หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๑๖).pdf/23

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๖๖

เด็ดขาด ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า ธรรมนูญการปกครองนั้นหาเหมือนกฎหมายอื่น ๆ ไม่ ต่างประเทศหลายประเทศเขาให้อำนาจนี้แก่สภาเหมือนกัน มาตรา ๖๓ กำหนดวิธีการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่สำคัญใหญ่ยิ่งกว่ากฎหมายทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึ่งไม่ควรที่จะแก้ไขได้ง่าย ๆ ดั่งเช่นกฎหมายธรรมดา

หมวด ๗ เป็นบทฉะเพาะกาล ในพระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราว กำหนดเวลาไว้เป็น ๓ สมัย คือ สมัย ๑ สมัย ๒ สมัย ๓ บทฉะเพาะกาลนี้เป็นบทบัญญัติฉะเพาะระวางเวลาที่ก่อนถึงสมัยที่ ๓ อันเป็นสมัยสุดท้าย ความสำคัญของหมวดนี้มีอยู่ในมาตรา ๖๕ มาตรา ๖๕ บัญญัติลักษณะแห่งการก่อตั้งสภาขึ้นให้มีสมาชิกประเภทที่ ๑ ราษฎรเลือกตั้งขึ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้น ที่มีสมาชิก ๒ ประเภทนี้ก็เพราะเหตุว่า เราพึ่งมีรัฐธรรมนูญขึ้น ความคุ้นเคยในการปฏิบัติการตามรัฐธรรมนูญยังไม่แพร่หลายทั่วถึง ฉะนั้น จึ่งให้มีสมาชิกประเภทซึ่งเห็นว่าเป็นผู้ที่คุ้นเคยการงานแล้วช่วยพยุงกิจการทำร่วมมือกันไปกับสมาชิกประเภทที่ ๑ ที่ราษฎรเลือกตั้งมา

การทำเช่นนี้ ถ้าแม้เราอ่านรัฐธรรมนูญที่มีใหม่แล้ว เขามีอย่างนี้เสมอ เมื่อต่อไปสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งทำงานไปได้เองแล้ว ก็จักดำเนินการต่อไป