หน้า:การปกครองลาวและเขมรของฝรั่งเศส - มท - ๒๔๘๓.pdf/70

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๖๘

๔. จเรการปกครองและการเมืองแห่งแคว้นลาวเป็นประธานศาลฎีกาพื้นเมือง เป็นการรวมอำนาจบริหารและตุลาการอย่างชัด ผิดหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ตามตำรารัฐศาสตร์ของ Montesquieu ในประเทศไทยไม่มีการรวมอำนาจบริหารกับตุลาการเช่นนี้

๕. ในแคว้นลาว เรสิดังต์เดอฟรังส์ประจำจังหวัดทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์พื้นเมือง เป็นการผิดหลักแห่งการแบ่งแยกอำนาจเช่นเดียวกับในข้อ ๔ ในประเทศไทยไม่มีการรวมอำนาจบริหารกับตุลาการเช่นนี้

๖. เจ้าเมือง (นายอำเภอ) ในแคว้นลาว ซึ่งเป็นตำแหน่งมีอัตราเงินเดือนในงบประมาณแห่งรัฐ ได้รับการยกเว้นจากภาษีอากรบางอย่าง ซึ่งแตกต่างกับในประเทศไทย

๗. เจ้าเมือง (นายอำเภอ) ในแคว้นลาวมีอำนาจน้อย เช่น การจดทะเบียนบุริมสิทธิ์และทรัพยสิทธิ์ไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าเมือง ผิดกับของไทยซึ่งนายอำเภอมีอำนาจกว้างขวางกว่า เป็นการสะดวกและได้ประโยชน์มากกว่ากัน

๘. ในแคว้นลาว ฝรั่งเศสปล่อยปละละเลยการศึกษา ปล่อยให้ราษฎรโง่เขลา ในประเทศไทย รัฐบาลบำรุงการศึกษาเป็นอย่างดี

๙. ในแคว้นลาว พระพุทธสาสนาถูกปล่อยปละละเลย เพราะมิใช่เป็นสาสนาของชาวฝรั่งเศส ในประเทศไทย รัฐบาลบำรุงพระพุทธสาสนาเป็นอย่างดี เพราะเป็นสาสนาของชาติ