หน้า:กฎบัตรสหประชาชาติ.pdf/20

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

๒. คณะมนตรีภาวะทรัสตี จักประชุมกันตามที่กําหนดไว้ในข้อบังคับของตนซึ่งจักรวมบทบัญญัติสําหรับเรียกประชุม ตามคําร้องขอของสมาชิกส่วนมากด้วย

มาตรา ๙๑

เมื่อเห็นเหมาะสมคณะมนตรีภาวะทรัสตี จักถือเอาประโยชน์แห่งความช่วยเหลือของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมและของทบวงการชํานัญพิเศษเกี่ยวกับเรื่องซึ่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม และทบวงการชํานัญพิเศษเหล่านี้เกี่ยวข้องอยู่โดยลําดับ

หมวดที่ ๑๔
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
มาตรา ๙๒

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จักเป็นองค์กรทางตุลาการอันสําคัญของสหประชาชาติ ศาลจักดําเนินหน้าที่ตามธรรมนูญผนวกท้ายซึ่งยึดถือธรรมนูญของศาลประจํายุติธรรมระหว่างประเทศเป็นมูลฐาน และซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับกฎบัตรฉบับปัจจุบัน

มาตรา ๙๓

๑. สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ โดยพฤตินัยย่อมเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

๒. รัฐซึ่งมิใช่สมาชิกของสหประชาชาติ อาจเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้โดยเงื่อนไขซึ่งสมัชชาจะได้กําหนดเป็นรายๆไปตามคําแนะนําของคณะมนตรีความมั่นคง

มาตรา ๙๔

๑. สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติรับที่จะอนุวัตตามคําวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีใดๆ ที่ตนตกเป็นฝ่าย

๒. ถ้าผู้เป็นฝ่ายในคดีฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคําพิพากษาของศาล ผู้เป็นฝ่ายอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งถ้าเห็นจําเป็นก็อาจทําคําแนะนําหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดําเนินเพื่อยังผลให้เกิดแก่คําพิพากษานั้น

มาตรา ๙๕

ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จักหวงห้ามสมาชิกแห่งสหประชาชาติมิให้มอบหมายการแก้ไขข้อขัดแย้งของตนต่อศาลอื่น โดยอาศัยอํานาจแห่งความตกลงที่ได้มีอยู่แล้ว หรือที่อาจจะลงนามกันในอนาคต

มาตรา ๙๖

๑. สมัชชาหรือคณะมนตรีความมั่นคง อาจร้องขอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ความเห็นแนะนําในปัญหากฎหมายใดๆ

๒. องค์กรอื่นของสหประชาชาติและทบวงการชํานัญพิเศษ ซึ่งอาจได้รับอํานาจจากสมัชชาในเวลาใดๆ ก็อาจร้องขอความเห็นแนะนําของศาลเกี่ยวกับปัญหากฎหมายอันเกิดขึ้นภายในกรอบแห่งกิจกรรมของตน