หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๕) - ๒๔๖๒.pdf/13

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เลือดนั้นขาว จึงเรียกว่า “นางเลือดขาว” (กุมารกับนางเลือดขาวนี้น่าจะเปนบุตรลับ ๆ เปนอะสะธรรมชาติ มารดามีความละอายเอาไปทิ้งไว้ในป่าไผ่ก็เปนได้) ตายายก็เอามาเลี้ยงไว้จนเจริญวัยขึ้น ตายายจึงแต่งกุมารกับนางเลือดขาวให้อยู่กินเปนสามีภริยากัน ครั้นกาลนานมา ตายายถึงแก่กรรม กุมารกับนางก็กระทำฌาปนกิจแล้วนำอัฐิไปฝังไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์ กุมารกับนางก็ได้รับมรฎกเปนนายกองช้างต่อมามีกำลังขึ้น แต่นั้นมาก็เรียกตำบลบ้านนั้นว่า “พระเกิด” เปนส่วยช้างเลี้ยงช้างส่งเจ้าพระยากรงทองปีละตัว จึงทำเพลาตำรา (ตำนาน) ไว้สำหรับเมืองพัทลุงสืบมา ต่อมาเรียกว่า “ที่คช” (คือที่ส่วยช้าง) มีเขตรถึงบ้านท่ามะเดื่อฯลฯ

ครั้นกาลล่วงมา กุมารแลนางเลือดขาวก็พาสมัคพรรคพวกขึ้นช้างพลายคชวิไชยมณฑล หมอเฒ่าแก่นมั่นคงควาญ กับช้างพังตลับ หมอเฒ่าสีเทพควาญ ไปทางทิศอิสาณพระเกิด ก็ตั้งพักอยู่ณบางแก้ว แต่นั้นมาก็เรียกกุมารนั้นว่า “พระยา” ครั้งนั้นนางเลือดขาวยกเอาทรัพย์สร้างพระพุทธรูปแลอุโบสถไว้ที่ตำบลสทังวัดหนึ่ง เดี๋ยวนี้ก็ยังเรียกกันว่า “วัดสทังใหญ่” แต่รกร้างมานานแล้ว

ฝ่ายพระยากุมารก็เอาทรัพย์ทำพระวิหารแลพระพุทธรูป แล้วจึงจาฤกลงไว้ในแผ่นทองคำเปนตำนาน ให้ชื่อว่า “วัดเขียนบางแก้ว” อีกอารามหนึ่ง