ข้ามไปเนื้อหา

สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ลงวันที่ 4 มีนาคม ร.ศ. 129

จาก วิกิซอร์ซ
สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ

สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม กับสมเด็จพระเจ้ากรุงเกรตบริเตนแลไอร์แลนด์อันรวมกัน แลอาณาจักรอังกฤษที่พ้นทะเลทั้งหลาย แลบรมราชาธิราชแห่งอินเดีย ได้มีพระราชวินิจฉัยพร้อมกันเพื่อจะจัดการศาลยุติธรรมสำหรับชำระความให้ดียิ่งขึ้น แลเพื่อจะป้องกันไม่ให้มีผู้กระทำความผิดอันร้ายเปนโทษอยู่ในพระราชอาณาเขตรทั้ง ๒ ฝ่าย คือ คนที่ต้องหาหรือว่าคนที่พิจารณาเปนสัตย์ว่า กระทำความผิดอันมีโทษตามที่มีรายชื่อกล่าวไว้ในสัญญานี้ แลเปนผู้ซึ่งหลบหนีจากศาลยุติธรรมนั้น สมควรที่จะส่งตัวให้ซึ่งกันแลกันในเหตุการบางอย่างเช่นกล่าวไว้ ฝ่ายไทยแลฝ่ายอังกฤษจึงได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็มทั้ง ๒ ฝ่ายให้ตกลงกันตามสัญญาเพื่อประโยชน์ที่กล่าวมานี้ คือว่า

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามนั้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศฝ่ายสยาม

แลฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงเกรตบริเตนแลไอร์แลนด์อันรวมกัน แลอาณาจักรอังกฤษที่พ้นทะเลทั้งหลาย แลบรมราชาธิราชแห่งอินเดียนั้น คือ อาเธอปิล เอสไควร์ อรรคราชทูตพิเศษแลผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายอังกฤษประจำอยู่ณพระราชสำนักนิ์ที่กรุงเทพฯ

ผู้มีอำนาจทั้ง ๒ ฝ่ายได้แสดงหนังสือสำคัญซึ่งได้รับมอบอำนาจเต็มที่ ได้สอบดูซึ่งกันแลกัน แลเห็นกันว่า หนังสือนั้นถูกต้องตามแบบอย่างดีแล้ว จึงได้ตกลงยินยอมพร้อมกัน ทำหนังสือสัญญามีข้อความดังต่อไปนี้

ข้อ ๑
ประเทศที่ทำสัญญากันทั้ง ๒ ฝ่ายนี้สัญญาว่า จะส่งซึ่งกันแลกันบรรดาคนที่อยู่ในอำนาจศาลขอฝฝ่ายนั้น ๆ อันเปนคนที่ต้องหาหรือที่พิจารณาเปนสัตย์ว่า กระทำผิดมีโทษในดินแดนของฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะหลบหนีไปพบตัวอยู่ในดินแดนอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ตามเหตุการแลตามข้อความที่กล่าวไว้ในหนังสือสัญญานี้
ข้อ ๒

ความผิดอันมีโทษทั้งหลายซึ่งจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนแก่กันนั้น คือ

โทษฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือโทษพยายามจะฆ่าคนให้ตาย หรือสมคบกันจะฆ่าคนให้ตาย

โทษฆ่าคนตายโดยไม่มีเจตนา

โทษประทุษฐร้ายแก่ร่างกายถึงบาดเจ็บ โทษจงใจประทุษฐร้ายแก่ร่างกายอย่างสาหัส

โทษปลอมเงินตรา หรือแปลงเงินตรา หรือจำหน่ายใช้เงินตราปลอมหรือแปลง

โทษกระทำเครื่องมือหรือจักรกลไกซึ่งรู้ว่า สำหรับจะใช้หรือเจตนาจะใช้สำหรับปลอมแปลงเงินตรา

โทษปลอมแปลง หรือเปลี่ยนสับ ฤๅกระทำสรรพสิ่งซึ่งเปนของฉ้อฉน เปนของปลอมแปลง หรือเปนของสับเปลี่ยนแทนของจริง

โทษยักยอกทรัพย์ หรือลักทรัพย์

โทษจงใจทำร้ายแก่ทรัพย์สมบัติด้วยเครื่องระเบิด ฤๅด้วยเครื่องมืออย่างอื่น ๆ อันเปนมหันตโทษ

โทษฉ้อโกงเอาเงิน ฤๅสิ่งของ หรือหนังสือสำคัญ

๑๐โทษรับเงิน หรือหนังสือสำคัญ หรือทรัพย์สิ่งของอันมีราคา เมื่อรู้อยู่ว่า สิ่งนั้นเปนของโจรลักมา หรือเปนของยักยอกกันมา หรือเปนของที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

๑๑โทษทั้งหลายอันผิดต่อกฎหมายล้มละลาย

๑๒โทษฉ้อโกง ซึ่งผู้รับมอบทรัพย์ธนาคาร เอเยนต์ ผู้รับขาย ผู้ที่ไว้วางใจให้จัดการ หรือผู้อำนวยการ หรือสมาชิก หรือพนักงานของบริษัทใด ๆ ได้กระทำผิด ซึ่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้นกำหนดไว้ว่า เปนความผิดในทางอาญา

๑๓โทษเบิกความเท็จ หรือจัดหาผู้อื่นมาเบิกความเท็จ

๑๔โทษข่มขืนทำชำเรา

๑๕โทษกระทำชำเราหรือพยายามจะกระทำชำเราหญิงที่มีอายุต่ำ ยังไม่รู้เดียงสา ตามที่มีกำหนดไว้ในกฎหมายของประเทศฝ่ายนั้น ๆ

๑๖โทษกระทำอนาจาร

๑๗โทษรีดลูกให้แท้ง ใช้ยากินหรือใช้เครื่องมือทั้งหลายด้วยเจตนาหมายจะให้หญิงแท้งลูก

๑๘โทษลักพาคนหนี

๑๙โทษลักเด็ก

๒๐โทษละทิ้ง หรือทอดทิ้ง หรือกักขังเด็กไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

๒๑โทษลักคน หรือกักขั้งคนไว้ในที่ผิดต่อกฎหมาย

๒๒โทษตัดช่อง หรือย่องเบา

๒๓โทษวางเพลิง

๒๔โทษชิงทรัพย์โดยใช้กำลัง

๒๕โทษจงใจกระทำร้ายด้วยเจตนาหมายจะให้เกิดภยันตราแก่ผู้หนึ่งผู้ใดในรถไฟ

๒๖โทษขู่เข็ญด้วยหนังสือหรืออุบายอย่างอื่น ๆ โดยเจตนาเพื่อกันโชกเอาทรัพย์

๒๗โทษโจรสลัดตามกฎหมายระหว่างนา ๆ ประเทศ

๒๘โทษทำให้เรือกำปั่นในทะเลจมหรือเปนอันตราย หรือโทษพยายามหรือสมคบกันกระทำการเช่นว่านี้

๒๙โทษกระทำร้ายต่อร่างกายในเรือซึ่งเดิรอยู่ในทะเลด้วยเจตนาหมายจะให้ถึงแก่ชีวิตหรือจะให้เจ็บปวดสาหัส

๓๐โทษขัดขืนหรือสมคบกันเพื่อจะขัดขืนอำนาจของนายเรือตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปในเวลาเดิรเรืออยู่ในท้องทะเล

๓๑โทษค้าขายทาษที่นับว่า เปนความผิดต่อกฎหมายทั้ง ๒ ประเทศ

การส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันนั้น ถ้ากฎหมายทั้งสองฝ่ายว่า ผู้สมรู้ร่วมคิดมีความผิดควรลงโทษด้วยแล้ว ก็จะส่งผู้สมรู้ร่วมคิดให้ซึ่งกันแลกันด้วยเหมือนกัน

ถ้าโทษอย่างอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถ้ามีความอยู่ในกฎหมายซึ่งใช้อยู่ทั้งสองฝ่ายว่า จะส่งผู้ร้ายให้กันได้นั้น ก็สุดแล้วแต่ประเทศซึ่งรับคำขอให้ส่งนั้นจะเห็นสมควรว่า จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ต่อกันหรือไม่

ข้อ ๓

รัฐบาลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เมื่อเห็นว่า ไม่ควรยอมส่งคนในบังคับของรัฐบาลฝ่ายนั้นให้แก่รัฐบาลอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ก็ไม่ต้องส่งให้แก่กัน

ข้อ ๔

ถ้าคนที่รัฐบาลร้องขอก็ดี หรือคนที่รัฐบาลอังกฤษร้องขอก็ดี เปนคนที่ได้ชำระแลปล่อยให้พ้นโทษแล้ว หรือได้ลงโทษแล้ว หรือว่า ยังกำลังชำระอยู่ด้วยโทษที่ร้องขอกันนั้นในเมืองอังกฤษก็ดี หรือกำลังชำระในกรุงสยามก็ดี ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยลำดับที่กล่าวมาแล้ว ไม่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ซึ่งกันแลกัน

ถ้าคนที่รัฐบาลสยามร้องขอก็ดี หรือคนที่รัฐบาลอังกฤษร้องขอก็ดี เปนคนที่กำลังต้องไต่สวนอยู่ด้วยโทษอย่างใด ๆ ในเมืองอังกฤษก็ดี หรือในกรุงสยามก็ดี การที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กันนั้นจะต้องงดรอไว้จนกว่าจะได้พิจารณาแลลงโทษเสร็จแล้ว จึงส่งให้ซึ่งกันแลกัน

ข้อ ๕

ถ้าผู้ร้ายที่หนีมายังประเทศใด ประเทศนั้นเห็นว่า โทษที่ขอให้ส่งตัวไปชำระนั้นเปนโทษมีลักษณผิดต่ออำนาจของบ้านเมืองก็ดี หรือว่าผู้ร้ายนั้นนำพยานพิสูตรให้เห็นว่า การที่ขอให้ส่งตัวกลับไปเปนการเพื่อจะชำระแลลงโทษอันมีลักษณผิดต่ออำนาจของบ้านเมืองแล้ว ก็ไม่ต้องส่งผู้ร้ายคนนั้นให้แก่กัน

ข้อ ๖

ผู้ร้ายที่ส่งไปแล้วนั้น ห้ามไม่ให้ประเทศที่รับตัวไปนั้นเอาไปกักขังหรือชำระโทษอย่างอื่น ๆ นอกจากโทษที่ร้องขอรับตัวไป จนกว่าจะได้ปล่อยตัว หรือให้โอกาศแก่คนที่รับตัวไปนั้นเพื่อกลับไปยังประเทศที่ส่งตัวให้นั้นได้แล้ว จึงจะชำระโทษคดีอย่างอื่น ๆ ได้

แต่ข้อความที่ว่ามานี้ ไม่หมายความถึง โทษที่ผู้ร้ายซึ่งส่งตัวไปนั้นจะได้กระทำความผิดขึ้นใหม่เมื่อรับตัวไปถึงประเทศนั้นแล้ว

ข้อ ๗

การที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันนั้น จะต้องขอทางทูตของประเทศที่ทำสัญญานี้ต่อกันแลกัน

การขอให้ส่งผู้ต้องหาว่า กระทำผิดมีโทษนั้น จะต้องมีหมายจับของเจ้าพนักงานผู้มีน่าที่ในประเทศที่ต้องการจะให้ส่งตัวคนร้าย แลจะต้องมีพยานให้พอที่จะจับได้ตามกฎหมายที่ใช้กันอยู่ณะที่พบตัวผู้ต้องหา ถ้าหากผู้ต้องหาได้กระทำความผิดณที่นั้นด้วย

ถ้าเปนการขอร้องให้ส่งตัวผู้ร้ายที่ต้องรับโทษอยู่แล้วนั้น จะต้องให้มีสำเนาคำตัดสินของศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในประเทศที่ร้องขอนั้นว่า ได้พิพากษาลงโทษคนที่พิจารณาเปนสัตย์นั้นด้วย

การลงโทษถานขัดขืนอำนาจศาล ไม่ให้นับว่า เปนการลงโทษ ให้คงถือผู้นั้นว่า เปนจำเลยฤๅผู้ต้องหา

ข้อ ๘

ถ้าการที่ขอให้ส่งคนร้ายข้ามแดนนั้นได้กระทำถูกต้องตามความที่กล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว เจ้าพนักงานผู้มีน่าที่อันสมควรของประเทศที่ถูกขอนั้นจะต้องจัดการจับกุมผู้ร้ายที่หนีมาอาไศรยอยู่ แล้วนำตัวผู้ต้องจับไปส่งให้ตุลาการผู้มีน่าที่ไต่สวนคดี เสมอเหมือนหนึ่งว่า ผู้นั้นต้องถูกจับถานกระทำผิดเปนโทษในเมืองนั้นเอง

ข้อ ๙

เมื่อประเทศที่ทำสัญญานี้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเห็นว่า เปนเปนการร้อนแล้ว ฝ่ายนั้นจะร้องขอให้จับกุมตัวคนกักขังไว้แลจับสิ่งของที่เกี่ยวกับโทษผิดนั้นพลางก่อนก็ได้

การขอเช่นนี้จะยอมทำให้ได้ต่อเมื่อมีหลักถาน มีคำตัดสิน หรือมีหมายจับมาแสดงก่อน กับทั้งแสดงโทษของผู้หลบหนีนี้ต้องหาอย่างไรให้ชัดเจนเสียก่อนด้วย

หมายจับที่กล่าวใว้ในข้อนี้จะต้องเปนหมายที่เจ้าพนักงานผู้มีน่าที่จะออกในเมืองซึ่งร้องขอส่งคนข้ามแดนได้ออก แลเมื่อจับผู้ต้องหาได้แล้ว ต้องรีบส่งตัวไปยังตุลาการผู้มีน่าที่ไต่สวนโดยเร็วที่สุดที่จะกระทำได้

ข้อ ๑๐

ในการไต่สวนซึ่งจะต้องกระทำตามความที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เจ้าพนักงานในประเทศที่รับคำขอนั้นจะต้องยอมรับเปนพยาน คำให้การอันได้สาบาลหรือกระทำสัตยาธิฐานเบิกความไว้ในประเทศอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว หรือสำเนาถ้อยคำของพยานพยานเหล่านี้ก็ดี บัตรหมายที่ได้ออก แลคำตัดสินที่ได้พิพากษาในอีกประเทศหนึ่งในเรื่องนั้นแล้วก็ดี แลถ้อยคำซึ่งเปนลายลักษณอักษรของผู้มีน่าที่ หรือหนังสือต่าง ๆ ในสำนวนความแสดงถึงการลงโทษก็ดี แต่หนังสือนั้น ๆ เจ้าพนักงานผู้มีน่าที่จะต้องรับรองดังต่อไปนี้

(๑)หมายนั้นต้องให้ลงชื่อผู้พิพากษาหรือเจ้าพนักงานในประเทศอีกฝ่ายหนึ่ง

(๒)คำให้การ หรือคำแสดงในสัจจาธิฐาน หรือสำเนาคำทั้งหลายนี้ ต้องให้ผู้พิพากษาหรือเจ้าพนักงานผู้มีน่าที่ในประเทศอีกฝ่ายหนึ่งรับรองว่า เปนต้นฉบับคำให้การ หรือคำแสดงในสัจจาธิฐาน หรือว่า เปนสำเนาอันถูกต้องกับต้นฉบับเดิมของคำเหล่านี้ สุดแล้วแต่ที่จะต้องการใช้

(๓)ถ้อยคำซึ่งเปนลายลักษณอักษรของผู้มีน่าที่ หรือหนังสือต่าง ๆ ในสำนวนความแสดงถึงการลงโทษนั้น ต้องให้ผู้พิพากษาหรือเจ้าพนักงานผู้มีน่าที่ของประเทศอีกฝ่ายหนึ่งนั้นรับรอง

(๔)ในคดีทุกเรื่อง หมายก็ดี คำให้การก็ดี คำแสดงในสัจจาธิฐานก็ดี สำเนาหนังสือก็ดี ถ้อยคำซึ่งเปนลายลักษณอักษรของผู้มีน่าที่ หรือหนังสือต่าง ๆ ในสำนวนความก็ดี ต้องมีพยานสาบาลรับรอง หรือมีตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมประทับ หรือตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงอื่นในประเทศอีกฝ่ายหนึ่งประทับรับรองก็ได้ แต่ถ้ามีวิธีรับรองอย่างอื่นซึ่งกฎหมายในประเทศที่ไต่สวนคดีอยู่ในขณะนั้นอนุญาตให้ใช้ได้แล้ว จะใช้วิธีอย่างอื่นนั้นแทนวิธีที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็ได้

ข้อ ๑๑

การที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันนี้ ยังไม่ต้องส่งให้แก่กัน เว้นไว้แต่จะมีพยานพอตามกฎหมายของประเทศที่ถูกของให้ส่งผู้ร้ายนั้นให้เห็นว่า ถ้าหากความผิดนั้นจำเลยได้กระทำในประเทศนั้นเองแล้ว จะสั่งขังจำเลยไว้รอการพิจารณาได้ประการหนึ่ง หรือมีพยานมาแสดงให้เห็นว่า จำเลยนี้เปนคนคนเดียวกันกับผู้ที่ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลแห่งประเทศซึ่งขอให้ส่งตัวนั้น แลความผิดที่จำเลยต้องรับโทษนั้นเปนความผิดอย่างหนึ่งซึ่งประเทศที่ถูกขอให้ส่งคนร้ายข้ามแดนจะส่งตัวให้ได้ในเวลาที่พิพากษาลงโทษจำเลยนั้ คนร้ายที่หนีเช่นว่านี้ยังไม่ต้องส่งตัวให้แก่กันจนกว่าจะครบ ๑๕ วันนับตั้งแต่วันที่ได้สั่งให้ขังไว้ยังคุกรอการส่งตัว

ข้อ ๑๒

ถ้าคนร้ายนั้นหลายประเทศด้วยกันร้องขอส่งตัวตามสัญญานี้แล้ว จะต้องส่งตัวคนร้ายนั้นให้แก่ประเทศที่ได้ร้องขอก่อนประเทศอื่น

ข้อ ๑๓

ถ้าไม่มีพยานหลักถานเพียงพอสำหรับจำส่งคนร้ายข้ามแดนกันภายในกำหนด ๒ เดือนนับตั้งแต่วันที่จับตัวคนที่หนีได้แล้ว ฤๅภายในกำหนดเวลาที่ประเทศที่ถูกขอฤๅศาลของประเทศนั้นจะได้ให้เวลาต่อไปอีกแล้ว จะต้องปล่อยตัวคนหนีนั้นไป

ข้อ ๑๔

บรรดาสิ่งของที่จับได้ อันเปนของที่พบอยู่กับตัวคนที่จะได้ส่ง ในเวลาเมื่อจับกุมตัวนั้น ถ้าเจ้าพนักงานผู้มีน่าที่อันสมควรในประเทศที่ถูกขอมีคำสั่งว่า ให้ส่งสิ่งของนั้นด้วยแล้ว เมื่อเวลาส่งตัวคนร้ายข้ามแดนไป สิ่งของนั้นจะได้ส่งไปด้วย แลการส่งสิ่งของนั้นจะไม่กำหนดเฉภาะแต่สิ่งของที่ลักขโมย สิ่งของทุกอย่างที่จะเปนพยานในความผิดนั้นได้จะส่งด้วยเหมือนกัน

ข้อ ๑๕

ประเทศที่ทำสัญญานี้ทั้งสองฝ่ายสัญญาว่า จะไม่คิดคืนเอาเงินค่าใช้สรอยทั้งหลายที่จะต้องใช้ในการจับกุม แลในการรักษาคนที่จะส่งแก่กัน แลค่าพาหะนะที่จะพาตัวไปส่งจนถึงลงเรือกำปั่น ประเทศทั้งสองฝ่ายยอมกันว่า จะใช้เงินเหล่านี้เอง

ข้อ ๑๖

ข้อสัญญาทั้งหลายในหนังสือสัญญานี้จะใช้ได้ตลอดไปถึงหัวเมืองขึ้นแลอาณาเขตรของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ตามแต่กฎหมายของหัวเมืองขึ้นแลอาณาเขตรที่ได้ใช้อยู่ในเวลานั้นว่า จะเปนไปได้เพียงใด

การขอให้ส่งคนร้ายที่หนีไปอาไศรยอยู่ในหัวเมืองขึ้นแลอาณาเขตรเช่นว่านี้ ผู้หนึ่งผู้ใดที่ได้รับอำนาจไปอยู่ในหัวเมืองขึ้นหรืออาณาเขตรของอังกฤษ อย่างเช่น เจ้าพนักงานกงสุลฝ่ายสยาม เปนต้น จะขอต่อผู้ว่าราชการเมืองหรือขอต่อเจ้าเมืองนั้นก็ได้

การขอให้ส่งคนเช่นว่านี้ ผู้ว่าราชการเมืองหรือเจ้าเมืองจะจัดการให้เปนไปตามความที่กล่าวไว้ในสัญญานี้อย่างใกล้ที่สุดที่จะกระทำได้ตามกฎหมายของหัวเมืองขึ้นแลอาณาเขตร จะยอมส่งตัวคนร้ายให้หรือจะบอกข้อความไปยังรัฐบาลอังกฤษก็ได้

สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ อย่างไรก็ดี จะคิดจัดการเปนพิเศษในหัวเมืองขึ้นแลอาณาเขตรเพื่อให้ส่งตัวผู้ร้ายที่หนีไปจากกรุงสยามเข้าไปอาไศรยอยู่ในหัวเมืองแลอาณาเขตรอังกฤษตามข้อความที่มีอยู่ในหนังสือสัญญานี้อย่างใกล้ที่สุดที่จะเปนไปได้ แลตามกฎหมายของหัวเมืองแลอาณาเขตรนั้นจะยอมให้ทำได้

การที่หัวเมืองแลอาณาเขตรของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษจะขอให้ส่งตัวคนร้ายที่หนีมาอยู่ในกรุงสยามนั้น จะต้องเปนไปตามข้อบังคับที่กล่าวไว้ในข้อก่อน ๆ ของสัญญานี้

ข้อ ๑๗

หนังสือสัญญานี้จะใช้ได้ภายใน ๑๐ วันตั้งแต่ได้พิมพ์ประกาศตามแบบที่มีอยู่ในกฎหมายของประเทศทั้ง ๒ ที่ทำสัญญากันนี้ ถ้าประเทศที่ทำสัญญานี้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกให้ทราบล่วงน่าก่อน ๖ เดือนว่า มีความประสงค์จะเลิกสัญญานี้เมื่อใด ก็เลิกได้

หนังสือสัญญานี้จะต้องมีพระราชานุญาตด้วย แลหนังสือพระบรมราชานุญาตนั้นจะได้แลกเปลี่ยนกันที่กรุงลอนดอนโดยเร็วที่สุดที่จะกระทำได้

ในการที่จะให้มีหลักถานในสัญญานี้ ผู้มีอำนาจเต็มทั้ง ๒ ฝ่ายจึงได้ลงชื่อแลประทับตราลงไว้เปนสำคัญ

สัญญานี้ได้ทำเปน ๒ ฉบับ ความเดียวกัน ที่กรุงเทพฯ ณวันที่ ๔ มีนาคม รัตนโกสินทรก ๑๒๙ คฤสตศักราช ๑๙๑๑

(เซ็น) เทวะวงษ์วโรประการ (ประทับตรา)
(เซ็น) อาเธอปิล (ประทับตรา)

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"