หน้า:ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ ๑ (๑) - ๒๔๘๑.pdf/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

(พ.ศ. ๒๓๔๘) ทุกเล่ม ส่วนฉะบับรองทรงเขียนในปีเถาะ จ.ศ. ๑๑๖๙ (พ.ศ. ๒๓๕๐)[1]

ในการพิมพ์กฎหมายนี้ ได้อาศัยฉะบับหลวงตรา ๓ ดวงโดยฉะเพาะ เว้นแต่เมื่อไม่มีฉะบับหลวงเหลืออยู่ จึงพิมพ์ตามฉะบับรองทรง[2]

ในเมื่อเหลือฉะบับหลวงหรือฉะบับรองทรงแต่ฉะบับเดียว ก็พิมพ์ตามโดยมิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เว้นแต่ปรากฏชัดว่า อาลักษณ์เขียนผิดหรือเขียนตก[3] จึงได้พิมพ์เพิ่มเติมและแก้ไขให้ถูกต้อง แต่คงมีเชิงอรรถไว้ ในการตรวจแก้นี้ ได้อาศัยฉะบับพิมพ์ของนายโหมด อมาตยกุล (พระยากระสาปน์) เล่มหนึ่ง ซึ่งพิมพ์ปีระกา จ.ศ. ๑๒๑๑ (พ.ศ. ๒๓๙๒) หรือฉะบับของหมอบรัดเล เล่ม ๒ พิมพ์ปีกุน จ.ศ. ๑๒๒๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖) และได้สอบทานกับฉะบับที่ใช้ในการพิมพ์นี้เสมอ


  1. มีฉะบับรองทรงที่เหลืออยู่ฉะบับหนึ่งซึ่งต่างกับฉะบับอื่น คือ ฉะบับที่มีกฎหมายลักษณะทาส ฉะบับนี้เขียนในปีฉลู จ.ศ. ๑๑๖๗ และมีอาลักษณ์สอบทาน ๓ คน ดุจเดียวกันกับฉะบับหลวง ผิดกันแต่ไม่ได้ประทับตรา ๓ ดวงเท่านั้น
  2. กฎหมายที่ไม่มีฉะบับหลวงเหลืออยู่เลย มีแต่ฉะบับรองทรงนั้น มีแต่ ๒ บท คือ กรมศักดิ์ และลักษณะทาส
  3. ที่ว่า อาลักษณ์เขียนผิด นั้นคือ อาลักษณ์เขียนเผลอไป ถ้าหากได้รู้สึกตัว ก็คงจะได้แก้เอง ฉะนั้น เมื่ออาลักษณ์คนใดเขียนคำ ๆ หนึ่งหลายอย่างต่างกัน เช่น เขียน เนี้อ และ เนื้อ สกรร และ สกัน กระทรวง และ ตระทรวง ขาย และ ฃาย เงิน และ เงีน เป็นต้นดั่งนี้ เห็นว่า ไม่ควรแก้ เพราะเป็นการเขียนตามความรู้สึกของอาลักษณ์คนนั้น หาใช่เขียนผิดไม่
ม.ธ.ก.