หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/25

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๑

มากหรือน้อย ย่อมแล้วแต่ความสามารถและอิทธิพลฉะเพาะตัวของนายกรัฐมนตรีผู้นั้น ถ้านายกรัฐมนตรีอ่อน ก็มักจะปล่อยให้รัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงดำเนินงานไปโดยลำพังเป็นส่วนมาก ถ้าแข็งและต้องการควบคุมงาน ก็มักจะใช้สิทธิดังกล่าวข้างต้น

ตัวอย่างนายกรัฐมนตรีที่ใช้สิทธินี้เต็มที่ ก็คือ เซอร์โรเบิตพีล (Sir Robert Peel) นายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๘๔๑–๖) แต่ต่อมา ในปลายคริสตศวรรษที่ ๑๙ เนื่องจากงานของนายกรัฐมนตรีเอง และงานของกระทรวงทะบวงกรมต่าง ๆ มีมากมาย จึงไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดที่สามารถปฏิบัติอย่างเซอร์โรเบิตพีลได้

นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรีในกิจการราชการแผ่นดินทั่วไป และเป็นสื่อระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว ตามรัฐธรรมนูญบริติช จริงอยู่ พระมหากษัตริย์อาจและเคยทรงติดต่อกับรัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงใดกระทรวงหนึ่งได้ แต่ก็นายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่เป็นสื่อให้ และเป็นผู้ถวายความเห็นในนามของคณะรัฐมนตรี ฉะนั้น การลาออกของนายกรัฐมนตรีจึงมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีต้องออกทั้งคณะ แต่ตรงกันข้าม ถ้ารัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งออก นายกรัฐมนตรีเพียยงแต่กราบถวายบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งดำรงตำแหน่งแทน

โดยปกติ นายกรัฐมนตรีบริติชในสมัยปัจจุบันมักเป็นบุคคลสามัญ ไม่ใช่ขุนนาง ฉะนั้น จึงเป็นผู้แทนรัฐบาลทั้งคณะในสภาสามัญ (House of Commons) เป็นผู้ชี้แจงต่อสภาสามัญในกิจการของรัฐบาลทั่ว ๆ ไป รัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงเป็นผู้ชี้แจงฉะเพาะเรื่อง