หน้า:พิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีแดง 1606 2559.pdf/17

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๗

แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะลงโทษให้ผู้ฟ้องคดีพันจากการเป็นนักเรียนหอพัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องพันสภาพจากการเป็นนักเรียนของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง แต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดียังสามารถที่จะเรียนที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ได้อีกต่อไปถ้าประสงค์ที่จะเรียนโดยการเป็นนักเรียนประเภทไปกลับ เห็นได้จากกรณีของนางสาววานิษา บัวแย้ม ที่กระทำผิดร่วมกับผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็มีคำสั่งให้พ้นจากการเป็นนักเรียนหอพักเช่นกัน แต่นางสาววานิษาก็ยังคงเรียนอยู่ที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง และแม้จะไม่มีระเบียบของโรงเรียนกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีอำนาจอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าพักหอพักของโรงเรียนไว้ก็ตาม แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายดูแลกิจการหอพักโรงเรียน ซึ่งโดยตำแหน่งก็ย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าพักเป็นการชั่วคราวในหอพักได้ ซึ่งนางสาวปรียาพร กับพวกก็เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนมาก่อนและได้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือขออนุญาตนอนค้างคืนที่หอพักเพียง ๑ คืน โดยยืนยันที่จะปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของหอพักทุกประการ จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีอำนาจที่จะอนุญาตได้ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลกิจการหอพักของโรงเรียน การอนุญาตดังกล่าวไม่ถือเป็นการกระทำนอกเหนือหน้าที่แต่อย่างใด และการอนุญาตดังกล่าวก็มิได้เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องถูกลงโทษด้วย แต่เหตุที่ผู้ฟ้องคดีต้องถูกลงโทษเป็นเพราะนางสาวปรียาพรกับพวกมิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของหอพักต่างหาก ทั้งที่ได้ทำบันทึกยืนยันต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แล้วว่าจะปฏิบัติตามระเบียบของหอพักทุกประการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นครูที่มีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายดูแลกิจการหอพักของโรงเรียนด้วย ย่อมจะต้องมีหน้าที่อบรมสั่งสอนนักเรียนเพื่อให้นักเรียนประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับ ซึ่งในการอบรมสั่งสอนดังกล่าวหากมีกรณีที่นักเรียนคนใดประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับต่างๆ ก็สามารถที่จะยกเป็นตัวอย่างประกอบการอบรมสั่งสอนได้เพื่อมิให้นักเรียนคนอื่นประพฤติปฏิบัติตาม การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างจึงมิใช่เป็นการประจานให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย แต่เป็นเพียงการอบรมสั่งสอนนักเรียนตามปกติวิสัยของผู้เป็นครูที่ประพฤติปฏิบัติโดยทั่วไป ประกอบกับบิดาของผู้ฟ้องคดีก็ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือผู้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มอบหมาย มีอำนาจที่จะให้การอบรมแก่ผู้ฟ้องคดีได้โดยไม่ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่ออำนาจปกครอง ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างจึงยังฟังมิได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

/ศาลปกครองชั้นต้น...