ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:พงศาวดาร (หัตถเลขา) - ๒๔๕๕ (๓).djvu/53

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

หมื่นซ่อง ตัวนายนั้น หนีไปอยู่ด้วยพระยาจันทบูร ๆ รับตัวไว้ จับได้แต่ทหาร คือ นายบุญมีบางเหี้ยหนึ่ง นายแทนหนึ่ง นายมีหนึ่ง นายเมืองพม่าหนึ่ง นายสนหมอหนึ่ง นายบุญมีบุตรนายสนหนึ่ง กับทั้งครอบครัวผู้คนช้างม้าโคกระบือแลเกวียนซึ่งอ้ายเหล่าร้ายลักเอาไปไว้แต่ก่อนเปนอันมาก จึงเสด็จเลิกทัพกลับมาณเมืองระยอง ตั้งบำรุงรี้พลทแกล้วทหารให้มีกำลัง แลเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎรซึ่งแตกตื่นออกไปอยู่ป่าดงนั้นได้มาเปนอันมาก ก็เสด็จยั้งทัพคอยท่าพระยาจันทบูรอยู่.

ครั้นถึงณวัน ๑๔ ค่ำ ปีจอ อัฐศก จึงพระพิไชยแลนายบุญมีข้าหลวงก็ไปถึงปากน้ำเมืองพุทไธมาศ จึงนำเอาศุภอักษรกับเสื้ออย่างฝรั่งนั้นขึ้นไปให้พระยาราชาเศรษฐี แลเจรจาตามข้อความในศุภอักษรนั้น พระยาราชาเศรษฐีก็มีความยินดีจึงว่า ฤดูนี้จะเข้าไปยาก ขัดด้วยลมอยู่ จะไปมิทัน ต่อถึงเดือนแปดเดือนเก้า จึงจะยกทัพเรือเข้าไปช่วยราชการ ครั้นถึงณวัน ๑๔ ค่ำ ปีกุญ นพศก จึงให้องไกเรืองทหารจีนนำศุภอักษรตอบกับทั้งบรรณาการลงเรือลำหนึ่งมากับเรือข้าหลวงถึงปากน้ำเมืองระยอง ข้าหลวงทั้งสองนายก็นำองไกเรืองกับทั้งศุภอักษรตอบแลเครื่องบรรณาการขึ้นเฝ้าณค่ายท่าประตูเมืองระยอง กราบทูลถวายศุภอักษรแลเครื่องบรรณาการทั้งปวง จึงประทานสิ่งของตอบแทนไปแก่พระยาราชาเศรษฐีโดยสมควร แล้วองไกเรืองก็ทูลลากลับไปยังเมืองพุทไธมาศ.

ขณะนั้นได้ข่าวมาว่า นายทองอยู่น้อยซ่องสุมผู้คนอยู่ณเมืองชลบุรี ประพฤติพาลทุจริตหยาบช้า ข่มเหงอาณาประชาราษฎรผู้หาที่