หน้า:ตำนานพระปริตร - ดำรง - ๒๔๖๒.pdf/25

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๐

แทน ก็เลยเกิดเป็นประเพณีสมมตให้พระภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งเสียงดีหรือว่าทำนองเพราะเป็นผู้ขัดตำนาน แต่เช่นนั้นก็ยังหายาก การสวดมนตร์ในพื้นเมืองจึงมิใคร่ขัดตำนาน แม้แต่ว่า สคฺเค เชิญเทวดามาฟังพระปริต ก็มักให้คฤหัสถ์ว่า ส่วนบทขัดตำนานนั้น พระสงฆ์สวดไปด้วยกันกับสวดพระปริต อนึ่ง บทขัดตำนานนั้น แบบเดิมมีแต่ขัดในราชปริต ๗ ตำนานกับ ๑๒ ตำนาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสให้สมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ ทรงแต่งบาลีบทขัดตำนานพระสูตรอื่น ๆ ขึ้นอีก เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรและมหาสมัยสูตร เป็นต้น (พึงรู้ได้ด้วยบทขัดตำนานของสมเด็จพระสังฆราชย่อมลงท้ายว่า "ภณาม เส" เป็นคำสำหรับใคร ๆ ใช้ได้ทั้งนั้น) อีกอย่างหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งแบบให้พระสังฆนายกบอกนามสูตรและปาฐคาถาให้พระสงฆ์สวด อันบทบาลีนั้นขึ้นว่า หนฺท มยํ เป็นเทือกเดียวกับขัดตำนานย่อ ๆ แบบนี้ยังใช้อยู่แต่คณะธรรมยุติกา

 เพิ่มพระปริต การสวดพระปริตเดิมมีแต่อย่าง ๗ ตำนานกับอย่าง ๑๒ ตำนาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเลือกพระสูตรและพระธรรมปริยายมาให้พระสงฆ์ธรรมยุติกาสวดอีกหลายอย่าง เช่น อนัตตลักขณสูตรและอาทิตตปริยายสูตร เป็นต้น ถึงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรและมหาสมัยสูตรเดิมก็อยู่ท้ายภาณวาร ทรงพระราชดำริให้มาใช้สวดอย่างปริต และยังมีปาฐคาถาต่าง ๆ ซึ่งเป็นของเก่าบ้าง