ้นเสวยราชสมบัติณเมืองรัตนสิงค เปนเจ้าแผ่นดินในภุกามประเทศสืบพระวงษ์ต่อไป จึงตั้งมังระ ราชอนุชา เปนเองยิแมง มหาอุปราช ตั้งมังโป อนุชาที่สองผู้ครองเมืองอะเมียงซึ่งเรียกว่า อะเมียงตะแคง นั้นเปนอะนาวิงด่อ พระราชวงษ์ผู้ใหญ่ แล้วชุบเลี้ยงขุนนางทแกล้วทหารตั้งในตำแหน่งถานาศักดิ์ตามมีความชอบมากแลน้อย
๏ครั้นถึงปีมเสง ตรีนิศก สโดะมหาศิริยอุจนา ผู้เปนอาว เจ้าเมืองตองอู ถือตัวว่าเปนผู้ใหญ่ มิได้มาอ่อนน้อมยอมเปนเมืองขึ้น พระเจ้ามังลอก กับมังระ มหาอุปราช จึงยกทัพหลวงไปตีเมืองตองอู จับได้ตัวสโดะมหาศิริยอุจนา มิได้ประหารชีวิตรด้วยคิดว่าเปนอาว นำมาเลี้ยงไว้ณเมืองรัตนสิงค ในปีนั้น ให้เสนัดหวุ่นไปเกลี้ยกล่อมตละปั้นซึ่งหนีไปนั้น ได้ตัวมาเลี้ยงไว้
๏ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานครนั้น ขณะเมื่อทัพพม่าเลิกไปแล้ว มีพระราชดำรัศให้ข้าหลวงออกไปค้นณค่ายหลวงพม่าตำบลบางกุ่ม ขุดได้ปืนใหญ่กระสุนสามนิ้วสี่นิ้วสี่สิบกระบอกฝังไว้ณค่าย ให้ขนเข้ามาในพระนคร แลสมเด็จพระราชอนุชาเสด็จขึ้นเฝ้าพระเชษฐาอยู่เนือง ๆ ดำรัศให้พระองค์เจ้าแมงเม่าซึ่งทรงผนวชเปนชีอยู่นั้นลาผนวชออก นำมาถวายเปนพระอรรคมเหษีพระเชษฐาธิราช
๏อยู่มาวันหนึ่ง เพลากลางคืน มีพระราชโองการให้หาพระอนุชาธิราชเข้าไปเฝ้าถึงที่ข้างใน ครั้นเสด็จเข้าไป ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าพี่ถอดพระแสงดาบพาดพระเพลาอยู่ ก็เข้าพระไทยว่า ทรงรังเกียจ จะทำร้าย มิให้อยู่ในฆราวาส จึงเสด็จกลับออกมาณที่ข้างน่า ครั้นถึงณเดือนแปด ข้างขึ้น จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งออกไปณวัดโพธิ์ทองคำหยาด ทรงพระผนวช แล้วเสด็จกลับเข้ามาอยู่ณวัดประดู่ดังแต่ก่อน
๏ในปีมโรง โทศกนั้น มีพระราชดำรัศสั่งกรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศให้เปนแม่การรื้อเครื่องบนพระที่นั่งสุริยามรินทรซึ่งพม่ายิงชำรุดนั้นลงทำใหม่ แลการปราสาทนั้นสิบเดือนจึงสำเร็จ
๏อนึ่ง แต่ครั้งเมื่อมังลองยกมาตีเมืองหงษาวดีได้นั้น รามัญเมืองเมาะตมะพาครอบครัวอพยพประมาณพันเศษหนีเข้ามาอยู่ณเมืองทวาย เมืองทวายบอกเข้ามาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าหลวงออกไปรับเข้ามาณกรุงเทพมหานคร ครั้นถึงณเดือนอ้ายในปีมโรง โทศกนั้น พวกรามัญพากันหนีไปทางตระวันออก ไปประชุมกันอยู่ณเขานางบวช คิดขบถขึ้น ยกเข้าตีเมืองนครนายก กรมการบอกหนังสือเข้ามาศมุหนายกกราบบังคมทูล จึงดำรัศให้พระยาสีหราชเดโชเปนแม่ทัพถือพลสองพันยกออกไปจับมอญขบถ ได้รับกัน ฝ่ายรามัญไม่มีอาวุธ เสี้ยมแต่ไม้สแกถือต่างอาวุธไล่ขว้างเอากองทัพพระยาสีหราชเดโชแตกพ่ายเข้ามา จึงโปรดให้พระยายมราชเปนแม่ทัพถือพลสองพัน พระยาเพ็ชรบุรีเปนทัพน่าถือพลพันหนึ่ง ยกออกไปรบรามัญอิก พวกกองทัพตีรามัญแตก รามัญพ่ายหนีไปทางเมืองหล่มศักดิ พระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี ก็เลิกทัพกลับมายังพระนคร
๏ลุศักราช ๑๑๒๓ ปีมเสง ตรีนิศก ถึงณเดือนแปด น้ำเหนือหลากลงมาแดงเหมือนน้ำดินแดง อยู่สามวันก็หายเปนปรกติ
๏ครั้นถึงปีมเมีย จัตวาศก ศักราช ๑๑๒๔ ปี ฝ่ายข้างภุกามประเทศ พระเจ้ามังลอกให้เกณฑ์กองทัพ ให้ติงจาแหม่งข่องถือพลห้าพันเปนทัพน่า ให้มังมหานรทากับอาปะรกามนีถือพลห้าพันเปนทัพหนุน ยกไปตีเมืองเชียงใหม่
๏ฝ่ายเจ้าเมืองลำพูนไชยกลัวกองทัพพม่า จึงพาครอบครัวอพยพหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาทางด่านเมืองพิไชย กรมการเมืองพิไชยบอกลงมา สมุหนายกกราบบังคมทูล จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าหลวงขึ้นไปรับพวกครัวลาวเมืองลำพูนไชยนั้นลงมายังพระนคร โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลบางล่าง
๏ฝ่ายพระยาจันท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงให้มีศุภอักษรลงมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จะขอกองทัพขึ้นไปช่วยป้องกันพม่าข้าศึก สมุหนายกกราบบังคมทูล จึงทรงพระกรุณาดำรัศสั่งให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือเปนคนห้าพัน โปรดให้เจ้าพระยาสุรสีห์ เจ้าเมืองพระพิศณุโลก เปนแม่ทัพ ยกไปถึงตำบลบ้านรแหง ได้ข่าวว่า เมืองเชียงใหม่เสียแก่พม่าแล้ว ก็บอกลงมาให้กราบบังคมทูลให้ทราบ จึงโปรดให้สมุหนายกมีตราขึ้นไปให้หากองทัพกลับ
๏ฝ่ายกองทัพพม่ายกมาตีเมืองเชียงใหม่ ตั้งล้อมเมืองอยู่ได้สี่เดือนห้าเดือน จึงเข้าหักเอาเมืองได้ จับได้ตัวพระยาจันท์ เจ้าเมือง แล้วมังมหานรทา แม่ทัพ ให้อาปะรกามนีอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่กับไพร่พลพอสมควร แล้วก็เลิกทัพกลับไปเมืองรัตนสิงค คุมเอาตัวเจ้าเมืองเชียงใหม่ไปถวายพระเจ้ามังลอก มังระ พระเจ้ามังลอก มังระ ให้เลี้ยงไว้
๏ฝ่ายกำปั่นข้าหลวงณกรุงเทพมหานครซึ่งออกไปลังกาทวีปนั้น ครั้นถึงก็นำพระสงฆ์แลเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นไปณเมืองสิงขัณฑนครเข้าเฝ้าพระเจ้าลังกา ๆ ได้ทราบว่า เปนขัติยวงษ์ในสยามประเทศ ก็ต้อนรับ โปรดเลี้ยงดูอยู่เปนศุข แลเมืองพระอุบาฬี พระอริยมุนี พระสงฆ์ออกไปครั้งก่อนนั้น พระเจ้าลังกาให้อยู่วัดบุบผาราม ได้บวชกุลบุตรชาวสิงหฬเปนภิกษุถึงเจ็ดร้อยเศษ สามเณรพันเศษ พระสงฆ์ซึ่งออกไปครั้งหลังนี้ได้บวชชาวสิงหฬเปนภิกษุอิกสามร้อย สามเณรนั้นก็มาก อยู่ได้ปีเศษ พระอริยมุนีซึ่งไปครั้งก่อน กับพระวิสุทธาจารย์ พระวรญาณมุนี ก็ถวายพระพรลาพระเจ้าลังกากลับมากับข้าหลวง แต่พระอุบาฬีนั้นมิได้มา แลพระสงฆ์อันดับนั้นอยู่บ้างกลับมาบ้าง มาถึงพระนครศรีอยุทธยาแต่ในปีมโรง โทศก เข้าถวายพระพรพระเจ้าแผ่นดินด้วยเหตุซึ่งออกไปตั้งพระพุทธสาสนาในลังกาทวีปนั้น
๏ฝ่ายเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธอยู่ในเกาะลังกา ขุนนางแลราษฎรนิยมยินดีนับถือมาก ด้วยรู้ว่า เปนพระภาติกราชพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา
ชวนกันเข้าใจว่า ทรงพระศรัทธาอุตสาหะออกมาชุมพระพุทธสาสนาถึงลังกาทวีป ไม่แจ้งว่า ต้องบัพพาชนียกรรม จึงคิดการเปนขบถจะจับพระเจ้าลังกาถอดเสียจากเสวตรฉัตร แล้วจะยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นครองราชสมบัติในเมืองสิงขัณฑนคร มีผู้นำรหัศเหตุนั้นไปกราบทูลพระเจ้าลังกา ๆ จึงสั่งให้ข้าหลวงไปจับขุนนางเหล่าร้ายกับทั้งกรมหมื่นเทพพิพิธ ๆ รู้พระองค์ก่อน จึงหนีออกจากเกาะลังกาลงโดยสารสลุบแขกมาขึ้นอาไศรยอยู่เมืองเทศ ขณะนั้น ฦๅข่าวออกไปว่า กรุงเทพมหานครเสียแก่พม่าแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธได้ทราบเหตุ จึงลงโดยสารกำปั่นแขกลูกค้าเมืองเทศเข้ามาณเมืองมฤต กรมการบอกเข้ามา โกษาธิบดีกราบบังคมทูล จึงมีพระราชโองการสั่งให้มีตราตอบออกไปให้รับเข้ามาไว้ณเมืองตนาวศรี แล้วโปรดให้แต่งข้าหลวงออกไปกำกับอยู่ด้วย
๏ลุศักราช ๑๑๒๕ ปีมแม เบญจศก ฝ่ายภุกามประเทศ พระเจ้ามังลอกนั้นทิวงคต อยู่ในราชสมบัติได้สามปีเศษ เสนาบดีจึงประชุมเชิญมังระ มหาอุปราช อนุชา ขึ้นเสวยราชสมบัติเปนเจ้าแผ่นดินในภุกามประเทศสืบพระวงษ์ต่อไป พระเจ้ามังระจึงสั่งเสนาบดีให้ลงมาตกแต่งกรุงรัตนบุรอังวะ แล้วเสด็จจากเมืองรัตนสิงคลงมาอยู่ณกรุงอังวะตามโบราณราชกระษัตริย์สืบต่อมา
๏ในปีนั้น ตละปั้นเปนขบถ พระเจ้ามังระให้ประหารชีวิตรเสีย แล้วให้เกณฑ์กองทัพพลสกรรจ์สามหมื่นพร้อมด้วยช้างม้าเครื่องสรรพสาตราวุธ ให้อแซหวุ่นกี้เปนนายกองทัพน่า ติงจาโบ่เปนยุกรบัตร แอกกระบัดหวุ่นเปนเกียกกาย จิกสินโบ่เปนทัพหลัง พระเจ้าอังวะมังระเปนโบชุกแม่ทัพหลวง ยกไปตีเมืองมณีบุร คือ เมืองกระแซฝ่ายทิศตระวันตก ได้รับกับกระแซประมาณสามสี่เดือน ตีหัวเมืองรายทางฟากฝั่งชเลน้ำจืดข้างตระวันออกได้เปนหลายเมือง แต่เมืองหลวงตั้งอยู่ฝั่งฟากข้างตระวันตกนั้นยังตีไม่ได้ พอขัดเสบียง จึงให้กวาดครอบครัวอพยพกระแซหัวเมืองทั้งหลายซึ่งตีได้นั้นเปนอันมาก เลิกทัพหลวงกลับมาเมืองอังวะ
๏ฝ่ายเมืองทวาย ครั้งเมื่อพระเจ้ามังลอกยกทัพมาตีได้แต่ก่อนนั้น ตั้งขุนนางพม่าไว้เปนเจ้าเมืองกรมการกับทั้งไพร่พลอยู่รักษาเมือง แลขุนนางทวายคนหนึ่งชื่อ หุยตองจา ได้แจ้งข่าวว่า เมืองอังวะผลัดแผ่นดินใหม่ ก็ซ่องสุมพวกทวายชาวเมืองเข้าด้วยเปนอันมาก ยกเข้าปล้นเอาเมืองได้ ไล่ฆ่าฟันพม่าเจ้าเมืองกรมการแลไพร่พลซึ่งมารักษาอยู่นั้นตายสิ้น ก็ได้ครองเมืองทวาย จึงส่งหนังสือบอก แลแต่งดอกไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ ให้ขุนนางทวายนำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายณกรุงเทพฯ ขอขึ้นเปนข้าขอบขัณฑเสมาสืบไปเหมือนอย่างแต่ก่อน
๏ลุศักราช ๑๑๒๖ ปีวอก ฉศก ถึงณเดือนแปด น้ำเหนือหลากลงมาอิก แดงเหมือนน้ำดินแดงจาก อยู่สองวันก็หายเปนปรกติ
๏ครั้นถึงณเดือนอ้าย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระฉายณเขาปัถวี แรมอยู่สองเวรแล้วเสด็จกลับลงมา ขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท กระทำพุทธสมโภช เวียนพระเทียน ครบเจ็ดวันแล้วเสด็จกลับยังพระมหานคร จึงดำรัศสั่งพระวิสุทธโยธามาตย์ให้ฟั่นเชือกน้ำมันแลทำรอกไว้ให้มาก สำหรับเมื่อมีการสงครามมา จะเอาไม้ขึ้นตั้งขาหยั่งบนเชิงเทิน แล้วจะเอารอกติดเอาปืนกระสุนสามนิ้วสี่นิ้วชักขึ้นไปให้สูง แล้วจะล่ามชนวนยิงให้ออกไปได้ไกล อย่าให้ข้าศึกเข้ามาใกล้ได้
๏ในปีวอก ฉศกนั้น ฝ่ายภุกามประเทศ พระเจ้าอังวะมังระให้เกณฑ์กองทัพพลสกรรจ์ลำเครื่องสองหมื่นห้าพันสรรพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพสาตราวุธให้พร้อมไว้ คิดจะยกมาตีพระนครศรีอยุทธยาอิก พอมีหนังสือเมืองเมาะตมะบอกขึ้นไปว่า ชาวเมืองทวายคิดขบถฆ่าเจ้าเมืองกรมการแลไพร่พลซึ่งลงไปรักษาเมืองอยู่นั้นเสียสิ้น พระเจ้าอังวะจึงให้จัดทัพเปนสองทัพ ให้มังมหานรทาเปนโบชุกแม่ทัพใหญ่ เมฆราโบเปนทัพน่า ติงจาแมงข่องเปนยุกรบัตร เสนัดหวุ่นเปนเกียกกาย ปกันหวุ่นเปนทัพหลัง ถือพลหมื่นห้าพัน ให้ยกมาทางใต้ทัพหนึ่งไปตีเมืองทวาย ได้แล้วจึงให้ยกเข้าไปตีกรุงเทพมหานคร อิกทัพหนึ่งนั้นให้เนเมียวมหาเสนาบดีเปนแม่ทัพ ฉับกุงโบเปนทัพน่า แนกวนจอโบเปนยุกรบัตร เมี้ยนหวุ่นเปนเกียกกาย อุตมสิงหจอจัว เจ้าเมืองปรอน เปนทัพหลัง ถือพลหมื่น ให้ยกมาทางเหนือทัพหนึ่ง ให้บรรจบกับมังมหานรทา แม่ทัพใหญ่ ไปตีกรุงเทพมหานครทั้งสองทัพ
๏ครั้นถึงวันได้ศุภฤกษ์ จึงนายทัพนายกองทั้งสองทัพก็ทูลลาพระเจ้าอังวะ แล้วยกกองทัพแยกกันมาทั้งสองทาง
๏ฝ่ายมังมหานรทา แม่ทัพใหญ่ ซึ่งยกมาทางใต้นั้น จึงให้เมฆราโบ ๑ ติงจาแมงข่อง ๑ เสนัดหวุ่น ๑ คุมพลห้าพันยกล่วงมาตีเมืองทวายก่อน แต่ตัวมังมหานรทากับปกันหวุ่นซึ่งถือพลหมื่นหนึ่งนั้นยกตามมาภายหลัง นายทัพทั้งสามซึ่งเปนกองน่ายกเข้าตีเมืองทวาย แลหุยตองจา เจ้าเมือง ยกพลทหารออกต่อรบ สู้พม่ามิได้ ก็แตกพ่ายทิ้งเมืองเสีย พาสมัคพรรคพวกครอบครัวของตัวหนีลงเมืองตนาวศรี กรมการเมืองตนาวศรีจึงบอกข้อราชการศึกเข้ามายังกรุงเทพมหานครในเดือนหก ปีวอก ฉศก ว่า กองทัพพม่ายกมาตีเมืองทวาย เสียแล้วจะยกมาตีเมืองมฤต เมืองตนาวศรี โกษาธิบดีจึงกราบบังคมทูลตามหนังสือบอกข้อราชการนั้น
๏ฝ่ายมังมหานรทา แม่ทัพ ยกลงมาถึงเมืองทวาย จึงให้กองน่ายกไปตีเมืองมฤต เมืองตนาวศรี แตกทั้งสองเมือง หุยตองจา เจ้าเมืองทวาย หนีลงไปทางเมืองกระ เข้าเมืองชุมพร ทัพพม่าตามลงไปเผาเมืองชุมพรเสีย แล้วยกมาตีเมืองปทิว เมืองกุย เมืองปราณ แตกทั้งสามเมือง แล้วกลับไปเมืองทวาย
๏ฝ่ายหุยตองจากับกรมหมื่นเทพพิพิธก็หนีเข้ามาณเมืองเพ็ชรบุรี สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบว่า เสียหัวเมืองแก่ข้าศึกเปนหลายเมือง จึงโปรดให้ส่งหุยตองจาไปอยู่ณเมืองชลบุรี ให้ส่งกรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่ณเมืองจันทบูร แล้วดำรัศให้เกณฑ์กองทัพสามพัน โปรดให้พระพิเรนทรเทพเปนแม่ทัพยกออกไปตั้งรับข้าศึกอยู่ณเมืองกาญจนบุรี
๏ครั้นถึงเดือนเจ็ด มังมหานรทาให้กองน่าสามนาย พลห้าพัน ยกกองทัพเข้ามาเมืองกาญจนบุรี เข้าตีทัพพระพิเรนทรเทพแตกพ่ายมา ทัพพม่ายกตามเข้ามาตั้งค่ายอยู่ตำบลบ้านลูกแก ขณะนั้น เรือลูกค้ามาจอดคั่งกันอยู่ที่นั้นเปนอันมาก พม่าลงไล่ฆ่าฟันตายในน้ำแลบนบก แลจับเปนไปได้ก็มาก แล้วพม่ายกไปตั้งค่ายอยู่ณตอกระออม แลดงรัง หนองขาว ให้ต่อเรือรบเรือไล่อยู่ที่นั้น แล้วจัดทัพให้ยกแยกกันไปตีเมืองราชบุรี เมืองเพ็ชรบุรี มิได้มีผู้ใดต่อรบ ยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น พม่าเที่ยวไล่ค้นจับผู้คนครอบครัวได้บ้าง แล้วยกกลับไปยังค่ายซึ่งตั้งอยู่นั้น แลรอทัพต่อเรือฟังข่าวกองทัพทางเหนืออยู่จนถึงปีรกา สัปดศก
๏พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัศสั่งเสนาบดีให้จัดแจงเกณฑ์กองทัพหัวเมืองปากใต้ทั้งปวง แลให้ทัพบกยกไปตั้งค่ายรับข้าศึกอยู่ตำบลบำหรุใต้เมืองราชบุรี ให้ทัพเรือไปตั้งอยู่ตำบลบางกุ้ง แลให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือตระวันออกตระวันตกเข้ามาช่วยการสงครามป้องกันพระนคร ให้ทัพเมืองพระพิศณุโลกมาตั้งค่ายอยู่ใกล้วัดภูเขาทอง ให้ทัพเมืองนครราชสิมาตั้งค่ายอยู่ใกล้วัดพระเจดีย์แดง แล้วให้พระยารัตนาธิเบศคุมกองทัพเมืองนครราชสิมายกลงมารักษาเมืองธนบุรี ให้พระยายมราชเกณฑ์กองทัพหัวเมืองอื่นยกลงมาตั้งรักษาเมืองนนทบุรี แลทัพหัวเมืองนอกกว่านั้นให้เกณฑ์เข้าบรรจบกับพลชาวพระนครขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินกำแพงเมืองโดยรอบ สรรพด้วยปืนใหญ่น้อยเครื่องสรรพาวุธพร้อม แล้วให้กวาดครอบครัวพลชาวเมืองแลเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนคร
๏ขณะนั้น เจ้าพระยาพิศณุโลกให้พระยาพลเทพกราบทูลพระกรุณาถวายบังคมลากลับขึ้นไปปลงศพมารดา จะขอพระราชทานให้หลวงมหาดไทย หลวงโกษา หลวงเทพเสนา อยู่คุมกองทัพณวัดภูเขาทองแทนตัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดให้กลับไปเมือง
๏ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดีแม่ทัพทางเหนือถือพลหมื่นหนึ่งยกลงมาทางเมืองเชียงใหม่ จึงให้ฉับกุงโบ แนกวนจอโบ เมี้ยนหวุ่น สามนายคุมพลห้าพันเปนกองน่า ยกล่วงลงมาก่อนแต่ในเดือนสี่ ปีวอก ฉศก ตัวเนเมียวแลอุตมสิงหจอจัวกับพลห้าพันนั้นค้างฤดูฝนอยู่ณเมืองเชียงใหม่ แลกองน่านั้นยกลงมาถึงเมืองกำแพงเพ็ชร ไม่มีใครสู้รบ ก็ตั้งค่ายมั่นอยู่ แล้วให้ต่อเรือรบเรือลำเลียงตระเตรียมเสบียงอาหารอยู่ที่นั้น
๏จึงกรมการหัวเมืองฝ่ายเหนือบอกข้าราชการศึกลงมาอิกฉบับหนึ่งว่า พม่ายกมาทางเหนืออิกทัพหนึ่ง สมุหนายกกราบบังคมทูล จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งให้มีตราขึ้นไปถึงเจ้าพระยาพิศณุโลกให้ยกไปตีทัพพม่าข้าศึก
๏ครั้นถึงเดือนเจ็ด ปีรกา สัปดศก จึงแนกวนจอโบคุมพลพม่าพลลาวสองพันยกทัพเรือมาตั้งอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชร มาตั้งค่ายอยู่ณเมืองนครสวรรค์
๏ครั้นถึงเดือนสิบเอ็จ จึงเนเมียวมหาเสนาบดีแม่ทัพก็ยกพลพม่าพลลาวห้าพันเศษจากเมืองเชียงใหม่มาทางด่านเมืองสวรรคโลก ตีบ้านใหญ่น้อยตามรยะทางมาจนถึงเมืองศุโขไทย เข้าตีเมืองศุโขไทยแตก แล้วเข้าตั้งทัพอยู่ในเมือง พระยาศุโขไทยแลพระยาสวรรคโลกพาครอบครัวพลเมืองหนีเข้าป่า แล้วจัดพลทหารยกเข้ามารับตั้งล้อมเมืองไว้
๏ฝ่ายเจ้าพระยาพิศณุโลกก็ยกกองทัพไปช่วยรบพม่าณเมืองศุโขไทยด้วย ขณะนั้น เจ้าฟ้าจีดเปนบุตรพระองค์เจ้าดำซึ่งต้องสำเร็จโทษครั้งเจ้าฟ้าอไภย เจ้าฟ้าบรเมศร พระมารดานั้นเจ้าฟ้าเทพเปนพระราชธิดาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินทรงปลา แลเปนเจ้าพี่เจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาล ซึ่งเปนโทษครั้งกรมพระราชวังนั้น แลเจ้าฟ้าจีดต้องโทษจำอยู่ในพระราชวัง หลวงโกษผลเมืองพระพิศณุโลกช่วยคิดอ่านให้หนีออกจากโทษได้ รับไปณค่ายภูเขาทอง แล้วพากันหนีไปเมืองกับทั้งบ่าวไพร่ในกองของตัว ครั้นได้ทรงทราบจึงดำรัศให้ข้าหลวงเปนหลายนายรีบไปติดตามจับก็หาทันไม่ หนีไปได้ถึงเมืองพระพิศณุโลก พอเจ้าพระยาพิศณุโลกไม่อยู่ ยกไปรบพม่าณเมืองศุโขไทย เจ้าฟ้าจีดก็เข้าเก็บริบเอาทรัพย์สิ่งของเงินทองเจ้าพระยาพิศณุโลกสิ้น แล้วจุดเพลิงเผาบ้านเรือนเสีย กวาดผู้คนเข้าตั้งรักษาเมืองอยู่
๏ขณะนั้น จึงเชียงภรรยาเจ้าพระยาพิศณุโลกหนีลงเรือน้อยกับพรรคพวกบ่าวไพร่ขึ้นไปณเมืองศุโขไทยแจ้งความแก่เจ้าพระยาพิศณุโลก ๆ ก็โกรธ จึงเลิกทัพลงมาชุมพลอยู่ณหลังเมืองพิจิตร แล้วยกขึ้นไปตั้งค่ายณท้ายเมืองพระพิศณุโลก ได้รบกับพวกเจ้าฟ้าจีดหลายเพลา เจ้าฟ้าจีดจึงแตกหนีออกจากเมือง ตามไปจับได้ ให้จำใส่กรงลงเรือส่งลงมาณกรุงฯ มาถึงท้ายทุ่งสากเหล็ก ผู้คุมรู้ว่า ทัพพม่ามาตั้งอยู่ณเมืองนครสวรรค์ จึงคุมเจ้ากลับขึ้นไป เจ้าพระยาพิศณุโลกรู้ก็ให้ลงมารับเจ้าฟ้าจีดขึ้นไปถ่วงน้ำเสียณเมืองพระพิศณุโลก
๏ในขณะนั้น ลาวเมืองลำพูนไชยซึ่งโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ณบางล่าง กับลาวเก่าอยู่ณบ้านม่วงหวานนั้น พาครอบครัวอพยพหนีไปข้างตระวันออกทั้งสิ้น
๏ฝ่ายกองทัพน่าพม่าข้างใต้ซึ่งตั้งค่ายอยู่ณตอกระออมนั้น ถึงณเดือนสิบ ปีรกา สัปดศก เมฆราโบจึงยกทัพเรือพลพันเศษลงมาตีค่ายทัพไทยซึ่งตั้งอยู่ตำบลบำหรุนั้นแตก แล้วก็ยกลงมาตีทัพเรือพวกไทยตำบลบางกุ้งก็แตกฉานพ่ายหนี จึงยกล่วงเข้ามาถึงเมืองธนบุรี พระยารัตนาธิเบศมิได้สู้รบ หนีกลับขึ้นไปกรุงเทพมหานคร กองทัพเมืองนครราชสิมาก็เลิกไปทางฟากตระวันออกยกกลับไปเมืองสิ้น พม่าก็ได้เมืองธนบุรี เข้าตั้งอยู่สามวัน แล้วเลิกทัพกลับไปณค่ายตอกระออมดังเก่า
๏ในขณะนั้น กำปั่นอังกฤษลูกค้าลำหนึ่งบรรทุกผ้าสุหรัดเข้ามาจำหน่ายณกรุงเทพมหานคร โกษาธิบดีให้ล่ามถามแก่นายกำปั่นว่า ถ้าพม่าจะเข้ามารบเอาเมืองธนบุรีอิก นายกำปั่นจะอยู่ช่วยรบฤๅจะไปเสีย นายกำปั่นว่า จะอยู่ช่วยรบ แต่ขอให้ถ่ายมัดผ้าขึ้นฝากไว้ให้กำปั่นเบาก่อน ครั้นถ่ายมัดผ้าขึ้นแล้ว ก็ถอยกำปั่นล่องลงมาทอดอยู่ณปากคลองบางกอกใหญ่
๏ครั้นณเดือนยี่ เมฆราโบก็ยกทัพเรือเข้ามาเมืองธนบุรีอิก ไม่มีใครอยู่รักษาเมืองแลสู้รบ พม่าเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนป้อมวิไชเยนทร์ฟากตระวันตกยิงโต้ตอบกับปืนกำปั่นจนเพลาค่ำ กำปั่นจึงถอนสมอลอยขึ้นไปตามน้ำขึ้นไปทอดอยู่เหนือเมืองนนทบุรี แลกองทัพพระยายมราชซึ่งตั้งอยู่เมืองนนท์นั้นก็เลิกหนีขึ้นไปเสีย มิได้ตั้งอยู่ต่อรบพม่า พม่าเข้าตั้งอยู่ณเมืองธนแล้ว จึงแบ่งทัพขึ้นมาตั้งค่ายณวัดเขมาทะหลาดแก้วทั้งสองฟาก ครั้นเพลากลางคืน นายกำปั่นจึงขอเรือกราบลงมาชักสลุบช่วงล่องลงไปไม่ให้มีปากเสียง ครั้นตรงค่ายพม่าณวัดเขมา ก็ให้จุดปืนรายแคมพร้อมกันทั้งสองค่ายยิงค่ายพม่าทั้งสองฟาก พม่าต้องปืนล้มตายป่วยลำบากแตกหนีออกหลังค่าย ครั้นเพลาเช้า น้ำขึ้น สลุบช่วงก็ถอยขึ้นมาหากำปั่นใหญ่ซึ่งทอดอยู่เหนือเมืองนนท์
๏ฝ่ายทัพพม่าก็ยกเข้าค่ายเมืองนนท์ ครั้นเวลาค่ำ ให้ชักสลุบช่วงล่องลงไปอิก จุดปืนรายแคมยิงค่ายเมืองนนท์ พม่าหนีออกไปซุ่มอยู่ข้างหลังค่าย อังกฤษแลไทยลงสำปั้นขึ้นไปเก็บของในค่าย พม่ากลับกรูกันเข้ามาข้างหลังค่าย ไล่ฟันแทงไทยแลอังกฤษแตกหนีออกจากค่ายลงสำปั้น แลตัดศีศะล้าต้าอังกฤษได้คนหนึ่งเอาขึ้นเสียบประจานไว้น่าค่าย นายกำปั่นจึงบอกแก่ล่ามว่า ปืนในกำปั่นกระสุนย่อมกว่าปืนพม่า เสียเปรียบข้าศึก จะขอปืนใหญ่กระสุนสิบนิ้วสิบกระบอก แล้วจะขอเรือรบพลทหารสิบลำ จะลงไปรบพม่าอิก ล่ามกราบเรียนแก่เจ้าพระยาพระคลัง ๆ กราบบังคมทูล จึงโปรดให้เอาปืนใหญ่สิบกระบอกลงบรรทุกเรือใหญ่ขึ้นไปกำปั่น แต่เรือสิบลำนั้นยังหาทันจัดแจงให้ไปไม่ ครั้นเพลาบ่าย อังกฤษล่องกำปั่นแลสลุบช่วงลงไปจนพ้นเมืองธนบุรีแล้วจึงทอดสมออยู่
๏ขณะนั้น ไทยในกรุงเทพมหานครลอบลงเรือน้อยลงมาเก็บผลไม้หมากพลูณสวน อังกฤษจับขึ้นไว้บนกำปั่นมากกว่าร้อยคน แล้วก็ใช้ใบหนีไปออกท้องทเล ครั้นเพลาค่ำ ไทยหนีขึ้นมาถึงพระนครได้สองคน จึงรู้เนื้อความว่า กำปั่นอังกฤษมิได้อยู่รบพม่า หนีไปแล้ว ได้แต่มัดผ้าซึ่งขึ้นไว้สี่สิบมัด
๏ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดีแม่ทัพทางเหนือ กับอุตมสิงหจอจัว แลเกรียงปันญี ปิจุนหวุ่น เยกิหวุ่น ตั้งรบกับทัพไทยอยู่ณเมืองศุโขไทยจนถึงเดือนยี่ ก็เลิกกองทัพยกลงมาบรรจบกับทัพน่าซึ่งตั้งอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชรนั้น
๏ฝ่ายมังมหานรทาแม่ทัพทางใต้ก็ยกทัพใหญ่พลหมื่นหนึ่งมาจากเมืองทวายมาบรรจบกับทัพน่าซึ่งตั้งอยู่ตอกระออม แล้วแบ่งทัพให้ปกันหวุ่น แยจออากา จิกะเรจอโบ่ ติงจาโบ่ บรรจบกับเสนัดหวุ่นกองน่า ให้ยกทัพเรือหนุนทัพเมฆราโบเข้ามาณเมืองนนทบุรี แลตัวมังมหานรทา กับติงจาแมงข่อง จอกกาโบ จอกยีโบ งาจุหวุ่น จิกแกทวาย ยกทัพบกมาทางเมืองสุพรรณบุรีเข้ามายังพระนคร ตั้งค่ายใหญ่อยู่ตำบลสีกุก แลกองทัพเรือนั้นยกขึ้นมาตั้งค่ายใหญ่อยู่ตำบลบางไทร แลพม่าล้วนแต่มีใจหยาบช้า มิได้ลอายแก่บาป ให้รี้พลไปรื้อเอาอิฐโบสถ์วิหารวัดน้อยใหญ่ทั้งปวงมาก่อกำแพงล้อมเปนค่ายทั้งสองตำบล
๏ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดีก็ยกทัพบกทัพเรือจากเมืองกำแพงเพ็ชรลงมาบรรจบกับทัพแนกวนจอโบกองน่าซึ่งตั้งค่ายอยู่ณเมืองนครสวรรค์ แล้วก็ยกลงมายังพระมหานคร เข้ามาตั้งค่ายใหญ่อยู่ตำบลวัดป่าฝ้ายปากน้ำประสบ
๏ฝ่ายพระเจ้าอังวะจึงตั้งแมงกิม้ารหญ่าลงมาครองเมืองทวาย แล้วให้เกณฑ์กองทัพพม่ารามัญให้ยกหนุนเพิ่มเติมมาอิก แลสุรินทจอข่อง มณีจอข่อง มหาจอแทง อากาปันญี สี่นายถือพลพม่าพันเศษยกลงมาพักอยู่ณเมืองเมาะตมะ แล้วเดินทัพมาทางเมืองอุไทยธานี ในเดือนยี่ ปีรกา สัปดศก มาตั้งค่ายอยู่ณแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ แลพระยาเจ่ง ตละเสี้ยง ตละเกล็บ คุมพลรามัญเมืองเมาะตมะสองพันเศษยกมาทางเมืองกาญจนบุรีมาถึงค่ายตอกระออม แล้วยกทัพเรือหนุนเข้ามาตั้งค่ายใหญ่อยู่ณขนอนหลวงวัดโปรดสัตว แต่บรรดาประชาชนชาวหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงก็เสียแก่พม่า ที่ยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปก็มาก ครั้นณเดือนสาม ปีรกา สัปดศก พวกชาวเมืองวิเศษไชยชาญ แลเมืองสิงคบุรี เมืองสรรคบุรี เข้าเกลี้ยกล่อมพม่า พม่าเร่งเอาทรัพย์เงินทองแลบุตรหญิงจึงชวนกันลวงพม่าว่า จะให้บุตรหญิงแลเงินทอง แล้วคิดกันจะสู้รบพม่า บอกกล่าวชักชวนกันทุก ๆ บ้าน แลนายแท่น ๑ นายโช ๑ นายอิน ๑ นายเมือง ๑ ชาวบ้านสีบัวทองแขวงเมืองสิงค์ นายดอกชาวบ้านตรับ นายทองแก้วชาวบ้านโพทเล คนเหล่านี้มีสมัคพรรคพวกมาก เข้าเกลี้ยกล่อมพม่าซึ่งยกทัพมาทางเมืองอุไทยธานี ครั้นพม่าตักเตือนเร่งรัดจะให้ส่งบุตรหญิง จึงให้นายโชคุมพรรคพวกเข้าฆ่าพม่าตาย ๒๐ เศษ แล้วพากันหนีมาหาพระอาจารย์ธรรมโชติวัดเขานางบวช มีความรู้วิชาการดี มาอยู่ณวัดโพธิ์เก้าต้นในบ้านระจัน เอาเปนที่พึ่ง แลพาสมัคพรรคพวกครอบครัวทั้งปวงมาอยู่ณบ้านระจัน แลนายแท่นกับผู้มีชื่อเหล่านั้นชักชวนคนชาวบ้านได้ ๔๐๐ เศษมาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่บ้านระจันทั้งสองค่าย พระอาจารย์นั้นลงกะตรุดประเจียดแลมงคลแจกให้ แลพม่าประมาณร้อยเศษตามมาจับพันเรือง มาถึงบ้านระจัน ก็หยุดอยู่ณฝั่งแม่น้ำฟากข้างโน้น นายแท่นรู้จึงจัดแจงคนให้รักษาค่าย แล้วก็พาคนสองร้อยข้ามน้ำไปรบกับพม่า พม่ายิงปืนได้นัดเดียว นายแท่นกับคนสองร้อยล้วนถืออาวุธสั้นวิ่งเข้าฟันแทงพวกพม่าถึงตลุมบอน ฆ่าพม่าตายทั้งร้อยเศษ แต่ตัวนายสองคนขึ้นม้าควบหนีไปได้ จึงไปแจ้งความแก่นายทัพนายกองซึ่งตั้งค่ายอยู่ณแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ แล้วบอกไปถึงแม่ทัพ แม่ทัพจึงแต่งให้งาจุนหวุ่นคุมพลห้าร้อยมาตีค่ายบ้านระจัน นายค่ายบ้านระจันก็ยกพลทหารออกรบ ตีทัพพม่าแตกพ่ายหนีแลป่วยเจ็บล้มตายเปนอันมาก แม่ทัพจึงให้เยกิหวุ่นคุมพลพม่าเจ็ดร้อยยกไปตีค่ายบ้านระจัน ก็แตกพ่ายมาอิกเปนสองครั้ง จึงให้ติงจาโบ่คุมพลเก้าร้อยยกไปตีอิก ก็แตกพ่ายมาเปนสามครั้ง พวกพม่าขยาดฝีมือไทยค่ายบ้านระจันยิ่งนัก หยุดอยู่อิกสองวันสามวัน แม่ทัพจึงเกณฑ์ให้สุรินทจอข่องเปนนายทัพใหญ่คุมพลทหารเกณฑ์กันทุกค่ายเปนคนพันเศษ ม้าหกสิบม้า ยกไปตีค่ายบ้านระจันอิกเปนสี่ครั้ง สุรินทจอข่องก็ยกพลทหารไปถึงทุ่งบ้านห้วยไผ่ พวกค่ายบ้านระจันจึงจัดกันให้นายแท่นเปนนายทัพพลสองร้อย ให้นายทองเหม็นเปนปีกขวา พันเรืองเปนปีกซ้าย คุมพลกองละสองร้อย ทั้งสามกองเปนคนหกร้อย มีปืนคาบชุดคาบศิลาของชาวบ้านบ้าง ปืนของพม่าซึ่งแตกหนีล้มตายเก็บได้บ้าง ทั้งเก็บกระสุนดินของพม่าซึ่งทิ้งเสียเก็บไว้ได้บ้าง แลตัวนายทั้งสามคนนั้นก็นำพลทหารทั้งสามกองยกออกจากค่ายไปถึงคลองสะตือสี่ต้น จึงตั้งทัพดากันอยู่ทั้งสามกองคอยรับทัพพม่าที่ต้นสะตือใหญ่มีบ่อน้ำอยู่กลางทุ่ง กองทัพพม่ายกมาตั้งอยู่ฟากคลองข้างโน้น ได้ยินปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย พม่าเห็นพวกไทยน้อยก็ตั้งรบอยู่มิได้ท้อถอย ทัพไทยจึงขนเอาไม้แลหญ้ามาถมคลอง แล้วยกข้ามคลองรุกไปรบพม่าถึงอาวุธสั้น เข้าไล่ตลุมบอนแทงฟันฆ่าพม่าล้มตายเปนอันมาก แลสุรินทจอข่องนายทัพนั้นกั้นร่มระย้าอยู่ในกลางพล เร่งให้ตีกลองรบ รบกันตั้งแต่เช้าจนตระวันเที่ยง พลทหารไทยวิ่งเข้าฟันตัดศีศะสุรินทจอข่องขาดตกม้าตายในท่ามกลางสนามรบ แลนายแท่นซึ่งเปนนายทัพไทยนั้นวิ่งเข้าไปในกลางพลพม่า ไล่แทงพม่าตายเปนหลายคน แลตัวนายแท่นนั้นถูกปืนพม่าที่เข่าล้มลง พวกพลช่วยกันหามออกมาจากที่รบ แลพลทหารทั้งสองฝ่ายต่างเหนื่อยอ่อนอิดโรย ก็รอรบถอยออกจากกันทั้งสองข้าง หยุดพักอยู่ข้างละฟากคลอง พวกชาวบ้านระจันก็นำอาหารออกมาส่งเลี้ยงดูพวกทหาร ฝ่ายพม่าก็หุงเข้าสุกบ้างยังบ้าง ที่ได้กินเข้าบ้างยังไม่ได้กินบ้าง พวกทหารไทยกินอาหารเสร็จพร้อมกันแล้ว ก็แต่งตัวยกข้ามคลองแล่นเข้าโจมตีทัพพม่าพร้อมกัน
๏ฝ่ายพลพม่าสาลวนขุดหลุมฝังศพนายอยู่ บ้างตีกลองประโคมศพ บ้างร้องไห้รักนาย ไม่เปนอันจะต่อรบ ก็แตกพ่ายหนีไปต่อน่า พลทหารไทยไล่ติดตามไปทัน ฆ่าฟันพม่าตายเสียเปนอันมาก เก็บได้ปืนแลเครื่องสาตราวุธผ้านุ่งห่มต่าง ๆ แต่ไล่ติดตามพม่าไปจนเย็นจวนจะใกล้ค่ำจึงกลับมายังค่าย แลพลพม่าตายประมาณแปดร้อยเศษ ที่เหลือรอดกลับมาศามร้อยเศษ ต้องอาวุธบาดเจ็บก็มาก ข้างทัพไทยตากหกสิบเศษ ป่วยเจ็บสิบสองคน ขณะนั้น ชาวบ้านอื่น ๆ พาครอบครัวเข้ามาอาไศรยอยู่ในค่ายบ้านระจันเปนอันมาก
๏ฝ่ายพม่ากลัวฝีมือชาวบ้านระจันยิ่งนัก แต่จัดแจงกะเกณฑ์ทัพปฤกษากันอยู่ประมาณสิบเอ็จสิบสองวัน แม่ทัพจึงแต่งให้แยจออากาเปนนายทัพ เกณฑ์แบ่งพลทหารไปทุก ๆ ค่ายเปนคนพันเศษ สรรพด้วยม้าเครื่องสรรพาวุธให้ยกไปตีค่ายบ้านระจันอิก ก็แตกพ่ายหนีมาเปนห้าครั้ง แล้วแม่ทัพจึงแต่งให้จิกแกปลัดเมืองทวายเปนนายทัพคุมพลร้อยเศษยกไปตีเปนหกครั้ง ก็แตกพ่ายมา จึงแต่งให้อากาปันญีเปนนายทัพคุมพลพันเศษยกไปรบอิกเปนเจ็ดครั้ง แลอากาปันญียกไปตั้งค่ายอยู่ณตำบลบ้านขุนโลก ฝ่ายทัพไทยข้างบ้านระจันจึงจัดให้ขุนสันฝีมือยิงปืนแม่นเปนนายพวกทหารปืนคอยป้องกันทหารม้าพม่า แล้วแต่งให้นายจันหนวดเขี้ยวเปนนายทัพใหญ่คุมทหารพันเศษยกออกตีทัพพม่าเข้าล้อมค่ายไว้ ฝ่ายทัพพม่าตั้งค่ายยังไม่ทันแล้ว ทัพไทยวกเข้าโจมตีข้างหลังค่าย ยิงแทงฟันพม่าตายแทบถึงพัน แลอากาปันญีนายทัพนั้นก็ตายอยู่ในค่าย ทัพไทยได้ม้าแลผ้านุ่งห่มสาตราวุธต่าง ๆ เปนอันมาก พม่าแตกหนีรอดเหลือมานั้นน้อยประมาณร้อยเศษ ตั้งแต่นั้นมา พม่ายิ่งกลัวฝีมือไทยค่ายบ้านระจันนัก เกณฑ์กันจะให้ไปรบอิกมิใคร่ได้ หยุดนานไปถึงกึ่งเดือน
๏ฝ่ายในกรุงเทพมหานครนั้น ขณะเมื่อกองทัพพม่ายกเข้ามาจะใกล้ถึงกรุงนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัศสั่งให้ออกไปนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะซึ่งอยู่วัดนอกเมืองนั้นให้เข้ามาอยู่ในวัดพระนครทั้งสิ้น แลสมเด็จพระอนุชาธิราชซึ่งทรงผนวชอยู่ณวัดประดู่นั้นก็เสด็จเข้ามาอยู่ณวัดราชประดิษฐาน ขุนนางแลราษฎรชวนกันไปทูลเชิญเสด็จให้ลาผนวชออกช่วยราชการแผ่นดินป้องกันรักษาพระนครเหมือนเมื่อศึกมังลองครั้งก่อน ก็หาลาผนวชออกไม่ แลเพลาเสด็จไปทรงรับบิณฑบาต ชาวเมืองชวนกันเขียนหนังสือห่อใส่บาตรเปนใจความทูลวิงวอนให้ลาผนวช แลได้ห่อหนังสือในบาตรเปนอันมากทุก ๆ วัน
๏ขณะนั้น ในพระนครได้ทราบข่าวว่า ชาวบ้านระจันตั้งค่ายต่อรบพม่า พม่ายกทัพไปตีแตกพ่ายมาเปนหลายครั้ง ชาวบ้านระจันฆ่าพม่าเสียเปนอันมาก เห็นพม่าย่อท้อถอยกำลังลง สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงดำรัศให้เสนาบดีเกณฑ์กองทัพจะให้ยกออกไปรบพม่า แล้วโปรดให้ถอดจหมื่นศรีสรรักษ์ออกจากโทษ ให้คงถานาศักดิ์ทำราชการดังเก่า จึงโปรดให้พระยาพระคลังเปนแม่ทัพกับทั้งท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเปนหลายนาย แลทัพหัวเมืองสมทบด้วยก็หลายเมืองเปนคนหมื่นหนึ่ง ให้ยกออกไปตีค่ายพม่าซึ่งตั้งอยู่ณวัดป่าฝ้ายปากน้ำประสบ แลให้สานกระชุกแบกไปเปนอันมาก สำหรับเมื่อจะตั้งรบที่ใด จะเอากระชุกตั้งเรียงให้ชิดกัน แล้วจะขุดมูลดินบรรจุลงในกระชุกเปนสนามเพลาะบังตัวพลทหารกันปืนข้าศึก พระยาพระคลังแลนายทัพนายกองทั้งปวงกราบถวายบังคมลาแล้วยกกองทัพออกจากพระนครวันนั้น รี้พลมากเต็มไปทั้งท้องทุ่ง แม่ทัพหยุดแคร่ที่ใด กองทัพก็หยุดที่นั้นพร้อมพร้อมกันเปนกองกองรั้งรอไป ครั้นไปถึงที่ใกล้ค่ายพม่า ก็ตั้งทัพดากันอยู่ แลทหารพม่าขี่ม้าข้ามน้ำไปหาค่ายใหญ่ฟากตระวันตกเปนหลายม้า จึงขับทหารเข้าตีค่าย พม่าในค่ายยิงปืนใหญ่ออกมาต้องพลทัพไทยล้มลงสี่ห้าคน กองทัพทั้งนั้นก็ถอยมาสิ้น ครั้นเพลาเย็น ก็เลิกกลับเข้าพระนคร อยู่สองสามวัน จึงมีพระราชดำรัศให้ทัพพระยาพระคลังยกออกไปตีค่ายปากน้ำประสบอิก ขณะนั้น บรรดาชาวพระนครทั้งคฤหัสถ์แลสมณะไม่เคยเห็นเขารบกัน ชวนกันตามกองทัพออกไปดูรบพม่าเปนอันมาก แลกองทัพยกออกไปตั้งอยู่ยังไม่ทันเข้าตีค่าย พม่าแต่งกลให้รี้พลยกหาบคอนออกหลังค่ายทำทีจะแตก พวกกองอาจสามารถชวนกันวิ่งเข้าไปใกล้ค่ายพม่า แลเนเมียวแม่ทัพขับพลทหารทั้งคนทั้งม้าออกไล่โอบหลังกองทัพไทย พึ่งหอกซัดแลยิงปืนบนหลังม้าต้องพลทัพไทยตายเปนหลายคน กองทัพไทยมิได้ต่อรบ พากันแตกพ่ายหนีถอยลงมาณโพธิ์สามต้นทั้งสิ้น แลจหมื่นศรีสรรักษ์ จหมื่นเสมอใจราช ขี่ม้าข้ามน้ำหนีมาฟากตระวันออก แต่กองพระยาตากรอรบอยู่ ค่อยข้ามมาต่อภายหลัง ทัพพม่าไล่ติดตามพุ่งหอกซัดต้องพลไทยแลคนซึ่งตามออกไปดูรบศึกนั้นบาดเจ็บเปนอันมาก ที่ล้มตายก็กลาดเกลื่อนไป กองทัพไทยก็พ่ายหนีเข้าพระนคร พวกทัพพม่าก็กลับไปค่าย
๏ฝ่ายนายทัพนายกองพม่าทั้งปวงจึงปฤกษากันจัดหาผู้ซึ่งจะเปนนายทัพจะให้ยกไปตีเอาค่ายบ้านระจันให้จงได้ ขณะนั้น รามัญคนหนึ่งเปนมอญเก่าอยู่ในพระนครนี้มาช้านานเข้าเกลี้ยกล่อมพม่า มีฝีมือรบเข้มแขง แม่ทัพพม่าตั้งให้เปนพระนายกอง จึงเข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบ้านระจันให้แตกจงได้ แม่ทัพจึงเกณฑ์พลพม่ารามัญให้สองพัน ตั้งให้พระนายกองเปนนายทัพ สรรพด้วยม้าเครื่องสรรพาวุธ ให้ยกไปตีค่ายบ้านระจันอิกเปนแปดครั้ง แลพระนายกองยกทัพไปตีค่ายบ้านระจัน ครั้งนั้น มิได้ตั้งทัพกลางแปลง ให้ตั้งค่ายรายไปตามทางสามค่าย แล้วให้รื้อค่ายหลังผ่อนไปตั้งข้างน่าอิก แต่เดินค่ายไปตามทางทีละสามค่ายดังนี้ถึงกึ่งเดือน จึงไปเกือบจะใกล้ค่ายบ้านระจัน พวกตัวนายค่ายบ้านระจันคุมพลทหารยกออกตีค่ายพระนายกองเปนหลายครั้งไม่แตกฉาน แลพระนายกองตั้งมั่นรับอยู่แต่ในค่าย มิได้ออกรบนอกค่าย พวกบ้านระจันเสียคนล้มตายเปนอันมาก วันหนึ่ง นายทองเหม็นกินสุราเมา ขี่กระบือเผือกยกพลเข้าตีค่ายพม่า พระนายกองขับพลรามัญออกต่อรบนอกค่าย นายทองเหม็นขับกระบือไล่ถลำเข้าในกลางทัพแต่ผู้เดียว แทงพลพม่ารามัญตายเปนหลายคน พวกพม่าต่อรบต้านทานล้อมเข้าไว้ได้ เข้ารุมฟันแทงนายทองเหม็นไม่เข้า นายทองเหม็นสู้รบอยู่ผู้เดียวจนสิ้นกำลัง พม่าจับตัวได้ก็ทุบตีตายในที่นั้น พวกทัพบ้านระจันเสียนายแล้วก็แตกหนีไปค่าย ทัพพม่าพระนายกองก็ยกติดตามมาถึงบ้านขุนโลกใกล้ค่ายบ้านระจัน จึงให้เก็บเอาศพพม่าซึ่งตายแต่ทัพก่อน ๆ นั้นเผาเสียสิ้น แล้วก็ตั้งค่ายใหญ่ลงที่นั้นรักษามั่นอยู่ ทัพบ้านระจันออกตีเปนหลายครั้งไม่แตกก็เสียน้ำใจท้อถอย พระนายกองจึงให้ขุดอุโมงค์เดินเข้าไปใกล้ค่ายบ้านระจัน แล้วปลูกหอรบขึ้นสูง เอาปืนใหญ่ขึ้นยิงเข้าไปในค่ายต้องไทยตายเปนอันมาก แลตีเอาค่ายน้อยบ้านระจันได้ ยังแต่ค่ายใหญ่ แลนายแท่นซึ่งถูกปืนพม่าเข่าหักแต่ก่อนนั้นป่วยมานาน ก็ถึงแก่กรรมลงในเดือนหก ปีจอ อัฐศก
๏ขณะนั้น ขุนสันซึ่งมีฝีมือเข้มแขงถือปืนอยู่เปนนิตย์แลนายจันหนวดเขี้ยวยกพลทหารออกรบกับพม่าอิกเปนหลายครั้ง วันหนึ่ง พลพม่าโอบหลังเข้าได้ ก็ฆ่าขุนสันกับทั้งนายจันหนวดเขี้ยวตายในที่รบทั้งสองนาย ยังแต่พันเรืองกับนายทองแสงใหญ่อยู่ในค่ายบ้านระจัน เห็นเหลือกำลังจะสู้รบพม่า จึงบอกเข้ามาในเมืองขอปืนใหญ่แลกระสุนดินดำ เสนาบดีจึงปฤกษาลงเห็นพร้อมกันมิได้ให้ ว่า ถ้าพม่าตีค่ายบ้านระจันแตกแล้ว ก็จะได้ปืนใหญ่แลกระสุนดินดำเปนกำลังเข้ามารบพระนคร เหมือนหนึ่งให้กำลังแก่ข้าศึก แต่พระยารัตนาธิเบศนั้นหาลงเห็นด้วยไม่ จึงออกไปณค่ายบ้านระจัน คิดอ่านเรี่ยไรทองชาวบ้านซึ่งอยู่ในค่ายมาหล่อปืนใหญ่ขึ้นได้สองกระบอก ก็บกพร่องร้าวรานไปหาบริบูรณ์ไม่ เห็นจะคิดการสงครามไม่สำเร็จ ก็กลับเข้าพระนคร ฝ่ายชาวบ้านระจันหาที่พึ่งมิได้ ไม่มีใครช่วยอุดหนุน ก็เสียใจย่อหย่อนอ่อนฝีมือลง เห็นจะสู้รบต้านทานพม่าไม่ได้ แต่ตั้งต่อรบพม่ามาแต่เดือนสี่ปลายปีรกา สัปดศก จนถึงเดือนแปด ปีจอ อัฐศก ได้ห้าเดือน เห็นเหลือกำลังที่จะขับเคี่ยวทำสงครามกับพม่าสืบไปอิก ต่างคนก็พาครอบครัวหนีไปจากค่าย ที่ยังอยู่นั้นน้อย ผู้คนก็เบาบางลง
๏ครั้นถึงณวัน ๒ ๒ฯ ๘ ค่ำ ปีจอ อัฐศก พม่าก็ยกเข้าตีค่ายใหญ่บ้านระจันแตก ฆ่าคนเสียเปนอันมาก ที่จับเปนไปได้นั้นก็มาก บรรดาครอบครัวชายหญิงเด็กแลผู้ใหญ่ซึ่งเหลือตายอยู่นั้นให้กวาดเอาไปสิ้น แล้วก็เลิกทัพกลับไปยังค่ายพม่า ตั้งแต่รบกันมาห้าเดือนจนเสียค่ายนั้น ไทยตายประมาณพันเศษ พม่าตายประมาณสามพันเศษ แลพระอาจารย์ธรรมโชตินั้นกระทำสายสิญจน์มงคลประเจียดกระตรุดต่าง ๆ แจกให้คนทั้งปวง แต่แรกนั้นมีคุณอยู่คงแคล้วคลาดคุ้มอันตรายอาวุธได้ขลังอยู่ ภายหลังผู้คนมาอยู่ในค่ายมากสำส่อน ที่นับถือแท้บ้างไม่แท้บ้าง ก็เสื่อมตบเดชะลง ที่อยู่คงบ้างที่ต้องอาวุธบาดเจ็บล้มตายบ้าง แลตัวพระอาจารย์นั้นที่ว่าตายอยู่ในค่ายก็มี ที่ว่าหายสูญไปก็มี ความหาลงเปนแน่ไม่
๏ในกรุงเทพมหานคร ในเดือนแปดนั้น สมเด็จพระสังฆราชวัดพระศรีรัตนมหาธาตุนั้นอาพาธลงดับสูญ ทรงพระกรุณาให้แต่งศพใส่พระโกษฐไว้ จึงโปรดให้เลื่อนพระเทพมุนีวัดกุฎีดาวซึ่งเข้ามาอยู่ณวัดสวรรคเจดีย์นั้นขึ้นเปนสมเด็จพระสังฆราช อยู่ได้หกเจ็ดเดือนก็อาพาธดับสูญลงอิก โปรดให้ใส่พระโกษฐไว้เปนสองพระโกษฐ ยังมิได้ปลงพระศพทั้งสองศพด้วยศึกยังติดพระนครอยู่
๏ฝ่ายเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งไปอยู่ณเมืองจันทบูรนั้น บรรดาคนชาวหัวเมืองทั้งหลายฝ่ายตระวันออกชวนกันนับถือพากันมาศวามิภักดิพึ่งพระบารมีอยู่เปนอันมาก กรมหมื่นเทพพิพิธจึงพาคนทั้งนั้นเข้ามาอยู่ณเมืองปราจิณบุรี แลคนชาวหัวเมืองปราจิณ เมืองนครนายก เมืองฉเชิงเทรา เมืองชลบุรี เมืองบางลมุง เลื่องฦๅกันไปว่า เจ้าจะเสด็จยกเข้ามารบพม่าช่วยกรุงเทพมหานคร จึงพากันมาเปนพวกพวกมาเข้าด้วยเปนหลายพันทูลรับอาสาจะรบพม่า กรมหมื่นเทพพิพิธจึงให้ตั้งค่ายอยู่ณเมืองปราจิณบุรี จึงแต่งให้หมื่นเก้า หมื่นศรีนาวา ชาวเมืองปราจิณบุรี แลนายทองอยู่น้อยชาวเมืองชลบุรี คนทั้งสามนี้เปนนายซ่อง ฝีมือเข้มแขง ให้เปนนายทัพน่าคุมพลชาวหัวเมืองต่าง ๆ สองพันเศษยกมาตั้งค่ายอยู่ณปากน้ำโยทกา แลคนทั้งหลายต่าง ๆ ส่งหนังสือลับเข้ามาถึงพรรคพวกญาติซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร คนในกรุงเทพมหานครรู้ก็ยินดี คิดกันพาครอบครัวหนีออกจากพระนครออกไปเข้าด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธเปนอันมาก บรรดาหม่อมเจ้าชายหญิงซึ่งเปนพระหน่อในกรมหมื่นเทพพิพิธกับทั้งหม่อมห้ามแลข้าไทยก็หนีออกไปหาเจ้า แลพระยารัตนาธิเบศนั้นก็พาพรรคพวกหนีออกไปเข้าด้วยช่วยกันคิดการซึ่งจะทำสงครามกับพม่า จัดแจงการมิทันพร้อม ยังมิได้ยกเข้ามา ฝ่ายกองทัพพม่าได้แจ้งเหตุดังนั้น แม่ทัพจึงเกณฑ์ให้เมฆราโบกับแนกวนจอโบสองนายคุมพลสามพันยกทำเรือออกไปตีค่ายไทยซึ่งตั้งอยู่ณปากน้ำโยทกานั้น ได้รบกันเปนสามารถ พม่าหักเอาค่ายได้ แล้วฆ่าหมื่นเก้า หมื่นศรีนาวา ตายในที่รบ แต่นายทองอยู่น้อยนั้นหนีรอด ทัพไทยก็แตกฉานพ่ายหนีกระจัดพลัดพรายกันไป พม่าได้ไชยชำนะแล้วก็เลิกทัพกลับเข้ามายังค่ายณกรุงเทพมหานคร
๏ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธกับพระยารัตนาธิเบศแจ้งว่า เสียค่ายปากน้ำโยทกาแก่พม่าแล้ว ก็ตกใจ มิได้คิดอ่านที่จะยกมาสู้รบกับพม่าอิก ก็พาสมัคพรรคพวกหนีไปทางช่องเรือแตกขึ้นไปณเมืองนครราชสิมา
๏ในขณะนั้น มังมหานรทาแม่ทัพใหญ่ซึ่งอยู่ณค่ายสีกุกป่วยหนักถึงแก่กรรม พม่านายทัพนายกองทั้งปวงทุก ๆ ค่ายมาพร้อมทำการปลงศพ เสร็จแล้วให้ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ในค่ายนั้น แล้วจึงประชุมปฤกษากันซึ่งจะตั้งโบชุกแม่ทัพใหญ่ขึ้นแทน จะได้ว่ากล่าวบังคับบัญชานายทัพนายกองทั้งปวงสิทธิ์ขาดในการสงครามสืบไป แลนายทัพนายกองเห็นแก่งแย่งกันไป หาลงพร้อมกันไม่ บางพวกก็ว่า จะเอาเนเมียวมหาเสนาบดีเปนโบชุกแม่ทัพใหญ่ บางพวกก็ว่า จะเอาติงจาแมงข่องปลัดค่ายสีกุก บางพวกก็ว่า จะเอาปกันหวุ่นนายค่ายบางไทร หาต้องกันไม่ ภายหลังจึงปฤกษาพร้อมกันว่า เนเมียวมหาเสนาบดีนั้นมีสติปัญญาแลฝีมือเข้มแขงก็จริง แต่ทว่า มิใช่เชื้อชาติพม่าชาตรี ฝ่ายบิดาเปนพม่า มารดาเปนลาว ซึ่งจะเปนใหญ่กว่าเราทั้งหลายอันเปนสกุลพม่านั้นไม่ควร แลติงจาแมงข่องปลัดค่ายสีกุกนั้นเล่าก็มิใช่ชาติพม่าแท้ ฝ่ายบิดาเปนพม่า มารดาเปนรามัญ ไม่ควรจะเปนใหญ่กว่าเราอันเปนชาติสกุลพม่าทั้งปวง เห็นแต่ปกันหวุ่นนายค่ายบางไทรนั้นเปนเชื้อชาติพม่าแท้ทั้งฝ่ายบิดาแลมารดา สมควรที่จะเปนใหญ่บังคับบัญชาเราทั้งปวงได้ จึงพร้อมกันตั้งปกันหวุ่นเปนโบชุกแม่ทัพใหญ่บังคับสิทธิ์ขาดในการสงครามทั้งสิ้น
๏ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดีจึงว่าแก่นายทัพนายกองทั้งปวงว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงรัตนบุรอังวะโปรดให้เราเปนแม่ทัพยกมาทางเหนือ ให้ตีเอาพระนครศรีอยทุธยาให้จงได้ ถึงว่ามังมหานรทาโบกชุกแม่ทัพใหญ่หาชีวิตรไม่แล้วก็ดี ตัวเรายังมีชีวิตรอยู่ คงจะทำสงครามเอาแผ่นดินเมืองไทยถวายพระเจ้าอังวะให้สำเร็จพระราชประสงค์ได้ ท่านทั้งหลายผู้ใดย่อท้อต่อการสงครามไม่เปนใจในราชการศึกด้วยเรา เราก็จะประหารชีวิตรผู้นั้นเสีย นายทัพนายกองทั้งปวงแลปกันหวุ่นซึ่งตั้งเปนโบชุกขึ้นใหม่นั้นก็เกรงกลัวอำนาจเนเมียวทั้งสิ้นด้วยกัน แลเนเมียวจะกะเกณฑ์เอารี้พลเท่าใดก็ต้องให้ไปทุกทัพทุกค่าย แลจะเกณฑ์ให้นายทัพนายกองผู้ใดยกไปทำการศึกที่ใดก็ต้องไปทำตามบังคับบัญชา ไม่มีใครอาจขัดขวาง เนเมียวจึงยกพลทหารเข้ามาตั้งค่ายใหญ่ตำบลโพธิ์สามต้น ให้รื้อเอาอิฐโบสถ์พิหารวัดมาก่อกำแพงล้อมเปนค่าย แล้วเกณฑ์ให้นายทัพทั้งปวงยกเข้ามาตั้งค่ายอยู่ณวัดภูเขาทองแลบ้านป้อมวัดการ้อง ให้ปลูกหอรบแลก่อป้อมขึ้นให้สูง เอาปืนใหญ่น้อยขึ้นยิงเข้ามาในพระนคร
๏ฝ่ายข้างในกรุงนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัศให้เสนาบดีจัดแจงแต่งกองทัพเรือ โปรดให้ท้าวพระยาอาสาหกเหล่าแลกองทหารทั้งปวงยกทัพเรือข้ามไปตีค่ายพม่าณวัดการ้อง พม่ายิงปืนมาถูกนายเริกคนหนึ่งซึ่งยืนรำดาบสองมืออยู่น่าเรือตกน้ำลง ทัพเรือทั้งนั้นก็ถอยกลับเข้ากรุงสิ้น
๏อยู่มาวันหนึ่ง จึงพระศรีสุริยพาหซึ่งเปนเจ้าน่าที่รักษาป้อมท้ายกบให้ประจุปืนพระมหากาลมฤตยูราชสองนัดสองลูกยิงค่ายพม่าวัดภูเขาทอง แลยิงออกไปได้นัดหนึ่ง ปืนก็ร้าวราน ครั้นเพลาค่ำ ไทยหนีเข้ามาในกรุงได้คนหนึ่งให้การว่า ปืนใหญ่ซึ่งยิงออกไปนั้นต้องเรือรบพม่าล่มสองลำ คนตายเปนหลายคน ครั้นรุ่งขึ้น เนเมียวแม่ทัพเกณฑ์ให้นายทัพนายกองทั้งปวงยกเข้ามาตั้งค่ายณวัดกระชาย วัดพลับพลาไชย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ วัดแดง ให้ปลูกหอรบขึ้นทุก ๆ ค่าย เอาปืนใหญ่น้อยขึ้นระดมยิงเข้ามาในกรุง ครั้นถึงณเดือนสิบสอง น่าน้ำ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาตากเลื่อนที่เปนพระยากำแพงเพ็ชรแล้วตั้งให้เปนนายกองทัพเรือ ให้พระยาเพ็ชรบุรีเปนกองน่า ให้หลวงศรเสนีเปนกองหนุน ยกทัพเรือออกจากพระนครให้ไปพร้อมทัพกันอยู่ณวัดป่าแก้ว คอยตีเรือทัพพม่าซึ่งจะขึ้นลงไปมาหากัน ขณะนั้น เรือรบกองทัพพม่ารามัญยกขึ้นมาแต่ค่ายบางไทรแลค่ายขนอนหลวงวัดโปรดสัตว มาถึงกลางทุ่งตรงวัดสังควาด พระยาเพ็ชรบุรีกองน่าจึงให้แจวเรือรบในกองของตัวห้าลำเข้าตีเรือรบพม่า แลเรือพวกทัพพม่ารามัญนั้นมาก ก็เข้าล้อมเรือกองพระยาเพ็ชรบุรีเข้าไว้ ได้รบกันเปนสามารถ แลพลทัพไทยกับพลพม่ารามัญฆ่าฟันกันตายลงทั้งสองฝ่าย กองพระยากำแพงเพ็ชร หลวงศรเสนี จอดรอดูเสีย หาเข้าช่วยอุดหนุนกันไม่ พม่าเอาหม้อดินดำติดเพลิงทิ้งลงในเรือพระยาเพ็ชรบุรี ดินลวกเอาไพร่พลป่วยโดดลงน้ำ พม่าได้ทีก็ฆ่าฟันแทงไทยในเรือในน้ำตายเปนอันมาก จับตัวพระยาเพ็ชรบุรีเรืองได้ อยู่คงฟันแทงไม่เข้า จึงเอาไม้หลาวเสียบทางทวารหนักถึงแก่ความตาย แลขณะรบกันวันนั้น ข้างพม่าตายสี่สิบเอ็จคน ข้างไทยตาย ๗๐ เศษ แลกองพระยากำแพงเพ็ชรกับหลวงศรเสนีก็ยกขึ้นไปตั้งอยู่ณวัดกรวย วัดพิไชย หากลับเข้ากรุงไม่ เลยตั้งค่ายอยู่ที่นั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงดำรัศให้ท้าวพระยาอาสาหกเหล่ายกทัพพลสองพันเศษออกไปตั้งค่ายอยู่ณวัดไชยวัฒนารามตำบลหนึ่ง ให้หลวงอไภยพิพัฒจีนนายก่ายคุมพลทหารจีนสองพันยกออกไปตั้งค่ายอยู่ณคลองสวนพลูตำบลหนึ่ง
๏ขณะนั้น พระยาแพร่ชื่อ มังไชย มาในกองทัพเนเมียวมหาเสนาบดี ตั้งค่ายอยู่ตำบลบ้านโพธิ์งาม เกลี้ยกล่อมไทยในแขวงเมืองสิงคบุรีแลได้มารบค่ายบ้านระจันด้วย แล้วยกมาตั้งค่ายอยู่ณโพธิ์สามต้นฟากตระวันออก ครั้นถึงณเดือนอ้าย ปีจอ อัฐศก จึงยกพลเมืองแพร่คนสามร้อยเศษหนีพม่ากลับไปโดยทางพระพุทธบาท พวกพม่ายกติดตามไปทัน ได้รบกันกลางทาง ฆ่าฟันกันตายทั้งสองฝ่าย พม่าตายลงมาก ก็เลิกกลับมา พระยาแพร่จึงให้เขียนหนังสือปักไว้ในป่าแขวงพระพุทธบาทเปนใจความว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อยู่รบกรุงเทพมหานครด้วยพม่าแล้ว จะกลับไปเมืองของตน แลพวกขุนโขลนข้าพระพุทธบาทเก็บได้หนังสือนั้น จึงบอกส่งลงมายังพระมหานครได้ทราบเหตุดังนั้น
๏ครั้นถึงณวัด ๗ ๔ฯ ๒ ค่ำ ปีจอ อัฐศก ศักราช ๑๑๒๘ ปี เพลาดึกเที่ยงคืน เกิดเพลิงขึ้นในพระนครไหม้ตั้งแต่ท่าทรายติดลามมาถึงสพานช้างคลองเข้าเปลือก แล้วข้ามมาติดป่ามะพร้าว แลป่าโทน ป่าถ่าน ป่าทอง ป่ายา วัดราชบุรณ วัดพระศรีมหาธาตุ เพลิงไปหยุดอยู่เพียงวัดฉัททันต์ติดกุฎีวิหาร แลบ้านเรือนที่เพลิงไหม้ครั้งนั้นมากกว่าหมื่นหลัง ในเมื่อเพลากลางวัน ๆ นั้น ฝ่ายพระยากำแพงเพ็ชรซึ่งตั้งค่ายอยู่ณวัดพิไชยจึงชุมนุมพรรคพวกพลทหารไทยจีนประมาณพันหนึ่งสรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธ กับทั้งนายทหารผู้ใหญ่ คือ พระเชียงเงิน หนึ่ง หลวงพรหมเสนา หนึ่ง หลวงพิไชยอาสา หนึ่ง หลวงราชเสน่หา หนึ่ง ขุนอไภยภักดี หนึ่ง เปนห้านาย กับขุนหมื่นผู้น้อยอิกหลายคน จัดแจงกันคิดจะยกทัพหนีไปทางตระวันออก แต่หลวงศรเสนีนั้นหาไปด้วยไม่ พาพรรคพวกหนีไปอื่น พอฝนห่าใหญ่ตกเปนไชยมงคลฤกษ์ พระยากำแพงเพ็ชรก็ยกกองทัพออกจากค่ายวัดพิไชย เดินทัพไปทางบ้านหารตรา พอเพลาพลค่ำ ฝ่ายกองทัพพม่ารู้ก็ยกติดตามมาทัน ได้ต่อรบกันเปนสามารถ ทัพพม่าต้านทานมิได้ก็ถอยกลับไป จึงเดินทัพไปทางบ้านเข้าเม่าถึงบ้านสัมบัณฑิต เพลาเที่ยงคืนวันนั้น ประมาณสองยามเศษ จึงแลมาเห็นแสงเพลิงไหม้ในกรุง ก็ให้หยุดทัพอยู่ที่นั้น รุ่งขึ้นวัน ๑ ๕ฯ ๒ ค่ำ จึงเดินทัพไปถึงบ้านโพสังหาร ฝ่ายพม่ายกกองทัพติดตามไปอิก จึงให้หยุดทัพตระเตรียมจะคอยรับกองทัพพม่า พม่ายกไปทัน ได้ต่อรบกันเปนสามารถ ทัพพม่าแตกพ่ายไป เก็บได้เครื่องสาตราวุธเปนอันมาก จึงเดินทัพไปหยุดแรมอยู่ณบ้านพรานนก พอเพลาเย็น พวกทแกล้วทหารออกไปเที่ยวลาดหาอาหาร พบกองทัพพม่ากลับยกติดตามมาอิก พลประมาณสองพัน จึงกลับมาแจ้งแก่พระยากำแพงเพ็ชร พระยากำแพงเพ็ชรก็ขึ้นม้ากับทหารสี่ม้าออกรับทัพพม่าก่อน จัดพลทหารทั้งปวงแยกแซงเปนปีกกาออกทั้งสองข้างเข้าตีกระหนาบทัพพม่า แลทัพม้าพม่าสามสิบม้าซึ่งมาน่านั้นแตกย่นถอยหลังลงไปหาทัพใหญ่ ก็พากันแตกพ่ายไป พวกทแกล้วทหารทั้งปวงเห็นอานุภาพพระยากำแพงเพ็ชรเปนมหัศจรรย์ ชวนกันสรรเสริญว่า นายเรามีบุญมาก เห็นจะได้เปนพระเจ้าแผ่นดินจะก่อกู้แผ่นดินคืนขึ้นได้เปนแท้ ก็ยำเกรงอำนาจยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
๏ครั้นรุ่งขึ้นณวัน ๒ ๖ฯ ๒ ค่ำ จึงขุนชำนาญไพรสณฑ์แลนายกองช้างเมืองนครนายกมีจิตสวามิภักดิ นำเอาช้างพลายห้าช้าง พังช้างหนึ่ง มาให้พระยากำแพงเพ็ชรขอเปนข้า แล้วนำทัพเดินพลไปถึงบ้านกอง หยุดประทับร้อน แล้วสั่งให้หาขุนหมื่นพันทนายบ้านออกมาให้โอวาทสั่งสอนโดยสมควร แลขุนหมื่นพันทนายบ้านมิได้เชื่อถือบุญบารมีพระยากำแพงเพ็ช กลับคิดขัดแขงจะประทุษฐร้าย ซ่องสุมพรรคพวกผู้คนไว้เปนอันมาก แล้วตั้งค่ายจะสู้รบ ครั้นได้ทราบเหตุ จึงให้ทหารไปเจรจาเล้าโลมเกลี้ยกล่อมโดยยุติธรรมถึงสามครั้ง ก็มิได้อ่อนน้อมยอมเข้าด้วย แล้วเจรจาองอาจท้าทายเปนข้อหยาบช้า ครั้นรุ่งขึ้นณวัด ๓ ๗ฯ ๒ ค่ำ พระยากำแพงเพ็ชรจึงขึ้นม้านำน่าทหารประมาณ ๒๐ คน แล้วให้รี้พลทั้งปวงยกตามเข้าไปยังค่าย ฝ่ายขุนหมื่นพันทนายบ้าน ๆ กงก็พาพรรคพวกมากกว่าพันออกจากค่ายมาต่อรบยิงปืนสกัดน่าหลัง ด้วยเดชะบารมีเปนมหัศจรรย์ ปืนข้าศึกหาถูกต้องรี้พลผู้ใดไม่ พระยากำแพงเพ็ชรจึงขับพลทหารไล่รุกเข้าไป ให้ปีนขึ้นหักเอาค่ายได้ ไล่ตลุมบอนฟันแทงพวกพลชาวบ้าน ๆ กง ชาวบ้านกงก็ตื่นแตกแหกค่ายพ่ายหนีไป ได้ช้างพลายพังเจ็ดช้างกับเงินทองแลเสบียงอาหารเปนอันมาก ครั้นรุ่งขึ้นณวัด ๕ ๙ฯ ๒ ค่ำ จึงยกพลทหารมาหยุดประทับตำบลหนองไม้ซุ้มตามทาง แล้วเดินทัพหยุดประทับร้อนแรมไปประมาณสองวัน ก็ถึงบ้านนาเริ่งแขวงเมืองนครนายก หยุดประทับอยู่คืนหนึ่ง แล้วยกไปแต่ที่นั้นอิกวันหนึ่ง จึงข้ามแม่น้ำไปฝ่ายฟากตระวันออก ถึงบ้านกบแจะด่านเมืองปราจิณบุรี ให้หยุดพักรี้พลหุงอาหารกิน เสร็จแล้วจึงเดินทัพข้ามท้องทุ่งไปจนเพลาเย็น แลกองพระเชียงเงินนั้นล้าอยู่มามิทัน พระยากำแพงเพ็ชรจึงขึ้นม้ากลับมากับหลวงพรหมเสนาเที่ยวตามหากองพระเชียงเงินก็มิได้พบ จึงให้รอทัพหยุดคอยท่าอยู่ที่นั้นถึงสามวัน จนถึงณวัน ๒ ๑๒ ฯ ๒ ค่ำ จึงให้เดินทัพเข้าในป่า หยุดประทับที่หนองน้ำ หุงอาหารกินเสร็จแล้ว ต่อเพลาบ่าย กองพระเชียงเงินจึงยกตามมาถึง พระยากำแพงเพ็ชรโกรธว่า พระเชียงเงินแกล้งเชือนแชเสีย มิได้เจ็บร้อนด้วย จะคิดเอาใจออกหาก จึงให้ลงโทษโบยหลังสามสิบที แล้วจะให้ประหารชีวิตรเสีย นายทหารทั้งปวงพากันขอชีวิตรไว้
๏ขณะนั้น ฝ่ายแม่ทัพพม่าแจ้งข่าวว่า กองทัพซึ่งยกไปตามพระยากำแพงเพ็ชรนั้นเสียทีมาเปนหลายครั้ง จึงเกณฑ์ทัพเรือให้ยกหนุนเพิ่มเติมมาอิก แลทัพบกซึ่งพ่ายมาก่อนนั้นยกลงมาตั้งอยู่ณปากน้ำเจ้าโล้เมืองฉเชิงเทรา ทัพเรือไปถึงขึ้นบรรจบกันที่นั้น ครั้นถึงณวัน ๓ ๑๔ ฯ ๒ ค่ำ กองทัพพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำเจ้าโล้ทั้งทัพบกทัพเรือมาขึ้นที่ท่าข้ามยกติดตามมาอิก เพลาเย็นได้ยินเสียงฆ้องกลองกึกก้องมา พระยากำแพงเพ็ชรจึงให้นายบุญมีขึ้นม้าใช้สวนทางลงไปสืบประมาณสองร้อยเส้น เห็นธงเทียวทั้งได้ยินเสียงพม่าพูดจากันอื้ออึงมา จึงกลับม้ามาแจ้งความแก่พระยากำแพงเพ็ชร พระยากำแพงเพ็ชรจึงสั่งให้พลทหารตั้งดากันเปนน่ากระดาน บรรจุปืนหลักแลปืนนกสับตั้งตับไว้ แล้วให้ขุดสนามเพลาะบังตัวต่างค่าย แลให้กองลำเลียงหาบคอนล่วงน่าไปก่อน ตัวพระยากำแพงเพ็ชร กับพระเชียงเงิน ขุนชำนาญไพรสณฑ์ นายบุญมี นายทองดี นายแสง นำน่าพลทหารร้อยหนึ่งออกไปคอยรับทัพพม่า ครั้นทัพพม่ามาใกล้ประมาณหกเจ็ดเส้นเดินเรียบเรียงกันมาในพงแขม จึงให้ยิงปืนใหญ่น้อยระดมพร้อมกัน ต้องพลพม่าล้มตายเปนอันมาก พม่าหนุนเนื่องกันเข้ามาอิก จึงวางปืนตับคำรบสองสาม พม่าก็แตกหนีกระจัดพลัดพรายพ่ายไปไม่เปนหมวดเปนกอง จึงขับพลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำทับไล่ติดตามฆ่าพม่าเสียเปนอันมาก แล้วก็เดินทัพมาทางบ้านหัวทองหลางสพานทองล่วงแดนเมืองชลบุรีไปฝ่ายข้างตระวันออก ฝ่ายกองทัพพม่าจะคุมกันเข้ามิได้ ก็มิได้ยกติดตามไปอิก ต่าง ๆ กลับมายังค่ายซึ่งตั้งล้อมกรุงเทพมหานคร
๏ฝ่ายกองทัพจีนซึ่งตั้งค่ายรบพม่าอยู่ณคลองสวนพลูนั้น พวกจีนคบคิดกันประมาณสามร้อยเศษชวนกันขึ้นไปทำลายมรฎปพระพุทะบาท เลิกเอาแผ่นเงินที่ดาดพื้นแลทองคำซึ่งแผ่หุ้มพระมรฎปอยู่นั้นมาสิ้น แล้วเอาเพลิงเผาพระมรฎปใหญ่เสีย พวกกรมการข้าพระบอกลงมาณกรุง ครั้นพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงทราบ จึงให้หลวงอไภยพิพัฒนายค่ายพิจารณาชำระสืบสาวได้เนื้อเงินหนักยี่สิบชั่งเศษ ได้เนื้อทองหนักสิบสามตำลึง ส่งเข้ามาถวาย
๏ฝ่ายเนเมียวแม่ทัพค่ายโพธิ์สามต้นจึงให้พลพม่าเข้ามาจุดเพลิงเผาปราสาทที่พเนียดนั้นเสีย แล้วให้ตั้งค่ายลงที่พเนียด แลวัดพระเจดีย์แดง วัดสามพิหาร วัดมรฎป วัดกระโจม วัดนางชี วัดนางปลื้ม วัดศรีโพธิ์ ให้ปลูกหอรบเอาปืนใหญ่น้อยขึ้นยิงเข้ามาในกรุงทุก ๆ ค่าย
๏ฝ่ายข้างในกรุงฯ ก็เกิดโจรผู้ร้ายปล้นกันเนือง ๆ มิได้ขาด แลคนที่อดอาหารซูบผอมป่วยไข้ล้มตายนั้นก็มาก ที่หนีออกไปหาพม่านั้นก็เนือง ๆ
๏ฝ่ายข้าราชการเจ้าน่าที่ทั้งปวงจึงให้ชักเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนเชิงเทินยิงค่ายพม่าวัดการ้อง วัดนางปลื้ม แลให้ลากเอาปืนปราบหงษาออกไปตั้งที่ท่าทรายยิงค่ายวัดศรีโพธิ์ ยิงกระสุนแรกประจุดินน้อยต่ำไป ไปถูกตลิ่ง ครั้นประจุมากขึ้น กระสุนออกสูงข้ามเกินวัดศรีโพธิ์ไป แลพม่าก่อป้อมสูงขึ้นที่ค่ายวัดนางปลื้ม เอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งยิงเข้ามาในกรุงถูกผู้คนเปนอันมาก
๏ขณะนั้น เสนาบดีปฤกษากันกราบทูลพระกรุณาว่า จะขอให้ออกไปเจรจาความเมืองกับพม่า ก็โปรดให้กระทำตามคำปฤกษา จึงแต่งให้พระยากระลาโหมกับพวกลูกขุนออกไปเจรจาความเมืองกับเนเมียวมหาเสนาบดีแม่ทัพณค่ายพเนียดว่า กรุงเทพมหานครศรีอยุทธยากับกรุงรัตนบุรอังวะก็ร่วมสโมสรสามัคคีรสเปนพระราชสัมพันธมิตรไมตรีสุวรรณปัถพีทองแผ่นเดียวกันมาแต่ก่อน มิได้เคยเปนปัจนึกแก่กัน บัดนี้ มีมูลเหตุแห่งเภทนาธิกรณ์เกิดร้าวราวเปนประการใด พระเจ้าอังวะผู้เปนอิศราธิปไตยในภุกามประเทศทิศอัสดงจึงส่งพยุหโยธาทัพมากระทำวิหิงสาการแก่พระนครศรีอยุทธยาฝ่ายปราจีนทิศประเทศเขตสยามให้ได้ความร้อนอกสมณพราหมณาประชาราษฎรทั้งปวงดังนี้ ให้ล่ามแจ้งความแก่เนเมียวมหาเสนาบดี ๆ จึงตอบความตามโวหารพาลอาสัจอธรรมกล่าวว่า แต่ก่อน พระนครศรีอยุทธยาเคยถวายสุวรรณหิรัญบุบผาบรรณาการแก่กรุงหงษาวดีมาทาบเท่าถึงกรุงอังวะได้เปนใหญ่ บัดนี้ กรุงไทยตั้งแขงเมืองมิได้ไปอ่อนน้อมยอมออกแก่กรุงอังวะ ละขนบธรรมเนียมบูรพประเพณีเสีย พระเจ้ากรุงอังวะให้ยกกองทัพมาตีเอาเปนเมืองออกเหมือนอย่างแต่ก่อน ล่ามบอกความตามถ้อยคำพม่าแก่เสนาบดีไทย ๆ ก็จดหมายเอาคำพม่ากลับเข้ามากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงดำรัศว่า อ้ายพม่าเจรจาโกหกเอาเปล่า ๆ ความหาจริงไม่
๏ฝ่ายเนเมียวแม่ทัพจึงให้ฉับกุงโบคุมพลห้าร้อยยกมาตีค่ายทัพไทยซึ่งตั้งอยู่ณวัดไชยวัฒนาราม รบกันอยู่ถึงแปดวันเก้าวันก็หักเอาค่ายได้ ทัพไทยแตกพ่ายหนีกลับเข้ากรุงฯ แล้วให้อุตมสิงหจอจัวเจ้าเมืองปรอนคุมพลห้าร้อยยกมาตีค่ายทัพจีนซึ่งตั้งอยู่ณคลองสวนพลู รบกันอยู่ได้กึ่งเดือนก็หักเอาค่ายได้ แลค่ายไทยซึ่งออกมาตั้งรบอยู่นอกพระนครนั้นก็เสียแก่พม่าในเดือนสาม ปีจอ อัฐศกนั้นทั้งสิ้น แม่ทัพจึงให้นายทัพนายกองค่ายวัดสามพิหาร วัดพระเจดีย์แดง วัดมรฎป เกณฑ์พลทหารยกเข้ามาทำสพานเรือกข้ามแม่น้ำที่หัวรอริมป้อมมหาไชย เอากระดานไม้ตาลตั้งเปนค่ายวิหลั่นบังสพานทั้งสองข้างกันปืนชาวพระนคร แล้วยกพลข้ามสพานเรือกมาฟากข้างกำแพงเมือง ให้ตั้งค่ายริมศาลาดินนอกกำแพง แล้วให้ขุดอุโมงค์รุ้งไปตามยาวใต้รากกำแพง ให้ขนเอาฟืนมาใส่ใต้ราก แล้วให้เกณฑ์พลทหารสี่กอง ๆ ละห้าร้อยให้ทำบันไดเปนอันมากสำหรับจะพาดกำแพงปีนปล้นเอาเมืองทั้งสี่ทิศ ตระเตรียมการทั้งปวงไว้ให้สรรพ กำหนดวันจะเข้าปล้นเอาเมืองวันใด จะให้สัญญาอาณัติด้วยเสียงปืนใหญ่เปนสำคัญ แล้วให้เอาบันไดพาดกำแพงขึ้นปล้นเอาเมืองให้พร้อมกันทุกด้านทุกกอง
๏ลุศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญ นพศพ ถึงณวัด ๓ ๙ฯ ๕ ค่ำ วันเนาสงกรานต์วันกลาง พม่าจุดเพลิงเผาฟืนเชื้อใต้รากกำแพงหัวรอริมป้อมมหาไชย แลพม่าค่ายวัดการ้อง วัดนางปลื้ม แลค่ายอื่น ๆ ทุกค่าย จุดปืนใหญ่ปืนป้อมแลหอรบยิงระดมเข้ามาในกรุงพร้อมกันตั้งแต่เพลาบ่ายสามโมงเศษจนพลบค่ำ พอกำแพงที่จุดเชื้อฟืนเผารากนั้นทรุดลงน่อยหนึ่ง ถึงเพลาสองทุ่ม จึงให้จุดปืนสัญญาขึ้น พลพม่าทุกด้านทุกกองซึ่งเตรียมไว้ก็เอาบันไดพาดที่กำแพงทรุดแลที่อื่น ๆ รอบพระนครพร้อมกัน ก็ปีนเข้ากรุงได้ในเพลานั้น แลจุดเพลิงขึ้นทุกตำบลเผาเย่าเรือนอาวาสแลพระราชวังทั้งปราสาทราชมณเฑียร แสงเพลิงสว่างดังกลางวัน แล้วเที่ยวไล่จับผู้คนค้นริบเอาทรัพย์เงินทองสิ่งของทั้งปวงต่าง ๆ แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นหนีออกจากเมืองลงเรือน้อยไปกับมหาดเล็กสองคน ไปเร้นซ่อนอยู่ในสุมทุมไม้ใกล้บ้านจิกข้างวัดสังควาด มหาดเล็กนั้นก็ทิ้งเสียหนีไปอื่น อดอาหารอยู่แต่พระองค์เดียว พม่าหาจับได้ไม่ จับได้แต่พระราชวงศานุวงษ์ทั้งปวงไปไว้ทุก ๆ ค่าย
๏ฝ่ายเนเมียวแม่ทัพใหญ่จึงใช้ทหารไปประกาศแก่นายทัพทั้งปวงว่า ตัวเรากระทำการตีกรุงศรีอยุทธยาได้สำเร็จเพราะปัญญาแลฝีมือของเรา ซึ่งนายทัพทั้งหลายจะมาคอยชุบมือเอาส่วน กวาดเอาพระราชวงศานุวงษ์กระษัตริย์ไทยไปไว้ทุกค่ายทุกทัพเปนบำเหน็จมือของตัวนั้นไม่ชอบ ให้เร่งส่งมาให้เราทั้งสิ้น ถ้ามิส่งมา เราจะยกไปตีเอาขัติยราชวงษ์ทั้งปวงมาให้จงได้ นายทัพทั้งปวงก็กลัวอำนาจเนเมียวทั้งสิ้นด้วยกัน ต่าง ๆ ก็ส่งพระราชวงศานุวงษ์ซึ่งจับมาไว้ณค่ายนั้นให้ไปแก่เนเมียวแม่ทัพณค่ายโพธิ์สามต้นทั้งสิ้น มิได้มีผู้ใดขัดแขงเอาไว้ แลเนเมียวกับนายทัพนายกองทั้งปวงก็ให้ขนเอาปืนใหญ่น้อยในพระนคร ได้ปืนใหญ่น้อยพันสองร้อยเศษ ปืนนกสับเปนหลายหมื่น เอาลงบรรทุกเรือกับทั้งขุนนางแลครอบครัวราษฎรชายหญิงประมาณสามหมื่นเศษ ที่หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดงแลไปณหัวเมืองต่าง ๆ ก็เปนอันมาก แลได้พระราชทรัพย์ในท้องพระคลังแลสิ่งของทองเงินต่าง ๆ ก็มาก ที่ยักย้ายทรัพย์สิ่งสินลงเร้นซ่อนฝังไว้ พม่าก็เฆี่ยนตีแลย่างเร่งเอาทรัพย์ ให้นำขุดเอาสิ่งของเงินทองได้บ้างไม่ได้บ้าง แลฆ่าฟันตายเสียก็มากกว่ามาก แล้วพม่าเอาเพลิงสุมหลอมเอาทองคำซึ่งแผ่หุ้มองค์พระพุทธรูปยืนใหญ่ในพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชดารามนั้น ขนเอาเนื้อทองคำไปทั้งสิ้น แต่จัดแจงเก็บรวบรวมเอาทรัพย์มาไว้ทุกทัพทุกค่ายช้าอยู่ถึงเก้าวันสิบวัน เนเมียวจึงตั้งพระนายกอง ภาษาพม่าเรียกว่า สุกี้ นั้นให้เปนผู้รักษากรุงเทพ ให้รวบรวมผู้คนซึ่งตกค้างอยู่บ้างนั้นตั้งอยู่ณค่ายโพธิ์สามต้น ให้มองญาพม่าคนหนึ่งอยู่เปนปลัดเมือง แล้วมอบเรือบรรทุกปืนใหญ่น้อยทั้งปวงให้แก่ปกันหวุ่นแม่ทัพทางใต้ ให้ยกทัพบกทัพเรือกลับไปทางเมืองกาญจนบุรีโดยทางมา แล้วเนเมียวให้กองทัพทางเหนือทั้งปวงคุมเอาสมเด็จพระอนุชาธิราชซึ่งทรงผนวชกับพระราชวงศานุวงษ์ทั้งนั้นไปทางเหนือ ยังเหลืออยู่บ้างแต่ที่ประชวรจึงมอบไว้แก่พระนายกอง ที่เล็ดลอดหนีไปได้นั้นก็มีบ้าง ซึ่งครอบครัวขุนนางแลราษฎรทั้งปวงนั้นก็แบ่งปันกันกวาดเอาไปทั้งสองทัพทางเหนือทางใต้ แลตัวเนเมียวนั้นก็ยกทัพบกทัพเรือกลับไปทางเมืองอุไทยธานีพร้อมกัน ขึ้นบกแล้วยกไปยังเมืองเมาะตมะ
๏ฝ่ายปกันหวุ่นแม่ทัพทางใต้ก็ยกทัพบกทัพเรือกับทั้งเรือบรรทุกปืนแลครอบครัวไทยแบ่งไปทางบกทางเรือบ้าง แลตัวปกันหวุ่นนั้นไปทางเรือ ครั้นลงมาถึงตลาดแก้ว เห็นว่า ปืนพระพิรุณนั้นใหญ่นัก เหลือกำลังที่จะเอาไปเมืองอังวะ จึงให้เข็นชักขึ้นจากเรือเอาขึ้นที่วัดเขมา ให้เอาดินดำประจุเต็มกระบอก จุดเพลิงระเบิดเสีย แล้วจึงตั้งนายทองอินคนหนึ่งเปนไทยเข้าเกลี้ยกล่อม ให้เรียกว่า เจ้าทองอิน เปนเจ้าเมืองธนบุรี ให้รวบรวมราษฎรซึ่งเหลือตกตั้งค้างอยู่นั้นอยู่รักษาเมืองธนตำบลบางกอก แล้วก็ยกทัพเรือออกไปทางเมืองกาญจนบุรี บรรจบกับกองทัพซึ่งยกไปทางเมืองสุพรรณบุรีนั้น แล้วก็ขึ้นบก เกณฑ์พลทหารให้ลากปืนใหญ่ขึ้นจากเรือที่ท่าดินแดง แล้วลากเข็นไปทางบก
๏อนึ่ง ปกันหวุ่นเอาเรือพระที่นั่งกิ่งไปลำหนึ่ง เอาขึ้นตะเฆ่ชักลากไปกับทั้งปืนใหญ่ด้วยกันจนตกถึงลำน้ำเมืองสมิ เอาปืนลงบรรทุกเรือใหญ่ออกปากน้ำเมืองเมาะตมะไปเข้าปากน้ำเมืองเสี่ยง ส่งขึ้นไปเมืองอังวะถวายกับทั้งเรือกิ่งแลครอบครัวไทยซึ่งกวาดต้อนไปนั้น พระเจ้าอังวะจึงปูนบำเหน็จตั้งให้ปกันหวุ่นอยู่ครองเมืองเมาะตมะ
๏ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดียกกองทัพแลครอบครัวไทยกับทั้งพระราชวงศานุวงษ์กระษัตริย์เมืองไทยซึ่งกวาดต้อนไปนั้น ครั้นถึงเมืองอังวะ ก็เข้าเฝ้าพระเจ้ามังระ กราบทูลถวายผู้คนชาวกรุงศรีอยุทธยาแลพระราชวงศานุวงษ์กับทรัพย์สิ่งของทองเงินเปนอันมาก พระเจ้ามังระจึงปูนบำเหน็จตั้งเนเมียวเปนโยทธยาหวุ่นให้ควบคุมพวกไทยทั้งสิ้น แลขุนหลวงวัดประดู่นั้นพระเจ้าอังวะให้สึกออกเปนคฤหัสถ์ แต่บรรดาเชื้อพระวงษ์กระษัตริย์เมืองไทยนั้นให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ณเมืองจักไก่ฝ่ายฟากแม่น้ำข้างโน้นตรงเมืองอังวะข้าม แล้วตั้งแต่งขุนนางพม่าลงมาอยู่รักษาเมืองมฤตรวบรวมชาวเม็งทั้งปวงให้อยู่ตามภูมิลำเนาเหมือนแต่ก่อน แต่เมืองตนาวศรีนั้นร้างอยู่ พม่าหามาตั้งไม่ ตั้งไว้แต่ชาวด่านอยู่รักษา แลเมืองทวาย เมืองมฤต ก็ไปขึ้นแก่เมืองอังวะเปนเขตแดนข้างพม่าตั้งแต่นั้นมา แลพม่ายกมาตีกรุงในสองปีนั้น พม่าเสียรี้พลประมาณสามพันสี่พันทั้งป่วยไข้ตาย ชาวเมืองไทยเสียคนประมาณสองแสนเศษทั้งตายด้วยอาวุธแลป่วยไข้อดโซตาย