ข้ามไปเนื้อหา

วิกิซอร์ซ:นโยบายลิขสิทธิ์

จาก วิกิซอร์ซ
เอกสารในหน้านี้คือนโยบายอย่างเป็นทางการบนวิกิซอร์ซ นโยบายได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากผู้แก้ไขและถือเป็นมาตรฐานที่ทุกคนควรปฏิบัติตาม นอกเหนือจากการแก้ไขเล็กน้อย โปรดใช้หน้าอภิปรายเพื่อเสนอการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้
นโยบายลิขสิทธิ์
ในฐานะห้องสมุดเสรี วิกิซอร์ซมุ่งมั่นจะพัฒนาให้เกิดการสะสมงานที่มีเนื้อหาเสรี หน้านี้ระบุนโยบายสำหรับใช้กำหนดว่า งานใดมีเนื้อหาเสรีหรือไม่

กฎหมายที่ใช้แก่วิกิซอร์ซ

[แก้ไข]

กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ใช้แก่วิกิซอร์ซ หลัก ๆ แล้ว คือ กฎหมายของสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งเซิร์ฟเวอร์ของมูลนิธิวิกิมีเดียตั้งอยู่

แต่สหรัฐไม่มีหน้าที่ต้องขยายความคุ้มครองลิขสิทธิ์ไปยิ่งกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายแห่งประเทศของผู้สร้างสรรค์ (เช่น ถ้าตามกฎหมายแห่งประเทศของผู้สร้างสรรค์ งานได้กลายเป็นสาธารณสมบัติแล้ว แม้ตามกฎหมายแห่งสหรัฐ งานยังไม่เป็นสาธารณสมบัติก็ตาม ก็จะถือว่า งานเป็นสาธารณสมบัติแล้ว)

สำหรับประเทศไทย ดูที่หัวข้อ เนื้อหาเสรีตามกฎหมายไทย

เนื้อหาเสรี

[แก้ไข]

เนื้อหาเสรี (free content) คือ เนื้อหาที่ทุกคนสามารถดู ใช้ เผยแพร่ แก้ไข หรือแสวงหาประโยชน์ได้ในทุกรูปแบบและทุกวัตถุประสงค์ (ซึ่งรวมถึงเพื่อการค้า) โดยไม่มีข้อจำกัดหรือยกเว้นใด ๆ

เนื้อหาที่มีข้อจำกัดหรือยกเว้นดังต่อไปนี้ สามารถนำมาลงในวิกิซอร์ซได้

  • งานที่กำหนดให้มีการระบุอย่างง่าย ๆ ถึงผู้สร้างสรรค์ (simple attribution of the author) แต่ไม่รวมกรณีที่กำหนดให้ต้องแจ้งผู้สร้างสรรค์ทราบก่อนนำงานไปใช้
  • งานที่มีการส่งผ่านเสรีภาพ (transmission of freedoms) หรือที่เรียก ก็อปปีเลฟต์ (copyleft) หรือ แชร์อะไลก์ (share-alike) เช่น กำหนดให้เผยแพร่งานต่อยอด (derivative work) เป็นเนื้อหาเสรีเหมือนงานเดิม

เนื้อหาเสรีตามกฎหมายไทย

[แก้ไข]

เนื้อหาเสรี ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ได้แก่

  • งานที่ลิขสิทธิ์หมดอายุแล้วตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ซึ่งระบุว่า
    • ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา และรู้ตัวผู้สร้างสรรค์
      • ลิขสิทธิ์จะคุ้มครองจนผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย และคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย
      • ถ้ามีผู้สร้างสรรค์หลายคนร่วมกัน ลิขสิทธิ์จะคุ้มครองจนผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย และคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย แต่ถ้าผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคนถึงแก่ความตายก่อนงานนั้นจะได้รับการโฆษณาเป็นครั้งแรก ลิขสิทธิ์จะคุ้มครองเป็นเวลา 50 ปีนับแต่โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก
    • ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ลิขสิทธิ์จะคุ้มครอง 50 ปีนับแต่สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว อายุ 50 ปีจะเริ่มนับแต่โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรกแทน
  • งานที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า ไม่มีลิขสิทธิ์ ได้แก่ งานตามมาตรา 7 คือ
    • (1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
    • (2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
    • (3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบ ของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
    • (4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
    • (5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 15 ยังกำหนดว่า เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถอนุญาตให้ผู้อื่นใช้งานของตน โดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ผู้อื่นใช้งานของตนได้โดยเสรีหรือในลักษณะที่เข้ากับนิยามของ "เนื้อหาเสรี" ข้างต้น งานนั้นก็ถือเป็นเนื้อหาเสรีตามนิยามดังกล่าวได้อีกกรณีหนึ่ง

การใช้โดยชอบธรรม

[แก้ไข]

การใช้โดยชอบธรรม (fair use หรือ fair dealing) คือ การนำงานที่มีลิขสิทธิ์มาใช้งานตามที่กฎหมายอนุญาต (เช่น นำมาใช้ประโยชน์ทางการศึกษา) แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

การใช้งานโดยชอบธรรม ไม่สามารถกระทำได้ทุกกรณีในวิกิซอร์ซ

การมีส่วนร่วมในวิกิซอร์ซ

[แก้ไข]

ส่วนร่วม

[แก้ไข]

ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ส่วนร่วม (contribution) ทั้งหมดที่ผู้ใช้มีในวิกิซอร์ซ ย่อมอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution/Share-Alike (CC-BY-SA) และสัญญาอนุญาต GNU Free Documentation ฉบับ 1.2 หรือฉบับใหม่กว่านั้น ตามที่มูลนิธิซอฟต์แวร์เสรี (Free Software Foundation) ประกาศ โดยไม่รวมถึง หัวข้อห้ามเปลี่ยน (invariant section) ข้อความปกหน้า (front-cover text) และข้อความปกหลัง (back-cover text)

การนำงานมาลง

[แก้ไข]

งานทั้งหมดที่นำมาลงในวิกิซอร์ซ ต้องเป็นสาธารณสมบัติแล้ว หรือต้องได้รับการเผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตที่สอดคล้องกับนิยามของ "เนื้อหาเสรี" ข้างต้น

ผู้นำงานมาลง มีหน้าที่ต้องแสดงว่า งานนั้นสอดคล้องกับนโยบายของวิกิซอร์ซ

ผู้นำงานมาลง ต้องติดป้ายลิขสิทธิ์ในหน้างานนั้นตามสมควร ดูเพิ่มที่ วิธีใช้:ป้ายลิขสิทธิ์

งานต่อยอด

[แก้ไข]

งานต่อยอด (derivative work) จากงานอื่น จะนำมาลงได้ ต่อเมื่อทั้งงานเดิมและงานต่อยอดเป็นสาธารณสมบัติแล้ว หรือได้รับการเผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตที่สอดคล้องกับนิยามของ "เนื้อหาเสรี" ข้างต้น

การแปลงานอื่น หรือการสร้างสิ่งบันทึก (recording) จากงานอื่น ถือเป็นงานต่อยอด

การลิงก์ไปยังงานที่มีลิขสิทธิ์

[แก้ไข]

โดยปรกติแล้ว การลิงก์ไปยังงานที่มีลิขสิทธิ์ ไม่ถือเป็นปัญหา ตราบที่ผู้ลิงก์แสดงตามสมควรว่า หน้าที่ลิงก์ไปนั้นไม่มีปัญหาลิขสิทธิ์

การละเมิดลิขสิทธิ์

[แก้ไข]

ถ้าเชื่อว่า หน้าใดละเมิดลิขสิทธิ์ อาจขอให้ลบหน้านั้นจากวิกิซอร์ซได้ โดยติดป้ายดังนี้ไว้ที่ส่วนบนสุดของหน้านั้น

{{ลบ|ระบุเหตุผล}}

นอกจากนี้ ในการแจ้งลบ ควรระบุหลักฐานสนับสนุนด้วย

หน้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จะถูกลบ และผู้ที่ทราบนโยบายนี้แล้วยังจงใจฝ่าฝืนนโยบายนี้ จะถูกห้ามแก้ไขวิกิซอร์ซ