หน้า:ตั๋วเงิน - ประวัติ ปัตตพงศ์ - ๒๔๘๐.pdf/127

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๒๐
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตั๋วเงิน, ประกันภัย, บัญชีเดินสพัด

ความสามารถ หรือลงชื่อในตั๋วเงินไปโดยสำคัญผิด เป็นต้น ผู้รับอาวัลก็ไม่ควรจะต้องรับผิดด้วย แต่ถ้าจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมเห็นได้ว่า เป็นอันขัดกับลักษณแห่งตั๋วเงิน เพราะตั๋วเงินเป็นตั๋วเปลี่ยนมือสำหรับใช้หมุนเวียนกันไปจนกว่าจะถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วนั้น ตั๋วเงินที่มีผู้ค้ำประกันเป็นคนมีหลักฐานดีนั้น ย่อมจะมีผู้ต้องการจะรับไว้ ถ้าจะยอมให้ผู้ค้ำประกันสามารถยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นมาใช้ได้แล้ว ก็คงไม่มีใครยินดีรับตั๋วนั้น เพราะเหตุนี้ กฎหมายจึงได้บัญญัติไว้ดั่งกล่าวมาข้างต้นว่า ถึงแม้ความรับผิดใช้เงินที่ผู้รับอาวัลได้ประกันไว้นั้นจะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ ผู้รับอาวัลก็ยังคงต้องรับผิดอยู่ เว้นแต่เหตุที่ความรับผิดใช้เงินจะตกเป็นใช้ไม่ได้นั้นเกิดจากการทำผิดแบบระเบียบ (ควรเทียบมาตรา ๖๘๑ และมาตรา ๙๐๒ ประกอบด้วย)

อุทาหรณ์

ก. เป็นลูกหนี้ ข. ๑๐๐๐ บาท จึงทำตั๋วแลกเงินฉะบับหนึ่ง โดย ข. เป็นผู้สั่งจ่ายให้แก่ตนเอง ก. เป็นผู้จ่ายและเป็นผู้รับรองเพื่อที่จะให้เป็นหลักฐานยิ่งขึ้น ค. เข้ารับอาวัลแทน ก. ผู้รับรอง

สมมุติว่า ต่อมา ความปรากฏว่า ก. เป็นคนวิกจริต ไม่สามารถทำกิจการด้วยตนเอง และได้รับรองตั๋วเงินไปในขณะที่เป็นคนวิกลจริตนั้น ค. จะอ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามตั๋วนั้นไม่ได้

แต่ถ้าตั๋วแลกเงินที่ ก. รับรองนั้นทำขึ้นผิดแบบระเบียบ เช่น มิได้ระบุว่า เป็น "ตั๋วแลกเงิน" หรือคำสั่งที่ให้จ่ายเงินนั้นเป็นคำสั่งที่มีเงื่อนไข ดั่งนี้ ค. หาต้องรับผิดชอบตามตั๋วนั้นไม่

ม.ธ.ก.