หน้า:คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๒-๑๔ (ส่วนตน).pdf/13

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


– ๖ –

และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ ซึ่งเป็นหลาน เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ หลังจากวันที่นางสมพรฯ ซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถูกร้องและคู่สมรสเพียง ๖ วันเท่านั้น โดยอ้างว่า เพื่อให้เข้ามาดูแลกิจการบริษัทในการติดตามหนี้สินจากลูกหนี้ค้างชำระและบริหารเงินสดคงเหลือในบริษัทเพื่อดำเนินกิจการต่อไป ทั้ง ๆ ที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้หยุดประกอบกิจการและเลิกจ้างพนักงานแล้วนั้น ขัดต่อเหตุผลและสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์อย่างชัดแจ้ง เพราะการเข้ามาดูแลกิจการดังกล่าวในบริษัทที่เป็นกิจการในครอบครัว เจ้าของบริษัทจะให้ใครเข้ามาดูแลโดยไม่จำต้องโอนหุ้นให้ก็ย่อมทำได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นผู้ถือหุ้นไม่ได้ทำให้มีอำนาจในการบริหารจัดการบริษัท ไม่มีอำนาจที่จะติดตามหนี้สิน และยิ่งไม่มีสิทธิที่จะบริหารเงินสดของบริษัทแต่อย่างใด หากนางสมพรฯ ประสงค์จะให้นายทวีฯ และนายปิติฯ มีอำนาจในบริษัทเพื่อบริหารจัดการดังกล่าว ก็ควรจะต้องแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริษัทมากกว่าที่จะโอนหุ้นให้เพื่อให้เป็นผู้ถือหุ้น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีความแน่นอนว่า บริษัทจะสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้หรือไม่ บทวิเคราะห์ที่นายทวีฯ และนายปิติฯ นำเสนอต่อนางสมพรฯ ตามเอกสารหมาย ถ ๖๖ สามารถจัดทำได้โดยไม่ต้องเป็นผู้ถือหุ้น จึงไม่เหตุผลที่จะต้องโอนหุ้นให้นายทวีฯ และนายปิติฯ เพื่อให้ดูแลกิจการตามที่อ้าง ทั้งการโอนหุ้นให้นายทวีฯ และนายปิติฯ ก็ไม่ปรากฏว่า มีการนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้กับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา นอกจากนั้น ยังเป็นการโอนหุ้นที่มีมูลค่าสูงมากให้ไปโดยไม่มีค่าตอบแทน ขัดแย้งกับการโอนหุ้นให้บุตรชายและบุตรสะใภ้เมื่อปี ๒๕๕๘ ที่กลับต้องมีค่าตอบแทนตามคำเบิกความของผู้ถูกร้องและนางสมพรฯ ส่วนข้อที่ว่า ต้องการอุปถัมภ์หลาน ก็ขัดแย้งกับการที่ให้หลานโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวกลับคืนมาให้แก่ตนโดยไม่ปรากฏว่า หลานได้รับสิทธิประโยชน์อะไรเลย ข้ออ้างเรื่องการโอนหุ้นให้นายทวีฯ และนายปิติฯ และรับโอนคืนกลับมาเป็นของตนในระยะเวลาสั้น ๆ โดยไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ แก่กันเลย จึงไม่น่าเชื่อว่า เป็นความจริง แต่กลับน่าเชื่อว่า เป็นการกระทำเพื่อให้มีจำนวนผู้ถือหุ้นครบจำนวน ๑๐ คนตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ เพื่อขจัดข้อพิรุธที่ปรากฏต่อสื่อสาธารณะให้หมดไปเท่านั้น

(๔) ผู้ถูกร้องอ้างว่า นางสมพรฯ ได้สั่งจ่ายเช็คค่าหุ้นให้กับผู้ถูกร้องและคู่สมรส โดยอ้างต้นขั้วเช็คยืนยันว่า เป็นการสั่งจ่ายเช็คตามลำดับ ไม่ได้ทำย้อนหลังนั้น เมื่อพิเคราะห์ต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ศ ๙/๑๑๐ ถึง ศ ๙/๑๑๗ ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ถ ๓๐ แล้ว เห็นว่า สมุดเช็คเล่มดังกล่าว นางสมพรฯ ไม่ได้ใช้สั่งจ่ายเช็คเป็นประจำ การสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับห่างกันเป็นเดือนหรือหลายเดือน โดยเฉพาะเช็คเลขที่ H ๑๑๓๐๙๙๕๓ ที่สั่งจ่ายวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เช็คฉบับถัดมาเลขที่ H ๑๑๓๐๙๙๕๔ สั่งจ่ายเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นเวลาห่างกันถึง ๕ เดือน เมื่อพิจารณา