ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:พงศาวดาร (หัตถเลขา) - ๒๔๕๕ (๓).djvu/52

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ไว้ แล้วจะได้แจ้งในความสัตย์สุจริตของเราด้วย อนึ่งพม่าซึ่งมาตั้งล้อมกรุงเทพอยู่นั้น ฝ่ายกรุงเทพได้มีหนังสือออกไปถึงองเชียงฉุนญวนซึ่งเปนพระยาราชาเศรษฐีครองเมืองพุทไธมาศ ขอกองทัพแลเสบียงอาหารเข้ามาช่วยกรุง พระยาราชาเศรษฐีญวนก็ได้แต่งกองทัพเรือลำเลียงเข้ามาช่วยถึงปากน้ำเมืองสมุทปราการ พม่าตั้งทัพสกัดอยู่ณเมืองธนบุรี ไปมิถึงกรุง พอสิ้นเสบียงก็กลับไป เห็นว่า ความชอบเมืองพุทไธมาศมีแก่กรุงอยู่ บัดนี้เราจะให้มีศุภอักษรไปถึงพระยาราชาเศรษฐีญวน ให้ยกทัพเรือเข้ามาช่วยกันกับเราไปตีทัพพม่าซึ่งตั้งอยู่ณเมืองธนบุรี จึงจะเปนความชอบแก่เมืองพุทไธมาศยิ่งขึ้นไป ขุนนางนายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นชอบด้วยพระราชดำริห์พร้อมกัน จึงให้แต่งศุภอักษรให้พระพิไชยกับนายบุญมีสองนายถือออกไปถึงพระยาราชาเศรษฐีณเมืองพุทไธมาศ กับประทานเสื้ออย่างฝรั่งไปให้ด้วยตัวหนึ่ง ลงเรือแล่นไปทางทเลแต่ในแรมเดือนสี่ ปีจอ อัฐศกนั้น.

ฝ่ายขุนราม หมื่นซ่อง พวกอ้ายเหล่าร้ายซึ่งแตกหนีไปจากเมืองระยองนั้น คุมสมัคพรรคพวกไปตั้งอยู่ณบ้านประแส แขวงเมืองจันทบูร ให้ไพร่พลลอบเข้ามาลักโคกระบือช้างม้าณกองทัพหลวงซึ่งตั้งอยู่ณเมืองระยองนั้นเนือง ๆ ครั้นได้ทรงทราบจึงตรัศว่า อ้ายเหล่านี้ยังคิดมาประทุษฐร้ายอยู่ จะละมันไว้มิได้ จำจะยกกองทัพไปปราบปรามเสียให้สิ้นเสี้ยนหนาม จึงเสด็จกรีธาทัพจากเมืองระยองไปถึงบ้านประแส บ้านไร่ บ้านตร่ำ เมืองแกลง ซึ่งอ้ายเหล่าร้ายสำนักนิ์อยู่นั้น ให้พลทหารยิงปืนใหญ่น้อยแล้วเข้าโจมตีไล่ตลุมบอนฟันแทง พวกอ้ายเหล่าร้ายก็ตื่นแตกหนีไป แลอ้ายขุนราม