หน้า:ประชุมจารึก (ภาค ๑) - ๒๔๗๗.pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

บุรีภัณฑ์ นายสมบุญ โชติจิตร นายสิน เฉลิมเผ่า และนายฉ่ำ ทองคำวรรณ (เปรียญ) แบ่งงานกันไปทำโดยเร่งรัด ข้าราชการทั้ง ๔ ได้พยายามทำมาทันความประสงค์ แต่ก็มีบางคำบางแห่งที่ยังสงสัย ไม่แน่ใจ ได้ทิ้งไว้ตามตัวเดิมและพยายามคิดค้นคว้าต่อไป

เรื่องจารึกกรุงสุโขทัยนั้น ศาสตราจารย์เซเดส์ได้ทำคำอธิบายประวัติไว้โดยพิสดารในหนังสือที่เจ้าคุณมุขมนตรีได้พิมพ์มาแล้วใน พ.ศ. ๒๔๖๗ ในการพิมพ์ครั้งนี้ ข้าพเจ้าทำคำอธิบายไว้บ้าง เพื่อให้ผู้อ่านทราบประวัติของศิลาจารึก ไม่ต้องไปค้นหาเล่มเดิม และเพื่อเพิ่มเติมความบางข้อที่ศาสตราจารย์เซเดส์มิได้อธิบายไว้ในครั้งกระนั้นบ้าง

หลักที่ ๑

เป็นศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ความในตอนต้นเป็นคำของพ่อขุนรามคำแหงเอง แต่ความในตอนต่อมา ดูเป็นถ้อยคำคนอื่น ตอนปลายที่สุด เป็นข้อความที่จารึกห่างเวลาจากตอนต้นหลายปีทีเดียว เข้าใจกันว่า ได้จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ ศิลาจารึกหลักนี้ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จไปพบ ดำรัสสั่งให้นำลงมาจากสุโขทัยพร้อมกับพระแท่นมนังคศิลาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖

ความสำคัญในหลักศิลาอันนี้ ก็คือ ในตอนต้น เป็นคำของพ่อขุนรามคำแหงเล่าประวัติของพระองค์ตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ตอนต่อมา เล่าถึงจารีตประเพณีและชีวิตของชาวสุโขทัยในครั้งกระนั้น ตอนท้ายที่สุด กล่าวถึงเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหงและอาณาเขตต์สยามในสมัยขุนรามคำแหง

เป็นเคราะห์ดีอย่างประหลาดที่หลักศิลาอันสำคัญที่สุดหลักนี้ยังอยู่ในสภาวะที่ดีที่สุด เกือบจะไม่มีหนังสือตัวใดลบเลือนถึงกับเสียความ ไม่เหมือนหลักอื่น ๆ ที่ลบเลือนจนไม่ได้เรื่องไปหลายตอน