ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:การสิ้นสุดสภาพนอกอาณาเขต - ดิเรก ชัยนาม - ๒๔๗๙.pdf/43

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๙

เป็นคนในบังคับของศาลนั้น ถ้าโจทก์เป็นคนในบังคับของประเทศอื่น ศาลกงสุลก็ต้องตั้งผู้แทนไปฟ้องในศาลกงสุลซึ่งโจทก์ผู้นั้นมีสัญชาติอยู่ หรือถ้าโจทก์เป็นคนไทย ก็ต้องมาฟ้องในศาลไทยอีก ซึ่งเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ประกอบไปด้วยความลำบากยุ่งยากเป็นเอนกประการ ซึ่งในเมื่อโจทก์จำเลยต้องขึ้นศาลสยามอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้แล้ว ถ้าโจทก์หรือจำเลยขืนหมิ่นประมาทศาลหรือเบิกความเท็จ ศาลย่อมมีอำนาจตัดสินลงโทษได้ทีเดียว และเป็นการรักษาความยุตติธรรมอยู่ด้วยในตัว

(๕)การมีศาลกงสุลทำความลำบากให้แก่คนไทยซึ่งจะนำคดีไปฟ้องร้องในศาลกงสุลมาก (ก) เช่น คนต่างประเทศสามคนมีสัญชาติต่างกัน คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาเลียน ทำผิดสัญญาต่อคนไทย ก่อนที่คนไทยจะฟ้อง ต้องเทีย่วพลิกตำรากฎหมายของประเทศทั้งสามเสียก่อนว่า หลักกฎหมายของประเทศนั้น ๆ มีอยู่อย่างไร เพราะถ้าฟ้องโดยไม่ได้ตรวจตราเสียก่อนแล้ว และปรากฏว่าตามหลักกฎหมายของเขาไม่เป็นผิดแล้ว ก็ต้องถูกยกฟ้อง เรื่องยิ่งจะแปลกมากขึ้น ถ้าฟ้องจำเลยคนหนึ่ง ศาลของจำเลยผู้นั้นตัดสินให้โจทก์ชนะ แต่อีกศาลหนึ่งกลับตัดสินแพ้ ซึ่งความจริงเป็นเรื่องเดียวกัน ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า คดีชนิดนี้จะเคยเกิดขึ้นในประเทศเราหรือไม่ แต่ทราบจากหนังสือจดหมายเหตุชาวต่างประเทศว่า มีคดีชนิดนี้เกิดขึ้นที่เมืองจีน

ข)ศาลกงสุลโดยมากมักจะตั้งอยู่ในพระนครหรือเมืองที่เจริญ มีการคมนาคมสดวก สมมุติว่า คดีเกิดขึ้นในท้องที่ไกลจากศาลซึ่งกอนเวลาหลายวันกว่าจะเดินทางมาถึง โจทก์ที่เปนคนยากจนก็คงจะไม่ฟ้อง เพราะจะต้องออกค่าพาหนะต่าง ๆ เช่น นำพะยานหลักฐานมา เป็นต้น และฉวยแพ้ความเข้า ก็จะสิ้นเนื้อประดาตัวทีเดียว ข้อนี้ก็เห็นได้ว่า ความยุตติธรรมเสียไปไม่น้อย

ค)ตามธรรมดาโจทก์ที่ฟ้องจำเลยก็หมายจะให้ศาลทำโทษเพื่อชดใช้การกระทำผิด และจะได้เป็นแบบอย่างแก่คนทั่วไปด้วย แต่ศาลกงสุลบางศาลได้กำหนดความผิดบางประเภทไว้สำหรับผู้ถูกกล่าวหาว่าจะต้องถูกส่งไปพิจารณากันในประเทศหรือเมืองขึ้นของประเทศแห่งตน เช่นนี้ โจทก์หรือประชาชนทั่วไป