หน้า:ตำนานคณะสงฆ์ - ดำรง - ๒๔๖๖.pdf/12

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

องค์ ๑ เปนสังฆปรินายกของสงฆบริษัทตลอดเขตรเมืองนั้น ความที่กล่าวข้อนี้มีเค้าเงื่อนปรากฎในทำเนียบชั้นหลังยังเรียกเจ้าคณะเมืองว่า พระสังฆราชา อยู่หลายเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพึ่งทรงเปลี่ยนเปน สังฆปาโมกข์ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทรนี้ แต่ส่วนตำแหน่งปู่ครูนั้นเปลี่ยนเรียกเปนพระครูแต่ในครั้งสุโขทัยดังจะปรากฎต่อไปข้างหน้า เชื่อได้แน่ว่า ตำแหน่งพระครูเปนตำแหน่งสังฆนายกรองแต่สังฆราชลงมา เมืองใหญ่มีเมืองละหลาย ๆ องค์ ถ้าเปนเมืองน้อย สังฆปรินายกก็มีสมณศักดิ์เปนแต่เพียงปู่ครู

ฝ่ายคติข้างลังกาเขาก็มีสมณศักดิ์เปน ๒ ชั้น ชั้นสูงเรียก มหาสวามี ชั้นรองลงมาเรียก สวามี มิได้เรียกว่า สังฆราช แลปู่ครู อย่างในประเทศสยาม ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สมณศักดิ์อย่างลังกาก็ตรงกับในสยามประเทศในสมัยเดียวกันนั้น เพราะมีพยานปรากฎในศิลาจาฤกของพระมหาธรรมราชา (ลิไทย) ซึ่งเปนพระราชนัดดาของพระเจ้าขุนรามคำแหง ได้เสวยราชย์ณกรุงสุโขทัยภายหลังพระเจ้าขุนรามคำแหงประมาณ ๗๐ ปีเศษ ว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๔ ได้โปรดให้ราชบุรุษไปอาราธนา “พระมหาสวามีสังฆราช” มาแต่ลังกาทวีป การที่ใช้ศัพท์มหาสวามีกับสังฆราชควบกันเช่นนี้ทำให้เห็นได้ว่า เทียบ ๒ ตำแหน่งนั้นตรงกัน การปกครองคณะสงฆ์ครั้งพระนครสุโขทัยเปนราชธานีตามที่ปรากฎในศิลาจาฤกได้ความเพียงเท่านี้ แต่มีในหนังสือพงศาวดารเหนืออิกแห่ง ๑ ว่า ในครั้งพระนครสุโขทัยเปนราชธานีนั้น จัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์เปนฝ่ายขวาฝ่าย ๑ ฝ่ายซ้ายฝ่าย ๑ แลมีราชทินนามสำหรับสังฆนายกดังนี้