ข้ามไปเนื้อหา

วรรณกรรมต่างเรื่อง/ผู้วายชนม์

จาก วิกิซอร์ซ
  • นางเทียบ เพชรพลาย (เร็วพลัน)
  • ชาตะ วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒
  • มรณะ วันเสาร์ที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒

ประวัติ

นางเทียบ เพชรพลาย เป็นบุตรคนสุดท้องของนายจัน และนางเจียม ถนอมกุลบุตร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ที่บ้านตำบลบางประทุน อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี ได้ทำการมงคลสมรสกับ ร.ต. เยี่ยม เพชรพลาย และเกิดบุตร, ธิดา ด้วยกัน คือ

๑.นางพยุงศรี มังตรีสรรค์

๒.นายสุริยน เพชรพลาย

๓.นางพยอม สงวนศิลป์

๔.ร.อ. สุริยะ เพชรพลาย

๕.นางพายัพ บุบผาคำ

๖.เด็กหญิงแดง เพชรพลาย (ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์)

เมื่อนางเทียบ เพชรพลาย ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากการประกอบอาชีพส่วนตัวแล้ว ยังได้สนใจกับงานช่างทางฝีมือต่าง ๆ และทำการฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ จนต่อมาเมื่อทางกระทรวงศึกษาได้เปิดการอบรมการช่างฝีมือทางจักสานและประดิษฐ์หมวกใบลานขึ้นเป็นครั้งแรก จึงได้เข้ารับราชการเป็นครูสอนตั้งแต่นั้นมา โดยอาศัยส่วนหนึ่งของโรงเรียนมัธยมวัดราชโอรสเป็นสถานฝึกสอน ต่อมา ทางกระทรวงศึกษาได้ย้ายมาฝึกสอนอยู่โรงเรียนเพาะช่าง, ก่อสร้างอุเทนถวาย และครั้งสุดท้าย ได้ย้ายมารับราชการอยู่ที่โรงเรียนการช่างสตรีพระนครใต้ (เมื่อยังเป็นโรงเรียนสตรีบ้านทวายรวมอยู่กับโรงเรียนศรีสุริโยทัย) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๘๕ จึงได้จากราชการมาประกอบอาชีพส่วนตัวจนถึงแก่กรรม

นางเทียบ เพชรพลาย ได้เริ่มป่วยกะเสาะกะแสะเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ส่วนมากมักมีอาการป่วยปวดเมื่อยและเจ็บที่บริเวณสะโพกเป็นครั้งคราว แต่ก็มิได้สงสัยว่า จะมีอาการของโรคร้ายแต่ประการใด และก็ยังพอประกอบอาชีพส่วนตัวได้เป็นปกติ จนต่อมา มีอาการเจ็บป่วยมากขึ้นจนไม่สามารถจะลุกเดินได้เป็นปกติ จึงได้ทำการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่ประมาณ ๑ เดือน อาการแต่มีทรงและทรุดลง จึงได้กลับไปรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แต่มีอาการทรุดหนักเพียบลงเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๐๕ รวมอายุได้ ๖๐ ปี ๑ เดือน ๘ วัน

ขณะที่นางเทียบ เพชรพลาย ยังมีชีวิตอยู่ ได้อุตสาหะพากเพียรประกอบอาชีพและอบรมบุตรธิดาด้วยความมานะอดทนตลอดมา และประกอบกับนางเทียบ เพชรพลาย เป็นผู้มีนิสัยใจคอโอบอ้อมอารีเมตตากรุณาแก่บุคคลทั่วไป และหมั่นประกอบการบุญการกุศลอยู่เป็นเนืองนิจ ฉะนั้น ในการที่นางเทียบฯ ถึงแก่กรรมลงในครั้งนี้ จึงเป็นที่น่าเสียดายและอาลัยรักอย่างสุดซึ้งแก่บรรดาลูก ๆ ญาติพี่น้อง และผู้รู้จักคุ้นเคยเป็นอันมาก

สาเหตุที่ใช้นามสกุล "เร็วพลัน" เนื่องจากขณะที่ ร.ท. เยี่ยม เพชรพลาย ได้ย้ายไปรับราชการทหารอยู่ที่กรมทหารม้า มณฑลทหารบกนครราชสีมา ได้รับพระราชทานนามสกุลใหม่เป็น "เร็วพลัน" (ซึ่งในขณะนั้น มีเพื่อนนายทหารรุ่นเดียวกันกับ ร.ท. เยี่ยม เพชรพลาย ได้รับพระราชทานนามสกุลพร้อมในคราวเดียวกันดังนี้ คือ เร็วพลัน (ร.ท. เยี่ยมฯ) ทันด่วน, วิ่งคล่อง ว่องไว) ต่อมา ร.ท. เยี่ยมฯ ได้ลาออกจากราชการมารับราชการอยู่ที่กรมไปรษณีย์โทรเลข ก็ยังคงใช้นามสกุล "เร็วพลัน" เรื่อยมา เมื่อออกจากราชการรับบำเหน็จบำนาญแล้ว จึงได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุล "เพชรพลาย" ตามเดิม


๒๕ เมษายน ๒๕๐๕