หน้า:คำวินิจฉัย ของศาล รธน (๒๕๕๖-๐๕).pdf/10

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๗๕ ก

๓ กันยายน ๒๕๕๖
หน้า ๑๐
ราชกิจจานุเบกษา

"ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด" อันมีเจตนารมณ์เพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญามิให้ต้องตกอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำความผิดก่อนที่จะได้รับการพิสูจน์ความผิดจากโจทก์

สำหรับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มีเจตนารมณ์เพื่อให้ความคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและศีลธรรมซึ่งบุคคลพึงได้รับจากการสร้างสรรค์ผลงานอันเกิดจากการเป็นผู้คิดค้นลงมือทำหรือเป็นผู้ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานนั้นด้วยการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตน เพื่อรับรองการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานในสาขาต่าง ๆ ให้มีประโยชน์ มีคุณค่า และแพร่หลายมากยิ่งขึ้น อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี โดยบทบัญญัติมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ได้บัญญัติความรับผิดของนิติบุคคลและผู้บริหารนิติบุคคลไว้ เพื่อลงโทษผู้บริหารนิติบุคคลทุกคนในกรณีที่นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด โดยให้ถือว่า เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลด้วย โดยมาตรา ๗๔ บัญญัติว่า "ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย"

กรณีมีปัญหาว่า บทบัญญัติมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าโจทก์จะมีพยานหลักฐานมาพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่มีผลเป็นการสันนิษฐานความผิดทางอาญาของจำเลย โดยโจทก์ไม่จำต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของจำเลย แต่กลับนำเอาการกระทำของผู้อื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลยต้องรับผิดและรับโทษทางอาญา โดยบทบัญญัติมาตรา ๗๔ วางข้อสันนิษฐานว่า ถ้านิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่