พระนคร ฝ่ายทหารจะเปนผู้ไปทัพ กลับกลายเปนไปทับเหมือนกันทั้งสองฝ่ายนี้ คงจะเปนด้วยหัวเมืองขึ้นสองฝ่ายนี้เป็นต้นเหตุ เมื่อมีราชการเกิดขึ้นในหัวเมืองขึ้นกรมมหาดไทย ก็เปนน่าที่กรมมหาดไทยไป เกิดขึ้นในกระลาโหมกับเปนน่าที่กระลาโหมไป โดยอาไศรยเหตุว่า ผู้ซึ่งได้เคยบังคับบัญชาการในหัวเมืองเหล่านั้นมา รู้เบาะแสในการที่จะกะเกณฑ์ผู้คนพาหนะสเบียงอาหาร ดีกว่าผู้ซึ่งไม่เคยบังคับกัน เพราะผู้คนที่จะใช้ฝ่ายทหารก็ดีพลเรือนก็ดี ไม่มีวิชาฝึกหัดอันใดวิเสศกว่ากัน ก็เปนอันใช้ได้เท่ากัน ครั้นเมื่อมีการทัพศึกต่างประเทศมาย่ำยีพระนคร ซึ่งไม่เปนหัวเมืองฝ่ายใด ฤาจะยกไปปราบปรามประเทศใด ซึ่งมิได้เปนพระราชอาณาเขตร ต้องการนายทัพนายกองแลไพร่พลมากก็ต้องใช้รวมกันทั้งฝ่ายทหารพลเรือน การที่แบ่งน่าที่ฝ่ายทหารพลเรือนก็เปนอันสูญไป คงอยู่แต่ชื่อ
ส่วนในเรื่องที่บังคับบัญชาศาลชำระความนั้นเล่า เมื่อพิเคราะห์ดูศาลอุทธรณ์ซึ่งมีอยู่แต่ในกรมมหาไทยนั้น ก็น่าสงไสยว่าฤาบางทีแต่ก่อนหัวเมืองจะมีขึ้นแต่กรมมหาดไทยกรมเดียว แต่จะหาเหตุอันใดเปนพยานอื่นอีกก็ไม่ได้ แต่ความจริงนั้น ศาลอุทธรณ์ความหัวเมือง ก็เปนมีทั้ง ๓ กรมที่มีเมืองขึ้น ในกรมทั้ง ๒ คือมหาดไทยกระลาโหมนี้ มีแต่ราชการบังคับหัวเมือง แลบังคับความในกรมเท่านั้น ก็มีการมากเต็มตำแหน่งจนเหลือที่จะจัดการให้ตลอดไปได้ เพราะเหตุว่าไม่ฉเพาะแต่ที่จะต้องรักษาราชการสำหรับเมืองขึ้นนั้นอย่างเดียว เมื่อมีเหตุการอันใด เหมือนหนึ่งมีราชการทัพศึกเกิดขึ้นในเขตรแดนเมืองขึ้นนั้น ยก