หน้า:ตำนานพระปริตร - ดำรง - ๒๔๖๒.pdf/22

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๗

พระปริตมาสวดในประเทศนี้ นักปราชญ์ไทยที่เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกจึงแต่งและเปลี่ยนบทแทรกในพระปริตเพื่อประโยชน์อย่างเดียวกัน จะยกพอเป็นตัวอย่างดังเช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์คาถานโม ๘ บทสำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแต่งคาถา "โย จกฺขุมา" เปลี่ยนคาถา สมฺพุทฺเธ เป็นต้น ที่เพิ่มข้างท้ายพระปริตก็มี เช่น คาถา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และคาถา ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นต้น คาถาแทรกซึ่งกล่าวมาสวดเพิ่มทั้งใน ๗ ตำนานและ ๑๒ ตำนาน อนึ่ง การพิธีซึ่งพระสงฆ์สวดพระปริตในประเทศนี้ลักษณะเป็น ๒ อย่างต่างกัน คือ เป็นพิธีทางพุทธศาสนาล้วน อย่าง ๑ เป็นพิธีพุทธศาสนาเจือกับไสยศาสตร อย่าง ๑ ดังจะแสดงอธิบายต่อไป

การพิธีพุทธศาสนาล้วนแต่ก่อนมา ถ้าเป็นงานมงคลอย่างสามัญ เช่น ทำบุญเรือน หรือฉลองพระ หรือโกนจุก เป็นต้น สวด ๗ ตำนาน ถ้าเป็นงานมงคลวิเศษกว่าสามัญ เช่น การพระราชพิธีใหญ่ แต่สวดมนตร์วันเดียวดังพิธีถือน้ำและพิธีแรกนา เป็นต้นก็ดี งานชเลยศักดิ์ซึ่งเป็นงานสำคัญ เช่น งานฉลองอายุและแต่งงานบ่าวสาว เป็นต้นก็ดี ย่อมสวด ๑๒ ตำนาน แต่เดี๋ยวนี้ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปแล้ว พระปริตอย่าง ๑๒ ตำนานคงสวด