สมบัติของผู้ดี/เรื่อง

จาก วิกิซอร์ซ


กายจริยา คือ (๑) ย่อมไม่ใช้กริยาอันข้ามกรายบุคคล
(๒) ย่อมไม่อาจเอื้อมในที่ต่ำสูง
(๓) ย่อมไม่ล่วงเกินถูกต้องผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานเพื่อน
(๔) ย่อมไม่เสียดสีกระทบกระทั่งกายบุคคล
(๕) ย่อมไม่ลุกนั่งเดินเหินให้พรวดพพราดโดนผู้คนหรือสิ่งของแตกเสียหาย
(๖) ย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่นด้วยกริยาอันเสือกไสผลักโยน
(๗) ย่อมไม่ผ่านหน้าหรือบังตาผู้อื่นเมื่อเขาดูสิ่งใดอยู่ เว้นแต่เป็นที่เฉพาะไป
(๘) ย่อมไม่เอิกอึงเมื่อเวลาผู้อื่นทำกิจ
(๙) ย่อมไม่อื้ออึงในเวลาสดับตรับฟัง
(๑๐) ย่อมไม่แสดงกิริยาตึงตังหรือพูดจาอึกกระทึกในบ้านแขก
วจีจริยา คือ (๑) ย่อมไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด
(๒) ย่อมไม่พูดด้วยเสียงอันดังเหลือเกิน
(๓) ย่อมไม่ใช้เสียงตวาดหรือพูดจากระโชกกระชาก
(๔) ย่อมไม่ใช้วาจาอันหักหาญดึงดัน
(๕) ย่อมไม่ใช้วาจาอันหยาบคาย
มโนจริยา คือ (๑) ย่อมไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านกำเริบหยิ่งยะโส
(๒) ย่อมไม่บันดาลโทสะให้เสียกิริยา
กายจริยา คือ (๑) ย่อมใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวอันสอาด และแต่งตัวโดยเรียบร้อยเสมอ
(๒) ย่อมไม่แต่งตัวในที่แจ้ง
(๓) ย่อมไม่จิ้ม ควัก ล้วง แคะ แกะ เการ่างกายในที่ประชุมชน
(๔) ย่อมไม่กระทำการที่ควรจะทำในที่ลับในที่แจ้ง
(๕) ย่อมไม่หาวเรอให้ปรากฏในที่ประชุมชน
(๖) ย่อมไม่จามด้วยเสียงอันดังและโดยไม่ป้องกำบัง
(๗) ย่อมไม่บ้วนถ่มขากด้วยเสียงอันดังหรือให้เปรอะเปื้อนให้เป็นที่รังเกียจ
(๘) ย่อมไม่ลุกลนเลอะเทอะมุมมามในการบริโภค
(๙) ย่อมไม่ถูกต้องหรือหยิบยื่นสิ่งของที่ผู้อื่นจะบริโภคด้วยมือ
(๑๐) ย่อมไม่ล่วงล้ำหยิบของบริโภคผ่านหน้าผู้อื่น ซึ่งควรขอโทษและขอให้เขาส่งได้
(๑๑) ย่อมไม่ละลาบละล้วงเอาของผู้อื่นมาใช้ในการบริโภค เช่น ถ้วยน้ำ และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น
(๑๒) ย่อมไม่เอาเครื่องใช้ของตน เช่น ช้อนซ่อม ไปล้วงตักสิ่งบริโภคซึ่งเป็นของกลาง
(๑๓) ย่อมระวังไม่พูดจาตรงหน้าผู้อื่นให้ใกล้ชิดเหลือเกิน
วจีจริยา คือ (๑) ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครกพึงรังเกียจในท่ามกลางประชุมชน
(๒) ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งควรปิดบังในท่ามกลางประชุมชน
มโนจริยา คือ ย่อมพึงใจที่จะรักษาความสอาด
กายจริยา คือ (๑) ย่อมนั่งด้วยกิริยาอันสุภาพเฉพาะหน้าผู้มีบันดาศักดิ์
(๒) ย่อมไม่ขึ้นหน้าผ่านผู้ใหญ่
(๓) ย่อมไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่
(๔) ย่อมแหวกที่หรือให้ที่นั่งอันสมควรแก่ผู้ใหญ่หรือผู้หญิง
(๕) ย่อมไม่ทัด หรือคาบบุหรี่ คาบกล้อง และสูบให้ควันไปรมผู้อื่น
(๖) ย่อมเปิดหมวกเมื่อเข้าชายคาบ้านผู้อื่น
(๗) ย่อมเปิดหมวกในที่เคารพ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่ว่าแห่งศาสนาใด
(๘) ผู้น้อยย่อมเคารพผู้ใหญ่ก่อน
(๙) ผู้ชายย่อมเคารพผู้หญิงก่อน
(๑๐) ผู้ลาย่อมเป็นผู้เคารพก่อน
(๑๑) ผู้เห็นก่อนโดยมากย่อมเคารพก่อน
(๑๒) แม้ผู้ใดเคารพตนก่อน ย่อมต้องตอบเขาทุกคน ไม่เฉยเสีย
วจีจริยา คือ (๑) ย่อมไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่
(๒) ย่อมไม่กล่าวร้ายถึงญาติมิตรที่รักใคร่นับถือของผู้ฟังแก่ผู้ฟัง
(๓) ย่อมไม่กล่าววาจ อันติเตียนสิ่งเคารพหรือที่เคารพของผู้อื่นแก่ตัวเขา
(๔) เมื่อจะขอทำล่วงเกินแก่ผู้ใด ย่อมต้องขออนุญาตตัวเขาเสียก่อน
(๕) เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใดแก่บุคคลผู้ใด ควรออกวาจาขอโทษเสมอ
(๖) เมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ
มโนจริยา คือ (๑) ย่อมเคารพยำเกรงบิดา มารดา และอาจารย์
(๒) ย่อมนับถือนอบน้อมต่อผู้ใหญ่
(๓) ย่อมมีความอ่อนหวานแก่ผู้น้อย
กายจริยา คือ (๑) ย่อมไม่ฝ่าฝืนเวลานิยม คือ ไม่ไปใช้กิริยายืนเมื่อเขานั่งกับพื้น และไม่ไปนั่งกับพื้นเมื่อเวลาเขายืนเดินกัน
(๒) ย่อมไม่ไปนั่งนานเกินสมควรในบ้านของผู้อื่น
(๓) ย่อมไม่ทำกิริยารื่นเริงเมื่อเขามีทุกข์
(๔) ย่อมไม่ทำกิริยาโศกเศร้าเหี่ยวแห้งในที่ประชุมรื่นเริง
(๕) เมื่อไปสู่ที่ประชุมรื่นเริง ย่อมช่วยสนุกชื่นบานให้สมเรื่อง
(๖) เมื่อเป็นเพื่อนเที่ยว ย่อมต้องกลมเกลียว และร่วมลำบาก ร่วมสนุก
(๗) เมื่อตนเป็นเจ้าของบ้าน ย่อมต้องต้อนรับและเชื้อเชิญแขก ไม่เพิกเฉย
(๘) ย่อมไม่ทำกิริยาบึกบึนต่อแขก
(๙) ย่อมไม่ให้แขกต้องคอยนานเมื่อเขามาหา
(๑๐) ย่อมไม่จ้องดูนาฬิกา ในเวลาที่แขกยังนั่งอยู่
(๑๑) ย่อมไม่ใช้กิริยาอันบุ้ยใบ้หรือกระซิบกระซาบกับผู้ใดในเวลาเมื่อตนอยู่เฉพาะหน้าผู้หนึ่ง
(๑๒) ย่อมไม่ใช้กิริยาอันโกรธเคืองหรือดุดันผู้คนบ่าวไพร่ต่อหน้าแขก
(๑๓) ย่อมไม่จ้องดูบุคคลโดยเพ่งพิศเหลือเกิน
(๑๔) ย่อมต้องรับส่งแขกเมื่อไปมาในระยะเวลาอันสมควร
วจีจริยา คือ (๑) ย่อมไม่เที่ยวติเตียนสิ่งของที่เขาตั้งแต่งไว้ในบ้านที่ตนไปสู่หา
(๒) ย่อมไม่กล่าวสรรเสริญรูปกายบุคคลแก่ตัวเขาเอง
(๓) ย่อมไม่พูดให้เพื่อนเก้อกระดาก
(๔) ย่อมไม่พูดเปรียบเปรยเคาะแคะสตรีกลางประชุม
(๕) ย่อมไม่ค่อนแคะติรูปกายบุคคล
(๖) ย่อมไม่ทักถึงการร้ายโดยพลุ่งโพล่งให้เขาตกใจ
(๗) ย่อมไม่ทักถึงสิ่งอันน่าอายน่ากระดากโดยเปิดเผย
(๘) ย่อมไม่เอาสิ่งที่น่าจะอายจะกระดากมาเล่าให้แขกฟัง
(๙) ย่อมไม่เอาเรื่องที่เขาพึงซ่อนเร้นมากล่าวให้อับอายหรือเจ็บใจ
(๑๐) ย่อมไม่กล่าวถึงการอัปมงคลในเวลามงคล
มโนจริยา คือ (๑) ย่อมรู้จักเกรงใจคน
กายจริยา คือ (๑) ย่อมมีกิริยาอันผึ่งผายองอาจ
(๒) จะยืนนั่งย่อมอยู่ในลำดับอันสมควร ไม่เป็นผู้แอบหลังคนหรือหลีกเข้ามุม
(๓) ย่อมไม่เป็นผู้สะทกสะท้าน งกเงิ่น หยุด ๆ ยั้ง ๆ
วจีจริยา คือ (๑) ย่อมพูดจาฉะฉาน ชัดถ้อยความ ไม่อุบอิบอ้อมแอ้ม
มโนจริยา คือ (๑) ย่อมมีความรู้จักงาม รู้จักดี
(๒) ย่อมมีอัชฌาสัยอันกว้างขวาง เข้าไหนเข้าได้
(๓) ย่อมมีอัชฌาสัยเป็นนักเลง ใครจะพูดหรือเล่นอันใด ก็เข้าใจและต่อติด
(๔) ย่อมมีความเข้าใจว่องไว ไหวพริบรู้เท่าถึงการ
(๕) ย่อมมีใจอันองอาจกล้าหาญ
กายจริยา คือ (๑) ย่อมทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน
(๒) ย่อมไม่ถ่วงเวลาให้ผู้อื่นคอย
(๓) ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบจดหมาย
(๔) ย่อมไม่ทำการแต่ต่อหน้า
วจีจริยา คือ (๑) พูดสิ่งใดย่อมให้เป็นที่เชื่อถือได้
(๒) ย่อมไม่รับวาจาคล่อง ๆ โดยมิได้เห็นว่า การจะเป็นได้หรือไม่
มโนจริยา คือ (๑) ย่อมเป็นผู้รักษาความสัตย์ในเวลา
(๒) ย่อมไม่เป็นผู้เกียจคร้าน
(๓) ย่อมไม่เข้าใจว่า ผู้ดีทำอะไรด้วยตนไม่ได้
(๔) ย่อมไม่เพลิดเพลินจนละเลยให้การเสีย
(๕) ย่อมเป็นผู้รักษาความเป็นระเบียบ
(๖) ย่อมเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาเมื่ออยู่ในหน้าที่
(๗) ย่อมมีมานะในการงาน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
(๘) ย่อมเป็นผู้ทำอะไรทำจริง
(๙) ย่อมไม่เป็นผู้ดึงดันในที่ผิด
(๑๐) ย่อมปรารถนาความดีต่อการงานที่ทำอยู่เสมอ
กายจริยา คือ (๑) เมื่อเห็นใครทำผิดพลาดอันน่าเก้อกระดาก ย่อมช่วยกลบเกลื่อนหรือทำไม่เห็น
(๒) เมื่อเห็นสิ่งของของใครตกหรือจะเสื่อมเสีย ย่อมต้องหยิบยื่นให้หรือบอกให้รู้ตัว
(๓) เมื่อเห็นเหตุร้ายหรืออันตรายจะมีแก่ผู้ใด ย่อมต้องรีบช่วย
วจีจริยา คือ (๑) ย่อมไม่เยาะเย้ยถากถางผู้กระทำผิดพลาด
(๒) ย่อมไม่ใช้วาจาอันข่มขี่
มโนจริยา คือ (๑) ย่อมไม่มีใจอันโหดเหี้ยมเกรี้ยวกราดแก่ผู้น้อย
(๒) ย่อมเอาใจโอบอ้อมอารีแก่คนอื่น
(๓) ย่อมเอาใจช่วยคนเคราะห์ร้าย
(๔) ย่อมไม่เป็นผู้ซ้ำเติมคนเสียที
(๕) ย่อมไม่เป็นผู้อาฆาตจองเวร
กายจริยา คือ (๑) ย่อมไม่พักหาความสบายก่อนผู้ใหญ่หรือผู้หญิง
(๒) ย่อมไม่เสือกสนแย่งชิงที่นั่งหรือที่ดูอันใด
(๓) ย่อมไม่เที่ยวแย่งผู้หนึ่งมาจากผู้หนึ่งในเมื่อเขาสนทนากัน
(๔) เป็นผู้ใหญ่ จะไปมาลุกนั่ง ย่อมไว้ช่องทางให้ผู้น้อยมีโอกาสบ้าง
(๕) ในการเลี้ยงดู ย่อมเผื่อแผ่เชื้อเชิญแก่คนข้างเคียงก่อนตน
(๖) ในการบริโภค ย่อมหยิบยกยื่นส่งสิ่งของแก่ผู้อื่นต่อ ๆ ไปไม่มุ่งแต่กระทำกิจส่วนตน
(๗) ย่อมไม่รวบสามตะกลามสี่กวาดฉวยเอาของที่เขาตั้งไว้เป็นกลางจนเกินส่วนที่ตนจะได้
(๘) ย่อมไม่แสดงความไม่เพียงพอในสิ่งของที่เขาหยิบยกให้
(๙) ย่อมไม่นิ่งนอนใจให้เขาออกทรัพย์แทนส่วนตนเสมอ เช่น ในการเลี้ยงดู หรือใช้ค่าเดินทาง เป็นต้น
(๑๐) ย่อมไม่ลืมที่จะส่งของซึ่งคนอื่นได้สงเคราะห์ให้ตนยืม
(๑๑) การให้สิ่งของหรือเลี้ยงดูซึ่งเขาได้กระทำแก่ตน ย่อมต้องตอบแทนเขา
วจีจริยา คือ (๑) ย่อมไม่ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้ใดเพื่อจะพาไปพูดจาความลับกัน
(๒) ย่อมไม่สนทนาแต่เรื่องตนถ่ายเดียวจนคนอื่นไม่มีช่องจะสนทนาเรื่องอื่นได้
(๓) ย่อมไม่นำธุระตนเข้ากล่าวแทรกในเวลาธุระอื่นของเขาชุลมุน
(๔) ย่อมไม่กล่าววาจาติเตียนของที่เขาหยิบยกให้ว่า ไม่ดี หรือไม่พอ
(๕) ย่อมไม่ถามราคาของที่เขาได้หยิบยกให้แก่ตน
(๖) ย่อมไม่แสดงราคาของที่จะหยิบยกให้แก่ผู้ใดให้ปรากฏ
(๗) ย่อมไม่ใช้วาจาอันโอ้อวดตนและลบหลู่ผู้อื่น
มโนจริยา คือ (๑) ย่อมไม่มีใจมักได้เที่ยวขอของเขาร่ำไป
(๒) ย่อมไม่ตั้งใจปรารถนาของรักเพื่อน
(๓) ย่อมไม่พึงใจการหยิบยืมเข้าของทองเงินซึ่งกันและกัน
(๔) ย่อมไม่หวังแต่จะพึ่งอาศัยผู้อื่น
(๕) ย่อมไม่เป็นผู้เกี่ยงงาน ทอดเทการงานตนให้ผู้อื่น
(๖) ย่อมรู้คุณผู้อื่นที่ได้ทำแล้วแก่ตน
(๗) ย่อมไม่มีใจฤษยา
กายจิริยา คือ (๑) ย่อมไม่ละลาบละล้วงเข้าห้องเรือนแขกก่อนเจ้าของบ้านเขาเชิญ
(๒) ย่อมไม่แลลอดสอดส่ายโดยเพ่งเล็งเข้าไปตามห้องเรือนแขก
(๓) ย่อมไม่เที่ยวฉวยโน่นหยิบนี่ของผู้อื่นดูจนเหลือเกินราวกับว่าจะค้นหาสิ่งใด
(๔) ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูจดหมายของผู้อื่นที่เจ้าของไม่มีความประสงค์จะให้ดู
(๕) ย่อมไม่เที่ยวขอหรือหยิบฉวยดูสมุดพกหรือสมุดจดรายบัญชีของผู้อื่นซึ่งตนไม่มีธุระเกี่ยวข้องเป็นหน้าที่
(๖) ย่อมไม่เที่ยวนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น
(๗) ย่อมไม่เที่ยวเปิดดูหนังสือตามโต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น
(๘) ย่อมไม่แทรกเข้าหมู่ผู้อื่นซึ่งเขาไม่ได้เชื้อเชิญ
(๙) ย่อมไม่ลอบแอบฟังคนพูด
(๑๐) ย่อมไม่ลอบแอบดูการลับ
(๑๑) ถ้าเห็นเขาจะพูดความลับกัน ย่อมต้องหลบตาหรือลี้ตัว
(๑๒) ถ้าจะเข้าห้องเรือนผู้ใด ย่อมต้องเคาะประตูหรือกล่าววาจาให้เขารู้ตัวก่อน
วจีจริยา คือ (๑) ย่อมไม่ซอกแซกไต่ถามธุระส่วนตัวหรือการในบ้านของเขาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ตน
(๒) ย่อมไม่เที่ยวถามเขาว่า นั่นเขียนหนังสืออะไร?
(๓) ย่อมไม่เที่ยวถามถึงผลประโยชน์ที่เขาหาได้ เมื่อตนไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
(๔) ย่อมไม่เอาการในบ้านของผู้ใดมาแสดงในที่แจ้ง
(๕) ย่อมไม่เก็บเอาความลับของผู้หนึ่งมาเที่ยวพูดแก่ผู้อื่น
(๖) ย่อมไม่กล่าวถึงความชั่วร้ายอันเป็นความลับเฉพาะบุคคลในที่แจ้ง
(๗) ย่อมไม่พูดสับปลับ กลับกลอก ตลบตะแลง
(๘) ย่อมไม่ใช้คำสบถติดปาก
(๙) ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำมุสา
มโนจริยา คือ (๑) ย่อมไม่เป็นคนต่อหน้าอย่างหนึ่งลับหลังอย่างหนึ่ง
(๒) ย่อมเป็นผู้รักษาความไว้วางใจของผู้อื่น
(๓) ย่อมไม่แสวงประโยชน์ในทางที่ผิดธรรม
(๔) ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง
กายจริยา คือ (๑) ย่อมไม่เป็นพาลเที่ยวเกะกะระรั้วและกระทำร้ายคน
(๒) ย่อมไม่ข่มเหงผู้อ่อนกว่า เช่น เด็ก หรือผู้หญิง
(๓) ย่อมไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเจ็บอายเพื่อความสนุกยินดีของตน
(๔) ย่อมไม่หาประโยชน์ในอาการที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
(๕) ย่อมไม่เสพย์สุราจนถึงเมาและติด
(๖) ย่อมไม่มั่วสุมกับสิ่งอันเลวทราม เช่น กัญชายาฝิ่น
(๗) ย่อมไม่หมกมุ่นในการพนันเพื่อจะปรารถนาทรัพย์
(๘) ย่อมไม่ถือเอาเป็นของตนในสิ่งที่เจ้าของไม่อนุญาต
(๙) ย่อมไม่พึงใจในคนที่มีเจ้าของหวงแหน
วจีจริยา คือ (๑) ย่อมไม่เป็นพาลพอใจทะเลาะวิวาท
(๒) ย่อมไม่พอใจนินทาว่าร้ายกันและกัน
(๓) ย่อมไม่พอใจพูดส่อเสียดยุยง
(๔) ย่อมไม่เป็นผู้สอพลอประจบประแจง
(๕) ย่อมไม่แช่งชักให้ร้ายผู้ใด
มโนจริยา คือ (๑) ย่อมไม่ปองร้ายผู้อื่น
(๒) ย่อมไม่คิดทำร้ายผู้อื่นเพื่อประโยชน์ตน
(๓) ย่อมมีความเหนี่ยวรั้งใจตนเอง
(๔) ย่อมเป็นผู้มีความละอายแก่บาป