ข้ามไปเนื้อหา

พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 2/บท 9

จาก วิกิซอร์ซ
แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ (กรมขุนพรพินิต)

ในขณะนั้น กรมหมื่นเทพพิพิธจึงเชิญเอาพระแสงดาบ พระแสงกระบี่ พระแสงง้าว ที่ข้างที่นั้น ส่งให้ขุนพิพิธรักษาชาวที่เชิญตามเสด็จกรมพระราชวังไปณพระตำหนักสวนกะต่าย แลกรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี เสด็จเข้าไปข้างใน เชิญเอาพระแสงบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์เอาไปตำหนักศาลาลวดทั้งสิ้น แลกรมหมื่นเทพพิพิธ กรมหมื่นจิตรสุนทร จึงตรัศสั่งเจ้าพระยาอไภยราชา พระยาพระคลัง พระยารัตนาธิเบศ ให้ปิดประตูพระราชวังตามธรรมเนียม พอเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีเสด็จมาตรัศเรียกกรมหมื่นเทพพิพิธออกไปสั่งให้เชิญหีบพระแสงในโรงต้นเอาไปตำหนักสวนกะต่ายทั้งสิ้น กรมหมื่นจิตรสุนทรเห็นดังนั้นก็ตกพระไทย เสด็จกลับไปตำหนักศาลาลวดซึ่งเปนที่อยู่.

ครั้นเพลาจะใกล้พลบค่ำ กรมพระราชวังบวรฯ มีพระบัณฑูรให้หาท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งประชุมพร้อมกันอยู่ณศาลาลูกขุนเข้ามาเฝ้าณพระตำหนักสวนกะต่าย จะปฤกษาราชการแผ่นดิน.

ฝ่ายขุนอนุรักษ์ภูธรข้าหลวงในกรมหมื่นสุนทรเทพพาเอาคนณตำหนักสระแก้วประมาณร้อยเศษปีนข้ามกำแพงวัดศรีสรรเพชญ์แลกำแพงโรงรถเข้ามาบรรจบในกรมหมื่นจิตรสุนทรณตำหนักศาลาลวด แลขุนพิพิธภักดีข้าหลวงในกรมหมื่นจิตรสุนทรพาคนเข้าไปกระทุ้งทำลายบานประตูโรงแสงนอกเข้าไปเอาปืนนกสับแลสาตราวุธมาถือเปนอันมาก.

ในเพลาเย็นวันนั้น พระราชาคณะห้ารูป คือ พระธรรมโคดม วัดธรรมิกราช หนึ่ง พระธรรมเจดีย์ วัดสวนหลวงศพสวรรค์ หนึ่ง พระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ หนึ่ง พระเทพมุนี วัดกุฎีดาว หนึ่ง พระเทพกระวี วัดพระรามาวาศ หนึ่ง แต่พระเทพมุนีนั้นมีวรรษามากกว่าทั้งนั้น เข้ามาพร้อมกันอยู่ณทิมสงฆ์ ครั้นเพลาประมาณทุ่มเศษ จึงมีพระบัณฑูรให้มานิมนต์เข้าไปณตำหนักสวนกะต่าย ตรัศอาราธนาพระราชาคณะทั้งห้ารูปมีพระเทพมุนีเปนประธานให้ไปว่ากล่าวเล้าโลมเจ้าสามกรมให้มาศมัครสมานสโมสรสามัคคีรสด้วยกันตามพระราชโอวาทตรัศสั่งไว้ แลพระราชาคณะทั้งห้าไปเจรจาถึงสองกลับ จนเพลาดึกสามยามเศษจะใกล้รุ่ง เจ้าสามกรมจึงมาเฝ้ากระทำสัจถวายทั้งสามพระองค์.

รุ่งขึ้น วันแรมหกค่ำ เพลาเช้า จึงเสด็จมาพร้อมกันณพระที่นั่งทรงปืน สรงพระบรมศพ แล้วอัญเชิญเข้าพระโกษฐนำขึ้นประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์.

ครั้นถึงณวันแรมสิบเอ็จค่ำ เพลาบ่าย กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี เสด็จมาเฝ้ากรมพระราชวังบวรแลกรมขุนอนุรักษ์มนตรีณพระตำหนักตึก ขณะนั้น มีพระราชบัณฑูรตรัศปฤกษาเปนความลับกับกรมขุนอนุรักษ์มนตรีสั่งให้วางคนไว้พร้อม แลเจ้าสามกรมมิทันรู้พระองค์ จึงให้กุมเอากรมหมื่นสุนทรเทพไปจำไว้ณหอพระมณเฑียรธรรม ให้กุมเอากรมหมื่นเสพภักดีไปจำไว้ณตึกพระคลังศุภรัต ให้กุมเอากรมหมื่นจิตรสุนทรไปจำไว้ณตึกพระคลังวิเศษ แล้วตรัศสั่งเจ้าอาทิตยว่า เขากระทำแก่พระบิดาเจ้าฉันใด จงกระทำตอบแทนฉันนั้น.

ครั้นถึงณวันแรมสิบสามค่ำ จึงมีพระบัณฑูรสั่งให้ลงพระราชอาชญาสำเร็จโทษเจ้าสามกรมณพระคลังวิเศษแห่งเดียวกัน แลกรมหมื่นสุนทรเทพนั้นพระไทยอ่อน ร้องไห้วิงวอนผัดผ่อนเพลาไป แต่กรมหมื่นเสพภักดีนั้นน้ำพระไทยองอาจ มิได้ย่อท้อต่อความตาย ตรัศให้สติเจ้าพี่ว่า จะกลัวตายไย ธรรมดาเกิดมาในมหาประยูรเสวตรฉัตรดังนี้ ใครจะได้ตายดีสักกี่คน แลกรมหมื่นจิตรสุนทรนั้นนิ่งอยู่มิได้ตรัศประการใด เจ้าอาทิตยจึงสั่งเจ้าพนักงานให้ลงท่อนจันทน์สำเร็จโทษเจ้าสามกรมสิ้นพระชนม์แล้ว ให้เอาพระศพทั้งสามไปฝังณวัดโคกพระยาตามโบราณราชประเพณี.

ครั้นถึงณวันขึ้นหกค่ำ เดือนเจ็ด ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายจึงให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเศกณพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชมไหสุริยสมบัติสืบสันตติวงษ์ดำรงพิภพกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา.

ฝ่ายพระเชษฐาธิราชกรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นพระไทยปราถนาราชสมบัติ มิได้เสด็จไปอยู่ที่อื่น เสด็จขึ้นอยู่บนพระที่นั่งสุริยามรินทร สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมิรู้ที่จะทำประการใด ด้วยร่วมพระอุทรเดียวกัน จึงทรงพระราชดำริห์จะยอมถวายราชสมบัติ แลพระองค์เสด็จดำรงราชอาณาจักรอยู่ได้สิบวัน.

ครั้นถึงณวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนเจ็ด จึงเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช กราบทูลถวายราชสมบัติ แล้วก็ถวายบังคมลาจะออกทรงผนวช.

ถึงณวันเดือนแปด ข้างขึ้น ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งศรีสามรรถไชยเปนขบวนพยุหบาตราแห่ออกไปทรงผนวชณวัดเดิม แล้วเสด็จมาอยู่ณวัดประดู่.