ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ/ภาคที่ 26/เรื่อง

จาก วิกิซอร์ซ
สารบาญเรื่อง
พิธีราชาภิเษก
หน้า
 ตอนเตรียมการ
"
 ลักษณการราชาภิเศก
"
พิธีเถลิงราชบัลลังก์
"
 ตอนเตรียมการ
"
 เสด็จออกมหาสมาคม
"
เลียบพระนคร
"
ฐานาเทวี
"
ราชกุมารศักดิ์
"
๑๐
พระราชานุกิจ
"
๑๓
ขนบธรรมเนียมในราชสำนัก
"
๑๔
ราชบัลลังก์
"
๒๐
พิธี ๑๒ เดือน
"
๒๒
 พิธีเดือน ๕ สงกรานต์
หน้า
๒๒
 พิธีเดือน ๖ แต่งน้ำเสก
"
๒๓
 พิธีเดือน ๗ ขอฝน สอบพระปริตัยิธรรม ขออภัย และแรกนา
"
๒๔
 พิธีเดือน ๘ บวชนาคหลวง เข้าวัสสา
"
๒๗
 พิธีเดือน ๙ สลากภัตต์
"
๒๗
 พิธีเดือน ๑๐ แข่งเรือ
"
๒๘
 พิธีเดือน ๑๑ ออกวัสสา
"
๒๘
 พิธีเดือน ๑๒ ทอดกฐิน เผารูปปราสาทจำลอง
"
๒๙
 พิธีเดือนอ้าย ถวายข้าวใหม่
"
๓๐
 พิธีเดือนยี่ เสด็จออกสนาม
"
๓๑
 พิธีเดือน ๓ ทำข้าวยาคู
"
๓๒
 พิธีเดือน ๔ บวงสรวงเทพารักษ์ และก่อพระทราย
"
๓๒
พิธีปลงพระบรมศพ
"
๓๒




๑. มีท้องตราให้หาเจ้าประเทศราชไทยใหญ่กับทั้งเจ้าเมืองทั้งปวงเข้าไปในงานทั้งหมด

๒. ให้เปลี่ยนหนังหุ้มกลอง (อินทเภรี) ทุกใบ เปลี่ยนผ้าขาวหุ้มเศวตฉัตร ทำมงกุฎ[1] กับทั้งเครื่องต้นเครื่องทรงใหม่

๓. ให้ซ่อมแซมป้อมปราการที่ชำรุดรอบพระนคร

๔. ให้ตั้งราชวัฏิ ผูกต้นกล้วยต้นอ้อยและปักธงรายตามถนนทั่วพระนครในวันราชาภิเษก

๕. ให้ปลูกโรงพิธีราชาภิเษกณที่แห่งหนึ่ง (ในอุปจารพระราชวัง) มี (มณฑป) ที่สรง เรียกว่า สัคย-นัน Thagya-nan (ของไทยเรียกว่า มณฑปพระกระยาสนาน) ต่อที่สรงไปปลูกพลับพลาที่ประทับและที่ประชุมเจ้านายและขุนนางทั้งปวง

๖. ให้ตักน้ำบริสุทธิ์จากที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ แห่มารวมไว้ณที่สรง

๗. จัดปรอททอง Golden Quicksilver กับพลอยนพรัตน์และเครื่องรางต่าง ๆ รวมลงหีบใบ ๑ ตั้งไว้ที่โรงพิธี

๘. เตรียมนกต่าง ๆ ไว้ที่พลับพลา สำหรับปล่อยเมื่อเวลาราชาภิเษก

๙. วางทหารแต่งเต็มยศ มีศัสตราวุธประจำตัวรายสองข้างถนนตลอดทางเสด็จออกจากพระราชมนเทียรไปจนถึงโรงพิธี

๑๐. หมายสั่งเจ้านายชายหญิง เสนาบดี เจ้าประเทศราช เจ้าเมือง กับทั้งภรรยา ให้แต่งเต็มยศเข้าไปคอยตามเสด็จในกระบวนแห่จากพระราชมนเทียรไปยังโรงพิธี

๑. ถึงวันกำหนด พอเวลาได้ฤกษ์ พระเจ้าแผ่นดินขึ้นทรงยานมาศ มีหญิงพรหมจารีนั่งประณมมือไปบนนั้น ๔ คน[2] พอพระราชยานถึงต้นโมโย-บิน Moyo-bin (เห็นจะหมายว่า ต้นทางที่พอจะออกจากเขตต์พระราชมนเทียร) เจ้าพนักงานลั่นกลองอินทเภรี ๒ ใบ มีชื่อเรียกว่า สิโดสน Sidosôn เป็นสัญญา เจ้านายและข้าราชการที่เตรียมตามเสด็จก็ไปเข้ากระบวรตามตำแหน่งของตน

๒. เมื่อแห่ไปถึงโรงพิธีแล้ว เสด็จสู่ที่สรง สระพระเกศา ผลัดเครื่องทรงหลายครั้ง (เข้าใจว่าผลัดเครื่องเต็มยศ[3] ที่ทรงเมื่อแห่ไป เปลี่ยนเป็นเครื่องสรงครั้งหนึ่ง สรงแล้วทรงเครื่องต้น[4] อีกครั้งหนึ่ง)

๓. เมื่อเสร็จพิธีสรงแล้ว เสด็จประทับที่ราชอาสน์ พราหมณ์ Pônna ๘ คน ถวายน้ำมนตร์กับดอกไม้อย่างหนึ่งซึ่งถือว่า เป็นของวิเศษ เรียกว่า ปะเยียตปัน Payeitpan

(พิเคราะห์ดู น่าจะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์กับเครื่องราชูปโภคสิ่งอื่นสำหรับพระยศด้วยตรงนี้ แต่ในหนังสือไม่กล่าวถึง เบญจราชกกุธภัณฑ์พะม่านั้น พบพรรณนาในพงศาวดารเรื่องหนึ่งว่า

White Umbrella เศวตฉัตร (ชั้นเดียว)
Crown มกุฎ
Yaktail Fan พัด (ที่แท้แส้) หางจามรี
Sword of State พระขรรค์
Golden Sandal ฉลองพระบาททอง)

๔. จบพระหัตถ์ทรงอุทิศเครื่องสักการบูชาพระมหาเจดียสถานที่สำคัญ นาขั่นดอ Nahkandaw เจ้าพนักงานผู้ใหญ่ในหน้าที่ขานชื่อมหาเจดียสถาน ให้พนักงานเชิญไปยังที่นั้น ๆ (คงให้ปล่อยนกตรงนี้ แต่ในตำราไม่กล่าวถึง)

๕. เสด็จทรงยานมาศแห่กลับ เมื่อเสด็จถึงเขตต์พระราชมนเทียร เจ้าพนักงานตีกลองอินทเภรี ๒ ใบ เรียกว่า วุนสิโตนสน Wunsitonsôn เป็นสัญญา

๖. เมื่อกลับถึงพระราชมนเทียรแล้ว ทรงบำเพ็ญทานแก่สมณพราหมณ์และราษฎร และให้ประกาศอภัยทาน คือ

 ก) ปล่อยนักโทษที่ต้องเวรจำ

 ข) ห้ามมิให้ฆ่าสัตว์ ๗ วัน

 ค) ปิดศาลระงับถ้อยความ ๗ วัน

 ฆ) ห้ามมิให้วิวาทข่มเหงหรือกักขังกัน ๗ วัน

ประกาศนี้ให้เที่ยวตีฆ้องกลองร้องป่าวให้ชาวราษฎรทราบทั่วพระนคร

การตั้งพระอัครมเหษีและพระมเหษีก็เห็นจะมีพิธี แต่ทำข้างฝ่ายใน จึงไม่กล่าวถึง อนึ่ง สังเกตในระเบียบการราชาภิเษก มีกล่าวถึงสมณะ (พระสงฆ์) แห่งเดียวแต่ว่า ถวายไทยธรรมที่ในพระราชมนเทียรเมื่อเสด็จกลับจากโรงพิธีราชาภิเษก จะนิมนต์พระสงฆ์เข้าไปสวดมนตร์งานเฉลิมพระราชมนเทียรก่อนวันราชาภิเษกดอกกระมัง แต่สันนิษฐานยาก ด้วยไม่ทราบระเบียบพิธีสงฆ์เมืองพะม่าว่า จะเป็นอย่างไร


พิธีนี้เรียกในภาษาอังกฤษว่า Formal Ascending of the Throne หาฤกษ์ทำพิธีวันหนึ่งต่างหากเมื่อเสร็จพิธีราชาภิเษกแล้ว

๑. ทำพิธีนี้ที่ในเมฺย-นัน Mye-nan มหาปราสาท ตั้งเศวตรฉัตร[5] สองข้างพระที่นั่งสีหาสนบัลลังก์ Thihathana Palin ข้างละ ๔ คัน มีข้าราชการประจำคอยไขพระทวารทอง (หลังพระที่นั่งสีหาสน์) ทางเสด็จออกข้างละคน และมีพระราชวงศ์กับข้าราชการผู้ใหญ่อยู่ริมฐานพระที่นั่งสีหาสน์ข้างละคนเพื่อเป็นผู้ประกาศพระนามพระเจ้าแผ่นดินและพระนามพระอัครมเหษี

๒. เอากลองสำหรับเมือง State Drum ๒ ใบมาตั้งที่หน้าท้องพระโรง สำหรับตีเป็นสัญญาเวลาเสด็จออกและเสด็จขึ้น

๓. สิ่งของต่าง ๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีจะส่งไปถวายสักการบูชามหาเจดียสถานต่าง ๆ ก็เอามาจัดเรียบเรียงไว้ในท้องพระโรง

๔. จัดที่สำหรับเจ้านาย และเสนาบดี เจ้าประเทศราช และข้าราชการทั้งปวง กับทั้งภรรยา เฝ้าตามตำแหน่ง บรรดาผู้ที่เข้าเฝ้าต้องแต่งเต็มยศและมีของถวาย (น่าจะเป็นดอกไม้ธูปเทียน) เป็นเครื่องเคารพทุกคน

๕. ข้างหน้าท้องพระโรง วางทหาร ๒ แถวทั้งภายในและภายนอกพระราชวัง ให้ปิดประตูชื่อ ตะคา-นี Taga-ni และ โยดอ-ยุ Yodaw-yu (พิเคราะห์ความต่อไปในที่อื่นส่อว่า ประตูที่ว่านี้อยู่ใกล้ท้องพระโรง) ทั้ง ๒ ประตู และจัดวางเครื่องราชบรรณาการของเจ้าประเทศราช กับทั้งของข้าราชการ (หัวเมือง) ไว้ข้างนอกตรงประตูนั้น

๑. ลักษณเสด็จออกมหาสมาคมมีพรรณนาไว้ในที่อื่นว่า เจ้านายและข้าราชการเข้าไปนั่งประจำที่ก่อนเสด็จออก พระมหาอุปราชต้องเสด็จเข้าไปทีหลังคนอื่น พอพระมหาอุปราชประทับที่แล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จออก

๒. พอได้เวลา พระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีเสด็จมาจากพระราชมนเทียร มเหษีองค์อื่นกับทั้งเจ้านายผู้หญิงและนักสนมตามเสด็จเป็นกระบวนมานั่งตามตำแหน่งของตนในห้องข้างหลังที่เสด็จออก เจ้าพนักงานไขบานพระทวารทอง พระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีเสด็จออกประทับเหนือพระที่นั่งสีหาสนบัลลังก์ ขณะนั้น ตีกลองสัญญา ๔ ใบ เจ้านายและข้าราชการทั้งปวงถวายบังคมพร้อมกัน

๓. เสด็จออกแล้ว จึงเปิดประตูตะคา-นี และประตูโยดอ-ยุ ขนของเครื่องราชบรรณาการของเจ้าประเทศราชและข้าราชการหัวเมืองเข้าไปตั้งถวายในท้องพระโรง

๔. เจ้านายกับขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพนักงานอ่านประกาศพระนาม ก็เดินเข้าไปยืนตรงหน้าพระที่นั่ง แล้วอ่านพระนามพระเจ้าแผ่นดินกับพระนามพระอัครมเหษี[6] (ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัตร)

ยกตัวอย่างพระนามพระเจ้ามินดงว่า สิริปวรวิชยนันทยสบัณฑิต มหาธรรมราชาธิราช

พระนามพระอัครมเหษีพระเจ้ามินดงว่า สิริปวรมหาราเชนทาธิบดีรตนเทวี

พระนามพระเจ้าสีป่อนั้นว่า สิริปวรวิชยนันทยสดิลกา Yathitilawka ธิบดีบัณฑิต มหาธรรมราชาธิราช

พระเจ้าสีป่อมีแต่พระอัครมเหษีองค์เดียว พระนามราชินีสุปยาลัตอัครมเหษีว่า สิริปวรดิลกมงคล มหารตนเทวี ดั่งนี้

เมื่อประกาศแล้วผู้อ่านม้วนคำจารึก (พระสุพรรณบัตร) ถวายต่อพระหัตถ์ ทรงรับใส่ไว้ในหีบทอง ส่วนตัวผู้อ่านกราบถวายบังคมแล้ว ถอยออกไปอยู่ตามตำแหน่งเฝ้า

๕. นาขั่นดออ่านบัญชีของทรงพระราชูทิศถวายมหาเจดียสถาน และสันดอขันอ่านบัญชีของบรรณาการเจ้าประเทศราชและเจ้าเมืองถวาย แล้วพนักงานขนของนั้นไป

๖. ต่อนั้นลั่นฆ้องเงินเรียกว่า มิงคล-งุยมอง ๕ ครั้ง และตีกลอง ๔ ใบเป็นสัญญา (ข้าเฝ้าถวายบังคม) แล้วเสด็จขึ้น เป็นเสร็จการพิธีเถลิงราชบัลลังก์เท่านี้


เมื่อเสร็จงานราชาภิเษก มีพิธีเลียบพระนคร จะเลียบพระนครทั้งทางบกและทางน้ำเหมือนอย่างไทยหรืออย่างไรไม่ทราบแน่ พบในหนังสือเรื่องหนึ่ง กล่าวแต่ถึงการเลียบพระนครทางน้ำว่า ให้แต่งเรือพระที่นั่งการเวกเป็นเรือ ๒ ลำขนานกัน หัวเรือเป็นรูปสัตว์[7] ท้ายเรือเป็นอย่างหางแมลงป่อง เหมือนเรือแม่ปะทั้ง ๒ ลำ ตรงกลางลำเรือขนานนั้นทำที่ประทับเป็นปราสาท ข้างหน้ามีท้องพระโรงโถง ข้างหลังมีพลับพลา เรือพระที่นั่งการเวกนั้นพายไปเองไม่ได้ เห็นจะให้เรือดั้งคู่ชักจูง เวลาแห่เสด็จเลียบพระนครนั้น มีทหารรายริมฝั่งทั้งสองข้างคลองคูรอบพระนคร และมีหีบสำหรับรับฎีกาตั้งไว้ ๔ มุมเมือง ใครมีทุกข์ร้อนถวายฎีกาได้ในเวลาเสด็จเลียบพระนครนั้น


๑. ตามราชประเพณี พระเจ้าแผ่นดินพะม่ายอมมีมเหษี (ภาษาพะม่าเรียก มิบุยา[8] Mibuya เรียกในภาษาอังกฤษว่า Queens) ๘ องค์ มียศหลั่นกันเป็น ๓ ชั้น คือ อัครมเหษีองค์ ๑ มเหษี ๓ องค์ มเหษีรอง ๔ องค์

๒. อัครมเหษีนั้น เรียกในภาษาพะม่าว่า นัมมะดอ มิบุยา ขวง-คฺยี Nammadaw Mibuya Hkuang-gyi องค์เดียวที่กั้นเศวตฉัตรและประทับร่วมราชอาสน์กับพระเจ้าแผ่นดินได้ในเวลาออกงาน

๓. มเหษี ๓ องค์นั้น องค์หนึ่งเรียกว่า มฺยอก นันดอ มิบุยา Myauk Nandaw Mibuyaแปลว่า มเหษีตำหนักเหนือ องค์หนึ่งเรียกว่า อะเล นันดอ มิบุยา Alé Nandaw Mibuya มเหษีตำหนักกลาง อีกองค์หนึ่งเรียกว่า อะนอก นันดอ มิบุยา Anauk Nandaw Mibuya มเหษีตำหนักตะวันตก กั้นกลดปักทองทั้ง ๓ องค์

๔. มเหษีรอง ๔ องค์นั้น องค์หนึ่งเรียกว่า มฺยอก สองดอ มิบุยา Myauk Saungdaw Mibuya แปลว่า มเหษี Apartment ฝ่ายมนเทียรเหนือ องค์หนึ่งเรียกว่า ตอง สองดอ มิบุยา Taung Saungdaw Mibuya มเหษีฝ่ายมนเทียรใต้ องค์หนึ่งเรียกว่า มฺยอก-ชฺเว เย สอง มิบุยา Myuak-Shwé Yé Saung Mibuya แปลว่า มเหษีห้องทองเหนือ อีกองค์หนึ่งเรียกว่า ตอง-ชฺเว เย สอง มิบุยา Taung-shwé Yé Saung Mibuya มเหษีห้องทองใต้

อธิบายมเหษี ๘ องค์นี้ พิเคราะห์ดูก็เป็นทำนองเดียวกันกับประเพณีไทยแต่โบราณ แต่ไม่ตรงกันทีเดียว ในกฎมณเฑียรบาลไทยว่า พระภรรยาเจ้ามี ๔ องค์ คือ พระอัครมเหษี องค์หนึ่ง พระมเหษี องค์หนึ่ง พระราชเทวี องค์หนึ่ง พระอัครชายา องค์หนึ่ง ทั้ง ๔ นี้มียศเป็นเจ้า (ปรากฏในทำเนียบศักดินาว่า) มีพระสนมเอกอีก ๔ คน แต่มิได้มียศเป็นเจ้า คือ ท้าวอินทสุเรนทร์ ๑ ท้าวศรีสุดาจันท์ ๑ ท้าวอินทรเทวี ๑ ท้าวศรีจุลาลักษณ์ ๑ ถ้ารวมแต่จำนวนก็เป็น ๘ เหมือนทำเนียบพะม่า

๕. นักสนมมี ๒ ชั้น เรียกว่า โมฺย-สา มิบุยา Myo-sa Mibuya ความว่า เจ้าจอมซึ่งได้ส่วยเมืองชั้นหนึ่ง ยะวา-สา มิบุยา Yawa-sa Mibuya ความว่า เจ้าจอมซึ่งได้ส่วยบ้านชั้นหนึ่ง

๖. มเหษี ๔ องค์ (พระอัครมเหษีกับมเหษีอีก ๓ องค์) นั้น

 ก) อยู่ในหมู่พระราชมนเทียร ต่างมีที่ประทับไม่ห่างกับที่พระเจ้าแผ่นดิน

 ข) กั้นพระกลดและทรงรองพระบาทได้หน้าที่นั่ง

 ค) พระภรรยาเจ้าองค์อื่นจะทูลพระเจ้าแผ่นดิน ต้องหมอบกราบและต้องถวายบังคม เว้นแต่พระอัครมเหษี

 ฆ) พระมเหษีและเจ้านายถวายบังคมกันตามหลั่นยศ

 ง) นางในจะออกนอกวังต้องทูลลา แต่มเหษีทั้ง ๔ สั่งเจ้ากรมสนม อะนอกดก ให้อนุญาตนางในที่ขึ้นอยู่ในสำนักตนให้ออกนอกวังได้

๗. มเหษีทั้ง ๔ อยู่ประจำพระองค์ ไม่มีเวร แต่มเหษีรองผลัดกันกำกับนักสนมรับราชการเป็นยาม Roster ซ้ายและยามขวา


ยศศักดิ์เจ้านายมีปรากฏในหนังสือกฎมนเทียรบาลที่ฝรั่งแปลแต่ว่า พระมหาอุปราชมีฉัตรทอง ๔ คันเป็นเครื่องยศ เจ้านายลูกเธอมีฉัตร ๒ คัน แต่ตรวจดูพลความในตอนกฎมนเทียรบาล ประกอบกับตอนว่าด้วยเรื่องพงศาวดารในรัชชกาลพระเจ้ามินดง (พ.ศ. ๒๓๙๔ ถึง ๒๔๒๑) ดูเค้าเงื่อนก็คล้ายกับธรรมเนียมเก่าของไทย คือว่า เจ้านายแต่ละองค์มีพระนาม ๓ ประเภท

ประเภทที่ ๑ พระนามที่เรียกกันมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่น พระเจ้ามินดงทรงพระนามเดิมว่า มองลวิน พระเจ้าสีป่อพระนามเดิมว่า มองปุ เป็นต้น พิเคราะห์ดูก็เป็นทำนองเดียวกับที่ไทยเรียกว่า พระองค์ทับ หรือพระองค์มั่ง แม้แต่โบราณก็เรียกสมเด็จพระนเรศวรว่า พระองค์ดำ และเรียกสมเด็จพระเอกาทศรฐว่า พระองค์ขาว เมื่อทรงพระเยาว์

พระนามประเภทที่ ๒ เป็นราชทินนาม (จะจารึกในพระสุพรรณบัตรหรืออย่างไรไม่กล่าว) พระองค์ชายมักลงท้ายว่า ธรรมราชา พระองค์หญิงมักขึ้นต้นว่า สิริ ลงท้ายว่า เทวี เป็นแบบ ได้คัดมาลงไว้ให้เห็นพอเป็นตัวอย่าง

พระนามพระองค์ชาย

มหาสุธรรมราชา (องค์นี้เป็นน้องยาเธอและได้เป็นพระมหาอุปราชของพระเจ้ามินดง)

มหาสุสิริธรรมราชา

สิริมหาสุธรรมราชา

พระนามพระองค์หญิง

สิริกัญจนเทวี

สิริบทเทวี

สิริสุนันทาเทวี

สิริปุปผ Pappa เทวี (คือ สุปยาลัต)

ตั้งพระนามเดียวซ้ำกันกว่าองค์หนึ่งก็มี พิเคราะห์ดูก็เหมือนกับประเพณีไทยแต่โบราณที่ตั้งพระนามเจ้านายเป็นพระราเมศวร พระอาทิตยวงศ์ พระเทพกษัตรีย์ และพระสุริโยทัย เป็นต้น การตั้งพระนามประเภทนี้ ตั้งเมื่อพระองค์ชายเกล้าเกศา พระองค์หญิงเจาะพระกรรณ (ตรงกับพิธีโสกันต์ของไทย) ทำพิธีที่ท้องพระโรงเป็นการเต็มยศและมีสมโภช

พระนามประเภทที่ ๓ นั้น คือ พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้เจ้านายองค์ใดกินเมืองใด ก็เอาชื่อเมืองนั้นมาเรียกเป็นพระนาม เช่น พระเจ้าแผ่นดินพะม่าที่เรียกพระนามในพงศาวดารว่า พระเจ้าสารวดี (สาวัตถี) ก็ดี พระเจ้าพุกาม Pagan ก็ดี พระเจ้ามินดงก็ดี พระเจ้าสีป่อก็ดี ล้วนเรียกตามนามเมืองที่ได้กินเมื่อก่อนเสวยราชย์ทั้งนั้น คำว่า กินเมือง หมายความต่างกันกับ ครองเมือง กินเมือง คือ ได้ส่วยสาอากรที่เกิดในเมืองนั้นเป็นผลประโยชน์ แต่ส่วนพระองค์คงอยู่ในราชธานี ครองเมือง ต้องออกไปประจำบังคับบัญชาการอยู่ที่เมืองนั้น พระนามประเภทที่ ๓ นี้ก็เห็นจะได้พระราชทานพร้อมกับราชทินนามนั่นเอง ประเพณีนี้ก็เหมือนกับประเพณีไทยแต่โบราณ มีอยู่ในกฎมณเฑียรบาลเรียกว่า ลูกเธอกินเมือง

ประเพณีให้กินเมือง พะม่าใช้กว้างขวางมาก พระมเหษี พระมหาอุปราช เจ้านาย และขุนนางผู้ใหญ่ได้กินเมืองทั้งนั้น รองลงมาถึงชั้นนักสนมและขุนนางชั้นรองก็ได้กินบ้านส่วย เพิ่งมาเปลี่ยนประเพณีในรัชกาลพระเจ้ามินดงเมื่อเสียหัวเมืองข้างใต้ไปเป็นของอังกฤษหมด จึงตั้งภาษีขึ้นใหม่เรียกว่า สัสสเมธ เก็บเงินรายตัวราษฎรโดยอัตราสิบชักหนึ่งตามที่ทำมาหาได้ เอาเงินมาแจกเบี้ยหวัดแทนส่วย ถึงกระนั้น พระอัครมเหษีและพระมหาอุปราชก็ยังกินเมืองอยู่อย่างเดิม


๑. พระเจ้าแผ่นดินพะม่าเสด็จออกขุนนางวันละ ๓ ครั้งเป็นนิจ แต่โดยปกติเสด็จออกห้องที่เฝ้าแห่งอื่น ต่อเป็นการมหาสมาคมอย่างเต็มยศใหญ่จึงเสด็จออกในมหาปราสาท โดยปกติเสด็จออกเช้าราวเวลา ๘ นาฬิกาครั้งหนึ่ง เสด็จออกเวลาบ่าย ๑๕ นาฬิกาครั้งหนึ่ง และเสด็จออกที่รโหฐานเวลาค่ำ ๑๙ นาฬิกาอีกครั้งหนึ่ง

๒. เมื่อเสด็จออกเวลาเช้า เจ้านายและข้าราชการต้องเข้าเฝ้าพร้อมกันหมด ประภาษราชการแผ่นดินกับทั้งเศรษฐการ เสด็จออกเวลาบ่าย เข้าเฝ้าแต่เจ้าหน้าที่ ประภาษราชการในพระองค์ และการในพระราชฐาน (เทียบกับพระราชานุกิจไทย เห็นว่า ที่จริงจะทรงพิพากษาคดี) เสด็จออกเวลาค่ำ มีแต่หัวหน้าข้าราชการในพระราชสำนัก (เห็นจะประภาษราชกิจในพระองค์และการในพระราชฐานตอนนี้) บางทีก็ทรงสนทนากับข้าราชการแต่บางคนฉะเพาะตัวต่อไป

๓. พระเจ้าแผ่นดินเสวยวันละ ๔ เวลา เวลาเช้าระหว่าง ๗ กับ ๘ นาฬิกา เมื่อก่อนเสด็จออกขุนนางครั้งหนึ่ง เวลาเที่ยงวันครั้งหนึ่ง เวลาเย็นครั้งหนึ่ง และเวลาค่ำอีกครั้งหนึ่ง

๔. พระภรรยาเจ้าทั้งหลายกับเจ้านายผู้หญิงเป็นพนักงานปฏิบัติในเวลาเสวย พระมเหษีตั้งเครื่อง พระมเหษีรองและเจ้านายผู้หญิงเชิญเครื่องและถวายอยู่งานพัดเป็นต้น

๕. เครื่อง เมื่อเสวยแล้ว เลื่อนถวายเจ้านายที่ปฏิบัติเสวย

๖. เวลาเสด็จเข้าที่บรรทม มีนักสนมผลัดเวรกันอยู่ยามนอกห้องบรรทม อ่านหนังสือ เช่นเรื่องชาดกเป็นต้น ถวายทรงฟังตลอดรุ่ง

๗. เวลาพระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่อง ฉะเพาะแต่พระมเหษีเป็นพนักงานปฏิบัติ

๘. พระมเหษีรองกับนักสนมต้องผลัดเวรกันประจำยามอยู่ในพระราชมนเทียรทั้งกลางวันกลางคืน และคอยตามเสด็จประพาสภายในพระราชวัง และมีขันทีรับใช้ด้วย


๑. เจ้านาย เสนาบดี ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน ต้องเข้าเฝ้าเมื่อเสด็จออกเวลาเช้าทุกวัน ถ้าใครขาดเฝ้าโดยไม่จำเป็น ต้องระวางโทษขัง ๓ วัน

๒. ถ้าเกิดไฟไหม้ในพระนคร เจ้านายและข้าราชการต้องเข้าไปลงชื่อในพระราชวังทุกคน ถ้าใครขาดโดยมิจำเป็น ต้องระวางโทษเอาตัวเปลื้องผ้ามัดตากแดด

ข้อนี้พบอธิบายในตอนพงศาวดารว่า เพราะผู้ก่อการขบถย่อมจุดไฟเผาบ้านเรือนเป็นสัญญากัน จึงตั้งข้อบังคับให้เจ้านายและข้าราชการต้องเข้าไปในพระราชวังเมื่อเกิดไฟ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์และช่วยปราบผู้ร้าย

๓. เวลาเสด็จออกนั้น ขุนนางตำแหน่ง สันดอซิน Thandawzin ปลัดทูลฉลอง เป็นพนักงานอ่านหนังสือราชการถวายทรงฟัง และอ่านรายชื่อผู้เข้าเวรประจำซองในวันนั้นถวายให้ทรงทราบเมื่อเสด็จออกตอนบ่ายด้วย

๔. ประตูพระนคร ๑๒ ประตู ปิดกลางคืนแต่เวลา ๒๑ นาฬิกาไปจนรุ่งสว่างทุกวัน และปิดเมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย คือ

 ก) เวลาเสด็จออกมหาสมาคม

 ข) ไฟไหม้

 ค) เกิดจลาจลในพระนครหรือใกล้พระนคร

 ฆ) เวลาเมื่อสำเร็จโทษเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่

๕. ขุนนางตำแหน่ง นาขั่นดอ Nahkandaw เป็นพนักงานนำรายงานราชการประจำวันในศาลาลูกขุน หลุตดอ Hlutdaw กับฎีกาที่มีผู้ถวาย ส่งขันทีให้นำขึ้นถวายในเวลาค่ำทุกวัน

๖. ใครจะถวายฎีกา จะยื่นที่ศาลาลูกขุน หรือที่ เบฺย-แตก Byè-taik สำนักงานมุขมนตรีในกรมวังก็ได้

๗. เมื่อทรงสั่งราชการ ผู้รับสั่งต้องนำความไปแจ้งแก่ อะตฺวินหวุ่น Atwinwun มุขมนตรีในกรมวัง ให้เขียนส่งไปยังศาลาลูกขุน

๘. เงินส่วยและภาษีอากรที่เจ้าเมืองหรือข้าหลวงผู้เก็บส่งมาจากหัวเมือง ต้องนำส่งที่ศาลาลูกขุน (เมื่อลูกขุนหักจ่ายการอื่น) แล้วส่งไปยังสำนักมุขมนตรีในกรมวัง (หักจ่ายในการราชสำนัก) แล้วส่ง (เงินเหลือ) ไปยังพระคลังมหาสมบัติหรือพระคลังข้างที่ตามควร

๙. ข้าราชการทุกคน เมื่อรับตำแหน่ง ต้องถือน้ำกระทำสัตย์

๑๐. ข้าราชการผู้ออกไปมีตำแหน่งอยู่หัวเมือง ต้องให้ภรรยาอยู่เป็นตัวจำนำในพระนคร

๑๑. เจ้าประเทศราชและเจ้าเมืองต้องมาเฝ้าปีละครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อย

๑๒. เวลาเสด็จออกมหาสมาคม Kadaw ในมหาปราสาท พระมหาอุปราชต้องเข้าไปทีหลังผู้อื่น ตั้งเตียงที่พระมหาอุปราชประทับหน้าพระราชบัลลังก์ทางฝ่ายซ้าย เมื่อพระมหาอุปราชประทับที่และปิดประตู (ชาลาพระราชมนเทียร) แล้วจึงเสด็จออก เมื่อเสด็จขึ้นแล้ว ก็ต้องให้พระมหาอุปราชเสด็จกลับก่อน แล้วผู้อื่นจึงตามออกจากท้องพระโรงตามลำดับยศ

๑๓. นอกจากพระมหาอุปราช กับหวุ่นคฺยี Wungyi คือ เจ้าพระยา และโมฺยหวุ่น Myowun (ตามศัพท์ว่า เจ้าเมือง แต่ในที่นี้จะหมายว่าผู้ใดสงสัยอยู่) ๒ คนแล้ว บรรดาเจ้านายและข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนต้องผลัดเป็นเวรกันเข้าไปนอนประจำซองที่ในพระราชวัง ถ้าขาดโดยมิจำเป็น ต้องระวางโทษขัง ๓ วัน

๑๔. ลักษณะที่เจ้านายกับข้าราชการไปเข้าเวรประจำซองในพระราชวังนั้น ต้องไปลงชื่อที่ท้องพระโรง รับเวรเวลา ๑๘ นาฬิกา แล้วแบ่งกันนั่งยามเป็น ๓ พวก พวกหนึ่งนั่งยามแต่เวลา ๑๘ นาฬิกาถึงเที่ยงคืน พวกหนึ่งนั่งยามแต่เที่ยงคืนจน ๓ นาฬิกา อีกพวกหนึ่งนั่งยามแต่ ๓ นาฬิกาจนรุ่งสว่าง เวลากลางวันอยู่พร้อมกันหมด จนพวกเวรใหม่มาเปลี่ยนเมื่อ ๑๘ นาฬิกา

๑๕. ทหารที่ประจำในพระราชวังนั้น เปลี่ยนเวรกันเดือนละครั้งหนึ่ง

๑๖. ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออก (ไปประทับแรม) นอกพระราชวัง ยิงปืน ๓ นัดเป็นสัญญา ปิดประตูพระนครทั้งหมด จนเสด็จกลับคืนเข้าพระราชวังแล้วจึงเปิดอย่างเดิม เจ้านายและข้าราชการต้องไปตามเสด็จ เว้นแต่ที่ติดประจำหน้าที่ ถ้าไม่ไปตามเสด็จ ต้องระวางโทษขัง

๑๗. ถึงวันขึ้นปีใหม่วันแรก ให้ยิงปืนใหญ่ ๓ นัดทุกประตูพระนครบอกให้ราษฎรรู้ฤกษ์สงกรานต์

๑๘. (ข้อนี้และต่อไปอีกข้อหนึ่ง ดูไม่เกี่ยวกับกฎมนเทียรบาล คือ) ราษฎรเป็นความกันในโรงศาล เมื่อยอมตามคำพิพากษา ต้องรับเมี่ยงกินเป็นสัญญาทั้งสองฝ่าย ถ้าได้กินเมี่ยงแล้ว จะกลับเอาคดีนั้นรื้อว่ากล่าวหรืออุทธรณ์ต่อไปไม่ได้ ใครฝ่าฝืนต้องระวางโทษให้เอาตัวเที่ยวตีฆ้องตระเวนและให้เฆี่ยนทุกมุมเมือง แต่ถ้าคดีถึงศาลาลูกขุน ถึงคู่ความไม่ยอม คำพิพากษาก็เป็นเด็ดขาด

๑๙. โทษตระเวนแล้วเฆี่ยนนั้นมีต่อไปถึงผู้กระทำผิดในคดีเหล่านี้ คือ

 ก) ลอกทองพระ

 ข) ทำเงินปลอม

 ค) ลักหญิงชาววัง

 ฆ) วางเพลิง

 ง) เป็นข้าราชการรับสินบน

 จ) ต้มเหล้าเถื่อน

 ฉ) ปล้นสดมภ์

ผู้มีความผิดที่กล่าวต่อไปนี้ก็ต้องระวางโทษตระเวน แต่ไม่เฆี่ยน คือ

 ช) เล่นเบี้ย

 ซ) เมาเหล้า

 ฌ) ฆ่าโค

 ญ) กินเนื้อโคเป็นนิจ

๒๐. ถึงเข้าวัสสา ให้เจ้าพนักงานขี่ช้างเที่ยวตีกลองประกาศแก่ชาวพระนคร เตือนให้ถือศีลทำทาน และห้ามมิให้ขายเนื้อขายปลาในพระนครตลอดวัสสา

๒๑. การเสด็จออกมหาสมาคมในมหาปราสาท โดยปกติมีปีละ ๓ ครั้ง คือ

 ก) เสด็จออกเมื่อขึ้นปีใหม่ เรียกว่า หนิต-สิต กาเดาะ Hnit-thit Kadaw ให้เจ้านายและข้าราชการในกรุงถือน้ำกระทำสัตย์

 ข) เสด็จออกเมื่อเข้าวัสสา เรียกว่า วา-วิน กาเดาะ Wa-win Kadaw เฝ้าแต่เจ้านายและข้าราชการในกรุง

 ค) เสด็จออกเมื่อออกวัสสา เรียกว่า วา-คฺยุต กาเดาะ Wa-gyut Kadaw เจ้าประเทศราชและเจ้าเมืองเข้ามาสมทบด้วย มีการถือน้ำกระทำสัตย์เหมือนเมื่อขึ้นปีใหม่

๒๒. ในการเสด็จออกมหาสมาคม เจ้านายและข้าราชการฝ่ายใน กับทั้งภรรยาข้าราชการ ก็ต้องเข้าเฝ้าเหมือนกับฝ่ายหน้า แต่เฝ้าที่ท้องพระโรงหลังอยู่ทางหลังวัง

๒๓. การที่เข้าเฝ้ามีข้อบังคับ คือ

 ก) ต้องมีรับสั่งให้หา หรือได้รับพระราชานุญาต จึงเข้าเฝ้าได้

 ข) ต่อมีพระราชดำรัสด้วยก่อน จึงกราบทูลสนองได้

 ค) เวลาเสด็จประทับอยู่ในพระราชมนเทียรหรือพระราชอุทยาน ใครจะเข้าเฝ้าไม่ได้ เว้นแต่ตรัสเรียก

 ฆ) ถ้ายังไม่เสด็จขึ้น ข้าเฝ้าจะกลับก่อนหรือจะย้ายที่นั่งไม่ได้

 ง) ห้ามมิให้สูบบุหรี่หน้าที่นั่ง

 จ) นอกจากพระมเหษีทั้ง ๔ ห้ามมิให้ใครใส่เกือกหน้าที่นั่ง และจะถือร่มไปในกระบวนเสด็จก็ไม่ได้

 ฉ) ในมหามนเทียรแก้ว หมานนันดอ Hmannandaw อันเป็นที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จอยู่ อยู่ประจำได้แต่มเหษี ๔ องค์ซึ่งมีห้องอยู่ใกล้กับห้องบรรทมของพระเจ้าแผ่นดิน

 ช) จะส่งสิ่งอันใดถวายพระเจ้าแผ่นดิน ต้องถวายบังคม Shikho ก่อน เมื่อจะรับอะไรจากพระหัตถ์ ก็อย่างเดียวกัน

 ซ) สิ่งใดซึ่งเป็นเครื่องราชูปโภค จะเรียกต้องเพิ่มคำ ดอ Daw แปลว่า พระ หรือ หลวง Royal เข้าข้างท้ายชื่อของสิ่งนั้น และจะจับต้องต้องไหว้ก่อน

 ฌ) เวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาใกล้ ต้องถวายบังคม ๓ ครั้ง เมื่อเสด็จไปจากที่นั้น ก็ต้องถวายบังคม ๓ ครั้งเหมือนกัน

 ญ) นอกจากพระอัครมเหษี เมื่อทูลพระเจ้าแผ่นดิน ต้องกราบ Shikho ทุกครั้ง


ในกฎมนเทียรบาลพะม่า ต่อเรื่องราชาภิเษก กล่าวถึงราชบัลลังก์ Yaza Palin ในราชมนเทียรสถานว่า มี ๘ แห่ง บอกอธิบายรายชื่อไว้ดังนี้

๑. สีหาสนบัลลังก์ Thihathana Palin ใหญ่และสำคัญกว่าเพื่อน จำหลักรูปราชสีห์ประดับ อยู่ในมหาปราสาท มีเศวตรฉัตร (ชั้นเดียว) ปักข้างละ ๔ คัน เป็นที่ประทับเวลาเสด็จออกมหาสมาคมเป็นการเต็มยศใหญ่

๒. หังสาสนบัลลังก์ Henthathana Palin จำหลักรูปหงส์ประดับ อยู่ใน (หอพระซึ่งใช้เป็น) ท้องพระโรงกลาง Zatawun Saung เป็นที่ประทับเสด็จออกเวลามีพิธีสงฆ์และรับทูตต่างประเทศ

๓. คชาสนบัลลังก์ Gagyathana Palin จำหลักรูปช้างประดับ อยู่ในพระที่นั่งเย็นฝ่ายซ้าย Byadeik Saung เป็นที่ประทับเวลาเสด็จออกมุขมนตรีแห่งหนึ่ง

๔. สังขาสนบัลลังก์ Thinkathana Palin จำหลักรูปสังข์ประดับ อยู่ในท้องพระโรงใน Hpôndaw Saung เป็นที่ประทับเวลาพระราชทาน (สุพรรณบัตร) ยศศักดิ์ และเสด็จออกขุนนางโดยปกติ

๕. ภมราสนบัลลังก์ Bamayathana Palin จำหลักรูปตัวผึ้งประดับ อยู่ในมหามนเทียรแก้ว Hmandaw Saung เป็นที่ประทับเวลางานพิธีฝ่ายใน

๖. มิคาสนบัลลังก์ Migathana Palin จำหลักรูปกวางประดับ อยู่ที่พระที่นั่งปลีกองค์หนึ่งเรียกว่า ตอง สมก สอง Taung Smôk Saung เป็นที่ประทับอวยทาน

๗. มยุราสนบัลลังก์ Mayanyothana Palin จำหลักรูปนกยูงประดับ อยู่ที่พระที่นั่งอีกองค์หนึ่ง เรียกว่า มฺยอก สมก สอง Myauk Smôk Saung เป็นที่ประทับทอดพระเนตรช้างเผือก

๘. ปทุมาสนบัลลังก์ Padômmathana Palin จำหลักรูปดอกบัวประดับ อยู่ที่ท้องพระโรงหลัง Anauk Smôk Saung เป็นที่ประทับเวลาเสด็จออกมหาสมาคมสตรี และเป็นที่พระอัครมเหษีเสด็จออกรับแขกเมืองผู้หญิง

ราชบัลลังก์ทั้งปวงนั้นทำด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก เป็นแท่นมีฐาน รูปทรงเป็นเชิงบาตรของภิกษุ ฝรั่งว่า เหมือนนาฬิกาทราย คือ คอดกลางผายข้างบนและข้างล่างเช่นเดียวกันทั้งนั้น เป็นแต่ขนาดใหญ่เล็กและสูงต่ำผิดกัน มักตั้งต่อฝาด้านใน มีพระทวารทางเสด็จออกข้างหลังราชบัลลังก์ สีหาสนบัลลังก์ในมหาปราสาทนั้นมีท่วงทีกับพระที่นั่งบุษบกมาลาวังหน้าในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย (ที่จัดเป็นห้องทองสัมฤทธิ์ในพิพิธภัณฑสถาน) กรุงเทพฯ ผิดกันแต่ทำเป็นแท่นไม่มีบุษบก แต่ทำเป็นเรือนแก้วที่ซุ้มพระทวารข้างหลังวิจิตรมาก


เดือน ๕ พิธีสงกรานต์ Hnit-thit Thigyandaw Pwè ถือกันว่า เทวดามหาสงกรานต์ Thingan Nat ลงมาอยู่ในมนุษย์โลกปีละ ๓ วัน

วันแรก พวกขุนนางแห่น้ำซึ่งตักมาจากแม่น้ำเอราวดีใส่หม้อดินประดับดอกไม้มาถวายพระเจ้าแผ่นดิน และมีพิธีทำเป็นน้ำมนต์ แล้วแบ่งน้ำมนต์นั้นส่งไปสรงพุทธเจดีย์ที่สำคัญ ทั้งในกรุงมัณฑเลและกรุงอมรบุระ

วันที่ ๒ เวลาเช้า พระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีเสด็จสู่ที่สรง ทรงสระพระเกศา โหรพราหมณ์ถวายพรชัยมงคล แล้วมีการสมโภชเลี้ยงลูกขุน อธิบายการสมโภชเลี้ยงลูกขุน (พบในหนังสืออื่น) ว่า พระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีเสด็จออกเสวยพระกระยาเจือน้ำดอกไม้สด เรียกว่า ข้าวสงกรานต์ (คือ ข้าวแช่) บนราชบัลลังก์ที่ห้องพิธีในมหามนเทียรแก้ว โปรดให้เจ้านายกับขุนนางผู้ใหญ่เข้าไปรับพระราชทานเลี้ยงด้วย แล้วมีละคร

วันที่ ๓ เสด็จออกมหาสมาคมเป็นการเต็มยศใหญ่ในมหาปราสาท เจ้านายและข้าราชการในกรุงเข้าเฝ้าถือน้ำกระทำสัตย์ แล้วเสด็จออกท้องพระโรงหลัง ให้สตรีมีบรรดาศักดิ์ในกรุงเข้าเฝ้า และถือน้ำกระทำสัตย์เหมือนกัน

ส่วนประชาชน เมื่อถึงนักขัตตฤกษ์สงกรานต์ เล่นสาดน้ำกันและกันตลอดตั้ง ๓ วัน

เดือน ๖ พิธีสมโภชน้ำเสก (พะม่าเรียกว่า นฺยอง เย ปวย Nyaung Ye Pwè ฝรั่งแปลว่า Consecrated Water Feast)

วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เจ้าพนักงานตักน้ำในแม่น้ำเอราวดีมา (ใส่หม้อ) รักษาไว้ในเรือนหลวง Court House แห่งหนึ่งที่ในพระราชวัง ถึงวันกลางเดือน แบ่งน้ำนั้นเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเรียกว่า นฺยอง เย Nyaung Ye เชิญไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า อะนอง นฺยอง เย Anaung Nyaung Ye เชิญไปถวายพระอัครมเหษี

ในวันกลางเดือนนั้นเอง พระเจ้าแผ่นดินให้เจ้าพนักงานสรงน้ำพระพุทธรูปที่ในพระราชวัง รุ่งขึ้น วันแรมค่ำ ๑ สรงพระพุทธรูปด้วยน้ำส่วนของพระอัครมเหษี (มูลจะมาแต่พิธีทูลน้ำล้างพระบาทดอกกระมัง)

เนื่องการพิธีนี้มีละคร Zat Pwè ที่สนามในวังด้านหลังตั้งแต่วันขึ้นค่ำ ๑ (พระอรัญญรักษา ซอเหลียง เป็นชาวเมืองมัณฑเล เล่าว่า มีละครหลายวัน)

เดือน ๗ มีการพิธีต่าง ๆ ๔ พิธี คือ

๑) พิธีขอฝน Mo-nat Puzaw Pwè

๒) สอบพระปริยัติธรรม Sadaw Pyan Pwè หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Patama Sa-Pyan-sa-me Pwè

๓) พิธีขออภัย Hnit-thit Kadaw Pwè ฝรั่งแปลว่า Beg Pardon Festival

๔) พิธีแรกนามงคล Mingala Lèdaw Pwè

พิธีขอฝนนั้น ทำในสัปดาหะต้นของเดือน ๗ พระราชาคณะ Sadaw สงฆ์ ประชุมกันณโรงพิธีข้างหน้าศาลาลูกขุน สวดพระปริตร Nya Payeik คาถาพระยาปลาช่อนขอฝน พราหมณ์ทำพิธีที่ริมประตูเมืองด้านใต้ ปลูกโรงพิธีเป็นมณฑป ๒ หลัง ปั้นเทวรูปกับรูปสัตว์น้ำตั้งเป็นประธานในมณฑปนั้น พราหมณ์ร่ายมนตร์ขอฝน แล้วแห่เทวรูปกับรูปสัตว์เหล่านั้นไปทิ้งลงในแม่น้ำเอราวดี ในการพิธีขอฝนพระเจ้าแผ่นดินหาได้เสด็จออกไม่

การสอบพระปริยัติธรรมนั้น กำหนดวันขึ้น ๘ ค่ำ พระราชาคณะสงฆ์ประชุมกันณสุธัมมศาลา Thutama Zayat และปัฏฐานศาลา Patan Zayat ที่เชิงเขามัณฑเล สอบความรู้สามเณร ในการนี้ เมื่อครั้งพระเจ้ามินดง เสด็จออกเสมอ หลักสูตรที่สอบนั้น (มีพรรณนาไว้ในหนังสืออีกเรื่องหนึ่งว่า) จัดเป็น ๔ ประโยค ให้แปลคัมภีร์ต่าง ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้

ประโยค ๑

 กจฺจายน

 อภิธมฺมสงฺคห

 มาติกา

 ธาตุกถา

ประโยค ๒

 กจฺจายน

 อภิธมฺมสงฺคห

 มาติกา

 ธาตุกถา

 ยมก ๑ ถึง ๕

ประโยค ๓

 กจฺจายน

 อภิธมฺมสงฺคห

 มาติกา

 ธาตุกถา

 ยมก ๑ ถึง ๑๐

 อภิธานปฺปทีปิกา

 ฉนฺท

 อลงฺการ

ประโยค ๔

 กจฺจายน

 อภิธมฺมสงฺคห

 มาติกา

 ธาตุกถา

 ยมก ๑ ถึง ๑๐

 ปฏฺฐาน กุสลติก

 อภิธานปฺปทีปิกา

 ฉนฺท

 อลงฺการ

ผู้เข้าสอบต้องจำได้ทั้งภาษามคธ และแปลเป็นภาษาพะม่าได้ด้วย

สังเกตตามชื่อที่ใช้หนังสือคัมภีร์เดียวกันสอบทั้ง ๔ ประโยค พึงสันนิษฐานว่า คงเลือกตอนง่ายเป็นประโยคต้น แล้วสอบตามที่ยากยิ่งขึ้นเป็นลำดับไป น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่ใช้คัมภีร์พระปรมัตถ์เป็นหลักสูตรเป็นพื้น ข้อนี้ไปเข้ากับเรื่องนิทานว่า เมื่อเชิญพระไตรปิฎกมาจากลังกาทวีป พายุพัดพาเรือลำบรรทุกคัมภีร์พระวินัยพลัดไปเมืองมอญ ลำที่บรรทุกพระสูตรพลัดมาเมืองไทย จึงเป็นเหตุให้พระสงฆ์มอญชำนาญพระวินัย พระสงฆ์ไทยชำนาญพระสูตร น่าเติมความในนิทานนั้นว่า เรือลำบรรทุกพระปรมัตถ์พลัดไปเมืองพะม่า แต่ถ้าว่าตามเค้าเงื่อนทางโบราณคดี พะม่าน่าจะถ่ายแบบการสอบพระปริยัติธรรมไปจากมอญ จึงจัดระเบียบเป็น ๔ ประโยคอย่างเดียวกัน คงเห็นว่า ความรู้พระวินัยรุ่งเรืองอยู่แล้วในเมืองมอญ (อันเป็นอาณาเขตต์ของพะม่าอยู่แล้ว) จึงบำรุงความรู้พระปรมัตถ์ในเมืองพะม่า

พิธีขออภัยนั้น อธิบายว่า เป็นประเพณีบ้านเมือง ผู้น้อยต้องแสดงความเคารพขออภัยผู้ใหญ่ในการพิธีนี้ เป็นต้นแต่บุตรกับบิดา ญาติที่อ่อนอายุกับญาติผู้ใหญ่ บ่าวกับนาย ผู้น้อยกับผู้ใหญ่ จนที่สุดข้าราชการกับพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนพิธีหลวงนั้น เสด็จออกเป็นการเต็มยศ แต่เดิมเจ้านายและข้าราชการต้องถือน้ำพระพิพัฒนสัตยาอีกครั้งหนึ่ง แต่พระเจ้ามินดงตรัสสั่งให้งดเสีย

พิธีแรกนามงคลนั้น พอฝนตกพื้นดินอ่อนจึงกำหนดฤกษ์ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกทรงไถนาหลวงที่ทุ่งหลังเมืองมัณฑเล แต่งพระองค์อย่างจอมพล เจ้านายข้าราชการแต่งเต็มยศ มีไถทองไถเงินและเครื่องแต่งตัวโคอย่างงามสรรพ เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่มีหน้าที่ต้องไถนาตามเสด็จด้วย พวกพราหมณ์ก็ทำพิธีบูชาขอพรเทวดาตลอดเวลาที่ไถนั้น

เดือน ๘ มีพิธีบวชนาคหลวง Pyinsindaw kan Pwè หรือ Pyinsin Shin-pyu อย่างหนึ่ง กับพิธีเข้าวัสสา เรียกว่า Wa-win Kadaw อย่างหนึ่ง

พิธีบวชนาคหลวงนั้น คือ อุปสมบทพวกสามเณรที่แปลหนังสือได้เป็นเปรียญในปีนั้น บวชวันขึ้น ๘ ค่ำณวัดหลวงที่เชิงเขามัณฑเล และมีการฉลองอย่างครึกครื้น นอกจากนั้น พระราชทานบำเหน็จแก่เปรียญด้วยปลดญาติจากหน้าที่ราชการให้เป็นผู้อุปัฏฐากมากและน้อยคนตามชั้นประโยคที่สอบได้

พิธีเข้าวัสสานั้น ในกฎมนเทียรบาลกล่าวแต่ว่า มีการเสด็จออกมหาสมาคมที่มหาปราสาท เจ้านายข้าราชการในกรุงและเจ้าเมืองทั้งหลายต้องเข้ามาเฝ้าพร้อมกัน

เดือน ๙ มีการพิธีสลากภัตต์ Sayedan Pwè อธิบายว่า ถึงวันแรม ๘ ค่ำ พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานจตุปัจจัยทานพระภิกษุสงฆ์เท่าจำนวนปีพระชันษา และทรงทำพลีกรรมแก่เทพารักษ์ Nat ด้วย

เดือน ๑๐ มีการพิธี Hledaw Pwè หรือเรียก Ye-thabin Hle Pwè แข่งเรือในแม่น้ำเอราวดี แต่ไม่มีรายการปรากฏ

เดือน ๑๑ มีการพิธีออกวัสสา

ก) ให้ผูกโครงเป็นเขาพระสุเมรุขึ้นที่นอกพระราชวังด้านหน้า ประดับด้วยดวงประทีป เป็นที่ประชุมชาวพระนคร ตั้งแต่วันขึ้นค่ำ ๑ ไปจนถึงขึ้น ๓ ค่ำ

ข) ตั้งแต่วันแรม ๘ ค่ำ มีหุ่น (คือ มหรสพ) รายรอบพระราชวัง ๗ วัน

ค) วันกลางเดือนแห่เครื่องบูชา (เห็นจะเป็นผ้าป่า) ไปถวายตามวัด มีทั้งที่เป็นของหลวงและของราษฎร์ มีกระบวนแห่ไปทางบกบ้าง ไปทางน้ำบ้าง ด้วยเรือกลไฟหรือเรือพายบ้าง มักผูกหุ่นเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ รองเครื่องบูชา และมีเครื่องดนตรีกับคนฟ้อนรำไปในกระบวนแห่เป็นการรื่นเริงอย่างใหญ่

ฆ) เสด็จออกมหาสมาคมอย่างเมื่อเข้าวัสสาอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ พวกเจ้าประเทศราชต้องเข้ามาเฝ้า และมีการถือน้ำกระทำสัตย์ด้วย ครั้งนี้ อนุญาตให้พวกพ่อค้าและเศรษฐีเข้าเฝ้าด้วย

ง) ตั้งแต่วันแรมค่ำ ๑ ไปจนถึงแรม ๘ ค่ำ ตามวัดแต่งประทีปและมีการมหรสพต่าง ๆ (ฉลองบุญ)

เดือน ๑๒ มีการพิธีทอดกฐิน Kateindaw Pwè อย่างหนึ่ง พิธีเผารูปปราสาทจำลอง Tazaungdaing Pwè อย่างหนึ่ง

พิธีทอดกฐินนั้น กฐินหลวงอย่างสามัญเป็นแต่เจ้าพนักงานเอาผ้าไตรกับเครื่องไทยธรรมไปถวายพระเจ้าแผ่นดินทรงจบพระหัตถ์และหลั่งน้ำทักษิโณทก แล้วนำไปยังสุธัมมศาลา พวกชาววัดที่จะรับกฐินมารับขนเอาไปยังวัด ครั้นถึงวันกำหนด มีข้าราชการไปทอดแทนพระองค์ หาได้เสด็จไปทอดเองไม่ ถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ทำจุลกฐินของหลวง เวลาเย็น หมายเรียกพวกภรรยาข้าราชการเข้าไปประชุมกันในพระราชวังทางด้านหลัง พอพลบค่ำก็ให้ลงมือปั่นฝ้ายทอผ้า กำหนดให้เสร็จเป็นผืนผ้าก่อนรุ่งสว่าง ถ้าจับได้ว่า ใครเอาผืนผ้าปลอมเข้าไป ทั้งสามีภรรยาต้องระวางโทษให้เอาผ้านั้นนุ่งห่มและรำซุยร้องเพลงเข้าปี่พาทย์ประจานตัว ผ้าที่ทอแล้วนั้นพอเช้าก็ตัดเย็บย้อมเป็นไตร ถวายจบพระหัตถ์แล้วพระราชทานไปทอดกฐินที่พระอารามหลวงในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ หาได้เสด็จไปทอดเองไม่

อนึ่ง ในวันกลางเดือน ๑๒ นั้น พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปบูชาเทวรูปณหอเทวาลัย เจ้านายและข้าราชการทั้งปวงก็ไปบูชาด้วย

พิธีเผารูปปราสาทจำลอง เห็นจะเป็นพิธีเสดาะพระเคราะห์ ในกฎมนเทียรบาลพะม่ากล่าวว่า ถึงวันแรม ๘ ค่ำ ให้เอาปราสาท Pyathat ซึ่งผูกโครงด้วยไม้ไผ่ ๘ หลัง ถวายพระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีจบพระหัตถ์ แล้วแห่เอาไปเผาณพระอารามที่สำคัญ ๘ แห่ง

เดือนอ้าย มีการพิธีถวายเข้าใหม่ Maha Peinne Pwè-daw อธิบายว่า เมื่อเกี่ยวข้าวใหม่ที่ปลูกในนาหลวงได้แล้ว เอาไปถวายบูชาพระพุทธรูปมหามัยมุนี (ที่พระเจ้าปะดุงเชิญมาจากเมืองยักไข่) ขุนนาง เรียกว่า ละเมียง หวุ่น Lamaing Wun กับละเมียง สะเย Lamaing Saye (สันนิษฐานว่า ในกรมนา) เป็นพนักงานทำพ้อมสานผูกเป็นรูปโคกระบือและกุ้ง ไส่ข้าวเปลือกและพืชพันธุ์ไม้อื่นที่เก็บเกี่ยวได้ผลในฤดูเดียวกัน แล้วขนไปถวายที่วัดยักไข่นั้น

อนึ่ง เมื่อถึงวันพระจันทร์ขึ้นด้วยกันกับดาวฤกษ์กัตติกา Kyattiya และโรหิณี Yawhani ให้เชิญเทวรูปพระขันธกุมารอันทรงนกยูงออกมาตั้ง ทรงบูชา แล้วโปรยทานและแจกผ้าแก่ประชาชน

เดือนยี่ มีการพิธีเสด็จออกสนาม เรียกว่า Myingin-daw Pwè พระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีเสด็จออกท้องพระโรงหน้า และปลูกปะรำข้าราชการพักข้างหน้าเขื่อนพระราชมนเทียร มีการกีฬาที่ท้องสนามชัย

การกีฬา ชุดแรกเป็นของเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่กับนายทหารจัดมาประกวดกัน

ก) ชนช้างตัวเปล่า

ข) ชนข้างมีคนขี่

ค) ช้างสู้เสือ (บางทีก็เสือจริง บางทีก็หุ่นเสือ)

ฆ) ขี่ม้าวิ่งพุ่งหอกให้ถูกเป้า

ชุดหลัง พวกทหารม้าทั้งนายไพร่ประกวดกัน

ก) ยืนบนหลังม้าวิ่งแทงห่วง

ข) ยืนบนหลังม้าวิ่งฟันฉัตตี Chatty (แปลไม่ออกว่าอะไร) มิให้ตกถึงดิน

ค) ยิงเป้า

ใครตกม้า ถูกปรับเอาเงินไปรวมเป็นรางวัลคนชะนะ

หนึ่งในเดือนนี้ เจ้าฟ้าประเทศราชไทยใหญ่ส่งกล้วยไม้ (เอื้องแซะ) มาถวายด้วย

เดือน ๓ มีพิธีทำข้าวยาคู Yagu คือ ถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ กลางคืน ให้พวกฝ่ายทหารหุง Cooking แป้งข้าวด้วยน้ำมะพร้าวเจือเนยและเครื่องหอม ใช้ไม้หอมต่าง ๆ มีจันทน์เป็นต้นเป็นฟืน รุ่งขึ้น วันกลางเดือน เอาไปถวายพระเจ้าแผ่นดินทรงเจือน้ำมนต์ แล้วส่งไปถวายพระสงฆ์ตามพระอารามในกรุงมัณฑเลและเมืองอมรบุระ พวกพลเมืองต่างก็หุงเข้ายาคูถวายพระเป็นประเพณีบ้านเมือง

เดือน ๔ มีการพิธีบวงสรวงเทพารักษ์และก่อพระทราย

การบวงสรวงของหลวงนั้น ส่งเครื่องพลีกรรมไปบวงสรวงเทพารักษ์ที่รักษาพระนครทั้ง ๔ ทิศ และบวงสรวงเทพารักษ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ณเทวสถานต่าง ๆ อีก ๓๗ แห่ง ส่วนประชาชนก็เส้นผีกันเป็นประเพณีทั่วไป

การก่อพระทราย (ตามวัด) นั้น ทำเป็นการกุศลและทำเป็นประเพณีบ้านเมืองเหมือนกัน สิ้นเรื่องพิธี ๑๒ เดือนเพียงเท่านี้


อธิบายประเพณีปลงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินพะม่า พบในหนังสืออื่นพรรณนาว่าด้วยงานปลงพระบรมศพพระเจ้ามินดงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ และได้ฟังคำชี้แจงของพวกพะม่าว่า ประเพณีปลงศพในเมืองพะม่านั้น เผาแต่ศพพระกับศพเจ้า ถ้าเป็นบุคคลพวกอื่นฝังทั้งนั้น ลักษณะปลงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน อธิบายว่า แต่โบราณทีเดียว เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว รวมพระบรมอัฐิไปลอยทิ้งในแม่น้ำเอราวดี และสร้างพระเจดีย์เป็นอนุสรณ์ไว้ตรงที่ปลงพระบรมศพ ต่อมาแปลงเป็นบรรจุพระบรมอัฐิไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างเป็นอนุสรณ์แทนเอาไปลอยทิ้งน้ำ ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้ามินดง ตรัสสั่งให้บรรจุพระบรมศพของพระองค์ไว้ในวัตถุซึ่งสร้างเป็นอนุสสรณ์ ไม่ต้องทำการถวายพระเพลิง การบรรจุพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินพะม่าจึงเกิดขึ้นเมื่อปลงพระบรมศพพระเจ้ามินดงเป็นครั้งแรก และถือกันว่า บรรจุศพนั้นไม่เป็นการฝัง เพราะศพมิได้อยู่ในแผ่นดิน

รายการเรื่องปลงพระบรมศพพระเจ้ามินดงนั้นว่า เมื่อสวรรคต (วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๑) แล้ว เชิญพระบรมศพจากมนเทียรทองที่เสด็จสวรรคตมาไว้บนพระแท่นตั้งตรงหน้าภมราสนบัลลังก์ในมหามนเทียรแก้ว พระบรมศพหุ้มห่อด้วยผ้าขาว ปิดทองที่พระพักตร์และพระหัตถ์ทั้งสองข้าง รอบพระแท่นตั้งเครื่องต้นเครื่องทรงและเครื่องราชูปโภคกับของโปรดต่าง ๆ กับทั้งเครื่องพระกระยาหาร ต่อออกมาทำรั้วตาข่ายทองวงรอบ มีนางในผลัดกันนั่งประจำปัดแส้ ๔ คน ข้างเบื้องบนแขวนพวงดอกไม้ทองประดับประดา และมีกลอง (ชนะ) ตีประโคมทุกยาม ไว้พระบรมศพเช่นนั้น ๓ วัน (คงมีการพิธีในระหว่างนั้นด้วย แต่มิได้พรรณนา) ถึงวันที่ ๓ อนุญาตให้นักสนมนางในและข้าราชการทั้งปวงเข้าไปถวายบังคม แล้วเชิญพระบรมศพลงหีบทองประดับเนารรัตน์ ตั้งไว้อีก ๓ วัน (สันนิษฐานว่า ระยะ ๓ วันแรกเพื่อต่อหีบพระบรมศพ ต่อมาอีก ๓ วันหลังรอให้การก่อที่บรรจุสำเร็จ)

ถึงวันที่ ๗ แห่พระบรมศพจากพระราชมนเทียรไปบรรจุณมณฑปที่ก่อขึ้นใหม่ในพระราชวังชั้นนอก (ถ้าเปรียบให้เข้าใจง่าย ที่สร้างมณฑปนั้น เหมือนอย่างอยู่ที่สนามตรงหน้าหอรัษฎากรพิพัฒน์) กระบวนแห่ (ฝรั่งผู้ได้ไปดูพรรณนาไว้ว่า) หามพระยานมาศนำหน้า แล้วถึงหมู่ช้างพระที่นั่ง ม้าพระที่นั่ง ล้วนแต่งเต็มประดาและผูกเครื่องราชอาสน์ต่าง ๆ ต่อนั้นถึงกระบวนข้าราชการแต่งเต็มยศ สรวมเสื้อครุย ใส่ลอมพอกอย่างพะม่า อัครมหาเสนาบดี ๒ คนเดินคู่กันนำหน้า มีคนถือร่มสีแดงคันดาฬอันเป็นเครื่องยศอัครมหาเสนาบดีกั้น ขุนนางชั้นรอง ๆ เดินตามต่อมา ชั้นที่มีร่มเครื่องยศก็มีคนกั้นร่ม แต่เป็นคันตรงทั้งนั้น แล้วถึงกระบวนกลองชะนะแตรและเครื่องประโคม ต่อนั้นถึงกระบวนมหาดเล็ก (ตามที่ฝรั่งว่า นางในด้วย) เชิญเครื่องราชูปโภค แล้วถึงหีบสำหรับจะทรงพระบรมศพเมื่อบรรจุ ต่อมาถึงพวกลูกเธอองค์ชายทรงขาว ถือแถบผ้าโยงชักพระบรมศพ (ตรงนี้ผู้พรรณนาว่า เอาพระบรมศพออกใส่เปลหาม เห็นว่า น่าจะเข้าใจผิดอะไรสักอย่างหนึ่ง) มีเศวตฉัตรกั้นสองข้าง ๘ คัน ต่อนั้นถึงกระบวนนางในตามพระบรมศพ มีพระนางอเลนันดอซึ่งกั้นเศวตฉัตร และเจ้าฟ้าหญิงราชธิดากั้นพระกลดสีเหลือง กับลูกเธอพระองค์หญิงและนักสนม ล้วนแต่งขาวเดินเป็นกระบวน ต่อกระบวนนางในถึงกระบวนตำรวจ แห่พระเจ้าสีป่อทรงราชยานตามพระบรมศพ ท้ายกระบวนเสด็จมีพระสงฆ์ ๖๔ รูปเท่าจำนวนปีพระชนมายุของพระเจ้ามินดงเดินตามเป็นที่สุด (พระสงฆ์ ๖๔ รูปมิใช่กระบวนแห่ แต่ผู้จดไม่รู้ธรรมเนียม เห็นเดินตามไปข้างหลังก็เข้าใจว่า เดินแห่ ถ้าเป็นในเมืองไทยก็เข้าใจได้ว่า คงนิมนต์มาชักผ้าไตรบังสกุล แต่ในเมืองพะม่าไม่มีประเพณีชักผ้าบังสกุลในงานศพ จึงได้แต่สันนิษฐานว่า เห็นจะนิมนต์มาสวดสดับปกรณ์) ตั้งแต่ปลงพระบรมศพพระเจ้ามินดงแล้ว พระศพเจ้านายก็ใช้ประเพณีบรรจุแทนเผาต่อมา ยังเผาในบัดนี้แต่ศพพระ

แปลกฎมนเทียรบาลพะม่าเพียงเท่านี้

  1. มงกุฎพะม่า เย็บด้วยไหมปักทอง รูปทรงคล้ายตุ้มปี่
  2. ยานมาศพะม่าเรียกว่า วอ Waw จำหลักปิดทองล่องชาด มีที่นั่งทั้งข้างหน้าข้างใน (เหมือนรถเลนตอฝรั่ง) ขนาดใหญ่โต ต้องหาบถึง ๔๐ คน
  3. รูปฉายพระเจ้ามินดงทรงเครื่องเต็มยศอย่างพะม่ามีอยู่
  4. รูปฉายพระเจ้าสีป่อกับราชินีสุปยาลัตทรงเครื่องต้นอย่างพะม่ามีอยู่
  5. เศวตฉัตรชั้นเดียว รูปเหมือนกับพระกลดไทย
  6. ถ้ามีเจ้าเป็นผู้อ่านตามว่า ดูท่วงที เจ้าจะอ่านพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ขุนนางอ่านพระนามพระอัครมเหษี
  7. เรือนี้มีรูปภาพอยู่ ลำเก่าหัวเป็นนก (ในพวกสัตว์หิมพานต์) ลำใหม่ทำหัวเป็นนาค มีครุธยืนอยู่ข้างหลัง
  8. คำว่า มิบุยา พะม่าเรียกตั้งแต่พระอัครมเหษีลงไปจนเจ้าจอมมารดา ฝรั่งก็แปลว่า Queen ทั้งนั้น จะหาคำภาษาไทยให้ตรงกันไม่ได้