หน้า:ยืม ฝาก เก็บ ประนอม พนัน - ประเสริฐ ศิริสัมพันธ์ - ๒๔๘๒.pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
ยืม, ฝากทรัพย์, เก็บของในคลังสินค้า, ปราณีประนอม, การพะนันขันต่อ

ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเราตัดสินจ้าง (consideration) ออกจากการเป็นองค์สำคัญที่จะก่อให้เกิดสัญญา ดังจะเห็นได้จากมาตรา ๑๑๒ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "อันนีติกรรมนั้น ได้แก่ การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย และด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนีติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึงสิทธิ" ซึ่งแสดงให้เห็นอยู่ในตัวโดยชัดแจ้งแล้วว่า ไม่ต้องมีสินจ้างตอบแทน ก็เกิดนีติสัมพันธ์ขึ้นได้ และหลักเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดสัญญาในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๒ ลักษณะ ๒ ทั้งลักษณะ ก็มีแต่เพียงคำเสนอ (offer) กับคำสนองรับ (acceptance) ซึ่งเป็นมูลเหตุก่อให้เกิดสัญญา เช่น เราบอกขายรถยนตร์กับเพื่อนเราราคา ๔๐๐ บาท นี้คือคำเสนอขาย เมื่อเพื่อนเรารับคำตอบว่า ตกลงซื้อตามราคานั้น เพื่อนเราทำคำสนองรับ สัญญาซื้อขายก็เกิดขึ้นทันทีที่มีคำสนองรับ แต่ถ้าเราทำคำเสนอขอยืมเงินเพื่อนไปเสียค่าสอบไล่กฎหมายในวันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้าย เพื่อนเราทำคำสนองรับว่า ได้ ครั้นถึงวันนัด เพื่อนไม่ยอมให้เรายืมเงิน ตามหลักกฎหมายที่กล่าวข้างต้น ก็น่าจะคิดว่า สัญญาจะให้ยืมนั้นเกิดขึ้นแล้ว คู่สัญญามีสิทธิที่จะจัดการไปตามกฎหมายได้ แต่เมื่อมาระลึกถึงว่า การให้กันยืมของไปใช้นั้น ผู้ให้ยืมไม่ได้รับประโยชน์อะไรตอบแทน (เว้นเสียแต่การกู้ยืมเงินซึ่งคิดเอาดอกเบี้ยกันได้ หรือในการให้ยืมใช้สินเปลืองซึ่งผู้ให้ยืมอาจจะเรียกค่าบำเหน็จได้ ดังจะได้อธิบายต่อไปภายหลัง) ฉะนั้น จึงไม่น่าจะยอมรับบังคับสัญญาจะให้ยืมที่เกิดขึ้นด้วยคำเสนอและคำสนองเท่านั้น

ม.ธ.ก.